เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ชีวประวัติของท่านอะบุลฟัฎล์ อัลอับบาส

3 ทัศนะต่างๆ 02.3 / 5

ชีวประวัติของท่านอะบุลฟัฎล์ อัลอับบาส

 

ผู้เขียนประสงค์ที่จะให้พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลายได้รู้จักกับชายชาตรีแห่งพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ ท่านอับบาส บุตรของราชสีห์แห่งพระผู้เป็นเจ้า อิมามอะลี บินอะบีฎอลิบ (อ) พร้อมกับนำเสนอคุณลักษณะต่างๆ ของท่านมาเพียงสังเขป เพื่อให้เยาวชนชีอะฮ์ผู้แอบอ้างตนเองว่าเป็นชีอะฮ์ของท่านอับบาส (อ) ว่า ณ วันนี้พวกเขาเป็นชีอะฮ์ที่แท้จริงของท่านอับบาส (อ) แล้วหรือยัง?

 

เพียงต้องการจะสื่อให้เยาวชนชีอะฮ์อิมามียะฮ์ได้พึงเข้าใจว่า การเป็นชีอะฮ์ของท่านอับบาส (อ) นั้น คือการดำเนินชีวิตตามรอยเท้าของท่านอับบาส (อ) ในทุกย่างก้าว คือการซึมซาบจิตวิญญาณแห่งนักต่อสู้ที่มั่นคงในอุดมการณ์ การเป็นบ่าวผู้ที่ยอมอย่างสิโรราบต่อพระบัญชาของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ผู้ที่ยึดมั่นในวิลายะฮ์ของอิมามฮูเซน (อ) อย่างรู้แจ้งเห็นจริง (มะอ์ริฟะฮ์)

 

โอ้พี่น้องผู้ศรัทธา โอ้เยาวชนที่รักทั้งหลาย เหล่านั้นคือตัวตนแห่งท่านอับบาส (อ) และนั่นคือตัวตนแห่งชีอะฮ์อิมามียะฮ์ของพวกเรา

 

ท่านอะบุลฟัฎล์ อับบาส (อ) ประสูติในวันที่ 4ชะอ์บาน ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 26 ในนครมะดีนะฮ์ บิดาของท่านคือท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีน อิมามอะลี บินอะลีฎอลิบ (อ) หลังจากที่ท่านอับบาสได้ลืมตาขึ้น ท่านอิมามอะลี (อ) ได้อุ้มท่านไว้ในอ้อมแขนของท่าน และท่านอิมามได้กล่าวอะซานที่ข้างขวา และกล่าวอิกอมะฮ์ที่หูข้างซ้าย และได้ตั้งชื่อให้ท่านว่า "อับบาส"

 

มารดาของท่านอับบาส (อ) คือฟาติมะฮ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "อุมมุนบะนีน"

 

บรรดานักวิชาการ และนักบันทึกประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า " เหตุผลที่ท่านอิมามอะลี (อ) ได้ตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ของท่านว่า "อับบาส" เนื่องจากว่า อิมามอะลี (อ) ล่วงรู้ถึงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ความแข็งแกร่งของท่านอับบาส เมื่อท่านได้ยืนประจันหน้ากับเหล่าศัตรูของอิสลาม เป็นอย่างดี"

 

ในบางรายงานได้กล่าวว่า บ่อยครั้งที่ท่านอิมามอะลี (อ) ได้ยกท่านอับบาสขึ้นจากเปลมาอุ้มไว้ในอ้อมแขน และท่านอิมามจะยกผ้าที่ปิดแขนของทารกน้อยออก และจุมพิตลงบนแขนของทารกน้อยนั้น ในสภาพน้ำตาไหลรินนองหน้า และได้กล่าวว่า "แขนทั้งสองข้างของเขาจะถูกตัดขาดสะบั้น เพื่อช่วยเหลือพี่ชายของเขา อิมามฮูเซน (อ)"

 

ท่านอับบาส มีฉายานามต่างๆ มากมายตามคุณลักษณะพิเศษที่ท่านมี อาธิเช่น อะบุลฟัฎล์ หมายถึง บิดาแห่งความประเสริฐ ความมีคุณธรรม หรือเกาะมัรบะนีฮาชิม หมายถึงจันทร์เพ็ญแห่งบะนีฮาชิม เนื่องจากว่าท่านอับบาสนั้น เป็นชายหนุ่มที่มีหน้าตาที่สวยงาม และมีร่างกายกำยำ ในบางรายงานได้บันทึกว่า ท่านอับบาส มีหน้าตามที่สวยงาม และร่างกายท่ำยำ สูงใหญ่ คราใดก็ตามที่ท่านได้ขึ้นนั่งบนอานม้า ขาทั้งสองของท่านจะลากพื้น ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงถูกให้ฉายานามว่า "จันทร์เพ็ญแห่งบะนีฮาชิม"

 

ฉายานามอื่นๆ ของท่าน คือ อับดุซซอและฮ์ (บ่าวที่เลอเลิศ) , อัลฟาดีย์ (ผู้เสียสละ) , อัลวากีย์ (ผู้ปกป้องคุ้มกันภัย) , บาบุลฮะวาอิจญ์ (ประตูแห่งความปราถนา หรือสื่อสู่ความปราถนาต่างๆ) ฯลฯ

 

ท่านอับบาสมีภรรยาชื่อว่า "ลุบาบะฮ์" บุตรสาวของ อุบัยดิลละฮ์ บิน อับบาส ท่านอับบาสมีบุตรสองคน นามว่า อุบัยดิลละฮ์ และฟัฎล์

 

1-การเป็นบ่าวที่ดีของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ)

สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับ และถูกกล่าวขานมากที่สุดต่อคุณลักษณะพิเศษของท่านอับบาส (อ) ก่อนที่จะกล่าวถึงความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว ของท่าน ก็คือ ความเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริงของท่าน บ่าวผู้ยอมอย่างสิโรราบต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) การใช้ชีวิตของท่านนั้นอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งการเป็นบ่าวที่นอบน้อม และคงมั่นในการปฎิบัติตามพระบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา อาทิเช่น

 

"บ่าวผู้เลอเลิศ" ท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) ได้ให้ฉายานามนี้แก่ท่านอับบาส ดั่งบทซิยารัตตอนหนึ่งที่เราได้กล่าวแก่ท่านอับบาสว่า

"อัสสะลามุอาลัยกะอัยยูฮัน อับดุซซอและฮ์ อัลมุฎีอุลลอฮ์..." หมายถึง สลามแด่ท่าน โอ้บ่าวผู้เลอเลิศ และผู้ที่คงมั่นในการปฏิบัติตามพระองค์อัลลอฮ์...)

 

"ร่องรอยแห่งการกราบกรานบนหน้าผาก" พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงคุณลักษณะหนึ่งของบ่าวผู้เลอเลิศเอาไว้ คือร่องรอยแห่งการกราบกรานบนหน้าผากของพวกเขา ในบทอัลฟัตฮ์ โองการที่ 29 และท่านอับบาสก็เป็นผู้หนึ่งที่ท่านจะอยู่กับการกราบกรานอย่างมากมายจนบนหน้าผากของท่าน มีร่องรอยอย่างเห็นได้ชัดซึ่งมีบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์

 

คุณลักษณะอันสูงส่งนี้ของท่านอับบาส (อ) คือบทเรียน และแบบอย่างที่พวกเราชีอะฮ์ของท่าน จะต้องเรียนรู้และนำมาปฏิบัติเฉกเช่นท่าน เพื่อที่เราจะได้เป็นบ่าวผู้เลิอเลิศของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ไม่ว่าจะเป็นการระมัดระวังการปฏิบัติต่างๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันอย่าได้เป็นที่ทรงพิโรธของพระองค์ และในยามค่ำคืนก็จงเป็นผู้ที่นอบน้อม กราบกรานต่อความยิ่งใหญ่ของพระองค์ให้มากที่สุดเช่นท่านอับบาส (อ)

 

2-การรู้จักและเข้าใจอย่างชัดแจ้งต่อวิลายัตแห่งอิมาม (ผู้นำ)

อีกคุณลักษณะหนึ่งของท่านอับบาส (อ) คือการรู้จริงเห็นแจ้งถึงอำนาจแห่งวิลายัตของอิมาม และปฏิบัติตามอิมามอย่างสมบูรณ์แบบ หลังจากการเป็นชะฮาดัต (เสียชีวิตในหนทางของพระองค์) บิดาของท่าน อิมามอะลี (อ) ผู้ที่สืบทอดตำแหน่งอิมามต่อมาคือ อิมามฮาซัน มุจญตะบาอ์ (อ) ท่านอับบาสคือบุคคลหนึ่งที่ได้ให้สัตยาบันต่ออิมามฮาซัน (อ) และเป็นผู้ที่คอยรับฟังคำสั่ง และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยปราศจากข้อแม้ใดๆ มาดแม้นว่า อิมามฮาซัน (อ) เป็นพี่ชายแท้ๆ ของท่านก็ตาม

 

ในเวลานั้นเองเมื่ออิมามฮาซัน (อ) ได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกสงครามกับมุอาวียะฮ์ ท่านอับบาสก็เป็นผู้หนึ่งที่ปฏิบัติตามแนวความคิดของอิมามฮาซัน (อ) ท่านเป็นนักรบที่กล้าหาญ แต่ในช่วงเวลานั้นกลับต้องกลายเป็นนักรบที่ไร้อาวุธ ซึ่งเป็นความขมขื่นอย่างมากสำหรับท่าน และเมื่ออิมามฮาซัน (อ) ต้องถูกทำชะฮาดัต หากท่านเป็นผู้ที่ไม่เชื่อฟังในคำสั่งห้ามของอิมามฮูเซน (อ) ท่านอับบาสคือผู้ที่จะสังหารศัตรูของอิสลามทีละคนๆ จนหมดเกลี้ยง

 

ในบทซิยารัตตอนหนึ่งที่เราได้กล่าวซิยารัตแก่ท่านอับบาส กล่าวว่า "สลามแด่ผู้เป็นบ่าวที่เลิอเลิศ สลามแด่ผู้ที่คงมั่นอยู่ในพระบัญชาของพระองค์อัลลอฮ์ และมั่นคงอยู่ในคำสั่งของรอซูลของพระองค์ และอะมีรุ้ลมุอ์มินีน อิมามฮาซัน อิมามฮูเซน ขอพระองค์ทรงประสาทพรแก่พวกเขาเหล่านั้น"

 

ในวันซึ่งท่านอิมามฮูเซน (อ) จะเริ่มออกเดินทางออกจากนครมะดีนะฮ์ ท่านอิมาม (อ) ได้กล่าวขึ้นว่า "น้องชายของฉันอยู่ที่ไหน?? จันทร์เพ็ญแห่งบะนีฮาชิมอยู่ที่ไหน?? ท่านอับบาสได้รีบตอบอย่างทันว่า "ฉันอยู่ตรงนี้แล้วโอ้นายของฉัน" อิมามฮูเซน (อ) จึงได้กล่าวว่า "โอ้น้องชายของฉัน จงตระเตรียมม้าของฉัน" ท่านอับบาสจึงได้ไปเตรียมม้าทันที

 

ในช่วงบ่ายของวันอาชูรอ (10 มุฮัรรอม) ชิมร์ และทหารชั่วของมันจำนวน 4,000 คนได้เข้ามายังกัรบะลาอ์ แผนการณ์หนึ่งของพวกมันก็คือต้องการที่จะแยกผู้ร่วมเดินทางมากับอิมามฮูเซน (อ) ออกจากอิมาม (อ) โดยการรับรองความคุ้มครองแก่ท่านอับบาส (อ) และพี่น้องของท่าน

แต่ทว่าการรับรองความคุ้มครองแก่ท่านอับบาส และพี่น้องของท่านจากชิมร์ กลับถูกเมินเฉยจากท่านอับบาส และท่านไม่ได้ตอบสิ่งใดแก่ชิมร์ และหันไปยังอิมามฮูเซน (อ) ก่อน เพื่อให้ท่านอิมามฮูเซน (อ) ออกคำสั่งให้ท่านตอบเสียก่อน เมื่อท่านได้รับอนุญาติจากอิมามฮูเซน (อ) ท่านอับบาส (อ) ได้ตอบอย่างดุดันแก่ชิมร์ในทันทีว่า

 

"เจ้าว่าอย่างไรนะ??? เจ้าจะรับรองความปลอดภัยแก่ฉัน และพี่น้องของฉันอย่างนั้นหรือ?? ขอพระองค์ทรงตัดมือทั้งสองของเจ้า ขอพระองค์ทรงสาปแช่งเจ้า ในสิ่งที่เจ้าได้ให้ความคุ้มครองแก่ฉัน และพี่น้องของฉัน โอ้ศัตรูของพระองค์เอ๋ย เจ้าต้องการให้ฉัน และพี่น้องของฉัน ต้องละทิ้งผู้นำของเรา อิมามฮูเซน (อ) บุตรของฟาติมะฮ์ (อ) และจะให้เราเข้าสู่การเป็นผู้ที่จะถูกสาปแช่งตลอดกาลกระนั้นหรือ??

เจ้าจะบอกเราว่า เจ้าจะให้ความคุ้มครองเรา และพี่น้องเขาเรา ในขณะที่อิมามฮูเซน (อ) บุตรแห่งศานทูตของพระองค์ไม่ได้รับความคุ้มครองเช่นนั้นหรือ???"

จากคำพูดข้างต้น บรรดานักบันทึกประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า ท่านอับบาส (อ) ได้ทำสงครามกับศัตรูของอิสลามในกัรบะลาอ์ อย่างแท้จริง มิใช่ทำสงครามเพื่อพวกพ้องหรือญาติพี่น้องแต่ประการใด แต่ทว่าท่านอับบาส (อ) เข้าใจอย่างรู้แจ้งเห็นจริงว่า ศาสนาของพระองค์อัลลอฮ์ จะคงอยู่ด้วยอิมามฮูเซน (อ) เท่านั้น

อับบาส (อ) ทราบดีว่า อิมามฮูเซน คือเสาหลักแห่งศาสนาอิสลาม และอิมามฮูเซน (อ) คือผู้ชุบชีวิตแบบอย่างของศาสดามุฮัมมัด (ศ) ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงต้องปกป้องอิมามฮูเซน (อ) ด้วยชีวิตของท่าน ท่านได้กล่าวว่า

"ขอสาบานต่อพระองค์ มาดแม้นว่าแขนทั้งสองข้างของฉันจะต้องถูกฟันขาด ฉันก็จะยืนหยัดเพื่อดำรงไว้ซึ่งศาสนาของพระองค์ และฉันจะปกป้องอิมามตัวแทนของพระองค์จนถึงที่สุด ซึ่งเป็นอิมามที่เป็นลูกหลานผู้บริสุทธิ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ)"

 

3-ความกล้าหาญ"

คุณลักษณะพิเศษสุดของท่านอับบาส (อ) คือความเป็นผู้กล้าหาญ และเด็ดเดี่ยวของท่าน ซึ่งแม้กระทั่งผู้ที่มิใช่มุสลิมก็ยังยอมรับในความกล้าหาญของท่าน ท่านอิมามอะลี (อ) มีบุตรชายกับอุมมุนบานีน ทั้งหมด 4 คน นามว่า อับบาส อับดุลลอฮ์ อุสมาน และญะอ์ฟัร และอับบาสคือบุตรชายคนโต และเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญที่สุด

 

ความยิ่งใหญ่ ความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยวของท่านอับบาส ยากที่จะหาผู้ใดมาเทียบได้ ถึงขนาดกับว่า เพียงแค่ศัตรูได้ยินเสียงของท่านอับบาส พวกเขาก็จะตัวสั่นสะท้านทันที และอกสั่นขวัญเสียกันทุกคนจากความกลัวที่พวกเขามีต่อท่านอับบาส ด้วยเหตุนี้เองศัตรูจึงได้รับรองความคุ้มครองแก่ท่าน เพื่อต้องการที่จะแยกท่านออกจากกองคาราวานของอิมามฮูเซน (อ)

 

ด้วยความกล้าหาญ และเด็ดเดี่ยวของท่านอับบาส จึงทำให้อิมามฮูเซน (อ) รู้สึกอุ่นใจ เพราะมีท่านอับบาสอยู่เคียงข้าง ดังนั้นเราจึงจะเห็นได้ว่า เมื่อท่านอับบาส (อ) ได้ถูกทำชะฮาดัต (ถูกสังหารในหนทางของพระองค์) อิมามฮูเซน (อ) จึงเสียใจอย่างมาก อิมามฮูเซน (อ) ได้วิ่งเข้ามาที่ร่างกายอันโชกไปด้วยเลือดของอับบาส และได้กล่าวขึ้นว่า "ตอนนี้เอวของฉันได้หักลงแล้ว และฉันเหลือหนทางไม่มากแล้ว"

 

 

ในรายงานได้บันทึกว่า "บรรดาศัตรูต่างดีอกดีใจเมื่อทราบข่าวการเป็นชะฮีดของท่านอับบาส (อ) และรวมตัวกันบุกเข้าเผาทำลายล้างกระโจมต่างๆ ของสตรีและเด็กๆ ในทันที ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่มีศัตรูคนใดแม้แต่จะคิดจู่โจม เนื่องจากเกรงกลัวในความกล้าหาญของท่านอับบาส (อ)

 

4-ผู้ที่มีความมั่นคง และผู้เสียสละ

การเป็นผู้ที่มีความมั่นคงเด็ดเดี่ยวในพันธสัญญา และการเป็นผู้เสียสละของท่านอับบาส (อ) คืออีกคุณลักษณะหนึ่งของท่าน และคุณลักษณะดังกล่าวคือเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งสำหรับมนุษย์ทุกคน ที่จะทำให้เขาดำรงอยู่ในหนทางที่เที่ยงตรงจวบจนลมหายใจสุดท้าย

 

การตอบปฏิเสธการให้ความคุ้มครองจากศัตรูของท่านอับบาส (อ) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ท่านมั่นคงในอุดมการณ์ของท่านเพียงใด ท่านไม่ยอมขายอุดมการณ์ของท่านด้วยราคาอันน้อยนิดที่ศัตรูหยิบยื่นให้

 

การประกาศจุดยืนร่วมรบกับอิมามฮูเซน (อ) ในค่ำคืนอาชูรอ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการเป็นผู้ที่มั่นคงอยู่ในอุดมการณ์ และการเป็นผู้เสียสละของท่าน เมื่อท่านอิมามฮูเซน (อ) ได้ประกาศในค่ำคืนดังกล่าวว่า "พวกท่านทั้งหมดคือชาวสวรรค์ คือผู้ช่วยเหลือฉันอย่างแท้จริง ดังนั้นพวกท่านเป็นอิสระแล้ว จงใช้ความมืดมิดในค่ำคืนนี้หลบหนีไปเสียเถิด เพราะพวกศัตรูต้องการชีวิตของฉันแต่เพียงผู้เดียว"

บุคคลแรกที่ลุกขึ้นประกาศในทันที คือท่านอับบาส (อ) ที่ได้กล่าวต่ออิมามฮูเซน (อ) ว่า "เราจะกระทำเช่นนั้นไปเพื่ออะไรกัน? การมีชีวิตหลังจากการจากไปของท่านมีเพื่ออันใดหรือ? ขอพระองค์ทรงอย่าได้ทำให้เราต้องแยกจากท่านเลย"

 

เหล่านี้ทั้งสิ้นคือเสี้ยวหนึ่งแห่งตัวตนของชายชาตรีผู้มีนามว่า อับบาส บุตรของ อะลี บิน อะบีฎอลิบ (อ)

 

โดย เชคมาลีกี ภักดี

ขอขอบคุณเว็บไซต์อะฮ์ลุลบัยต์อะคาเดมี

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม