เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 114

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 114

 

 


อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึง นมาซบางประเภท และคุณสมบัติของผู้กระทำความผิด และบาปต่างๆ ของพวกเขา โองการกล่าวว่า

 

وَأَقِمِ الصَّلَاةَ طَرَفَيِ النَّهَارِ وَزُلَفاً مِنَ اللَّيْلِ إِنَّ الْحَسَنَاتِ يُذْهِبْنَ السَّيِّئاتِ ذلِكَ ذِكْرَى‏ لِلذَّاكِرِينَ‏

 

คำแปล :

 

114. จงดำรงนมาซตอนช่วงปลายทั้งสองของกลางวันและยามต้นของกลางคืน เนื่องจากความดีทั้งหลายขจัดความชั่ว นั่นคือข้อเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก

 

คำอธิบาย :

 

1. การกล่าวว่า ตอนช่วงปลายทั้งสองของวัน บ่งชี้ให้เห็นถึงช่วงเวลานมาซศุบฮ์ และนมาซมัฆริบ ซึ่งได้เริ่มต้นตั้งแต่แรกและช่วงปลายสุดท้ายของวัน

 

2. การกล่าวว่า ซุละฟา หมายถึง ความใกล้ชิด ซึ่งการตีความในโองการข้างต้นได้บ่งชี้ให้เห็นถึง ช่วงการเริ่มต้นเข้าสู่เวลากลางคืน ซึ่งใกล้เคียงหรือติดต่อกับช่วงเวลากลางวัน ด้วยเหตุนี้ เวลานั้นจึงเป็นเวลาของนมาซอิชา

 

3. รายงานฮะดีษจาก อะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) กล่าวว่า โองการข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นถึงช่วงเวลานมาซศุบฮ์ นมาซมัฆริบ และนมาซอิชา (มันลายะฮ์เราะฮุลฟะกีฮ์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 195, ตะฮ์ซีบุลอะฮ์กาม เล่มที่ 2 หน้าที่ 241)

 

4. อัลกุรอาน โองการข้างต้นได้กล่าวถึงนมาซวาญิบ 5 เวลา แต่กล่าวเวลานมาซไว้เฉพาะ 3 ช่วงเท่านั้น ซึ่งไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่อัลกุรอานโองการหนึ่งจะต้องกล่าวถึงเวลานมาซทั้งหมดเอาไว้ ซึ่งตามความเหมาะสมของอัลกุรอาน บางครั้งจะกล่าวถึงนมาซซุฮฺร์ เช่น บทบะเกาะเราะฮฺ โองการ 238 กล่าวว่า “สูเจ้าจงรักษาบรรดานมาซไว้ และนมาซที่อยู่กึ่งกลาง จงยืนนมาซเพื่ออัลลอฮ์โดยนอบน้อม” บางครั้งก็กล่าวถึงนมาซทั้งหมด เช่น บทอิสรอ โองการ 78 กล่าวว่า “จงดำรงนมาซตั้งแต่ตะวันคล้อยจนพลบค่ำ และการอ่านยามรุ่งอรุณ”  และบางครั้งก็กล่าวถึงเฉพาะ 3  นมาซเท่านั้น ดังโองการที่กำลังกล่าวถึง

 

5. โองการข้างต้นคือกฎเกณฑ์โดยรวมทั่วไปว่า การกระทำความดีงามจะช่วยลบล้างความผิดและบาปกรรมให้หมดไป เช่น บทนิซาอ์ โองการที่ 31 กล่าวว่า “หากสูเจ้าปลีกตัวออกจากบรรดาบาปใหญ่ ในสิ่งที่สูเจ้าถูกห้ามให้ละเว้น แล้ว เราก็จะลบล้างบรรดาความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของสูเจ้าออกจากสูเจ้า” หรือในบทอังกะบูต โองการที่ 7 กล่าวว่า “และบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งกลาย แน่นอนเราจะลบล้างความชั่วทั้งหลายของพวกเขาไปจากพวกเขา”

 

6. นมาซเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ชัดเจนของอัลกุรอาน โองการที่กำลังกล่าวถึง และเป็นสาเหตุช่วยขจัดความผิดให้หมดไป

 

รายงานฮะดีษบางบทจากท่านซัลมาน อัลฟาร์ซีย์ เล่าวว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ได้เขย่ากิ่งไม้ที่แห้งเหี่ยว ทันใดนั้นใบไม้ก็ได้ร่วงหล่นลงกับพื้น หลังจากนั้นท่านได้กล่าวว่า

 

إِنَّ الْمُسْلِمَ إِذا تَوَضَّأَ فَأَحْسَنَ الْوُضُوءَ ثُمَّ صَلَّى الصَّلَواتِ الْخَمْسِ تَحاتَتْ خَطاياهُ كَما تَحاتَّ هذَا الْوَرَقُ ثُمَّ قَرَأَ هذِهِ الآْيَةَ وَ أَقِمِ الصَّلاةَ

 

เมื่อมุสลิมคนหนึ่งได้ทำวุฎูอ์ และได้ทำวุฎูอ์อย่างดี หลังจากนั้นได้นมาซวาญิบทั้ง 5 เวลา ความผิดของเขาจะร่วงหล่นลงมา ประหนึ่งใบไม้ที่ร่วงหล่นจากต้น หลังจากนั้นท่านได้อ่านโองการข้างต้น (บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 79 หน้าที่ 319)

 

รายงานฮะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) โดยกล่าวว่า

 

إِنَّما مَنْزِلَةُ الصَّلَواتِ الْخَمْسِ لاِمَّتِي كَنَهْر جار عَلى بابِ أَحَدِكُمْ فَما ظَنُّ أَحَدِكُمْ لَوْ كانَ فِي جَسَدِهِ دَرَنٌ ثُمَّ اغْتَسَلَ فِي ذلِكَ النَّهْرِ خَمْسَ مَرّات كانَ يَبْقى يَبْقى فِي جَسَدِهِ دَرَنٌ فَكَذلِكَ وَ اللّهِ الصَّلَواتُ الْخَمْسُ لاِمَّتِي

 

นมาซวาญิบ 5 เวลาสำหรับประชาชาติของฉัน ประหนึ่งสายน้ำที่ไหลรินไปสู่ประตูบ้านของพวกเธอคนใดคนหนึ่ง พวกเธอคิดหรือไม่ว่า ถ้าหากร่างกายของคนหนึ่งคนใดสกปรก หลังจากนั้นในแต่ละวันเขาได้ล้างทำความสะอาดถึง 5 ครั้ง ในแม่น้ำนั้น ยังจะเหลือความสกปรกตกค้างติดตัวเขาอีกหรือ ฉันขอสาบานด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺว่า นมาซวาญิบประจำวัน 5 เวลา สำหรับประชาชาติของฉันก็เป็นดั่งเช่นนั้น


(บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 79 หน้าที่ 220)

 

7. ทุกครั้งเมื่อมนุษย์กระทำความผิดหรือสิ่งที่น่ารังเกลียด ประหนึ่งว่าจะมีความมืดดำเกาะกุมที่จิตวิญญาณของเขา ซึ่งความดีงาม เช่น นมาซ จะช่วยชำระล้างและขัดเกลาคราบมืดดำที่เกาะจิตวิญญาณให้หมดไป และทำให้วิญญาณมีความอ่อนนุ่ม

 

8. รายงานฮะดีษจากท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า ฉันได้ยินจากท่านเราะซูลลุลลอฮ์ (ซ็อล ฯ) ผู้เป็นที่รักเคารพของพวกเรากล่าวว่า โองการข้างต้นเป็นโองการที่ให้ความหวังและมั่นใจที่สุดของอัลกุรอาน (ตัฟซีรมัจญ์มะอุลบะยาน  เล่มที่ 5 หน้าที่ 308)

 

รายงานบางบทกล่าวว่า อัลกุรอาน โองการที่ 48 บทนิซาอ์ เป็นโองการที่ให้ความหวังแก่จิตใจมากที่สุด ซึ่งฮะดีษบทนี้มิได้มีความขัดแย้งกับฮะดีษบทที่กล่าวถึงแต่อย่างใด เนื่องจากทุกมิติของโองการจะมีมุมมองอันเฉพาะของตนเอง ด้วยเหตุนี้ โองการเหล่านั้นจึงให้ความหวังและความชุ่มชื่นแก่จิตใจได้มากที่สุด

 

กล่าวคือ โองการที่ 48 บทนิซาอ์ ได้ให้ความหวังในเรื่อง การอภัยโทษและการนิรโทษกรรมต่างๆ ด้วยการกลับตัวกลับใจ ส่วนโองการที่กำลังกล่าวถึงนี้ได้ให้ความหวังในการนิรโทษกรรมด้วยการนมาซ

 

9. มนุษย์ทุกคนใช่ว่าจะได้รับประโยชน์จากการเตือนสำทับของพระเจ้าเหมือนกันทุกคน ทว่าเฉพาะกลุ่มชนที่ใส่ใจในคำตักเตือนเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากคำตักเตือนเหล่านั้น

 

10. อัลกุรอาน โองการข้างต้น ได้เตือนสำทับและประทานคำสั่งเรื่อการนมาซแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทว่าวัตถุประสงค์ของโองการคือ ศาสดาและบรรดามุสลิมทั้งหมด เนื่องจากนมาซมิได้เป็นวาญิบเฉพาะท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เท่านั้น ทว่าเป็นวาญิบเหนือมุสลิมทุกคน

 

11. ความเร้นลับของการกล่าวถึงนมาซซ้ำหลายครั้ง ท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) กล่าวว่า สิ่งหนึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างมนุษย์คือ ตัลกีล อีกด้านหนึ่งถ้ามนุษย์เองต้องการที่จะสร้างตัวเอง เขาต้องใส่ใจปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างัวเขาและพยายามประยุกต์ให้เข้ากับตัวเองให้จงได้ ปัญหาหนึ่งที่กล่าวอธิบายเอาไว้และมีบทบาทกับมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งได้รับการเน้นย้ำเอาไว้หลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งมีบทบาทสำคัญกับชีวิตมนุษย์กล่าวคือ การกล่าวบทดุอาอ์ซ้ำไปซ้ำมา หรือการนมาซที่ปฏิบัติเป็นประจำและซ้ำอยู่ทุกวัน วันหนึ่งซ้ำถึง 5 ครั้งด้วยกัน ก็เนื่องจากว่ามนุษย์เมื่อได้พูด ได้ยินเสียงอ่านของตนเอง ก็จะช่วยสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ประหนึ่งซูเราะฮ์ฟาติฮะฮ์ จะเห็นว่าเป็นบทเรียนอันล้ำค่ายิ่ง มนุษย์จะต้องกล่าวซ้ำอยู่เสมอ และพยายามบรรจุสิ่งนี้ไว้ในหัวใจ และเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อสดับรับฟัง


(เศาะฮีเฟฮ์ นูร เล่มที่ 13 หน้าที่ 199)

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม