บทเรียนสอนใจ ในมุมมองของท่านอิมามอะลี (อ.)

  บทเรียนสอนใจ ในมุมมองของท่านอิมามอะลี (อ.)

 

หนึ่งในเป้าหมายของการอ้างถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวของบรรพชนในยุคอดีตในคัมภีร์อัลกุรอาน ก็เพื่อเป็นบทเรียนสอนใจและข้อเตือนสติสำหรับมุสลิม ในหลายโองการของคัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายถึงเรื่องราวต่างๆ ของบรรดาศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า ในเรื่องราวเหล่านี้ เป้าหมายของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นมิได้เป็นเพียงแค่การเล่าเรื่องเพียงเท่านั้น แต่ทว่าเป้าหมายก็คือการนำเสนอข้อชี้นำโดยผ่านเรื่องราวที่สหนึ่งในวิธีการที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จและเจริญก้าวหน้าในชีวิต ซึ่งคัมภีร์อัลกุรอานและคำรายงาน (ริวายะฮ์) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี อิบนิอะบีฏอลิบ (อ.) ได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำไว้อย่างมาก นั่นก็คือ “การเรียนรู้บทเรียนและข้อเตือนใจ” พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงแนะนำถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการได้รับทางนำของมนุษย์ไว้ในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน ว่าเป็นการเรียนรู้บทเรียนสอนใจจากอดีตและหมู่ชนในยุคอดีต และยังได้เรียกร้องประชาชนให้คิดใคร่ครวญถึงการดำเนินชีวิตและชะตากรรมของ บรรดาคนดีและคนชั่ว ด้วยถ้อยคำและสำนวนต่างๆ มากมาย อีกทั้งได้กำชับสั่งเสียมนุษย์ให้นำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนสำหรับการดำเนินชีวิตของเขา

 

ประสบการณ์ในอดีต คือประทีปส่องนำทางสำหรับอนาคต

 

         

คุณลักษณะประการหนึ่งของคนฉลาดและมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง นั่นก็คือ การเรียนรู้บทเรียนในอดีตและการเก็บบทเรียนเหล่านั้นมาเป็นเครื่องเตือนสติในการดำเนินชีวิต ในคัมภีร์อัลกุรอานและนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ได้สั่งเสียอย่างมากให้บรรดาผู้ศรัทธาเรียนรู้บทเรียนจากอดีต และการจัดระบบระเบียบพฤติกรรมของตนเองบนพื้นฐานจากสิ่งดังกล่าว และยังบรรยายถึงเรื่องราวต่างๆ มากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ เพื่อให้เราได้คิดใคร่ครวญถึงสภาพของบรรพชนในยุคอดีตและนำมาเป็นบทเรียนในการดำเนินชีวิต การเรียนรู้บทเรียนจากเรื่องราวและเหตุการณ์เหล่านี้ จะช่วยให้เราสามารถจำแนกแยกแยะแนวทางที่ถูกต้องสำหรับการดำเนินชีวิตได้อย่างง่ายดาย และจะเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จและความผาสุกที่แท้จริงของเรา ดังที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า


الاعتبار یقود الی الرشاد

          “การเรียนรู้บทเรียน (จากอดีต) นั้นจะนำทาง (มนุษย์) ไปสู่แนวทางที่ถูกต้องเที่ยงตรง” (1)

 

       

ในที่นี้เราจะมาพิจารณาโองการของคัมภีร์อัลกุอานและคำรายงาน (ริวายะฮ์) ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่ชี้ถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ “การเรียนรู้บทเรียนและข้อเตือนใจ”

 

1. การเดินทางกับการเรียนรู้บทเรียนสอนใจ

 

       

จำนวนมากกว่าสิบโองการของคัมภีร์อัลกุรอานที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้มนุษย์เดินทาง السیر فی الارض  “การเดินทางไปในหน้าแผ่นดิน” (2) การเดินทางและการจาริกไปในแผ่นดิน ในวัฒนธรรมของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นไม่ได้หมายถึงการท่องเที่ยวที่ไร้สาระและไร้เป้าหมาย แต่หมายถึงการเรียนรู้บทเรียนสอนใจ การเก็บข้อเตือนใจ การรับรู้สัญลักษณ์ต่างๆ ในเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า และการพินิจพิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ของบรรพชนในยุคอดีตที่ผ่านมา คัมภีร์อัลกุอานได้กล่าวว่า

 

أَ فَلَمْ یَسِیرُوا فِی الْأَرْضِ فَیَنْظُرُوا کَیْفَ کانَ عاقِبَةُ الَّذِینَ مِنْ قَبْلِهِمْ

 “พวกเขามิได้เดินทางไปในแผ่นดินดอกหรือ เพื่อพวกเขาจะได้พิจารณาดูว่า บั้นปลายของบรรดาผู้ที่มาก่อนพวกเขานั้นเป็นอย่างไร” (3)

       

ในอีกโองการหนึ่งได้กล่าวว่า

 

قُلْ سِیرُوا فِی الْأَرْضِ ثُمَّ انْظُرُوا کَیْفَ کانَ عاقِبَةُ الْمُکَذِّبِینَ؛


 
“จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด) ว่าพวกท่านจงเดินทางไปในแผ่นดินเถิด แล้วจงพิจารณาดูว่าผลสุดท้ายของบรรดาผู้ปฏิเสธนั้นเป็นอย่างไรบ้าง” (4)


 2. ประวัติศาสตร์และเรื่องราวของบรรพชนในอดีต กับการเรียนรู้บทเรียนสอนใจสร้างสรรค์เหล่านี้

         

หนึ่งในเป้าหมายของการอ้างถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวของบรรพชนในยุคอดีตในคัมภีร์อัลกุรอาน ก็เพื่อเป็นบทเรียนสอนใจและข้อเตือนสติสำหรับมุสลิม ในหลายโองการของคัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายถึงเรื่องราวต่างๆ ของบรรดาศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้าในเรื่องราวเหล่านี้ เป้าหมายของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นมิได้เป็นเพียงแค่การเล่าเรื่องเพียงเท่านั้น แต่ทว่าเป้าหมายก็คือการนำเสนอข้อชี้นำโดยผ่านเรื่องราวที่สร้างสรรค์เหล่านี้ บนพื้นฐานดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่าไม่มีเรื่องราวใดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ของปวงศาสดาที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน จะกล่าวถึงเรื่องราวที่ไม่มีประโยชน์ หรือมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยในการชี้นำประชาชน ตัวอย่างเช่น จะไม่มาการพูดถึงประวัติการถือกำเนิด ประวัติการเสียชีวิต จำนวนบุตร และคู่ครองของบรรดาศาสดา และอื่นๆ

คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 

لَقَدْ کانَ فِی قَصَصِهِمْ عِبْرَةٌ لِأُولِی الْأَلْبابِ

 

          “แน่นอนยิ่งเรื่องราวของพวกเขา (ศาสดายูซุฟ) เป็นบทเรียนสำหรับปวงผู้มีวิจารณญาณ” (5)

 

         

นั่นหมายความว่า มีหลายสิบบทเรียนที่เป็นข้อเตือนใจอยู่ในเรื่องราวของศาสดายูซุฟ (อ.) ตัวอย่างเช่น ความล้มเหลวของแผนการของเหล่าศัตรู ความเป็นผู้บริสุทธิ์ของท่านศาสดายูซุฟ การหลีกห่างจากตัณหาและความผิดบาปจากความเสื่อมเสียชื่อเสียงในเรื่องของซุไลคอ ความมีคุณธรรมของศาสดายูซุฟ และอื่นๆ กล่าวโดยสรุปแล้ว เป้าหมายของคัมภีร์อัลกุรอานในการอธิบายถึงประเด็นต่างๆ ที่ละเอียดอ่อนและมีความสำคัญของเรื่องราวนั้น ก็คือการเรียนรู้ข้อเตือนสติและบทเรียนสอนใจ

 

3. สงครามต่างๆ ของท่านศาสดา คือบทเรียนสอนใจสำหรับมุสลิม

 

         

ในโองการที่ 13 จากซูเราะฮ์อาลุอิมรอน ได้อธิบายถึงการอนุเคราะห์และการช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อบรรดานักรบแห่งสงครามบะดัร และการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในหัวใจของเหล่าศัตรู ว่าเป็นบทเรียนสอนใจสำหรับปวงผู้มีวิจารณญาณ โดยกล่าวว่า

 

قَدْ کانَ لَکُمْ آیَةٌ فِی فِئَتَیْنِ الْتَقَتا فِئَةٌ تُقاتِلُ فِی سَبِیلِ اللَّهِ وَ أُخْرى کافِرَةٌ یَرَوْنَهُمْ مِثْلَیْهِمْ رَأْیَ الْعَیْنِ وَ اللَّهُ یُؤَیِّدُ بِنَصْرِهِ مَنْ یَشاءُ إِنَّ فِی ذلِکَ لَعِبْرَةً لِأُولِی الْأَبْصارِ


 
    
      “แน่นอนได้มีสัญญาณหนึ่งสำหรับพวกเจ้า ซึ่งอยู่ในสองฝ่ายที่เผชิญหน้ากัน ฝ่ายหนึ่งต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ที่ได้เห็นเขาเหล่านั้นด้วยตาตนเอง (มีจำนวน) เป็นสองเท่าของพวกเขา และอัลลอฮ์จะทรงสนับสนุนผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ แท้จริงในสิ่งนั้นย่อมเป็นข้อเตือนสติสำหรับปวงผู้มีวิจารณญาณ”

 

         

ข้อเตือนสติและบทเรียนสอนใจที่สามารถรับรู้ได้จากโองการนี้ก็คือ ในการทำสงครามนั้นความศรัทธาเป็นหัวใจสำคัญอันดับแรก ประชาชาติที่มีผู้สนับสนุนที่ทรงอำนาจอย่างเช่นพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งนั้น ย่อมไม่มีวันพ่ายแพ้
         

เช่นเดียวกันนี้ในโองการแรกๆ ของซูเราะฮ์อัลฮัชรุ คัมภีร์อัลกุรอานได้เล่าถึงเหตุการณ์สงครามบะนิลนะฎีรและแผนการของชาวยิวในการต่อต้านอิสลาม การเผชิญหน้าอย่างรุนแรงของกองทัพอิสลามกับพวกเขา และความพ่ายแพ้อย่างหนักหน่วงของพวกเขาต่อกองทัพอิสลาม ซึ่งในช่วงท้ายของโองการได้กล่าวว่า

فاعتبروا یا اولی الابصار

    “ดังนั้นจงเรียนรู้บทเรียนเถิด โอ้ปวงผู้มีสายตาทั้งหลาย” (6)


4. การเรียนรู้บทเรียนและข้อเตือนใจในมุมมองของริวายะฮ์

      

   ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ได้เน้นย้ำอย่างมากมายให้เรียนรู้บทเรียนและข้อเตือนใจจากโลกนี้ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา ทั้งจากอดีตของตัวเราเองและจากประวัติศาสตร์ และถือว่าสิ่งนี้คือคุณลักษณะประการหนึ่งของผู้ศรัทธา

โดยท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า

 

إنّما ينظر المؤمن إلي الدنيا بعين الاعتبار


          “แท้จริงผู้ศรัทธานั้นจะมองไปยังโลกนี้ด้วยสายตาของการเรียนรู้บทเรียนสอนใจ” (7)


        

ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวถึงผลของมันว่า

 

الاعتبار یثمر العصمة


 
“การเรียนรู้บทเรียนสอนใจ (จากเหตุการณ์ทั้งหลาย) นั้น จะช่วยปกป้อง (จากความผิดพลาดทั้งหลาย)” (8)

 

ในอีกคำรายงานหนึ่ง ท่านกล่าวว่า

من کثر اعتباره قل عثاره
 
     

     “ผู้ใดที่เรียนรู้บทเรียนสอนใจมาก ความผิดพลาดต่างๆ ของเขาก็จะน้อยลง” (9)


        

ในคำสั่งเสียที่มียังท่านอิมามฮะซัน (อ.) นั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า

 

استدل علی ما لم یکن بما قد کان فانّ الامور اشباه
 
         
“จงหาข้อพิสูจน์ต่อเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะแท้จริงเหตุการณ์ทั้งหลายนั้นมีความคล้ายคลึงกัน” (10)


         ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ท่านกล่าวว่า

 

کان اکثر عبادة ابی ذر التفکر والاعتبار
 
        

  “การอิบาดะฮ์ส่วนใหญ่ของท่านอบูซัร (ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาเขา) คือสองประการอันได้แก่ การคิดใคร่ครวญและการเรียนรู้อุทาหรณ์” (11)


         

โดยสรุปแล้วคัมภีร์อัลกุรอานและคำรายงานต่างๆ ถือว่าการเดินทางไปในหน้าแผ่นดินและการคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของบรรพชนในยุคอดีตและปวงศาสดา สงครามต่างๆ ของท่านเหล่านั้น และอื่นๆ ถือเป็นบทเรียนสอนใจและข้อเตือนสติสำหรับบุคคลในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งจากอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า)

 

         

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ว่า คนที่จะเรียนรู้บทเรียนนั้นช่างมีน้อยเสียเหลือเกิน แม้จะมีบทเรียนต่างๆ มากมายก็ตาม

ดังที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า

 

مَا أَكْثَرَ الْعِبَرَ وَ أَقَلَّ الِاعْتِبَار

      

    “บทเรียนสอนใจนั้นช่างมีมากมายเหลือเกิน ในขณะที่ผู้ที่จะเรียนรู้บทเรียนนั้นช่างน้อยนิดเสียเหลือกิน” (12)

 

แหล่งอ้างอิง :

(1) ฆุร่อรุลฮิกัม หน้าที่ 472
(2) ซูเราะฮ์ยูซุฟ/อายะฮ์ที่109 ; ซูเราะฮ์อัลฮัจญ์/อายะฮ์ที่ 46 ; ซูเราะฮ์อัรรูม/อายะฮ์ที่ 9 ; ซูเราะฮ์ฟาฏิร/อายะฮ์ที่ 44 ; ซูเราะฮ์ฆอฟิร/อายะฮ์ที่ 21 และ 82 ; ซูเราะฮ์อาลุอิมรอน/อายะฮ์ที่ 137 ; ซูเราะฮ์อัลอันอาม/อายะฮ์ที่ 11 ; ซูเราะฮ์อันนะฮ์ลุ/อายะฮ์ที่ 36 ; ซูเราะฮ์อันนะฮ์ลุ/อายะฮ์ที่ 69 ; ซูเราะฮ์อัลอังกะบูต/อายะฮ์ที่ 20 ; ซูเราะฮ์อัรรูม/อายะฮ์ที่ 42
(3) ซูเราะฮ์ยูซุฟ/อายะฮ์ที่109
(4) ซูเราะฮ์อัลอันอาม/อายะฮ์ที่ 11
(5) ซูเราะฮ์ยูซุฟ/อายะฮ์ที่111
(6) ซูเราะฮ์อัลฮัชรุ/อายะฮ์ที่ 2
(7) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ฮิกมะฮ์ที่ 297
(8) แหล่งอ้างอิงเดียวกัน
(9) แหล่งอ้างอิงเดียวกัน
(10) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายที่ 31
(11) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 71 หน้าที่ 324
(12) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ วิทยปัญญาที่ 297

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth