เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 111-112-113

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 111-112-113

 

อัลกุรอาน โองการนี้ได้อธิบายถึงกฎเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับผลตอบแทนในการกระทำ โองการกล่าวว่า

 

وَإِنَّ كُلّاً لَمَّا لَيُوَفِّيَنَّهُمْ رَبُّكَ أَعْمَالَهُمْ إِنَّهُ بِمَا يَعْمَلُونَ خَبِيرٌ

 

คำแปล :

 

111.แน่นอน พระผู้อภิบาลของเจ้าจะทรงตอบแทน (ผล) การงานของพวกเขาแต่ละคนอย่างครบถ้วน เนื่องจากพระองค์ทรง ตระหนักทุกสิ่งที่พวกเขากระทำ

 

คำอธิบาย :

 

โองการข้างต้นมิได้กล่าวว่า จะตอบแทนรางวัลแก่การงานของพวกเขา ทว่าตรัสว่า “พระองค์จะให้การงานของพวกเขาแก่พวกเขา) บ่งบอกให้เห็นถึงรูปลักษณ์ของการกระทำในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ กล่าวคือตามความเป็นจริงแล้วผลรางวัลและการลงโทษในวันฟื้นคืนชีพก็คือ การงานของมนุษย์ที่เปลี่ยนรูปลักษณ์และส่งคืนให้พวกเขานั่นเอง

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. ผลของการงานของมนุษย์ทั้งหลายจะถูกคืนแก่มนุษย์ในรูปลักษณ์ที่สมบูรณ์

 

.2. พึงระวังการงานของตนให้ดี เนื่องจากอัลลอฮ์ (ซบ.) คือผู้คอยดูการงานของเรา

 

โองการที่ 112  บทฮูด

 

อัลกุรอาน โองการนี้ได้กล่าวถึงคำสั่ง 4 ประการที่พระองค์ทรงสั่งให้ยึดมั่นท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) โองการกล่าวว่า

 

فَاسْتَقِمْ كَمَا أُمِرْتَ وَمَن تَابَ مَعَكَ وَلَا تَطْغَوْا إِنَّهُ بِمَا تَعْمَلُونَ بَصِيرٌ

 

คำแปล :

 

112. ดังนั้น สูเจ้าจงดำรงมั่นเช่นที่ได้ถูกบัญชา และผู้ที่ขอลุโทษร่วมกับเจ้า (ก็จงดำรงมั่นด้วย) และจงอย่าได้ละเมิดเด็ดขาด แท้จริงพระองค์ทรงเห็นสิ่งที่สูเจ้ากระทำ

 

คำอธิบาย :

 

1.คำว่า ฟัซตะกิม มาจากรากศัพท์คำว่า กิยาม หมาถึง ต้องการที่จะยืน กล่าวคือได้สร้างแรงปรารถนาในตัวเอง ถึงขั้นที่ว่าไม่ทางที่จะอ่อนแอลงได้

 

2.ในโองการข้างต้นมีคำสั่งพื้นฐานอยู่ 4 ประการด้วยกัน ซึ่งอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงมีบัญชาแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)  กล่าวคือ

 

2.1 จงอดทนอดกลั้นต่อสังคมที่ล้าหลัง เช่น ในสังคมที่มีการเคารพรูปปั้นบูชา ดื้อรั้น และมีศัตรูมาก เพื่อจะได้สร้างสังคมให้เกิดความสมบูรณ์ มีความจำเริญและมีศรัทธา

 

2.2 การอดทนอดกลั้นของท่านต้องมีแนวคิดเพื่ออัลลอฮ์ และเพื่อการปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ มิใช่เพื่อการเป็นวีรบุรุษ หรือมิใช่เพื่อสั่งสมทรัพย์สมบัติ และตำแหน่งหน้าที่แต่อย่างใด

 

2.3 จงเรียกร้องเชิญชวนให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับท่านมีความอดทนอดกลั้น

 

2.4 ในการยืนหยัดของตนจำเป็นต้องวางอยู่ความยุติธรรม เพื่อมิให้ประสบกับความสุดโต่ง หรือการละเมิดขอบเขตชองอัลลอฮ์

 

3. ท่านอิบนุอับบาส นักอรรถาธิบายอัลกุรอานผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอิมามอะลี (อ.) เล่าว่า

 

ما نُزِّلَ عَلى رَسُولِ اللّهِ(صلى الله عليه وآله) آيَةٌ كانَتْ أَشَدَّ عَلَيْهِ وَ لا أَشَقَّ مِنْ هذِهِ الآيَةِ، وَ لِذلِكَ قالَ لاِ صْحابِهِ حِيْنَ قالُوا لَهُ أَسْرَعَ إِلَيْكَ الشَّيْبُ يا رَسُولَ اللّهِ! شَيَّبْتَنِى هُودُ وَ الْواقِعَةُ

 

ไม่มีโองการใดแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และมีความหนักหน่วงหรือสร้างปัญหามากไปกว่าโองการข้างต้น ดังนั้น เมื่อเหล่าบรรดาสหายได้ถามท่านว่า เพราะเหตุใดหรือผมของท่านจึงได้ขาวไปทั้งศีรษะ และร่องรอยแห่งความแก่ชราได้ปรากฏบนใบหน้าของท่านมากมายเช่นนี้ ? ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ตอบว่า เป็นเพราะอัลกุรอาน บทฮูด และบทวากิอะฮ์ ได้ทำให้เราแก่ถึงขนาดนี้


(บิฮารุลอันวาร เล่ม 17 หน้าที่52)

 

4. โองการข้างต้นเป็นบัญชาแก่ท่านศาสดา เป็นคำสั่งสอนสำหรับเหล่าบรรดาผู้นำแห่งพระเจ้า ทว่ามุสลิมทั้งหมดทั้งวันนี้หรือเมื่อวานนี้หรือแม้แต่วันพรุ่งนี้ก็จำเป็นต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้ เพื่อว่าเขาจะได้มีชัยชนะเหนือบรรดาศัตรู

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. สาส์นของโองการนี้สำหรับบรรดาผู้นำแห่งพระเจ้าคือ การอดทนอดกลั้น ความบริสุทธิ์ใน ผู้นำปวงผู้ศรัทธา และการไม่ระหน

 

2. บรรดาผู้นำมุสลิมจำเป็นต้องยืนยงก่อนผู้ใด

 

3.อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงมองเห็นการงานทุกอย่างของท่าน ดังนั้น พึงระวังการงานของตนให้ดี


โองการที่ 113 บทฮูด

 

อัลกุรอาน โองการนี้ กล่าวเตือนสำทับถึงการพึ่งพิงผู้กดขี่ โองการกล่าวว่า

 

وَلَا تَرْكَنُوا إِلَى الَّذِينَ ظَلَمُوا فَتَمَسَّكُمْ النَّارُ وَمَا لَكُم مِن دُونِ اللَّهِ مِنْ أَوْلِيَاءَ ثُمَّ لَا تُنصَرُونَ‏

 

คำแปล :

 

113. พวกท่านอย่าคล้อยตามบรรดาผู้อธรรม มิฉะนั้นเพลิงนรกจะสัมผัสสูเจ้า ขณะสูเจ้าที่ไม่มีผู้คุ้มครองใดอื่นนอกจากอัลลอฮ์ แล้วสูเจ้าจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ

 

คำอธิบาย :

 

1.คำว่า วะลาตัรกะนู มาจากรากศัพท์คำว่า รุกนุน หมายถึง เสาหลัก หรือกำแพงทั้งหลายซึ่งได้อุ้มอาคารเอาไว้ และคำๆ นี้ตามรากเดิมหมายถึง อารมณ์ความรู้สึกไปยังสิ่งหนึ่ง การได้รับความสงบมั่นกับสิ่งนั้น ต่อมาให้ความหมายว่า ความเชื่อมั่น หรือใช้ในความหมายว่า การพึ่งพิงอยู่กับสิ่งหนึ่ง

 

2. ฮะดีษบางบทจากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ได้ให้ความหมายโองการข้างต้นว่าหมายถึง มิตรภาพ ความรัก การแนะนำ และการเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้อธรรม

 

รายงานฮะดีษบางบทจากท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) กล่าวว่า โองการหมายถึงว่า “บุคคลใดก็ตามได้มายังผู้ปกครองที่อธรรม และมีความรักใคร่ในตัวเขาโดยปรารถนาให้เขามีชีวิตสืบต่อไป เพื่อเขาจะได้ช่วยเหลือตน”

 

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ฮะดีษทำนองนี้ได้กำหนดองค์ประกอบและตัวอย่างของฮะดีษให้ชัดเจนเท่านั้นเอง

 

3. วัตถุประสงค์คำว่า ผู้อธรรม ในโองการข้างต้นหมายถึง ทุกคนในสังคมที่ก่อความเสียหายกดขี่ข่มเหงและเอารัดเอาเปรียบสังคม แสวงหาผลประโยชน์ในเชิงของการเอาเปรียบประชาชนในสังคม ซึ่งจะเห็นว่าบรรดาผู้เคารพรูปปั้นบูชาในยุคสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด

 

แน่นอน คำๆ นี้ มิได้ครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้กระทำความผิดบาปเล็กๆ น้อยๆ ในสังคม เว้นเสียแต่ว่าเขาได้เชื่อมั่นและอาศัยการกดขี่เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้น

 

4. ความไม่ปรารถนาหรือการไม่พึ่งพาผู้อธรรม หมายถึง

 

อันดับแรก เขามิได้เข้าร่วมในกิจกรรมการเอาเปรียบทั้งหลาย

 

 อันดับที่สอง เขามิได้พึ่งพิงผู้อธรรมเกี่ยวกับทุกกิจกรรมที่นำมาซึ่งความเสื่อมทราม หรือทำให้สังคมอิสลามต้องพินาศล่มจม หรือต้องสูญเสียอิสรภาพไป

 

อันดับที่สาม เขาไม่เคยมีความรักหรือไม่เคยเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้อธรรมแม้แต่น้อย

 

แต่ถ้ามีการประสานงานหรือมีความสัมพันธ์ติดต่อกันด้านการค้า หรือวิชาการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของมุสลิม และอิสระเสรีภาพของพวกเขา ถือว่าไม่เป็นไร เนื่องจากมิได้หมายความว่าเป็นการพึ่งพิงหรืออาศัยเขาแต่อย่างใด เพราะในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ก็มีความสัมพันธ์ติดต่อกันในลักษณะเช่นเดียวกันนี้เหมือนกัน

 

5. ปรัชญาและวิทยปัญญาของการห้ามมิให้พึ่งพิง หรือการคล้อยตามบรรดาผู้อธรรม

 

5.1 เนื่องจากเป็นการสนับสนุนส่งเสริมผู้อธรรม และเป็นการขยายแนวทางกดขี่ของพวกเขาให้กว้างออกไป

 

5.2 เท่ากับเป็นการสนับสนุนวัฒนธรรมการกดขี่ให้เติบโตในสังคมที่ละน้อย และยังเป็นการหยั่งรากความน่าเกลียดของบาปกรรมในสังคมอีกด้วย

 

5.3 กลายเป็นสาเหตุสำคัญก่อให้เกิดความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างสังคมกับผู้กดขี่ และเป็นสาเหตุทำให้สังคมสูญเสียเสรีภาพและอิสรภาพไปโดยปริยาย

 

5.4 กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความรัก และการร่วมมือกันกับผู้อธรรมทั้งหลาย และตนได้กลายเป็นพรรคพวกอธรรมและเป็นผู้อธรรมในที่สุด

 

6. หนึ่งในเกณฑ์สำคัญของบาปใหญ่ที่ถูกสัญญาไว้ว่า ต้องถูกลงโทษทัณฑ์ในไฟนรกก็คือ การคล้อยตามผู้อธรรม การให้ความร่วมมือ ความรัก และการพึ่งพิงหรือขอความช่วยเหลือจากพวกอธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นบาปใหญ่ทั้งสิ้น

 

7. อีกด้านหนึ่งอัลกุรอาน กล่าวว่า วาญิบต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามอุลิมอัมริมินกุม หมายถึงบรรดาอิมามผู้นำแห่งพระเจ้าผู้ เป็นผู้นำมวลมุสลิมทั้งหลาย อีกแง่มุมหนึ่งของโองการบ่งชี้ว่า การคล้อยตามบรรดาพวกอธรรม และการเชื่อฟังปฏิบัติตามพวกเขาเป็นฮะรอม (บาป) ดังนั้น เป็นที่ชัดเจนว่า อิมามหรือผู้นำมวลมุสลิมต้องเป็นผู้มีความยุติธรรม ไม่ทำบาปหรือกดขี่ข่มเหงอย่างเด็ดขาด

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1.ห้ามมิให้มีความสัมพันธ์หรือความรักหรือการอาศัยผู้อธรรมทั้งภายในและภายนอก  

        

2.จงอย่าคล้อยตามหรืออาศัยผู้อธรรมเด็ดขาด อันเป็นสาเหตุทำให้ขาดความเชื่อมั่นตนเอง และยังต้องถูกลงโทษในนรกอเวจีอีกต่างหาก

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม