เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทบาทของบรรดาอิมาม (อ.) ในการรณรงค์และฟื้นฟูการรำลึกถึงนามของท่านอิมามฮุเซน (อ.)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทบาทของบรรดาอิมาม (อ.) ในการรณรงค์และฟื้นฟูการรำลึกถึงนามของท่านอิมามฮุเซน (อ.)

 

     

ในโองการจำนวนมากของคัมภีร์อัลกุรอานได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรำลึกถึงบรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า และบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ การเล่าขานถึงเรื่องราวที่เป็นอุทาหรณ์และบทเรียนของพวกท่านเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น :

 

وَاذْكُرْ فِي الْكِتَابِ إِبْرَاهِيمَ إِنَّهُ كَانَ صِدِّيقًا نَبِيًّا

 

  “และเจ้า (มุฮัมมัด) จงกล่าวระลึก (แก่มนุษยชาติ) เกี่ยวกับ (เรื่องราวของ) อิบรอฮีม ในคัมภีร์

(อัลกุรอาน) เถิด เพราะแท้จริงเขาเป็นผู้มีสัจจะยิ่งนัก อีกทั้งเป็นศาสดาผู้หนึ่ง” (1)

 

وَاذْكُرْ عِبَادَنَا إِبْرَاهِيمَ وَإِسْحَاقَ وَيَعْقُوبَ أُولِي الأَيْدِي وَالأَبْصَارِ         

         

“และเจ้าจงกล่าวระลึกปวงบ่าวของเราคือ อิบรอฮีม อิสหากและยะอ์กูบเถิด พวกเขามีพลังอำนาจและมีวิจารณญาณ” (2)

 

وَاذْكُرْ فِي الْكِتَابِ إِسْمَاعِيلَ ۚ إِنَّهُ كَانَ صَادِقَ الْوَعْدِ وَكَانَ رَسُولًا نَّبِيًّا

       

  “และเจ้าจงกล่าวรำลึก(เรื่องราวของ) อิสมาอีล ในคัมภีร์ (อัลกุรอาน) เถิด เพราะแท้จริงเขาเป็นผู้มีสัจจะในสัญญา และเขาเป็นศาสนทูต อีกทั้งเป็นศาสดา” (3)

 

     

จะเห็นได้ว่าโองการเหล่านี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะชี้ให้เรารับรู้เพียงในด้านส่วนตัว ด้านครอบครัว หรือเรื่องราวทั่วไปที่เกี่ยวกับชีวิตของบุคคลเหล่านี้เพียงเท่านั้น แต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงความดีงาม คุณลักษณะอันสูงส่งทางด้านคุณธรรม ภารกิจที่สำคัญและสร้างสรรค์ของบุคคลเหล่านี้ เพื่อให้เราคิดใคร่ครวญและนำมาเป็นบทเรียนและแบบอย่างในการดำเนินชีวิต โดยทั่วไปแล้วการเล่าเรื่องราวและประวัติศาสตร์ในคัมภีร์อัลกุรอานจะมีเป้าหมายดังนี้

 

فَاقْصُصْ الْقَصَصَ لَعَلَّهُمْ يَتَفَكَّرُونَ

         

“ดังนั้นเจ้าจงเล่าเรื่องราว (ประวัติศาสตร์) เถิด เพื่อพวกเจ้าจะได้ตริตรอง” (4)

 

     

ด้วยเหตุนี้เองจะเห็นได้ว่า บรรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) ก็มีเป้าหมายดังกล่าวเช่นเดียวกัน ท่านเหล่านี้มีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้นามชื่อของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลาได้รับการรำลึกและคงอยู่ในความทรงจำของมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดามุสลิม ในฐานะที่เป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ที่สุดในด้านการเสียสละ การพลีอุทิศตนในหนทางแห่งการพิทักษ์หลักธรรมของพระผู้เป็นเจ้า และการทำให้ประชาชาติหลุดพ้นจากความมืดมนและการกดขี่ ท่านจะตอกย้ำเรื่องราวเหล่านี้ในทุกโอกาสที่เป็นไปได้

 

     

แน่นอนยิ่ง การรำลึกถึงมหาบุรุษเหล่านี้จะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ และเป็นตัวกำหนดทิศทางที่ถูกต้องให้แก่ชีวิตของมนุษย์ และจะช่วยทำให้จิตวิญญาณแห่งการเสียสละและการพลีอุทิศตนได้ดำรงอยู่ในสังคม อีกทั้งจะทำให้มนุษย์มีความเข้มแข็งและอดทนอดกลั้นต่อการเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรค์ต่างๆ ที่หนักหน่วงในชีวิต การรำลึกถึงบรรดาผู้ทรงคุณธรรมเหล่านี้จะช่วยทำให้ชนชาติทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดามุสลิม ได้เรียนรู้แบบอย่างอันสูงส่ง และปฏิบัติตามพวกท่านเหล่านั้น

 

แนวทางของบรรดาอิมาม (อ.) ในการรำลึกถึงเหตุการณ์อาชูรอและชาวอาชูรอ

 

     

ในความพยายามที่จะทำให้ความทรงจำของเหตุการณ์แห่งอาชูรอและการรำลึกถึงท่านอิมามฮุเซน (อ.) ดำรงอยู่ในสังคมนั้น บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ได้ใช้วิธีการต่างๆ อย่างเช่น :

 

การจัดมัจญ์ลิซไว้อาลัย


         

อัลกอมะฮ์ ฮัฎรอมีย์ เล่าว่า : ในวันอาชูรอ ท่านอิมามบากิร (อ.) มักจะจัดพิธีแสดงความเศร้าโศกเสียใจต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ขึ้นในบ้านของท่าน

 

ثم لیندب الحسین و یبکیه و یأمر من فی داره بالبکاء علیه ….. و لیعز بعضهم بعضا بمصاب الحسین علیه السلام

       

  “…. จากนั้นท่านจะแสดงความอาลัยและร้องไห้ให้ต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) และกำชับให้ผู้คนที่อยู่ในบ้านของท่าน ให้ร้องไห้ต่อท่านอิมาม (อ.) …. และให้พวกเขาปลอบประโลมและแสดงความเสียใจต่อกันในสิ่งที่มาประสบกับพวกเขาเนื่องจากฮุเซน (อ.)” (5)

 

     

 ความดีงาม (บารอกัต) ต่างๆ ที่วันนี้ประชาชาติอิสลามได้รับจากมัจญ์ลิซที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น ไม่เป็นที่ปิดบังอำพรางสำหรับผู้ใด ร่องรอยและผลต่างๆ ทางด้านวัฒนธรรมและการขัดเกลาจากคำสอนและแบบอย่าง (ซุนนะฮ์) อันเป็นอมตะของบรรดาอิมาม (อ.) นั้นมีมากมาย ซึ่งมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของบรรดาชีอะฮ์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

 

การย้ำเตือนความทุกข์โศก (มุซีบัต) ต่างๆ ของอิมามฮุเซน (อ.) ในโอกาสต่างๆ


     

 ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ท่านได้กล่าวกับ “ดาวูด ริกกี” ว่า :

 

اني ما شربت ماء باردا الا ذكرت الحسين عليه السلام

     

    “แท้จริงไม่มีคราใดที่ฉันได้ดื่มน้ำเย็น นอกจากฉันจะรำลึกถึงท่านฮุเซน (อ.” (6)

 

     

 ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) อีกทบหนึ่งได้กล่าวว่า ; ในช่วงเวลาที่มันซูร ดะวานีกี ผู้ปกครองแห่งอับบาซียะฮ์ ได้จุดไฟเผาประตูบ้านของท่านอิมามซอดิก (อ.) ท่านอิมามซึ่งอยู่ในบ้านดับไฟและปลอบขวัญลูกสาวและสตรีที่อยู่ในอาการหวาดผวา ในวันรุ่งขึ้นชีอะฮ์กลุ่มหนึ่งได้มาเยี่ยมเพื่อสอบถามสภาพของท่านอิมาม (อ.) พวกเขาได้พบเห็นว่าท่านอิมาม (อ.) อยู่ในอาการเศร้าโศกและร้องไห้ พวกเขาถามท่านว่า “ทำไมท่านจึงเศร้าโศกและร่ำไห้ถึงเพียงนี้! เป็นเพราะความอุกอาจและการไม่ให้เกียรติของพวกเขาต่อท่านกระนั้นหรือ?” ท่านอิมามซอดิก (อ.) ตอบว่า :

 

لا ولکن لما اخذت النار ما فی الدهلیز نظرت الی نسائی و بناتی یتراکضن فی صحن الدار من حجرة الی حجرة و من مکان الی مکان هذا و انا معهن فی الدار فتذکرت فرار عیال جدی الحسین علیه السلام یوم عاشوراء من خیمة الی خیمة و من خباء الی خباء       

   

      “มิใช่เช่นนั้น! แต่ทว่าเมื่อไฟได้ลุกไหม้สิ่งที่อยู่ในเฉลียงบ้าน ฉันได้เห็นบรรดาสตรีและลูกสาวของฉันวิ่งไปมาอยู่ในที่ว่างกลางบ้าน จากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง และจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นในขณะที่ฉันอยู่กับพวกเธอในบ้าน ทำให้ฉันรำลึกถึงการวิ่งหนีของครอบครัวของฮุเซน (อ.) ตาของฉันในวันอาชูรอ จากกระโจมที่พักหนึ่งไปยังกระโจมที่พักหนึ่ง และจากกระโจมที่พักหนึ่งไปยังกระโจมที่พักหนึ่ง” (7)

 

การร้องไห้และการทำให้ผู้อื่นร้องไห้


     

หนึ่งในวิธีการที่มีประสิธิภาพมากที่สุดของบรรดาอิมาม (อ.) ในการให้ชีวิต (อิห์ยาอ์) ขบวนการต่อสู้แห่งอาชูรอ คือการร้องไห้ต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ตลอดสมัยก็การเป็นอิมามของท่านอิมามซัจญาด (อ.) ท่านจะแสดงการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา และในการรำลึกถึงเหตุการณ์ทุกข์โศก (มุซีบัต) นี้ ท่านจะร้องไห้อย่างมากมาย จนถึงขั้นได้รับสมญานามว่า “ผู้ที่ร้องไห้อย่างมากมายของโลก” ท่านอิมามซัจญาด (อ.) กล่าวว่า :

 

 اِنّى لَمْ اَذْکُرْ مَصْرَعَ بَنى فاطِمَةَ اِلاّ خَنَقَتْنى لِذلِکَ عَبْرَةٌ

       

  “แท้จริงฉันมิได้รำลึกถึงสถานที่ถูกสังหารของบรรดาลูกหลานของฟาฏิมะฮ์ (อ.) นอกจากน้ำตาจะทำให้ฉันอัดอั้น” (8)

 

     

การร้องไห้ของท่านอิมาม (อ.) ที่เกิดขึ้นในโอกาสต่างๆ นั้น ได้เป็นสื่อปลุกเร้าสาธารณชนให้ตื่นตัวและกระตุ้นมิให้หลงลืมชื่อและการรำลึกถึงบรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลา ในการแสดงความโศกเศร้าเสียใจต่อบรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลานั้น บรรดาอิมามของชีอะฮ์มิได้เพียงแต่ทำให้ตัวเองร้องไห้เพียงเท่านั้น แต่ทว่าตลอดเวลาพวกท่านจะส่งเสริมและสนับสนุนประชาชนได้แสดงความเสียใจด้วยกับการร้องไห้ให้กับอิมามฮุเซน (อ.) ด้วยเช่นกัน ดั่งในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งจากอิมามริฎอ (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า :

 

فَعَلَى مِثْلِ الْحُسَيْنِ فَلْيَبْكِ الْبَاكُونَ ، فَإِنَّ الْبُكَاءَ عَلَيْهِ يَحُطُّ الذُّنُوبَ الْعِظَامَ

 

“สำหรับบุคคลเช่นฮุเซน (อ.) นี้ ผู้ที่ร้องไห้ทั้งหลายจงร้องไห้เถิด เพราะแท้จริงการร้องไห้ให้กับท่านจะทำให้บาปใหญ่ทั้งหลายร่วงหล่น” (9)

 

       

ผลรางวัลต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่ของการร้องไห้ให้กับอิมามฮุเซน (อ.) นั้น ได้ถูกกล่าวถึงในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ และการทำให้ผู้อื่นร้องไห้หรือแม้แต่การแสดงออกด้วยการร้องไห้ ก็มีคำรายงานต่างๆ ได้กล่าวถึงผลรางวัลไว้อย่างมากมาย ในริวายะฮ์บทหนึ่งได้กล่าวถึงการร้องไห้ต่อการถูกอธรรมของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ไว้เช่นนี้ว่า :

 

من بکی و ابکی واحدا فله الجنة، و من تباکی فله الجنة

     

    “…. ผู้ใดที่ร้องไห้และทำให้ผู้หนึ่งร้องไห้ ดังนั้นเขาจะได้รับสวรรค์ และผู้ใดที่พยายามทำให้ตัวเองร้องไห้ ดังนั้นเขาจะได้รับสวรรค์” (10)

 

     

 ทั้งหมดเหล่านี้เป็นการส่งเสริมเพื่อให้การรำลึกถึงโศกนาฏกรรมแห่งอาชูรอได้ดำรงอยู่ในสังคมและในความคิดของประชาชน และการได้เรียนรู้บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว

 

การส่งเสริมให้บรรดากวีกล่าวบทโคลงแสดงความเศร้าโศกเสียใจ


       

จะเห็นได้จากริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านอิมามซอดิก (อ.) ที่ท่านได้ชี้ให้ “อบูฮารูน มักฟูฟ” สาวกคนหนึ่งของท่าน รำพันบทโคลงเกี่ยวกับการท่านอิมามฮุเซน (อ.) แล้วท่านก็ร้องไห้ จากนั้นท่านกล่าวว่า :

 

يا أبا هارونَ ! مَن أنشَدَ فِي الحُسَينِ عليه السلام فَأَبكى عَشَرَةً فَلَهُ الجَنَّةُ 

   

      “โอ้อบูฮารูนเอ๋ย! ใครก็ตามที่อ่านบทโคลงเกี่ยวกับฮุเซน (อ.) แล้วทำให้คนสิบคนร้องไห้ ดังนั้นสวรรค์จะเป็นของเขา” (11)

 

การให้ความสำคัญต่อดิน (ตุรบัต) อิมามฮุเซน (อ.)


     

 บรรดาศัตรูของอิสลาม ทั้งจากบนีอุมัยยะฮ์และบนีอับบาส ได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะทำให้ประชาชนลืมเลือนจากเหตุการณ์การยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาสหายผู้บริสุทธิ์ของท่าน และทำให้พวกเขาหยุดที่จะพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าว กระทั่งว่าพวกเขาต้องการที่จะทำลายไม่ให้เหลือแม้แต่ร่องรอยใดๆ แม้แต่หลุมฝังศพของท่านอิมาม (อ.) จะเห็นได้จากการที่หลายต่อหลายครั้งที่บรรดาผู้ปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ได้มีการทำลายหลุมฝังศพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ลงอย่างราบคาย (12)

 

       

ด้วยเหตุนี้เองบรรดาอิมาม (อ.) จึงได้ใช้ทุกโอกาสที่อำนวยในการเผชิญหน้าและตอบโต้การกระทำดังกล่าวของศัตรู และท่านเหล่านั้นถือว่า “ตุรบัต” (ดิน) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือส่วนหนึ่งจากดินแห่งสวรรค์ เป็นบ่อเกิดของการเยียวยารักษา (ชิฟาอ์) ความป่วยไข้และโรคภัยต่างๆ อีกทั้งเป็นสื่อของความจำเริญ (บารอกัต) สำหรับชีวิต ในริวายะฮ์ททหนึ่ง ท่านอิมามมูซา กาซิม ได้กล่าวว่า :

 

لاتأخذوا من تربتی شیئا لتبرّکوا به فانّ کل تربة لنا مُحرمة إلاّ تربة جدی الحسین بن علی علیه السلام فان الله عزوجل جعلها شفاء لشیعتنا و أولیائنا

     

    “ท่านทั้งหลายอย่าได้นำสิ่งใดจากดินของฉันไปเพื่อแสวงหาความจำเริญ (ตะบัรรุก) เพราะทุกดินของเราเป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นดิน (ตุรบะฮ์) ของท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) ปู่ของฉัน เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร ได้ทรงทำให้มันเป็นสื่อในการเยียวยารักษาแก่ชีอะฮ์และมวลมิตรของเรา” (13)

 

       

มีรายงานเกี่ยวกับอิมามซัจญาด (อ.) ว่า “ท่านจะเก็บรักษาตุรบัร (ดิน) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไว้ในห่อผ้าหนึ่ง เมื่อถึงเวลานมาซ ท่านจะเทดินนั้นลงบนผ้าปูนมาซของท่าน และจะซุญูดบนมัน” (14)

 

     

 จากคำรายงานต่างๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวกับตุรบะฮ์ (ดิน) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น ทำให้รับรู้ได้ว่าการใช้ประโยชน์จากความจำเริญ (บารอกัต) จากดินของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น จะเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกของการถือกำเนิด โดยการใช้เปิดปาก (ตะห์นีก) ทารก ซึ่งเป็นช่วงเริ่มแรกของการดำเนินชีวิต ไปจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วยการวางตุรบะฮ์ (ดิน) ของท่านอิมาม (อ.) ลงไปในหลุมฝังศพ

 

       

ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า :

 

حنکوا اولادکم بتربة الحسین علیه السلام

       

  “ท่านทั้งหลายจงเปิดปากลูกๆ ของพวกท่านด้วยตุรบัต (ดิน) ของฮุเซน (อ.) เถิด” (15)

       

นอกจากนี้การทำดินเป็นก้อนสำหรับใช้ในการซุญูดและตัสเบี๊ยะห์จากตุรบัต (ดิน) กัรบะลา การพกพา การกินในปริมาณที่เล็กน้อย (เช่นขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวละลายในน้ำและดื่ม) ด้วยเจตนาเพื่อการเยียวยารักษา (ชิฟาอ์) ความเจ็บป่วย และการเริ่มต้นรับประทานมันก่อนอาหารอื่นใดในวันอีดิลฟิฏรี่นั้น นับเป็นส่วนหนึ่งจากประเด็นต่างๆ ที่บรรดาอิมาม (อ.) ได้ส่งเสริมและสั่งเสียให้กระทำมัน (16)

 

การให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการซิยาเราะฮ์หลุมฝังศพของท่านอิมามฮุเซน (อ.)


     

 บรรดาอิมาม (อ.) นอกจากตัวพวกท่านเองจะไปซิยารัตหลุมฝังศพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) แล้ว พวกท่านยังได้ส่งเสริมและระดมชาวชีอะฮ์ให้เดินทางไปยังกัรบะลา เพื่อทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับบรรดาชะฮีดเหล่านั้นได้ดำรงอยู่ ด้วยกับการอธิบายถึงผลรางวัลที่ยิ่งใหญ่ของการไปซิยารัตท่านอิมามฮุเซน (อ.) และด้วยกับวิธีการดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการตีแสกหน้าอย่างหนักต่อบรรดาผู้ที่ปฏิเสธ ผู้ที่มีหัวใจอคติ และบรรดาศัตรูของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ที่ท่านได้กล่าวว่า :

 

ما من احد یوم القیامه الا وهو یتمنی انه من زوار الحسین لما یری مما یصنع بزوار الحسین من کرامتهم علی الله تعالی

     

    “ในวันกิยามะฮ์ ไม่มีผู้ใด เว้นแต่เขาจะคาดหวังว่าเขาน่าจะได้เป็นผู้ที่ไปซิยารัตท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) เนื่องจากเขาจะเห็นสิ่งที่ได้ถูกปฏิบัติต่อบรรดาผู้ที่ได้ไปซิยาเราะฮ์ต่อท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) จากเกียรติของพวกเขาที่มี ณ อัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง” (17)

 

       

ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) อีกบทหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ที่ท่านได้กล่าวว่า :

 

مَنْ سَرَّهُ أَنْ يَكُونَ عَلَى مَوَائِدِ نُورٍ يَوْمَ الْقِيَامَةِ فَلْيَكُنْ مِنْ زُوَّارِ الْحُسَيْنِ بْنِ عَلِيٍّ عليه السَّلام

     

    “ผู้ใดที่ปรารถนาจะได้อยู่ ณ บรรดาสำรับอาหารแห่งรัศมี (นูร) ในวันกิยามะฮ์ ดังนั้นเขาจงเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ไปซิยารัตท่านฮุเซน (อ.) บินอะลี (อ.) เถิด” (18)

 

     

 กระทั่งว่าในบางรายงาย (ริวายะฮ์) ได้เน้นย้ำให้เราเดินทางไปซิยารัตท่านอิมามฮุเซน (อ.) ให้มากๆ ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

 

من سره أن ینظر الى الله القیمه، و تهون علیه سکره الموت،و هول المطلع فلیکثر زیاره قبرالحسین علیه السلام

     

    “ผู้ใดที่ปรารถนาจะมองไปยัง (พระเมตตาต่างๆ ของ) อัลลอฮ์ในวันกิยามะฮ์ และอาการทุรนทุรายจากความตายและความน่าสะพรึงกลัวของวันกิยามะฮ์ จะเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับเขา ดังนั้นเขาจงไปซิยารัตหลุมฝังศพของฮุเซน (อ.) ให้มากๆ” (19)

 

 

เชิงอรรถ :

(1) อัลกุรอาน บทมัรยัม โองการที่ 41

(2) อัลกุรอาน บทซ๊อด โองการที่ 45

(3) อัลกุรอาน บทมัรยัม โองการที่ 54

(4) อัลกุรอาน บทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 176

(5) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 10, หน้า 398

(6) อัลอะมาลีย์, เชคซุดูก, หน้า 142

(7) มะอ์ซาตุลฮุเซน, หน้า 117

(8) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 46, หน้า 108

(9) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 284

(10) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 288

(11) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 287

(12) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้า 390

(13) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 98, หน้า 118

(14) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 98, หน้า 135

(15) วะซาอิลุชชีอะฮ์ , เล่มที่ 10, หน้า 410

(16) วะซาอิลุชชีอะฮ์ , เล่มที่ 10, หน้า 414

(17) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 98, หน้า 72

(18) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 98, หน้า 72

(19) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 98, หน้า 77

 

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม