เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การรอคอยสภาวะแห่งการหลุดพ้นออกจากสภาพความทุกข์ยาก ในคัมภีร์อัลกุรอาน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 การรอคอยสภาวะแห่งการหลุดพ้นออกจากสภาพความทุกข์ยาก ในคัมภีร์อัลกุรอาน

 

 

ประเด็นที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งซึ่งตลอดช่วงระยะเวลาของประวัติศาสตร์อิสลามได้กลายเป็นบ่อเกิดแห่งความมุ่งหวังของประชาชาติมุสลิม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาชาวชีอะฮ์ทั้งมวลต่างเป็นผู้ตั้งหน้าตั้งตารอคอยอยู่นั้น นั่นก็คือ คำมั่นสัญญาต่างๆของอัลลอฮ์(ซ.บ.)ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของอิสลามและชัยชนะขั้นสุดท้ายของปวงผู้ศรัทธา(มุอ์มินีน)บรรดาผู้ถูกกดขี่(มุสตัฎอะฟีน)และบรรดาผู้ถูกริดรอน(มะห์รูมีน)

 

ศาสนาอิสลามนับจากช่วงเริ่มต้นการมาของตน หรืออาจกล่าวได้ว่านับจากช่วงปีแรกๆ ที่ท่านศาสนฑุตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)ได้ประกาศศาสนาได้แจ้งข่าวดีที่ทำให้ประชาชาติมุสลิมมีความหวังต่ออนาคตอันรุ่งโรจน์ของตนเองมาโดยตลอด

 ชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชีอะฮ์เองนับจากช่วงเวลาที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดาตลอดมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้ ด้วยผลจากคำมั่นสัญญาต่างๆ ที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)ได้แจ้งให้พวกเขาได้รับรู้บนพื้นฐานของโองการต่างๆ จากคัมภีร์อัลกุรอานนั้น พวกเขาได้เชื่อมั่นต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างมั่นคงและจริงจัง และแม้จะมีความยากลำบาก ความทุกข์ยากและการสูญเสียใดๆ มาประสบกับพวกเขาในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์อิสลามก็ตาม พวกเขาก็ไม่เคยสูญเสียความมุ่งหวังใดๆ ของตนไป และยังคงมั่นคงในความเชื่อมั่นต่อคำสัญญาเหล่านี้เสมอมา

 

ชาวมุสลิมบนพื้นฐานของคำสัญญาอันชัดเจนที่คัมภีร์อัลกุรอานได้ให้ไว้ พวกเขาเชื่อว่าตามกฎเกณฑ์และแบบแผน(ซุนนะฮ์)แห่งการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า กงล้อแห่งประวัติศาสตร์กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าบนบนพื้นฐานของแบบแผน(ซุนนะฮ์)และคำมั่นสัญญาต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และแม้ว่าในช่วงยุคสมัยหนึ่งโลกจะดำเนินก้าวไปในทิศทางที่เป็นคุณประโยชน์ต่อบรรดาผู้อธรรม ผู้กดขี่และผู้ไร้ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การปกครองโลกแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์จะตกมาอยู่ในมือของบรรดาผู้มีคุณธรรม(ซอลิฮีน)และผู้ยึดมั่นอยู่กับสัจธรรม และบรรดาผู้อธรรม บรรดาซาตานและผู้อหังการทั้งหลายจะต้องถูกทำลายให้ย่อยยับลง และในที่สุดความยุติธรรม ความเที่ยงธรรมและความมั่นคงสงบสุขอันแท้จริงบนพื้นฐานกฎเกณฑ์แห่งพระผู้เป็นเจ้าก็จะได้รับการสถาปนาขึ้นในทั่วทุกมุมของโลก

 

ชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชีอะฮ์ทุกคนมีความศรัทธาอย่างมั่นคงบนพื้นฐานของหลักความเชื่อที่สร้างสรรค์นี้ ที่ว่า "สัจธรรม" นั้นคือสิ่งเที่ยงแท้ถาวร ส่วน “ความเท็จ” ทั้งมวลนั้นคือสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ จะต้องอันตรธานและสิ้นสลายไปอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว และไม่ว่าผู้อธรรมทั้งหลายจะต้องการหรือไม่ก็ตาม  

 

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงบัญชาให้ท่านศาสนฑูต(ซ็อลฯ)ของพระองค์แจ้งข่าวดีในเรื่องนี้แก่ประชาชาติ(อุมมะฮ์)อิสลามว่า :

 

وَقُلْ جَاء الْحَقُّ وَزَهَقَ الْبَاطِلُ إِنَّ الْبَاطِلَ كَانَ زَهُوقًا

“และจงกล่าวเถิด(โอ้มุฮัมมัด)ว่า เมื่อความจริงมาความเท็จย่อมมลาย แท้จริงความเท็จย่อมมลายสิ้นอย่างแน่นอน”

(อัลกุรอานบทอัลอิซรออ์ โองการที่ 81)

 

 

ในอนาคตไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ สัจธรรมจะต้องมีชัยและปกครองเหนือทุก ๆ ที่ ส่วนความเท็จและผู้ที่คลั่งไคล้ต่อความเท็จทั้งหลายนั้นจะต้องถูกลบเลือนและถูกทำลายให้ย่อยยับไปจนหมดสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากว่าการมาปรากฏของสัจธรรมและความยุติธรรมนั้น คือแบบแผน(ซุนนะฮ์)ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นคำมั่นสัญญาที่ย่อมต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนของพระองค์ และพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจะไม่ทรงบิดพลิ้วต่อคำมั่นสัญญาที่พระองค์ได้ทรงให้ไว้แก่ปวงบ่าวผู้มีคุณธรรมของพระองค์อย่างแน่นอน :

 

وَعْدَ اللَّهِ لَا يُخْلِفُ اللَّهُ وَعْدَهُ وَلَكِنَّ أَكْثَرَ النَّاسِ لَا يَعْلَمُونَ

“นั่นเป็นสัญญาของอัลลอฮ์ ซึ่งอัลลอฮ์นั้นจะไม่ทรงบิดพลิ้วสัญญาของพระองค์ แต่ทว่ามนุษย์ส่วนมากนั้นไม่รู้”

 (อัลกุรอานบทอัรรูม โองการที่ 6)

 

إِنَّ اللّهَ لاَ يُخْلِفُ الْمِيعَادَ

 “แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ทรงบิดพลิ้วสัญญาอย่างแน่นอน”

(อัลกุรอานบทอัรเราะฮ์ดุ โองการที่ 31)

 

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของอิสลามและคัมภีร์อัลกุรอาน และในมุมมองของมุสลิมทุกคนนั้น ประเด็นของ “การรอคอย” (อินติซ๊อร) และการมีความหวังต่ออนาคตที่ดีงามรวมทั้งการปกครองโลกแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ของสัจธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นในยุคสุดท้ายของโลก(หรือที่เราเรียกกันว่า “อาคิรุซซะมาน”)นั้น คือส่วนหนึ่งจากประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งในศาสนาอิสลาม และคัมภีร์อัลกุรอานเองได้นำเสนอประเด็นนี้ไว้อย่างหนักแน่นในฐานะที่เป็นคำมั่นสัญญาหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าที่ไม่มีวันถูกบิดพลิ้ว และยังได้แจ้งข่าวดีไว้อย่างชัดเจนแก่ปวงชนชาวมุสลิมเกี่ยวกับชัยชนะขั้นสุดท้ายของความศรัทธา(อีหม่าน)ของอิสลาม และอนาคตอันเรืองโรจน์ของศาสนาอันบริสุทธิ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ) โดยที่ไม่มีข้อสงสัยและความเคลือบแคลงใด ๆ หลงเหลืออยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผู้ใดเลยในเรื่องนี้

 

      มีโองการอัลกุรอานหลายโองการที่กล่าวถึงในประเด็นนี้ และเพื่อเป็นตัวอย่าง เราจะขอนำบางส่วนมากล่าวไว้ในที่นี้

 

        1-ในอัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 33 ได้กล่าวถึงการครอบคลุมโลกของศาสนอิสลาม และการที่อิสลามจะพิชิตเหนือศาสนาทั้งมวลของโลก โดยกล่าวว่า

 

هُوَ الَّذِی اَرْسَلَ رَسُولَهُ بِالهُدى وَدِینِ الحَقِّ لِیُظْهِرَهُ عَلَى الدینِ كُلِّهِ وَلَوْ كَرِهَ الْمُشْرِكُونَ

“พระองค์ คือผู้ซึ่งส่งศาสนทูตของพระองค์มาพร้อมด้วยทางนำและศาสนาแห่งสัจธรรม ทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงทำให้มันพิชิตเหนือศาสนาทั้งมวล แม้ว่าบรรดาผู้ตั้งภาคีจะรังเกียจก็ตาม”

 

        2- ในบทเดียวกัน โองการที่ 32 ได้ชี้ให้เห็นถึงพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่จะทำให้รัศมี(นูร)ของอิสลามเกิดความสมบูรณ์ โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

یُریدوُنَ أَنْ یُطْفِؤوُا نُورَ اللّهِ بأفْواهِهِمْ وَیَأْبَى اللّهُ إِلاّ أنْ یُتِمَّ نُورَهُ وَلَوْ كَرِهَ الْكافِروُنَ 

: “พวกเขาปรารถนาที่จะดับรัศมีของอัลลอฮ์ด้วยปากของพวกเขา แต่อัลลอฮ์ทรงปฏิเสธ(ที่ปล่อยให้ความปรารถนาของพวกเขาสัมฤทธิ์ผล)นอกจากพระองค์จะทำให้รัศมีของพระองค์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แม้ว่าบรรดาผู้ปฏิเสธจะรังเกียจก็ตาม”

 

       3- ในอัลกุรอานบทอันนูร โองการที่ 55 ได้กล่าวถึงสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงให้ไว้กับบรรดาผู้ศรัทธา(มุอ์มินีน)และผู้มีคุณธรรม(ซอลิฮีน) พร้อมกับกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกสัญญาไว้ โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า

 

وَعَدَ اللّهُ الَّذینَ آمَنوُا مِنْكُمْ وَعَمِلُوا الصّالِحاتِ لَیَسْتَخلِفنَّهُمْ فی الأَرْضِ كَمَا اسْتَخْلَفَ الّذِینَ مِنْ قَبْلِهمْ وَلَُیمَكّنَنَّ لَهُمْ دِینَهُمُ الّذِی ارْتَضى لَهُمْ وَلیُبَدِّلَنّهُمْ مِنْ بَعْدِ خَوِفِهِمْ أَمْناً یَعْبُدُونَنی لایُشْرِكُونَ بی شَیْئاً وَمَنْ كَفَرَ بَعْدَ ذلِكَ فَأُولئِكَ هُمُ الفاسِقُونَ

“อัลลอฮ์ได้ทรงสัญญาแก่บรรดาผู้ศรัทธาและผู้ประกอบความดีงามจากพวกเจ้าว่า พระองค์จะทรงสืบทอดอำนาจการปกครองในแผ่นดินให้แก่พวกเขาอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงให้การสืบทอดแก่บรรดาประชาชาติในยุคก่อนพวกเขา และพระองค์จะทรงบันดาลให้ศาสนาของพวกเขาที่พระองค์ทรงพึงพอใจแก่พวกเขานั้นเป็นที่มั่นคงสำหรับพวกเขา และพระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลง (และพลิกผัน) พวกเขามาสู่สภาพความปลอดภัย (และความสงบสุข) ภายหลังจากความหวาดกลัวของพวกเขา พวกเขาจะทำการเคารพภักดีต่อข้า โดยจะไม่ตั้งภาคีใด ๆ ต่อข้า และผู้ใดที่ยังเนรคุณอีกภายหลังจากนั้น แน่นอนพวกเหล่านั้น คือคนชั่วโดยแท้จริง”

 

       4 – ในอัลกุรอานบทฆอฟิร โองการที่ 51 ได้ชี้ให้เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยเหลือปวงศาสดาและผู้ศรัทธาในโลก(ดุนยา)ให้สัมฤทธิ์ผลในภารกิจต่าง ๆ ของพวกเขาอย่างแน่นอน โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

 

إِنّا لَنَنْصُرُ رُسُلَنا وَالَّذینَ آمَنُوا فی الحیوةِ الدُّنْیا وَیَوْمَ یَقُومُ الأَشْهاد

 “แท้จริงเราจะให้การช่วยเหลือแก่บรรดาศาสนทูตของเราและบรรดาผู้ศรัทธาทั้งมวล ทั้งในโลกนี้ และในวันที่บรรดาสักขีพยานทั้งหลาย (บรรดาอิมามมะอ์ซูม อ.)จะยืนหยัดขึ้น”

 

       5 – ในอัลกุรอานบทอัลอัมบิยาอ์ โองการที่ 105-106 ได้ชี้ถึงคำมั่นสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าที่ให้ไว้กับบรรดาปวงบ่าวผู้มีคุณธรรมของพระองค์เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจการปกครองในหน้าแผ่นดิน โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

وَ لَقَدْ كَتَبنا فِی الزّبُورِ مِنْ بَعْدِ الذِّكْرِ أنَّ الاَرْضَ یَرِثُها عِبادِیَ الصّالِحونَ

“และแน่นอนยิ่ง เราได้บันทึกไว้ในคัมภีร์ซะบูร ภายหลังจากซิกร์ (คัมภีร์เตารอต) ว่า แท้จริงแผ่นดินนี้ปวงบ่าวผู้มีคุณธรรมของข้าจะทำการสืบทอดมัน”

 

       6 – อัลกุรอานบทอัลกอซ็อซ โองการที่ 4 ได้ชี้ให้เห็นถึงอนาคตของบรรดาผู้ถูกกดขี่และผู้อ่อนแอในหน้าแผ่นดิน และการขึ้นมามีอำนาจปกครองเหนือโลกของพวกเขา โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

وَ نُریدُ اَنْ نَمُنَّ عَلَى الَّذینَ اسْتُضْعِفُوا فِی الأَرْضِ وَ نَجْعَلَهُمْ اَئِمَّةً وَ نَجْعَلَهُمُ الْوارثِینَ

 “และเราประสงค์ที่จะมอบความโปรดปราณแก่บรรดาผู้ถูกกดขี่ในแผ่นดิน และเราจะบันดาลให้พวกเขาเป็นผู้นำ และจะทำให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอด (การปกครองในหน้าแผ่นดิน)”

 

       7 – ในอัลกุรอานบทอัซซะญะดะฮ์ โองการที่ 28-29 ได้ชี้ถึงวันแห่งชัยชนะและการยืนหยัดขึ้นของผู้ที่จะมาปลดปล่อยมนุษยชาติ และชี้ถึงชะตากรรมของบรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลายไว้ โดยกล่าวว่า :

 

وَ یَقُولُونَ مَتى هذا الفَتْحُ إنْ كُنْتُمْ صادِقِینَ * قُلْ یَوْمَ الفَتحِ لایَنْفَعُ الّذینَ كَفَروا اِیمانُهُمْ وَلاهُمْ یُنْظَرُون

“และพวกเขาจะกล่าวว่า “แล้วเมื่อใดเล่าที่ชัยชนะนี้ (จะมาถึง) หากพวกท่านเป็นผู้สัจจริง?” จงกล่าวเถิด “ในวันแห่งชัยชนะนั้น การศรัทธาของบรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลาย จะไม่ยังคุณประโยชน์ใด ๆ แก่พวกเขาเลย และพวกเขาจะไม่ถูกประวิง(จากการลงโทษ)”

 

       8 – ในอัลกุรอานบทอัซซ๊อฟฟาต บทที่ 171-173 ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงให้สัญญาแก่บรรดาศาสนฑูตของพระองค์ไว้ว่าพวกท่านเหล่านั้นจะได้รับการช่วยเหลือ และกองทัพของพระองค์จะต้องได้รับชัยชนะ โดยพระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

 

وَ لَقدْ سَبَقَتْ كَلِمَتُنا لِعِبادِنَا الْمُرسَلِینَ * إنّهُمْ لَهُمُ الْمَنْصُورونَ * وَ إنَّ جُنْدَنا لَهُمُ الغالِبوُن

“แน่นอนยิ่ง ประกาศิตของเราได้ล่วงพ้นมาแล้วแก่ปวงบ่าวผู้ถูกส่งตัวมาเป็นศาสนทูตของเรา ว่าแท้จริงพวกเขานั้นจะเป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือ และแท้จริงกองทัพของเรานั้น และกองทัพของเรา (ผู้ที่ปฏิบัติตามปวงศาสนทูต) นั้น พวกเขาจะเป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน” 

 

       9 – ในอัลกุรอานบทอัลฮัจญ์ โองการที่ 41 ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับบรรดาผู้ศรัทธาผู้ซึ่งการปกครองของพวกเขาวางพื้นฐานอยู่บนหลักการแห่งการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว และวางอยู่ในระบอบสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของศาสนาที่เป็นสัจธรรมนั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงให้สัญญาแก่พวกเขาไว้ว่าพระองค์จะทรงให้การช่วยเหลือพวกเขา โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสไว้เช่นนี้ว่า

 

الَّذِینَ اِنْ مَكَّنّاهُمْ فی الأَرْضِ اَقامُوا الصَّلاةَ وَآتوُا الزَّكاةَ وَاَمَرُوا بِالمَعْروفِ وَنَهَوا عَنِ المُنْكَرِ وَلِلّهِ عاقِبَةُ الاُمُورِ

“(บรรดาผู้ศรัทธามั่นต่อพระผู้เป็นเจ้านั้น คือ) บรรดาผู้ซึ่งหากเราได้ทำให้พวกเขาพำนัก (และมีอำนาจ) อย่างมั่นคงอยู่ในแผ่นดิน พวกเขาก็จะดำรงการนมาซ จ่ายซะกาต กำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว และผลสุดท้ายแห่งการงานทั้งมวลนั้นเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์”

 

 

     จากบรรดาโองการทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นสามารถสรุปได้เป็นอย่างดีว่า โลกนั้นมีวันหนึ่งที่ถูกรอคอยอยู่ข้างหน้า ซึ่งอำนาจในการปกครองโลกแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์จะตกมาอยู่ในมือของปวงบ่าวผู้มีคุณธรรมและเป็นผู้ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า และเป็นไปตามคำรายงาน(ริวายะฮ์)ทั้งหลาย และการแจ้งข่าวดีของบรรดาศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงนั้น ยุคแห่งความรุ่งโรจน์และวันแห่งความเจิดจรัสดังกล่าวที่จะมาถึงซึ่งมนุษยชาติทั้งมวลและประชาชาติอิสลาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชีอะฮ์ในทั่วทุกมุมโลกกำลังเฝ้ารอคอยนั้น ก็คือวันแห่งการมาปรากฏตัวและการยืนหยัดขึ้นของผู้ปลดปล่อย ผู้ที่จะให้การรอดพ้นแก่โลกมนุษย์(มุนญี-อัลอาลัม) หรือยุคแห่งการปรากฏกาย(ซูฮูร)ของท่านอิมามมะฮ์ อัลเมาอูด(อ.)นั่นเอง

 

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม