โลกนี้ในมุมมองของอิมามอะลี อัลฮาดี

โลกนี้ในมุมมองของอิมามอะลี อัลฮาดี

การค้าที่ได้รับผลกำไรเป็นทวีคูณ

       

ในคำสอนของอิสลามถือว่าโลกนี้ (ดุนยา) เปรียบได้ดังสถานที่ทำการค้า ดั่งที่ท่านอิมามอะลี อัลฮาดี (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

الدُّنْیا سُوقٌ رَبِحَ فیها قَوْمٌ وَ خَسِرَ آخَرُونَ

“โลกนี้คือตลาด ที่คนกลุ่มหนึ่งได้รับผลกำไร และคนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับความขาดทุนในมัน” (1)

 

     

  หรือที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า :

الدُّنْیا مَتْجَرُ اوْلِیاءِ اللَّه

“โลกนี้คือสถานที่ทำการค้าของ “เอาลิยาอุลลอฮ์” (บรรดาผู้ใกล้ชิดของพระผู้เป็นเจ้า)” (2)

 

         

มนุษย์ที่ฉลาดนั้น ตลอดเวลาในการค้าขายของเขา เขาจะมองหาคุณลักษณะสองประการในการประกอบการค้าของเขาคือ หนึ่ง คู่ค้าหรือผู้ที่เขาประกอบการค้าขายด้วยนั้นจะต้องไม่ใช่คนบิดพลิ้ว ไม่ใช่คนหลอกลวง ฉ้อโกง หรือจะไม่อธรรมต่อเขา สอง ในการค้าขายนั้น เขาจะต้องได้ผลกำไรที่งดงามและเหมาะสม

         

แน่นอนยิ่งว่าหากการค้านั้น ผู้ที่ทำการค้าร่วมกับเรา ซึ่งเขาจะไม่อธรรมต่อเราแม้แต่เพียงเล็กน้อย และในขณะเดียวกันในการค้าที่เป็นเรื่องเล็กน้อยธรรมดาๆ แต่เขากลับให้ผลกำไรแก่เราเป็นทวีคูณนั้น เราย่อมจะไม่ลังเลใจที่จะทำการค้าขายกับเขา

       

ในทัศนะของอิสลามถือว่าการทำความดีต่างๆ นั้น คือการค้าขายกับพระผู้เป็นเจ้า ดั่งที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا هَلْ أَدُلُّكُمْ عَلَىٰ تِجَارَةٍ تُنجِيكُم مِّنْ عَذَابٍ أَلِيمٍ تُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَرَسُولِهِ وَتُجَاهِدُونَ فِي سَبِيلِ اللَّهِ بِأَمْوَالِكُمْ وَأَنفُسِكُمْ ذَٰلِكُمْ خَيْرٌ لَّكُمْ إِن كُنتُمْ تَعْلَمُونَ

 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! ข้าจะชี้แนะแก่พวกเจ้าไหมเล่า ถึงการค้าที่จะช่วยพวกเจ้าให้รอดพ้นจากการลงโทษอันเจ็บปวด นั้นคือ พวกเจ้าต้องศรัทธาต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ และต่อสู้ในทางอัลลอฮ์ ด้วยทรัพย์สินของพวกเจ้าและชีวิตของพวกเจ้า นั่นเป็นการดียิ่งสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้” (3)

       

 หรือในอีกโองการหนึ่งได้กล่าวว่า :

 

إِنَّ الَّذِينَ يَتْلُونَ كِتَابَ اللَّهِ وَأَقَامُوا الصَّلَاةَ وَأَنْفَقُوا مِمَّا رَزَقْنَاهُمْ سِرّاً وَعَلَانِيَةً يَرْجُونَ تِجَارَةً لَنْ تَبُورَ لِيُوَفِّيَهُمْ أُجُورَهُمْ وَيَزِيدَهُم مِّن فَضْلِهِ إِنَّهُ غَفُورٌ شَكُورٌ

 

“แท้จริงบรรดาผู้ที่อ่านคัมภีร์ของอัลลอฮ์ และดำรงการละหมาด และบริจาคบางส่วนจากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา ทั้งโดยซ่อนเร้นและเปิดเผย โดยที่พวกเขามุ่งหวังการค้าที่ไม่มีวันซบเซา (ขาดทุน) แน่นอนพระองค์จะทรงตอบแทนรางวัลของพวกเขาให้แก่พวกเขาอย่างครบถ้วน และพระองค์จะทรงเพิ่มให้แก่พวกเขาจากความกรุณาของพระองค์” (4)

       

 แน่นอน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเน้นย้ำไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานบ่อยครั้ง ถึงคุณลักษณะสองประการข้างต้นในการทำการค้ากับพระองค์ โดยประการแรกคือ ใครก็ตามที่ทำการค้ากับพระองค์ พระองค์จะไม่ทรงอธรรมต่อเขาแม้น้ำหนักเพียงธุลี และประการที่สอง ไม่เพียงแต่ไม่อธรรมเท่านั้น ทว่าพระองค์ยังจะทรงตอบแทนแก่เขาเป็นทวีคูณ พระองค์ทรงตรัสว่า :

إِنَّ اللَّهَ لَا يَظْلِمُ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ وَإِن تَكُ حَسَنَةً يُضَاعِفْهَا وَيُؤْتِ مِن لَّدُنْهُ أَجْرًا عَظِيمًا

 

“แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงอธรรมแม้เพียงน้ำหนักเท่าผงธุลี และหากมันเป็นสิ่งที่ดีงามหนึ่ง พระองค์ก็จะทรงเพิ่มทวีความดีนั้น และจะทรงประทานรางวัลอันยิ่งใหญ่ให้จาก ณ พระองค์” (5)

     

   “มิษกอล” (مِثْقالَ) หมายถึง น้ำหนัก และสำนวนว่า “مِثْقالَ ذَرَّةٍ” (มิษกอละ ซัรเราะฮ์) หมายถึง น้ำหนักของวัตถุหรือสสารที่มีขนาดเล็กอย่างมาก หมายความว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า แม้น้ำหนักเพียงอณูเดียวหรือผงธุลีเดียว พระองค์ก็จะไม่ทรงอธรรมในการคิดคำนวณและการตรวจสอบบัญชีแห่งการงาน (อะมั้ล) ของเรา และไม่เพียงแต่ไม่อธรรมเท่านั้น แต่พระองค์จะเพิ่มพูนให้แก่เราเป็นทวีคูณ ในอีกโองการหนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า :

 

وَنَضَعُ الْمَوَازِینَ الْقِسْطَ لِیَوْمِ الْقِیَامَةِ فَلا تُظْلَمُ نَفْسٌ شَیْئًا وَإِن كَانَ مِثْقَالَ حَبَّةٍ مِّنْ خَرْدَلٍ أَتَیْنَا بِهَا وَكَفَی بِنَا حَاسِبِینَ

 

“และเราจะตั้งตราชูที่เที่ยงธรรมสำหรับวันกิยามะฮ์ ดังนั้นจะไม่มีชีวิตใดถูกอธรรมในสิ่งใดเลย และแม้ว่ามันเป็นเพียงน้ำหนักเท่าเมล็ดผักกาดก็ตาม เราก็จะนำมันมาแสดง และเพียงพอแล้วสำหรับเราที่เป็นผู้สอบสวน” (6)

         

ในการทำการค้ากับพระผู้เป็นเจ้านั้น พระองค์จะทรงตอบแทนผลกำไร (รางวัล) อย่างน้อย 10 เท่า

 

مَنْ جَاءَ بِالْحَسَنَةِ فَلَهُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا وَمَنْ جَاءَ بِالسَّيِّئَةِ فَلا يُجْزَى إِلا مِثْلَهَا وَهُمْ لا يُظْلَمُونَ

 

“ผู้ใดที่นำความดีมา เขาก็จะได้รับสิบเท่าของความดีนั้น และผู้ใดนำความชั่วมาเขาจะไม่ถูกตอบแทน นอกจากเท่าความชั่วนั้นเพียงเท่านั้น โดยที่พวกเขาจะไม่ถูกอธรรม” (7)

         

ยิ่งไปกว่านั้น การทำการค้า (ความดี) บางอย่างนั้น ผลกำไรของมันทวีคูณถึง 700 เท่า ดังที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสในเรื่องของการอินฟาก (การบริจาคและการใช้จ่าย) ทรัพย์สินเงินทองไปในทางของพระองค์ว่า :

 

مَّثَلُ الَّذِينَ يُنفِقُونَ أَمْوَالَهُمْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ كَمَثَلِ حَبَّةٍ أَنبَتَتْ سَبْعَ سَنَابِلَ فِي كُلِّ سُنبُلَةٍ مِّائَةُ حَبَّةٍ وَاللَّهُ يُضَاعِفُ لِمَن يَشَاءُ وَاللَّهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ

 

“อุปมาบรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขาในทางของอัลลอฮ์นั้น อุปมัยดั่งเมล็ดพันธุ์เมล็ดหนึ่งที่งอกขึ้นเป็นเจ็ดรวง โดยที่ในแต่ละรวงนั้นมีหนึ่งร้อยเมล็ด และอัลลอฮ์นั้นจะทรงเพิ่มพูนแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์อีก และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้” (8)

         

ดังนั้นบรรดาผู้ศรัทธาจะไม่ลังเลใดๆ และจะไม่ยอมสูญเสียโอกาสในการที่จะทำการค้ากับพระผู้เป็นเจ้า โดยการประกอบคุณงามความดีต่างๆ ซึ่งเขาจะไปเก็บเกี่ยวผลกำไรและรางวัลที่ทวีคูณของมันในชีวิตแห่งปรโลก

 

เชิงอรรถ :

(1) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 75, หน้าที่ 366

(2) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 131

(3) ซูเราะฮ์อัศศ็อฟฟุ/อายะฮ์ที่ 10 – 11

(4) ซูเราะฮ์ฟาฏิร/อายะฮ์ที่ 29 – 30

(5) ซูเราะฮ์อันนิซาอ์/อายะฮ์ที่ 40

(6) ซูเราะฮ์อัลอันบิยาอ์/อายะฮ์ที่ 47

(7) ซูเราะฮ์อัลอันอาม/อายะฮ์ที่ 160

(8) ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์/อายะฮ์ที่ 261

 

ขอขอบคุณ เว็บไซต์ซอฮิบซะมาน