บทเรียนเทววิทยาอิสลาม ตอน ข้อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า

บทเรียนเทววิทยาอิสลาม

ตอน ข้อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า

เหตุผลทางปรัชญาอิสลาม

 หลักการวุญูบและอิมกาน

 

   อีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าและการรู้จักพระองค์ ก็คือ การอ้างเหตุผลโดยใช้หลักการปรัชญาและกฏต่างๆของตรรกศาสตร์ ดังนั้น วิธีการนี้จึงถูกตั้งอยู่บนพื้นฐานด้วยกับเหตุและผล

 

ความแตกต่างของวิธีการนี้กับวิธีการอื่นๆ

 

๑.การแสวงหาและการรู้จักถึงพระเจ้าในวิธีการนี้ โดยใช้หลักปรัชญาและกฏต่างๆของตรรกศาสตร์ ซึ่งต้องผ่านการศึกษาและค้นคว้าอย่างละเอียด เพราะว่า การแสวงหาและการรู้จักพระเจ้าในวิธีการนี้ มีความยากลำบากสำหรับสามัญชนธรรมดาที่จะเข้าใจในรายละเอียดได้ ดังนั้น ความแตกต่างของวิธีการนี้ ก็คือ บางส่วนของข้อพิสูจน์นี้ที่ใช้พิสูจน์การรู้จักถึงพระเจ้า มิได้เป็นหลักการที่สามัญชนธรรมดาจะเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้ นี่คือ จุดด้อยและข้อบกพร่องของข้อพิสูจน์จากวิธีการนี้ แต่ยังมีจุดเด่นและลักษณะพิเศษ ซึ่งจะกล่าวเป็นอันดับต่อไป

 

๒.ยังมีหลายสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีความสงสัยในพระเจ้า และการมีอยู่ของพระองค์ เหตุผลทั่วไปที่ใช้พิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า ก็ไม่มีเพียงพอที่จะยอมรับในการมีอยู่ของพระองค์ และพื่อขจัดข้อสงสัยต่างๆที่เกิดขึ้น และนี่คือ จุดเด่นและลักษณะพิเศษของเหตุผลทางสติปัญญา นั่นก็คือ ข้อพิสูจน์นี้สามารถตอบปัญหาและข้อสงสัยที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการมีอยู่ของพระเจ้าได้ อีกทั้งยังส่งผลสะท้อนต่อผู้ปฏิเสธการมีอยู่ของพระองค์

 

  ประโยชน์ของหลักการนี้

 

บางทัศนะกล่าวว่า หลักการนี้จะไม่มีประโยชน์อันใด เพราะว่าการยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้านั้น เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องหาเหตุผลมายืนยัน ดังนั้น ทัศนะเช่นนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลที่ว่าวิธีการการใช้เหตุผลนี้มีประโยชน์อยู่อย่างมากมาย

 

ซึ่งจะขอนำมากล่าวสัก ๒ ประโยชน์ด้วยกัน ดังนี้

 

๑.วิธีการนี้ ส่งผลต่อการมีศรัทธาในศาสนา เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่สติปัญญายอมรับในเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้ว แน่นอนที่สุด ความศรัทธาก็จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น

 

จะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แม้ว่าความศรัทธาจะไม่เท่าเทียมกับเหตุผลทางปรัชญาก็ตาม แต่ระหว่างความศรัทธากับเหตุผลนั้น ก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

 

๒. ถ้าหากว่า การมีศรัทธาในศาสนา ถูกตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสาทสัมผัสทั้งห้า จะพบว่า เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นและไม่สามารถหาคำตอบได้ เมื่อนั้นจะใช้เหตุผลปรัชญาในการตอบปัญหาเหล่านั้น

 

หลังจากที่มีความเข้าใจในประโยชน์ต่างๆของเหตุผลทางปรัญชาแล้ว

 จะขออธิบายในตัวบทของข้อพิสูจน์นี้ เป็นอันดับต่อไป

 

  ตัวบทของข้อพิสูจน์วุญูบและอิมกาน (สิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่และสิ่งที่ต้องพึ่งพา)

 

   ก่อนที่จะอธิบายในข้อพิสูจน์นี้ ต้องมาทำความเข้าใจในตัวบทของข้อพิสูจน์ก่อน ซึ่งมีดังนี้

 

๑.การให้คำนิยามของ วาญิบุล-วุญูด (สิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่) และ มุมกินุล- วุญูด (สิ่งที่ต้องพึ่งพา)

 

ตัวบทหนึ่งของข้อพิสูจน์วุญูบและอิมกาน คือ การให้นิยามทั้งสองคำ

 

วาญิบุล-วุญูดและมุมกินุล-วุญูด

 

ในการอธิบายความหมายของทั้งสองคำ สามารถกล่าวได้ว่า สิ่งที่มีอยู่ทั้งหลาย เมื่อได้ให้ความสัมพันธ์ไปยังการมีอยู่ จะเกิดด้วยกัน สองสภาพ ดังนี้

 

๑.ความสัมพันธ์ของสิ่งที่มีอยู่กับการมีอยู่(วุญูด) ในสภาพที่มีความจำเป็นโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่สามารถแยกทั้งสองออกจากกันได้

 

๒.ความสัมพันธ์ของสิ่งที่มีอยู่กับการมีอยู่ ในสภาพที่ไม่มีความจำเป็นและสามารถแยกทั้งสองออกจากกันได้

 

ดังนั้น สิ่งที่อยู่ในสภาพแรกเรียกว่า วาญิบุล-วุญูด หมายถึง สิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่และในการมีอยู่ของสิ่งนั้นไม่มีการพึ่งพาต่อสิ่งใด และสิ่งที่อยู่ในสภาพที่สองเรียกว่า มุมกินุล-วุญูด หมายถึง สิ่งที่สามารถจะมีอยู่ได้และในการมีอยู่ของสิ่งนั้นจะต้องพึ่งพาต่อสิ่งอื่น และเพื่อที่จะมีความเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น ก็สามารถเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของวาญิบุล-วุญูดกับมุมกินุล-วุญูดได้ เหมือนกับความสัมพันธ์ของน้ำตาลกับความหวาน กล่าวคือ

ไม่สามารถแยกความหวานออกจากน้ำตาลได้ และไม่มีน้ำตาลใดในโลกนี้ที่ไม่มีความหวาน และไม่สามารถที่จะจินตนาการหรือสร้างมโนภาพถึงน้ำตาลที่ปราศจากความหวาน ส่วนน้ำธรรมดานั้น ก็ไม่มีความจำเป็นใดเลยที่จะต้องมีความหวาน เพราะว่า ธรรมชาติของน้ำ จะมีความหวานก็ได้ ไม่มีก็ได้

 

บรรดานักปรัชญาอิสลามและนักเทววิทยาอิสลามได้กล่าวว่า วาญิบุล-วุญูด หมายถึง การมีอยู่ของพระเจ้า

 ส่วนมุมกินุล-วุญูด หมายถึง การมีอยู่ของสรรพสิ่งทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงมนุษย์อยู่ด้วย

 

๒. กฏที่ว่าด้วยเหตุและผล เป็นหนึ่งในพื้นฐานที่สำคัญของข้อพิสูจน์นี้ หลังจากที่ได้ให้คำนิยามของทั้งสองคำไปแล้ว ดังนั้น ความหมายของกฏที่ว่าด้วยเหตุและผล จึงหมายถึง ทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ มีความต้องการเหตุในการเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้

กฏที่ว่าด้วยเหตุและผล ก็เป็นประโยคตรรกประเภทหนึ่งด้วยเช่นกัน

 

คำอธิบาย   การมีอยู่ของสิ่งหนึ่งที่สามารถจะมีอยู่หรือไม่มีอยู่ และการให้ความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับการมีอยู่ และการไม่มีอยู่ ถือว่ามีความเท่าเทียมกัน หมายความว่า สิ่งนั้นจะมีอยู่ และไม่มีอยู่ก็ได้ จะเกิดขึ้น และไม่เกิดขึ้นก็ได้ ดังนั้น การเกิดขึ้นของสิ่งนั้น ต้องการสิ่งที่ทำให้สิ่งนั้นมีอยู่ และสิ่งที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจะต้องไม่มีความต้องการสิ่งอื่นในการมีอยู่ของสิ่งนั้น และสิ่งนั้นคือ ปฐมเหตุของสิ่งทั้งหลาย

และอีกคำนิยามหนึ่งของวาญิบและมุมกิน ก็คือ

มุมกิน หมายถึง สิ่งที่ต้องการเหตุในการการเกิดขึ้นและมีอยู่ของสิ่งนั้น

วาญิบ หมายถึง สิ่งที่ไม่มีความต้องการเหตุทั้งหลายในการเกิดขึ้นและการมีอยู่ของสิ่งนั้น

 

๓.ความเป็นไปไม่ได้ในกฏตะซัลซุล (กฏลูกโซ่) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานที่สำคัญในข้อพิสูจน์ หมายความว่า กฏลูกโซ่ คือ การเป็นลูกโซ่ของเหตุและผลของสิ่งหนึ่งโดยไม่มีที่สิ้นสุดและจุดจบ และตัวอย่างของกฏลูกโซ่ เช่น การมีอยู่ของ ก ขึ้นกับการมีอยู่ของข และการมีอยู่ของ ค ขึ้นกับการมีอยู่ของ ง ไปเรื่อยๆจนไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น กฏลูกโซ่ จึงมีความเป็นไปไม่ได้ที่สิ่งหนึ่งจะมีเหตุผลเกิดขึ้นมากมายจนไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งนักปรัชญาอิสลามคนหนึ่ง ได้กล่าวว่า ความเป็นไปไม่ได้ในกฏลูกโซ่ เป็นประโยคตรรกประเภทหนึ่งที่ไม่ต้องการเหตุผลในการยืนยัน และบางคนยังกล่าวอีกว่า การพิสูจน์ในกฏลูกโซ่นั้น ต้องอาศัยการให้เหตุผลทางปรัชญามายืนยัน

 

๔.ความเป็นไปไม่ได้ของกฏวัฏจักร

ความหมายของกฏวัฏจักร

กฏวัฏจักร หมายถึง การที่สิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุให้กับตัวเองในการเกิดขึ้นของสิ่งนั้น

กฏแห่งวัฏจักรสามารถที่จะแบ่งได้  สอง ประเภท

๑.กฏวัฏจักรที่เปิดเผย หมายความว่า สิ่งหนึ่งในการเกิดขึ้นที่มีความต้องการสาเหตุให้เกิดขึ้นเพียงขั้นตอนเดียว ตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของ นาย ก เป็นสาเหตุของ นาย ข และการเกิดขึ้นของ นาย ข ก็เป็นสาเหตุในการเกิดขึ้นของ นาย ก เป็นต้น

 

๒.กฏวัฏจักรที่ซ่อนอยู่ หมายความว่า สิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นต้องผ่านจากหลายสาเหตุจึงจะเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของ นาย ก เป็นสาเหตุของ นาย ข และการเกิดขึ้นของ นาย ข เป็นสาเหตุให้กับ นาย ค และการเกิดขึ้นของ นาย ค ก็เป็นสาเหตุในการเกิดขึ้นของ นาย ก เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กฏวัฏจักรทั้งสองประเภทนั้น ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ และยังกล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นของกฏวัฏจักรทั้งสองประเภทนั้น ก็เป็นไปไม่ได้

 

 

   การอธิบายในหลักการวุญูบและอิมกาน

 

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ในโลกนี้มี สิ่งที่มีอยู่ทั้งหลาย อยู่สองจำพวก คือ

 

๑.สิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ และไม่พึ่งพาสิ่งใด

๒.สิ่งที่ต้องพึ่งพาสิ่งอื่น จึงจะมีอยู่ได้

 

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเกิดขึ้นของสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ มี สองสภาพ

 สภาพแรก คือ การมีความต้องการต่อสิ่งอื่นในการเกิดขึ้นของสิ่งนั้น

สภาพที่สอง  คือ การไม่มีความต้องการสิ่งอื่นใดในการเกิดขึ้นของสิ่งนั้น

และถ้าหากว่า ยอมรับในสภาพแรกของการเกิดขึ้นของสิ่งทั้งหลาย หมายถึง สิ่งที่มีอยู่นั้น มีความต้องการสิ่งอื่นในการเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ด้วยกับกฏที่ว่าด้วยเหตุและผล สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มีความต้องการสาเหตุในการเกิดขึ้น และถ้าหากว่า สาเหตุของสิ่งนั้น เป็นสิ่งสามารถที่จะมีอยู่ได้ ก็จะกลายเป็นกฏของลูกโซ่ไปเรื่อยๆจนไม่มีที่สิ้นสุด และได้กล่าวไปในกฏของลูกโซ่แล้วว่า การเกิดขึ้นของกฏนี้ เป็นไปไม่ได้

 

 และถ้าหากว่า สาเหตุนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ ก็ไม่ต้องการเหตุผลใดในการเกิดขึ้นของสิ่งนั้น ดังนั้น สามารถจะสรุปได้ว่า ในโลกนี้มีสิ่งต่างๆที่มีอยู่จริง หากว่าสิ่งนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ หมายความว่า สิ่งนั้นไม่มีความต้องการสาเหตุในการเกิดขึ้น แต่ถ้าหากว่า สิ่งนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องมีอยู่ สิ่งนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่สามารถจะมีอยู่และต้องพึ่งพาสิ่งอื่น จึงจะมีอยู่ได้ และก็มีความต้องการสาเหตุในการเกิดขึ้นด้วย และท้ายที่สุด การเกิดขึ้นของสิ่งนั้น ก็ย้อนกลับไปยัง สิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ ซึ่งเป็นปฐมเหตุของสรรพสิ่ง