ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 3

 

 

การให้อภัยและการไม่ถือโทษในจริยวัตรของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

 

ท่านศาสดาแห่งความเมตตา (ซ็อลฯ) จะปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความมีเกียรติ ท่านจะไม่ถือโทษโกรธเคืองต่อพฤติกรรมที่เลวร้ายและไม่ให้เกียรติต่อท่าน และจะให้อภัยต่อความผิดของผู้อื่นอย่างง่ายดาย จะไม่เก็บความเครียดแค้นชิงชังผู้ใดไว้ในจิตใจ จะไม่คิดแก้แค้นผู้ใด จิตวิญญาณอันทรงพลังของท่านซึ่งตั้งอยู่ในระดับที่สูงส่งเกินกว่าการที่จะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ทางด้านอารมณ์และความขุ่นเคืองทางด้านจิตใจ ท่านเลือกที่จะให้อภัยและไม่ถือโทษแทนการแก้แค้น

 

   ท่านอมีรุลมุอ์มินีน(อ.)ได้กล่าวว่า :

کان رسول الله اجودالناس کفاً و اکرمهم عشرة

 

“ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีมากที่สุดในหมู่มนุษย์และเป็นผู้ที่มีเกียรติที่สุดในการคบหาสมาคม” (42)

 

 

 يقبل معذرة المعتذر اليه

 

“ท่านยอมรับการขออภัยจากผู้ที่ขออภัยต่อท่าน” (43)

 

 

ولا يجزي السيئه بالسيئه ولکن يعفو و يصفح

 

“ท่านไม่เคยตอบโต้ความเลวร้ายด้วยกับสิ่งที่เลวร้าย แต่ทว่าท่านจะให้อภัยและไม่ถือโทษ” (44)

 

 يصبر للغريب علي الجفوه في منطقه و مساکنه

 

“ท่านจะอดทนอดกลั้นจากความหยาบคายของผู้อื่นทั้งในคำพูดและพฤติกรรมที่ต่ำทรามต่าง ๆ ของเขา” (45)

 

ไม่เพียงแต่ท่านจะไม่แสดงการตอบโต้ความหยาบคายของเขาในสิ่งที่เหมือนกันเพียงเท่านั้น ในทางตรงข้ามท่านจะสั่งให้คนรอบด้านนำบางสิ่งไปมอบให้แก่เขา

 

ในสงครามอุฮุดแม้ว่าพวกเขา (มุชริกีน) จะกระทำการอย่างป่าเถื่อนและหยามเหยียดต่อศพของท่านฮัมซะฮ์ นายของบรรดาชะฮีดผู้เป็นลุงของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มากเพียงใดก็ตาม แต่ท่านไม่เคยแสดงออกในทางตอบโต้เอาคืนกับบรรดาผู้ถูกสังหารจากชาวกุเรชเลย และในช่วงของการพิชิตนครมักกะฮ์ในขณะที่ท่านมีอำนาจเหนืออบูซุฟยาน ฮินด์และบรรดาผู้นำกุเรชนั้น ท่านก็ไม่เคยคิดที่จะแก้แค้น กระทั่งว่าอบูกอตาดะฮ์ซึ่งต้องการจะประณามด่าทอพวกพวกเขาท่านก็ได้ห้ามปรามเขาไว้ ในทางกลับกันในวันแห่งการพิชิตนครมักกะฮ์นี่เอง ท่านได้ป่าวประกาศว่า : « اليوم يوم المرحمة »: “วันนี้เป็นวันแห่งความเมตตา(และการให้อภัย)” จากนั้นท่านกล่าวต่อว่า : « اذهبوا انتم الطلقاء » : “พวกท่านจงไปเถิด พวกท่านได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระแล้ว” (46)

 

ภายหลังจากชัยชนะในสงครามค็อยบัร ชาวยิวกลุ่มหนึ่งซึ่งได้ยอมจำนน และต่อมาพวกเขาได้ส่งอาหารที่ผสมยาพิษมามอบให้แก่ท่านศาสดา แต่ท่านศาสดาก็ปล่อยพวกเขาโดยไม่ได้เอาผิดแต่อย่างใด สตรีชาวยิวผู้หนึ่งเมื่อประสงค์ที่จะวางยาพิษท่านศาสดา ท่านก็ให้อภัยต่อนางเช่นเดียวกัน ในขณะที่ท่านได้เดินทางกลับมาจากสงครามตะบูกบรรดามุนาฟิกีน(ผู้กลับกลอก)กลุ่มหนึ่งได้หมายที่จะเอาชีวิตท่านศาสดาและพวกเขาปรารถนาที่จะทำให้อูฐของท่านพยศเพื่อที่ท่านจะได้ตกลงสู่หุบเหว แม้ว่าท่านศาสดาจะรู้จักบุคคลเหล่านั้นเป็นอย่างดี และบรรดาสาวก(ซอฮาบะฮ์)ของท่านได้รบเร้าให้ท่านเปิดเผยชื่อของบุคคลเหล่านั้น แต่ท่านก็ไม่ยอมเปิดเผยให้ผู้ใดล่วงรู้ และได้ละวางจากการที่จะเอาโทษพวกเขา (47)

 

    อับดุลลอฮ์ บินอุบัยย์ แกนนำของกลุ่มมุนาฟิกีน(ผู้กลับกลอก)ผู้ซึ่งได้กระทำความชั่วร้ายไว้อย่างมากมาย เขาได้เคยแพร่ข่าวลือให้ร้ายตอท่านศาสดา(ซ็อลฯ) บรรดาสาวก(ซอฮาบะฮ์)ของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)บ่อยครั้งที่ได้ขออนุญาตจากท่านเพื่อที่จะกระทำการตอบโต้ต่อเขา แต่ท่านศาสดาไม่อนุญาตให้พวกเขากระทำการใด ๆ ในทางตรงกันข้ามเมื่ออับดุลลอฮ์ บินอุบัยย์ได้ป่วยลงท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ได้ไปเยี่ยมป่วยเขา (48)

 

บรรดาซอฮาบะฮ์เคยขอให้ท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ทำการประณามสาปแช่งต่อบรรดามุชริกีน(ผู้ตั้งภาคี) ท่านได้กล่าวกับพวกเขาว่า : “ฉันไม่ได้ถูกแต่งตั้งมาเพื่อสาปแช่งผู้ใด แต่ทว่าฉันได้ถูกส่งมาเพื่อความเมตตา” บางครั้งเมื่อสาวกบางคนใดขอให้ท่านสาปแช่งบรรดาศัตรู  ท่านศาสดาไม่เพียงจะไม่สาปแช่งเท่านั้น ในทางตรงข้ามท่านกลับวิงวอนขอพร(ดุอาอ์)ให้แก่เขา โดยท่านกล่าวว่า : “โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดนำทางพวกเขาด้วยเถิด” และด้วยเหตุนี้เอง ท่านจึงได้กล่าวว่า :

 

ارحموا من في الارض يرحمکم من في السماء

 

“ท่านทั้งหลายจงเมตตาบุคคลที่อยู่ในแผ่นดินนี้ แล้ว(พระผู้เป็นเจ้า)ผู้ที่อยู่ในฟากฟ้าจะทรงเมตตาพวกท่าน” (49)

 

 

 พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสกับท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ไว้เช่นกันว่า :

 

فبما رحمة من الله لنت لهم و لو کنت فظاً غليظ القلب لانفضوا من حولك فاعف عنهم و استغفرلهم

 

“นั่นเป็นเพราะความเมตตาจากอัลลอฮ์ที่เจ้าได้ได้สุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และมาตรว่าเจ้าเป็นผู้ที่หยาบคายและมีจิตใจแข็งกระด้างแล้ว พวกเขาย่อมเตลิดออกไปจากรอบตัวเจ้าอย่างแน่นอน ดังนั้นเจ้าจงอภัยให้แก่พวกเขาและจงขออภัยโทษให้แก่พวกเขาเถิด” (50)

 

ความห่วงใยและความเอื้ออาธร ในจริยวัตรของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)

 

ความห่วงใยและความเอื้ออาธรในจริยวัตรขอท่านศาสดา(ซ็อลฯ)นั้นเป็นสิ่งที่สามารถประจักษ์ได้อย่างชัดเจน และพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งเองได้ทรงบรรยายคุณลักษณะของศาสดาของพระองค์ไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเช่นนี้ว่า :

 

 عَزِيزٌ عَلَيْهِ مَا عَنِتُّمْ حَرِيصٌ عَلَيْكُم بِالْمُؤْمِنِينَ رَؤُوفٌ رَّحِيمٌ

 

“เขามีความทุกข์ใจยิ่งในสิ่งที่พวกท่านได้รับความทุกข์ยาก เขามีความห่วงใยต่อพวกท่าน เป็นผู้มีความกรุณาอีกทั้งเป็นผู้ปราณีต่อบรรดาผู้ศรัทธา”

(ซูเราะฮ์อัตเตาบะฮ์ / อายะฮ์ที่128)

 

 لعلك باخع نفسك الا يكون مؤمنين

 

“บางทีเจ้าอาจจะทำลายตัวเอง(อันเนื่องมาจากความทุกข์ระทมที่รุนแรง)ที่พวกเขาไม่เป็นผู้ศรัทธา” (51)

 

คำว่า “บาคิอุน”( باخع)นั้นหมายถึง “ผู้ที่ทำลายตัวเองอันเนื่องมาจากความทุกข์ระทมที่รุนแรง” และสำนวนดังกล่าวนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)นั้นมีความห่วงใยและเอื้ออาธรต่อประชาชนมากเพียงใด

 

 ในช่วงเริ่มต้นของซูเราะฮ์ฏอฮา พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

طه  ما انزلنا عليك القرآن لتشقي

 

“ฏอฮา เราไม่ได้ลงอัลกุรอานมาให้แก่เจ้า เพื่อเจ้าจะได้ทุกข์ใจ” (52)

 

เนื่องจากความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำการชี้นำ(ฮิดายะฮ์)ประชาชน ท่านมีความห่วงใยต่อพวกเขาถึงขั้นที่อัลกุรอานโองการนี้ต้องถูกประทานลงมาเพื่อบอกกล่าวต่อท่านว่า : เรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่อที่เจ้าจะทำให้ตนเองต้องพบกับความเจ็บปวดและความทุกข์ใจเนื่องจากการที่ประชาชนไม่ศรัทธาในสิ่งที่เจ้าได้ชี้นำสั่งสอนพวกเขา

 

วันหนึ่ง ท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ได้มอบเงินจำนวนสิบสองดิรฮัมให้แก่ท่านอิมามอะลี(อ.)พร้อมกับกล่าวว่า : เจ้าจงนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อเสื้อผาให้แก่ฉัน ท่านอิมามอะลี(อ.)ได้ไปยังตลาดและได้จัดซื้อเสื้อผ้าชุดหนึ่งให้แก่ท่านศาสดา(ซ็อลฯ) เมื่อกลับมาถึงบ้านท่านศาสดาได้กล่าวกับท่านอิมามอะลีว่า ถ้าหากเป็นเสื้อผ้าที่ราคาถูกกว่านี้และเป็นเสื้อผ้าที่ธรรมดามากกว่านี้ก็คงจะดีกว่า ถ้าหากผู้ขายพร้อมที่จะรับคืนมัน เจ้าจงนำเสื้อผ้าชุดนี้ไปเปลี่ยนคืนจากเขาเถิด ท่านอิมามอะลี(อ.)ได้นำเสื้อผ้าชุดนั้นไปเปลี่ยนคืนจากพ่อค้าและได้นำเงินกลับมามอบคืนแก่ท่านศาสดา(ซ็อลฯ) หลังจากนั้นท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ได้ออกเดินทางมุ่งตรงไปยังตลาดพร้อมกับท่านอิมามอะลี(อ.)อีกครั้งหนึ่ง แต่ในระหว่างทางทั้งสองได้พบเห็นทาสหญิงคนหนึ่งกำลังร้องไห้คร่ำครวญ ท่านศาสดาจึงได้สอบถามเรื่องราวจากทาสหญิงผู้นั้น นางกล่าวว่า เจ้านายได้มอบเงินจำนวนสี่ดิรฮัมให้แก่ข้าพเจ้าเพื่อซื้อสิ่งของบางอย่าง แต่ข้าพเจ้าได้ทำมันสูญหาย และบัดนี้ข้าพเจ้ากลัวที่จะต้องกลับไปบ้านในสภาพเช่นนี้ ท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ได้มอบเงินจำนวนสี่ดิรฮัมให้แก่นาง ต่อจากนั้นท่านทั้งสองได้ไปยังตลาดและได้ซื้อเสื้อผ้าชุดหนึ่งด้วยราคาสี่ดิรฮัม ในระหว่างการเดินทางกลับท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ได้พบคนที่อยู่ในสภาพไร้เสื้อผ้าที่จะสวมใส่ ท่านจึงมอบเสื้อผ้าชุดนั้นให้แก่เขา และท่านทั้งสองได้ย้อนกลับไปยังตลาดอีกครั้งหนึ่งเพื่อซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ด้วยเงินจำนวนที่เหลืออยู่ แต่เมื่อกลับมาถึงบ้าน ท่านได้พบกับทาสหญิงผู้นั้นอีกครั้งหนึ่งซึ่งอยู่ในสภาพของความทุกข์โศก ท่านจึงได้ถามถึงสาเหตุจากนาง นางได้กล่าวตอบว่า : เนื่องจากข้าพเจ้ากลับไปบ้านล่าช้า ข้าพเจ้ากลัวว่าเจ้านายจะตำหนิและลงโทษข้าพเจ้า ท่านศาสดาจึงได้พานางกลับไปส่งยังบ้านเจ้านายของนาง เจ้าของบ้านได้แสดงการให้เกียรติต่อท่านศาสดา(ซ็อลฯ)โดยการยกโทษให้ทาสหญิงผู้นั้นและได้ปลดปล่อยนางให้เป็นอิสระจากการเป็นทาส ท่านศาสดาได้กล่าวว่า เงินจำนวนสิบสองดิรฮัมนี้ช่างมีความจำเริญ(บะรอกัต)ยิ่งเสียนี่กระไร ได้ให้การสวมใส่แก่ผู้ไร้เสื้อผ้าถึงสองคน ในขณะเดียวกันเป็นสื่อในการปลดปล่อยทาสอีกหนึ่งคน (53)

 

ความสุภาพอ่อนโยนในจริยวัตรของท่านศาสดาผู้เมตตา(ซ็อลฯ)

 

ความสุภาพอ่อนโยนและความนิ่มนวลคือสิ่งที่พบเห็นได้อย่างชัดเจนตลอดเวลาจากพฤติกรรมการแสดงออกและในจริยวัตรทางด้านสังคมของท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)และถือได้ว่าเป็นหนึ่งจากสถานะของความเมตตาสำหรับสากลโลก(رحمة للعالمين) ทั้งนี้เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงชี้ให้เห็นในคัมภีร์อัลกุรอานถึงความสุภาพอ่อนโยนและความนิ่มนวลของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ว่าเป็นหนึ่งจากความเมตตาของพระองค์และได้ทรงตรัสถึงสิ่งดังกล่าวนี้ว่าเป็นคุณลักษณะที่ยิ่งใหญ่ควรค่าต่อการยกย่องสรรเสริญว่า :

 

فبما رحمة من الله لنت لهم و لو كنت فظاً غليظ القلب لانفضوا من حولك

 

“นั่นเป็นเพราะความเมตตาของอัลลอฮ์ที่ทำให้เจ้าสุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และหากเจ้าเป็นผู้หยาบคายและมีหัวใจแข็งกระด้างแล้ว พวกเขาย่อมเตลิดหนีออกไปจากรอบตัวเจ้าอย่างแน่นอน” (54)

 

ท่านมัรฮูมนะรอกีได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า “ริฟกุน”( رفق) ไว้เช่นนี้ว่า : “มันคือ ความสุภาพอ่อนโยน ความนิ่มนวล การแสดงออกต่อประชาชนด้วยความดีงาม อดทนอดกลั้นต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีและการสร้างความรำคาญใจ” (55) และในสำนวนของท่านอิมามฆ่อซาลีได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า : “ความสุภาพอ่อนโยน(ริฟก์)นั้น คือคุณลักษณะแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่ดีงามและน่ายกย่องสรรเสริญซึ่งเป็นคูณลักษณะที่ตรงข้ามกับความหยาบกระด้างและความหยาบคาย ซึ่งความหยาบกระด้างนั้นเป็นผลพวงมาจากความโกรธเกลียด แต่ความสุภาพอ่อนโยนนั้นเป็นผลมาจากความมีจริยธรรม(อัคลาก)ที่งดงามและความสมบูรณ์ของจิตวิญญาณ” (56)

 

คำศัพท์สั้น ๆ ของคำว่า “ริฟก์”( رفق)”ความสุภาพอ่อนโยน” หรือ “มุดารอต”( مداراة)”ความนุ่มนวล”นี้ได้ครอบคลุมคุณลักษณะและความประเสริฐต่างจำนวนมากมายไว้ในตัวเอง (ตัวอย่างเช่น การแสดงออกด้วยความรักต่อเพื่อนมนุษย์ การระงับความโกรธ การยับยั้งตนจากความเครียดแค้นชิงชังและการอาฆาตรพยาบาท การอดทนอดกลั้น การควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง การหลีกเลี่ยงจากการแสดงออกที่เป็นความอธรรมและการกดขี่ข่มเหงผู้อื่น การตอบโต้ผู้ปฏิบัติไม่ดีต่อตนเองด้วยสิ่งที่ดีงาม การยับยั้งตนจากพฤติกรรมที่หยาบคายและความรุนแรง การแสดงออกอย่างเรียบง่ายต่อประชาชน ไม่เจ้าระเบียบ ไม่มีพิธีรีตองและเคร่งเครียดจนเกินความพอดี และความเป็นที่ดึงดูดจิตใจของผู้อื่น) ด้วยเหตุนี้เองพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจึงได้ทรงตรัสถึงสิ่งนี้ไว้ด้วยการยกย่องและทรงถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเมตตาของพระองค์เองโดยตรัสว่า

 

فبما رحمة من الله لنت لهم

 

“นั่นเป็นเพราะพระเมตตาของอัลลฮ์ที่เจ้าสุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา”

 

ท่านอิมามซอดิก(อ)ได้เล่ารายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ซึ่งกล่าวว่า :

 

امرني ربي بمداراة الناس کما امرني بأداء الفرائض

 

“พระผู้อภิบาลของฉันได้ทรงบัญชาให้ฉันสุภาพอ่อนโยนต่อประชาชน เช่นเดียวกับที่ได้ทรงบัญชาให้ฉันปฏิบัติข้อกำหนดบังคับของศาสนา” (57)

 

ท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ได้กล่าวว่า :

 

ثلاث من لم يکن فيه لم يتم له عمل ، ورع يحجزه عن معاصي الله و خُلق يداري به الناس و حلم يردّ به جهل الجاهل

 

“คุณลักษณะสามประการ หากไม่มีอยู่ในตัวบุคคลใดแล้วอะมั้ล(การงาน)ของเขาจะไม่สมบูรณ์ นั่นคือความเคร่งครัด(และความสำรวมตน)ที่จะยับยั้งเขาจากความชั่ว ความมีมารยาทที่ดีซึ่งจะทำให้เขาแสดงออกด้วยความสุภาพอ่อนโยนต่อเพื่อนมนุษย์ และความสุขุมคัมภีรภาพที่จะต้านทานความความโง่เขลาของผู้ที่โงเขลา” (58)

 

ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ได้แนะนำสั่งเสียต่อมุอาซ ขณะที่เขาจะเดินทางไปทำการเผยแผ่ศาสนา(ตับลีฆ)ในแผ่นดินเยเมน โดยกล่าวว่า :

 

عليك بالرفق والعفو

 

 “เจ้าจงแสดงออกด้วยความสุภาพอ่อนโยน(ต่อประชาชน)และการให้อภัย” (59)

 

ตัวอย่างหนึ่งของความสุภาพอ่อนโยนและการแสดงออกด้วยความอ่อนน้อมนั่นคือ การระมัดระวัง การเอาใจเขามาใส่ใจเราและการคำนึงถึงสภาพของผู้อื่น ด้วยเหตุนี้เอง ในการนมาซและในการอ่านคูฏบะฮ์(คำสุนทรพจน์)นั้น ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)จะระมัดระวังและคำนึงถึงผู้ศรัทธาที่มีสภาพร่างกายที่อ่อนแอที่สุด ในคำรายงานบทหนึ่งท่านอิมามอะลี(อ.)ได้กล่าวว่า :

 

کانَ رَسُولُ اللهِ صلی الله علیه وآله أخَفَّ النّاسِ صَلاةً فِي تَمامٍ وکانَ أقصَرَ النّاسِ خُطبَةً

 

“ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)นั้นท่านเป็นผู้นำนมาซที่เสร็จสิ้นเร็วที่สุดในหมู่บุคคลทั้งหลายและจะกระทำการคูฎบะฮ์(กล่าวสุนทรพจน์)สั้นที่สุดในหมู่บุคคลทั้งหลาย” (60)

 

ท่านอมีรุลมุอ์มินีน(อ.)ในขณะที่จะเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในแผ่นดินเยเมนนั้นท่านได้ถามท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)ว่า ข้าพเจ้าจะนมาซกับประชาชนอย่างไร? ท่านตอบว่า : จงคำนึงถึงผู้ที่อ่อนแอที่สุดในหมู่พวกเขา และตัวท่านอิมามอะลี(อ.)เองได้กำชับสั่งเสียท่านมาลิก อัลอัชตัรว่า : ในการนมาซญะมาอะฮ์ร่วมกับประชาชนนั้นจงปฏิบัติด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชน และจงอย่าทำให้ประชาชนเตลิดออกไปจากเจ้าเนื่องจากการนมาซที่ยาวนานของเจ้า”

 

ความอ่อนน้อมและความสุภาพอ่อนโยนของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการแผ่ขยายและความเจริญรุดหน้าของอิสลาม ด้วยเหตุนี้พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสต่อท่านว่า ถ้าหากไม่เป็นเพราะความสุภาพอ่อนโยนและความมีจิตเมตตาของเจ้าแล้ว ประชาชนย่อมจะเตลิดหนีออกไปจากรอบตัวเจ้าอย่างแน่นอน ในทำนองเดียวกับที่การปฏิบัติด้วยความอ่อนน้อมของท่านศาสดาในขณะพิชิตนครมักกะฮ์ต่อบรรดาผู้ที่ได้แสดงความเป็นศัตรูต่อท่านมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี โดยที่ในวันดังกล่าวท่านศาสดาได้ประกาศว่า : « اليوم يوم المرحمة » : “วันนี้ คือวันแห่งความเมตตา” ด้วยกับคำพูดเช่นนี้ได้ทำให้กระแสคลื่นแห่งความผันผวนปรากฏขึ้นในหัวใจทั้งหลายดังเช่นที่คำภีร์อัลกุรอานได้กล่าว :« يدخلون في دين الله افواجا » (ซูเราะฮ์อันนัซร์ / อายะฮ์ที่ 3) พวกเขาจึงพากันเข้าสูศาสนาอิสลามกันเป็นกลุ่ม ๆ

 

สายสัมพันธ์ทางด้านอารมณ์ความรู้สึกและความเอื้ออาธรของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)

 

อีกประการหนึ่งจากจริยวัตรทางด้านสังคมของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)คือการสร้างสายสัมพันธ์ทางด้านอารมณ์ความรู้สึกและความเอื้ออาธรต่อประชาชน ในคัมภีร์อัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสต่อท่านศาสนทูตของพระองค์ว่า :

 

 واخفظ جناحك لمن اتبعك من المومنين

 

“และจงลดปีก(แห่งความอ่อนน้อมและความเมตตา)ของเจ้า แก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ปฏิบัติตามเจ้า“ (61)

 

สำนวนนี้เป็นการเป็นการเปรียบเปรยถึงการแสดงออกต่อประชาชนที่เปี่ยมไปด้วยความรักและความเอื้ออาธรเสมือนดั่งแม่ไก่ที่เมื่อมันต้องการจะแสดงออกซึ่งความรักและความเอื้ออาธรที่มีต่อบรรดาลูกน้อยของมัน มันจะโอบลูกน้อยเหล่านั้นของมันไว้ใต้ปีก

 

ได้มีรายงานเกี่ยวกับจริยวัตรของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ว่า :

 

کان رسول الله بهم رحيما و عليهم عطوفا

 

“ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)เป็นผู้ที่มีความปราณีและความเอื้ออาธรต่อประชาชน” (62)

 

ด้วยเหตุนี้เอง หากท่านศาสดาไม่พบเห็นผู้ใดในมัสยิด ท่านจะถามถึงเขา ถ้าทราบว่าเขาป่วยท่านจะไปเยี่ยมและถ้าหากพบว่าเขาประสบกับปัญหาใด ๆ ท่านก็จะช่วยหาทางขจัดปัญหาให้แก่เขา

 

کان رسول الله يتعاهد الانصار و يعود هم و يسأل عنهم

 

“ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)จะเอาใจใส่ต่อชาวอันซ็อรเสมอ ท่านจะไปเยี่ยมพวกเขาและมักจะถามถึงพวกเขา” (63)

 

ท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ.)ก็เช่นเดียวกันในการแสดงออกต่อลุงผู้เป็นบูชารูปเจว็ดของตน ท่านใช้ถ้อยคำที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกคือคำว่า “บิดาของฉัน” และจะพูดกับเขาด้วยความสุภาพอ่อนโยนโดยกล่าวว่า :

 

 سلام عليك ساستغفرلك ربي انه کان بي حفيا

 

“ท่านจงมีความสุขสันติเถิด ข้าพเจ้าจะวิงวอนขออภัยโทษต่อพระผู้อภิบาลของข้าพเจ้าให้แก่ท่าน เพราะแท้จริงพระองค์ทรงมีเมตตาแก่ข้าพเจ้าเสมอ”(64)

 

ท่านอิมามอะลี(อ.)ได้กล่าวถึงจริยวัตรของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ไว้เช่นนี้ว่า :

 

اذا تفقد الرجل من اخوانه ثلاثه ايام سأل عنه فان کان غائباً دعاله و ان کان شاهداً زاره و ان کان مريضاً عاده

 “หากมีคนใดจากบรรดาสหายของท่านหายหน้าไปถึงสามวัน ท่านจะถามถึงเขา ถ้าหากเขาไม่อยู่(และเป็นผู้เดินทาง)ท่านก็จะวิงวอนขอพร(ดุอาอ์)ให้แก่เขา แต่ถ้าหากเขาอยู่(ในเมือง)ท่านก็จะไปเยือนเขา และถ้าเขาเป็นผู้ป่วยไข้ ท่านก็จะไปเยี่ยมไข้เขา” (65)

 

 

บทสรุป

 

คุณลักษณะแห่งความเมตตา(เราะห์มานียะฮ์)ของพระผู้เป็นเจ้าเป็นการบ่งชี้ถึงความเมตตาโดยรวม(เราะห์มะตุลอามมะฮ์)ของพระองค์ที่ครอบคลุมทั้งมิตรและศัตรู ทั้งผู้ศรัทธา(มุอ์มิน)และผู้ปฏิเสธ(กาฟิร) ส่วนคุณลักษณะแห่งความปราณี(ร่อฮีมิยะฮ์)นั้นเป็นการบ่งชี้ถึงความปราณีหรือความเมตตาอันเป็นเฉพาะ(เราะห์มะตุลค๊อซเซาะฮ์)สำหรับบรรดาผู้ศรัทธา(มุอ์มินีน)เพียงเท่านั้น และในคัมภีร์อัลกุรอานนั้น คุณลักษณะ(ซิฟัต)ทั้งสองประการนี้ได้ถูกกล่าวถึงสำหรับท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)เช่นเดียวกัน บนพื้นฐานของโองการต่าง ๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้านั้นมีความหมายที่ที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง : « رحمتي وسعت كلُّ شيءٍ »  (ความเมตตาของข้าแผ่ปกคลุมทุกสรรพสิ่ง) และพระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดให้ความเมตตานั้นเป็นวาญิบ(สิ่งจำเป็น)เหนือตัวพระองค์เอง :« كتب ربكم علي نفسه الرحمة » (องค์พระผู้อภิบาลของพวกท่านได้ทรงกำหนดความเมตตาไว้เหนือตัวพระองค์เอง) ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงตัวอย่างจำนวนมากมายสำหรับความเมตตาโดยรวม(เราะห์มะตุลอามมะฮ์)ของพระผู้เป็นเจ้าไว้  พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงเป็นพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก« رب العالمين »ในขณะเดียวกันพระองค์ได้ทรงแนะนำท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ในฐานะความเมตตาสำหรับสากลโลก โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :  « و ما ارسلناك الا رحمة للعالمين» (และเราไม่ได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเป็นความเมตตาสำหรับสากลโลก) ดังนั้นท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)คือความเมตตา(เราะห์มัต)สำหรับมนุษยชาติทั้งมวลในทุกยุคสมัยจวบจนถึงวันแห่งการสิ้นสลายของโลก และความเมตตานี้ไม่เพียงแต่สำหรับบรรดาผู้ที่เชื่อมั่นและปฏิบัติตามท่านเพียงเท่านั้น ทว่าครอบคลุมถึงมนุษย์ทุกคน และแม้แต่ครอบคลุมถึงมวลมะลาอิกะฮ์(ทวยเทพ)ด้วยเช่นกัน และตราบที่ท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ยังมีชีวิตอยู่นั้น พระผู้เป็นเจ้ามิได้ลงโทษ(อะซาบ)ต่อบุคคลใด : « و ما كان الله ليعذبهم و انت فيهم » (และอัลลอฮ์จะไม่ทรงลงโทษพวกเขาอย่างแน่นอน ในขณะที่เจ้ายังอยู่ในหมู่พวกเขา)

 

ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)คือภาพปรากฏของความเมตตาและความกรุณาแห่งพระผู้เป็นเจ้าทั้งในโลกนี้และในปรโลก และในจริยวัตรและการแสดงออกในทางปฏิบัติของท่านศาสดานั้น ความเมตตา ความกรุณา ความปราณี ความเอื้ออาธร การให้อภัย การไม่ถือโทษโกรธเคือง ความสุภาพอ่อนโยนและการแสดงออกด้วยความนุ่มนวลทั้งต่อมิตรสนิทและศัตรูนั้นสามารถประจักษ์ได้อย่างชัดเจนและสมบูรณ์ เมื่อพิจารณาถึงกรณีที่ว่าท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ได้ถูกแนะนำในฐานะแบบอย่าง(อุซวะฮ์)หรือแบบฉบับ :

 

 لقد كان لكم في رسول الله اسوة حسنة

(อันที่จริงแบบอย่างที่ดีงามยิ่งสำหรับพวกเจ้านั้น มีอยู่ในศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์)

 

ดังนั้น ประชาชาติ(อุมมะฮ์)อิสลามทั้งมวลจำเป็นต้องนำเอาจริยวัตรและการปฏิบัติตนของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)มาเป็นแนวทางและแบบอย่างสำหรับตนเอง นี่คือบทเรียนที่มียังมนุษยชาติทั้งมวลที่ว่าในการดำเนินชีวิตของพวกเขานั้น พวกเขาจะต้องเสริมแต่งและประดับประดาตนเองด้วยจริยธรรม(อัคลาก)แห่งพระผู้เป็นเจ้าและแบบอย่างแห่งท่านศาสดานี้  พวกเขาจะต้องปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยความมีเกียรติ ด้วยความสุภาพอ่อนโยนและด้วยความรักและความเอื้ออาธร อีกทั้งจำเป็นที่พวกเขาจะต้องขจัดความเครียดแค้นชิง ความเป็นศัตรู การให้ร้ายป้ายสีและการนินทาออกไปจากตัวเอง และตลอดเวลาแห่งการดำเนินชีวิตนั้น บนพื้นฐานของโองการอัลกุรอานที่กล่าวว่า :

 

 تواصوا بالمرحمة

 

พวกเจ้าจงตักเตือนซึ่งกันและกันให้มีความเมตตา (66)

 

ดังนั้น พวกเขาจงกำชับสั่งเสียและตักเตือนซึ่งกันและกันให้ยึดมั่นต่อจริยวัตรและแบบอย่างแห่งความเมตตาของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)นี้ และนำสู่การปฏิบัติให้ได้อย่างแท้จริง

 

 

เชิงอรรถ :

 

 (42) –มะการิมุลอัคลาก , หน้าที่ 17.

(43) –ซุนะนุนนะบี , หน้าที่ 75.

(44) –ซุนะนุนนะบี , หน้าที่ 75.

(45) –มะการิมุลอัคลาก , หน้าที่ 67.

(46) –ตารีคอัฏฏ็อบรี , เล่มที่ 3 , หน้าที่ 56.

(47) –ซุนะนุนนะบี , หน้าที่ 127.

(48) –ซุนะนุนนะบี , หน้าที่ 127.

(49) –วะซาอิลุชชีอะฮ์ , เล่มที่ 9 , หน้าที่ 159.

(50) –ซูเราะฮ์อาลุอิมรอน , อายะฮ์ที่ 159.

(51) –ซูเราะฮ์อัชชุอะรออ์ ,อายะฮ์ที่ 3.

(52) –ซูเราะฮ์ฏอฮา , อายะฮ์ที่ 2.

(53) –บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 16 , หน้าที่ 215.

(54) –ซูเราะฮ์อาลุอิมรอน , อายะฮ์ที่ 159.

(55) –ญามิอุซซะอาดาต , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 340.

(56) –เอี๊ยะห์ยาอุ อุลูมิดดีน , หน้าที่ 184.

(57) –อุซูลุลกาฟี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 117.

(58) –อุซูลุลกาฟี , เล่มที่ 3 , หน้าที่ 181.

(59) –ตุฮะฟุลอุกูล , หน้าที่ 26.

(60) –มะการิมุลอัคลาก , หน้าที่ 23.; นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , ริซาละฮ์ที่ 53.

(61) –ซุเราะฮ์อัชชุอะรออ์ , อายะฮ์ที่ 215.

(62) –บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 82 , หน้าที่ 321.

(63) –บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 82 , หน้าที่ 118.

(64) –ซูเราะฮ์มัรยัม , อายะฮ์ที่ 47.

(65) –มะการิมุลอัคลาก , หน้าที่ 17.

(66) –ซูเราะฮ์อัลบะลัด/อายะฮ์ที่ 17

 

บทความ  : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ