เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 35

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)

เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 35

 

ความหมายของการตั้งภาคี “شرك” {ชีริก} และรูปแบบต่างๆของมัน

 

شرك” {ชีริก} คือ ความเชื่อในการอภิบาลสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ (ซ.บ) ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ทางตรง คือ การกราบไหว้สิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์(ซบ)เป็นพระเจ้า เชื่อว่าอำนาจเป็นของสิ่งนั้นๆโดยตรงอย่างเป็นเอกเทศ

ทางอ้อม คือ เชื่อว่าอัลลอฮ์(ซบ)เป็นพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างแต่ในขณะเดียวก็เชื่อว่า มีสิ่งอื่นเป็นผู้อภิบาลโดยมีอำนาจเป็นเอกเทศในการอภิบาลด้วย บางครั้งการตั้งภาคีมีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติอิบาดัตของมนุษย์ บางครั้งเป็นภาคีที่เปิดเผย บางครั้งอาจจะเป็นภาคีที่ซ่อนเร้น

 

การตั้งภาคีแบบเปิดเผย คือ ในการปฏิบัติอิบาดัตต่อผู้อื่นที่นอกเหนือจากอัลลอฮ์(ซบ)พร้อมกับมีความเชื่อว่าสิ่งที่เขาเคารพภักดีนั้นมีความเหมาสมคู่ควรและมีสถานะภาพของความเป็นพระเจ้า และการตั้งภาคีอีกประเภทหนึ่งคือ การตั้งภาคีในรูปแบบที่ซ่อนเร้น

 

อิสลามถือว่า ความลุ่มหลงในโลกนี้ การหลงไหลในตำแหน่ง และการปฏิบัติตามกิเลสของตัวเอง คือการตั้งภาคีแบบซ่อนเร้น ในความเป็นจริงเขากำลังเคารพภักดีอิบาดัตกิเลสใฝ่ต่ำของตัวเอง ซึ่งอัลกุรอานได้อธิบายไว้ในซูเราะฮ์อัลฟุรกอน โองการที่ 43

 

أَ رَءَيْتَ مَنِ اتخََّذَ إِلَهَهُ هَوَئه‏

“เจ้าไม่เห็นผู้ที่เอาอารมณ์ใฝ่ต่ำของเขาเป็นพระเจ้าดอกหรือ”

 

จากทัศนะของอัลกุรอาน ผู้ใดที่ปฏิบัติตามกิเลสใฝ่ต่ำของตัวเอง ก็เท่ากับเขาเอากิเลสใฝ่ต่ำของตัวเองเป็นพระเจ้า แน่นอนว่า เป็นการตั้งภาคีชนิดหนึ่ง เรียกว่า การตั้งภาคีในการปฏิบัติอิบาดัต ซึ่งมันไม่ได้เปิดเผยให้เห็นอย่างชัดเจนเหมือนการกราบไหว้บูชารูปปั้น ทว่ามันคือ การตั้งภาคีที่ถูกซ่อนอยู่ ซึ่งการตั้งภาคีรูปแบบนี้เกิดขึ้นกับบรรดามุสลิมได้เช่นกัน

 

การตั้งภาคีในรูปแบบที่ซ่อนเร้นมีหลายประเภท ดังนี้

 

การตั้งภาคีในรูปแบบ "ชิรีกตะวักกัล”

 

บางครั้งในชีวิตของมนุษย์ ช่วงเวลาหนึ่งเขาอาจจะมีความเชื่อมั่นไปยังสาเหตุต่างๆทางธรรมชาติ จนทำให้มันหยั่งรากลึกลงไปในตัวของเขาและในที่สุดทำให้เขาเชื่อว่า ธรรมชาติและวัตถุ สามารถที่จะคลี่คลายปัญหาของเขาได้อย่างร้อยเปอร์เซนต์ จนเป็นสาเหตุทำให้เขามอบหมายไปยังสิ่งอื่นนอกจากพระองค์ รูปแบบประเภทนี้เป็นการตั้งภาคีในการมอบหมายไปยังสิ่งอื่นเหนือพระองค์ เรียกว่า “ชิรีกตะวักกัล”

 

การตั้งภาคีในรูปแบบชิรีกอิฏออัต

 

ตัวอย่าง การตั้งภาคีรูปแบบนี้ บุคคลหนึ่งได้ยอมจำนนต่อผู้นำที่อธรรมและปฏิบัติตามคำสั่งต่างๆของพวกเขาโดยไม่มีเหตุผลใดๆ สิ่งนี้คือการตั้งภาคีในการเคารพภักดี “ชิรีกอิฏออัต”

 

จะเห็นได้ว่า การตั้งภาคีแต่ละประเภทก็มีระดับความเข้มข้นของมัน และการตั้งภาคีในรูปแบบที่ซ่อนเร้นนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมและผู้ที่เป็นมุสลิม

 

- “ฮัดนิศอบเตาฮีด” มาตรฐานหรือปริมาณที่ถือได้ว่าบุคคลหนึ่ง มีความศรัทธาในเอกภาพของอัลลอฮ (ซบ) แบ่งออกเป็นสองภาคด้วยกัน คือ “นะซะรี” และ “อะมะลี”

 

1. “ฮัดนิศอบเตาฮีดนาซอรี (نظري) คือ การมีความเชื่อความศรัทธาใน

 ความเป็นเอกะของอาตมันของพระองค์

 ความเป็นเอกะในการสร้างของพระองค์

ความเป็นเอกะในการอภิบาลของพระองค์

 ความเป็นเอกะในการวางบทบัญญัติของพระองค์

 ความเป็นเอกะในสถานะภาพความเป็นพระเจ้าของอัลลอฮ์ (ซ.บ)

 

บ่งชี้ว่า เป็นการศรัทธาในความเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์ สำหรับสิ่งอื่นๆทั้งหมดนั้นไม่มีความเหมาะสมคู่ควรในความเป็นพระผู้สร้าง ในความเป็นผู้อภิบาล ในการวางบทบัญญัติ (ยกเว้นในกรณีที่พระองค์อนุญาตให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด)

 

2. “ฮัดนิศอบเตาฮีดอะมะลี” คือ มาตรฐานหรือปริมาณที่มีความจำเป็นในการเป็นมุสลิมในภาคที่เกี่ยวกับการปฏิบัติอิบาดัต อย่างไรก็ตามการตั้งภาคีในรูปแบบที่ซ่อนเร้น เช่น การลุ่มหลงดุนยาและหลงไหลในตำแหน่งนั้นยังไม่ถึงขั้นที่เป็นสาเหตุทำให้บุคคลหนึ่งต้องหลุดออกจากความเป็นมุสลิม แต่ทว่าการตั้งภาคีในการปฏิบัตอิบาดัต อย่างเช่น การเคารพภักดีอิบาดัตต่อสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากพระองค์นั้น เป็นที่ชัดแจ้งว่า ขัดกับเงื่อนไขเบื้องต้นในความเป็นมุสลิม

 

บุคคลที่มีมาตรฐานหรือปริมาณในความเป็นมุสลิมครบตามที่ศาสนาได้กำหนดไว้นั้น บทบัญญัติต่างๆหน้าที่ทางศาสนาก็จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขา เพื่อให้เขาพัฒนาทางจิตวิญญาณ เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ และค่อยๆพัฒนาไปสู่ตำแหน่งที่สูงส่งยิ่งขึ้น จนไปถึงความศรัทธาต่อความเป็นเอกะของพระองค์ในระดับอื่นๆ

 

ตัวอย่าง :

 

การพัฒนาไปสู่ความศรัทธาต่อความเป็นเอกะในการขอความช่วยเหลือจากพระองค์ เรียกว่า “เตาฮีด อิสติอานัต”

 

การพัฒนาไปสู่ความศรัทธาในความเป็นเอกภาพต่อการมอบหมายเฉพาะยังพระองค์ เรียกว่า “เตาฮีด ตะวักกุล” จนกระทั่งเขาสามารถพัฒนาตัวเองให้รอดพ้นจากการตั้งภาคีในรูปแบบที่ซ่อนเร้นได้

 

ประเด็นที่สำคัญอันหนึ่ง บางครั้งการสูญเสียความศรัทธาในความเป็นเอกะของพระองค์บางประเภทก็เป็นที่เพียงพอที่จะทำให้หลงทางและนำไปสู่ความโชคร้ายที่นิรันดร์ได้ และในขณะเดียวกันการศรัทธาในความเป็นเอกะในประเภทต่างๆที่มีอยู่นั้นก็ยังไม่เป็นที่เพียงพอในการที่จะนำไปสู่ความผาสุกได้

 

ตัวอย่าง :

 

ที่ชัดแจ้ง คือ เรื่องราวของอิบลีส ซึ่งโองการอัลกุรอานหลายๆโองการได้กล่าวไว้ เช่นซูเราะฮ์อัลฮิญร์ โองการที่ 30-31

 

فَسَجَدَ الْمَلَئكَةُ كُلُّهُمْ أَجْمَعُون إِلَّا إِبْلِيسَ أَبىَ أَن يَكُونَ مَعَ السَّاجِدِين‏ ‏

 

“ดังนั้นมะลาอิกะฮ์ทั้งหมดได้ก้มลงสูญูด เว้นแต่อิบลิสมันได้ปฏิเสธที่จะอยู่กับบรรดาผู้สูญูด”

 

ไชฏอนมีความศรัทธาต่อความเป็นเอกะในอาตมันของพระองค์ มีความศรัทธาในความเป็นเอกะในการสร้างของพระองค์ มีความศรัทธาในความเป็นเอกะในการอภิบาลของพระองค์ มีความศรัทธาในความมีสถานะภาพเป็นพระเจ้าของพระองค์ และได้เคารพภักดีอิบาดัตต่อพระองค์ถึงหกพันปี แต่เนื่องจากไชฏอนขัดคำสั่งของอัลลอฮ์(ซบ)ในการก้มกราบ “สูญูด” ต่อศาสดาอาดัม (อ) จึงเป็นสาเหตุทำให้ไชฏอนถูกสาปแช่งจากพระองค์ ด้วยกับเหตุผลที่ว่าไชฏอนมีความบกพร่องในการศรัทธาต่อความเป็นเอกะในคำสั่งและวางบทบัญญัติของพระองค์ “เตาฮีด ตัชรีอี”และบกพร่องในเตาฮีด"อูบูดียะห์"(การเคารพภักดี) จึงทำมันให้ตกจากตำแหน่งที่ครั้งหนึ่งมันเคยอยู่ในระดับเดียวกับมาลาอิกะฮ์แต่ต้องกลับกลายเป็นหัวหน้าของบรรดาชาวนรก

 

- อีกสาเหตุหนึ่งๆของการเกิด “ชีริก” “การตั้งภาคี”

 

เกิดจากความเข้าใจที่ผิดพลาดว่าสรรพสิ่งหนึ่ง(มะลูล) สามารถมีผู้สร้างหลายองค์(มีหลายอิลลัต) ซึ่งตามหลักปรัชญานั้นสรรพสิ่งหนึ่งๆ(มะลูล)นั้นสามารถเกิดมาจากผู้สร้างที่แท้จริง(อิลลัต)หนึ่งเดียวเท่านั้น ทว่าพวกเขาเข้าใจว่าพระเจ้าร่วมกันสร้างสรรพสิ่งต่างๆในโลก พระเจ้าองค์หนึ่งสร้างดวงอาทิตย์ องค์หนึ่งสร้างทะเล องค์หนึ่งสร้างภูเขา องค์หนึ่งสร้างแผ่นดิน

 

ทำไมจึงเกิดความคิดเช่นนี้ เป็นเพราะพวกเขามองไปที่ความแตกต่างทางด้านวัตถุของสรรพสิ่ง เมื่อเห็นความแตกต่าง จึงคิดว่าไม่ได้เกิดมาจากผู้สร้าง(อิลลัต)เดียว คิดว่าสรรพสิ่งไม่ได้มาจากพระเจ้าองค์เดียว หลังจากนั้นพวกเขายังพบอีกว่า ผลของที่เกิดจากสรรพสิ่งต่างๆก็มีความแตกต่างกัน เช่นผลของไฟคือความร้อน ผลของน้ำคือความชุ่มชื่น เมื่อวัตถุธาตุแตกต่างผลก็แตกต่างด้วยเช่นเดียวกัน

 

พวกเขาพิจารณาไปที่เรื่องของวัตถุไม่ได้พิจารณาไปที่ไปที่แก่นแท้ของการมีอยู่ของสิ่งนั้นๆ แต่ถ้าหากมนุษย์พิจารณาไปที่แก่นแท้ของสรรพสิ่งทั้งหมด เขาจะพบว่า โลกทั้งหมดมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความสอดคล้องกัน มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หมายความว่า ถ้าไม่มีแสงแดดก็ไม่มีน้ำ เพราะแดดทำหน้าที่ระเหยน้ำให้เป็นไอ ไปก่อตัวเป็นก้อนเมฆ และไปกระทบกับความเย็นแล้วก็ตกลงมาเป็นน้ำฝน

 

หากสมมุติว่า พระเจ้ามีหลายองค์ องค์หนึ่งสร้างน้ำ องค์หนึ่งสร้างแดด แต่หากองค์หนึ่งไม่ส่งแดด น้ำก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เห็นได้ว่าความสมดุลไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าเกิดว่ามีพระเจ้าหลายองค์รวมกันสร้าง แสดงว่าไม่มีใครมีอำนาจเต็ม เป็นสาเหตุทำให้เกิดความสูญเสียและความวุ่นวายตามมา แต่ในความเป็นจริงโลกมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และพบว่าสรรพสิ่งดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน มีความสอดคล้องกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมาจากผู้สร้าง(อิลลัต)ที่หลากหลาย ดังนั้น มันต้องมาจากการอภิบาลเดียวกันเท่านั้น จึงทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวในเอกภพเกิดขึ้น

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม