เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

พหุนิยมทางศาสนากับอัลกุรอาน (1)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

พหุนิยมทางศาสนากับอัลกุรอาน (1)

มูซา อิบรอฮิมี / เขียน

เชคอิมรอน พิชัยรัตน์ /แปล

ศาสนาและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนานั้นเป็นความจริงแท้หนึ่งที่ได้แผ่ปกคลุมวิถีชีวิตของมนุษย์ในทุกแง่มุม และเข้ามามีบทบาทในทุกพื้นที่ของชีวิตมนุษย์เลยทีเดียว

“พหุนิยมทางศาสนา” หรือ “Religious Pluralism”  หมายถึงการยอมรับว่าแก่นแท้อันบริสุทธิ์และทางรอดพ้นนั้นมีอยู่ในทุกศาสนา โดยไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในศาสนาหรือนิกายใดเท่านั้น อันที่จริงแล้ว “พหุนิยมทางศาสนา” ได้ให้คำตอบสำหรับคำถามต่างๆ ที่ว่า ศาสนาต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายนี้ได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากแก่นแท้อันบริสุทธิ์นั้น? ทุกศาสนานั้นถูกต้องและสัจธรรม? หรือมีเพียงศาสนาเดียวเท่านั้นที่ถูกต้องและเป็นสัจธรรม? กล่าวได้หรือไม่ว่าศาสนิกชนทุกศาสนาคือผู้รอดพ้น? ปัจจุบันมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ยอมรับทฤษฎี “พหุนิยมทางศาสนา” โดยได้ยกเหตุผลทั้งทางปัญญาและประสบการณ์และโองการอัลกุรอานซึ่งเป็นโองการที่คลุมเครือเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตนเองอีกด้วย

ในพื้นที่ของการค้นคว้าวิจัยด้านศาสนาและขอบข่ายของวิทยาการศาสนาในยุคสมัยใหม่นี้ โดยรวมแล้วมีแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาสามแนวคิดด้วยกัน คือ จารีตนิยม  สมัยนิยมตามตะวันตก และแนวคิดฟื้นฟู ซึ่งแต่ละแนวคิดก็มีกลุ่มนักคิดระดับหัวกะทิที่ได้รับอิทธิพลทฤษฎีปรัชญาและเทววิทยาจากโลกตะวันตก ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแนวคิดทั้งสามอย่างพอสังเขป:

    จารีตนิยม เป็นแนวคิดที่ยึดมั่นอยู่กับวิทยาการตามจารีตของตน โดยถือว่าแนวคิดใหม่ๆ นั้นเป็นการหลอกลวงและเป็นภัยต่อแก่นแท้อันบริสุทธิ์ของศาสนาอิสลาม เนื่องจากแนวคิดกลุ่มนี้ไม่ได้ศึกษาแนวคิดเรื่องที่เราพูดถึงกัน จึงไม่อาจให้คำตอบที่แท้จริงของอิสลามได้

2.สมัยนิยมตามตะวันตก เป็นแนวคิดที่ไม่ให้ความสนใจและคุณค่าของแหล่งข้อมูลหลักของศาสนา เป็นแนวคิดที่นิยมชมชอบตามวัฒนธรรมตะวันตก ที่เผยแพร่แนวคิดนี้อยู่อย่างแข็งขัน

    ระหว่างสองแนวคิดนี้ มีแนวคิดหนึ่งเกิดขึ้นในหมู่นักค้นคว้า นักเขียน นักปรัชญาด้านศาสนา ที่นอกจากจะเห็นคุณค่าของศาสนาอิสลามแล้วยังได้ทุ่มเทในการค้นคว้าวิจัยเพื่อทำความรู้จักกับแนวคิดต่างๆ เช่น แนวคิดพหุนิยมทางศาสนา เป็นต้น ซึ่งตกผลึกสู่การยอมรับและปฏิเสธในบางมุมของแนวคิดเหล่านั้น

สำหรับแนวคิด “พหุนิยมทางศาสนา” จากมุมมองด้านในของศาสนานั้นมีคำถามหลักจากอัลกุรอานอยู่สี่คำถามคือ:

    อัลกุรอานมีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับ “พหุนิยมทางด้านศาสนา” ในแง่มุมของแก่นแท้บริสุทธิ์และทางรอดพ้น?
    มีโองการใดที่กลุ่ม “พหุนิยมทางด้านศาสนา” นำมาเป็นหลักฐานยืนยัน?
    อัลกุรอานถือว่าศาสนิกชนทุกศาสนาคือผู้รอดพ้นหรือไม่?
    อัลกุรอานรับรองพหุนิยมศาสนาในด้านการปฏิบัติหรือไม่อย่างไร?

เราจะขอกล่าวถึงคำตอบข้างต้นนี้ตามกำลังความสามารถ เป็นคำตอบที่ผสมผสานกับปรัชญา เทววิทยาและตัฟซีร (การอรรถาธิบายอัลกุรอาน) โดยใช้วิธีการอธิบาย วิเคราะห์และวิพากษ์

เนื่องจากเรื่อง “พหุนิยมทางด้านศาสนา” เป็นเรื่องที่สำคัญและมีคำถามที่สร้างคลุมเครือให้เกิดขึ้นเกี่ยวกับศาสนา จึงต้องเป็นการค้นคว้าที่หนักแน่นและมีหลักการว่าด้วยเหตุและผลในมุมมองของอัลกุรอาน แม้ว่าจะมีบทความทางวิชาการและหนังสือได้วิพากษ์แนวคิด “พหุนิยมทางด้านศาสนา” แล้วก็ตาม แต่งานชิ้นนี้เป็นการค้นคว้าบนพื้นฐานของคำถามใหม่ๆ ที่สร้างความคลุมเครือ เป็นงานเขียนในรูปแบบใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของการวิเคราะห์เรื่องนี้เลยก็ว่าได้

หากมองถึงประวัติความเป็นมาของแนวคิด “พหุนิยมทางด้านศาสนา” ก็จะเห็นได้ว่า “วิลเฟรด แคนท็เวลล์ สมิธ” Wilfred cantwell smith ที่อยู่ร่วมสมัยกับ  จอห์น ฮิคส์ John Hick นักปรัชญาชาวอังกฤษที่ได้ประกาศและยืนยันแนวคิดนี้อย่างเปิดเผย จอห์น ฮิคส์ กล่าวว่า “ ฉันคิดว่าการยอมรับศาสนา (หมายถึงพหุนิยมทางด้านศาสนา) นั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องอย่างชัดเจนตามสาส์นแห่งวิวรณ์และแหล่งอ้างอิงทางศาสนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับทางรอดพ้นและชัยชนะของมนุษย์ ที่เราต้องหันมาคิดใคร่ครวญถึงเรื่องของ “พหุนิยมทางด้านศาสนา”  แนวคิดของจอห์น ฮิคส์ เป็นการตอบโต้หลักคำสอนของคริสตจักรที่จำกัดทางรอดพ้นไว้เฉพาะในคริสตจักรเท่านั้น ดังนั้นแนวคิด “พหุนิยมทางด้านศาสนา” เป็นผลผลิตของตะวันตก

ส่วนในโลกอิสลามนั้น แนวคิดนี้ย้อนกลับไปในยุคของการประกาศศาสนา ยุคที่เกิดความท้าทายขึ้นระหว่างบรรดามุสลิมกับชาวคัมภีร์ และอัลกุรอานได้เชิญชวนชาวคัมภีร์สู่ศาสนาอิสลาม โดยเชิญชวนสู่หลักธรรมที่เป็นจุดร่วมเดียวกันคือ หลักเอกะของพระเจ้า (เตาฮีด) เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แต่ก็มีการอ้างแนวคิด “พหุนิยมทางด้านศาสนา” ถึงบุคคลต่างๆ เช่น มุฮัมหมัด ฆอซาลี และ อิควานุศซอฟา ทว่ายังไม่มีหลักฐานที่ระบุชัดเจนเกี่ยวกับข้ออ้างนี้  ต่อมา ดร. สุรุช ดร. มุฮัมหมัด บีนอ มุฏลัก ท่านมุจตะฮิด ชะบัสตะรีและท่านอื่นๆ ได้นำเรื่องนี้มานำเสนอและปกป้องแนวคิดนี้ อีกฝั่งหนึ่งนักคิด นักค้นคว้าจำนวนมากได้ลุกขึ้นเขียนหนังสือด้านปรัชญาและเทววิทยามากมายเพื่อวิพากษ์แนวคิดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะวิเคราะห์จากด้านนอกของศาสนา น้อยมากที่จะวิเคราะห์เรื่องนี้จากภายในของศาสนาเพื่อยกเหตุผลตอบโต้แนวคิด “พหุนิยมทางด้านศาสนา”

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม