สุนทรพจน์ของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ภาค 2 ตอนที่ 5

สุนทรพจน์ของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ภาค 2 ตอนที่ 5

 

การยืนหยัดต่อสู้ของฮูเซน บินอะลี (อ.) มิได้ให้ความสำคัญต่อเงื่อนไขการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่วกระนั้นหรือ?

 

  ดังที่ได้อธิบายไปแล้วในภาคแรกของหนังสือนี้ว่า มีคำถามหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง นั่นคือ บรรดานักนิติศาสตร์และนักวิชาการแห่งอิสลาม ได้กำหนดเงื่อนไขในการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่วไว้ว่า สำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่กำชับความดีและห้ามปรามความชั่วนั้น จะต้องไม่เผชิญหน้ากับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่นี้ แต่ทว่าฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้ยืนหยัดต่อสู้โดยมีเป้าหมายที่จะกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว ท่านกลับมิได้ใส่ใจต่อเงื่อนไขดังกล่าวแต่ประการใด มิหนำซ้ำในหนทางดังกล่าวท่านกลับมุ่งหน้าเข้าสู่อันตรายอันยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือการถูกสังหารของตนเองและบรรดาสาวก รวมทั้งการตกเป็นเชลยของบรรดาสตรีและลูกหลานของท่าน ซึ่งเป็นภาพที่น่าเวทนายิ่งนัก ทำไมจึงต้องทำเช่นนั้นทั้งๆ ที่เราก็ทราบดีว่าข้อบัญญัติต่างๆ ที่เกิดจากทัศนะของนักนิติศาสตร์และนักวิชาการอิสลาม มิใช่สิ่งใดเลยนอกจากเป็นไปตามคำพูดหรือแบบอย่างของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และของบรรดาอะอิมมะฮ์ (อ.) ผู้บริสุทธิ์นั่นเอง

 

   คำตอบก็คือ เงื่อนไขที่ว่านั้นเป็นเพียงเงื่อนไขทั่วๆ ไป และเป็นเงื่อนไขโดยรวม ซึ่งมิได้พิจารณาถึงสภาวะอันเป็นการเฉพาะ หรือเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติข้อนี้แต่ประการใด และเพื่อให้เกิดความมั่นใจถึงประเด็นนี้มากยิ่งขึ้น จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงสองหัวข้อหลักต่อไปนี้

 

    สถานภาพของผู้ที่กระทำความผิด

    สถานภาพของผู้ที่ทำหน้าที่กำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว

 

      หัวข้อที่ 1 : หากความคิดและการฝ่าฝืนบทบัญญัติของศาสนาที่เกิดขึ้นจากบุคคลซึ่งสถานภาพทางด้านสังคมและการเมืองของเขาอยู่ในระดับหนึ่ง ที่การกระทำของเขาจะกลายเป็นแบบอย่างและเป็นที่ลอกเลียนแบบของบุคคลอื่น และพฤติกรรมของเขาจะกลายเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮ์) ที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างแพร่หลายในสังคม ดังนั้นการนิ่งเงียบของมุสลิมผู้มีศรัทธาที่มีความเข้าใจ ถือว่าเป็นความผิดและเป็นการฝ่าฝืนประการหนึ่งที่มิอาจให้อภัยได้ จำเป็นที่มุสลิมจะต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่กำชับความดีและห้ามปรามความชั่วต่อบุคคลนั้นๆ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สินและชีวิตก็ตาม และหากเป็นไปได้ให้เขายับยั้งการกระทำความผิดที่เป็นอุตริกรรมดังกล่าวที่แพร่หลายในสังคม โดยทำให้ผู้ทำความผิดหยุดการกระทำของเขา แต่หากเป็นไปไม่ได้สำหรับเขา อย่างน้อยที่สุดเขาต้องแสดงการคัดค้านต่อพฤติกรรมดังกล่าวด้วยคำพูด ซึ่งในประเด็นนี้ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมาถกเถียงกันอีกว่า คำพูดของเราจะมีผลหรือไม่ และจะเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือไม่

 

    แนวทางและแบบอย่างของบุคคลกลุ่มหนึ่งจากบรรดาสาวกผู้ใกล้ชิดของท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ในการเผชิญหน้ากับพฤติกรรมของผู้ที่ทำอุตริกรรม (บิดอะฮ์) และผู้ที่ก่อความอธรรมทั้งหลายในอดีต เป็นหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดีต่อคำพูดข้างต้น

 

    มัยซัม ฮะญัร อบูซัร และอีกนับสิบๆ คน จากบรรดาชีอะฮ์ผู้เคร่งครัด และเป็นลูกศิษย์คนสนิทในสายธารชีอะฮ์ ซึ่งได้ยืนหยัดและเผชิญหน้ากับบรรดาผู้อธรรมที่ก่อการละเมิดมาแล้ว มิใช่เพื่อปกป้องบุคคลสำคัญ มิใช่เพื่อปกป้องผลประโยชน์และอำนาจการปกครองของอิสลาม และมิใช่เพื่อยับยั้งการบิดเบือน (บิดอะฮ์) ที่เป็นแนวทางของการปฏิเสธ หรือเป็นการรักษาไว้ซึ่งแนวทางดั้งเดิมอันเป็นแนวทางที่เที่ยงตรงแห่งอิสลามเพียงเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน บางครั้งท่านเหล่านั้นเพียงเพื่อที่จะยับยั้งการบิดเบือนและการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยที่สุดของปัญหาที่ไม่สำคัญเพียงปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งอิสลาม แต่พวกเขากลับพร้อมยอมพลีชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง แม้จะต้องสูญเสียชีวิตของลูกหลานของตนไปก็ตาม

 

   หัวข้อที่ 2 : จำเป็นที่เราจะต้องพิจารณาด้วยว่า บุคคลที่ทำหน้าที่กำชับความดีและห้ามปรามความชั่วนั้นเป็นใคร สำหรับบุคคลที่เป็นผู้ก่อตั้งและวางรากฐานแนวทางของศาสนา และเป็นผู้รับหน้าที่ในการถือสาส์นและการประกาศบทบัญญัติต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งได้แก่บรรดาศาสนทูตทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเหล่านี้ผู้ซึ่งปกปักษ์รักษาสาเหตุของการคงอยู่ อีกทั้งเป็นขุมคลังของการพิทักษ์ไว้ซึ่งบทบัญญัติเหล่านี้ นั่นก็คือบรรดาอะอิมมะฮ์ (อ.) และบรรดาผู้รู้ทางศาสนา ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของพวกท่านเหล่านั้น บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่พิเศษอย่างหนึ่งในการพิทักษ์บทบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งนอกเหนือจากไปจากกฎเกณฑ์ตามหลักนิติศาสตร์ดังกล่าวที่ได้หยิบยกขึ้นมาจากคำถามข้างต้น

 

   กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ กฎเกณฑ์ตามหลักนิติศาสตร์ดังกล่าวที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่นี้ มันคือสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทุกคนอันเป็นการเฉพาะ แต่สำหรับบรรดาอัมบิยาอ์ (บรรดาศาสดา) บรรดาเอาลิยาอ์ (ผู้สืบทอดอำนาจ) และบรรดาผู้พิทักษ์ปกป้องอิสลามและอัลกุรอาน พวกท่านมีหน้าที่รับผิดชอบที่พิเศษ และเป็นภารกิจที่หนักหน่วงกว่าที่มีอยู่ นอกเหนือจากภาระหน้าที่ทั้งหลาย

 

      และในทุกๆ ภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบของศาสนทูต หากพวกท่านปฏิบัติตามเพียงแค่แนวทางที่ได้ถูกกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขสำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว แน่นอนที่สุด สงครามและการต่อสู้ระหว่างพวกท่านกับบรรดาศัตรูของพวกท่านก็ย่อมจะไม่เกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน ย่อมจะไม่มีร่องรอยใดๆ เกี่ยวกับบทบัญญัติและหลักคำสอนต่างๆ ของพวกท่านหลงเหลืออยู่อีกเลยบนหน้าแผ่นดิน

 

  ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ในขณะที่ท่านลุกขึ้นต่อสู้กับผู้กราบไหว้บูชาเจว็ด และยืนหยัดเผชิญหน้ากับกระแสต่อต้านอันยิ่งใหญ่ของประชาชน ด้วยการเผชิญหน้ากับอำนาจของบรรดาผู้ละเมิด ด้วยการทำลายรูปปั้นเจว็ดลงมารูปแล้วรูปเล่า ท่านมิได้หวาดกลัวและมิได้แยแสต่ออันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

 

 ท่านศาสดายะฮ์ยาก็เช่นเดียวกัน ถึงท่านจะมิได้เป็นเจ้าของสาส์นและมิได้เป็นเจ้าของบทบัญญัติแต่ประการใด ท่านเป็นเพียงผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้าให้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาบทบัญญัติต่างๆ ที่มีอยู่ในอดีตเพียงเท่านั้น ท่านยืนหยัดขึ้นเพียงเพื่อทำการคัดค้านการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของศาสนาของผู้ละเมิดในยุคสมัยของท่านเพียงลำพัง ท่านได้ต่อสู้จนกระทั่งศีรษะของท่านต้องถูกตัดและวางไว้บนภาชนะเพื่อนำไปเป็นของกำนัลแก่ผู้ละเมิดผู้นั้น

 

 และนี่คือปริศนาที่ฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงเรื่องราวดังกล่าวตลอดเส้นทางสู่กัรบาลาอ์ โดยท่านกล่าวว่า “แท้จริงศีรษะของยะฮ์ยา บินซะกะรียา ถูกนำไปเป็นของกำนัลแก่ผู้ละเมิดผู้หนึ่ง จากบรรดาผู้ละเมิดทั้งหลายแห่งนบีอิสรออีล…” ใช่แล้ว! บรรดาผู้พิทักษ์ปกป้องวะฮ์ยู (วิวรณ์) และบทบัญญัติต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้านั้นมีหน้าที่รับผิดชอบที่เหนือกว่าบุคคลทั่วไป

 

การนิ่งเงียบคือรูปแบบหนึ่งของการปฏิเสธ

 

  นี่คือข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้อธิบายไว้ในสงคราม “ซิฟฟีน” ในขณะที่ชายชราคนหนึ่งจากเมืองชามได้ปรากฏตัวขึ้นท่ามกลางกองทัพทั้งสองฝ่าย พร้อมกับร้องตะโกนขึ้นว่า “โอ้ อะบัลฮะซัน โอ้ อะลี ฉันมีเรื่องจะพูดกับท่าน และต้องการที่จะพบกับท่าน”

 

   ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงออกมาท่ามกลางกองทัพของท่าน เมื่อทั้งสองเข้ามาใกล้กัน ชายชราจากเมืองชามได้กล่าวว่า “โอ้ อะลี ท่านเป็นผู้ที่มีอดีตอันยาวนาน และเป็นผู้ที่รับใช้ในหนทางแห่งอิสลามมาอย่างมากมาย ท่านพร้อมไหมถ้าฉันจะให้คำแนะนำกับท่าน เพื่อที่ว่าเลือดของบรรดามุสลิมจะได้ไม่ถูกหลั่งลงสู่พื้นดิน”

 

   ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “คำเสนอแนะของท่านคืออะไร” เขากล่าวว่า “ขอให้ท่านจงกลับสู่แผ่นดินอิรักเถิด และท่านจงอยู่กับประชาชนชาวอิรักของท่าน ส่วนเราก็จะกลับสู่เมืองชาม และเราก็จะอยู่ในส่วนของเราร่วมกับประชาชนแห่งเมืองชาม เราจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับพวกท่าน และพวกท่านก็ไม่ต้อมายุ่งเกี่ยวกับพวกเรา”

 

  ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) กล่าวตอบเขาว่า “ฉันเข้าใจในการเสนอแนะของท่านเป็นอย่างดี ว่ามันมิได้เกิดมาจากความปรารถนาและความห่วงใย ประเด็นดังกล่าวนี้มันทำให้ฉันกังวลใจเป็นอย่างมาก มันทำให้ฉันต้องอดหลับอดนอนจากทั้งสองทาง คือการทำศึกสงคราม หรือไม่ก็คือการปฏิเสธคำสั่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาแก่มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) แท้จริงอัลลอฮ์ (ซบ.) ไม่พึงพอพระทัยต่อบรรดาเอาลิยาอ์ (ตัวแทน) ของพระองค์ ที่เมื่อมีการละเมิดฝ่าฝืนเกิดขึ้นบนหน้าแผ่นดิน แต่พวกเขากลับนั่งนิ่งเงียบและโอนอ่อนผ่อนตาม โดยที่พวกเขาไม่กระทำการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว และฉันพบว่าการทำศึกสงครามเป็นสิ่งที่งายดายสำหรับฉัน มากกว่าการที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนในขุมนรก” (1)

 

    ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่าท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้ชี้ให้เราได้เห็นว่า การนิ่งเงียบเมื่อพบเห็นการละเมิดและการฝ่าฝืนนั้นเป็นความผิดที่ใหญ่หลวง เป็นความผิดในระดับของการปฏิเสธ (กุฟร์) และการออกห่างจากอิสลาม และท่านได้ชี้ให้เห็นว่า การนิ่งเงียบของบรรดาเอาลิยาอ์ (ตัวแทน) ของอัลลอฮ์ ต่อการละเมิดฝ่าฝืนนั้น ถือเป็นสาเหตุแห่งความโกรธกริ้วของอัลลอฮ์ (ซบ.)

 

คำตอบที่ให้กับ “อบูฮิรัม”

 

   ณ สถานที่พักแห่ง “รอฮีมะฮ์” ชายคนหนึ่งจากชาวเมืองกูฟะฮ์ซึ่งมีนามว่า “อบูฮิรัม” (2) ได้เข้ามาพบกับท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) และกล่าวกับท่านว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่ง

อัลลอฮ์ อะไรเป็นเหตุให้ท่านต้องออกมาจากฮะรัมของปู่ของท่าน”

 

   ท่านอิมาม (อ.) ตอบเขาว่า “โอ้ อบูฮิรัม แท้จริงบนีอุมัยยะฮ์ได้ประณามและป้ายสีเกียรติยศของฉัน แต่ฉันได้อดทนอดกลั้น (ต่อสิ่งนั้น) และพวกเขาได้ยึดเอาทรัพย์สินของฉันไป แต่ฉันก็ยังคงอดทนต่อไป และ (ท้ายที่สุด) พวกเขาปรารถนาที่จะหลั่งเลือดของฉัน ดังนั้นฉันจึงหลบหนีออกมา (จากฮะรัมของปู่ของฉัน) ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า พวกเขาจะต้องสังหารฉันอย่างแน่นอน หลังจากนั้นอัลลอฮ์จะทรงสวมใส่อาภรณ์แห่งความต่ำต้อยให้กับพวกเขา และ (จะทรงทดสอบพวกเขาด้วย) ดาบอันคมกริบ และพระองค์จะทำให้บุคคลหนึ่งมีอำนาจเหนือพวกเขา ซึ่งจะสร้างความต่ำต้อยไร้เกียรติแก่พวกเขา จนกระทั่งพวกเขาจะเป็นผู้ที่ไร้เกียรติยิ่งไปกว่ากลุ่มชนแห่ง “ซะบาอ์” เสียอีก เมื่อสตรีผู้หนึ่งมีกรรมสิทธิ์เหนือพวกเขา และได้ปกครองตัดสินในทรัพย์สินและเลือดเนื้อของพวกเขา” (3)

 

บทสรุป

 

 ในการสนทนาของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อบุคคลต่างๆ นั้น จะมีความแตกต่างกันออกไปจากบรรดาคำปราศรัยของท่านที่มีต่อส่วนรวม ซึ่งการสนทนาเหล่านั้นจะเป็นคำพูดสั้นๆ และมีใจความโดยสรุป แต่คำตอบของท่านที่มีต่ออบูฮิรัมก็เป็นคำตอบที่สั้นๆ เช่นเดียวกัน แต่ทว่าในความสั้นของมันท่านได้กล่าวอ้างถึงเรื่องราวสองเรื่องด้วยกัน หรือได้พยากรณ์เหตุการณ์สองอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งท่านได้ชี้แจงให้รับรู้ถึงธาตุแท้ของบนีอุมัยยะฮ์ และเรื่องราวทั้งสองเหตุการณ์นั้นก็คือ การเป็นชะฮีดของตัวท่านเอง และการล่มสลายของระบบการปกครองของบนีอุมัยยะฮ์ และความต่ำต้อยไร้เกียรติของพวกเขา

 

   และในคำพูดครั้งนี้ของท่านอิมาม (อ.) ก็เป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งสำหรับคำพูดทั้งหลายของท่านที่มีมาตลอดก่อนหน้านี้ ถึงการที่ท่านได้ตัดสินใจเลือกเอาการเป็นชะฮีด ทั้งๆ ที่มีความรอบรู้และตระหนักดีต่อสิ่งนั้น และสิ่งต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต ที่ท่านได้พยากรณ์เอาไว้ด้วยความมั่นใจในลักษณะที่แน่นอน

 

 

คำตอบที่มีต่อ “ฏิริมมาฮ์ บินอะดีย์” และผู้ติดตามของเขา

 

  ท่านฏ็อบรีย์ (4) กล่าวไว้ว่า บุคคลสี่คนซึ่งมีนามว่า อัมร์ บินคอลิด, ซะอัด, มัจญ์อะอ์ และนาเฟี๊ยะอ์ บินฮิลาล ซึ่งได้รวมเดินทางออกมาจากเมืองกูฟะฮ์พร้อมกับฏิริมมาฮ์ บินอะดีย์ โดยที่พวกเขาได้มาพบกับท่านอิมามฮูเซน (อ.) ณ สถานที่พักซึ่งมีชื่อว่า “อุซัย บุลฮะญะนาต” ในการสนทนากันระหว่างเขากับท่านอิมาม (อ.) เขาได้กล่าวว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ตลอดระยะเวลาของการเดินทาง ฏิริมมาฮ์ได้กล่าวบทลำนำบทนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาได้รำพึงรำพันออกมาเพื่อเป็นการปลอบขวัญแก่อูฐของเขาว่า

 

โอ้ เจ้าอูฐของฉัน อย่าได้หวาดหวั่นต่อการบีบบังคับของฉัน และจงรีบเร่งนำ (ฉัน) ไปให้ถึงก่อนยามรุ่งอรุณ จงนำพาไปซึ่งผู้ขี่ที่ดีเลิศ และด้วยการเดินทางที่ดีเยี่ยม จนกว่าจะไปถึงยังบุรุษผู้มีเกียรติ ผู้ทรงศักดิ์ ผู้เป็นอิสรชน ผู้มีจิตใจอันกว้างขวาง ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าได้นำพาท่านมา เพื่อให้บรรลุซึ่งภารกิจที่สูงส่ง ขอพระองค์ทรงทำให้ท่านดำรงอยู่ต่อไป ตราบเท่าการคงอยู่ของกาลเวลา”

 

  เนื่องจากบทกวีของฏิริมมาฮ์ แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอันแรงกล้าของเขาที่จะได้พบกับท่านอิมาม (อ.) ดังนั้นเขาจึงได้รับอนุญาตจากท่านอิมาม (อ.) ให้เข้าพบ พวกเขาจึงกล่าวว่า

 

      “พึงสังวรเถิด ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ โดยแน่แท้ยิ่ง ฉันมีความหวังว่าสิ่งใดก็ตามที่อัลลอฮ์ทรงประสงค์จากเรา มันจะเป็นสิ่งที่ดีงาม ไม่ว่าเราจะถูกสังหารหรือได้รับชัยชนะ”

 

 จากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้สอบถามถึงอุดมการณ์และทัศคติของชาวเมืองกูฟะฮ์ พวกเขาตอบว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ หัวหน้าเผ่าต่างๆ ของเมืองกูฟะฮ์ได้รับสินบนอย่างมากมายจากอิบนิซิยาด ส่วนประชาชนทั่วไปนั้นหัวใจของพวกเขาอยู่กับท่าน แต่ดาบของพวกเขาเตรียมพร้อมแล้วสำหรับการสังหารท่าน”

 

  หลังจากนั้นพวกเขาได้รายงานเรื่องราวของการถูกสังหารของ “เกซ บินมัซฮัร ศอยดาวีย์” ให้ท่านอิมามได้รับทราบ ท่านอิมาม (อ.) เมื่อได้ยินข่าวที่น่าสลดใจนี้ ท่านได้อ่านโองการอัลกุรอานดังนี้ว่า

 

          “ดังนั้น บางส่วนของพวกเขา (คือเหล่าศรัทธาชน) ได้กระทำให้ลุล่วงแล้วซึ่งสัญญาของพวกเขา (คือการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ จนกระทั่งได้รับซะฮาดัต) และอีก (บางส่วนของพวกเขากำลังรอคอย) และพวกเขามิได้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาแต่ประการใดทั้งสิ้น”

 

 ต่อจากนั้นท่านอิมาม (อ.) ก็วิงวอนขอพร (ดุอาอ์) เช่นนี้ว่า “โอ้ อัลลลอฮ์ ขอพระองค์ทรงมอบสวรรค์ให้แก่เราและพวกเขาด้วยเถิด และโปรดรวมพวกเราและพวกเขาเข้าอยู่ในสถานที่พำนักหนึ่งจากความเมตตาของพระองค์ และจากบรรดาสิ่งที่เป็นความมุ่งหวังที่ถูกสะสมไว้จากรางวัลของพระองค์”

 

  หลังจากนั้นฏิริมมาฮ์ กล่าวว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ข้าพเจ้าเห็นขณะที่ออกมาจากเมืองกูฟะฮ์ มีกลุ่มคนจำนวนมากมารวมตัวกันด้านนอกตัวเมือง เมื่อข้าพเจ้าสอบถามถึงสาเหตุของการร่วมตัวกันในครั้งนี้ พวกเขากล่าวว่า ประชาชนเหล่านี้กำลังเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้าและทำสงครามกับฮูเซน บินอะลี โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ท่านจงหันหลังกลับจากการเดินทางในครั้งนี้เสียเถิด เพราะข้าพเจ้าไม่มั่นใจว่าจะมีประชาชนชาวกูฟะฮ์สักคนที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือท่าน หากว่ากลุ่มชนดังกล่าวที่ข้าพเจ้าพบเห็นมาได้เข้าร่วมทำศึกสงครามกับท่าน ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ท่านต้องพ่ายแพ้ แต่นั่นมิใช่เพียงเท่านี้ เพราะแต่ละวันแต่ละชั่วโมงที่ผ่านไป บรรดาทหารและอาวุธสงครามได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ”

 

 ฏิริมมาฮ์เสนอแนะเช่นนี้ว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ข้าพเจ้าคิดว่าท่านควรที่จะมุ่งหน้าสู่ “อะฮ์บา” ซึ่งเป็นเขตแดนของเผ่า “ฏ็อย” ของเรา และเป็นสถานที่ซึ่งมีภูเขาสูงตระหง่านอยู่จำนวนมาก ข้าพเจ้าก็จะร่วมเคียงข้างไปกับท่านยังสถานที่ดังกล่าวด้วย เพราะสถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ปลอดภัยและห่างไกลจากการโจมตีของศัตรู ซึ่งตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่เผ่าของเราต้องลุกขึ้นเผชิญหน้ากับบรรดาผู้ปกครองแห่ง “อัซซาน” และศัตรูคนอื่นๆ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์อันเป็นเฉพาะนี้ ทำให้ไม่มีศัตรูหน้าไหนสามารถพิชิตเราได้ นอกเหนือไปจากสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว หากท่านหยุดพักที่สถานที่แห่งนี้เป็นเวลาสิบวัน ประชาชนทั้งหมดของเผ่า “ฏ็อย” ทั้งผู้ที่ขี่ม้าและคนเดินเท้า จะรีบเร่งมาให้การช่วยเหลือท่าน และตัวข้าพเจ้าเองก็ขอให้คำมั่นสัญญาว่า ข้าพเจ้าจะส่งนักดาบและผู้กล้าหาญจากเผ่าของข้าพเจ้าจำนวนสองหมื่นคนมาช่วยเหลือท่าน และจะเป็นผู้นำของท่านในการออกรบ จนกระทั่งจะทำให้เป้าหมายและเจตนารมณ์ของท่านเป็นที่ประจักษ์”

 

  ท่านอิมาม (อ.) ตอบข้อเสนอของฏิริมมาฮ์ว่า “แท้จริงระหว่างเรากับกลุ่มชนแห่งกูฟะฮ์ได้มีข้อสัญญากันไว้แล้ว และ (จากผลของข้อสัญญาดังกล่าว) เราไม่สามารถที่จะหันกลับได้ จนกว่ากิจการทั้งหลายของฉันมันจะผ่านพ้นไป และจนกว่ามันจะไปถึงยังจุดสุดท้ายของพวกเขา”

 

   เมื่อฏิริมมาฮ์ประจักษ์แจ้งถึงการตัดสินใจที่แน่วแน่ของท่านอิมาม (อ.) เขาได้ขออนุญาตอำลาท่าน เพื่อนำเสบียงอาหารที่ได้จัดหาไว้สำหรับลูกๆ ของเขาไปมอบให้กับพวกเขาในเมืองกูฟะฮ์ แล้วจะรีบเร่งกลับมาให้ความช่วยเหลือท่านอิมาม (อ.) ให้เร็วที่สุด ท่านอิมามให้อนุญาตแก่เขา ฏิริมมาฮ์รีบเร่งกลับไปยังครอบครัวของเขา ในระหว่างการกลับมาก่อนที่จะถึงแผ่นดินกัรบาลาอ์ เขาก็ได้ทราบข่าวการเป็นชะฮีดของท่านอิมาม (อ.) และบรรดาสาวกของท่าน

 

 

การเสริมสร้างความมั่นคงต่อคุณค่าต่างๆ แห่งความเป็นมนุษย์

 

  จากคำพูดข้างต้นของท่านอิมาม (อ.) และจากสุนทรพจน์ต่างๆ ของท่านที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประเด็นที่น่าสนใจและละเอียดอ่อนมากมาย ณ ที่นี้เราจะชี้ให้เห็นเพียงบางประเด็นเท่านั้นคือ

 

 ทุกคนที่เข้าสู่สนามแห่งการต่อสู้ และได้ยืนหยัดขึ้นเผชิญหน้ากับแนวรบของบรรดาศัตรูแล้ว ย่อมต้องหาช่องทางที่จะได้รับชัยชนะ และการสร้างความอ่อนแอให้เกิดขึ้นกับบรรดาศัตรู ท่านอิมาม (อ.) ก็มิได้ออกนอกเหนือไปจากกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ เพียงแต่ความพ่ายแพ้และชัยชนะในทัศนะของท่านอิมาม (อ.) มันมีความหมายอีกความหมายหนึ่ง และเป็นอีกด้านหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ยากที่จะทำความเข้าใจได้สำหรับบุคคลทั่วไป แม้กระทั่งการจินตนาถึงมัน ในการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมาม (อ.) มีการอธิบายและมีมุมมองต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งบางครั้งเกิดความขัดแย้งและความแตกต่างกันในการอธิบายและให้เหตุผลในประเด็นดังกล่าว และเกิดความไม่เข้าใจถึงแง่มุมต่างๆ ของการยืนหยัดต่อสู้ในครั้งนี้อย่างเพียงพอ

 

  ชัยชนะในทัศนะของท่านอิมาม (อ.) คือการปฏิบัติหน้าที่ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ลุล่วงไป และการทำให้บรรลุซึ่งความรับผิดชอบตามบทบัญญัติ และเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่คุณค่าต่างๆ แห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเส้นทางดังกล่าวจะได้มาซึ่งชัยชนะทางด้านภายนอกอันเป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการต่อสู้ก็ตาม

 

  ด้วยเหตุนี้ เราจะเห็นได้ว่า แม้ฏิริมมาฮ์ บินอะดีย์ ซึ่งเป็นชีอะฮ์และเป็นผู้ที่มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดต่อวงศ์วานของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) และเป็นสหายของท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) และท่านอิมามฮูเซน (อ.) เขาได้อธิบายเรื่องราวต่างๆ ของท่านอิมามให้เราได้เห็นถึงความพ่ายแพ้ทางด้านภายนอกของท่านอิมาม (อ.) ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง และเขาก็ได้ครุ่นคิดหาหนทางแก้ไขสิ่งดังกล่าว

 

   ท่านอิมาม (อ.) ได้วิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ให้ประทานรางวัลและฐานันดรต่างๆ ให้กับเขา และภาวนาต่ออัลลอฮ์ให้ทรงรวมเขาเข้าอยู่ในกลุ่มของบรรดาชุฮาดาอ์ในสวรรค์ และท่านชี้ให้ฏิริมมาฮ์ได้เห็นถึงประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง อันได้แก่ หน้าที่ความรับผิดชอบแห่งพระผู้เป็นเจ้า และเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับคุณค่าต่างๆ ของความเป็นมนุษย์ จากคำพูดที่ว่า “เราได้ผูกมัดสัญญากันอย่างเหมาะสมแล้วกับประชาชนชาวเมืองกูฟะฮ์ ภายใต้สาส์นและการพบปะกันในโอกาสต่างๆ เราได้ให้สัญญากับพวกเขาว่าจะเดินทางสู่แผ่นดินกูฟะฮ์ และจะรับผิดชอบต่อตำแหน่งการเป็นผู้นำ และจะเป็นผู้ชี้นำทางประชาชนในเมืองนี้ และพวกเขาก็ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะให้การช่วยเหลือและให้การสนับสนุนแก่เราในทุกๆ วิถีทางเช่นเดียวกัน จึงเป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับเราที่จะต้องรักษาคำมั่นสัญญาของตนเอง แม้ว่าในหนทางนี้เราจะต้องเผชิญกับอันตรายใดๆ ก็ตาม และประชาชนชาวกูฟะฮ์เองก็ต้องรู้ตัวดีเช่นกันว่า พวกเขาจะต้องเป็นผู้รักษาคำมั่นสัญญาของตนเอง หรือจะเป็นผู้ทำลายคำมั่นสัญญานี้”

 

นี่คือคิดจุดเด่นและความแตกต่างระหว่างอิมามผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ กับบรรดาผู้นำทางการเมืองทั้งหลาย

 

การสนทนากับอับดุลลอฮ์ บินฮุร ญะอ์ฟี

 

ในสถานที่พักซึ่งมีชื่อว่า “บนีมุกอมิล” มีผู้แจ้งให้ท่านอิมาม (อ.) ได้รับทราบว่า “อับดุลลอฮ์ บินฮุร ญะอ์ฟี” (5) ก็พักอยู่ในสถานที่แห่งนี้เช่นกัน เริ่มแรกท่านอิมาม (อ.) ได้ส่ง

“ฮัจญาจ บินมัซรูก” ไปหาเขา

 

         

ฮัจญาจ กล่าวกับเขาว่า “โอ้บุตรของแห่งฮุรเอ๋ย ฉันได้นำของขวัญอันมีค่าและเป็นของฝากที่มีราคาที่งดงามมาให้ท่านหากท่านจะรับมันไว้ ขณะนี้ท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้มาถึงที่นี่แล้ว และท่านเรียกร้องให้ท่านให้การช่วยเหลือท่าน จงเข้าสมทบกับท่านเถิด เพื่อที่ว่าตัวท่านจะได้รับรางวัลและความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ซึ่งหากท่านเข้าร่วมต่อสู้เคียงข้างท่าน ท่านก็จะได้รับรางวัลตอบแทนอย่างหาค่ามิได้ และหากท่านถูกสังหาร ท่านก็จะได้รับการเป็นชะฮีด”

 

อับดุลลอฮ์ บินฮุร กล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันมิได้ออกมาจากเมืองกูฟะฮ์ นอกเสียจากประชาชนส่วนใหญ่ได้เตรียมกำลังพร้อมสำหรับการทำสงครามและกำจัดบรรดาชีอะฮ์ของท่าน สำหรับฉันมีความมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าท่านจะต้องถูกสังหารในสงครามครั้งนี้ และฉันนั้นไม่มีความสามารถอันใดที่จะให้การช่วยเหลือสนับสนุนท่านได้ ฉันไม่ต้องการให้ท่านจะมาพบเห็นฉัน หรือว่าฉันจะได้พบเห็นท่าน”

 

 ฮัจญาจกลับไปหาท่านอิมาม (อ.) และนำคำตอบของอิบนิฮุรมาเสนอต่อท่าน ท่านอิมาม (อ.) จึงไปหาอับดุลลอฮ์ด้วยตัวเอง พร้อมด้วยสาวกจำนวนหนึ่งของท่าน เขาให้การต้อนรับท่านอิมาม (อ.) และกล่าวแสดงความยินดีในการต้อนรับท่าน อับดุลลอฮ์ได้เล่าเหตุการณ์การพบปะกันในครั้งนี้ไว้ว่า “เมื่อสายตาฉันประสบกับท่านอิมาม ฉันได้พบว่าตลอดช่วงเวลาแห่งอายุขัยของฉัน ฉันไม่เคยพบเห็นใครที่มีความงดงามและน่าประทับใจยิ่งไปกว่าท่าน แต่ในขณะเดียวกัน ฉันไม่เคยรู้สึกปวดร้าวใจต่อใครเหมือนดั่งที่ฉันมีต่อตัวเอง ฉันไม่อาจที่จะลืมเลือนภาพความทรงจำในครั้งนั้นได้อีกเลย ซึ่งเมื่อท่านมุ่งหน้ามาหาฉัน เด็กๆ จำนวนหนึ่งต่างก็เดินเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังท่านด้วยเช่นกัน”

 

         

อิบนิฮุรยังกล่าวอีกว่า เมื่อฉันเพ่งมองไปยังลักษณะรูปร่างของท่านอิมาม (อ.) ฉันเห็นว่าเคราของท่านยังคงดำสนิท ฉันถามว่า “เป็นสีดำตามธรรมชาติหรือว่าท่านย้อมมัน”

ท่านอิมามตอบว่า “โอ้ บุตรแห่งฮุรเอ๋ย ความแก่ชรามาเยือนฉันอย่างรวดเร็วเหลือเกิน” จากคำพูดดังกล่าวของท่านอิมาม (อ.) ทำให้ฉันเข้าใจได้ว่ามันคือสีย้อม

 

         

อย่างไรก็ตาม หลังจากทักทายและสนทนาการในเรื่องทั่วไประหว่างอับดุลลอฮ์กับท่านอิมาม (อ.) ได้สิ้นสุดลง ท่านอิมามได้กล่าวว่า “โอ้บุตรแห่งฮุรเอ๋ย แท้จริงประชาชนจากเมืองของท่านได้เขียนจดหมายมาถึงฉันว่า แท้จริงพวกเขารวมตัวกันที่จะให้การช่วยเหลือฉัน และพวกเขาขอร้องฉันให้เดินทางมายังพวกเขา แต่ทว่าเรื่องราวกับมิได้เป็นไปตามสิ่งที่พวกเขาได้ให้คำมั่นสัญญา และแท้จริงเจ้านั้นมีบาปอยู่มากมาย (ซึ่งปฏิบัติไว้ตลอดชั่วอายุ) ดังนั้นเจ้าพร้อมไหมเล่าที่จะเตาบะฮ์ (สารภาพผิด) ซึ่งเจ้าจะได้ชำระล้างบาปทั้งหลายของเจ้าด้วยกับสิ่งนี้”

 

         

อับดุลลอฮ์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะสารภาพผิดได้อย่างไร” ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “โดยการที่เจ้าจะเป็นผู้ให้การช่วยเหลือแก่บุตรชายแห่งบุตรีของท่านศาสดาของเจ้า และต่อสู้เคียงข้างเขา”

 

        

อับดุลลอฮ์กล่าวว่า “ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า แท้จริงข้าพเจ้ารู้ว่าบุคคลใดก็ตามที่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน เขาจะได้รับความสำเร็จและความโชคดีอันเป็นนิรันดร์ แต่ทว่าข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าการช่วยเหลือของข้าพเจ้าจะมีประโยชน์ต่อท่านหรือไม่ เพราะข้าพเจ้ามิได้พบเห็นบุคคลใดเลยในเมืองกูฟะฮ์ที่ตัดสินใจจะช่วยเหลือท่านและให้การสนับสนุนท่าน ของสาบานต่ออัลลอฮ์ ท่านจงยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิดในการนี้ เพราะข้าพเจ้าจะขอหลบหนีจากความตายจนถึงที่สุด แต่ทว่าข้าพเจ้าจะของมอบ “มัลฮะเกะฮ์” ม้าศึกที่มีชื่อเสียงของข้าพเจ้าให้กับท่าน มันเป็นม้าที่เมื่อข้าพเจ้าไล่ตามศัตรูคนใดแล้วมันจะสามารถไล่ตามทันศัตรู และไม่มีศัตรูคนใดไล่ตามทันข้าพเจ้าได้เมื่อข้าพเจ้าควบม้าตัวนี้แล้ว นอกเสียจากว่าข้าพเจ้าจะสามารถหลบหนีจากอุ้งมือของศัตรูได้อย่างปลอดภัย”

 

         

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบเขาว่า “ในเมื่อเจ้ามีความรักเกียจที่จะยอมพลีชีวิตของเจ้าในหนทางของเรา ดังนั้นเราก็ไม่มีความต้องการใดๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นม้าศึกของเจ้าหรือว่าตัวเจ้าเอง และฉันจะไม่ยึดเอาบรรดาผู้ที่หลงทางมาเป็นแขน (ขุมกำลัง) ของตนเองอย่างแน่นอน”

 

         

จากนั้นท่านอิมาม (อ.) ก็กล่าวเสริมประโยคนี้ว่า “แท้จริงฉันจะขอตักเตือนเจ้าเช่นกัน ดั่งที่เจ้าได้ตักเตือนฉันว่า หากเจ้าสามารถ (หลีกเลี่ยง) ที่จะไม่ให้ได้ยินเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือของเรา และจะไม่ให้เห็นการต่อสู้ของเราแล้ว เจ้าก็จงกระทำเถิด ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า จะไม่มีบุคคลใดที่ได้ยินเสียงเรียกร้องของเราแล้วแต่เขากลับไม่ให้การช่วยเหลือเรา นอกเสียจากว่าอัลลอฮ์จะคะมำหน้าของเขาลงสู่ไฟนรก” (6)

 

        

อับดุลลอฮ์มิได้ใส่ใจต่อคำตักเตือนของท่านอิมาม (อ.) แต่ประการใด เขาจึงมิได้เข้าร่วมในกองทัพของท่าน แต่ทว่าหลังจากเขาได้สำนึกผิดต่อการกระทำดังกล่าวของตน และเกิดความเศร้าโศกเสียใจจากการพลาดโอกาสในความสำเร็จและความไพบูลย์ในครั้งนั้น จนถึงวาระสุดท้ายแห่งอายุขัยของเขา ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรันทดใจดังกล่าวของเขา ซึ่งสามารถพบได้จากบทกลอนที่เขาได้รำพึงรำพันมันออกมาเป็นการตำหนิและประณามตัวเองว่า

 

          “โอ้ ชีวิตของฉันเอ๋ย ความรันทดใจจงมีแด่เจ้า ตราบเท่าที่เจ้ายังคงดำรงอยู่ ความรันทดใจที่มันกำลังเคลื่อนไปมาอยู่ระหว่างหัวอกและลูกกระเดือกของฉัน

 

          ในช่วงเวลาที่ฮูเซนได้เรียกร้องจากบุคคลเยี่ยงฉัน ให้ทำการช่วยเหลือด้วยการต่อสู้กับผู้อธรรม และผู้ที่ชอบสร้างความแตกแยกทั้งมวล

 

          ในช่วงเวลาที่ฮูเซนได้เรียกร้องฉัน ให้มุ่งมั่นในการช่วยเหลือท่าน ด้วยการปราบปรามบรรดาผู้ที่หลงทางและผู้สับปลับ

 

          มาตรว่าฉันได้ให้การช่วยเหลือแก่ท่านด้วยชีวิตของฉันแล้วไซร้ ฉันย่อมจะได้รับเกียรติในวันแห่งการเผชิญหน้า (วันกิยามัต)”

 

 

 

เชิงอรรถ :

 

(1) วะกออะตุล ซิฟฟีน หน้า 474

 

(2) ในหนังสืออ้างอิงบางเล่ม ตัวอย่างเช่น ต้นฉบับของหนังสือ มักตัล คอวาริซมีย์ ที่มีอยู่กับเรา เขียนไว้ว่า “อบูฮิรรอฮ์” ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะเป็นสิ่งที่ผิดพลาด

 

(3) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 226 ; อัล ลุฮูฟ หน้า 62 ; มุซีรุล อะฮ์ซาน อิบนินะมา หน้า 46

 

(4) ตารีค ฏ็อบรีย์ เล่มที่ 7 หน้า 304

 

(5) อับดุลลอฮ์ บินฮุร เป็นผู้หนึ่งจากบรรดาผู้จงรักภักดีต่ออุสมาน หลังจากที่อุสมานถูกสังหารเขาได้ไปอยู่กับมุอาวียะฮ์ และในสงครามซิฟฟีน เขาเข้าร่วมอยู่ในกองทัพของมุอาวียะฮ์ในการทำสงครามกับอิมามอะลี (อ.) ในประวัติศาสตร์มีเรื่องราวมากมายที่ถูกกล่าวอ้างไว้เกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพย์และการปล้นสะดมต่างๆ ของอับดุลลอฮ์ ค้นคว้าได้ในหนังสือตารีคของฏ็อบรีย์ เล่มที่ 7 หน้า 168 ; และญัมฮะเราะฮ์ ของอิบนิฮะซัม หน้า 385

 

(6) อันซาบุล อัชรอฟ เล่มที่ 3 หน้า 174 ; ตารีค ฏ็อบรีย์ เล่มที่ 8 หน้า 306 ; กามิล อิบนิอะซีร เล่มที่ 3 หน้า 282 ; มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 226 ; อัคบารุฏฏุวาล หน้า 246 ; อามาลีย์ เชคซุดูก มัญจ์ลิสที่ 30

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน