เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่16

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)

ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่16

 

 ข้อพิสูจน์การมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า คือ ความยุติธรรมของพระองค์  

 

ประเด็นต่อไป เราจะพิสูจน์ในมุมมองของศาสนา หากไม่มีศาสนา มนุษย์จะเรียกร้องความยุติธรรมจากธรรมชาติ หรือสิ่งอื่นๆ แต่เพราะมีศาสนา ในที่นี้ หมายถึง ศาสนาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า และพระองค์เป็นผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งต่างๆ ฉะนั้น เมื่อมีการเรียกร้องความยุติธรรมเกิดขึ้นก็ต้องเรียกร้องจากพระผู้เป็นเจ้า แต่เบื้องต้นต้องเชื่อในการมีอยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้าก่อน

 

เราจะยกอัลกรุอาน เพื่อให้มนุษย์ใช้สติปัญญาได้ไคร่ครวญการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า และพิสูจน์ถึงความจำเป็นของโลกหน้า “มะอาด” ในที่นี้ขอยกสัก 3 ซูเราะฮ์ และ3-4 โองการ ดังนี้

 

ซูเราะฮฺอัน-นะฮ์ล์ โองการที่ 12

 

وَسَخَّرَ لَكُمُ اللَّيْلَ وَالنَّهَارَ وَالشَّمْسَ وَالْقَمَرَ ۖ وَالنُّجُومُ مُسَخَّرَاتٌ بِأَمْرِهِ ۗ إِنَّ فِي ذَٰلِكَ لَآيَاتٍ لِّقَوْمٍ يَعْقِلُونَ

 

และพระองค์ทรงให้กลางคืนและกลางวันและดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นประโยชน์แก่พวกเจ้า และหมู่ดาวถูกใช้ให้เป็นประโยชน์โดยพระบัญชาของพระองค์ แท้จริงในการนั้น แน่นอนย่อมเป็นสัญญาณมากหลาย สำหรับกลุ่มชนที่ใช้สติปัญญา

 

คำอธิบาย : กุรอานได้พิสูจน์ถึงความจำเป็นของ “มะอาด” ในลักษณะนี้ โดยนำเสนอแก่มนุษยชาติว่า ชีวิตสุดท้าย คือ เป้าหมาย ของการสร้างมนุษย์ และหากปราศจากโลกดังกล่าว ชีวิตของมนุษย์จะจบลงแต่เพียงโลกนี้เท่านั้น ในรูปการนี้ การสร้างมนุษย์ขึ้นมา จะให้ความหมาย ถึงความเป็นโมฆะ และความไร้สาระ และพระผู้เป็นเจ้า บริสุทธิ์ห่างไกลจากการกระทำกิจ อันไร้สาระ โดยพระองค์ตรัส ดังนี้

 

ซูเราะฮฺ มุอฺมินูน โองการ ที่ 115 ความว่า

 

أَفَحَسِبْتُمْ أَنَّمَا خَلَقْنَاكُمْ عَبَثًا وَأَنَّكُمْ إِلَيْنَا لَا تُرْجَعُونَ

 

พวกเจ้าคิดว่า แท้จริงเราได้ให้พวกเจ้าบังเกิดมาโดยไร้ประโยชน์และแท้จริงพวกเจ้าจะไม่กลับไปหาเรากระนั้นหรือ

 

ซูเราะฮฺ อัดดุคอน โองการที่ 39 อธิบายไว้ว่า

 

مَا خَلَقْنَاهُمَا إِلَّا بِالْحَقِّ وَلَٰكِنَّ أَكْثَرَهُمْ لَا يَعْلَمُونَ

 

เรามิได้สร้างทั้งสอง (ดังกล่าวนั้น) เพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อความจริง(ฮัก) แต่ว่าส่วนมากของพวกเขาไม่รู้

 

ซูเราะฮฺ อัดดุคอน โองการที่ 40 ความว่า

 

إِنَّ يَوْمَ الْفَصْلِ مِيقَاتُهُمْ أَجْمَعِينَ

 

แท้จริงวันแห่งการตัดสิน(จำแนก)นั้นเป็นเวลาที่ถูกกำหนดไว้สำหรับพวกเขาทั้งหมด

 

คำอธิบาย : จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จสูงสุดตามทัศนะของศาสนาอิสลามนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในโลกนี้ ทว่าความสำเร็จสูงสุดของมนุษย์อยู่ที่โลกหน้า ถึงแม้คนที่พิการเขาอาจมีความยากลำบาก เหน็ดเหนื่อยมากกว่าคนปกติ แต่หากเราพิจารณาในมุมมองของศาสนา เรื่องความสำเร็จของมนุษย์ที่แท้จริง คือ ความสำเร็จในโลกหน้า

 

ดังนั้น คนที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้ สมมุติ เรียนสูงจบดอกเตอร์ หรือได้ทำงานทำการที่มั่งคง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าเข้าจะประสพความสำเร็จในโลกหน้า เพราะความสำเร็จในโลกหน้านั้น ไม่ได้มีเงื่อนไขจากความสมบูรณ์ของสรีระทางร่างกาย กลับกันคนที่เกิดมาพิการ แม้เขาจะมีความยากลำบากในการพัฒนา แต่ความยากลำบากของเขานั้น จะทำให้เขาได้รับรางวัลตอบแทนที่มากกว่าคนที่ปกติ อีกทั้งเขายังจะได้รับความเมตตาที่ดีและพิเศษกว่าด้วย

 

อิสลามมีหลักฐานที่ยืนยันถึงผลรางวัลของผู้ที่เสียเปรียบในโลกนี้ เช่น คนที่พิการ คนที่มีความยากลำบากมากกว่า เมื่อเขาเห็นผลตอบแทนในโลกหน้า บางครั้งหากพระผู้เป็นเจ้าอนุญาตให้เขากลับมาในโลกนี้อีกครั้ง เขาอยากกลับมาในสภาพพิการเช่นเดิม

 

ดังนั้น ความเสียเปรียบทางด้านสรีระ จึงเป็นความเสียเปรียบที่ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานหรือเหตุผล มาขัดแย้งกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าได้

 

ข้อสังเกต ทัศนะที่ผิดพลาดนี้เกิดมาจาก การไม่เข้าใจปรัชญาของเป้าหมาย ไม่เข้าใจฮิกมะฮ์ในการสร้าง เพราะเป้าหมายหนึ่งของการมีอยู่ของความบกพร่องนั้น ก็เพื่อให้มนุษย์ได้รู้จักคุณค่าความสมบูรณ์ของการเป็นมนุษย์ที่แท้จริง

 

สมมุติ

 

ถ้ามนุษย์ไม่รู้จัก คำว่า “ตาบอด” ในโลกนี้ มนุษย์ก็ไม่สามารถรู้จักคุณค่าของการมองเห็น

ถ้าปราศจาก คนแขนขาด มนุษย์ก็ไม่สามารถรู้จักคุณค่าของการมีแขน

 ถ้าปราศจาก คนเป็นใบ้ มนุษย์ก็ไม่สามารถรู้จักคุณค่าของการพูดได้

ถ้าปราศจาก คนหูหนวก มนุษย์ก็ไม่สามารถรู้จักคุณค่าของการได้ยิน

ถ้าปราศจากคนบ้า มนุษย์ก็ไม่สามารถรู้จักคุณค่าของการมีสติสัมปชัญญะ

 

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ก็เพื่อเตือนมนุษย์ ให้ใช้สิ่งที่มี สิ่งที่เห็น เพื่อเกิดการเรียนรู้ให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุด เป้าหมายนี้ ไม่ใช่เพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นการใช้ในหนทางของการพัฒนาไปสู่ความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า หรือ เกิดประโยชน์ที่นิรันดร์ได้

 

ตัวอย่าง “การพูดและการฟัง

 

ประเด็น “การพูด” บางครั้งไม่ได้ก่อประโยชน์ต่อมนุษย์เสมอไป และอาจให้โทษด้วยซ้ำ ชัดเจนว่า การพูดที่ให้คุณประโยชน์นั้น แน่นอนว่า นำไปสู่สวรรค์ ทว่าในตรงกันข้าม หากเป็นการพูดที่ก่อเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ชัดเจนว่า เป็นการพูดที่จะนำไปสู่นรกด้วย และทุกการฟัง(ได้ยิน)ก็เช่นกัน ไม่ได้หมายความว่าจะให้คุณประโยชน์และนำพามนุษย์ไปสู่สวรรค์เสมอไป บางการได้ยินอาจนำมนุษย์ไปสู่นรกได้เช่นกัน

 

ดังนั้น การมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนดาบสองคม ถ้ามนุษย์ใช้ไม่ถูกต้อง ก็จะให้โทษกับมนุษย์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าและถ้าใช้ถูกต้องมันก็จะให้คุณประโยชน์อย่างมากมายแก่มนุษย์เช่นกัน

 

หากพิจารณา การดำเนินชีวิตของมนุษย์ จะมีทั้งความเสี่ยงที่จะลงนรก และมีทั้งโอกาสที่จะขึ้นสวรรค์ ซึ่งคนที่ไม่มี(คนพิการ)ในสิ่งเหล่านี้ โอกาสที่เขาจะโดนลงโทษจากสาเหตุของมันจึงไม่มี ขอยกตัวอย่างคนพิการที่เกิดมา ตาบอด เป็นใบ้ และหูหนวก

คนตาบอด เขาจะรอดพ้นจากความผิดทางสายตา เขาจะไม่ตกนรกด้วยเหตุของสายตา

คนเป็นใบ้ เขาจะไม่ตกนรกด้วยการนินทาให้ร้ายผู้อื่น

คนหูหนวก เขาก็ไม่ตกนรกเพราะเขาไม่ได้ฟังเพลงที่ฮารามหรือการฟังสิ่งที่ชั่วร้ายด้วยเช่นกัน

 

จะเห็นได้ว่า บางครั้งการฟังสิ่งฮารามเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มนุษย์ถูกลงโทษและที่ลึกลงไปกว่านั้น ในวันกิยามัตมนุษย์ที่ถูกลงโทษเนื่องจากความผิดทางสายตา เป็นเพราะความไม่ระมัดระวังทางสายตา เขาจะอุทานขึ้นมาว่า “โอ้อนิจจา ฉันน่าจะเกิดมาตาบอดบนโลกนี่เสี่ยนี่กระไร

 

อีกจำนวนหนึ่งถูกลงโทษ เนื่องจากความผิดทางคำพูด เขาก็อุทานว่า “โอ้อนิจจาฉันน่าจะเกิดมาเป็นใบ้

 

อีกจำนวนหนึ่งเขาจะถูกลงโทษ เนื่องจากความผิดทางหู เขาจะอุทานขึ้นว่า “โอ้อนิจจาฉันน่าจะเกิดมาหูหนวกบนโลกนี้

 

ความสำเร็จสูงสุดตามทัศนะของศาสนาอิสลาม ด้วยปรัชญาแห่งเป้าหมาย ผนวกกับฮิกมะห์ในการสร้าง ตรงนี้ เรามาพิจารณากันว่า ความพิการหรือความไม่พิการอะไรคือความโชคดีกว่ากัน จะเห็นได้ว่าไม่สามารถสรุปได้แค่เพียงในโลกนี้ อัลกุรอานไปถึงขั้นที่กล่าวว่า

 

โองการในซูเราะฮ์อันนะบะอฺโองการที่ 40

 

«یا لَیتَنی کُنتُ تراباً»

 

โอ้อนิจจา ฉันน่าจะเกิดขึ้นมาเป็นดินเสียดีกว่า

 

คำอธิบาย : มนุษย์จะรำพันขึ้นมาว่า เสียดายที่เกิดมาเป็นมนุษย์เพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์ของความเป็นมนุษย์ได้อย่างแท้จริง เขาจึงถูกลงโทษ จากตรงนี้จะเห็นว่าความพิการ ความบกพร่องต่างๆไม่ได้ขัดกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า

 

ดังนั้น หากเกิดมาตาบอด เขาก็รอดพ้นจากความผิดทางสายตา และรางวัลของคนตาบอดกับคนตาดีนั้นไม่เท่ากัน ภาระหน้าที่ก็ตามความสามารถ คนที่ปกติก็มีภาระหน้าที่ที่มากกว่า สิ่งที่สูญเสียไปจะถูกชดเชยในลักษณะนี้

 

ในบางครั้งมนุษย์ไม่สามารจินตนาการถึงรางวัลที่จะได้รับ เราจะยกเหตุการณ์ในยุคสมัยท่านอิมามญะฟัร อัศศอดิก(อ) มีชายตาบอดคนหนึ่งที่มีอีหม่าน มีศรัทธามาก และเขาเป็นหนึ่งในสาวกผู้ใกล้ชิดของท่านอิมามศอดิก(อ)

 

ชายตาบอดคนนี้ มีนามว่า “อบูบะซีร” วันหนึ่งเขาได้เข้ามาหาท่านอิมาม (อ) และได้กล่าวกับท่านอิมาม (อ) ว่า

ฉันรู้ ฉันเชื่อมั่นว่าพวกท่าน(อะฮฺลุลเบต) สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ฉันอยากจะให้ท่านทำให้ฉันมองเห็นโลกนี้

 

ท่านอิมาม(อ) ตอบว่า ได้สิ ท่านอิมาม(อ)ได้เอามือลูบไปที่ดวงตาของ “อบูบะซีร” สักพักเขาก็สามารถมองเห็นโลกที่สวยงามนี้ในลักษณะที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

 

หลังจากนั้นท่านอิมาม(อ)ได้บอก “อบูบะซีร”ให้มองไปบนท้องฟ้า “อบูบะซีร” ก็ได้เห็นสรวงสวรรค์ที่อัลลอฮ์ (ซบ) ทรงเตรียมไว้สำหรับเขา

และท่านอิมาม(อ)ได้กล่าวกับ “อบูบะซีร” ว่า สรวงสวรรค์อันนั้นเป็นของผู้ที่ตาบอดในโลกนี้ ถ้าเจ้าอยากได้รางวัลอันนั้น เจ้าต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างตาบอดในโลกนี้

 

อบูบะซีร” เมื่อฟังความดังนั้น จึงได้บอกกับท่านอิมาม (อ)ว่า “โปรดทำให้ฉันตาบอดเหมือนเดิมเถิด เพราะรางวัลที่จะได้รับการทดแทนนั้น มันยิ่งใหญ่กว่าตาที่มองเห็นในโลกนี้

 

ดังนั้น หากมนุษย์ใส่ใจเรียนรู้บริบทความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า แน่นอนว่า จะค่อย ๆ ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ชีวิตแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นกับตัวตนของเขา และ การที่มนุษย์จะเข้าใจคำตอบต่างๆได้ อย่างสมบูรณ์นั้น จำเป็นต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าก่อน เพื่อทำความเข้าใจการทรงสร้างในทุกสรรพสิ่ง และพิสูจน์ถึงความจำเป็นของโลกหน้า

 

เมื่อมนุษย์เข้าใจบริบทดังกล่าวนั้น แน่นอนมนุษย์จะยอมรับในการมีอยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้า ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า ก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายใดๆอีก เพราะจำต้องเชื่อและศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าก่อน มิฉะนั้น หากเชื่อว่าพระเจ้าไม่มีเสียแล้ว ย่อมไม่มีพระเจ้าให้กล่าวโทษว่า “ไม่ยุติธรรม”ได้

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม