ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 1

 

 

คำนำ

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงแต่งตั้งบรรดาศาสดา(นบี) และศาสนทูต(ร่อซูล)ของพระองค์มายังมนุษยชาติเพื่อชี้นำทางพวกเขาไปสู่ความ สมบูรณ์(กะมาล)และความผาสุกไพบูลย์(ซะอาดะฮ์)ในชีวิตของพวกเขา โดยที่ถ้าหากพระองค์มิได้ส่งบรรดาศาสดาลงมาแล้ว เป้าหมายและเจตนารมณ์ในการสร้างมนุษย์ขึ้นมาย่อมไม่บรรลุสู่ความเป็นจริงของ มันได้ และมนุษยชาติทั้งหลายย่อมที่จะจมปักอยู่ในวังวนแห่งความมืดมนและการหลงทาง และสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์แห่งการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า

พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า :

 

رُسُلاً مُبَشِّرينَ وَ مُنْذِرينَ لِئَلاَّ يَکُونَ لِلنَّاسِ عَلَى اللَّهِ حُجَّةٌ بَعْدَ الرُّسُلِ وَ کانَ اللَّهُ عَزيزاً حَکيماً

 

: บรรดาศาสนทูตล้วนเป็นผู้ประกาศข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือน เพื่อจะได้ไม่มีหลักฐาน(ข้ออ้าง)ใด ๆ สำหรับมนุษย์อีก(ที่จะใช้ทักท้วง)ต่ออัลลอฮ์ ภายหลังจากบรรดาศาสนทูต(ได้ถูกส่งมาแล้ว) และอัลลอฮ์ทรงเกริกเกียรติยิ่ง อีกทั้งทรงปรีชาญาณยิ่ง” (1)

 

                 ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ตามคำแนะนำของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นคือตราประทับของ ปวงศาสดาและเป็นศาสนฑูตท่านสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้าที่ถูกแต่งตั้งมายังมวล มนุษยชาติ โดยที่อัลลอฮ์(ซ.บ.)ได้ทรงตรัสว่า :

 

مَا كَانَ مُحَمَّدٌ أَبَآ أَحَدٍ مِّن رِّجَالِكُمْ وَلَـٰكِن رَّسُولَ ٱللَّهِ وَخَاتَمَ ٱلنَّبِيِّينَ

 

“มุฮัมมัดหาใช่บิดาของบุรุษใดจากหมู่พวกเจ้า แต่ทว่าเขาคือศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ และเป็นตราประทับของปวงศาสดา…”(2)

 

ในเมื่อท่านคือศาสดาท่านสุดท้าย ดังนั้นสาส์น(ริซาละฮ์)หรือคัมภีร์ที่ท่านได้นำมาจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อ สั่งสอนและชี้นำมนุษยชาตินั้น จึงเป็นสาส์นฉบับสุดท้ายด้วยเช่นกัน และเป็นหลักคำสอนและบทบัญญัติที่มีเนื้อหาครอบคลุมสำหรับมนุษยชาติทั้งมวลใน ทุก ๆ สถานที่ และในทุกยุคสมัย และจะถูกพิทักษ์รักษาไว้จวบจนการสิ้นสลายของโลก กล่าวคือ เนื้อหาหลักคำสอนและข้อบัญญัติต่าง ๆ ของอิสลามที่ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ได้นำมาจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง นั้นมีความสมบูรณ์และครอบคลุมในลักษณะที่จะสามารถตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ทั้งมวลของมนุษย์ได้ทั้งในด้านของจิตวิญญาณและในด้านของวัตถุจวบจนถึงวันสุด ท้ายของโลก และภายหลังจากท่านศาดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)

 

ผู้ใดก็ตามที่ยังกล่าวอ้างความเป็น ศาสดาและความเป็นผู้ถือสาส์นมาจากพระผู้เป็นเจ้าอีกถือเป็นคำกล่าวอ้างที่ โมฆะและไร้สาระ

เกี่ยวกับสถานะและบุคลิกภาพอันสูงส่งของท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)นั้น มีแง่มุมและด้านต่าง ๆ มากมายที่มุสลิมทุกคนจำเป็นจะต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตจริง ของตนเอง ในฐานะที่ท่านคือ แบบอย่างที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับมนุษยชาติ

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงแนะนำท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ในฐานะแบบอย่าง ที่ดีที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดที่มนุษยชาติผู้มุ่งหวังความสำเร็จในชีวิตพึง ยึดถือปฏิบัติ โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

 

لَقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ لِّمَن كَانَ يَرْجُو اللَّهَ وَالْيَوْمَ الْآخِرَ

 

“อันที่จริงแบบอย่างที่ดีงามยิ่ง สำหรับพวกเจ้านั้น มีอยู่ในศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ สำหรับบุคคลที่มุ่งหวังใน(การพบ)อัลลอฮ์และ(ความสำเร็จใน)วันสุดท้าย…”(3)

 

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าสถานะและบุคลิกภาพอันสูงส่งของท่านศาสดามุ ฮัมมัด(ซ็อลฯ)ในฐานะที่เป็นศาสดาท่านสุดท้ายและเป็นแบบอย่างสุดท้ายสำหรับ มนุษยชาตินั้นมีหลายด้าน และในบทความที่เราจะนำเสนอต่อผู้อ่านนี้จะขอนำเสนอในด้านที่เกี่ยวกับ จริยธรรม(อัคลาก)ของท่านที่สื่อแสดงให้เห็นตามที่คัมภีร์อัลกุรอานได้แนะนำ ท่านในฐานะที่เป็น “ความเมตตาสำหรับสากลโลก” โดยพระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

 

وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ

 

 “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นความเมตตาแก่สากลโลก”

 (บทอัลอัมบิยาอ์ โองการที่ 107)

 

  แต่ก่อนที่เราจะเขาไปพิจารณาถึงรายละเอียดเกี่ยวกับ บุคลิกภาพทางด้านจริยธรรม(อัคลาก)บางส่วนของท่านจะขออธิบายถึงภาพรวมของการ ที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงส่งปวงศาสดา(อ.)ลงมายังมนุษยชาติ เพื่อที่จะนำไปสู่การชี้ให้เห็นถึงสถานะอันสูงส่งของท่านศาสดามุฮัม มัด(ซ็อลฯ)ที่มีเหนือปวงศาสดาทั้งมวล

 

 

การส่งบรรดาศาสดา

 

บนพื้นฐานของโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน และริวายะฮ์(คำรายงาน)จากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)และอะฮ์ลุลบัยต์(ครอบครัวผู้บริสุทธิ์)(-อ.)ของท่าน รวมทั้งบนพื้นฐานของหลักเหตุผลทางด้านสติปัญญานั้นได้ชี้ให้เห็นว่าตลอดระย เวลาประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น โลกและแผ่นดินนี้ไม่เคยว่างเว้นจากข้อพิสูจน์(ฮุจญะฮ์) ผู้พิทักษ์และผู้ประกาศศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า

 

คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَسُولأ

 

“และแน่นอนยิ่ง เราได้ส่งศาสนทูตผู้หนึ่งมายังทุก ๆ ประชาชาติ”(4)

 

 และในอีกโองการหนึ่ง ได้กล่าวว่า :

وَإِن مِّنْ أُمَّةٍ إِلَّا خلَا فِيهَا نَذِيرٌ

 

“และไม่มีประชาชาติใดทั้งสิ้น นอกจากจะต้องมีศาสดาผู้ตักเตือนได้ล่วงลับไปในหมู่พวกเขา”(5)

 

คำสอนหนึ่งเดียวกันของปวงศาสดา

 

เนื้อหาของคำสอนและการเรียกร้องเชิญชวนของปวงศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าที่ มียังมนุษยชาตินั้น แม้จะมีความแตกต่าง ทางด้านเวลา สถานที่และสภาวะเงื่อนไขต่างๆ ทางสังคมและหมู่ชนก็ตาม แต่ก็มีความเหมือนกัน นั่นคือศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าทุกท่านจะทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนประชาชนไป สู่การเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าและหลีกห่างจากการเชื่อฟังและการปฏิบัติ ตามมารร้ายทั้งปวง

 

คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَسُولًا أَنِ اُعْبُدُوا اللَّهَ وَاجْتَنِبُوا الطَّاغُوتَ

 

“และแน่นอนยิ่ง เราได้ส่งศาสนทูตผู้หนึ่งมายังทุก ๆ ประชาชาติ (โดยแต่ละคนจากพวกเขาจะประกาศว่า)ท่านทั้งหลายจงเคารพภักดีอัลลอฮ์และจงหลีก ห่างจากมารร้าย…”(6)

 

 จำนวนของบรรดาศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้า

 

บนพื้นฐานของคำรายงาน(ริวายะฮ์) จำนวนศาสดาของพระผู้เป็นเจ้านั้นมีทั้งสิ้น 124,000 ท่าน ท่านแรกนั้นคือ ศาสดาอาดัม(อ.) และท่านสุดท้ายคือศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ) ในคำรายงานบทหนึ่งได้กล่าวว่า :

عن ابی ذر قال : قلت : یا رسول الله کم النبیون؟ قال : مأة الف و اربعة و عشرون الف نبیّ

 

: ท่านอบูซัรได้กล่าวว่า ฉันได้ถามท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)ว่า : โอ้ท่านศาสนฑูตแห่งอัลลอฮ์ จำนวนศาสดาทั้งหมดนั้นมีเท่าใด? ท่านตอบว่า :“จำนวนศาสดานั้นมี 124,000 ท่าน”(7)

 

ความแตกต่างระหว่างศาสดา(นบี)และศาสนทูต(ร่อซูล)

 

ในท่ามกลางปวงศาสดา 124,000 ท่านนั้น จำนวนหนึ่งจากพวกท่านอยู่ในฐานะของศาสนทูตด้วย ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 313 ท่าน ดังคำรายงาน(ริวายะฮ์)ข้างต้นจากท่านอบูซัร ที่ได้ถามเพิ่มเติมจากท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ว่า :

 

قلت : کم المرسلین منهم؟ قال : ثلاثمائة و ثلاثة عشرجمَا غفیرًا

 

: ฉันได้ถามท่านว่า จากบรรดาศาสดาเหล่านั้น มีศาสนทูตผู้ถือสาส์น (ได้รับคัมภีร์โดยตรง) กี่ท่าน? ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)ได้ตอบว่า : “มีจำนวนมากมายถึง 313 คน”(8)

 

มีรายงานจากซุรอเราะฮ์ ซึ่งได้กล่าวว่า ฉันได้ถามท่านอิมามบากิร(อ.)เกี่ยวกับพระดำรัสของอัลลอฮ์(ซ.บ.)ที่ทรงตรัส ว่า :

 

وَ كاَنَ رَسُولًا نَّبِيًّا

 

 “และเขา(มูซา)เป็นทั้งศาสนทูต อีกทั้งเป็นศาสดา” (9)

 

(โดยเขาได้ถาม)ว่า :

 

ما الرسول وما النبي؟ قال: النبي الذي يرى في منامه ويسمع الصوت ولا يعاين الملك، والرسول الذى يسمع الصوت ويرى في المنام ويعاين الملك

 

: “อะไรคือความแตกต่างระหว่างศาสนทูต(ร่อซูล)และศาสดา(นบี)? ท่านกล่าวว่า : “ศาสดานั้น คือ ผู้ซึ่งจะหลับฝันและได้ยินเสียง แต่จะไม่เห็นมะลาอิกะฮ์ (ทูตสวรรค์)ด้วยตา ส่วนศาสนทูตนั้น คือผู้ซึ่งจะได้ยินเสียงและหลับฝันอีกทั้งมองเห็นด้วยสายตา” (10)

 

 

ระดับขั้นของบรรดาศาสดา

 

ในหมู่บรรดาศาสดานั้น เมื่อพิจารณาถึงระดับขั้น ความสมบูรณ์(กามาลาต)และความประเสริฐนั้นมีความแตกต่างกันออกไป ศาสดาบางท่านมีสถานภาพที่สูงส่งกว่าอีกบางท่าน ดังที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า :

 

وَلَقَدْ فَضَّلْنَا بَعْضَ النَّبِيِّينَ عَلَى بَعْضٍ

 “และแน่นอนยิ่งเราได้ให้ศาสดาบางคนประเสริฐกว่าอีกบางคน”(11)

 

ในอีกโองการหนึ่งพระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

تِلْكَ الرُّسُلُ فَضَّلْنَا بَعْضَهُمْ عَلَى بَعْضٍ

 

“บรรดาศาสนทูตเหล่านั้น เราได้ให้เกียรติบางคนเหนือกว่าอีกบางคน” (12)

 

โองการของคัมภีร์อัลกุรอานในลักษณะเช่นนี้ ได้บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าบรรดาศาสดาทั้งมวลนั้นแม้จะมีความเหมือนกัน ในด้านความเป็นศาสดาและการเป็นผู้ถือสาส์นของพระผู้เป็นเจ้ามายังมนุษยชาติ ก็ตาม แต่ในด้านสถานภาพและความสูงส่งนั้นไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับของภารกิจหน้าที่ที่พวกท่านได้รับมาจากพระผู้เป็น เจ้าซึ่งมีความแตกต่างกัน

 

 

บรรดาศาสดาอุลุลอัซม์(ผู้มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่)

 

ในคัมภีร์อัลกุรอานและในคำรายงาน(ริวายะฮ์)ต่าง ๆ  ได้กล่าวถึงศาสดาบางท่านในฐานะ ศาสดาอุลุลอัซม์(ผู้มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่) ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

 

فَاصْبِرْ كَمَا صَبَرَ أُولُو الْعَزْمِ مِنَ الرُّسُلِ

 

“ดังนั้นจาจงอดทนเถิด เหมือนเช่นบรรดาศาสดาผู้มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่ (อุลุลอัซม์) ได้อดทน (ในหนทางของการประกาศศาสนา)” (13)

 

จากบางโองการของคำภีร์อัลกุรอานสามารถรับรู้ได้ว่า บรรดาศาสดาอุลุลอัซม์(ผู้มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่)นั้นมีทั้งหมด 5 ท่าน ซึ่งได้แก่ ท่านศาสดานูห์(อ.) ท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ.) ท่านศาสดามูซา(อ.) ท่านศาสดาอีซา(อ.) และท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ) ดังตัวอย่างเช่น :

 

شَرَعَ لَكُمْ مِنَ الدِّينِ مَا وَصَّى بِهِ نُوحًا وَالَّذِي أَوْحَيْنَا إِلَيْكَ وَمَا وَصَّيْنَا بِهِ إِبْرَاهِيمَ وَمُوسَى وَعِيسَى

 

“พระองค์ได้ทรงบัญญัติศาสนาแก่พวก เจ้าอันเป็นสิ่งเดียวกับที่เราได้สั่งเสียแก่นูห์ และเราก็ได้ประทานวะห์ยู(วิวรณ์)มายังเจ้าเช่นกัน และเราก็ได้สั่งเสียสิ่ง(เดียวกัน)นี้ต่ออิบรอฮีม ต่อมูซาและอีซา” (14)

 

ในอีกโองการหนึ่ง พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า :

 

وَ إِذْ أَخَذْنا مِنَ النَّبِیینَ مِیثاقَهُمْ وَ مِنْكَ وَ مِنْ نُوحٍ وَ إِبْراهِیمَ وَ مُوسى وَ عِیسَى ابْنِ مَرْیمَ وَ أَخَذْنا مِنْهُمْ مِیثاقاً غَلِیظاً

 

: “และจงรำลึกเมื่อครั้งที่เราได้เอาสัญญาจากบรรดาศาสดาทั้งหลาย และจากเจ้า(มุฮัมมัด) จากนูห์ จากอิบรอฮีม จากมูซาและจากอีซาบุตรของมัรยัม โดยที่เราได้เอาคำมั่นสัญญาอันมั่นคงจากพวกเขา” (15)

 

 ในคำรายงานบทหนึ่ง ท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก(อ.)ได้กล่าวว่า :

 

سَادَةُ النَّبِيِّينَ وَ الْمُرْسَلِينَ خَمْسَةٌ وَ هُمْ أُولُو الْعَزْمِ مِنَ الرُّسُلِ وَ عَلَيْهِمْ دَارَتِ الرَّحَي نُوحٌ وَ إِبْرَاهِيمُ وَ مُوسَي وَ عِيسَي وَ مُحَمَّدٌ صَلَّي اللَّهُ عَلَيْهِ وَ آلِهِ وَ عَلَي جَمِيعِ الْأَنْبِيَاء

 

 “หัวหน้าของบรรดาศาสดาและศาสนทูต นั้นมี 5 ท่าน และพวกท่านเหล่านั้นคือ บรรดาศาสดาอุลุลอัซม์ (ผู้มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่) และแกนโม่ (แห่งความเป็นศาดาและสาส์นของพระผู้เป็นเจ้านั้น)จะหมุนไปรอบ ๆ (การดำรงอยู่ของ)พวกท่าน ซึ่งได้แก่ นูห์ อิบรอฮีม มูซา อีซาและมุฮัมมัด(ซ็อลฯ)” (16)

 

เชิงอรรถ :

 

(1) –อัลกุรอานบท อันนิซาอ์  โองการที่ 165.

(2) –อัลกุรอานบท อัลอะห์ซาบ โองการที่ 40.

(3) –อัลกุรอานบท อัลอะห์ซาบ โองการที่ 21.

(4) –อัลกุรอานบท อันนะห์ลุ โองการที่ 36.

(5) -อัลกุรอานบท ฟาฏิร โองการที่ 24

(6) -อัลกุรอานบท อันนะห์ลุ โองการที่ 36.

(7) –ซะฟีนะตุลบิฮาร , เล่มที่ 8 , หน้าที่ 163 และ 164 , พิมพ์ที่ดารุลอุซวะฮ์

(8) -ซะฟีนะตุลบิฮาร , เล่มที่ 8 , หน้าที่ 163 และ 164 , พิมพ์ที่ดารุลอุซวะฮ์

(9) –อัลกุรอานบท มัรยัม โองการที่ 51.

(10) –ซะฟีนะตุลบิฮาร , เล่มที่3 , หน้าที่ 355.

(11) –อัลกุรอานบท บนีอิสรออีล โองการที่ 55.

(12) –อัลกุรอานบท อัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 253.

(13) –อัลกุรอานบท อัลอะห์กอฟ โองการที่ 35.

(14) –อัลกุรอานบท อัชชูรอ โองการที่ 13.

(15) –อัลกุรอานบท อัลอะห์ซาบ โองการที่ 7.

(16) –อุซูลลุลกาฟี , เล่มที่ 1 , หน้าที่175.

 

บทความ  : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ