ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 19

บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)

ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 19


กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มมนุษย์ที่ไม่เข้าใจในเหตุการณ์ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ เป็นเพราะโดยตัวตนของเขาไม่ใช้สติปัญญาในการใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับเขาอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงคลางแคลงสงสัยในความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า


ประเด็นนี้ บางครั้งมนุษย์ยังไม่รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ณ ตอนนั้น บางครั้งอาจจะมารู้ทีหลัง หรือบางครั้งอาจจะไม่รู้เลยก็ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เราเดินออกจากบ้านจะไปนมาซที่มัสยิด ในระหว่างทางเราถูกรถชนขาหัก หลังจากนั้นเรามารู้ภายหลังว่า วันนั้นหากเราไม่ถูกรถชน เราอาจจะโดนยิงหรือโดนลอบฆ่า เราดีใจ เราจึงขอบคุณพระองค์ที่เพียงขาหักเพราะหากขาไม่หัก อาจจะจะเกิดเหตุการณ์ที่หนักกว่านี้เสียอีก


ดังนั้น การที่มนุษย์ได้ในสิ่งที่พึงประสงค์และไม่ได้ในสิ่งที่พึงประสงค์ คือ จะได้หรือไม่ได้สิ่งใดนั้น มีฮิกมะฮ์ มีเหตุผลอยู่ ส่วนการที่คนนั้นไม่ได้เป็นคนดีนั้น อาจจะอยู่นอกประเด็นนี้ ซึ่งบางอย่างมาจากพฤติกรรมการกระทำของมนุษย์เอง

ตัวอย่าง : มนุษย์ที่เสพยาหรือมียาเสพติดครอบครอง เมื่อถูกจับได้ แน่นอนว่า เขาต้องติดคุก เขาจะโทษพระองค์ไม่ได้ เพราะมาจากพฤติกรรมการกระทำของเขาเอง


ฮิกมะฮ์อีกตัวอย่างหนึ่ง ในอัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องราวของท่านศาสดายูซุฟ (อ) ก่อนที่ท่านจะเป็นศาสดาอย่างเป็นทางการ จะเห็นได้ว่า วิถีการดำเนินชีวิตของท่าน จะต้องผ่านการฝึกอบรม ผ่านการขัดเกลาจิตวิญญาณ ซึ่งมีอยู่ขั้นตอนหนึ่งต้องไปฝึกในคุก


ห้วงเวลาที่ท่านศาสดายูซุฟ(อ)ถูกจับคุมขังอยู่ในคุก การอยู่ในคุก ได้สร้างวิทยปัญญาได้อย่างมากมายให้กับท่าน เช่น ท่านได้มีเวลาขัดเกลา ได้ทำอิบาดัตอย่างสมบูรณ์ โดยไม่ได้ถูกรบกวนจากบรรดาสาวๆของเมืองอิยิปต์

ความมีรูปร่างหน้าตาดีของยูซุฟ ได้เป็นที่ร่ำลือกันไปทั่วทั้งเมือง ผู้คนพูดถึงเขาว่าเป็นผู้ชายที่รูปร่างหน้าตาดีที่สุด ที่พวกเขาเคยเห็นกันมา และได้เขียนบทกวีเกี่ยวกับเขา ด้วยกับความเป็นชายชาตรีและหล่อเหลาดุจเทพบุตร แสดงให้เห็นถึงความสะอาดบริสุทธิ์ภายในจิตใจ จนสะท้อนออกมาให้เห็นบนใบหน้าของเขา ยิ่งทำให้ใบหน้าของเขา สวยงามมากยิ่งขึ้น ผู้คนจากแดนไกลได้มายังเมืองนี้ เพื่อที่จะได้ยลโฉมของเขา เมื่อได้ยลโฉมถึงขั้นว่า ไม่มีใครสามารถระงับความรู้สึกลึกๆภายในใจของตัวเองได้ จึงเป็นเหตุทำให้บรรดาผู้หญิงมารบกวนท่าน แต่ไม่มีสักครั้งที่เขาจะแสดงความทรนงตนหรือมีความหยิ่งยะโส เขายังเป็นคนถ่อมตนและสุภาพเสมอ ซึ่งความหล่อเหลาของท่านศาสดายูซุฟนั้น มีกล่าวในอัลกุรอาน ในซูเราะฮ์ ยูซุฟ โองการที่ 31 ความว่า


“فَلَمَّا رَأَيْنَهُ أَكْبَرْنَهُ وَقَطَّعْنَ أَيْدِيَهُنَّ وَقُلْنَ حَاشَ لِلَّهِ مَا هَٰذَا بَشَرًا إِنْ هَٰذَا إِلَّا مَلَكٌ كَرِيمٌ”

“เมื่อพวกนางได้เห็นท่านศาสดายูซุฟก็ให้การสรรเสริญและเฉือนมือของพวกนาง และพวกนางกล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ นี่ไม่ใช่มนุษย์แน่ มิใช่อื่นใดแน่ นอกจากมะลัก (เทวทูต)ผู้ทรงเกียรติ”


คำอธิบาย : การฝึกอบรมของพระองค์มีมากมายหลายวิธี บางครั้งมนุษย์อาจจะไม่ชอบแต่ก็คือสูตรสำเร็จ ถ้าไม่ผ่านวิธีการนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ การติดคุกของท่านศาสดายูซุฟนั้น เป็นคุกระดับเดลต้า(คุกที่ต้องการความมั่นคงสูงสุด ส่วนมากจะมีระดับนายทหาร พวกก่ออาชญากรรมต่างๆ) แต่ทว่าอะไรเกิดขึ้นหลังจากท่านนบียูซุฟ(อ)อยู่ในคุก ด้วยกับอัคลาก(จริยธรรม)ที่สวยงาม ท่านได้เปลี่ยนพวกเขาทั้งหมดให้เป็นผู้ศรัทธา ท่านสอนให้พวกเขาเป็นมนุษย์ขึ้นมา จากคนที่เคยดุดันที่หลงไหลในตำแหน่ง คนระดับนั้นทั้งหมด เมื่อเป็นผู้ศรัทธาอะไรจะเกิดขึ้น คนที่เป็นนายทหาร เป็นนักการเมือง แม้แต่กษัตริย์ก็ได้บอกศาสดายูซุฟ(อ)ว่า นับแต่นี้เป็นตันไป เจ้าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคนสนิทของเรา และเราจะมอบความไว้วางใจให้เจ้าดูแลแผ่นดินของเราอย่างเต็มที่


ด้วยเหตุนี้เอง ที่อัลลอฮฺ(ซบ)ได้ทรงทำให้ศาสดายูซุฟมีอำนาจในแผ่นดิน ท่านมีสิทธิ์ทุกอย่างเต็มที่ ในการเป็นเจ้าของสิ่งใดก็ได้ที่ท่านต้องการในแผ่นดินอียิปต์


จะเห็นได้ว่า คนเหล่านั้นได้กลายเป็นกองกำลังที่สำคัญในการช่วยเหลือท่านศาสดายูซุฟ เพราะเมื่อท่านศาสดายูซุฟออกจากคุก ภารกิจอันแรก ก็คือ การมีอำนาจในการดูแลแผ่นดินอิยิปต์อย่างเต็มที่ เบื้องต้นท่านดำรงไว้ซึ่งศาสนาอิสลามด้วยวิชาการความรู้ตามแบบท่านนบีอิบรอฮีม(อ)ผู้เป็นปู่ เมื่อวันเวลาการบริหารงานแผ่นดินได้ผ่านไป เริ่มมีกลุ่มที่ต่อต้าน จะลอบสังหารท่าน จากเรื่องราวนี้จะเห็นได้ว่า การติดคุกของท่านศาสดายูซุฟ(อ)นั้นมีฮิกมะฮ์ มีเหตุผลอย่างมากมาย


หากพิจารณา การส่งไปติดคุก นัยยะ คือ การส่งไปปฏิวัติ ถือเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญ บ่งชี้ว่า การอยู่ในคุกทำให้มนุษย์เข้าใจอะไรอย่างมากมาย ซึ่งแน่นอนการอยู่ในคุกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพึงประสงค์ แต่หากมนุษย์เป็นผู้ที่พระองค์ทรงรักแล้วไซร้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขา สิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา เพราะหน้าที่ของเขา คือ หาเหตุผลให้เจอ เมื่อเขาหาเจอเมื่อไหร่ แน่นอนว่า เขาจะเข้าใจในบริบทความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในอัลกุรอานได้ระบุให้ใช้สติปัญญาค้นหานั่นเอง


ท่านศาสดามูฮัมมัด(ศ)ได้กล่าวประโยคหนึ่งที่สูงสุดในการยอมรับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ความว่า


“الخير فيما وقع” (อัลคัยรุฟีมาวะกออ์)

“สิ่งที่ดีที่สุดนั้นคือ สิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว”


ดังนั้น อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับมนุษย์โดยที่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มาจากความผิดของเขา ถ้ าเขาไม่ได้ทำผิดอะไร ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และมีเหตุผล อีกทั้งมีฮิกมะฮ์อยู่อย่างมากมาย

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี