เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 17

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)

ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 17

 

    ดัชนีทางสติปัญญาของมนุษย์

 

เรายังอยู่ในข้อคลางแคลงสงสัย ข้อที่ 3 ซึ่งในวันนี้ ขอนำเสนออีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ รวมไปถึงความไม่สำเร็จต่างๆที่เกิดขึ้นกับมนุษย์

 

คำถาม : เหตุใด มนุษย์บางกลุ่มยังขาดความเข้าใจในเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้น

 

ในที่นี้ เรามาพิจารณาดัชนีทางด้านสติปัญญาของมนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจในบริบทความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ประเด็นนี้ลองสังเกตในเชิงการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์

 

ตัวอย่างที่ 1 ประเภท “ไม่เอาไหน”

 

การประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ ประเภทนี้ บ่งชี้ถึงคนไม่ขยัน ไม่เรียนรู้ ไม่อ่านหนังสือ ไม่กระตือรือร้น กลางวันไม่ตื่น กลางคืนไม่นอน หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ดั่งคำพังเพยโบราณกล่าวว่า “การกินการอยู่ใครไม่สู้พ่อ การพายการถ่อพ่อไม่สู้ใคร” หมายถึง คนที่นอกจากจะขี้เกียจแล้วยังรักความสุขความสบายเป็นที่สุด อาหารการกินความเป็นอยู่ต้องเลิศ แต่การงานชอบเลี่ยงไม่ชอบทำงาน หรือไม่ได้มีความพยายาม หรือ พยายามแต่ไม่จริงจัง เสเพลไปวันๆ ไม่มีความก้าวหน้าและยังไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรืออื่นๆเป็นต้น

 

คนลักษณะนี้ หากยังจนอยู่หรือไม่ประสบความสำเร็จ อันเนื่องมาจากประเภทดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายใดๆอีก เพราะด้วยความไม่เอาไหนเป็นดัชนีชี้ถึงลักษณะความประพฤติกำกับอยู่ จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องถามหาความยุติธรรมจากพระผู้เป็นเจ้าด้วยซ้ำไป

 

ตัวอย่างที่ 2 ประเภท “ขยันหมั่นเพียร”

 

การประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ ประเภทนี้ บางคนพึงประสงค์ ทว่าหลายคนกลับบ่นว่า “เราก็ขยันนะ แต่ทำไม ไม่ประสบความสำเร็จเสียที”

 

ประเด็นนี้เราอาจต้องเข้าใจก่อนว่า คนสำเร็จ ทุกคนล้วนต้องขยันแต่คนขยันไม่ใช่ทุกคนที่จะสำเร็จ บางคนบอกว่า ขยันหมั่นเพียร ขยันทำงาน ขยันทุกอย่าง พยายามแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เช่น

พยายามอ่านหนังสือ แต่กลับสอบไม่ผ่าน

พยายามหางานทำ แต่สมัครที่ไหน กลับไม่มีที่ใดเรียกเข้าทำงาน

พยายามตั้งใจทำงานเพื่อความก้าวหน้า แต่กลับถูกคนอื่นใช้เส้นสายแซงตำแหน่ง

พยายามตั้งใจทำงาน แต่ไม่รวยสักที

 

เมื่อมนุษย์มีข้อคลางแคลงในความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ประเด็นนี้ แน่นอนว่าเขามีสิทธิที่จะถาม มีสิทธิที่จะทำความเข้าใจความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า

 

คำถาม : เราจะอธิบายกรณีนี้ อย่างผู้มีสติปัญญาได้อย่างไร

 

กรณี มนุษย์ไม่ประสบความสำเร็จ

 

เหตุผลที่ 1 เป็นเพราะขยันผิดที่ สิบปีก็ไม่รวย ถ้าการทำงานหนักอย่างเดียว จะทำให้ประสบความสำเร็จ กรรมกรแบกหาม คงร่ำรวยทุกคน ในที่นี้ เราไม่ได้บอกว่า อาชีพนี้ไม่ดี เพียงแต่ โอกาสที่อาชีพนี้มีมันน้อยมาก

 

เหตุผลที่ 2 มนุษย์อย่าเอาการศึกษามาเป็นตัวชี้วัด(เป็นแพะรับบาป)ในสาเหตุที่เราด้อยกว่าเพื่อนในเรื่องการงาน ฐานะการเงิน หรือเปรียบเทียบในด้านอื่นๆ การที่เพื่อนเรียนไม่เก่ง ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้มีดีอย่างอื่น แน่นอนว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ แต่การศึกษาเรียนรู้สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรืออื่นๆ ซึ่งในทัศนะอิสลาม นัยยะแก่นแท้คุณภาพของมนุษย์ที่มีสติปัญญา คนที่สามารถประสบผลสำเร็จในด้านต่างๆ นั้น ล้วนเป็นคนที่ฉลาดปราดเปรื่อง(มีสติปัญญา) และก่อนที่จะไปถึงความสำเร็จนั้น ต้องผ่านกระบวกการเรียนรู้และมีความรู้มาก่อนแล้วทั้งสิ้น ดังอัลกรุอาน ซูเราะฮฺ อัลอะลัก โองการที่ 1 ความว่า

 

اقْرَأْ بِاسْمِ رَبِّكَ الَّذِي خَلَقَ

 

“จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงบังเกิด”

 

คำอธิบาย : ผลที่ได้จากการอ่าน ถือเป็นฮิกมะฮฺหนึ่ง ทว่าต้องมาด้วยความพยายาม อีกทั้งใช้สติปัญญาในการใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์สิ่งต่างๆที่รายรอบตัวเขา ซึ่งหากเขาเข้าใจ เขาจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ประสบผลสำเร็จ กลับกันหากพยายามแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะเขา นอกจากขาดความพยายามแล้ว ยัง ขาดความเข้าใจในบริบทความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น มนุษย์ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ไม่ใช่เพราะพระผู้เป็นเจ้าไม่ยุติธรรม แต่คำตอบที่ดีที่สุด คือ มนุษย์เข้าใจผิดในความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าต่างหาก

 

สาระศึกษา : หากในสังคมมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่พยายามทำการงานอย่างสุดความสามารถ แต่เขายังไม่ประสบความสำเร็จ ยังไม่สมหวังในการงานนั้น ต้องตระหนักด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งพระองค์สร้างมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์นั้น คือ ฟิตรัต

 

ด้วยฟิตรัตนี้ จึงทำให้มนุษย์ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

 

กลุ่มที่หนึ่ง คือ กลุ่มมนุษย์ที่เข้าใจในเหตุการณ์ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์เพราะเขาใช้สติปัญญาในการใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์สิ่งต่างๆที่รายรอบตัวเขา และอาจเป็นเพราะพระองค์ยังไม่ทรงอนุมัติในสิ่งนั้น กล่าวคือ หากมนุษย์คิดว่าเขาได้พยายามอย่างเต็มที่ ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้ว ขยันพอสมควรไม่หักโหมจนเกินไป และต้องไม่น้อยเกินไปแล้ว ทว่ายังไม่ได้ตามความประสงค์ แน่นอนว่า ต้องมีเหตุผล มีวิทยปัญญา(มีฮิกมะฮ์)อยู่แฝงด้วยเสมอ

 

ข้อสังเกต : ยิ่งเขาเป็นคนขยันทำงานประกอบกับเขาเป็นคนดีด้วย แต่เหตุใดทั้งชีวิตของเขายังยากจนอยู่ นัยยะนี้ ยิ่งแสดงว่า ความจนนั้นเป็นสิ่งที่ดีกับเขาอย่างแน่นอน เพราะความร่ำรวยของมนุษย์บางครั้ง อาจทำให้เขาไม่เพียงสูญเสียบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญกว่าในชีวิต ทว่าเขายังอาจขาดทุนในอาคีเราะฮฺอีกด้วย

 

ตัวอย่าง “ยากจนดีกว่า หากร่ำรวยแล้วอัปยศ”

 

คนบางคนในขณะที่เขาไม่ได้ร่ำรวยอะไร มีโอกาสได้รับใช้ศาสนาสม่ำเสมอ

คนบางคน เมื่อมีฐานะร่ำรวยกลับไม่ค่อยมีเวลา ไม่มีเตาฟีก ไม่มีโอกาสในการรับใช้ศาสนา

คนบางคน ความร่ำรวยได้มาจากการ ฉ้อโกง กดขี่ เอาเปรียบ

 

หากพิจารณาจะเห็นได้ว่า ในบางครั้งความยากจนเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนบางคนถึงแม้เขาไม่พึงประสงค์ก็ตาม ด้วยกับความจนของเขา ทำให้เขานอบน้อมมีโอกาสทำอะมัลอิบาดะห์ ซื่อสัตย์ มีอีหม่านที่มั่นคง และกลับกันสำหรับบางคนเดิมเป็นคนจน เป็นไปได้ว่า วันหนึ่งเมื่อเขามีฐานะร่ำรวย ด้วยกับภาระหน้าที่ที่มีมากขึ้น ความรับผิดชอบก็ยิ่งเพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อมีเงินเหลือมาก ภาษีอิสลาม (ซะกาตและคุมุซ) ก็ยิ่งมากขึ้นด้วย เมื่อถึงตอนนั้นความโลภอาจทำให้เขาเสียดาย บางครั้ง เราจะเห็นบางคนที่คิดจะบริจาค แต่คิดแล้วคิดอีก คิดจนสัปสน คิดไปต่างๆนานาว่า เราจะถูกเอาเปรียบหรือเปล่า?

ความในใจจะพร่ำพรู ทำไมต้องเป็นเราคนเดียว?

 

ทำไมต้องเป็นเราทุกครั้งที่จะต้องจ่าย?

 

และการละเลยไม่จ่ายทาน ไม่จ่ายภาษีอิสลาม มีโทษหนัก บางครั้งการไม่จ่ายในสิ่งเหล่านี้ อาจทำให้มนุษย์เป็นมุรตัด(ตกศาสนา)ได้ ชัดเจนว่า อัลลอฮ(ซ.บ)ทรงตรัสในคัมภีร์อัลกรุอาน

 

ซูเราะฮฺ อันอาม โองการ ที่ 165 ความว่า

 

وَهُوَ الَّذِي جَعَلَكُمْ خَلَائِفَ الْأَرْضِ وَرَفَعَ بَعْضَكُمْ فَوْقَ بَعْضٍ دَرَجَاتٍ لِّيَبْلُوَكُمْ فِي مَا آتَاكُمْ ۗ إِنَّ رَبَّكَ سَرِيعُ الْعِقَابِ وَإِنَّهُ لَغَفُورٌ رَّحِيمٌ

 

“และพระองค์นั้นคือผู้ที่ทรงให้พวกเจ้าเป็นผู้สืบแทนในแผ่นดิน และได้ทรงเทิดบางคนของพวกเจ้าเหนือกว่าอีกบางคนหลายขั้น เพื่อที่พระองค์จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงประทานแก่พวกเจ้า แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้น เป็นผู้รวดเร็วในการลงโทษและแท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตา”

 

คำอธิบาย : อัลกุรอานได้บัญญัติให้เราพินิจพิเคราะห์สรรพสิ่งทั้งหลายได้อย่างลึกซึ้ง เพื่อค้นหาสัจธรรม จะเห็นได้ว่า ความร่ำรวย จึงไม่ใช่สิ่งยืนยันความสุขสบายและไม่นับว่าเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป ซึ่งหากมนุษย์ที่มีฐานะร่ำรวยไม่ทำความเข้าใจใน วัตถุประสงค์ในการจ่ายทานที่พระองค์ทรงสั่งใช้ แน่นอนว่า นอกจากจะส่งผลไปถึงวันกิยามัตแล้ว เขาจำต้องผ่านกระบวนการสอบสวนในโลกหน้าอย่างยากลำบากที่สุด เพราะคนเหล่านี้ต้องตอบคำถามพระองค์มากที่สุด เช่น ได้เงินมาอย่างไร ใช้เงินไปอย่างไร ได้บริจาคช่วยเหลือคนยากจนหรือไม่

 

การตอบคำถามต่างๆเหล่านี้ ก็เพื่อเป็นการยืนยันถึงความศรัทธาและเพื่อซักฟอกทรัพย์สินและจิตใจของผู้จ่ายให้มีความสะอาดบริสุทธิ์หมดจด หมดจากความโลภ ตระหนี่ถี่เหนียว ซึ่งถือเป็นสิ่งสกปรกทางใจอย่างหนึ่งรวมทั้งยังเป็นการกระจายทรัพย์สินให้กับกลุ่มคนที่ยากไร้อีกด้วย

 

ตัวอย่าง “รวยแล้วดีทั้งดุนยาและอาคีเราะฮฺ”

 

บางครั้งความรวยสำหรับบางคนเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งในกรณีคนๆนั้นเป็นคนดี มีอีหม่าน มีความศรัทธาที่มีความร่ำรวยด้วยนั้น เมื่อเขามีความสามารถที่จะใช้จ่ายทรัพย์สินไปในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าได้ ถือว่าความร่ำรวยเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา

 

ในประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่า เงินสามารถทำให้คนขึ้นสวรรค์ก็ได้ ทำให้คนตกนรกก็ได้ ดังนั้น ทรัพย์สินเงินทองจึงอยู่ในสถานะที่เป็นกลาง ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในมือของใคร ในชีวิตของมนุษย์มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่สมหวัง ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะสิ่งเหล่านั้นอาจไม่ดีสำหรับเขา เมื่อมันไม่ดีสำหรับเขาพระองค์ก็ไม่ทรงอนุมัติให้เกิดขึ้น หากจะอรรถธิบายประโยชน์ให้ละเอียดขึ้น หมายความว่า แท้จริงพระองค์นั้น ทรงรัก ทรงเอ็นดูเมตตาเขา มันเกิดมาจากความรักของพระองค์ พระองค์จึงปกป้องเขา

คำถาม : มีไหม มนุษย์ไม่ชอบ ไม่ต้องการความรักจากพระองค์

คำตอบ : ไม่มีมนุษย์คนใด ที่บอกว่าความรักมาจากความไม่ยุติธรรมของพระองค์

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม