ความประเสริฐของเดือนชะอ์บาน

ความประเสริฐของเดือนชะอ์บาน

 

 เดือนชะอ์บาน คือ หนึ่งในเดือนทั้งหลายของปีที่มนุษย์นั้นสามารถจะเข้าใกล้ชิดยังพระผู้เป็นเจ้าได้ กล่าวคือ เอกองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ซึ่งถือได้ว่าเดือนชะอ์บานนั้นมีความสูงส่งและเต็มไปด้วยกับความประเสริฐอย่างมากมาย ทั้งยังมีการรายงานจากวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.)  ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายอีกด้วย


ประการแรก เดือนชะอ์บาน เป็นเดือนที่มีบุคลากรแห่งพระผู้เป็นเจ้า ผู้เปรียบเสมือนดั่งดวงดาวจรัสแสงในชั้นฟ้าได้มาจุติยังโลกา เช่น ท่านอิมามฮูเซน (อ) ซึ่งท่านได้ประสูติในวันที่  3 ของเดือนนี้ และวันที่ 4 ของเดือนนี้ ยังเป็นวันแห่งการถือกำเนิดของเจ้าของฉายานามที่รู้จักกันว่า ดวงจันทราแห่งบะนีฮาชิม คือ ท่านอะบุลฟัฎล์ อับบาส และในวันที่ 5 ของเดือนนี้ เป็นวันที่ท่านอิมามอะลี บินฮูเซน ซัยนุลอาบิดีน ได้ถือกำเนิด และเช่นเดียวกัน ในวันที่ 15 ของเดือนนี้ ถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่ง นั่นก็คือ วันแห่งการประสูติของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ) ซึ่งท่านนั้นคือ อิมามผู้ที่ถูกรอคอย และเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติ ในวันที่ท่านปรากฏกาย โลกนี้จะเต็มไปด้วยความยุติธรรม หลังจากที่ได้เปอะเปื้อนไปด้วยกับความชั่วร้ายและความอยุติธรรมมาก่อน


ประการที่สอง ดังที่ได้กล่าวผ่านไปแล้ว บางรายงานได้กล่าวไว้ว่า ค่ำคืนนิศฟูชะอ์บาน (15 ชะอ์บาน ) เป็นค่ำคืนแห่งอานุภาพ (ลัยละตุลก็อดร์) ซึ่งบรรดาอิมามต่างสั่งให้ทำการอิฮ์ยา (การไม่หลับนอน)ด้วยการกระทำอะมั้ลอิบาดัตและการดุอา (การขอพร) จากพระผู้เป็นเจ้า


ประการที่สาม เดือนชะอ์บาน เป็นเดือนที่มีความประเสริฐอย่างมาก เพราะว่าคือเดือนของท่านศาสดา ผู้ทรงเกียรติแห่งอิสลาม


ดังรายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด ที่ได้กล่าวว่า

 

ان رجب شهر الله، و شعبان شهري و شهر رمضان شهر امتي
 

“เดือนรอญับเป็นเดือนของอัลลอฮ์ และเดือนชะอ์บานเป็นเดือนของฉัน และเดือนรอมฎอนเป็นเดือนของประชาชาติของฉัน”1

 

شعبان شهري رحم اللّه من أعانني علی شهري

 

“เดือนชะอ์บานเป็นเดือนของฉัน อัลลอฮ์ทรงให้อภัยกับผู้ที่ช่วยเหลือฉันในเดือนของฉัน”2

 

شعبان هو شهر يغفل الناس عنه بين رجب ورمضان ، وهو شهر ترفع فيه الاعمال إلى رب العالمين
 

"เดือนชะอ์บาน คือเดือนที่มนุษย์นั้นเพิกเฉยและหลงลืมระหว่างเดือนรอญับและเดือนรอมฎอน และเดือนที่การกระทำทั้งหลายของมนุษย์จะถูกยกขึ้นสู่พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล”3


 
การถือศีลอดในเดือนชะอ์บาน

 

 

"ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวว่า

 

شعبان شهري من صام يوما من شهري وجبت له الجنة

 

“เดือนชะอ์บานเป็นเดือนของฉัน ผู้ใดก็ตามที่ได้ถือศีลอดในเดือนนี้ แม้เพียงวันเดียว สวรรค์นั้นจะเป็นวาญิบ(สิ่งจำเป็น) สำหรับเขา"4

 

كان السجاد (عليه السلام) إذا دخل شعبان جمع أصحابه وقال (عليه السلام): ياأصحابي، أتدرون ماهذا الشهر ؟ هذا شهر شعبان. وكان النبي (صلّى الله عليه وآله وسلم) يقول: شعبان شهري فصوموا هذا الشهر حبا لنبيكم وتقربا إلى ربكم أُقسم بمن نفسي بيده، لقد سمعت أبي الحسين (عليه السلام) يقول: سمعت أمير المؤمنين (عليه السلام) يقول: من صام شعبان حباً لرسول الله (صلّى الله عليه وآله وسلم) وتقربا إلى الله أحبه الله وقربه إلى كرامته يوم القيامة وأوجب له الجنة

 

มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า เมื่อเดือนชะอ์บานได้เข้ามาถึง ปู่ของฉัน (อิมามซัจญาด) จะเรียกบรรดามิตรสหายให้มารวมตัวกัน และกล่าวว่า โอ้สาวกของฉัน พวกท่านทราบหรือไม่ว่าเดือนนี้คือเดือนอะไร? ท่านตอบว่า นี่คือเดือนชะอ์บาน ซึ่งท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ได้กล่าวเสมอว่า ชะอ์บานคือเดือนของฉัน ดังนั้น พวกท่านจงทำการถือศีลอดเถิด เพื่อแสดงความรักต่อศาสดาของพวกเจ้าและเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับพระผู้อภิบาลของพวกเจ้า และฉันขอสาบานด้วยกับผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในหัตถ์ของพระองค์ว่า ฉันได้ยินบิดาของฉัน (อิมามฮูเซน) กล่าวว่า ฉันได้ยินจากอะมีรุลมุอ์มินีนกล่าวว่า ผู้ใดก็ตามที่ถือศีลอดในเดือนชะอ์บาน ด้วยความรักต่อท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) และ เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดยังพระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะทรงรักผู้นั้น และเขาจะได้รับเกียรติยศจากพระองค์ ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (วันกิยามัต) และแน่นอนที่สุด สวรรค์จะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเขา"5

 

«حثّ من في ناحيتك على صوم شعبان. فقلت: جعلت فداك ترى فيه شَيْئاً ؟ فقال: نعم، إنّ رسول الله (صلّى الله عليه وآله وسلم) كان إذا رأى هلال شعبان أمر مناديا ينادي في المدينة: ياأهل يثرب ! إني رسول رسول الله (صلّى الله عليه وآله وسلم) إليكم، ألاّ إنّ شعبان شهري، فرحم الله من أعانني على شهري، ثم قال: إنّ أمير المومنين (صلوات الله وسلامه عليه) كان يقول: ما فاتني صوم شعبان منذ سمعت منادي رسول الله (صلّى الله عليه وآله وسلم) ينادي في شعبان، ولن يفوتني أيام حياتي صوم شعبان إن شاء الله تعالى، ثم كان (عليه السلام) يقول: صوم شهرين متتابعين توبة من الله
 

รายงานจากท่านซ็อฟวาน อัลญัมมาล ได้กล่าวว่า ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวกับฉันว่า "จงกำชับและส่งเสริมบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับท่าน ด้วยการถือศีลอดในเดือนชะอ์บาน ฉันจึงได้กล่าวขึ้นว่า


ชีวิตของข้าฯ ขอพลีเพื่อท่าน และท่านเห็นความประเสริฐของการกระทำนั้นหรือ? อิมามซอดิก (อ.) จึงได้กล่าวตอบว่า ใช่แล้ว แท้จริงทุกครั้งเมื่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้เห็นดวงจันทร์ขึ้นของเดือนชะอ์บานแล้ว ท่านจะส่งผู้ประกาศสาส์นไปป่าวประกาศแก่ชาวเมืองมะดีนะฮ์ว่า โอ้ชาวเมืองยัษริบ(ชื่อเดิมของเมืองมะดีนะฮ์) แท้จริงฉันคือผู้ประกาศสาส์นแห่งศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าที่มายังพวกท่านทั้งหลาย และท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ได้มอบให้ฉันมาแจ้งข่าวแก่พวกท่านว่า พึงรู้ไว้เถิดว่า แท้ที่จริงแล้ว เดือนชะอ์บานคือเดือนของฉัน พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) จะทรงโปรดปรานต่อผู้ที่ช่วยเหลือฉันในเดือนของฉัน หลักจากนั้นท่านอิมามซอดิกกล่าวอีกว่า แท้จริงอะมีรุลมุอ์มินีน มักกล่าวเสมอว่า ฉันนั้นไม่เคยละทิ้งการถือศีลอดในเดือนชะอ์บานเลย ตราบที่ฉันนั้นยังได้ยินเสียงเรียกร้องของทูตของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ได้ป่าวประกาศในเดือนชะอ์บานและฉันก็จะไม่ละทิ้งการถือศีลอดในเดือนชะอ์บานในตลอดช่วงการมีชีวิตของฉันเลย หากพระองค์นั้นทรงประสงค์ และหลังจากนั้น ท่านอะมีรุลมุอ์มีนีน(อ.)  กล่าวว่า การถือศีลอดที่ติดต่อกันสองเดือน เป็นการขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ)”6

 

ยังมีรายงานอีกว่า การถือศีลอดในเดือนชะอ์บานและเดือนรอมฎอน เป็นการเตาบัต (การขอลุแก่โทษ)และเป็นการอภัยโทษจากพระเจ้า

 

รายงานจากท่านอิสมาอีล บิน อับดุลคอลิก ได้กล่าวว่า "ครั้งหนึ่งฉันนั่งอยู่กับท่านอิมาม ญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) และได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องของการถือศีลอดในเดือนชะอ์บาน


ท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) ได้กล่าวถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนชะอ์บาน อย่างนั้นอย่างนี้มากมาย จนถึงกับว่าชายผู้ซึ่งแปดเปื้อนไปด้วยเลือดของสิ่งที่ฮะรอม (บาปอันใหญ่หลวง) แต่เมื่อเขาได้ถือศีลอดในเดือนชะอ์บาน เขาจะได้รับการอภัยโทษในทันทีทันใด"

 

จะเห็นได้ว่า ข้อควรปฏิบัติในเดือนชะอ์บานนั้นมีมากมาย แต่สิ่งที่เราได้รับจากวจนะนี้นั้นก็คือ การขออภัยโทษในเดือนนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการขอดุอา(การขอพร)ที่ดีที่สุด ด้วยการกล่าวคำว่า


 อัซตัฆฟิรุลลอฮะ วะอัซอะลุฮุตเตาบะฮ์ 70 ครั้ง

اَسْتَغْفِرُاللَّهَ وَاَسْئَلُهُ التَّوْبَةَ 


 ผลบุญที่จะได้รับเหมือนดั่งการขออภัยโทษถึง 7 หมื่นครั้งในเดือนทั้งหลาย และการกระทำอีกประการหนึ่งในเดือนชะอ์บานที่มีการเน้นย้ำเป็นอย่างมาก ก็คือ การบริจาคทาน(เซาะดาเกาะฮ์ ) แม้ว่าจะเป็นเพียงผลอินทผลัมผลเดียวก็ตาม จะทำให้ร่างกายของเขาออกห่างจากไฟนรก


ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า "มีชายผู้หนึ่งได้ถามถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนรอญับ ท่านอิมามได้ตอบแก่เขาว่า แล้วด้วยเหตุใด ท่านจึงลืมความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนชะอ์บานเล่า?
ผู้รายงานได้กล่าวต่อว่า "ฉันจึงได้ถามท่านอิมามว่า โอ้ผู้เป็นบุตรแห่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ผลบุญของผู้ถือศีลอดเพียง 1 วันในเดือนชะอ์บานคือสิ่งใดหรือ? ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) ว่า ผลบุญคือสรวงสวรรค์ และฉันได้ถามอีกว่า อามั้ล (การกระทำ) ที่ดีที่สุดในเดือนชะอ์บาน คืออามั้ลใดหรือ?


ท่านอิมามซอดิก (อ.) ตอบว่า การบริจาคทาน และการขออภัยโทษ บุคคลใดก็ตามได้ที่บริจาคทานในเดือนชะอ์บาน พระองค์อัลลอฮ์จะทรงรักษาสิ่งนั้น (การบริจาคทาน) ของเขา เสมือนกับคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านที่ได้ดูแลรักษาอูฐ (ดูแลอย่างดี) จวบจนวันฟื้นคืนชีพ (กิยามัต) และจะส่งคืนให้กับเขา ผู้เป็นเจ้าของ (ผู้บิรจาคทาน) เท่ากับภูเขาอุฮุด (นามของภูเขาที่มีขนาดใหญ่)"


การถือศีลอดในเดือนชะอ์บาน โดยเฉพาะวันพฤหัสบดี ถือว่า มีมรรคผลอย่างมาก ซึ่งมีรายงานกล่าวว่า ในทุกวันพฤหัสบดี จะมีการประดับประดาบนฟากฟ้า หลังจากนั้นมวลเทวทูต (มะลาอิกะฮ์) จะรำพันว่า โอ้พระผู้เป็นเจ้า ขอพระองค์ทรงโปรดตอบรับการถือศีลอดของผู้ที่ถือศีลอดในวันนี้และการขอพรจากพวกเขาด้วยเถิด


และเช่นเดียวกัน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า "ผู้ใดก็ตามที่ได้ถือศีลอดในทุกวันจันทร์ และวันพฤหัสบดีในเดือนชะอ์บาน ตลอดทั้งเดือน พระองค์จะทรงประทานสิ่งพึงประสงค์ของเขาในโลกนี้แก่เขา 20 ประการ และในโลกหน้า (อาคิเราะฮ์) อีก 20 ประการ"


การกล่าว ศอลาวาต (การประสาทพร) แด่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และแด่บรรดาลูกหลานอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เป็นการปฏิบัติที่ประเสริฐอีกประการหนึ่ง ที่ควรปฏิบัติให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะกระทำได้
ดังนั้น เราสามารถกล่าวได้ว่า ในเดือนนี้มีการกระทำต่างๆมากมายที่ควรปฏิบัติ ได้แก่ การทำนมาซ การถือศีลอด การบริจาคทานซะกาต การกำชับกันในสิ่งที่ดีและห้ามปรามกระทำสิ่งที่ชั่วร้าย การบริจาคทานให้กับคนยากจน และคนขัดสน การปฏิบัติความดีต่อพ่อและแม่และเพื่อนบ้าน ทั้งการเชื่อมความสัมพันธ์เครือญาติใกล้ชิด

 


อ้างอิง


1.วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่มที่ 10 หน้าที่ 480


2.วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่มที่ 10 หน้าที่ 497


3.วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่มที่ 10 หน้าที่ 502


4.วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่มที่ 10 เล่มที่ 8 หน้าที่ 98


5.วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่มที่ 10 เล่มที่ 6 หน้าที่ 364


6.บิฮารุลอันวาร อัลลามะฮ์ มุฮัมมัดบากิร มัจญ์ลิซีย์ เล่มที่ 94 บทที่ 56

 

แปลและเรียบเรียงโดย เชคญะมาลุดดีน ปาทาน