เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

หลักธรรมาภิบาลในแนวทางการปกครองของอิมามอะลี (อ.)

1 ทัศนะต่างๆ 03.0 / 5

 

หลักธรรมาภิบาลในแนวทางการปกครองของอิมามอะลี (อ.)

 

มุมมองของท่านอมีรุลมุอ์มินีน (ผู้นำปวงศรัทธาชน) อะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) ที่มีต่ออำนาจการปกครองนั้น คือมุมมองของผู้ที่ศรัทธามั่นต่อพระผู้เป็นเจ้า เป็นมุมมองที่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับมุมมองแบบวัตถุนิยมและอำนาจนิยม ท่านอิมามอะลี (อ.) เชื่อมั่นว่าโลกและจักรวาลนี้คือสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า และพระองค์เพียงเท่านั้นที่ทรงมีกรรมสิทธิ์อย่างเบ็ดเสร็จเหนือโลกแห่งการสร้างสรรค์ พระผู้เป็นเจ้าผู้ซึ่งมิได้ทรงทอดทิ้งมนุษยชาติ ผู้เป็นสิ่งถูกสร้างของพระองค์ไว้โดยลำพังตามยถากรรมของตนเอง ทว่าพระองค์ได้ทรงจัดเตรียมสื่อแห่งการนำทางและการชี้นำพวกเขาสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) ที่แท้จริงไว้ โดยผ่านการแต่งตั้งปวงศาสดาลงมายังพวกเขา และการนำทางสู่สัจธรรมและความจริงแท้นี้จะไม่อาจบรรลุความเป็นจริงขึ้นมาได้ นอกจากว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นของการบรรลุวัตถุประสงค์นี้ จะต้องมีอยู่ในสภาพแวดล้อมแห่งการดำเนินชีวิตและสังคมด้วย

     

ในมุมมองของท่านอิมามอะลี (อ.) โครงสร้างพื้นฐานของอำนาจการปกครองนั้น มิใช่พิจารณาแค่เพียงบทบาทของมันในการบริหารกิจการต่าง ๆ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการสนองตอบความสงบสุข ความเจริญก้าวหน้าและการกินดีอยู่ดีของประชาชนเพียงเท่านั้น แต่ทว่าสิ่งที่สำคัญและมีความสูงส่งยิ่งไปกว่านั้นก็คือ บทบาทของการปกครองและรัฐในการหล่อหลอมพฤติกรรมและจริยธรรมของสังคมและธรรมชาติและชะตากรรมทางด้านจิตวิญญาณของประชาชน

ดังเช่นที่ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :

 

النّاسُ بِاُمَرائِهِمْ أَشْبَهُ مِنْهُمْ بِابائِهِمْ

“ประชาชนนั้นจะมีความคล้ายคลึงต่อบรรดาผู้ปกครองของพวกเขามากยิ่งกว่าบรรดาบรรพบุรุษ (บิดามารดา) ของพวกเขา” (1)

 

      

วัตถุประสงค์และเป้าหมายของรัฐในแนวคิดของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้น คือการเชิดชูพจนารถของพระผู้เป็นเจ้าและการยกระดับสถานภาพของประชาชนในทุก ๆ ด้าน และสิ่งนี้มิได้หมายความว่าจะหลงลืมจากการสนองตอบปัจจัยการดำรงชีวิตความกินดีอยู่ดีของประชาชนและการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของสังคม แต่ทว่าภายใต้การให้ความสำคัญต่อสิ่งดังกล่าว ก็จะให้ความสำคัญต่อมิติทางด้านวัตถุของการดำเนินชีวิตของประชาชนด้วยเช่นกัน รัฐในกรอบความคิดนี้ จะไม่คาดหวังจากประชาชนเพื่อให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามตน หรือสนองตอบความต้องการต่าง ๆ ของบรรดาผู้ปกครอง แต่จะต้องการและคาดหวังจากพวกเขาเพื่อพระผู้เป็นเจ้า และวัตถุประสงค์ของผู้นำ (อิมาม) ผู้ทรงธรรม จากการเรียกร้องและการระดมมวลมหาประชาชน เพื่อให้ความร่วมมือกับรัฐบาลนั้น ก็เพื่อจะทำให้บรรลุสู่อุดมคติต่าง ๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นอุดมคติอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป้าหมายหลักของมันคือการพัฒนาและการยกระดับประชาชาติ

 


แนวทางการปกครองของท่านอิมามอะลี (อ.)

 

     

ในมุมมองทางด้านการเมืองนั้น โดยทั่วไปแล้ว จะมีแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองอยู่สองแบบ : คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า เพื่อที่จะได้มาซึ่งอำนาจนั้น สามารถที่จะใช้ทุกสื่อ ทุกเครื่องมือและทุกวิถีการที่เป็นไปได้ บนพื้นฐานของแนวคิดเช่นนี้ การเมืองจะไม่มุ่งเน้นไปที่คุณค่าทางด้านมนุษยธรรมแต่อย่างใดทั้งสิ้น และนักการเมืองก็จะไม่สนใจและยุ่งเกี่ยวใด ๆ สัจธรรมและความเท็จหรือความถูกต้องและความไม่ถูกต้อง แต่เป้าหมายของเขาอยู่ที่การใช้อำนาจและการควบคุมเหนือสังคมเพียงเท่านั้น ซึ่งนักการเมืองส่วนใหญ่ของโลกจะเป็นเช่นนี้

     

อีกแนวคิดหนึ่ง คือการเมืองซึ่งเป้าหมายหลักของมันคือพระผู้เป็นเจ้า และวางพื้นฐานอยู่บนคุณค่าต่าง ๆ ทางด้านมนุษยธรรม ในการเมืองประเภทนี้ นักการเมืองจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทุกสื่อและทุกวิธีการเพื่อที่จะบรรลุสู่อำนาจการปกครอง

      

แนวทางการเมืองและการปกครองของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้นจะวางอยู่บนประเภทที่สองและแนวคิดที่สอง โดยที่เป้าหมายของการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองในแนวคิดนี้ การขับเคลื่อนสังคมมนุษย์ไปสู่พัฒนาการและความสมบูรณ์ทั้งในด้านวัตถุและด้านจิตวิญญาณ และท้ายที่สุดสุดก็คือการนำพามนุษยชาติไปสู่พระผู้เป็นเจ้า การสถาปนาความยุติธรรมทางสังคมและการจัดเตรียมการดำเนินชีวิตสงบสุขและสันติสำหรับประชาชน ท่านอิมามอะลี (อ.) คือผู้ฟื้นฟูการปกครองและการเมืองที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้วางรากฐานไว้  และแม้ว่าตัวท่านเองจะมีบทบาทที่สำคัญในความก้าวหน้าของการปกครองของท่านศาสดาด้วยเช่นกันก็ตาม แต่ทว่า 25 ปีหลังจากการเสียชีวิต (วะฟาต) นั้น ในช่วงเวลาที่ท่านขึ้นสู่อำนาจการปกครองอย่างเป็นทางการนั้น ท่านได้พบว่ารูปโฉมของรัฐอิสลามได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และได้ออกห่างไปจากเป้าหมายของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และเพื่อที่จะนำพาสังคมกลับมาสู่แนวทางของท่านศาสดาและคัมภีร์อัลกุรอานนั้น จำเป็นที่ท่านจะต้องใช้ความอุตสาห์พยายามอย่างไม่หยุดนิ่งและด้วยความเหนื่อยยาก

 

    

  ในคุฏบะฮ์ที่ 131 ของหนังสือนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อธิบายถึงแรงจูงใจของตน ในการยอมรับอำนาจการปกครองไว้เช่นนี้ว่า :

 

اَللَّهُمَّ إِنَّكَ تَعْلَمُ أَنَّهُ لَمْ يَكُنِ اَلَّذِي كَانَ مِنَّا مُنَافَسَةً فِي سُلْطَانٍ وَ لاَ اِلْتِمَاسَ شَيْ‏ءٍ مِنْ فُضُولِ اَلْحُطَامِ وَ لَكِنْ لِنَرُدَّ اَلْمَعَالِمَ مِنْ دِينِكَ وَنُظْهِرَ اَلْإِصْلاَحَ فِي  بِلاَدِكَ فَيَأْمَنَ اَلْمَظْلُومُونَ مِنْ عِبَادِكَ وَ تُقَامَ اَلْمُعَطَّلَةُ مِنْ حُدُودِكَ

 

"โอ้อัลลอฮ์ พระองค์ทรงทราบดีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากเหล่าข้าฯนั้นมิใช่เป็นการแย่งชิงอำนาจการปกครองและไม่ใช่เป็นการแสวงหาสิ่งใดจากความไร้แก่นสาร (ของโลกนี้)  แต่ทว่าเหล่าข้าฯต้องการนำสัญลักษณ์ต่าง ๆ แห่งศาสนาของพระองค์กลับคืนมา และจะทำให้การแก้ไขปรับปรุงปรากฏขึ้นในบ้านเมืองของพระองค์ เพื่อที่บรรดาผู้ถูกกดขี่จากปวงบ่าวของพระองค์จะได้รับความปลอดภัย และบทบัญญัติต่าง ๆ ของพระองค์ที่ถูกละทิ้งจะถูกทำให้ดำรงขึ้น”

 

       

เช่นเดียวกันนี้ ในวันแรกที่ประชาชนได้ให้สัตยาบัน (บัยอะฮ์) ต่อท่านในมัสยิดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น ท่านได้ขึ้นสู่ธรรมาสน์ (มิมบัร) และได้ประกาศแผนงานต่าง ๆ ของตนเองโดยมิได้ปิดบังอำพรางใด ๆ ว่า

 

أَلاَ وَ إِنَّ بَلِيَّتَكُمْ قَدْ عَادَتْ كَهَيْئَتِهَا يَوْمَ بَعَثَ اَللَّهُ نَبِيَّهُ ص وَ اَلَّذِي بَعَثَهُ بِالْحَقِّ لَتُبَلْبَلُنَّ بَلْبَلَةً وَ لَتُغَرْبَلُنَّ غَرْبَلَةً وَ لَتُسَاطُنَّ سَوْطَ اَلْقِدْرِ حَتَّى يَعُودَ أَسْفَلُكُمْ أَعْلاَكُمْ وَ أَعْلاَكُمْ أَسْفَلَكُمْ وَ لَيَسْبِقَنَّ سَابِقُونَ كَانُوا قَصَّرُوا وَ لَيُقَصِّرَنَّ سَبَّاقُونَ كَانُوا سَبَقُوا وَ اَللَّهِ مَا كَتَمْتُ وَشْمَةً وَ لاَ كَذَبْتُ كِذْبَةً

 

"พึงรู้เถิดว่า แท้จริงสภาพความทุกข์ยากต่าง ๆ ของพวกท่าน ได้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับรูปการของมันในวันที่อัลลอฮ์ได้ทรงแต่งตั้งศาสดาของพระองค์มา ขอสาบานต่อ (พระผู้เป็นเจ้า) ผู้ซึ่งได้ทรงแต่งตั้งท่านมาด้วยความชอบธรรม พวกท่านจะต้องถูกทดสอบด้วยอย่างรุนแรง พวกท่านจะต้องถูกร่อนตระแกง และพวกท่านจะต้องถูกคลุกเคล้าเหมือนอาหารในก้นหม้อ จนกระทั้งส่วนล่างของพวกท่านจะขึ้นมาอยู่ส่วนบน และส่วนบนของพวกท่านจะกลับลงไปอยู่ส่วนล่างสุด และบรรดาผู้ที่นำหน้ามาก่อน (คนดี) ที่ถูกเพิกเฉยนั้นจะกลับมา (มีบทบาท) อยู่ข้างหน้าอีกครั้ง และบรรดาผู้ที่ถูกรั้งหลังที่ขึ้นมาอยู่ข้างหน้าจะกลับไปอยู่ข้างหลังอย่างแน่นอน ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันไม่ได้ปิดบังคำพูดใด ๆ และฉันมิได้กล่าวเท็จแค่อย่างใด" (2)

 

       

ใช่แล้ว! ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ของตน เพื่อที่จะสามารถนำเอาแนวทางการปกครองและการเมืองของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กลับมาใช้ปฏิบัติอีกครั้งหนึ่งในสังคมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์โดยไม่บกพร่องใด ๆ


หลักการต่าง ๆ ที่สำคัญของการปกครองและการเมือง มีดังต่อไปนี้ :

 

    ความจริงใจและความมีสัจจะวาจา

 

       

ในตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ นักการเมืองจำนวนมากเพื่อที่จะบรรลุสู่อำนาจและการปกครองนั้น เท่าที่พวกเขามีความสามารถพวกเขาจะให้คำมั่นสัญญาต่าง ๆ ที่โกหกและไร้แก่นสารแก่ประชาชน เพื่อที่จะสามารถรวบรวมคะแนนเสียงของประฃาฃนและทำให้ตนเองไปถึงซึ่งอำนาจได้ตามที่ปรารถนา ตัวอย่างเช่น อุสมานได้ให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนว่าจะปฏิบัติตามแนวทางของคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) แต่ภายหลังจากการขึ้นสู่อำนาจการปกครองแล้ว นอกจากจะไม่ปฏิบัติตามแนวทางของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แล้ว แม้แต่แนวทางของอบูบักรและอุมัรมาเขาก็ยังไม่สามารถที่จะนำเอาใช้ปฏิบัติได้ (3)

 

       

ในสภา (ชูรอ) หกคน (ซึ่งได้ถูกตั้งขึ้น หลังจากการวะฟาต (เสียชีวิต) ของท่านศาสดา เพื่อคัดเลือกและกำหนดตัวค่อลีฟะฮ์ภายหลังจากท่านศาสดา) นั้นเอง ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวอย่างหนักแน่นและชัดเจนว่า ฉันจะปฏิบัติตามซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และการวินิจฉัยของตน แม้แต่ในช่วงเวลาที่ประชาชนได้ให้สัตยาบันต่อท่านก็เช่นกัน ท่านได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า เพื่อที่จะบรรลุสู่อำนาจการปกครองนั้น ท่านจะไม่พูดปลดใด ๆ และจะไม่เบี่ยงเบนจากสัจธรรมและแนวทางที่ถูกต้อง

       

นับตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการให้สัตยาบันของประชาชนต่อท่านนั่นเอง ที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อธิบายทุกเรื่องราวด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว โดยไม่คำนึงถึงเสียงคัดค้านใด ๆ จากประชาชน และเพื่อที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งคิลาฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) และการดึงดูดหัวใจของบรรดาฝ่ายตรงข้ามของตน ท่านก็ไม่เคยที่จะพูดโกหกใด ๆ  แม้เพื่อการรักษาผลประโยชน์ (4)

       

ในยุคสมัยของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้มีส่วนร่วมในปัญหาต่างๆ และในสงครามและเหตุการณ์ และในทุก ๆ สงครามนั้น ท่านประสบความสำเร็จอย่างมาก

หากต้องการที่จะได้มาซึ่งอำนาจ โดยอาศัยการบังคับและกลอุบายแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถที่จะต้านทานท่านได้ แต่ดังเช่นที่ตัวท่านอิมาม (อ.) เองได้กล่าว ท่านไม่เคยกระทำเช่นนั้น ท่านได้กล่าวว่า :

 

لَوْلاَ التُّقي لَكُنْتُ اَدهَي العَرَبِ

 

 "หากไม่เป็นเพราะความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า (ที่เป็นอุปสรรคกีดขวาง) แล้ว แน่นอนยิ่งว่า ฉันคือผู้ชาญฉลาด (และมีกลเม็ดเด็ดพราย) มากที่สุดในหมู่ชาวอาหรับ” (5)

 

      

หรือในอีกฮะดีษ (วจนะ) หนึ่ง ท่านกล่าวว่า :

 

يا اَيُّهَا النّاسُ لَوْلا كَراهِيَّةُ الغَدْرِ، كُنْتُ مِنْ اَدْهَي النّاسِ

 

"โอ้ประขาขนเอ๋ย! หากเล่ห์เลี่ยมกลลวงไม่เป็นสิ่งที่น่าเกลียดแล้ว ฉันคือผู้ชาญฉลาด (และมีกลเม็ดเด็ดพราย) มากที่สุดในหมู่ประชาชน” (6)

 

 

    การยึดมั่นต่อสัจธรรมและการต่อต้านความมดเท็จ

 

         

ตลอดเวลานับจากเริ่มต้นของชีวิต ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้พยายามยึดมั่นอยู่บนหลักของสัจธรรมและความถูกต้อง  จะย่างก้าวไปในเส้นทางของสัจธรรม และพยายามที่จะพิทักษ์ไว้ซึ่งสัจธรรมและสิทธิต่าง ๆ ดังเช่นที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :

 

اَلْحَقُّ مَعَ عَليٍّ اَيْنَما مالَ

 

“สัจธรรมจะอยู่กับอะลี ไม่ว่าเขาจะโน้มเอียงไปทางใดก็ตาม” (7)

 

       

การยึดมั่นต่อสัจธรรมและความถูกต้องของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้น เป็นที่กล่าวขวัญและเลื่องลือในหมู่ประชาชนทุกคน และในทุกช่วงแห่งการดำเนินชีวิตและการปกครองของท่านนั้น ท่านได้พยายามที่จะปฏิบัติมัน ดังเช่นที่ท่านได้กล่าวว่า :

 

اِنَّ اَفْضَلَ النّاسِ عِنْدَ اللّه‏ِ مَنْ كانَ الْعَمَلُ بِالْحَقِّ اَحَبَّ اِلَيْهِ وَ اِنْ نَقَصَهُ وَ كَرَثَهُ مِنَ الْباطِلِ وَ اِنْ جَرَّ اِلَيْهِ فائِدَةً وَزادَهُ

 

“แท้จริงมนุษย์ที่ประเสริฐที่สุด ณ อัลลอฮ์ คือผู้การปฏิบัติตามสัจธรรม แม้จะก่อให้เกิดความสูญเสียและความหนักใจแก่เขาก็ตาม ย่อมเป็นที่รักสำหรับเขา มากกว่า (การปฏิบัติตาม) ความเท็จ แม้จะนำมาซึ่งประโยชน์และการเพิ่มพูนแก่เขาก็ตาม” (8)

 

       

การยึดทรัพย์สินของบัยตุลมาล (กองคลังอิสลาม) ที่ถูกมอบให้แก่ประชาชนอย่างไร้ความชอบธรรมกลับคืนมา และการปลดบรรดาผู้ปกครองรัฐที่อุสมานได้แต่งตั้งพวกเขาอย่างไม่คู่ควรเหมาะสม และการดำเนินบทลงโทษต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าแม้กับบรรดาเครือญาติที่ใกล้ชิดของตน ทั้งหมดเหล่านี้คือตัวอย่างส่วนหนึ่งจากภารกิจและแนวทางปฏิบัติของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่วางพื้นฐานอยู่บนการยึดมั่นต่อสัจธรรมและความถูกต้องในการปกครองของท่าน

 

 

    การยึดถือกฎระเบียบ

 

       

  หนึ่งในประเด็นต่าง ๆ ที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ให้ความสำคัญอย่างสมบูรณ์ คือการยึดมั่นในกฎระเบียบและความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายและบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง และถ้าหากผู้ใดก็ตามที่กระทำการละเมิดบทบัญญัติ ท่านจะดำเนินการลงโทษตามบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพและตำแหน่งของบุคคลผู้นั้น และจะไม่ยอมรับการไกล่เกลี่ยและขอร้องจากผู้ใดทั้งสิ้น และท่านจะดำเนินการอย่างรอบคอบและละเอียดอ่อนในกรณีนี้ มีรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งกล่าวว่า : ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้จับกุมชายผู้หนึ่งจากตระกูลบนีอะซัด ซึ่งได้กระทำผิด เครือญาติใกล้ชิดกลุ่มหนึ่งของเขาได้รวมตัวกัน และได้ขอร้องจากท่านอิมามฮะซัน (อ.) ให้ไปพบท่านอิมามอะลี (อ.) พร้อมกับพวกเขา เพื่อให้การช่วยเหลือแก่ชายจากตระกูลบนีอะซัดผู้นั้น ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ซึ่งทราบดีเกี่ยวกับตัวบิดาของตนและการยึดมั่นของท่านต่อบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ท่านจึงกล่าวกับพวกเขาว่า : พวกท่านจงไปหาท่านอิมามอะลี (อ.) กันเองเถิด เพราะท่านเองก็รู้จักพวกท่านเป็นอย่างดี ดังนั้นพวกเขาจึงไปพบท่านอิมามอะลี (อ.) และขอร้องต่อท่านให้เลิกล้มความตั้งใจจากการดำเนินบทลงโทษต่อชายจากบนีอะซัดผู้นั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวตอบพวกเขาตอบ : หากพวกท่านขอจากฉันในสิ่งที่ฉันเป็นเจ้าของ แล้ว แน่นอนฉันจะให้พวกท่าน คนกลุ่มนี้ซึ่งคาดคิดว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ตอบรับคำขอของพวกเขา จึงได้ออกมาจากท่าน ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้ถามพวกเขาว่า : เป็นอย่างไรบ้าง? พวกเขาตอบว่า : ท่านให้คำตอบที่ดี และพวกเขาก็ได้เล่าคำพูดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างท่านอิมามอะลี (อ.) กับพวกเขาให้ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้รับฟัง ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ซึ่งเข้าใจถึงจุดประสงค์ของบิดาของตนเองเป็นอย่างดี จึงกล่าวกับพวกเขาว่า : สหายของพวกท่านจะต้องถูกเฆี่ยน  ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้นำตัวชายชาวบนีอะซัดผู้นั้นออกมา และได้ทำการเฆี่ยนตีเขา จากนั้นท่านได้กล่าวว่า : ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! ฉันมิได้เป็นเจ้าของสิ่งนี้ จึงจะสามารถยกโทษให้แก่เขาได้ (9)

 

    ความมีระเบียบวินัยในการทำงาน

 

         

ทุก ๆ กิจการของท่านอิมามอะลี (อ.) จะวางอยู่บนความเป็นระเบียบวินัยเป็นพิเศษ แต่ทว่าความเป็นระเบียบวินัยนี้จะเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปกครองและรัฐ กระทั่งว่าตลอดเวลาท่านอิมาม (อ.) จะกำชับสั่งเสียบรรดาผู้ปกครองรัฐและเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ของตนเองว่า ให้รักษาความเป็นระเบียบวินัยในการทำงานต่าง ๆ ของตน และพวกเขาจะต้องมีระเบียบแบบแผนที่ละเอียดอ่อนในการปฏิบัติหน้าที่และหลีกเลี่ยงจากความไร้ระเบียบแบบแผนในการทำงาน

 

         

ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวในสาส์นที่เขียนถึงมาลิก อัชตัรไว้เช่นนี้ว่า :

 

وَ اِيّاكَ وَالْعَجَلَةَ بِالاُمُورِ قَبْلَ اَوانِها، اَوِ التَّسَقُّطَ فيها عِنْدَ اِمْكانِها، اَوِ اللَّجاجَةَ فيها اذا تَنَكَّرَتْ، اَوِ الوَهْنَ عَنْها اذا اسْتَوضَحَتْ، فَضَعْ كُلَّ اَمْرٍ مَوضِعَهُ و اَوْقِعْ كُلَّ عَمَلٍ مَوقِعَهُ

 

“จงหลีกเลี่ยงจากการรีบด่วนในกิจการต่าง ๆ ก่อนถึงเวลาของมัน หรือการปล่อยปะละเลยในกิจการที่สามารถกระทำมันได้ หรือดื้อด้านอยู่ในกิจการที่แปลกปลอม (เคลือบแคลง) หรือการเฉื่อยชาในกิจการที่เป็นที่ชัดเจนแล้ว ดังนั้นจงวางทุกสิ่งในตำแหน่งของมันและจงกระทำทุกสิ่งในช่วงเวลาของมัน” (10)

 

      

แม้แต่ในช่วงเวลาที่ท่านได้ส่งบรรดาเจ้าหน้าที่ไปเพื่อเก็บภาษีอากรต่าง ๆ ท่านก็ยังกำชับสั่งเสียพวกเขาให้ระวังรักษาความเป็นระเบียบวินัยในกิจการต่าง ๆ โดยที่ท่านได้กล่าวเช่นนี้ว่า : “ท่านทั้งหลายจงระวังจากความล่าช้าในการปฏิบัติงาน และจงหลีกเลี่ยงจากการออกห่างจากความดีงาม เพราะจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสำนึกเสียใจ” (11)

 

 

    การเลือกเฟ้นคนดี

 

       

ในแนวทางบริหารปกครองของตนนั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) จะระมัดระวังเป็นอย่างมากในการคัดเลือกคนดีและมีความคู่ควรเหมาะสมเข้ามาบริหารจัดการภารกิจหน้าที่ต่าง ๆ  และบรรดาผู้ที่มีศักยภาพ มึความคู่ควรเหมาะสมและมีความเหนือกว่าบุคคลอื่น ๆ ท่านจะเลือกพวกเขาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ และท่านจะไม่ปล่อยให้ผู้ปกครองที่ขาดคุณสมบัติเหมาะสมขึ้นมาทำหน้าที่ปกครองประชาชนอย่างเด็ดขาด ดังเช่นที่จะเห็นได้ว่า ทุกคนที่อุสมานได้แต่งตั้งเข้ามาทำงาน ท่านจะปลดพวกเขาทุกคนออก และจะมอบหน้าที่เหล่านั้นให้แก่บรรดาผู้ที่มีความเหมาะสมอย่างเพียงพอเข้ามาทำงานแทนที่พวกเขา ทั้งนี้เนื่องจากพวกเหล่านั้นได้รับตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง ด้วยกับชื่อเสียงวงศ์ตระกูลหรือไม่ก็เกิดจากเลห์เหลี่ยมทางด้านเกมการเมือง แม้แต่ตัวมุอาวิยะฮ์เองซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของเผ่ากุเรช ท่านก็ปลดเขาออกจากตำแหน่งหน้าที่

 

        

อิบนุอับบาส เล่าว่า : "เมื่อฉันเดินทางกลับจากมักกะฮ์มายังนะดีนะฮ์ ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประชาชนกำลังให้สัตยาบันต่อท่านอะลี (อ.) ฉันได้ไปยังบ้านของท่านอะลี (อ.) และได้พบว่า มุฆีเราะฮ์ บินชุอ์บะฮ์ กำลังพูดคุยอยู่กับท่านอะลีตามลำพัง ฉันจึงอดทนรอจนกระทั่งมุฆีเราะฮ์ได้ออกจากบ้านไป ฉันจึงเข้าไปพบท่านอะลี และถามว่า : มุฆีเราะฮ์พูดอะไรบ้าง? ท่านกล่าวว่า : มุฆีเราะฮ์ได้มาพบฉันสองครั้งแล้ว ครั้งหนึ่งเขาได้ขอร้องฉันว่า อย่าได้ปลดมุอาวิยะฮ์ออกจากตำแหน่งหน้าที่ แต่เนื่องจากไม่ได้รับผลใด ๆ เขาจึงมาหาฉันอีกเป็นครั้งที่สอง และขอร้องฉันว่า อย่าปลดตัวเขา อิบนุอับบาส กล่าวว่า : ในครั้งแรกที่เขาได้ขอร้องให้ท่านคงตำแหน่งหน้าที่ของมุอาวิยะฮ์ไว้นั้น เกิดจากความปรารถนาดี แต่ในครั้งที่สองนั้น เขาได้ทรยศต่อท่าน

 

       

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า : แล้วท่านมีอะไรจะแนะนำฉันไหม? อิบนุอับบาส กล่าวว่า : ฉันเองก็ต้องการให้ท่านคงมุอาวิยะฮ์ไว้ในตำแหน่ง เพราะหากท่านไม่กระทำเช่นนี้ ท่านจะถูกทวงถามเกี่ยวกับการให้สัตยาบัน และพวกเขาจะโยนความผิดในการฆาตกรรมอุสมานมายังตัวท่าน และจะปลุกปั่นชาวเมืองชามให้ลุกขึ้นต่อต้านท่าน และในอีกด้านหนึ่งฉันก็ไม่มั่นใจต่อฏ็อลฮะฮ์และซุบัยร์ด้วยเช่นกัน ว่าพวกเขาจะไม่ก่อกบฏต่อท่านและปลุกระดมชาวอิรักให้ลุกขึ้นต่อต้านท่าน ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวตอบว่า : การที่ท่านกล่าวว่า "เป็นการดีกว่าที่ฉันจะคงอำนาจของมุอาวิยะฮ์ไว้" นั้น ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า ฉันไม่สงสัยใด ๆ ว่า มันคือความปรารถนาดี แต่มันหาใช่ความคงทนถาวรใด ๆ ไม่ และศาสนาของฉันได้กำหนดบังคับฉันให้ต้องปลดเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของอุสมานออกจากตำแหน่งหน้าที่ ถ้าหากพวกเขายอมรับ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีงามสำหรับตัวพวกเขาเอง และถ้าหากพวกเขาไม่ยอมรับ พวกเขาก็จะเผชิญกับดาบ

 

        

อิบนุอับบาส ได้ขอร้องจากท่านอิมามอะลี (อ.) อีกครั้งหนึ่งว่า ให้ท่านสละตำแหน่งการปกครอง (คิลาฟะฮ์) ชั่วระยะเวลาเพียงนาน และหลังจากที่สถานการณ์ ๆ สงบลงแล้ว ค่อยกลับขึ้นสู่ตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนไม่เห็นใครที่มีความคู่ควรเหมาะสมไปมากกว่าท่าน พวกเขาจะกลับมาหาท่านอีกครั้งหนึ่ง แล้วพวกเขาก็จะให้สัตยาบันต่อท่านเป็นครั้งที่สอง หรือมิเช่นนั้นท่านจะต้องคงตำแหน่งของมุอาสิยะฮ์เอาไว้ ในคราวนี้ ท่านอิมาม (อ.) ก็ยังคงปฏิเสธข้อเสนอของอิบนิอับบาสเช่นเคย พร้อมกับกล่าวว่า ฉันจะไม่ยอมปล่อยให้มุอาวิยะฮ์อยู่ในอำนาจ แม้แต่เพียงชั่วโมงเดียว (12)

 

        

ดังนั้นท่านอิมาม (อ.) จึงได้ปฏิบัติตามหน้าที่แห่งพระผู้เป็นเจ้าที่หนักหน่วงของตน ท่านอิมามอะลี (อ.) ไม่เพียงแต่พลีความต้องการและอำนาจการปกครองของตนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมเพียงเท่านั้น ทว่าท่านยังได้พลีตัวเองและอำนาจการปกครองของตนเพื่อรักษาไว้ซึ่งสัจธรรมและความเที่ยงธรรมอีกด้วย ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมสำหรับการปกครองและคุณลักษณะของบุคคลดังกล่าวไว้เช่นนี้ว่า :

 

اَيُّهَا النّاسُ اِنَّ اَحقَّ النّاسِ بِهذَا الاَمرِ اَقْواهُم عَلَيْهِ، و اَعْلَمُهُمْ بِاَمْرِاللّه‏ِ فيهِ

 

“โอ้ประชาชนเอ๋ย! คนที่มีความคู่ควรเหมาะสมที่สุดในเรื่องนี้ คือผู้ที่มีความเข้มแข็งมากที่สุด และมีความรอบรู้มากที่สุดในหมู่พวกเขาต่อคำสั่งของอัลลอฮ์” (13)

 

 

 การปกป้องคุ้มครองบรรดาเจ้าหน้าที่

           

แม้ว่าท่านอิมามอะลี (อ.) จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในการเลือกเฟ้นบรรดาเจ้าหน้าที่ที่มีศักยภาพและคุณสมบัติที่เหมาะสม เพื่อแต่งตั้งพวกเขาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ แต่หลังจากการคัดเลือกพวกเขาเข้ามาทำหน้าที่แล้วท่านก็มิได้ปล่อยพวกเขาไว้ตามลำพังตามยถากรรม ทว่าท่านจะใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะปกป้องและยับยั้งพวกเขาจากการตกไปอยู่ในกับดักของความเบี่ยงเบน บางส่วนจากวิธีการเหล่านี้ มีดังต่อไปนี้ :

 

ก)- การชี้นำทาง

         

  โดยการแสดงให้เห็นถึงแนวทางและวิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนดี ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยผ่านการชี้นำ คำแนะนำและการตักเตือนนั้น ท่านอิมาม (อ.) จะทำให้พวกเขาได้ตระหนักและรับรู้ถึงข้อผิดพลาดต่าง ๆ ของตนเองที่มีอยู่ในเส้นทางของอำนาจ ดั่งเช่นในจดหมายต่าง ๆ ที่ท่านได้เขียนถึงบรรดาเจ้าหน้าที่และตัวแทนของท่าน จะสามารถพบเห็นถึงคำแนะนำและคำตักเตือนที่ดีที่สุดได้

         

  ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนถึงมาลิก อัชตัร ท่านได้แนะนำเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ และวิธีการปกครองไว้เช่นนี้ว่า :

 

           “โอ้มาลิกเอ๋ย! พึงรู้เถิดว่าฉันได้ส่งเจ้าไปยังประเทศซึ่งก่อนหน้าเจ้านั้นมีรัฐบาลต่าง ๆ ทั้งที่ยุติธรรมและและกดขี่เคยปกครองอยู่ และประชาชนก็จะคอยเฝ้าดูกิจการงานต่าง ๆ ของเจ้าเหมือนดั่งที่เจ้าเองก็เคยเฝ้ามองดูกิจการต่าง ๆ ของบรรดาผู้ปกครองก่อนหน้าเจ้า และพวกเขาก็จะพูดเกี่ยวกับเจ้า ในสิ่งที่เจ้าเคยพูดเกี่ยวกับผู้ปกครองเหล่านั้น .... จงให้อภัยแก่พวกเขาจากตัวเจ้าเอง เหมือนดังที่เจ้าปรารถนาจะให้ พระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยต่อตัวเจ้า

        

  และผู้ใต้ปกครองที่จะต้องอยู่ห่างจากตัวเจ้ามากที่สุดและเป็นผู้ที่น่าขยะแขยงมากที่สุดสำหรับเจ้านั้น คือผู้ที่ชอบค้นหาข้อบกพร่องต่าง ๆ ของประชาชน เพราะแท้จริงแล้วในหมู่ประชาชนนั้น ย่อมมีข้อบกพร่องต่าง ๆ มากมาย ซึ่งผู้ปกครองนั้นควรคู่ที่สุดที่จะปิดบังสิ่งเหล่านั้น .... และจงอย่ารีบด่วนเชื่อคำพูดของพวกปากพล่อย เพราะคนที่ปากพล่อยนั้น เป็นคนหลอกลวง แม้พวกเขาจะแสดงตนว่าเป็นผู้จริงใจและปรารถนาดีก็ตาม และอย่าให้คนตระหนี่เข้ามาให้คำปรึกษาแก่เจ้าเป็นอันขาด เพราะเขาจะหันเหเจ้าออกจากความกรุณาและความเอื้ออาทร และจะทำให้เจ้ากลัวความยากจน ... จงผูกสัมพันธ์ตนเองกับผู้ที่มีความเคร่งครัดและเป็นผู้มีสัจจะวาจา และถัดจากนั้น กับบรรดาประชาชนที่เป็นผู้กล้าหาญ ผู้มีจิตใจเอื้ออารีและบุคคลที่มีเกียรติ เพราะพวกเขาเป็นจุดศูนย์รวมของความดีงาม และจากท่ามกลางประชาชนนั้น จงเลือกเฟ้นบุคคลที่ดีที่สุดในทัศนะของพระผู้เป็นเจ้า สำหรับทำหน้าหน้าที่ตัดสินคดีความ .... (14)

       

   ใช่แล้ว! ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้แนะนำและตักเตือนบรรดาเจ้าหน้าที่ของตนเช่นนี้ และเตือนสติพวกเขาจากข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่พวกเขาอาจจะประสบกับมันได้

 

ข)- การสนองตอบด้านการเงินแก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ

      

   บรรดาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของรัฐ ด้วยกับการได้รับการตอบสนองปัจจัยจำเป็นในการดำรงชีวิตแล้ว พวกเขาจะไม่มีความต้องการใด ๆ ทางด้านการเงินอีก อันจะทำให้พวกเขามองไปยังมือของคนนั้นคนนี้ด้วยสายตาที่ละโมบ หรือทำให้บรรดาผู้มีความมั่งคั่งล่อลวงและติดสินบนพวกเขาด้วยทรัพย์สินเงินทอง และบรรลุสู่ความโลภหลงต่าง ๆ ทางด้านการเมืองของพวกเขาได้ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้สร้างหลักประกันความมั่นคงและความปลอดภัย โดยผ่านหนทางของการขจัดปัญหาต่าง ๆ และสร้างความกว้างขวางแก่การดำรงชีวิตของบรรดาเจ้าหน้าที่ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในอีกส่วนหนึ่งของสาส์นที่ส่งถึงมาลิก อัชตัร เช่นนี้ว่า :

 

ثُمَّ اَسْبِغْ عَلَيْهِمُ الاَرْزاقَ، فَاِنَّ ذلِكَ قُوَّةٌ لَهُمْ عَلَى اسْتِصْلاحِ اَنْفُسِهِمْ، وَ غِنًى لَهُمْ عَنْ تَناوُلِ ما تَحْتَ اَيْديهِمْ

 

“จากนั้นจงสนองปัจจัยดำรงชีพให้แก่พวกเขาอย่างสมบูรณ์ เพราะแท้จริงสิ่งนั้นจะเป็นกำลังเสริมสำหรับพวกเขาในการปรับปรุงตัวพวกเขาเอง และเป็นความพอเพียงสำหรับพวกเขาจากการที่จะรับสินบนจากผู้ที่อยู่ใต้การปกครองของพวกเขา” (15)

 

 

ค)- การดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

           

ตลอดเวลาท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กำชับแนะนำต่อบรรดาผู้ปกครองรัฐของตนตลอดเวลาว่า ให้พวกเขามอบหมายบรรดาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรับผิดชอบและเป็นผู้ไว้วางใจได้ให้อยู่ในฐานะผู้ที่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบภารกิจการงานของบรรดาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของรัฐ และให้พวกเขาคอยรายงานสิ่งที่พวกเขาได้พบเห็นให้แก่บรรดาผู้ปกครองรัฐได้รับรู้ ดั่งเช่นที่ท่านได้สั่งให้มาลิก อัชตัร กระทำเช่นนี้ โดยกล่าวว่า :

 

ثُمَّ تَفَقَّدْ اَعْمالَهُمْ، وَابْعَثِ الْعُيُونَ مِنْ اَهْلِ الصِّدقِ والوَفاءِ عَلَيْهِم، فَاِنَّ تَعاهُدَكَ فِي السِّرِّ لاُمُورِهِمْ حَدْوَةٌ لَهُمْ عَلَي اسْتعمالِ الاَمانَةِ والرِّفقِ بالرَّعِيَّةِ. و تَحَفَّظْ مِنَ الاَعوانِ، فاِنْ اَحدٌ مِنْهُم بَسَطَ يَدَهُ اِلي خيانَةٍ اِجْتَمَعَتْ بِها عَلَيهِ عِنْدَكَ اَخْبارُ عُيُونِكَ، اِكْتَفَيْتَ بِذلكَ شاهِدا فَبَسَطْتَ عَلَيْهِ الْعُقوُبَةَ في بَدَنِهِ و اَخَذْتَهُ بِما اصابَ مِنْ عَمَلِهِ، ثُمَّ نَصَبْتَهُ بمقامِ المَذَلَّةِ وَ وَسَمْتَهُ بالخيانَةِ، و قَلَّدْتَهُ عارَ التُّهَمَةِ

 

“จากนั้นก็จงคอยตรวจสอบพฤติกรรมต่าง ๆ ของพวกเขา และจงส่งบรรดาหูตาที่เป็นคนมีสัจจะวาจาและเป็นผู้ซื่อสัตย์ไปยังพวกเขา ทั้งนี้เนื่องจากว่าการตรวจสอบโดยทางลับของเจ้าต่อกิจการต่าง ๆ ของพวกเขา จะเป็นตัวกระตุ้นพวกเขาให้ปฏิบัติตามความรับผิดชอบและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ใต้ปกครอง และเจ้าจงระมัดระวังจากบรรดาที่ปรึกษาและผู้ช่วยเหลือของตนเองไว้ด้วย หากมีคนใดในหมู่พวกเขายื่นมือไปสู่การทุจริต โดยที่ข่าวคราวของบรรดาผู้เป็นหูเป็นตาของเจ้าได้ถูกรวบรวมมายังเจ้าแล้ว เจ้าก็จงเพียงพอในสิ่งนั้นแค่พยานเพียงคนเดียว จากนั้นก็จงดำเนินการลงโทษทางร่างกายต่อเขา และจงเอาสิ่งที่เขาได้รับอันเนื่องจากการทำงานของเขากลับคืนมาจากเขา และจงให้เขาไปรับตำแหน่งที่ต่ำกว่า และจงตราหน้าเขาว่าเป็นผู้ทุจริต และตีตราเขาด้วยความระแวงสงสัยที่น่าอดสู” (16)

 

        

ในจดหมายฉบับหนึ่งที่ส่งถึงมุนซิร บินญารูด ผู้ปกครองของท่านในเมืองอิสตะค็อร (เมืองหนึ่งของอิหร่านในแคว้นฟาร์ส) ท่านได้เขียนเช่นนี้ว่า :

 

          

“พวกเขาได้รายงานแก่ฉันว่า เจ้าได้ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ของรัฐ และหมกมุ่นอยู่ในเรื่องไร้สาระและการละเล่นและการล่าสัตว์ และเจ้าได้เดินทางท่องเที่ยวแสวงหาความภิรมย์ และเจ้าได้ยื่นทุจริตในทรัพย์สินของสาธารณชนและของพระผู้เป็นเจ้า และมอบมันให้แก่บรรดาเครือญาติใกล้ชิดของตน ประหนึ่งว่ามันคือมรดกของบิดามารดาของเจ้า  ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า! หากคำรายงานนี้เป็นความจริง เครือญาติใกล้ชิดทั้งหมดของเจ้าและฝุ่นดินที่ติดอยู่ที่รองเท้าของเจ้าย่อมจะดีเสียกว่าตัวเจ้า และจงรู้เถิดว่า ความไร้สาระและการละเล่นนั้นไม่เป็นที่พึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า และมันคือการทรยศต่อปวงชนมุสลิม แล้วหลังจากนั้นท่านก็ได้ลงโทษเขาและปลดเขาออกจากหน้าที่การงาน” (17)

 

ง)- การส่งเสริมคนดีมีความซื่อสัตย์และการลงโทษผู้กระทำผิด

 

         

ในทำนองเดียวกับที่ท่านอิมามอะลี (อ.) จะระมัดระวังในการคัดสรรค์บรรดาเจ้าหน้าที่ที่มีความคู่ควรและเป็นคนดีเข้ามาทำงาน และคอยเฝ้าระวังพฤติกรรมและหน้าที่การงานต่าง ๆ ของพวกเขาอย่างละเอียดนั้น   ในอีกด้านหนึ่งท่านก็จะให้การส่งเสริมบรรดาเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในขอบข่ายการบัญชาการของตนที่ประพฤติปรฏิบัติตนด้วยความดีงามและความถูกต้อง และจะลงโทษอย่างหนักหน่วงต่อบรรดาผู้ที่ทุจริตในหน้าที่การงานต่าง ๆ ของตน  ดังเช่นที่ท่านได้กล่าวกับมาลิก อัชตัรในกรณีนี้ ว่า :

 

ولايَكُونَنَّ المُحْسِنُ والمُسي‏ءُ عِنْدَكَ بِمَنْزِلَةٍ سواءٍ، فانَّ في ذلِكَ تَزْهيدا لاَهْلِ الاِحْسانِ فِي الاِحسانِ و تدريبا لاَهْلِ الاِساءَةِ عَلَي الاْساءَةِ. وَ اَلْزِمْ كُلاًّ مِنْهُمْ ما اَلْزَمَ نَفْسَهُ

 

“คนดีและคนเลว ณ ที่เจ้านั้นจะต้องไม่อยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกัน เพราะในการกระทำเช่นนั้นจะทำให้คนดีหมดกำลังใจและละวางจากการทำความดี และจะเป็นการส่งเสริมคนเลวในการกระทำสิ่งที่เป็นความชั่วร้าย ดังนั้นจงปฏิบัติต่อพวกเขาแต่ละคนให้สอดคล้องตามสิ่งที่พวกเขาพึงได้รับ” (18)

 

จ)- การตรวจสอบบัญชีของบรรดาเจ้าหน้าที่

 

         

ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) คอยตรวจสอบบัญชีของบรรดาเจ้าหน้าที่ของตนเองโดยทางลับและเปิดเผย ดังจะเห็นได้ว่า เพื่อที่จะรับรู้ถึงสถานการณ์และสภาพของซิยาด บินอุบัยฮ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของท่านในแคว้นฟาร์ส (ของเปอร์เซีย) ท่านได้ส่งเจ้าหน้าที่คนหนึ่งไปและออกคำสั่งแก่เขาว่าหลังจากตรวจสอบดูอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็จงนำสิ่งที่ซิยาดได้รวบรวมไว้กลับไปยังท่าน ซิยาดได้รายงานเท็จแก่เจ้าพนักงาน ท่านอิมาม (อ.)  ได้รับรู้จากเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ของตนว่าซิยาดได้รายงานข้อมูลเท็จแก่เจ้าพนักงานของท่าน ดังนั้น ท่านจึงได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปยังเขาว่า  :

 

    

      "โอ้ซิยาดเอ๋ย! ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า เจ้านั้นได้กล่าวเท็จ ถ้าหากเจ้าไม่ส่งภาษีอากรและภาษีที่ดินที่เจ้าได้จัดเก็บจากประชาชนไปยังยังเราอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ฉันจะเอาโทษเจ้าอย่างรุนแรงที่สุด สิ่งที่เจ้าได้รายงานไปนั้นจะเป็นไปได้เช่นไร” (19)

 

    การเอาใจใส่และการแสดงความเอื้ออาธรต่อประชาชน

 

         รัฐบาลต่าง ๆ ตามแนวทางของวัตถุนิยมและมุ่งเน้นทางโลกนั้น พยายามใช้สื่อและเครื่องมือทุกประการ เพื่อที่จะดึงดูดความสนใจของประชาชน โดยที่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่ได้คำนึงถึงประชาชนแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่แนวทางการปกครองของท่านอิมามอะลี (อ.) คือการมีความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจการให้ความสำคัญต่ออารมณ์ความรู้สึกและจิตวิญญาณของประชาชน การให้ความสนใจต่อความต้องการและปัญหาต่าง ๆ ของพวกเขา และความพยายามที่จะให้บริการแก่ประชาชนผู้เป็นสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า ดังเช่นที่ท่านได้เขียนในสาส์นถึงมาลิก อัชตัร ว่า :

 

و اَشْعِرْ قَلبَكَ الرَّحْمَةَ لِلرَّعيَّةِ والمَحَبَّةَ لَهُم وَاللُّطفَ بِهِمْ ولاتكونَنَّ عَلَيْهِمْ سَبُعا ضارِيا تَغْتَنِمُ اَكْلَهُمْ

 

“และจงทำให้หัวใจของพวกท่านรู้สึกถึงความเมตตาต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง มีความรักและความเอื้ออาทรต่อพวกเขา และจงอย่าทำตัวเป็นเหมือนสัตว์ดุร้ายที่คอยฉวยโอกาสที่จะกินพวกเขาเป็นเหยื่อ” (20)

 

        

ในทัศนะของท่านอิมามอะลี (อ.) ความมีเมตตาและความรักต่อประชาชนนั้น มีบทบาทสำคัญในการดึงดูด หัวใจและการบริหารจัดการประชาชนทั้งหลาย และจะเป็นสื่อทำให้ผู้ปกครองสามารถที่จะครอบครองหัวใจของประชาชนได้ สิ่งนี้เป็นหนึ่งในหลักการของอิสลามซึ่งท่านอิมาม (อ.) มีความซื่อสัตย์ต่อมันและมองมันในฐานะหลักการสำคัญประการหนึ่งในการปกครอง

 

    การให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อบรรดาผู้อ่อนแอและผู้ถูกอธรรม

 

      

   ในทุกสังคมนั้นจะมีผู้ที่มีความยากจนและคนอ่อนแออยู่ หรือเป็นคนที่ประสบกับความเดือดร้อนและถูกกดขี่ ในสังคมที่มีลักษณะเช่นนี้ ความยุติธรรมจะเป็นตัวกำหนดบังคับว่า ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องมองประชาชนทุกคนด้วยสายตาแบบเดียวกัน และจะต้องจัดเตรียมความเท่าเทียมทางด้านสิทธิและโอกาสต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในระหว่างพวกเขา

       

ในแนวทางการปกครองของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้น ท่านจะให้ความสำคัญและมุ่งเน้นในหลัการสำคัญข้อนี้อยู่ตลอดเวลา ในคำกำชับแนะนำที่ที่ท่านมีต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ของตนนั้น ท่านกล่าวไว้เช่นนี้ว่า :

 

ثُمَّ اللّه‏َ اللّه‏َ فِي الطَّبَقَةِ السُّفْلي مِنَ الَّذينَ لا حِيلَةَ لَهُمْ مِنَ المَساكينِ والمُحتاجِينَ واَهْلِ البُؤْسي و الزَّمني

 

“จงยำเกรงอัลลอฮ์ จงยำเกรงอัลลอฮ์! ในเรื่องของชนชั้นล่าง (ของสังคม) คือบรรดาผู้ที่ไม่มีช่องทางใด ๆ สำหรับพวกเขา เนื่องจากเป็นคนยากจน เป็นคนขัดสน เป็นคนที่ได้รับความเดือดร้อนและคนสูงอายุ (ซึ่งจะต้องดูแลเอาใจใส่พวกเขา)” (21)

 

    การยอมรับคำติชมและการวิจารณ์

 

         

ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้อธิบายคำพูดที่เป็นสัจธรรมต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ของสังคมอย่างชัดเจน และขณะเดียวกันท่านก็ย้ำว่าจำเป็นที่จะต้องยอมรับความหนักหน่วงของคำพูดที่เป็นสัจธรรมนี้ เพราะเนื่องจากว่า หากคำพูดที่เป็นสัจธรรมเป็นเรื่องที่หนักหน่วงและมีความสำคัญสำหรับใครแล้ว ในการปฏิบัติย่อมจะเป็นสิ่งที่หนักหน่วงและมีความสำคัญมากยิ่งกว่าสำหรับพวกเขา ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เรียกร้องจากประชาชน ให้พูดและนำเสนอในสิ่งที่เป็นสัจธรรมและความจริงต่อท่านในทุกสภาพการณ์ และให้ถือว่าท่านเองก็มีความจำเป็นจะต้องได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำเช่นเดียวกัน :

 

فلا تكُفّوا عَنْ مَقالَةٍ بِحَقٍّ اَوْ مَشْوَرَةٍ بِعَدْلٍ فَاِنّي لَسْتُ في نَفْسي بِفَوقِ اَنْ اُخْطِي‏ءَ ولا آمَنُ ذلِكَ مِنْ فِعلي الاّ اَنْ يَكْفِيَ‏اللّه‏ُ مِنْ نفسي ما هو اَمْلَكُ بِهِ مِنِّي

 

“ดังนั้นพวกท่านจงอย่ายับยั้งตนจากการพูดความจริง หรือการให้คำปรึกษาที่เที่ยงธรรม เพราะตัวฉันเองก็ไม่อยู่เหนือจากการที่ฉันอาจจะกระทำผิดพลาด และใช่ว่าในการกระทำของฉันจะปลอดภัยจากสิ่งนั้นเสียทีเดียว นอกเสียจากการที่อัลลอฮ์จะทรงปกป้องจากตัวฉันในสิ่งที่พระองค์ทรงอภิสิทธิ์มากกว่าตัวฉันต่อสิ่งนั้น” (22)

 

       

อย่างไรก็ตาม แม้ท่านอิมามอะลี (อ.) จะถือว่าการวิจารณ์ด้วยความจริงใจนั้นเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ก็ตาม แต่ท่านก็เตือนว่า การวิพากษ์วิจารณ์และการตำหนิต่าง ๆ ของประชาชนต่อบรรดาผู้ปกครองนั้น จะต้องไม่นำไปสู่การต่อต้าน การละเมิดฝ่าฝืนและการก่อกบฏต่อบรรดาผู้ปกครองที่เป็นสัจธรรมและมีความยุติธรรม ทั้งนี้เนื่องจากว่า การต่อต้านที่ไร้เหตุผลและการวิจารณ์อย่างมีอคตินั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและจะทำให้ผู้ปกครองที่ทรงธรรมไม่สามารถดำเนินการบริหารและการพัฒนาสังคมอย่างถูกต้องได้ ดังที่ท่านได้กล่าวว่า :

 

آفةُ الرَّعِيَّةِ مُخالَفَةُ القادَةِ

 

“เภทภัยของผู้อยู่ใต้ปกครองคือ การฝ่าฝืนบรรดาผู้ปกครอง” (23)

 

      

เมื่อพิจารณาถึงกรณีที่ว่า การวิจารณ์ที่สร้างสรรค์นั้นสามารถที่จะแก้ไขปรับปรุงความเบี่ยงเบนต่าง ๆ จำนวนมากของบรรดาผู้ปกครองและนำพาสังคมไปสู่ความก้าวหน้าและการพัฒนาได้นั้น ท่านอิมาม (อ.) จึงได้เน้นย้ำในเรื่องของการวิจารณ์ที่สร้างสรรค์นี้ไว้อย่างมากมาย ในแนวทางปฏิบัติของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้น หนทางของการวิจารณ์และการแนะนำตักเตือนนั้นเปิดกว้าง และตัวท่านอิมาม (อ.) เอง ในช่วงเวลา 25 ปี ของการปกครองของค่อลีฟะฮ์ทั้งสามคนแรก ท่านก็ได้ให้คำแนะนำตักเตือนพวกเขาอยู่บ่อยครั้ง และได้วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อการกระทำต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้องของพวกเขา และได้ชี้แนะถึงทางที่ดีงามและถูกต้องเหมาะสมแก่พวกเขา

 

 

         ความเท่าเทียมกันในสิทธิ

 

          

ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี (อ.) ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า :

 

لي ما لَكم وَ عَلَيَّ ما عَلَيْكُمْ

 

"สิ่งที่เป็นสิทธิของพวกท่าน ย่อมเป็นสิทธิของฉันด้วย และสิ่งที่เป็นหน้าที่เหนือพวกท่าน ย่อมเป็นหน้าที่เหนือฉันด้วย" (24)

      

   ในฮะดีษ (วจนะ) บทนี้ ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเท่าเทียมกันของทุกบุคคลในการได้รับประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกของสังคมและความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ เพื่อการสนองตอบความต้องการของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตาม จากคำพูดอื่น ๆ ของท่านอิมามอะลี (อ.) ทำให้สรุปได้ว่า ผู้ปกครองสังคมอิสลามนั้น แม้ว่าในเรื่องของสิทธิต่าง ๆ จะมีความเท่าเทียมกับบุคคลอื่น ๆ และไม่อาจที่จะกล่าวอ้างสิทธิที่เหนือกว่าบุคคลอื่น ๆ สำหรับตนเองได้ก็ตาม แต่ในแง่ของภาระหน้าที่นั้น ท่านถือว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่าบุคคลอื่น ๆ ในการให้บริการแก่สังคมและการเชิดชูสัจธรรมและความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้เอง ท่านจึงได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ปกครองรัฐเทียบเคียงการดำเนินชีวิตของพวกเขากับบรรดาผู้อ่อนแอและชนชั้นล่างของสังคม ไม่ใช่กับบรรดาผู้มั่งคั่งและผู้ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ของสังคม

 


แหล่งที่มา :

   

ตุหะฟุลอุกูล , อิบนุชุอบะฮ์ ฮัรรอนี , หน้าที่ 144
 

  อัลกาฟี , มุฮัมมัด บินยะอ์กูบ อัลกุลัยนี , เล่มที่ 8 , หน้าที่ 67 ; นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , คุฏบะฮ์ที่ 16
  

  อัลกาฟี , เล่มที่ 8 , หน้าที่ 24


   

แหล่งที่มาเดิม
  

 

ฆุรอรุลฮิกัม วะดุรอรุลฮิกัม , หน้าที่ 120 , ฮะดีษที่ 2098
 

  

อัลกาฟี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 338
  

 

อัลกาฟี , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 294
  

 

นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , คุฏบะฮ์ที่ 152
 

ดะอาอิมุลอิสลาม , กอฎีนุอ์มาน ตะมีมี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 443
 

  

นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , จดหมายอันดับที่ 53
   

วักอะตุ ซิฟฟีน , นัศร์ บินมุซาฮิม มันกอรี , หน้าที่ 108
  

ตารีค อัฏฏ็อบรี , เล่มที่ 4 , หน้าที่ 439
 

นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , คุฏบะฮ์ที่ 173
 

นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , จดหมายอันดับที่ 38
  

 

นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , จดหมายอันดับที่ 53

 


    แหล่งที่มาเดิม


   

อันซาบุลอัชร๊อฟ , บะลาซุรี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 391 ; นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , จดหมายฉบับที่ 71
   

นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , จดหมายอันดับที่ 53
   

อันซาบุลอัชร๊อฟ , บะลาซุรี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 390
   

นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , จดหมายอันดับที่ 53
   

นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , จดหมายอันดับที่ 53
  

  นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , คุฏบะฮ์อันดับที่ 216
   

ฆุร่อรุลฮิกัม , ออมะดี , หน้าที่ 105
  

  เมาซูอะฮ์ อิมามอะลี บินอบี (อ.) , มุฮัมมัด มุฮัมมะดี เรย์ ชะฮ์รี , เล่มที่ 4 , หน้าที่ 105

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม