วิทยปัญญา 10 ประการ ของลุกมานฮะกีมในคัมภีร์อัลกุรอาน

 

วิทยปัญญา 10 ประการ ของลุกมานฮะกีมในคัมภีร์อัลกุรอาน

 

การหยิบยกชื่อและเรื่องราวของท่านลุกมานรวมทั้งวิทยปัญญา

(ฮิกมะฮ์) สิบประการของท่านไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน และให้ชื่อของท่านเป็นชื่อของซูเราะฮ์หนึ่งในคัมภีร์อันเป็นอมตะและสากลนั้น เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ที่จะบันทึกชื่อของท่านลุกมาน วิถีการดำเนินชีวิตและคำแนะนำสั่งสอนต่าง ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญาของท่านไว้ตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ เป็นเหมือนแผ่นป้ายประกาศเพื่อว่าผู้ที่มุ่งแสวงหาสัจธรรมความจริงและรหัสยะ (อิรฟาน) ในทุกสถานที่และในทุกยุคสมัยจะได้รับการชี้นำภายใต้ร่มเงาของมัน และจะได้ใช้ประโยชน์จากความดีงามของคำสอนเหล่านี้ในการชำระขัดเกลาและการพัฒนาตนเอง

 

       บนพื้นฐานดังกล่าวนี้ คำถามแรกในบริบทนี้ก็คือ ท่านลุกมานเป็นใคร? เป็นชาวเมืองใด? และมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยใด? ท่านลุกมานเป็นศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าใช่หรือไม่? และ ... เพื่อที่จะรับรู้คำตอบของคำถามเหล่านี้ ของให้ท่านผู้อ่านมาพิจารณาเนื้อหาต่าง ๆ ต่อไปนี้

 

       ชื่อของท่าน คือ “ลุกมาน” และสร้อยนามของท่านคือ “อบุลอัสวัด” ท่านถือกำเนิดบนโลกนี้ในแผ่นดิน “เนาบะฮ์” (ตั้งอยู่ในประเทศซูดานหนึ่งในภูมิภาคของทวีปแอฟริกา) ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีรูปลักษณ์และสีผิวเข้มโน้มไปทางสีดำ นักประวัติศาสตร์กล่าวถึงท่านว่า ท่านเป็นผู้ที่มีใบหน้าสีดำ มีริมฝีปากหนาใหญ่ มีเท้าใหญ่และแผ่กว้าง

 

       ดังนั้นท่านมีเชื้อสายเป็นแอฟริกา และบางคนเชื่อว่าท่านเป็นชาวเมือง "อีละฮ์" ซึ่งเป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งอยู่ติดกับทะเล ใกล้ ๆ กับอียิปต์ในดินแดนปาเลสไตน์ (3)

 

       เมื่อพิจารณาถึงอายุที่ยืนยาวของท่านลุกมานฮะกีม (อ.) เป็นไปตามคำบอกเล่าของฮะดีษ (วจนะ) บางบท ท่านมีโอกาสได้พบกับศาสดาถึง 400 ท่าน (4) และตามทัศนะที่ถูกต้อง (ซอเฮี๊ยะห์) ท่านไม่ใช่ศาสดา

 

       ท่านมีอายุยืนยาวมากซึ่งมีบันทึกไว้ว่าอายุของท่านอยู่ระหว่าง 200 ถึง 560 ปี และในบางรายงานบันทึกว่า จาก 1,000 ปี ถึง 3,500 ปี แต่ในขณะเดียวกัน ท่านเป็นคนสมถะและเคร่งครัดศาสนามาก ท่านถือว่าชีวิตทางโลกนี้เปรียบเสมือนการข้ามผ่านจากเงาแดดหนึ่งไปสู่อีกเงาแดดที่อยู่ใกล้กัน

 

       ในช่วงเวลาหนึ่ง ท่านทำหน้าที่เป็นคนเลี้ยงแกะและเป็นทาสของ “กีน บินฮัซร์” (ผู้ร่ำรวยมั่งคั่งแห่งวงศ์วานอิสราเอล) ต่อมาเนื่องด้วยวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) ที่เพียบพร้อมไปด้วยทฤษฎีและการปฏิบัติของท่าน ทำให้นายทาสของท่านปลดปล่อยท่านให้เป็นอิสระจากความเป็นทาส (4 และ 5)

 

       ตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์บางท่าน ท่านลุกมานฮะกีม (อ.) ถือกำเนิดก่อนการก่อตั้งรัฐของท่านศาสดาดาวูด (อ.) หรือกษัตริย์เดวิดหลายปี ตามทัศนะของบางท่านกล่าวว่า ท่านถือกำเนิดในช่วง 10 ปี หลังจากการก่อตั้งรัฐของท่านศาสดาดาวูด (อ.) มีชีวิดยืนยาวจนถึงยุคของท่านศาสดายูนุส (อ.) ในสมัยการปกครองอาณาจักรของท่านศาสดาดาวูด (อ.) ท่านลุกมานได้เข้าร่วมทำสงครามกับญาลูตหรือโกลิอัท (Goliath) มนุษย์ร่างยักษ์ด้วย และมีส่วนร่วมในการทำให้ญาลูตซึ่งเป็นทรราชแห่งยุคสมัยต้องพบกับความปราชัย

 

       ดูเหมือนว่าท่านลุกมานจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปาเลสไตน์และบัยตุ้ลมักดิส (เยรูซาเล็ม) มีรายงานว่าหลุมฝังศพของท่านอยู่ในเมืองอีละฮ์ (หนึ่งในเมืองท่าของปาเลสไตน์)

 

       ลักษณะพิเศษของท่านลุกมาน ก็คือท่านเป็นนักเดินทาง มีการพบปะและปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลาย อย่างเช่น บรรดาศาสดา นักวิชาการและผู้รู้ทางศาสนา เนื่องจากอายุที่ยืนยาวและความเป็นคนช่างคิดในเชิงอุทาหรณ์ของท่านนี่เอง ทำให้ท่านได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ อย่างมากมาย

เรื่องราวเกี่ยวกับท่านลุกมาน

 

     เรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับท่านลุกมานฮะกีม (อ.) ก็คือ ท่านมีบุตรหลายคน ท่านมักจะเรียกพวกเขามารวมกันและให้คำแนะนำสั่งสอนแก่พวกเขา ตามคำพูดของท่านแม้ว่าท่านจะใช้คำว่า «یا بُنَیّ» (โอ้ลูกรักของพ่อ) ที่กล่าวกับบุตรชายคนโตของท่านเพียงคนเดียวก็ตาม แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ท่านได้กล่าวกับบรรดาบุตรชายและลูกหลานทั้งหมดของท่าน และยิ่งไปกว่านั้นท่านกล่าวกับมนุษยชาติทั้งมวล ท่านจะใช้สำนวนคำพูดที่นุ่มนวลที่แสดงออกถึงความเมตตาและความกรุณา เพื่อต้องการที่จะโน้มน้าวอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขา และต้องการทำให้พวกเขาเข้าใจว่า ฉันเป็นประหนึ่งบิดาที่มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงรับฟังคำแนะนำตักเตือนที่เปี่ยมไปด้วยความห่วงใยของฉันที่เกิดจากความปรารถนาดีนี้เถิด (6)

 

     ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงคำสอนของท่านลุกมานไว้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วคำแนะนำสั่งสอน แง่คิดและอุทาหรณ์ของท่านนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งถูกรายงานไว้ในหนังสือริวายะฮ์ (คำรายงาน) จำนวนมากของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ซึ่งหากรวบรวมคำสอนเหล่านั้นไว้ในที่เดียวกัน คงจะได้หนังสือจำนวนหลายเล่มทีเดียว

 

     ในคำพูดหนึ่งที่มีต่อบุตรชายคนโตของท่าน ท่านกล่าวว่า

 

 

یا بُنَیَّ اِنّی خَدَّمْتُ اَرْبَعَمِأَةَ نَبِیٍ و اخذْتُ مِنْ كَلامِهِمْ أرْبَعَ كلماتٍ، و هِیَ : إذا كُنْتَ فی الصّلوةِ فاحْفَظْ قَلْبَكَ، وَ إذا كُنْتَ عَلَی المائدةِ فَاحفَظْ حلقَكَ، و إذا كُنْتَ فی بَیْتِ الْغَیْرِ فاحْفَظْ عینَك، وإذا كُنْتَ بَیْنَ الخَلقِ فاحْفَظْ لِسانَكَ

 

“โอ้ลูกรักของพ่อ! พ่อมีโอกาสรับใช้ศาสดาถึงสี่ร้อยท่าน พ่อได้สรุปคำพูดทั้งหมดของพวกท่านไว้ในสี่ประโยค และนั่นก็คือ

1. เมื่อเจ้าอยู่ในนมาซ (การนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า) ดังนั้นเจ้าจงรักษาหัวใจของเจ้า (ให้มุ่งตรงต่อพระองค์เพียงเท่านั้น)

2. เมื่อเจ้าอยู่ ณ สำรับอาหาร เจ้าจงรักษาลำคอ (กระเพาะ) ของเจ้า (จากอาหารและทรัพย์สินที่ต้องห้าม)

3. เมื่อเจ้าอยู่ในบ้านของผู้อื่น เจ้าจงรักษาสายตาของเจ้า (จากการมองสตรีและสิ่งต้องห้าม)

4. และเมื่อเจ้าอยู่ในหมู่ประชาชน เจ้าจงระวังรักษาลิ้น (วาจาคำพูดของเจ้า)” (7)

 

 ความหมายของคำว่า “ฮิกมะฮ์” (วิทยปัญญา) และมิติต่าง ๆ ของมัน

 

      “ฮิกมะฮ์” (حِكْمَة) มีรากศัพท์ในภาษาอาหรับมาจากคำว่า “ฮักมุน” ( حَكْم) หมายถึง การห้ามหรือการยับยั้ง และเนื่องจากว่า ความรู้ การหยั่งรู้ การคิดใคร่ครวญและความรอบคอบ เป็นส่วนหนึ่งจากความหมายของคำว่า “ฮิกมะฮ์” (วิทยปัญญา) คือสิ่งที่จะยับยั้งมนุษย์จากการกระทำและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการละเมิดต่อความถูกต้องและความดีงาม ดังนั้นจึงถูกเรียกว่า “ฮิกมะฮ์” (วิทยปัญญา) คำว่า “ฮิกมะฮ์” (วิทยปัญญา) มีความหมายมากมายและมีมุมมองที่กว้างขวาง ตัวอย่างเช่น : มะอ์ริฟะฮ์ (การรู้จักพระผู้เป็นเจ้า) การหยั่งรู้ถึงความลี้ลับของโลกแห่งการสร้างสรรค์ ความเข้าใจถึงเนื้อแท้และข้อเท็จจริงต่าง ๆ การไปถึงซึ่งความจริงในแง่ของการพูดและการกระทำ การรู้จักผู้สร้าง การรู้จักสรรพสิ่งตามที่มันเป็นอยู่ และเช่นเดียวกันนี้ หมายถึง รัศมี (นูร) แห่งพระผู้เป็นเจ้าที่จะช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากการกระซิบกระซาบของมาร (ชัยฏอน) และความมืดมนของความหลงทางทั้งหลาย

 

ความเป็นปราชญ์ (ฮะกีม) หรือผู้มีวิทยปัญญาของท่านลุกมานและเคล็ดลับของมัน

 

    ในบทลุกมาน โองการที่ 12 พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

 

وَ لَقَدْ آتَیْنا لُقْمانَ الْحِكْمَةَ

 

“และเราได้มอบฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ให้แก่ลุกมาน”

 

      โองการนี้อธิบายให้เห็นว่า พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นฮะกีม (ผู้ทรงปรีชาญาณ) อย่างสมบูรณ์นั้น พระองค์ทรงอนุมัติความเป็นฮะกีม (ความเป็นปราชญ์หรือความมีวิทยปัญญา) แก่ท่านลุกมาน และทรงอำนวยประโยชน์แก่ท่านจากฮิกมะฮ์ (ความปรีชาญาณ) จากความเปี่ยมล้นของพระองค์

 

 

ลุกมานฮะกีมเป็นศาสดาหรือไม่?

 

    จากการอธิบายของคัมภีร์อัลกุรอานชี้ให้เห็นว่า ท่านลุกมานไม่ใช่ศาสดา และในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่าง ๆ ก็ปฏิเสธความเป็นศาสดาของท่านไว้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่นในคำรายงาน (ริวายะฮ์) บทหนึ่งที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ว่า

 

 

حَقَّا اَقُولُ لَمْ یَكُنْ لُقْمانُ نَبِیّا وَلكِنْ عَبْدا كَثیرَ التَّفَكُّرِ، حُسْنَ الْیَقینِ، اَحَبَّ اللّهَ فَاَحَبَّهُ، وَ مَنَّ عَلَیْهِ بِالْحِكْمَةِ

 

“ฉันขอพูดด้วยความสัจจริงว่าลุกมานนั้นไม่ใช่ศาสดา แต่ทว่าเขาคือบ่าวผู้หนึ่งที่เป็นผู้คิดใคร่ครวญอย่างมากมาย เป็นผู้มีความเชื่อมั่น (ยะกีน) ในขั้นสูง เป็นผู้ที่รักพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นพระองค์จึงทรงรักเขาและทรงกรุณามอบฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ให้แก่เขา” (8)

 

       คราวนี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า ท่านลุกมานฮะกีม (อ.) ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ศาสดา แล้วไฉนท่านจึงมีสถานะและตำแหน่งทางด้านฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ที่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ และทำไมพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงประทานส่วนหนึ่งจากฮิกมะฮ์ (ความปรีชาญาณ) ของพระองค์ให้แก่ท่าน และทรงกำหนดให้คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในคำภีร์อัลกุรอานเคียงข้างคำสอนและคำตักเตือนของพระองค์?

 

      คำตอบก็คือ ท่านลุกมานฮะกีม (อ.) คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านทุ่มเทชีวิตของตนเองบนเส้นทางของการพัฒนาตัวตนและจิตวิญญาณ และอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากต่าง ๆ ด้วยผลของการต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำ ความอดทนอดกลั้น การฝึกฝนตนและการขัดเกลาจิตใจของตนเอง ทำให้ท่านกลายเป็นผู้ที่มีความคู่ควรที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจะทรงบันดาลให้สายธารแห่งวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) พรั่งพรูออกมาในการดำรงอยู่ของท่าน

 

      ใช่แล้ว! น้ำฝนที่โปรยปรายลงมาในไร่สวนเท่านั้น ที่จะทำให้ดอกทิวลิปเจริญเติบโตและผลิดอกที่สวยงามออกมาได้ ไม่ใช่ในพื้นดินเค็ม ดังเช่นที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

 

ما اَخْلَصَ عَبْدٌ لِلّهِ عَزَّوَجَلَّ اَرْبَعینَ صَباحا اِلاّ جَرَتْ یَنابِیعَ الْحِكْمَةِ مِنْ قَلْبِهِ عَلی لِسانِهِ

 

“ไม่มีบ่าวคนใดที่บริสุทธิ์ใจต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร เป็นเวลาสี่สิบวัน เว้นเสียแต่พระองค์จะทรงทำให้สายธารต่าง ๆ แห่งวิทยปัญญาพรั่งพรูออกมาจากหัวใจของเขาสู่วาจาคำพูดของเขา” (9)

 

 

      บุคคลหนึ่งได้ถามท่านลุกมานฮะกีม (อ.) ว่า “ท่านได้รับความรู้และวิทยปัญญาทั้งหมดเหล่านี้มาจากที่ใด? (ทั้ง ๆ ที่ท่านก็มิได้ผ่านการศึกษาเล่าเรียน) ท่านลุกมานตอบว่า

 

 

قَدْرُ اللّهِ وَ اَداءُ الاَمانَةِ، وَ صِدْقُ الْحَدیثِ وَالصَّمْتِ

 

"สิ่งนี้คือการกำหนดของพระผู้เป็น และการรักษาความไว้วางใจ การมีคำพูดที่สัจจริงและการควบคุมคำพูด (คือสื่อที่จะนำพามนุษย์ไปสู่ตำแหน่งนี้)" (10)

 

      ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวถึงเคล็ดลับที่ทำให้ท่านลุกมานฮะกีม (อ.) ไปถึงตำแหน่งของฮิกมะฮ์ (ความเป็นปราชญ์ผู้มีวิทยปัญญา) ไว้เช่นนี้ว่า "ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า! ฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ที่ถูกมอบให้แก่ท่านลุกมามนั้น ไม่ใช่เพราะความร่ำรวย ความงดงามของรูปลักษณ์ เชื้อสายและวงศ์ตระกูลแต่อย่างใด (ท่านไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตัวเองเลย) แต่เนื่องจากท่านเป็นบุรุษที่มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์มีความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ควบคุมวาจาคำพูดของตนเอง คิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบในกิจการต่าง ๆ มีความเฉียบแหลมและมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ในยามกลางวันทั้งหลาย (ยกเว้นในกรณีพิเศษ) ท่านไม่เคยนอนหลับในที่ชุมนุมท่ามกลางผู้คน ท่านไม่นั่งพิงกายกับสิ่งใด ไม่ถ่มน้ำลายต่อหน้าหมู่ชน ไม่เล่นสิ่งใด ไม่ถ่ายทุกข์และอาบน้ำในสถานที่ที่มีคนมองเห็น เป็นผู้ระวังรักษาความสุขุมของตนเป็นอย่างมาก ท่านจะไม่หัวเราะโดยมิใช่ที่ ไม่โกรธแค้นและไม่ล้อเล่นกับใคร ท่านจะไม่ปีติยินดีและเสียใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตทางโลก ท่านมีบุตรจำนวนมากกับภรรยาหลายคน เมื่อพวกเขาเสียชีวิตท่านไม่เคยร้องไห้ (เนื่องจากความยินดีในพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า) เมื่อพบเห็นคนสองคนกำลังขัดแย้งกัน ท่านจะเข้าไปไกล่เกลี่ยระหว่างคนเหล่านั้น ตราบที่เขาทั้งสองยังไม่ประนีประนอมกัน ท่านก็จะยังไม่ผละไปจากพวกเขา หากท่านได้ยินคำพูดที่ดีงามจากผู้ใดท่านจะสอบถามรายละเอียดและแหล่งที่มาของคำพูดนั้น ท่านมักจะคบหาสมาคมและนั่งร่วมวงสนทนากับผู้มีความรู้และผู้มีความเข้าใจในศาสนา ... ท่านจะแก้ไขปรับปรุงตนเองตลอดเวลาด้วยการนั่งเงียบ การคิดใคร่ครวญและการเรียนรู้จากอุทาหรณ์ สิ่งใดก็ตามที่มีประโยชน์ในเรื่องของจิตวิญญาณท่านจะให้ความสำคัญกับมันเป็นพิเศษ ท่านจะออกห่างจากสิ่งที่ไร้สาระ ด้วยเหตุนี้เองที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ให้แก่ท่าน" (11)

 

วิทยปัญญาสิบประการของท่านลุกมานที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน

 

       ท่ามกลางวิทยปัญญาทั้งมวลของท่านลุกมานนั้น ส่วนหนึ่งจากวิทยปัญญาของท่านที่สอนให้กับลูกชายของท่านนั้นมีสิบส่วน ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกล่าวถึงไว้ในห้าโองการของในคัมภีร์อัลกุรอานในบทลุกมาน (โองการที่ 13, 16, 17, 18 และ 19) ที่อธิบายถึงสิบคำแนะนำที่ยิ่งใหญ่และความหมายที่ลึกซึ้งที่จะช่วยเสริมสร้างมนุษย์ วิทยปัญญาทั้งสิบส่วนนั้นได้แก่

 

1) เตาฮีด (การยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า)

 

2) ความศรัทธาต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (มะอาด)

 

3) การนมาซ

 

4) การกำชับความดี

 

5) การห้ามปรามความชั่ว

 

6) ความอดทนและการยืนหยัด

 

7) ความอ่อนน้อมถ่อมตน

 

8) การหลีกห่างจากความเห็นแก่ตัว

 

9) การเดินอย่างถ่อมตน

 

10) ความพอประมาณในการใช้เสียงและการพูดช

 

       (วิทยปัญญาทั้งหมดนี้ครอบคลุมทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ ครอบคลุมทั้งในเรื่องของหลักการศรัทธาในศาสนา หลักการปฏิบัติศาสนกิจและการเคารพภักดีพระเจ้า (อิบาดะฮ์) เรื่องของสังคม การเมืองและศีลธรรม) ฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ทั้งสิบส่วนนี้หากเราเรียนรู้รายละเอียดของมันและนำสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงในชีวิตแล้ว จะเราไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และความผาสุกไพบูลย์ในชีวิต

 

คำสอนของท่านลุกมานที่มีต่อบุตรชายในโองการทั้งห้า

 

وَإِذْ قَالَ لُقْمَانُ لِابْنِهِ وَهُوَ يَعِظُهُ يَا بُنَيَّ لَا تُشْرِكْ بِاللَّهِ إِنَّ الشِّرْكَ لَظُلْمٌ عَظِيمٌ

 

“และจงรำลึกเมื่อลุกมานได้กล่าวแก่บุตรของเขา โดยสั่งสอนเขาว่า “โอ้ลูกน้อยของฉัน เจ้าอย่าได้ตั้งภาคีใด ๆ ต่ออัลลอฮ์ เพราะแท้จริงการตั้งภาคีนั้นเป็นความอธรรมอย่างมหันต์ยิ่ง”

 

(บทลุกมาน โองการที่ 13)

 

 

يَا بُنَيَّ إِنَّهَا إِن تَكُ مِثْقَالَ حَبَّةٍ مِّنْ خَرْدَلٍ فَتَكُن فِي صَخْرَةٍ أَوْ فِي السَّمَاوَاتِ أَوْ فِي الْأَرْضِ يَأْتِ بِهَا اللَّهُ إِنَّ اللَّهَ لَطِيفٌ خَبِيرٌ

 

“โอ้ลูกน้อยของฉัน แท้จริง (การกระทำ) แม้มันจะมีน้ำหนักเท่าเมล็ดผักสักเมล็ดหนึ่ง โดยที่มันจะซ่อนอยู่ในหิน หรืออยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลาย หรืออยู่ในแผ่นดิน อัลลอฮ์ก็จะทรงนำมันออกมา แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ละเอียดอ่อนยิ่ง ผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง”

 

(บทลุกมาน โองการที่ 16)

 

 

يَا بُنَيَّ أَقِمِ الصَّلَاةَ وَأْمُرْ بِالْمَعْرُوفِ وَانْهَ عَنِ الْمُنكَرِ وَاصْبِرْ عَلَى مَا أَصَابَكَ إِنَّ ذَلِكَ مِنْ عَزْمِ الْأُمُورِ

 

“โอ้ลูกน้อยของฉัน เจ้าจงดำรงนมาซและกำชับกันในการทำความดี และห้ามปรามกันจากความชั่ว และจงอดทนต่อสิ่งที่มาประสบกับเจ้า แท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่น มั่นคง”

 

(บทลุกมาน โองการที่ 17)

 

 

وَلَا تُصَعِّرْ خَدَّكَ لِلنَّاسِ وَلَا تَمْشِ فِي الْأَرْضِ مَرَحاً إِنَّ اللَّهَ لَا يُحِبُّ كُلَّ مُخْتَالٍ فَخُورٍ

 

“และเจ้าอย่าหันแก้ม (ใบหน้า) ของเจ้าให้แก่ผู้คนอย่างยะโส และอย่าเดินไปในแผ่นดินอย่างไร้มารยาท แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ทรงรักทุกคนที่หยิ่งจองหอง และผู้คุยโวโอ้อวด”

 

(บทลุกมาน โองการที่ 18)

 

 

وَاقْصِدْ فِي مَشْيِكَ وَاغْضُضْ مِن صَوْتِكَ إِنَّ أَنكَرَ الْأَصْوَاتِ لَصَوْتُ الْحَمِيرِ

 

“และเจ้าจงก้าวเท้าของเจ้าในการเดินอย่างพอประมาณ และจงลดเสียงของเจ้าลง แท้จริงเสียงที่น่าเกลียดยิ่งคือเสียง (ร้อง) ของลา”

 

บทลุกมาน โองการที่ 19)

 

บทสรุป

 

      ท่านลุกมานฮะกีม (อ.) แม้ทางด้านเชื้อชาติจะอยู่ในชนชั้นต่ำ แต่ด้วยกับความรู้และการกระทำ การฝึกฝนและความพยายามในหนทางของการขัดเกลาตนและการย่างก้าวไปในเส้นทางสู่ความสมบูรณ์ (กะม้าล) ทำให้ท่านไปถึงยังตำแหน่งอันสูงส่งของฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ท่านซัลมาน ฟาริซี ซึ่งเป็นอะญัม (ผู้ที่ไม่ใช่อาหรับ) แต่ด้วยผลของการฝึกฝนและการขัดเกลาตนและการย่างก้าวไปในเส้นทางของการพัฒนาตนสู่ความสมบูรณ์นั้น ทำให้ท่านไปถึงยังตำแหน่งหนึ่งซึ่งท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เปรียบเทียบและกล่าวถึงสถานะของท่านซัลมาน ฟาริซีย์กับท่านลุกมาน ฮะกีม (อ.) ไว้เช่นนี้ว่า

 

بخٍّ بَخٍّ سَلمانُ منّا اهلَ البیتِ، و مَنْ لَكُمْ بمثلِ لُقمانِ الحكیم؟ عَلِمَ عِلْمَ الاوّلِ و علمَ الآخِرِ

 

“ช่างโชคดีเสียจริง ช่างโชคดีเสียจริง ซัลมานเป็นส่วนหนึ่งจากเราอะฮ์ลุลบัยติ์ และในหมู่พวกท่าน (นอกจากซัลมานแล้ว) จะมีใครไหมที่จะเหมือนกับลุกมานฮะกีม เขามีความรู้จากความรู้ของคนยุคแรกและความรู้ของคนยุคสุดท้าย” (12)

 

 

เชิงอรรถ

 

1) อัลกุรอานบทลุกมาน โองการที่ 12-13

2) อัลกุรอานบทลุกมาน อายะฮ์ที่ 12-13

3) มุรูญุซซะฮับ, มัสอูดี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 46

4) มุรูญุซซะฮับ, มัสอูดี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 46 : ตัฟซีรอัลบุรฮาน, เล่มที่ 3, หน้าที่ 273

5) ซะฟีนะตุลบิฮาร, มุฮัดดิษ กุมมี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 515 : มัจญ์มะอุลบะห์ร็อยน์, ครุดดีน ฮุร มักกี, อักษร ลาม ก็อฟ มีม : บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 13, หน้าที่ 425

6) อะอ์ลามุลกุรอาน, ค่อซาอิลี, หน้าที่ 716

7) อัลมะวาอิซุลอะดีดะฮ์, เชคฮุรรุลอามิลี, แก้ไขโดย อะลี มิชกิน , หน้าที่ 142

8) อัลมะวาอิซุลอะดีดะฮ์, หน้าที่ 424 : มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่มที่ 8, หน้าที่ 315

9) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 70, หน้าที่ 242 : กันซุลอุมมาล, ฮะดีษที่ 5271

10) มัจญ์มะอุลบะยาน, อัลลามะฮ์ฏ็อบริซี, เล่มที่ 8, หน้าที่ 215

11) เล่มเดิม, หน้าที่ 316-317

12) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 22, หน้าที่ 330

 

ผู้เรียบเรียง : ซะฮ์รอ อิจญ์ลาล

แหล่งที่มา : บทความเกี่ยวกับท่านลุกมานฮะกีม ของท่านฮุจญะตุ้ลอิสลามวัลมุสลิมีน มุฮัมมัด มุฮัมมะดี อิชติฮารดี

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth