กะอ์บะฮ์ บ้านแห่งเสรีภาพ

กะอ์บะฮ์ บ้านแห่งเสรีภาพ

 

บทคัดย่อ :

 

     

 เพื่อให้คุณสมบัติอันประเสริฐแห่งอิสรภาพและเสรีภาพ ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับมวลมลาอิกะฮ์ (เนื่องจากมวลมลาอิกะฮ์นั้นเป็นอิสระจากความประพฤติต่ำทรามทั้งหลาย) ปรากฏในมนุษย์ อัลลอฮ์ (ซบ.) จึงนำเสนอกะอ์บะฮ์ในฐานะบ้านแห่งเสรีภาพแก่มนุษย์ เพื่อมนุษย์จะได้สามารถเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์อย่างมีอิสระ ซึ่งความหมายของเฎาะวาฟรอบบ้านแห่งเสรีภาพคือ การสอนให้รู้ถึงความเป็นอิสระและเสรีภาพที่แท้จริง อัลกุรอานกล่าวถึงกะอ์บะฮ์ในฐานะของ “บัยตุลอะตีก” 2 ครั้งด้วยกัน ได้แก่

[وَلْيَطَّوَّفُوا بِالْبَيْتِ الْعَتِيق]

พวกเขาเวียนรอบบ้านแห่งเสรีภาพ (1)

 

อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า

 

[ثُمَّ مَحِلُّهَا إِلَى الْبَيْتِ الْعَتِيقِ]

สถานที่สำหรับเชือดคือบ้านแห่งเสรีภาพ (2)

 

 

บทนำ :

 

     

มีสิ่งสำคัญบนโลกนี้มากมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องเอาใจใส่และให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านั้น ทว่าไม่ดีกว่าหรือหากมนุษย์จะติดตามสิ่งสำคัญที่มีค่าและมีความหมายยิ่งกว่า มักกะฮ์และกะอ์บะฮ์คือหนึ่งในความสำคัญเหล่านั้น ดังนั้นสมควรอย่างยิ่งสำหรับบรรดานักแสวงบุญทั้งหลาย ก่อนที่จะเดินทางไปยังดินแดนที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ ควรศึกษาและสร้างความเข้าใจอันดีงามกับสถานที่ กาลเวลา และพิธีกรรมเป็นอย่างดีเสียก่อน เพราะช่วงเทศกาลฮัจญ์เป็นช่วงเวลาพิเศษอีกช่วงหนึ่งที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงมอบแก่ปวงบ่าวของพระองค์ เราจึงมีหน้าที่ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลานั้นให้สมบูรณ์เต็มปริมาณ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

   

  บทความนี้จึงขอนำเสนอความหมายบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอน สถานที่ และพิธีกรรมของฮัจญ์ในเชิงของเอรฟาน

 

 

    เอรฟาน หมายถึงวิชาที่ว่าด้วยการจาริกจิตใจ การดำเนินด้านจิต เพื่อค้นหาความจริงบางอย่าง ที่บุคคลผู้มีสัมผัสพิเศษเท่านั้นที่จะเข้าถึงได้ ซึ่งอาจเรียกอีกอย่างว่า “รหัสยภาวะ” ผู้ที่ประสบความสำเร็จด้านนี้เรียกว่า “อาริฟ”

 

บ้านแห่งเสรีภาพ

 

   

  กะอ์บะฮ์ ถูกแนะนำให้รู้จักในนามของบ้านแห่งเสรีภาพ ซึ่งอัลกุรอานได้ใช้คำว่า “อะตีก” สำหรับเรียก กะอ์บะฮ์ คำว่า อะตีก หมายถึง ความอิสระเสรี ส่วนคำว่า “อิตกุน” หมายถึงความเสรีภาพ นั่นหมายความว่า บ้านหลังนี้มีความอิสรเสรี ไม่เหมือนกับมัสยิดอื่นๆ ซึ่งบางครั้งมีผู้แสดงความเป็นเจ้าของ หรืออยู่ในครอบครองของสายตระกูลหรือบางกลุ่มชน แต่บางครั้งมัสยิดถูกสร้างขึ้นโดยมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดทั้งสิ้น และไม่มีผู้ใดมีสิทธิในบ้านหลังนั้น ซึ่งผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวคืออัลลอฮ์ กะอ์บะฮ์คือบ้านที่เป็นอิสระจากการถือครองสิทธิ์ ปราศจากเจ้าของ และไม่มีผู้ครอบครอง เว้นเสียแต่อัลลอฮ์เพียงผู้เดียว ท่านทั้งหลายกำลังเดินเวียนรอบบ้านแห่งเสรีภาพ เพื่อจะได้เรียนรู้ถึงความหมายและคุณค่าของความเสรี จะได้ไม่ตกเป็นสิทธิของบุคคลใด ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของผู้ใด และที่สำคัญผู้นำของท่านก็จะต้องไม่เป็นผู้ใดอื่นนอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น

 

     

 กะอ์บะฮ์คือบ้านซึ่ง [لا  يملكهُ أحد ولم يملكه أحد ] ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ และไม่มีผู้ใดถือสิทธิ์ครอบครอง (3)

การเดินเวียนรอบบ้านหลังดังกล่าวจะทำให้มนุษย์มีอิสรเสรี ไม่ตกเป็นสมบัติของผู้ใด และไม่เป็นทาสของใคร นั่นหมายถึงทั้งภายนอกและภายใน มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ครอบครองของผู้ใดทั้งสิ้น มนุษย์ผู้มีความละโมบและโลภมาก จะตกเป็นเป็นทาสของอำนาจฝ่ายต่ำแห่งตัวตน เนื่องจากมนุษย์ที่ตกอยู่ในความโลภ เขาจะถูกพันธนาการด้วยตัณหาและความไม่รู้จักพอเพียง

 

     

 ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 

[عبد الشهوة أذلّ من عبد الرق]

“ผู้ตกเป็นทาสของตัณหา อัปยศยิ่งกว่าผู้เป็นทาสของทรัพย์” (4)

 

     

 เนื่องจากทาสของปัจจัยจะมีอำนาจบาดใหญ่ ส่วนทาสของตัณหาจะมีแต่ความอัปยศอดสู การเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ จะปลดเปลื้องมนุษย์ให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสของตัณหาและโมหะ ดังนั้นถ้ามนุษย์เป็นอิสระจากการเป็นทาสของตัณหา และถูกปลดปล่อยจากความโมหะ เขาก็คือมลาอิกะฮ์นั่นเอง

 

     

ฮัจญ์ คือ เงื่อนไขที่ประเสริฐสุด อันจะทำให้มนุษย์อยู่ในฐานะของมลาอิกะฮ์ ฉะนั้นถ้าบุคคลหนึ่งได้ซิยาเราะฮฺบ้านแห่งความสะอาดแล้ว แต่ตัวเขายังไม่สะอาด ยังคงอยู่ในสภาพดังเดิม ก็จงรอคอยความหายนะและความอัปยศที่จะเกิดขึ้นกับเขา ถ้าหากมนุษย์ได้เดินเวียนรอบบ้านแห่งเสรีภาพ ได้ครองอิฮฺรอมแล้วมุ่งหน้าไปสู่บ้านแห่งเสรีภาพ แต่เขากลับไม่พานพบทั้งความอิสระและเสรีภาพ ยังคงอยู่ในสภาพดังเดิม ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง เขาก็จงรอคอยความอัปยศเถิด

 

       

ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

 

[النظر الى الكعبة عبادة]

“การมองไปยังกะอ์บะฮ์เป็นอิบาดะฮ์” (5)

 

        เนื่องจากกะอ์บะฮ์เสมือนเป็นตัวแทนของอะรัชของอัลลอฮ์ เป็นแหล่งกำเนิดของความสะอาด บ้านหลังนี้คือสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ การเป็นบ่าวของคนอื่นนอกจากอัลลอฮ์ ด้วยเหตุนี้การมองไปยังตัวแทนของอะรัชของอัลลอฮ์ จึงเป็นอิบาดะฮ์

 

บ้านที่สะอาดสำหรับปวงบ่าวที่สะอาด

 

     

 กะอ์บะฮ์คือบ้านแห่งความสะอาด การเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์ คือการเดินเวียนรอบฮะรัมที่สะอาดที่สุด ผลของการเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์คือความสะอาด ดังเช่นอัลกุรอานคัมภีร์ที่สะอาด และทำให้เกิดความสะอาด ถูกประทานมาจากพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก การเข้าใจโองการต่างๆ ของอัลกุรอาน ไม่อาจเป็นไปได้นอกจากผู้มีความสะอาดเท่านั้น ดังที่กุรอานกล่าวว่า

[إِنَّهُ لَقُرْآنٌ كَرِيمٌ فِي كِتَابٍ مَّكْنُونٍ لَّا يَمَسُّهُ إِلَّا الْمُطَهَّرُونَ]

“นี่คืออัล-กุรอานอันทรงเกียรติ ซึ่งอยู่ในบันทึกที่ถูกพิทักษ์รักษาไว้ ไม่มีผู้ใดสัมผัสอัล-กุรอานได้นอกจากบรรดาผู้บริสุทธิ์เท่านั้น” (6)

 

แน่นอนไม่มีผู้ใดสามารถเข้าใจสารัตถะของอัลกุรอานได้ นอกจากผู้มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ดังนั้นตราบที่บุคคลหนึ่งยังไม่สะอาดและยังไม่ขัดเกลาจิตใจ มือและใจของเขาไม่อาจเข้าถึงความจริงของอัลกุรอานได้ ถึงแม้จะเข้าใจอยู่บ้างก็เป็นเพียงผิวเผินของอัลกุรอาน

 

     

กะอ์บะฮ์ก็เช่นเดียวกัน นับว่าเป็นบ้านแห่งความสะอาดของพระเจ้า บุคคลใดได้เฏาะวาฟเวียนรอบกะอ์บะฮ์ เขาก็จะสะอาดตามไปด้วย แน่นอนว่าสิ่งนี้บรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) คือบุคคลที่เข้าถึงยังแก่นแห่งความจริงเหล่านี้ และเป็นผู้เฏาะวาฟเวียนรอบกะอ์บะฮ์ที่แท้จริง และนอกเหนือจากบรรดามะอ์ซูม (อ.) แล้ว เหล่าบรรดาสหายของท่านคือ กลุ่มชนหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์แห่งความสะอาดของกะอ์บะฮ์ ดังเช่นที่บรรดามะอฺซูมคือบุคคลที่เข้าถึงแก่นแท้ของอัลกุรอาน เนื่องจากอัลกุรอานโองการตัฏฮีร ได้แนะนำและสำทับว่าพวกเขาคือ “ผู้ถูกทำให้สะอาด”

 

       

ถ้าหากกล่าวว่า กะอ์บะฮ์คือบ้านแห่งความสะอาด และถูกสร้างขึ้นเพื่อผู้ที่มีความสะอาด กล่าวคือการเฏาะวาฟเวียนรอบบ้านหลังนี้จะสอนให้รู้จักความสะอาดที่แท้จริง ดังนั้นมนุษย์ถ้าเขาเป็นผู้สะอาด เขาก็จะกลายเป็นที่รักของอัลลอฮ์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า

 

[إِنَّ اللّهَ يُحِبُّ التَّوَّابِينَ وَيُحِبُّ الْمُتَطَهِّرِينَ]

“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักผู้ขอลุแก่โทษ  และทรงรักผู้ที่ทำตนให้สะอาด” (7)

     

 ฉะนั้นดังเช่นที่อะรัชของอัลลอฮ์ สะอาด มวลมลาอิกะฮ์ผู้สะอาดของพระองค์ต่างเฏาะวาฟเวียนรอบอะรัชนั้น ขณะที่กะอ์บะฮ์เป็นบ้านแห่งพระเจ้า เป็นศูนย์กลางของเตาฮีด สะอาดบริสุทธิ์จากภาคีและความโสมมโสโครกทั้งหลาย และผู้ที่เฏาะวาฟเวียนรอบกะอ์บะฮ์ต่างเป็นผู้มีความสะอาดบริสุทธิ์จากทุกความสกปรกโสโครก แน่นอนการเฏาะวาฟเวียนรอบกะอ์บะฮ์ ย่อมสอนให้รู้จักความสะอาดที่แท้จริงด้วยเช่นกัน

 

 

อิบรอฮีมและอิสมาอีลผู้สถาปนากะอ์บะฮ์

     

 อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงประสงค์ให้ร่องรอยของมลาอิกะฮ์ถูกฟื้นฟูในมนุษย์ พระองค์จึงมีบัญชาให้สร้างกะอ์บะฮ์ ประทานศาสดาที่มีคุณสมบัติที่ดีที่สุด และบ้านที่สะอาดที่สุดไว้บนหน้าแผ่นดิน กะอ์บะฮ์คือบ้านหลังแรกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออิบาดะฮ์สำหรับสาธารณชน อัลกุรอานกล่าวว่า

 

[ إِنَّ أَوَّلَ بَيْتٍ وُضِعَ لِلنَّاسِ لَلَّذِي بِبَكَّةَ مُبَارَكًا وَهُدًى لِّلْعَالَمِينَ ]

“แท้จริงบ้านหลังแรก [สถานอิบาดะฮ์] ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษยชาติคือที่บักกะฮ์เป็นที่จำเริญ และเป็นทางนำสำหรับประชาชาติทั้งหลาย” (8)

 

       

บนแผ่นดินนี้ไม่มีบ้านหลังใดถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานประกอบอิบาดะฮ์มาก่อนกะอ์บะฮ์ ดังนั้นอัลลอฮ์ ประสงค์ให้บรรดานักแสวงบุญได้เฏาะวาฟเวียนรอบกะอ์บะฮ์ และให้ร่องรอยของมวลมลาอิกะฮ์ปรากฏในมนุษย์ จึงมีบัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีมและอิสมาอีล (อ.) ผู้สะอาดบริสุทธิ์ในหมู่มนุษยชาติ และยึดมั่นในพระเจ้าองค์เดียว เป็นผู้สถาปนากะอ์บะฮ์ขึ้นมา

 

[ وَإِذْ يَرْفَعُ إِبْرَاهِيمُ الْقَوَاعِدَ مِنَ الْبَيْتِ وَإِسْمَاعِيلُ ]

“เมื่ออิบรอฮีมและอิสมาอีล ยกฐานของบ้านให้สูงขึ้น” (9) 

     

 ศาสดาทั้งสองคือผู้สถาปนากะอ์บะฮ์ และสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของทั้งสองก็ได้ถูกอธิบายออกมา ขณะที่ทั้งสองสร้างกะอ์บะฮ์นั้นต่างรำพันว่า “โอ้พระผู้อภิบาลของเรา ของทรงโปรดรับจากเราด้วยเถิด”

     

 กะอ์บะฮ์ถูกสถาปนาขึ้นด้วยมือของศาสดาทั้งสอง ซึ่งพวกเขาได้สร้างขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ใจและจริงใจอย่างยิ่ง มิได้อนุญาตให้สถาปนิกผู้ตั้งภาคีมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการวางรากฐานตัวอาคารหรือการตบแต่งให้สวยงาม เป็นบ้านที่ถูกสร้างอย่างสะอาดตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้เป็นหน้าตาของบัยตฺมะอฺมูร หรือในที่สุดแล้วคือ หน้าตาของอะรัชของอัลลอฮ์นั่นเอง ความบริสุทธิ์และความจริงใจของศาสดาทั้งสองที่ได้สร้างกะอ์บะฮ์ขึ้น อยู่ระดับที่ว่า อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงกล่าวถึงบ้านที่สร้างขึ้นแล้วว่าเป็นบ้านของพระองค์ ตรัสว่า นี่คือบ้านของข้า ดังเช่นที่อะรัชคืออะรัชของอัลลอฮ์ หลังจากนั้นพระองค์ทรงมีบัญชาให้สถาปนิกทั้งสองทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อย เพื่อการเฏาะวาฟ การมาเยือน นมาซ และกราบคาระ อัลกุรอานกล่าวว่า

 

[أَن طَهِّرَا بَيْتِيَ لِلطَّائِفِينَ وَالْعَاكِفِينَ وَالرُّكَّعِ السُّجُودِ]

“เราได้สั่งเสียอิบรอฮีมและอิซมาอีลว่า จงทำความสะอาดบ้านของข้า สำหรับผู้มาเวียน ผู้จำสมาธิ ผู้โค้ง และผู้กราบ” (10)

 

 

ทำไมกะอ์บะฮ์คือกะอ์บะฮ์

 

     

ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “กะอ์บะฮ์เนื่องจากเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมทีมีหกด้าน จึงถูกตั้งชื่อว่า กะอ์บะฮ์ (11) กล่าวคือประกอบด้วยผนังสี่ด้าน ด้านบน และด้านล่าง ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า “มุกะอ์อับ”

     

หลังจากนั้นท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า เหตุที่มีผนังสี่ด้าน เนื่องจากบัยต์มะอ์มูร ประกอบด้วยผนังสี่ด้านเช่นกัน ทั้งบัยตุลมะอ์มูรและอะรัชของอัลลอฮ์ ต่างมีสี่ด้านเหมือนกัน และพจนารถซึ่งเป็นวิทยปัญญาของอัลลอฮ์ ต่างวางอยู่บนคำพูดทั้งสี่ ซึ่งคำพูดทั้งสี่ได้แก่ “ซุบฮานัลลอฮ์, อัลฮัมด์ลิลลาฮ์, ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ วัลลอฮ์อักบัร” หรือที่รู้จักกันในนามของ ตัสบีฮ์ ตะฮ์ลีล ตะฮ์มีด และตักบีร แน่นอนว่าฮะดีษนี้ได้แนะนำมนุษย์ให้รู้จักนับจากโลกธรรมชาติ ไปสู่โลกมิษาล และจากโลกมิษาลไปสู่โลกของปัญญา และจากโลกของปัญญาไปสู่โลกของพระเจ้า

     

โดยทั่วไปแล้วบรรดานักปราชญ์ต่างถือว่าสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่นี้แบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน กล่าวคือ การมีอยู่ตามธรรมชาติ การมีอยู่ในโลกมิษาล และการมีอยู่ในโลกของปัญญา ซึ่งมาจากแหล่งอันเป็นนามธรรมของปัญญา

     

ส่วนนักเอรฟานหรือนักจาริกจิต มีทัศนะอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจากเอรฟานได้เข้าไปสู่วิทยญาณระดับสูง ซึ่งกล่าวว่า ทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ โลกธรรมชาติ โลกมิษาล โลกของปัญญา และโลกของพระเจ้า ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กล่าวว่า

 

«بسيط الحقيقة كلّ الأشياء وليس بشىء منها»  

อาตมันบริสุทธิ์ของพระเจ้าไม่มีความจำกัด ไม่มีการกำหนดด้วยการกำหนดที่แน่นอน ไม่มีการระบุด้วยการระบุอันเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง แต่มีความเข้าใจ ทรงรอบรู้การมีอยู่ของทุกสรรพสิ่งด้วยการรอบรู้ชั้นสูงและการครอบคลุมเหนือสรรพสิ่งเหล่านั้น แน่นอนฮะดีษนี้สามารถอธิบายการมีอยู่ของสรรพสิ่งในสี่ระดับ ตามทัศนะของนักปราชญ์ได้เป็นอย่างดี

     

 แก่นแท้ของกะอ์บะฮ์ คือการมีอยู่ที่เป็นไปตามธรรมชาติและเป็นวัตถุ ณ แผ่นดินมักกะฮ์ดุจดังบ้านหลังหนึ่ง (12) ซึ่งศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้เป็นผู้สถาปนาขึ้นมา โดยมีศาสดาอิสมาอีลเป็นผู้ช่วยเหลือ ซึ่งในโลกมิษาลเป็นการมีอยู่ในอีกลักษณะหนึ่ง และความจริงนี้ในโลกของปัญญาคืออะรัชของอัลลอฮ์ เป็นการมีอยู่ในอีกลักษณะหนึ่ง ทำนองเดียวกันแหล่งที่มาของการตัสบีฮฺ ตะฮฺลีล ตะฮฺมีด และตักบีร ซึ่งเป็นสถานภาพของความเหมาะสมในการเป็นพระเจ้า  และเป็นพระนามอันไพรจิตของพระองค์ ก็มีอยู่ในอีกลักษณะหนึ่ง

     

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่าว่า “พระนามของพระเจ้า พจนารถแห่งเตาฮีดและศาสนามีสี่คำ อะรัชของอัลลอฮ์มีสี่ด้าน บัยตุลมะอฺมูรมีสี่ด้าน และกะอ์บะฮ์ก็มีสี่ด้าน อะรัชมิได้เหมือนกับเตียงนอน บัยตุลมะอฺมูรก็มิได้เหมือนกับอาคารหินอ่อนหรืออาคารดินเหนียว บรรดานักแสวงบุญต่างเฏาะวาฟเวียนรอบวิหารกะอ์บะฮ์ มิใช่สิ่งอื่น ตรงนี้มีกลุ่มชนหนึ่งได้ผ่านระดับนี้ไปแล้ว และรับรู้ถึงโลกมิษาลได้ พวกเขาคือ “กลุ่มชนที่เกรงกลัวไฟนรก” หรือ “กลุ่มชนที่แสวงหาสรวงสวรรค์” พวกเขาจึงได้ไปยังบัยตุลลอฮฺ มีอีกบางกลุ่มที่อยู่ในระดับที่สูงขึ้นไปจากพวกเขา ซึ่งพวกเขารับรู้ได้ถึงโลกของพระเจ้า เช่น คำกล่าวของ ฮาริษะฮ์ บิน ซัยด์ที่ว่า “ประหนึ่งว่าฉันได้จ้องมองอะรัชอัรเราะฮ์มานอันชัดเจน” และยังมีอีกกลุ่มชนหนึ่งที่อยู่สูงไปกว่าพวกเขา ได้แก่ตำแหน่งของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ซึ่งแก่นแท้ของกะอ์บะฮ์ถือเป็นเกียรติยศสำหรับพวกเขา และพวกเขาได้เฏาะวาฟเวียนรอบคำอันประเสริฐทั้งสี่ ได้แก่ “ซุบฮานัลลอฮ์, อัลฮัมดุลิลลาฮ์, ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ วัลลอฮ์อักบัร”

 

ฮัจญ์คือการเร่งรีบไปสู่อัลลอฮ์ และละทิ้งสิ่งอื่นจากอัลลอฮ์

 

       

การเป็นแขกทั่วไปนั้น มิได้เป็นธรรมเนียมที่ว่าผู้เป็นเจ้าของบ้านจะกล่าวกับแขกว่า พวกท่านต้องการสิ่งใดจากฉัน ทว่าทุกสิ่งที่ถูกจัดเตรียมไว้ แขกผู้มาเยือนจะยอมรับโดยดี เนื่องจากแขกยินดีปฏิบัติตามเจ้าของบ้านและยอมรับทุกสิ่งที่ถูกจัดเตรียมไว้บนสำรับ แต่ในการเป็นแขกของพระเจ้า ผู้เป็นเจ้าของบ้านจะกล่าวกับแขกของตนว่า พวกเจ้าจงวอนขอทุกสิ่งจากข้า ไม่ว่าสิ่งใดที่พวกเจ้าต้องการ ข้าจะตอบสนองให้เจ้า แต่จงขอสิ่งเหล่านี้ “การไปซิยารัตบ้านของอัลลอฮ์ ฮะรัมของเราะซูล และการได้พบกับผู้เชิญชวน” เหล่านี้คือธรรมเนียมของการเป็นแขกในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นบทนำไปสู่การเป็นแขกของพระองค์ในช่วงเทศกาลฮัจญ์ อัลลอฮ์ (ซบ.) ตรัสว่า

 

[فَفِرُّوا إِلَى اللَّهِ]

“ดังนั้นพวกเจ้าจงเร่งรีบไปสู่อัลลอฮ์” (13)

 

ซึ่งรายงานกล่าวว่า การเร่งรีบไปสู่อัลลอฮ์ก็คือฮัจญ์นั่นเอง หมายถึง จงเดินทางไปสู่อัลลอฮ์ ในลักษณะที่ว่า ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางทิศใดก็จะได้พบกับอัลลอฮ์และสัญลักษณ์ของพระองค์

[فَأَيْنَمَا تُوَلُّواْ فَثَمَّ وَجْهُ اللّهِ]

“ไม่ว่าพวกเจ้าจะหันหน้าไปทางทิศใด อัลลอฮ์ทรงอยู่ ณ  ที่นั่น” (14)

 

     

  ทว่ามนุษย์เหล่านี้เองไม่ว่าจะหันหน้าไปทางทิศใดก็จะได้พบกับอัลลอฮ์ แต่ก็เป็นไปได้ที่เขาอาจไปถึงยังที่หนึ่ง ที่มีแต่บาปกรรมครอบงำที่นั้น ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะหันหน้าไปที่ใดก็จะได้พบแต่ชัยฏอน

       

เป็นที่ประจักษ์ว่า มนุษย์คือผู้สร้างขอบเขตและฮะรัมให้แก่ตัวเอง ดังนั้นถ้าเขามุ่งไปในหนทางแห่งความผิดบาป รายรอบตัวเขาก็จะมีแต่คนบาปและพลพรรคของชัยฏอน และเต็มไปด้วยสัตว์ดุร้าย ไม่ว่าเขาจะหันไปทางทิศใดเขาก็จะได้พบแต่ชัยฏอน งูพิษ และแมงป่อง อัลกุรอานกล่าวว่า

 

[مَن كَسَبَ سَيِّئَةً وَأَحَاطَتْ بِهِ خَطِيئَتُهُ]

“ผู้ใดที่ขวนขวายการชั่วไว้ ผลของกรรมชั่วจะห้อมล้อมเขาไว้ทั้งหมด” (15)

 

       

เขาจะมุ่งหน้าและจมดิ่งไปในทางของเขา หนทางแห่งการเตาบะฮ์ได้ปิดสนิทลงสำหรับพวกเขา ถ้าหากความผิดเกิดภายนอกจิตใจของพวกเขา เขาก็จะเข้าใจว่านั่นเป็นการกระทำที่ผิดพลาด และเป็นไปได้ที่เขาจะกลับตัวกลับใจ แต่ถ้าความผิดเกิดจากภายในจิตใจแล้วไปสู่ภายนอก มันคือนาวาที่นำไปสู่ความหายนะ และเป็นไฟที่เขาได้สุมเอาไว้เอง

 

[نَارُ اللَّهِ الْمُوقَدَةُ الَّتِي تَطَّلِعُ عَلَى الْأَفْئِدَةِ ]

“คือไฟของอัลลอฮ์ที่ถูกจุดให้ลุกโชน ไฟซึ่งลุกไหม้เข้าไปในหัวใจ” (16)

 

         

ซึ่งเขาจะมองไม่เห็น และไม่เข้าใจว่ากำลังทำความผิด หรือในบางครั้งจะมองเห็นสิ่งผิดเป็นความถูกต้องเสียด้วยซ้ำ ดังที่กุรอานกล่าวว่า

 

[وَهُمْ يَحْسَبُونَ أَنَّهُمْ يُحْسِنُونَ صُنْعًا]

“พวกเขาคิดว่า แท้จริงพวกเขาปฏิบัติความดีแล้ว” (17)

       

ดังนั้นทุกความผิดที่พวกเขาได้กระทำจึงคิดว่านั่นเป็นความดี เมื่อมองเห็นความเท็จเป็นความจริง มองเห็นสิ่งผิดเป็นสิ่งถูก พวกเขาจึ่งไม่สัมฤทธิ์ผลในการกลับตัวกลับใจ แต่กระนั้นพวกเขาไม่เคยมองว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นความผิดเพื่อว่าจะได้เตาบะฮ์ ฉะนั้นบุคคลเยี่ยงนี้ทั้งภายนอกและภายในของเขา มากไปด้วยชัยฏอน อสรพิษ แมงป่อง และสัตว์ดุร้ายอย่างอื่น เฉกเช่นบุคคลที่สวนในบ้านของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยวัชพืช หรือแม้แต่กระถางต้นไม้ในห้องนอนของเขาก็เป็นเช่นนั้น

       

บุคคลที่ทั้งภายนอกและภายในเต็มไปด้วยวัชพืชสีเขียว เท่ากับเขาได้ปิดกั้นทางเดินของตนเองด้วยมือ เท้า ปาก หู และสายตา อัลกุรอานกล่าวว่า “พวกเขาได้เอามือปิดปากของพวกเขาเอง” (18)

     

 ในอดีตชนกลุ่มหนึ่งเมื่อได้ยินคำพูดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) พวกเขาได้เอานิ้วมืออุดหูของตัวเอง เพื่อจะได้ไม่ได้ยินคำพูดของท่านศาสดา และมิให้ความจริงนั้นเข้าไปในหูของพวกเขา “จึงเอานิ้วมืออุดหูของพวกเขา” (19)

       

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของการเร่งรีบสู่อัลลอฮ์ (ซบ.) คือการเดินทางไปประกอบฮัจญ์ แม้ว่าในทุกที่ท่านสามารถอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ได้ และเป็นแขกของพระผู้เมตตาได้ แต่อาตมันบริสุทธิ์ของพระองค์ได้กำหนดบางสถานที่ และบางเวลาเพื่อต้อนรับแขกของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงกำหนดและเตรียมพร้อมสถานที่เหล่านั้นไว้แล้ว เช่น ฮัจญ์ หรือศีลอดเป็นต้น ดังนั้นเนื่องจากว่าอัลลอฮ์ทรงอยู่ในทุกที่ การเดินทางไปยังพระองค์จึงมิได้หมายถึงเป็นการเดินทางในแง่ของสถานที่และเวลา อัลลอฮ์ ทรงมีอยู่ทุกที่ ทุกเวลา และทุกแผ่นดิน ดังที่อัลกุรอานกล่าวว่า

 

[هو الذى فى السماء الهٌ و فى الأرض اله]

“พระองค์คือพระผู้อภิบาลแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน” (20)

         

ดังนั้นเป็นที่รู้กันดีว่า ฮัจญ์คือการจาริกอันเฉพาะ จึงได้มีการอธิบายว่า ฮัจญ์คือการรีบเร่งไปสู่อัลลอฮ์ และการรีบเร่งไปสู่พระองค์นั่นเอง เป็นเหตุทำให้มนุษย์ละเว้นทุกสิ่งจากพระองค์ และเพียงพระองค์เท่านั้นที่เขาเรียกร้อง

       

ใช่แล้ว หนึ่งในรหัสยของฮัจญ์ คือการละเว้นทุกสิ่งนอกจากอัลลอฮ์ ฉะนั้นบุคคลที่ได้ไปฮัจญ์โดยมีเจตนาเพื่อการค้าขาย ชื่อเสียง หรือมีเป้าหมายอย่างอื่น ไม่ถือว่าเป็นการเร่งรีบไปสู่อัลลอฮ์ ทว่าเป็นการเร่งรีบไปจากอัลลอฮ์ ดุจดังเช่นที่ในอิสลามมี ทั้งการญิฮาดจากอัลลอฮ์และการญิฮาดเพื่ออัลลอฮ์ สิ่งที่ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอานคือ

 

[وَالَّذِينَ جَاهَدُوا فِينَا لَنَهْدِيَنَّهُمْ سُبُلَنَا]

“ส่วนบรรดาผู้ต่อสู้ดิ้นรนในหนทางของเรา แน่นอนเราจะชี้แนะหนทางอันถูกต้องของเราแก่พวกเขา” (21)

       

ในทางตรงกันข้าม มีกลุ่มชนหนึ่งญิฮาดจากอัลลอฮ์ พวกเขาได้หันหลังไปจากอัลลอฮ์ โดยยึดมั่นอยู่กับตำแหน่ง ชื่อเสียง และสถานภาพทางสังคม ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกลุ่มชนพวกนี้ว่า “ญิฮาดอะนิลลาฮ์” นอกจากนี้แล้วพวกเขายังได้หลงไปจากตัวตนของตนเอง เนื่องจากอัลกุรอานกล่าวว่า “บรรดาผู้ต่อสู้ในหนทางของเรา” มิได้กล่าวว่า จากหนทางของเรา

     

  ฮัจญ์ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอานในฐานะของการรีบเร่งไปสู่อัลลอฮ์ กล่าวคือ ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์คนหนึ่ง เพียงแค่ตั้งใจจะไปประกอบพิธีฮัจญ์หรืออุมเราะฮฺ เท่ากับเขาได้เดินทางไปสู่พระองค์แล้ว หมายถึงเขาเชื่อมั่นในอัลลอฮ์โดยละทิ้งทุกสิ่ง ดังนั้นถ้าคนหนึ่งเดินทางไปฮัจญ์โดยมอบหมายและไว้ใจต่อพาหนะ พึ่งเพื่อนผู้ร่วมเดินทาง เท่ากับเขาได้รีบเร่งไปสู่เป้าหมายอื่นจากอัลลอฮ์ เขาได้เดินทางไปสู่การเป็นแขกตนเอง มิใช่เดินไปสู่การเป็นแขกของอัลลอฮ์

       

บรรดาผู้เดินทางไปฮัจญ์นั้นต้องตัดขาดจากทุกสิ่ง และสร้างปฏิสัมพันธ์กับอัลลอฮ์เท่านั้น ซึ่งเขาจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ย่างก้าวเท้าแรก ดังนั้นผู้ที่ต้องการจัดเตรียมแม้แต่ชุดอิฮฺรอม ขั้นแรกทรัพย์ของเขาต้องสะอาดบริสุทธิ์ พินัยกรรมต้องถูกบันทึกเรียบร้อย และกล่าวอำลาญาติพี่น้อง เนื่องจากผู้แสวงบุญ ณ บัยตุลลอฮฺ ทุกสภาพและทุกกาลเวลาเขาอยู่กับอัลลอฮ์ การเดินทางของเขาไปสู่อัลลอฮ์จึงเป็นทั้ง ฟิลลาฮฺ (ในหนทางอัลลอฮ์) อิลัลลอฮฺ (ไปสู่อัลลอฮ์) มะอัลลอฮ์ (อยู่กับอัลลอฮ์) และบิลลาฮฺ (โดยอัลลอฮ์) ฉะนั้นจะเห็นว่าดุอาอ์บางวรรคของฮัจญ์กล่าวว่า

 

بسم الله و  بالله و فى سبيل الله و  على ملّة رسول الله

"เป็นการเน้นให้เห็นถึงเป้าหมายตามกล่าวมา กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ในหนทางของพระองค์ ด้วยแนวทางของพระองค์ และแบบอย่างของท่านศาสดา"

ความต่างของฮัจญ์กับอิบาดะฮ์อื่น

 

       

บรรดานักแสวงบุญ ณ บัยตุลฮะรอม ทุกอิบาดะฮ์ที่เขาได้ปฏิบัติทั้งความเร้นลับและรหัสยะของมันได้เป็นที่ประจักษ์ชัดสำหรับเขา นมาซมีขั้นตอนและวิธีการอย่างหนึ่ง ศีลอดมีคำสั่งเฉพาะอย่างหนึ่ง ซะกาตและญิฮาดก็มีคำสั่งเฉพาะตัว ซึ่งการดำเนินไปตามคำสั่งเหล่านี้ เพื่อยังประโยชน์สูงสุดมิใช่เรื่องยากเย็นแต่อย่างใด นมาซมีคำกล่าวเฉพาะซึ่งความหมายของคำกล่าวเหล่านั้นชัดเจน มีรุกุอ์และสุญูด ซึ่งให้ความหมายว่าเป็นการให้เกียรติยกย่องในความยิ่งใหญ่ มีการกล่าวตะชะฮุด เท่ากับเป็นการสารภาพตนเองต่อพระองค์ ส่วนการถือศีลอดนั้นมีการหลีกเลี่ยงให้พ้นจากสิ่งสงสัยคุมเครือ มีความเห็นอกเห็นใจผู้ยากจนและอ่อนแอกว่า สอนให้รำลึกถึงความหิวกระหายหลังจากความตาย การถือศีลอดยังมีประโยชน์ข้างเคียงอื่นอีกมากมาย ทั้งในด้านของวิทยาศาสตร์และทางโลก หรือในด้านของการขัดเกลาจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดี

 

       

ซะกาต คือการบริจาคทานและการจัดระบบทรัพย์สินให้สมดุล เป็นการแสดงความห่วงใยที่มีต่อผู้ยากจนและอนาถา ซึ่งทั้งประโยชน์และความเหมาะสมของมันเป็นที่ชัดเจน

     

 ญิฮาด คือการปกป้องตนเองจากการรุกรานของศัตรูหรือคนแปลกหน้า ซึ่งมีประโยชน์นานัปการ และไม่ยากจนเกินความสามารถในความอยากรู้อยากเห็น

     

  ส่วนฮัจญ์นั้นมีขั้นตอน คำสั่ง และพิธีการในการปฏิบัติ การจะเข้าใจถึงความเร้นลับและรหัสยของมันเป็นเรื่องยากเย็นนัก การทำความเข้าใจความหมายของบัยตูตะฮฺ (ค้างแรม) ในมัชอะริลฮะรอม การโกนศีรษะ การเดินเวียนระหว่างเนินเขาเซาะฟากับมัรวะฮฺ 7 รอบ การสวมชุดอิฮรอม และพิธีการอย่างอื่น ล้วนเป็นสิ่งยากเย็นต่อการทำความเข้าใจทั้งสิ้น เนื่องจากขั้นตอนเหล่านี้มีแก่นแท้และความเร้นลับอันสลับซับซ้อนอยู่ในตัว ดังนั้นเรื่องราวของฮัจญ์จึงมีความยากลำบากในการทำความเข้าใจ เมื่อเทียบกับคำสั่งอื่นในศาสนา (ซึ่งรายละเอียดและความหมายทุกขั้นตอนของฮัจญ์จะนำเสนอในโอกาสต่อไป)

 

สัญลักษณ์ของฮัจญ์ที่ถูกตอบรับ

       

อิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) รายงานจากท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) ว่า “บุคคลใดได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์และซิยาเราะฮ์บัยตุลลอฮ์แล้ว เมื่อเขากลับมาเขาจะกลายเป็นบ่าวผู้บริสุทธิ์ และถ้าเขาไม่แตะต้องหรือล่วงละเมิดในความผิดใดๆ แล้วไซร้ นี่คือเครื่องหมายที่แสดงว่า ฮัจญ์ของเขาถูกตอบรับ แต่ถ้ากลับจากซิยาเราะฮฺบัยตุลฮะรอมแล้ว เขายังหันไปสู่การล่วงละเมิดในความผิด แสดงว่าฮัจญ์ของเขาไม่ถูกตอบรับ”

       

ประเด็นนี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงรหัสยของฮัจญ์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากรหัสยของอิบาดะฮ์ต่างๆ ของอิบาดะฮ์ของเราที่จะปรากฏในวันกิยามะฮ์ซึ่งถูกเรียกอีกอย่างว่า วันเปิดเผยความจริง ในวันนั้นทุกคนจะได้เข้าใจว่า การงานของเขาถูกตอบรับหรือไม่ ซึ่งมิใช่เพียงแค่การเผยผลลัพธ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทว่าเหตุผลของการไม่ตอบรับก็จะถูกแสดงให้เห็นด้วย ในวันกิยามะฮ์ (วันสิ้นโลก) จึงมีทั้งสิ่งตอบรับและไม่ตอบรับ ทำนองเดียวกัน ทั้งสิ่งตอบรับและไม่ตอบรับก็จะถูกแสดงเหมือนกัน เนื่องจากวันกิยามะฮฺคือวันที่ความจริง ความเท็จ และความเร้นลบของมันจะถูกแสดงออกมา ดังที่อัลกุรอานกล่าวว่า

 

[ يَوْمَ تُبْلَى السَّرَائِرُ ]

“วันซึ่งสิ่งเร้นลับทั้งหลายจะถูกเปิดเผย” (22)

       

 ฉะนั้นในโลกนี้ถ้ามนุษย์สามารถปาวนาตนเองให้ไปถึงยังระดับหนึ่ง ประหนึ่งวันกิยามะฮ์ได้เข้าใจเหตุผลของการตอบรับและไม่ตอบรับ เขาได้เข้าใจรหัสยของฮัจญ์ในมุมหนึ่งแล้ว แน่นอนเขาย่อมเข้าถึงเหตุผลของการยอมรับและการปฏิเสธ

       

ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “ถ้าบุคคลหนึ่งต้องการรู้ว่าฮัจญ์ของเขาถูกตอบรับหรือไม่ จงพิจารณาหลังจากได้กลับจากการซิยาเราะฮ์บัยตุลลอฮ์เถิดว่า เขาได้ล่วงละเมิดกระทำความผิดหรือไม่ ถ้าเขาไม่กระทำความผิด แสดงว่าฮัจญ์ของเขาถูกตอบรับแล้ว ณ อัลลอฮ์ แต่ถ้าตนได้ล่วงละเมิดในความผิด แสดงให้เห็นว่าฮัจญ์ของเขาไม่ถูกตอบรับ” (23)

       

ความหมายฮะดีษนี้ครอบคลุมถึงการอิบาดะฮ์อื่นด้วย เช่น อัลกุรอานกล่าวถึงนมาซว่า

 

[ إِنَّ الصَّلوةَ تَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنكَرِ ]

 

“แท้จริงนมาซจะยับยั้งการลามกอนาจารและความชั่ว” (24)

 

     

 โองการบ่งชี้ให้เห็นว่านมาซเป็นความสัจจริงประการหนึ่งที่จะกีดขวางความชั่วร้ายต่างๆ แม้ว่านมาซตามความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงภารกิจหนึ่งที่มีความหน้าเชื่อถือ แต่แก่นแท้ของนมาซคือภารกิจที่ถูกกำหนดตามกฎเกณฑ์ ดังนั้นถ้าบุคคลหนึ่งต้องการกระทำบางภารกิจ อันมีพื้นฐานที่มาทางจิตวิญญาณ เขาก็จะต้องเผชิญกับการคิดใคร่ครวญ การยืนยัน ความปรารถนา การตัดสินใจและจุดประสงค์ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจทีเป็นตักวีนีย์ (กำหนดไปตามกฎเกณฑ์)

       

ฉะนั้น นมาซสำหรับผู้ดำรงนมาซแล้ว ถือว่ามีบทบาทด้านตักวีนีย์ทั้งความคิดต่างๆ ความประสงค์ ความสุข และการตัดสินใจจะสร้างความสมดุลให้แก่เขา ซึ่งจะทำให้เขามั่นคงและตัดสินใจกระทำสิ่งดีงาม และไม่ตัดสินใจกระทำสิ่งไม่ดี สิ่งที่เป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจของมนุษย์ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นตักวีนีย์และสิ่งนั้นคือ แก่นแท้ของนมาซ สิ่งที่นำความสุขไปสู่การมีเกียรติยศ การเคารพในกฎเกณฑ์ และความประเสริฐคือ แก่นแท้ของนมาซ ความหมายนี้เองก็มีอยู่ในฮัจญ์ด้วยเช่นกัน จิตวิญญาณของฮัจญ์นั่นเองที่เป็น อัมรฺตักวีนีย์ซึ่งจะกีดขวางมนุษย์ไปไม่ให้ตัดสินใจกระทำสิ่งไม่ดี หรือประสงค์ในความเลวร้าย

 

จิตวิญญาณและชีวิตของกะอ์บะฮ์คือวิลายะฮ์

       

จำเป็นต้องกล่าวว่า กะอ์บะฮ์ ฮะรัม ซัมซัม ความประเสริฐ เซาะฟา มัรวะฮ์ การเชือดพลี สถานที่เชือดพลี ตักว่า รัมย์ญุมะรอต อะเราะฟาต ดุอาอ์ ความบริสุทธิ์ใจ แผ่นดินมักกะฮ์และฮะรัมที่มีความสิริมงคลมากมาย ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแฝงอยู่ในวิลายะฮ์และอิมามะฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอิมามผู้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น มาตรว่ากะอ์บะฮ์ที่ถูกประดับประดาด้วยความประเสริฐและความสิริมงคลเหล่านี้ จิตวิญญาณของการปฏิบัติและขั้นตอนของมันคือวิลายะฮ์และอิมามะฮ์ การรู้จักอิมามและการนอบน้อมต่ออิมาม

       

อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้สาบานต่อมักกะฮ์ที่มีศาสดาอยู่ในนั้น มักกะฮ์หากไม่มีศาสดาก็มิได้เป็นอะไรมากไปกว่าอาคารที่เป็นหินและดิน อัลกุรอาน กล่าวว่า

 

[وَأَنتَ حِلٌّ بِهَذَا الْبَلَدِ  لَا أُقْسِمُ بِهَذَا الْبَلَدِ]

“ขอสาบานด้วยเมืองศักดิ์สิทธิ์ (มักกะฮ์) ซึ่งเจ้าเป็นผู้อาศัยอยู่ในเมืองนี้” (25)

       

ใช่แล้ว การที่อัลลอฮ์ทรงสาบานต่อมักกะฮ์ก็เพื่อให้เกียรติต่อมะอ์ซูม ทั้งกะอ์บะฮ์และมัสยิดฮะรอมมีความยิ่งใหญ่ในตัว ดังที่อัลกุรอาน กล่าวว่า

 

[ وَمَن يُرِدْ فِيهِ بِإِلْحَادٍ بِظُلْمٍ نُذِقْهُ مِنْ عَذَابٍ أَلِيمٍ ]

“ถ้าผู้ใดปรารถนาที่จะออกนอกทางด้วยความอธรรม เราจะให้เขาลิ้มรสการลงโทษอย่างเจ็บปวด” (26)

       

หมายถึงบุคคลใดคิดชั่วร้ายกับกะอ์บะฮ์ และฮะรัม เขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวดแน่นอน หรือที่โองการกล่าวว่า

 

ألَمْ تَرَ كَيْفَ فَعَلَ رَبُّكَ بِأَصْحَابِ الْفِيلِ أَلَمْ يَجْعَلْ كَيْدَهُمْ فِي تَضْلِيلٍ وَأَرْسَلَ عَلَيْهِمْ طَيْرًا أَبَابِيلَ تَرْمِيهِم بِحِجَارَةٍ مِّن سِجِّيلٍ فَجَعَلَهُمْ كَعَصْفٍ مَّأْكُولٍ

“เจ้าไม่เห็นดอกหรือว่า พระผู้อภิบาลของเจ้าได้กระทำกับบรรดาเจ้าของช้างเช่นไร (กองทัพช้างของอับเราะฮะฮฺที่เคลื่อนทัพช้างมาเพื่อทำลายกะอ์บะฮ์) พระองค์มิได้ทรงทำให้แผนการของพวกเขาสูญสิ้นดอกหรือ และได้ทรงส่งวิหคเป็นฝูงๆ ลงมาบนพวกเขา มันได้ขว้างพวกเขาด้วยก้อนหินก้อนเล็กๆ ที่มาจากดินแข็ง แล้วพระองค์ทรงทำให้พวกเขาเป็นเช่นใบไม้ที่ถูกกัดกิน” (27)

     

  อับเราะฮะฮ์ที่มีโขลงช้างจำนวนมากมาย บ่งบอกให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในอำนาจ แต่เขาถูกทำให้อัปยศด้วยฝูงนก และนี่คือความกริ้วโกรธของอัลลอฮ์ ดังที่พระองค์ยืนยันว่า “ถ้าผู้ใดปรารถนาที่จะออกนอกทางด้วยความอธรรม เราจะให้เขาลิ้มรสการลงโทษอย่างเจ็บปวด”

       

บุคคลเฉกเช่น ซุเบร คือตัวอย่างหนึ่งที่เขาได้ละทิ้งฮุซัยน์ บินอะลี และอะลี บินฮุซัยน์ไว้ตามลำพังโดยไม่ได้รีบเร่งไปช่วยเหลือ มาตรว่าท่านได้เข้าไปหลบภัยภายในกะอ์บะฮ์ ทั้งที่กะอ์บะฮ์มีความศักดิ์สิทธิ์ ก็จะไม่เป็นฮะรัมที่มีความปลอดภัยสำหรับอัลลอฮ์อีกต่อไป แล้วในที่สุดฮะรัมก็ได้ถูกทำลายลงด้วยฝีมือของฮัจญาด บิน ยูซุฟ

       

อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงหยุดยั้งกองทัพช้างของอบูละฮับด้วยฝูงนก แต่ในครั้งนี้พระองค์ทรงประวิงเวลา จนกระทั่งฮัจญาด บินยูซุฟ ได้ลงจากภูเขาอบูเกซ และทำลายกะอ์บะฮ์ด้วยหินจากภูเขานั้น

       

ใช่แล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของกะอ์บะฮ์ คือการแสดงความเคารพต่ออิมามะฮ์ จิตวิญญาณของกะอฮฺบะฮฺคือวิลายะฮ์ ชีวิตของกะอ์บะฮ์คืออิมามะฮ์ ถ้าบุคคลใดไม่รู้จักอิมาม เขาก็คือองค์ประกอบอันเป็นจริงของฮะดีษที่กล่าวว่า

 

[من مات ولم يعرف امام زمانه مات ميتةً جاهلية]

“บุคคลใดตายไปโดยไม่รู้จักอิมามของตน เท่ากับเขาได้ตายในสภาพของคนโง่เขลา” (28)  

         

มาตรว่าเขาได้เข้าไปหลบภายในกะอ์บะฮ์ เขาก็จะไม่ได้รับความปลอดภัยจากพระเจ้า เพราะอะไร เนื่องจากว่าอิสลามได้วางอยู่บนพื้นฐานสำคัญ 5 ประการ ดังฮะดีษที่กล่าวว่า

 

بنى الاسلام على خمس; على الصلوة والزكوة والحج والصوم والولاية وما نودي بشيء بمثل ما نودي بالولاية

        รากฐานของอิสลามวางอยู่บนหลักการ 5 ประการได้แก่ นมาซ ซะกาต ฮัจญ ศิลอด และวิลายะฮ์ ดังนั้นการไม่รู้จักวิลายะฮ์ก็เท่ากับว่าเขาไม่รู้จักรากฐานของอิสลามแม้แต่ประการเดียว การปฏิเสธวิลายะฮ์ก็คือการปฏิเสธรากฐานของอิสลามทั้งหมด 

 

 

สรุป

 

        การงานทุกสิ่งที่มนุษย์ถูกบัญชาให้ปฏิบัตินั้น มีความหมายและวิทยปัญญาอยู่ในตัว เพียงแต่มนุษย์จะเข้าใจในความหมายและวิทยปัญญาเหล่านั้นหรือไม่ แม้แต่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บก็ให้ปลดเปลื้องจากร่างกาย นั่นหมายถึงอาภรณ์แห่งบาปกรรม และความลืมเลือนที่สวมใส่จนถึงขณะนั้น ตลอดจนสิ่งประดับอื่นๆ ให้ปลดเปลื้องออก มิเช่นนั้นจะมีความแตกต่างกันอย่างไรระหว่างอาภรณ์ที่ตัดเย็บกับมิได้ตัดเย็บ ดังนั้นทั้งหมดเหล่านี้คือความเร้นลับของฮัจญ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการสวมใส่อาภรณ์ที่ตับเย็บแล้วอิบาดะฮ์จะไม่ถูกตอบรับ เนื่องจากมนุษย์สวมใส่อาภรณ์ตัดเย็บปฏิบัติอิบาดะฮ์ตลอดเวลา แต่ในช่วงเทศกาลฮัจญ์อิบาดะฮ์กลับไม่ถูกตอบรับ การที่เป็นเช่นนี้ต้องการสร้างความเข้าใจกับมนุษย์ถึงแก่นแท้ของฮัจญ์ อย่างน้อยต้องการให้เขาสำนึกว่า มีวันหนึ่งที่รอคอยเขาอยู่เบื้องหน้า ซึ่งเขาจะต้องเข้าไปสู่วันนั้นพร้อมด้วยอาภรณ์ที่มิได้ตัดเย็บ และวันนั้นคือวันแห่งความตาย ซึ่งเขาจะมีเฉพาะผ้ากะฟั่นที่ห่อหุ้มตัวเท่านั้น และเขาจะปรากฏตัวออกมาพร้อมผ้ากะฟั่นบนกาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากต้องการแจ้งให้มนุษย์ได้รับรู้ถึงความเร้นลับของวันกิยามะฮ์โดยแสดงให้เห็นในพิธีกรรมฮัจญ์ ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีคำสั่งว่าให้สวมอาภรณ์เรียบง่ายธรรมดา เพียงแค่ปิดอวัยวะพึงสงวนให้มิดชิด เสื้อผ้าที่ไม่ได้ตัดเย็บคือชุดอิฮ์รอมนั่นเอง เพื่อให้การเดินไปสู่ความตายเป็นภาพลักษณ์ที่อยู่ในความทรงจำเสมอไป

         

ท่านอิมามซัจญาด (อ.) กล่าวว่า “ความหมายของการปลดเปลื้องอาภรณ์ตัดเย็บออกจากร่าง กล่าวคือ โอ้ อัลลอฮ์ ข้าฯ ขอสาบานว่าจะไม่กลับไปสวมอาภรณ์แห่งบาปกรรมอีก และขอกลับตัวกลับใจจากความผิดทั้งหมด”

       

 แน่นอนว่า การไม่ทำความผิดเพียงอย่างเดียวไม่สำคัญทว่า “การเชื่อฟังปฏิบัติตาม” สำคัญยิ่งกว่า

 

เชิงอรรถ :

(1) บทฮัจญ์ 29

(2) บทฮัจญ์ 33

(3) วะซาอิลุชชีอะฮฺ เล่ม 9 หน้า 347

(4) ฆุรรอรุลฮิกัม ฮะดีษที่ 6298

(5) บิฮารุลอันวาร เล่ม 99 หน้า 65

(6) บทวากิอะฮฺ 77-79

(7) บทบะเกาะเราะฮฺ 222

(8) บทอาลิอิมรอน 97

(9) บทบะเกาะเราะฮฺ 127

(10) บทบะเกาะเราะฮฺ 125

(11) มันลายะเฎาะเราะฮุลฟะกีฮฺ เล่ม 2 หน้า 124

(12) บทบะเกาะเราะฮฺ 127

(13) บทซาริอาต 51.

(14) บทบะเกาะเราะฮฺ 115

(15) บทบะเกาะเราะฮฺ 81

(16) บทฮุมะซะฮฺ 5-6

(17) บทกะฮฺฟิ 104

(18) บทอิบรอฮีม 9

(19) บทบะเกาะเราะฮฺ 19

(20) บทซุครุฟ 84

(21) บทอังกะบูต 69

(22) บทฏอริก 9

(23) บิฮารุลอันวาร กิตาบฮัจญ์ หน้า 59

(24) บทอังกะบูต 45

(25) บทบะลัด 1-2

(26) บทฮัจญ์ 25

(27) บทฟีล

(28) วะซาอิลุชชีอะฮฺ เล่ม 16, หน้า 246

 

บทความโดย  เชคมุฮัมมัดชรีฟ เกตุสมบูรณ์

ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth