อิบาดะฮ์ กับความสมบูรณ์ของมนุษย์


อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระเจ้า) กับความสมบูรณ์ของมนุษย์

 


ความหมายของคำว่า “กะม้าล” (ความสมบูรณ์)


คำว่า “กะม้าล” ในภาษาอาหรับหมายถึง ความสมบูรณ์แบบ ความเพียบพร้อม และการประดับประดาตนด้วยคุณลักษณะที่ดีงามต่าง ๆ (1) ส่วนในสำนวนวิชาการนั้น หมายถึง ในโครงสร้างแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์นั้นวางอยู่ในมิติขั้นสูงสุด ที่มนุษย์สามารถจะย่างก้าวไปบนเส้นทางของพระผู้เป็นเจ้าจนถึงระดับขั้นอันสูงส่ง (อะอ์ลา อิลลียีน) ได้ ดังเช่นที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวเกี่ยวกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ว่า


ثُمَّ دَنا فَتَدَلّى فَكانَ قابَ قَوْسَيْنِ أَوْ أَدْنى


“หลังจากนั้น เขาได้เข้ามาใกล้ แล้วก็เคลื่อนเข้ามาใกล้อีก จนเขาได้เข้ามาอยู่ในระยะที่เท่ากับสองข้างของคันธนู หรือใกล้ยิ่งกว่านั้น” (2)


ท่านชะฮีดมุรตะฎอมุเฏาะฮ์ฮะรี ได้เขียนไว้ว่า “ในภาษาอาหรับ มีคำอยู่สองคำ คือคำว่า “กะม้าล” (ความสมบูรณ์) และคำว่า “ตะมาม” (ความครบถ้วน, ความเพียบพร้อม) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกันมาก มนุษย์ที่มีความครบถ้วนและเพียบพร้อมสามารถที่จะเป็นผู้ที่สมบูรณ์และสมบูรณ์มากกว่าได้ จนกระทั่งถึงขั้นที่สูงสุดของมันโดยที่ไม่มีมนุษย์คนใดไปขั้นที่สูงกว่านั้นได้อีก สิ่งนี้เองที่เราเรียกว่า มนุษย์ผู้สมบูรณ์ (อินซานุ้ลกามิล) อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์” (3)


การไปถึงความสมบูรณ์ภายใต้การอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระเจ้า)


หลักคำสอนและแบบแผนทั้งหมด (หลักการศรัทธา (อุซูลุดดีน) หลักปฏิบัติ (ฟุรูอุดดีน) และหลักจริยศาสตร์   (อัคลาก)) ของศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้น ถูกกำหนดขึ้นเพื่อพัฒนามนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ เป้าหมายที่แท้จริงของการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) การยอมตนเป็นบ่าว และปรัชญาของการอิบาดะฮ์ทั้งหลายของเรา ซึ่งโดยตัวของมันเองคือห้องเรียนของการอบรมขัดเกลา (ตัรบิยะฮ์) นั่นก็คือการพัฒนาตนของมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์


ความสมบูรณ์ของมนุษย์นั้นมีมิติต่าง ๆ มากมาย อย่างเช่น ความสมบูรณ์ในมิติทางรหัสยะ (อิรฟาน) ความสมบูรณ์ในมิติของการอิบาดะฮ์ ความสมบูรณ์ในมิติของการเมือง และความสมบูรณ์ในมิติทางด้านจริยธรรม ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ภายใต้การเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) พระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อมนุษย์มุ่งความสนใจไปที่สถานะความเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า มองว่ามนุษย์ทั้งมวลคือสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า และถือว่าความกรุณา ความเมตตาและการปฏิบัติดีต่อพวกเขาคือหน้าที่ของความเป็นบ่าวของตนเอง อีกทั้งยังถือว่าการสร้างความสนิทชิดเชื้อ ความรักและความใกล้ชิดต่อพวกเขา คือแนวทางที่นำไปสู่ความเป็นบ่าวที่ดีของพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกันนี้ การปฏิบัติตามพระบัญชาต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าในปัญหาต่าง ๆ ทางด้านจริยธรรมและคุณธรรม เช่นนี้เองที่ผู้เป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าก็จะประดับประดาตนไปด้วยจริยธรรมต่าง ๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า อวัยวะทุกส่วนของร่างกายของเขาก็จะกระทำไปตามสิ่งที่เป็นเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า


ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า “พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกริกเกียรติเกรียงไกรทรงตรัสว่า


مَا یَتَقَرَّبُ إِلَیَّ عَبْدٌ مِنْ عِبَادِی بِشَیْءٍ أَحَبَّ إِلَیَّ مِمَّا افْتَرَضْتُ عَلَیْهِ وَ إِنَّهُ لَیَتَقَرَّبُ إِلَیَّ بِالنَّافِلَةِ حَتَّى أُحِبَّهُ فَإِذَا أَحْبَبْتُهُ كُنْتُ إِذاً سَمْعَهُ الَّذِی یَسْمَعُ بِهِ وَ بَصَرَهُ الَّذِی یُبْصِرُ بِهِ وَ لِسَانَهُ الَّذِی یَنْطِقُ بِهِ وَ یَدَهُ الَّتِی یَبْطِشُ بِهَا إِنْ دَعَانِی أَجَبْتُهُ وَ إِنْ سَأَلَنِی أَعْطَیْتُهُ


“ไม่มีสิ่งใดที่บ่าวคนหนึ่งของข้าจะแสวงหาความใกล้ชิดต่อข้าด้วยกับมัน ที่จะเป็นที่รักยิ่งสำหรับข้า มากไปกว่าสิ่งที่ข้าได้กำหนดไว้เป็นข้อบังคับสำหรับเขา และเมื่อเขาจะแสวงหาความใกล้ชิดต่อข้าด้วยการนมาซนาฟิละฮ์ (มุสตะฮับ) จนกระทั่งข้ารักเขา และเมื่อใดที่ข้ารักเขา เมื่อนั้นข้าก็จะเป็นหูของเขาที่เขาจะใช้ในการรับฟัง และข้าจะเป็นสายตาของเขาที่เขาจะใช้ในการมอง และข้าจะเป็นลิ้นของเขาที่เขาจะใช้ในการพูด และข้าจะเป็นมือของเขาที่เขาจะใช้ในการจับต้อง หากเขาวิงวอนต่อข้า ข้าก็จะตอบรับเขา และหากเขาขอข้า ข้าก็จะให้เขา” (4)

ด้วยกับพลังอำนาจแห่งพระผู้เป็นเจ้า การเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) และการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้านี่เองที่จะทำให้มนุษย์ได้ยินเสียงต่าง ๆ ที่หูโดยปกติมิอาจได้ยินมัน และจะมองเห็นภาพต่าง ๆ ที่สายตาโดยปกติมิอาจมองเห็นมัน ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) กล่าวว่า


“... ท่านทั้งหลายจงพิจารณาคัมภีร์อัลกุรอานอันจำเริญ และเช่นเดียวกันนี้ ในการนมาซ ในช่วงที่พวกท่านกล่าว “ตะชะฮ์ฮุด” (คำปฏิญาณตน) ของนมาซที่เกี่ยวกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่ว่า “عَبْدُهُ وَرَسُولُهُ” คำว่า “อับดุ์” (บ่าว) จะมาก่อนคำว่า “ร่อซูล” (ศาสนทูต) และเป็นไปได้ว่า หลักการสำคัญข้อนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า การไปถึงความเป็นศาสนทูต (ริซาละฮ์) นั้น ต้องผ่านช่องทางของความเป็นบ่าว (อุบูดียะฮ์) ท่านเป็นอิสระจากสิ่งทั้งมวลและกลายเป็นบ่าว คือบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่บ่าว (หรือทาส) ของสิ่งอื่น ๆ” (5)


ดังนั้นจะต้องยอมรับว่า หนทางเดียวที่จะไปถึงยังความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ได้ ซึ่งได้แก่ความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นก็คือ การยอมตนเป็นบ่าวและการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระองค์ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใต้แนวทางอันเที่ยงตรง (ซิรอฏ็อลมุสตะกีม) ด้วยกับความช่วยเหลือและพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระผู้เป็นเจ้า (6)


ด้วยเหตุนี้เอง “อิบาดะฮ์” (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) และ “กะม้าล” (ความสมบูรณ์) ของมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อกัน (ลาซิม วะ มัลซูม) หรือกล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ ทั้งสองมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้มนุษย์ที่ย่างก้าวไปบนเส้นทางของการพัฒนาตนสู่ความสมบูรณ์นั้น เขาจะเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าเขาทำการอิบาดะฮ์ต่อพระองค์มากเท่าใดและดีเลิศมากเท่าใด การพัฒนาสู่ความสมบูรณ์ของเขาก็จะรวดเร็วมากขึ้นเพียงนั้น เมื่อเขาเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์มากเท่าใด การอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) และการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าของเขาก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ในแนวแนวทางนี้หากเขามีความอุตสาห์พยายามมากเท่าใด เขาก็จะเป็นบุรุษแห่งพระเจ้าและเข้าใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น ในลักษณะที่ว่า ความคิด คำพูดและการกระทำของเขา จะได้รับการย้อมสีแห่งพระผู้เป็นเจ้า


ที่มา
(1) ฟัรฮังก์อะมีด หน้าที่ 80
(2) ซูเราะฮ์อันนัจญ์มุ (53)/อายะฮ์ที่ 8-9
(3) อินซานุ้ลกามิล, ชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี หน้าที่ 9
(4) วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่มที่ 3 หน้าที่ 53
(5) ซอฮีฟะฮ์ นูร เล่มที่ 14 หน้าที่ 30
(6)สรุปจากเนื้อหาของซูเราะฮ์ฟาติฮะฮ์

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน