ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 115-116-117

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 115-116-117

 


อัลกุรอาน โองการนี้ได้กล่าวให้มีขันติธรรมอีกครั้งหนึ่ง โองการกล่าวว่า

 

وَاصْبِرْ فإِنَّ اللَّهَ لَا يُضِيعُ أَجْرَ الْمُحْسِنِينَ‏

 

คำแปล :

 

115. และเจ้าจงอดทน เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ มิทรงทำให้รางวัลตอบแทนของผู้ทำความดีต้องสูญหาย

 

คำอธิบาย :

 

1. คำว่า อดทน ถือว่าเป็นกฎเกณฑ์โดยทั่วไปตามหลักคำสอนของอิสลาม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ความดีงามใดก็ตามจะปราศจากความอดทน ด้วยเหตุนี้ ตอนท้ายของโองการจึงได้เน้นย้ำถึง รางวัลตอบแทนการทำความดี ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ความอดทน ก็คือหนึ่งในแบบอย่างของการทำความดี

 

2. อัลกุรอาน โองการข้างต้นได้กล่าวถึงท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) หลังจากได้มีบัญชาให้นมาซ ซึ่งแน่นอนว่าโองการได้อธิบายความหมายโดยรวมที่ครอบคลุม ซึ่งหมายรวมถึง ความอดทนเมื่อเผชิญหน้ากับความผิด หรืออุปสรรคและปัญหาต่างๆ หรือความอดทนในการแสดงความเคารพภักดีพระเจ้า

 

บทเรียนจากโองการ

 

1.จงอดทนอดกลั้นในกิจการงานต่างๆ เนื่องจากเป็นแบบอย่างอันดีงามของปวงผู้มีสติทั้งหลาย

 

2. จงจ่ายรางวัลตอบแทนแก่ผู้กระทำความดีงามทั้งหลาย

 

โองการที่ 116 บทฮูด

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้สังคมพบกับความตกต่ำ โองการกล่าวว่า

 

 فَلَوْلَا كَانَ مِنَ الْقُرُونِ مِن قَبْلِكُمْ أُولُوا بَقِيَّةٍ يَنْهَوْنَ عَنِ الْفَسَادِ فِي الْأَرْضِ إِلَّا قَلِيلًا مِمَّنْ أَنْجَيْنَا مِنْهُمْ وَاتَّبَعَ الَّذِينَ ظَلَمُوا مَا أُتْرِفُوا فِيهِ وَكَانُوا مُجْرِمِينَ‏

 

คำแปล:

 

116.เหตุใดในชนรุ่นก่อนหน้าสูเจ้า จึงไม่มีปัญญาชนห้ามปรามการก่อความเสียหายในแผ่นดิน เว้นแต่จำนวนน้อยเท่านั้นจากผู้ที่เราได้ช่วยพวกเขาให้รอดพ้น และบรรดาผู้อธรรมได้หลงตามความสำราญที่ถูกประทานให้ เพราะพวกเขาเป็นทรชนกระทำผิด

 

คำอธิบาย :

 

1. โดยปกติแล้วการที่อาหรับจะกล่าวว่า ปัญญาชน จะใช้กล่าวกับบุคคลที่เป็นเจ้าของความดี ความประเสริฐและเป็นผู้บริสุทธิ์เท่านั้น เนื่องจากว่าคนประเภทนี้จะสั่งสมความดีงามเอาไว้ และคนจำพวกนี้จะมีหน้าที่รับผิดชอบสังคมมากกว่าคนอื่น ซึ่งจำเป็นต้องห้ามปรามความชั่วร้ายในสังคมด้วย เพราะความชั่วร้ายและความไม่ดีไม่งามทั้งหลายเหล่านั้นคือเงาที่สะท้อนให้เห็นพวกเขา ซึ่งบุคคลจำพวกดังกล่าวมีศักยภาพพอที่จะต่อสู้กับพวกเขาได้

 

2. การเชื่อฟังปฏิบัติตามอำนาจฝ่ายต่ำ ความลุ่มหลงในความรัก และการแสวงหาความสุขแบบไม่มีเงื่อนไข คือแหล่งที่มาของความหลงผิดทั้งหลาย และยังเป็นการแบ่งแยกสังคมออกจากกันด้วย เนื่องจากการปฏิบัติสิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณค่าของมนุษย์ตกต่ำลง ทำให้เขาต้องละเว้นความเป็นมนุษย์ชาติและความเข้าใจ และแก่นแท้ความจริงของสังคมไปโดยปริยาย จมปรักตัวเองอยู่กับการทำความผิดต่างๆ

 

3. อัลกุรอาน โองการข้างต้นได้กล่าวถึงแก่นในแง่ของสังคมวิทยาว่า เมือใดก็ตามถ้านักวิชาการผู้มีความบริสุทธิ์ก้าวมารับผิดชอบสังคม ทำหน้าที่ชี้นำความคิดของประชาชน ในการต่อสู้กับความเสื่อมทราม และความชั่วร้าย สังคมนั้นก็จะไม่ถูกโน้มนำไปในทางเสื่อมเสียและพินาศ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามสังคมมีการแบ่งชั้นวรรณะ ความเงียบไม่เคลื่อนไหวเมื่อเผชิญหน้ากับปัจจัยความชั่วต่างๆ ที่ครอบงำสังคม สังคมนั้นก็จะพบกับความวินาศและการทดสอบต่างๆ  ประหนึ่งร่างกายของมนุษย์ที่ได้สูญเสียเม็ดเลือดขาวไป ทำให้ไม่มีพลังต่อต้านเชื้อโรคและไวรัสต่างๆ ก็จะเข้าโจมตีทำร้ายเขา

 

4. อัลกุรอาน โองการที่กำลังกล่าวถึงนี้ได้กล่าวถึง หมู่ชนดีที่เป็นกัลป์ญาณชนจำนวนน้อยนิดในประชาชาติก่อนหน้านั้น เช่น ครอบครัวของศาสดานูฮ์ (อ.) ศาสดาลูฎ (อ.) และผู้ศรัทธาที่เชื่อฟังปฏิบัติตามและอยู่ร่วมกับพวกเขา แต่เนื่องจากว่าพวกเขามีจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงแก้ไขสังคมทั้งหมด

 

บทเรียนจากโองการ

 

1. รหัสความตกต่ำของสังคมและประชาชาติคือ การไม่ให้ความสำคัญในการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่วร้าย

 

2. หน้าที่ความรับผิดชอบและการห้ามปรามความชั่วร้ายทางสังคม เป็นหน้าที่ของผู้มีความรู้ มีอำนาจ และเป็นเจ้าของความประเสริฐทั้งหลาย

 

3. สังคมต้องเผชิญกับการลงโทษอันใหญ่หลวง ก็เนื่องจากบุคคลที่จะคิดปรับปรุงแก้ไขนั้นมีน้อย

 

4. อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงช่วยเหลือบุคคลที่มีความห่วงใย และคิดปรับปรุงแก้ไขสังคม ขณะที่พระองค์ทรงลงโทษสังคม

 

5. ความเสียหาย การกดขี่ข่มเหง การเพลิดเพลินในการแสวงหาความสุข และการประพฤติผิด สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำใหสังคมพบกับความตกต่ำ


โองการที่ 117 บทฮูด

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงกฎโดยทั่วไปในการช่วยเหลือประชาชาติให้รอดพ้นจากการถูกทำลาย โองการกล่าวว่า

 

وَمَا كَانَ رَبُّكَ لِيُهْلِكَ الْقُرَى‏ بِظُلْمٍ وَأَهْلُهَا مُصْلِحُونَ‏

 

คำแปล :

 

117. และพระผู้อภิบาลของเจ้าจะไม่ทำลายบ้านเมืองใดโดยอยุติธรรม ขณะที่ชาวเมืองนั้นเป็นผู้ฟื้นฟูทำความดี

 

คำอธิบาย :

 

1. โดยปกติทุกสังคมจะมีความชั่วร้ายและการกดขี่ครอบงำ แต่สิ่งที่สำคัญคือประชาชนทั่วไปต้องปรารถนาการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ซึ่งในกรณีนี้อัลลอฮ์ (ซบ.) จะให้โอกาสแก่พวกเขา แต่ถ้าเมื่อใดสังคมพบกับความปัญหาและความเสื่อมทราม สังคมนั้นก็จะพบกับความพินาศทันที

 

2. ถ้าพิจารณาความหมายที่แตกกันระหว่างคำว่า มุซลิฮ์ และซอลิฮ์ จากโองการข้างต้นเข้าใจได้ว่า สังคมมนุษย์สามารถแบ่งออกได้หลายลักษณะดังนี้

 

2.1 สังคมที่ประสบกับความเสื่อมทรามและไม่มีทั้งผู้บริสุทธิ์ (ซอลิฮ์) และผู้ฟื้นฟู (มุซลิฮ์) สังคมนั้นต้องพบกับความวินาศอย่างแน่นอน

 

2.2 สังคมที่ประสบกับความเสื่อมทราม แต่มีบุคคลบริสุทธิ์ที่มีความดีและมีความเหมาะสม แต่เขาไม่ปรับปรุงแก้ไขหรือฟื้นฟูสังคมแต่อย่างใด สังคมนั้นต้องพบกับความวินาศอย่างอีกเช่นกัน

 

2.3 สังคมที่ประสบกับความเสื่อมทรามและการกดขี่ แต่ว่ามีผู้เรียกร้องการปรับปรุงแก้ไข ในกรณีนี้สังคมอยู่ในหนทางของการปรับปรุงแก้ไข สังคมยังสามารถดำเนินต่อไปได้

 

3. รายงานฮะดีษจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการฟื้นฟูในโองการข้างต้นก็คือ ความเสมอภาคกันในหมู่ประชาชน (ตัฟซีร มัจญ์มะอุลบะยาน เล่มที่ 5 หน้าที่ 309 )

 

เป็นที่ประจักษ์ว่าฮะดีษเหล่านี้ได้อธิบายถึงองค์ประกอบแท้จริงของโองการ ซึ่งความเข้าใจเรื่องการปรับปรุงแก้ไขในโองการ ครอบคลุมทั้งเรื่อง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การทหาร จริยธรรม คุณธรรม และวัฒนธรรม

 

บทเรียนจากโองการ:

 

1. การฟื้นฟูและการปรับปรุงคือ ปัจจัยในการช่วยเหลือสังคมให้รอดพ้นจากความพินาศ

 

2. มาตรว่าอัลลอฮ์ ไม่ทรงประสงค์ที่จะฟื้นฟูสังคม สังคมนั้นต้องพินาศแน่นอน

 

3. สำหรับการช่วยเหลือสังคม เฉพาะผู้บริสุทธิ์เพียงอย่างเดียวถือว่าไม่เพียงพอ แต่ต้องมีผู้ปรับปรุงสังคมด้วย