เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 20

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)


ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่  20

 

 


ฮิกมะฮ์ของอัดล์

 

หากพินิจการสร้างความสมดุลในสรรพสิ่งทั้งหลาย ด้วยกับความงดงามยิ่ง และมีวิทยปัญญาหรือปรัชญาของเป้าหมาย ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความจริง เห็นได้ว่า อัดล์(ความยุติธรรม) ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด จะเน้นไปที่ อัดล์นิยามที่ 4

 

นิยามนี้ หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกๆเรื่อง ทั้งในความสำเร็จและความไม่สำเร็จ จะต้องมีฮิกมะฮ์หรือมีเหตุมีผล ซึ่งรายละเอียดและเหตุผลนั้นอาจจะมีมากมายทั้งที่เข้าใจได้ในทันทีหรืออาจยังเข้าใจไม่ได้ในเวลานั้น ทว่า เมื่อมาจากผู้ทรงวิทยปัญญา(ฮากีม) แท้จริงในทุกสิ่งทุกอย่างที่บังเกิดขึ้นนั้น มั่นใจเถิดว่า มีความยุติธรรมแน่นอน

ดั่งที่อัลลอฮ์(ซบ)ทรงตรัสในอัลกรุอาน

ซูเราะฮฺ อัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 216 ความว่า


وَعَسَىٰ أَن تَكْرَهُوا شَيْئًا وَهُوَ خَيْرٌ لَّكُمْ ۖ وَعَسَىٰ أَن تُحِبُّوا شَيْئًا وَهُوَ شَرٌّ لَّكُمْ ۗ وَاللَّهُ يَعْلَمُ وَأَنتُمْ لَا تَعْلَمُونَ
 

"และอาจเป็นไปได้ว่า การที่พวกเจ้าเกลียดสิ่งหนึ่งทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งดีแก่พวกเจ้าและก็อาจเป็นไปได้ว่าการที่พวกเจ้าชอบสิ่งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งเลวร้ายแก่พวกเจ้าและอัลลอฮ์นั้นทรงรู้ดี แต่พวกเจ้าไม่รู้”

 

ปรัชญาการขัดเกลาจิตวิญญาณ

 

-เพื่อการตัรบียะห์ {อบรมสั่งสอน} ให้มนุษย์มีสติ มีมารยาท มีจริยธรรมมีความเข้มแข็ง นำมาซึ่งความมั่นคงหนักแน่นและมีหัวใจที่กว้างใหญ่ไพศาล
-เพื่อเป็นแบบอย่าง หรือบางครั้งเพื่อยกฐานันดรทางจิตวิญญาณของมนุษย์และมนุษย์จะไปได้ถึงจุดนั้นได้ จำต้องเคลื่อนไหวด้วยสติปัญญา

 

ฮิกมะฮ์ที่บรรดาศาสดาถูกทดสอบ

 

คนเราย่อมหลีกไม่พ้นในเรื่องของการทดสอบจากอัลลอฮ์(ซบ) เห็นได้ว่า แม้นแต่บรรดาศาสดาที่พระองค์ส่งมาเผยแผ่ศาสนา แทนที่จะได้รับการปกป้องจากพระองค์ในทุกภยันตราย ทว่าในความเป็นจริง กลับพบว่า บรรดาศาสดานั้น ถูกทดสอบเช่นเดียวกับคนธรรมดาทั่วไป

 

คำถาม : มนุษย์จะมีปฏิกิริยาเช่นใด หากบรรดาศาสดาปฏิบัติภารกิจในลักษณะที่พิเศษ

คำตอบ : หากศาสดาใช้วิธีแบบพิเศษ แน่นอนว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่บรรดาศาสดาจากไป มนุษย์จะใช้เป็นเหตุผลในการอ้างว่า เขาไม่ได้เป็นเหมือนศาสดาที่สามารถหายตัวเหาะเหินเดินอากาศได้ ดังนั้น เมื่อไม่มีแบบอย่างและแรงบันดาลใจที่เกิดจากการใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา เป็นไปได้ว่า จะไม่มีบุคคลที่จะรับใช้ศาสนาอีกต่อไป

 

เหตุผลหนึ่งที่ศาสดาต้องใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป เป้าหมายเพื่อเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตและการต่อสู้ในหนทางของศาสนาให้กับมวลมนุษย์ ซึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะศึกษาในมุมไหน เราจะพบว่า ศาสดามีความเหน็ดเหนื่อย เจ็บปวด ถูกรังแก ถูกเหยียดหยาม ถูกทรมาน ถูกเข่นฆ่าและในบางครั้งหนักเกินกว่ามนุษย์จะรับได้ด้วยซ้ำไป

 

ดั่งซูเราะฮฺ อัล-อันฟาล โองการที่ 30 ความว่า


وَإِذْ يَمْكُرُ بِكَ الَّذِينَ كَفَرُوا لِيُثْبِتُوكَ أَوْ يَقْتُلُوكَ أَوْ يُخْرِجُوكَ ۚ وَيَمْكُرُونَ وَيَمْكُرُ اللَّهُ ۖ وَاللَّهُ خَيْرُ الْمَاكِرِينَ

 

“และจงรำลึกขณะที่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาวางอุบายต่อเจ้า เพื่อกักขังเจ้า หรือฆ่าเจ้า หรือขับไล่เจ้าออก ไปและพวกเขาวางอุบายกันและอัลลอฮฺก็ทรงวางอุบาย และอัลลออฮ์นั้นทรงเป็นผู้เยี่ยมกว่าในหมู่ผู้วางอุบาย”

 

คำอธิบาย : พระผู้เป็นเจ้ารู้แจ้งถึงปฏิกิริยาของมนุษย์ ที่มีต่อบรรดาศาสดาทว่าความจริง ที่ลึกซึ้งกว่านั้น เป็นเพราะศาสดาอยู่ในมะกอมและดารอญะฮฺที่สูงกว่ามนุษย์ทั่วไป ยิ่งดารอญะฮฺสูงมากเท่าไหร่ การถูกทดสอบก็จะยิ่งหนักขึ้น

 

วิถีการดำเนินชีวิตของศาสดาคือฮิกมะฮ์

 

อาจมีข้อคลางแคลงว่า ทำไม “ยิ่งศาสดามีดารอญะฮฺสูงมากเท่าไหร่ การถูกทดสอบก็จะยิ่งหนักขึ้น” ดังกล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่า พระองค์ไม่รัก กลับกันเป็นเพราะศาสดาคือ บุคลากรที่พระองค์ทรงรักมากที่สุด จึงต้องถูกทดสอบมากที่สุด

เห็นได้ว่า ในแต่ละเรื่องราวก็มีปรัชญา มีเป้าหมายมีฮิกมะฮ์ที่แตกต่างกันไป


ทว่าหลักสำคัญ หากมนุษย์มั่นใจว่าเขาเป็นคนดี ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขา แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบหรือไม่พึงประสงค์ ขอให้คิดว่าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งดีสำหรับเขา หรือถึงแม้ว่าเขาเป็นคนที่ไม่ดี และไม่ว่าสิ่งต่างๆและสถานการณ์จะเกิดขึ้นเช่นใดกับเขา มั่นใจเถิดว่า ไม่เพียงพระองค์จะไม่ทรงกำหนดสิ่งที่ไม่ดีแก่บ่าวของพระองค์แล้ว พระองค์ยังทรงเลือกสิ่งที่ดีสำหรับพวกเขาเสมอ

 

ตัวอย่างที่ 1

 

- กรณี มีบุคคลหนึ่งกระทำความผิด ปรากฏว่า เขาโดนลงโทษจากพระองค์ในทันที มันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา เพราะบางกรณีความผิด (กระทำ) ของบางคนนั้น อาจหลงทางในทันใดนั้นเช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้เขาหลุดพ้นจากความผิดอันนั้น จึงถูกลงโทษในทันที หรือในบางครั้งอาจเป็นการสะกิด ด้วยการตักเตือนเขาไม่ให้ก้าวไปในหนทางที่ผิดยิ่งขึ้นไปอีก

 

ตัวอย่างที่ 2

 

- กรณี คนดีที่เผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์

 

คำถาม : ทำไมในโลกนี้ บางคนยากจน บางคนเผชิญความทุกข์ทรมานในรูปแบบต่างๆ

 

คำตอบ : มนุษย์บนโลกนี้ไม่ได้ถูกสร้างมาอย่างไร้จุดมุ่งหมาย ฉะนั้น การไปถึงยังตำแหน่งที่สูงส่ง จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยกฏเกณฑ์และหลักการปฏิบัติที่ชัดเจน และหนึ่งในเหตุผล ก็เพื่อทดสอบและปกป้องคุ้มครองจากอันตรายทางด้านความศรัทธาให้กับเขา หรือบางครั้ง ก็เพื่อยกฐานันดรทางจิตวิญญาณของเขาให้สูงส่งขึ้นไปอีก

 

ดังกล่าวนี้ ถือเป็นฮิกมะฮ์หนึ่ง หากพระองค์ต้องการที่จะยกฐานันดรทางจิตวิญญาณของผู้ใดแล้ว โอกาสที่พระองค์จะทดสอบเขาด้วยกับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นั้นมีแน่นอน

ตัวอย่าง การยกฐานันดรทางจิตวิญญาณ "เหตุการณ์ที่กัรบาลา”

“กัรบาลาอฺ” คือ แผ่นดินที่ถูกทดสอบด้วยความทุกข์ยากและความยากเข็ญ

- ที่นี่คือ สถานที่เป็นโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม

- ที่นี่ คือ ดินแดนที่จะมีการถูกสังหารที่เลือดนองแผ่นดิน และที่นี่จะเป็นสุสานของบรรดาวีรชนแห่งกัรบาลา

 

ข้อสังเกต : บุคคลที่สร้างวีรกรรมในเหตุการณ์กัรบาลาได้พิสูจน์มาแล้ว และข้อพิสูจน์นี้ มีฮาดิษบทหนึ่งยืนยันในหนังสือ الكافي เล่ม 2 หน้า 253


إذا أحَبَّ اللهُ عَبداً اِبتَلاهُ بِعَظيمِ البَلاءِ

“เมื่ออัลลอฮ์รักบ่าวคนหนึ่งคนใดแล้ว พระองค์จะทรงทดสอบเขาด้วยกับการทดสอบที่ยิ่งใหญ่“

 

บางครั้งเป็นการทดสอบทางด้านเศรษฐกิจ บางครั้งบุคคลใดที่อัลลอฮ(ซบ)รักมาก เพื่อให้เขาพิสูจน์ความรัก เขาอาจจะถูกทดสอบด้วยการใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ในลักษณะอดมื้อกินมื้อ ซึ่งเรื่องราวลักษณะนี้มีปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์เสมอ

 

ตัวอย่าง : "ยิ่งพระองค์รักมาก ยิ่งถูกทดสอบมาก”

 

เราขอยกเรื่องราวของท่านศาสดามูฮัมมัด (ศ) ท่านอิมามอาลี(อ)ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ) และครอบครัวอะฮ์ลุลเบต(อ)ของท่าน


ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า มนุษย์เมื่อเป็นคนดีแล้ว จะต้องอยู่อย่างสุขสบายโดยไม่มีความทุกข์ยากใดๆ ความจริงแล้ว มนุษย์จะต้องถูกทดสอบ และอย่าได้วัดความรักของพระองค์ด้วยกับวัตถุในโลกนี้ ขอให้ตระหนักว่า ดุนยาสำหรับพระองค์นั้นไม่มีคุณค่าใดๆและดุนยาไม่ได้ให้ประโยชน์กับมนุษย์ในโลกหน้าแม้แต่นิดเดียว อีกทั้งไม่ได้ช่วยผ่อนปรนโทษใดๆด้วย แต่ในบางครั้ง เราอาจจะสงสัยว่า ทำไม ผู้ปฏิเสธ ผู้ที่ละทิ้งการนมาซ ไม่ถือศีลอด กลับมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย

 

ในข้อสงสัยนี้อย่าได้เข้าใจผิด คิดว่า การที่คนเหล่านี้ได้รับทรัพย์สินเงินทองที่มากกว่า มีความสุขสบายที่มากกว่าบนโลกนี้นั้นเป็นความเมตตาพิเศษของพระองค์ เพราะในโลกหน้า แน่นอนไม่มีใครสามารถนำทรัพย์สินร้อยล้านพันล้านและความสุขสบายเหล่านี้ไปได้

 

ฉะนั้น โลกนี้ใครจะได้มาก ใครจะได้น้อยไม่สำคัญเท่าไหร่ ซึ่งหากเราศึกษาวิถีของบรรดาศาสดา หรือบรรดาอิมาม (อ) เหล่านี้ดำเนินชีวิตในโลกนี้ในลักษณะอดมื้อกินมื้อ เป็นแบบอย่างเพื่อการเรียนรู้วิถีผู้ที่ประสพความสำเร็จ เห็นได้ว่า แม้นแต่บุคลากรที่พระองค์รักยังมองโลกนี้ไม่มีค่าใดๆสำหรับพวกเขา ทว่าพวกเขากลับมองเห็นความเมตตาของพระองค์ยิ่งใหญ่กว่าและไม่ได้วัดกันที่วัตถุ

 

ด้วยกับความเมตตาของพระองค์ที่กว้างขวางและลึกซึ้ง มีฮาดิษบทหนึ่งกล่าวไว้ใน

نهج الفصاحه حدیث ฮะดิษที่ 2347

 

لَوْ كَانَتْ الدُّنْيَا تَعْدِلُ عِنْدَ اللَّهِ جَنَاحَ بَعُوضَةٍ مَا سَقَى كَافِرًا مِنْهَا شَرْبَةَ مَاءٍ
 

“ถ้าโลกนี้มีค่าเท่ากับปีกแมลงวัน พระองค์จะไม่ให้ผู้ปฏิเสธคนใดดื่มน้ำแม้แต่หยดเดียว”

 

ฮาดิษบทนี้ บอกว่า โลก(ดุนยา)นี้ไม่มีค่าใดๆ ถ้าพระองค์จะให้แก่ผู้ใด ก็ไม่ได้หมายความว่าพระองค์รักเขา ถ้าไม่ให้แก่ผู้ใดก็ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่รักเขา

 

แน่นอนว่าบรรดาศาสดารู้ว่า โลกนี้ไม่มีค่าสักเท่าไหร่ ซึ่งเราจะเห็นในวิถีการดำเนินชีวิต พฤติกรรมต่างๆของบรรดาศาสดา โดยเฉพาะศาสดาอิสลามและบรรดาอะฮ์ลุลเบต(อ) บางครั้งท่านได้รับทรัพย์สินหรือมีเท่าไหร่ ท่านจะบริจาคมันทั้งหมด และที่ประเสริฐยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น ท่านศาสดายังได้ขอดุอาอฺในลักษณะนี้อยู่เสมอ ตัวอย่างหนึ่งจากหนังสือ

 

سنن النبی (ص) فی المجتمع الإنسانی
“یا رب أشبع یوماً فأحمدک ، و أجوع یوماً فأسألک "

 

“โอ้อัลลอฮ์โปรดทำให้ชีวิตของข้าพระองค์ วันหนึ่งอิ่มเพื่อที่ฉันจะได้ขอบคุณพระองค์และอีกวันหนึ่งหิวเพื่อที่ฉันจะได้วิงวอนต่อพระองค์”

 

คำอธิบาย : การขอให้อดมื้อกินมื้อ คือ ฮิกมะฮ์หนึ่ง ความประสงค์มีเพื่อจะสื่อว่า โลกนี้ไม่มีค่าเท่าไหร่ และที่สูงส่งไปกว่านั้น "การอดมื้อกินมื้อ" จะทำให้ได้รำลึกอยู่เสมอว่า อาหารทุกมื้อนั้นมาจากพระองค์ มาจากการขอโดยตรง เมื่อไม่มีก็จะได้วิงวอนขอจากพระองค์ เป็นการขอที่ลึกซึ้งกว่าเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการขอในสภาพที่ไม่มีอะไรเลย เมื่ออิ่มจะได้ขอบคุณอย่างจริงใจ

 

แน่นอนโดยพื้นฐานของมนุษย์ เมื่อได้กินในขณะที่หิวโหยก็จะยิ่งรู้คุณค่า รู้บุญคุณอย่างแท้จริงและในอีกฮาดิษบทหนึ่งท่านศาสดาได้กล่าวไว้ใน

 

مجلة الرسالة/العدد 683
اللهُمَّ أَحْيِنِي مَا كَانَتِ الْحَيَاةُ خَيْرًا لِي، وَتَوَفَّنِي إِذَا كَانَتِ الْوَفَاةُ خَيْرًا لِي

 

“โอ้พระองค์ โปรดทำให้ข้าพระองค์มีชีวิตอยู่ต่อ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีกับข้าพระองค์ และโปรดเอาชีวิตฉันกลับไปเถิด ถ้าหากความตายนั้นมันดีสำหรับข้าพระองค์”

 

คำอธิบาย : หากการมีชีวิตในโลกนี้ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ ประโยคนี้เป็นการขอให้จากโลกนี้ไปทันที เพื่อแสวงหาความดีจากพระองค์ แต่ถ้าการมีชีวิตอยู่แล้วได้ทำความดีอย่างมากมาย ก็ขอให้อยู่ต่อ ถ้าหากความตายดีกว่าก็ขอให้จากโลกนี้ไป

 

ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นั้นมีมีฮิกมะฮ์ มีเหตุผล มีปรัชญาของเป้าหมาย บางครั้งเพื่อทดสอบ บางครั้งเพื่อการอภัยบาป บางครั้งเพื่อยกฐานันดรทางจิตวิญญาณหรือบางครั้งเพื่อเหตุผลอื่นๆ

 

ในประเด็นนี้ เพื่อทำความเข้าใจในอัดลฺ มีฮะดิษสั้นๆ ที่ท่านศาสดาได้กล่าวไว้

“الخير فيما وقع”

“สิ่งที่ดีที่สุดคือ สิ่งที่พระองค์ได้กำหนดให้เกิดขึ้นแล้ว”

 

และมีฮะดิษบทหนึ่งจากท่านอิมามญะฟัรอัศศอดิก(อ) เรื่องราวมีอยู่ว่า...

 

“มีศอฮาบะฮ์ท่านหนึ่ง แสดงตนเป็นผู้เคร่งครัดศาสนาและดุอาอฺที่เขาอ่านอยู่เป็นประจำ คือ เขาขอให้จนตลอดไป เมื่อท่านอิมามญะฟัรอัศศอดิก (อ) ทราบข่าว ท่านจึงถามว่าทำไมเจ้าขอดุอาอฺอย่างนี้

 

ศอฮาบะฮ์ ตอบว่า มิใช่ท่านศาสดาขอดุอาอฺให้จนดอกหรือ?

 

ท่านอิมาม (อ) ได้ตอบว่า เจ้าเข้าใจผิดแล้ว คุณลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ลักษณะของผู้ศรัทธาที่แท้จริง เจ้าคิดว่าเจ้าจะมีอีหม่านความศรัทธาได้ก็ต่อเมื่อเจ้าจนเท่านั้นหรือ ผู้ศรัทธาที่แท้จริงนั้นไม่ว่าพระองค์กำหนดอะไรให้กับเขานั้นคือสิ่งที่ดี

 

หากพิจารณาความหมาย จะเห็นว่า อิมาม ญะฟัรอัศศอดิก(อ)ต้องการจะสื่อว่า "หากเขาร่ำรวยเขาจะต้องเป็นเป็นคนรวยที่ดี และหากเขายากจนเขาก็จะต้องเป็นคนจนที่ดีตามหลักศาสนาด้วยเช่นกัน"

 

อิมาม ญะฟัรอัศศอดิก(อ) ชี้ว่า การเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริงนั้น จะร่ำรวยหรือยากจนก็ได้ ขอเพียงอย่าได้ยึดติด และต้องตระหนักว่า สิ่งใดที่พระองค์กำหนดให้แล้วนั้นคือ สิ่งที่ดีที่สุด มนุษย์เพียงทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด อีกทั้งพึงระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา สิ่งนั้นมีฮิกมะฮ์ มีเหตุผล มีปรัชญาของเป้าหมายและเป็นสิ่งที่ดีอย่างแน่นอน

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม