เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เตาฮีด(ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 18

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)

เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 18

 

 

 

นิยามของเตาฮีด ตามหลักภาษา คำว่า เตาฮีดให้ความหมายว่า ความเป็นเอกะ ความเป็นเอกภาพ

นิยาม ของ เตาฮีด ตามหลักวิชาการ

1- การปฏิเสธการมีจำนวน (ตะอัดดุด) การปฏิเสธการมีภาคต่างๆ ของพระเจ้า ซาตของพระองค์นั้นเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสิ่งใดที่จะเสมอเหมือนพระองค์ ปฏิเสธการมีพระเจ้าหลายองค์หรือหลายภาค เพราะการมีพระเจ้าหลายองค์ ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งในเอกภพอย่างแน่นอนและจะนำสู่ความพินาศของเอกภพตามที่ได้อธิบายไปแล้ว

 

2. “เตาฮีด อัฟอาลี”(ผู้มีอำนาจแต่เพียงหนึ่งเดียวในทุกๆผลของกริยา) คือ ทุกการกระทำ เป็นการกระทำที่มาจากอำนาจของพระองค์แต่เพียงองค์เดียว ไม่มีหุ้นส่วนใดๆหรือการช่วยเหลือใดๆในการกระทำของพระองค์ และจะไม่มีการกระทำใดสามารถเกิดขึ้นได้เว้นแต่ด้วยความประสงค์และความต้องการของพระองค์ พระองค์เป็นผู้กระทำสิ่งต่างๆด้วยตัวพระองค์เอง ในการสร้าง ในการอภิบาล และการประทานปัจจัยยังชีพ และไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใด อาจมีคำถามว่าในความเป็นจริงเห็นได้ว่ามีมนุษย์เป็นผู้กระทำหรือเป็นแหล่งเกิดการกระทำการงานต่างๆมากมาย รวมทั้งบรรดามาลาอิกะฮ์ที่มีหน้าที่ต่างๆ คำตอบคือสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอำนาจทำให้เกิดสิ่งใดๆได้เลยเว้นแต่มาจากอำนาจของพระองค์ที่พระองค์มอบให้กับสิ่งเหล่านี้ ผู้กระทำเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นเอกเทศในการกระทำของตน เป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้การกระทำของพระองค์ ซูเราะฮ์ อัลอันฟาลโองการที่ 17 ได้ยืนยันเนื้อหานี้ไว้

 

فَلَمْ تَقْتُلُوهُمْ وَ لَاكِنَّ اللَّهَ قَتَلَهُمْ وَ مَا رَمَيْتَ إِذْ رَمَيْتَ وَ لَاكِنَّ اللَّهَ رَمَى‏

 

“พวกเจ้ามิได้ฆ่าพวกเขาหรอก แต่ทว่าอัลลอฮ์ต่างหากที่ทรงฆ่าพวกเขา และเจ้าไม่ได้ขว้างหรอกในขณะที่เจ้าขว้าง แต่ทว่าอัลลอฮ์ต่างหากที่ขว้าง”

 

โองการนี้ถูกประทานลงมาในฮิจเราะฮ์ที่สอง หลังจากเหตุการณ์สงครามบะดัร ซึ่งวันนั้นมุสลิมมีเพียงจำนวนน้อยนิดไม่สามารถมีชัยเหนือบรรดาผู้ตั้งภาคีได้ ในโองการให้ความหมายว่า ผู้ที่ฆ่าผู้ที่ขว้างบรรดามุชรีกีนที่แท้จริง คือ อัลลอฮ์ (ซ.บ) ผู้กระทำที่แท้จริงคืออัลลอฮ์ (ซ.บ)

เพื่อให้มนุษย์ได้เข้าใจผลทุกอย่างของการกระทำนั้น พระองค์เท่านั้นคือผู้กำหนด แม้แต่การฆ่าศัตรูในสงคราม พระองค์ต่างหากที่เป็นผู้กระทำที่แท้จริง การเคลื่อนไหวของมนุษย์เป็นแค่ภาพหรือฉากประกอบเท่านั้น ได้หรือไม่ได้ สำเร็จหรือไม่สำเร็จและอื่นๆ พระองค์เพียงองค์เดียวเท่า คือ ผู้กำหนด ผู้ที่เข้าใจและยอมรับในเตาฮีดอัฟอาลี ชีวิตของเขาจะสงบนิ่ง และเคลื่อนไหวอย่างมั่นคงเพราะเขารู้ว่าพระองค์เท่านั้น คือผู้กำหนดผลของทุกการกระทำ

 

3. “เตาฮีด อิสติกลาลี” คือ ผลของการกระทำต่างๆนั้นเกิดมาจากการกำหนดและการอนุมัติของพระองค์ทั้งหมดโดยเอกเทศอย่างสมบรูณ์ ผู้ที่เป็นเอกเทศอย่างสมบูรณ์คือพระองค์เท่านั้น พระองค์มีความเป็นเอกเทศในการกระทำสิ่งต่างๆ โองการในซูเราะฮ์ อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 110

 

إِذْ قالَ اللَّهُ يا عيسَي ابْنَ مَرْيَمَ اذْکُرْ نِعْمَتي‏ عَلَيْکَ وَ عَلي‏ والِدَتِکَ إِذْ أَيَّدْتُکَ بِرُوحِ الْقُدُسِ تُکَلِّمُ النَّاسَ فِي الْمَهْدِ وَ کَهْلاً وَ إِذْ عَلَّمْتُکَ الْکِتابَ وَ الْحِکْمَةَ وَ التَّوْراةَ وَ الْإِنْجيلَ وَ إِذْ تَخْلُقُ مِنَ الطِّينِ کَهَيْئَةِ الطَّيْرِ بِإِذْني‏ فَتَنْفُخُ فيها فَتَکُونُ طَيْراً بِإِذْني‏ وَ تُبْرِئُ الْأَکْمَهَ وَ الْأَبْرَصَ بِإِذْني

 

“จงรำลึกถึงขณะที่อัลลอฮ์ตรัสแก่อีซาบุตรของมัรยัมว่า จงรำลึกถึงความโปรดปรานของข้าที่มีต่อเจ้าและมารดาของเจ้า ขณะที่ข้าได้สนับสนุนโดยที่เจ้าพูดกับประชาชนในขณะที่อยู่ในเปล และขณะที่ข้าได้สอนคัมภีร์ เตารอต อินญีล และวิทยปัญญาให้แก่เจ้า และขณะที่เจ้าสร้างขึ้นจากดินดั่งรูปนก ด้วยอนุมัติของข้าเมื่อเจ้าเป่าไปรูปยังนกนั้นมันก็กลายเป็นนกที่มีชีวิตด้วยอนุมัติของข้า และขณะที่เจ้ารักษาคนตาบอดตั้งแต่กำเนิด และคนที่เป็นโรคผิวหนังให้หายด้วยอนุมัติของข้า และขณะที่เจ้าฟื้นชีวิตให้แก่คนตายด้วยอนุมัติของข้า…”

 

จากโองการดังกล่าว การให้ชีวิตแก่คนตาย การรักษาโรค การเป่าวิญญาณ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ์ คำว่า “บิอิสนี” คือด้วยการอนุมัติของฉัน หมายถึงด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ์ พระองค์เป็นเอกเทศในการอนุมัติสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้น

 

จากนิยามในข้อ 2 และข้อ 3 นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผลที่จะเกิดขึ้นจากการเชื่อมั่นในสองข้อนี้อย่างแท้จริงนั้นคือ

 

1. ทำให้มนุษย์มอบการอิบาดัตเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงองค์เดียว ทำให้มนุษย์มีพลังในการขับเคลื่อนและพัฒนา

 

ซูเราะฮฺ ฮัมดฺ โองการที่ 5 ได้กล่าวไว้ว่า

 

إِيَّاكَ نَعْبُدُ وَ إِيَّاكَ نَسْتَعِين‏

“เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราของความช่วยเหลือ”

 

2. ทำให้มนุษย์มอบความเกรงกลัว และความไว้วางใจ (ตะวักกุล) ต่อพระองค์แต่เพียงผู้เดียว

 

"ข้อสังเกต"

อาจจะเกิดคำถามว่าเรื่องนี้มันขัดแย้งกับความเชื่อของพี่น้องมุสลิมหรือไม่ที่เชื่อว่าพระองค์คือผู้ทรงอำนาจสูงสุด ผู้ทรงกำหนดผลของการกระทำต่างๆ ผู้ทรงเอกเทศในการกระทำสิ่งต่างๆและทรงเอกเทศในการอนุมัติและกำหนดผลของการกระทำ ทำไมจึงยังมีการขอผ่านสื่อ(ตะวัซซุล)อีก ทำไมไม่ขอต่อพระองค์ผู้ทรงอำนาจโดยตรง

คำตอบคือไม่ขัด เพราะการขอผ่านสื่อกลางนั้นพระองค์ใช้ให้ขอ ซึ่งโองการที่ยืนยันคือ ซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ โองการที่ 35

 

يَأَيُّهَا الَّذِينَ ءَامَنُواْ اتَّقُواْ اللَّهَ وَ ابْتَغُواْ إِلَيْهِ الْوَسِيلَةَ وَ جَاهِدُواْ فىِ سَبِيلِهِ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُون‏

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์และจงแสวงหาสื่อไปยังพระองค์ และจงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ (ซบ) เผื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ”

 

ก็เพราะว่าบรรดาสื่อกลางเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็น นบี อะฮ์ลุลบัยต์หรือบรรดาวะลี พวกท่านเหล่านั้นได้รับอำนาจมาจากอัลลอฮฺ (ซบ) และเหตุผลที่พระองค์ต้องการขอผ่านสื่อกลางเหล่านั้น เพราะพระองค์ประสงค์ที่จะให้มนุษย์รู้จักพวกท่านเหล่านั้น ว่าบุคคลใดบ้างที่ใกล้ชิดกับพระองค์มากที่สุด ผู้ใดที่มีเกียรติ ณ.พระองค์มากที่สุด และการที่มนุษย์รู้ว่า มีมนุษย์กลุ่มหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความสูงส่ง เป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับอัลลอฮ์มากที่สุดนั้น มันเป็นแรงจูงใจให้มนุษย์พัฒนาไปสู่ความสูงส่งด้วย และเพื่อป้องกันการยโสโอหัง (ตะกับบุร)ของมนุษย์เพื่อที่จะให้มนุษย์รู้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่สูงส่งที่สุดอยู่

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม