บทเรียนเทววิทยาอิสลาม

บทเรียนเทววิทยาอิสลาม0%

บทเรียนเทววิทยาอิสลาม ผู้เขียน:
กลุ่ม: ห้องสมุดหลักศรัทธา
หน้าต่างๆ: 450

บทเรียนเทววิทยาอิสลาม

ผู้เขียน: ดร.มุฮัมมัด ซะอีดีย์ เมฮร์
กลุ่ม:

หน้าต่างๆ: 450
ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 325664
ดาวน์โหลด: 4493

รายละเอียด:

บทเรียนเทววิทยาอิสลาม
ค้นหาในหนังสือ
  • เริ่มต้น
  • ก่อนหน้านี้
  • 450 /
  • ถัดไป
  • สุดท้าย
  •  
  • ดาวน์โหลด HTML
  • ดาวน์โหลด Word
  • ดาวน์โหลด PDF
  • ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 325664 / ดาวน์โหลด: 4493
ขนาด ขนาด ขนาด
บทเรียนเทววิทยาอิสลาม

บทเรียนเทววิทยาอิสลาม

ผู้เขียน:
ภาษาไทย

ท่านอิมามซอดิก ได้กล่าวอธิบายในโองการดังกล่าวว่า

 “ขอสาบานต่อพระเจ้าว่า พวกเขา(บรรดาผู้นำของเขา)มิได้ถือศีลอด และมิได้ทำการนมาซ แต่ทว่าพวกเขาได้ทำให้สิ่งที่ต้องห้าม(ฮะรอม) เป็นสิ่งที่ถูกต้อง(ฮะลาล) และสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้เป็นสิ่งที่ฮะรอม แล้วพวกเขาได้ปฏิบัติตามโดยที่ไม่เข้าใจในการกระทำของเขา “

(ตัฟซีรพะยอมกุรอาน เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๓๘๘)

ในอัล กุรอานได้กล่าวถึง ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตามว่า มิได้มีความขัดแย้งกับการปฏิบัติตามมนุษย์ด้วยกัน ในขณะที่พระเจ้าสั่งให้ปฏิบัติตามพระองค์ ดังนั้น การปฏิบัติตามมนุษย์ด้วยกันก็เท่ากับว่า เขาได้ปฏิบัติตามพระองค์

 อัลกุรอานกล่าวว่า

 และเรามิได้ส่งร่อซู้ลคนใดมานอกจากเพื่อให้เขาได้รับการเชื่อฟังด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์เท่านั้น”

(บทอัลนิซาอ์ โองการที่ ๖๔)

 “และพวกเจ้าจงเชื่อฟังอัลลอฮ์ และจงเชื่อฟังร่อซู้ลเถิด” ( บทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ ๙๒ )

 “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่าพวกท่านจงเชื่อฟังอัลลอฮ์และรอซูลเถิด แต่ถ้าพวกเขาผินหลังให้ แท้จริงอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงชอบผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย” (บทอาลิอิมรอน โองการที่ ๓๒ )

 “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮ์ และเชื่อฟังร่อซู้ลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย”

 ( บทอัลนิซาอ์ โองการที่ ๕๙)

๑๘๑

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ถูกทำให้เป็นสาเหตุการตั้งภาคีในการปฏิบัติตาม ก็คือ การปฏิบัติตามผู้ที่มีความขัดแย้งกับคำสั่งสอนของพระเจ้า และเช่นเดียวกัน ในวจนะก็ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

“มิได้มีการปฏิบัติตามใดในความบาปต่อพระเจ้า โดยอันที่จริง การปฏิบัติตามนั้น เฉพาะกับความดีเท่านั้น”

 (ศอเฮียะมุสลิม เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๔๖๙ )

ท่านอิมามอะลีกล่าวว่า

“ไม่มีการปฏิบัติตามใดของมนุษย์ในความบาปต่อพระเจ้า”

(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ฮิกมะฮ์ที่ ๑๖๕ )

ท่านอิมามซอดิกกล่าวว่า

“บุคคลใดก็ตามที่ปฏิบัติตามผู้อื่นในความบาป แน่นอนเขาเป็นบ่าวของผู้นั้น”

(วะซาอิลอัชชีอะฮ์ เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๙๑ วจนะที่ ๘)

วจนะนี้ได้กล่าวถึง ความหมายที่กว้างของ การเคารพภักดี ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตามผู้ที่กระทำบาป ถือว่า เป็นชนิดหนึ่งของการเคารพภักดี

๑๘๒

   ศัพท์วิชาการท้ายบท

เตาฮีด ฟีย์ อิสติอานะฮ์ หมายถึง ความเป็นเอกานุภาพในการขอความช่วยเหลือ

เตาฮีด ฟีย์ มะฮับบะฮ์ หมายถึง ความเป็นเอกานุภาพในการให้ความรัก

เตาฮีด ฟีย์ อิฏออะฮ์ หมายถึง ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตามเตาฮีด ฟีย์ ตะวักกุล หมายถึง ความเป็นเอกานุภาพในการมอบหมายการงาน

   สรุปสาระสำคัญ

๑.ความเป็นเอกานุภาพในการช่วยเหลือ ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งในความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ หมายถึง มนุษย์มีความเชื่อว่าจะต้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น และจากเหตุผลของความเป็นเอกานุภาพในการกระทำ ทำให้เข้าใจได้ว่า เฉพาะพระเจ้าองค์เดียวที่เราจะต้องขอความช่วยเหลือ

๒.ความเป็นเอกานุภาพในการขช่วยเหลือมิได้มีความหมายขัดแย้งกับการขอความช่วยเหลือจากสิ่งที่ถูกสร้างของพระเจ้า โดยเฉพาะจากบรรดาศาสดา และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ แต่การช่วยเหลือนั้นต้องมีเงื่อนไขว่า การทำให้พวกเขาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับพระเจ้า และมิได้มีความเป็นอิสระเสรีในตัวเอง นอกจากจะได้รับการอนุมัติจากพระองค์

๑๘๓

๓.และอีกประเภทหนึ่งของความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ ก็คือ ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตาม หมายถึง การยอมจำนนและปฏิบัติตามในคำสั่งสอนของพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว

พื้นฐานของความเป็นเอกานุภาพนี้ อยู่ภายใต้ความเป็นเอกานุภาพในการกำหนดบทบัญญัติ และการปกครอง

และด้วยกับการมีความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตาม จึงได้อนุญาตให้ปฏิบัติตามบรรดาผู้ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งได้

๔.และอีกประเภทหนึ่งของความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ ก็คือ ความเป็นเอกานุภาพในการให้ความรัก หมายถึง มนุษย์จะต้องให้ความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว และการมีความรักต่อสิ่งอื่น เนื่องจากว่า สิ่งนั้น เป็นสิ่งสร้างที่สวยงามของพระองค์

๕.พื้นฐานหนึ่งของความเป็นเอกานุภาพในการให้ความรัก คือ การมีคุณลักษณะที่สมบูรณ์แบบของพระเจ้า และไม่มีขอบเขตจำกัด เพราะว่าการให้ความรักที่แท้จริง จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องเกิดจากการรู้จักในความสมบูรณ์ของสิ่งนั้น และในขณะที่พระเจ้า ทรงดำรงไว้ซึ่งความสมบูรณ์แบบที่สุด ดังนั้น พระองค์จึงควรค่าแก่การให้ความรัก และมนุษย์ทุกคนจะต้องมีความรักในพระองค์ด้วย

๖.ความหมายของความเป็นเอกานุภาพในการมอบหมายการงาน คือ การที่มนุษย์ต้องมอบหมายการงานของตนต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว และด้วยกับความเป็นเอกานุภาพในการกระทำ และในการบริหาร และความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงได้กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องมอบหมายการงานของตนต่อพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น

๑๘๔

และการมีความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพในการมอบหมาย ก็มิได้มีความหมายขัดแย้งกับการเพียรพยายามอุตสาหะ แต่มีข้อแม้ว่า สิ่งนั้นต้องถูกใช้เป็นสื่อของพระเจ้า เพื่อที่จะทำให้ความประสงค์ของพระองค์นั้นสัมฤทธิ์ผล และสิ่งนั้นก็มิได้มีความเป็นอิสระเสรีในตัวเอง

๗.นอกเหนือจากการรู้จักพระเจ้า ,ความเป็นเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี ทั้งหมดเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์

เหตุผลของความเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของความเป็นเอกานุภาพในทฤษฎีก็คือ เกิดจากการรับรู้โดยตรงของมนุษย์

กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การมีประสบการณ์ในการปฏิบัติของมนุษย์ เป็นหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่า ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัตินั้น ก็เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

๘.อัล กุรอานและวจนะทั้งหลายได้กล่าวเน้นย้ำในความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ จะไม่ว่าในประเภทใดก็ตาม และยังได้เชิญชวนมนุษยชาติมาสู่การดำเนินชีวิตตามความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพอีกด้วย

๑๘๕

   บทที่ ๙

   พื้นฐานทางสติปัญญาของความเป็นเอกานุภาพในทัศนะอัลกุรอานและวจนะ

    อัลกุรอานได้อธิบายว่า ความเป็นเอกานุภาพ เกิดขึ้นจากพื้นฐานต่างๆที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งในบางโองการได้กล่าวถึง การเคารพภักดีในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวหรือความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดีอยู่ควบคู่กับการรู้จักพระเจ้า ซึ่งเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกของเขา นอกเหนือจากนี้ อัลกุรอานยังได้กล่าวในหลายโองการถึงเหตุผลทางสติปัญญาในการพิสูจน์ความเป็นเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า  ซึ่งจะมาอธิบายในโองการเหล่านี้ มีดังนี้

   อัล กุรอานกับความเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของความเป็นเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า

    จากบทที่แล้วได้อธิบายถึง การรู้จักพระเจ้าว่า เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การหลงใหลในโลกนี้ หรือการประสบพบกับปัญหาต่างๆ แต่สาเหตุที่แท้จริงก็คือ การมีอยู่ของมนุษย์ ดังนั้น แนวทางในการขจัดปัญหา ก็คือ การสำนึกในการมีอยู่ของพระเจ้า และการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์

๑๘๖

ซึ่งในอัล กุรอานได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนถึงแนวทางในการขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ก็คือ การเชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า และการขอความช่วยเหลือจากพระองค์

อัล กุรอานกล่าวว่า 

 “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ท่านได้เห็นพวกท่านแล้วมิใช่หรือ? หากการลงโทษนั้นหรือ ที่พวกท่านจะวิงวอนหากพวกเจ้าเป็นผู้พูดจริง”  

 “มิได้ เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกท่านจะวิงวอนขอ แล้วพระองค์ก็จะทรงปลดเปลื้องสิ่งที่พวกท่านวิงวอนให้ช่วยเหลือ หากพระองค์ทรงประสงค์ และพวกเจ้าก็จะลืมสิ่งที่พวกเจ้าให้มีภาคีขึ้น”

 (บทอัลอันอาม โองการที่ ๔๐-๔๑)

อัล กุรอานกล่าวว่า

 “ดังนั้นเมื่อพวกเขาขึ้นโดยสารบนเรือ พวกเขาวิงวอนต่ออัลลอฮ์เป็นผู้บริสุทธิ์ใจในการขอพรต่อพระองค์ ครั้นเมื่อพระองค์ทรงช่วยพวกเขาให้ขึ้นบก แล้วพวกเขาก็ตั้งภาคีต่อพระองค์”

(บทอัลอังกะบูต โองการที่ ๖๕)

จากโองการนี้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์รู้จักพระเจ้าในยามที่ประสบกับปัญหาที่ไม่สามารถแก้เองได้ และด้วยกับความเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมที่มีอยู่ในตัวของเขาเขาจะนึกถึงพระองค์ในทันทีทันใด

๑๘๗

และอัล กุรอานกล่าวว่า

 “และเมื่อทุกขภัยอันใดประสบแก่มนุษย์ พวกเขาก็วิงวอนขอต่อพระเจ้าของพวกเขา โดยเป็นผู้ผินหน้ากลับไปสู่พระองค์ ครั้นเมื่อพระองค์ได้ทรงให้พวกเขาลิ้มรสความเมตตาจากพระองค์ ณ บัดนั้นหมู่หนึ่งจากพวกเขาก็ตั้งภาคีต่อพระเจ้าของพวกเขา” (บทอัรรูม โองการที่ ๓๓)

โองการนี้ได้กล่าวถึง ชนกลุ่มหนึ่งมีความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ในยามที่ประสบกับปัญหา และหลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์แล้ว ความมืดมนได้เข้ามาครอบงำเขา และทำให้เขาลืมนึกถึงพระองค์ และได้ทำการตั้งภาคีต่อพระองค์

ในอัล กุรอาน บทอัลอะอ์รอฟ โองการที่ ๑๗๑-๑๗๒ ได้กล่าวถึงความเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ และความเป็นเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งได้อธิบายไปแล้วในวิธีการทางสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ และวจนะหนึ่งจากท่านอิมามบากิร (ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน) ได้กล่าวถึงการอธิบายในโองการนี้ไว้ว่า

 “หลังจากที่พระเจ้าได้แนะนำพระองค์ให้พวกเขา (มนุษย์ทั้งหลาย) ได้รู้จัก และแสดงตนให้รู้จัก และหากว่ามิได้เป็นเช่นนั้น ก็ไม่มีผู้ใดรู้จักถึงพระองค์”

(อุศูล อัลกาฟีย์ เล่มที่ ๒ วจนะที่ ๓ )

๑๘๘

สัญชาตญาณดั้งเดิมของความเป็นเอกานุภาพในมุมมองของวจนะ

    นอกเหนือจากโองการของอัล กุรอานที่ได้กล่าวถึง สัญชาตญาณดั้งเดิมของความเป็นเอกานุภาพแล้ว ก็ยังมีวจนะก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน

รายงานหนึ่งจากท่านฮิชาม บิน ซาลิม จากท่านอิมามซอดิก (ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน) เขาได้ถามท่านอิมามเกี่ยวกับโองการที่ ๓๐ บทอัรรูม (โองการที่กล่าวว่า “สัญชาตญาณดั้งเดิมของพระเจ้าที่พระองค์ทรงประทานให้แด่มนุษย์”)  ความหมายของสัญชาตญาณดั้งเดิมในโองการนี้ มีความหมายว่าอย่างไร?

ท่าน อิมามได้ตอบเขาว่า

 “สัญชาตญาณดั้งเดิมในโองการนี้ คือ ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า”

(อัตเตาฮีด อัศศอดูก บาบที่ ๕๓ วจนะที่ ๑ )

จากวจนะนี้ แสดงให้เห็นว่า ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า และการเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงองค์เดียว เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ ที่มีต่อการดำเนินชีวิตของเขา

๑๘๙

 ดั่งที่ท่านอิมามได้กล่าวอีกว่า

“พระเจ้าได้สร้างมนุษย์บนพื้นฐานของความเป็นพระผู้เป็นเจ้า”

   เหตุผลทางสติปัญญาของอัลกุรอานในความเป็นเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า

    ได้กล่าวแล้วว่า โองการของอัล กุรอาน ที่กล่าวถึง ความเป็นเอกานุภาพ และได้มีเหตุผลในอัล กุรอานได้หลายประเภทด้วยกัน ซึ่งมีดังนี้

   ๑.ความสามัคคีของจักรวาลและความเป็นระบบระเบียบ บ่งบอกว่า เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเป็นเอกานุภาพ

บางส่วนของโองการอัล กุรอานได้กล่าวถึง ความเป็นเอกานุภาพตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นระบบระเบียบของเอกภพ และอธิบายไปแล้วในบท ความเป็นเอกานุภาพในการบริหาร เกี่ยวกับการอธิบายโองการที่ ๒๒  บทอัลอัมบิยาอ์ การไม่ได้รับความเสียหายในเอกภพ แสดงให้เห็นว่า สัญลักษณ์หนึ่งของเอกานุภาพ ก็คือ ความเป็นระบบระเบียบ

และอีกโองการหนึ่งได้กล่าวเช่นกันว่า

“อัลลอฮ์มิได้ทรงตั้งผู้เป็นพระบุตรและไม่มีพระเจ้าอื่นใดคู่เคียงกับพระองค์ ถ้าเช่นนั้นพระเจ้าแต่ละองค์ก็จะเอาสิ่งที่ตนสร้างไปเสียหมด และแน่นอนพระเจ้าบางพระองค์ในหมู่พวกเขาก็จะมีอำนาจเหนือกว่าอีกบางองค์ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแห่งอัลลอฮ์ ให้พ้นจากที่พวกเขากล่าวหา”

 (บทอัลมุมินูน โองการที่ ๙๑ )

๑๙๐

จากโองการนี้แสดงให้เห็นว่า หากว่าในโลกนี้ มีพระเจ้าหลายองค์ จะเกิดความวิบัติมาสู่โลกอย่างแน่นอน เพราะว่า พระเจ้าที่ได้สมมุติขึ้นมานั้น มีอำนาจเหมือนกัน และสามารถสร้างสิ่งต่างๆได้ตามความปรารถนาของแต่ละองค์ อีกทั้งยังมีความสามารถที่แตกต่างกันในการปกครอง และการบริหาร ด้วยเหตุนี้ จะไม่เห็นความเป็นระบบระเบียบหลงเหลืออยู่  แต่ในความเป็นจริง โลกนี้นั้นมีความเป็นระบบระเบียบ ซึ่งก็บ่งบอกถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว

   ๒.เหตุผลของการชี้นำ(ฟัยฎ์และฮิดายะฮ์)

เป็นที่รู้กันดีว่า บรรดาศาสดาได้เชิญชวนมนุษย์ชาติไปสู่ความเป็นเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า และในคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายก็ได้กล่าวถึง ความเป็นเอกานุภาพ และในอัล กุรอาน ก็เช่นเดียวกัน ได้กล่าวถึงเหตุผลการพิสูจน์ในหลักการนี้ไว้อย่างชัดเจน 

การสมมุติฐานในข้อพิสูจน์นี้ ก็คือ ถ้าหากว่า โลกนี้มีพระเจ้าหลายองค์ จะต้องมีการแต่งตั้งศาสนทูต เพื่อที่จะแนะนำพระเจ้าในแต่ละองค์ และในขณะเดียวกัน โลกนี้ มีบรรดาศาสนทูต ที่พวกเขาได้เชิญชวนมวลมนุษยชาติมาสู่ความเป็นเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า

อัล กุรอานกล่าวว่า

 “และจงถามผู้ที่เราได้ส่งมาก่อนหน้าเจ้าจากบรรดาศาสนทูตทั้งหลาย เราได้แต่งตั้งพระเจ้าหลายองค์ นอกจากพระเจ้าองค์เดียวผู้ทรงกรุณาปราณีกระนั้นหรือ?” (บทอัซซุครุฟ โองการที่ ๔๕)

โองการนี้ได้กล่าวถึง คำถามที่ได้ถามกับบรรดาศาสนทูตถึง การเชิญชวนมาสู่การรู้จักในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวหรือในพระเจ้าหลายองค์

๑๙๑

สำหรับคำตอบก็คือ การเชิญชวนมาสู่พระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียวหรือความเป็นเอกานุภาพ ด้วยเหตุนี้ บรรดาศาสนทูตทั้งหลายจึงถูกแต่งตั้ง และเพื่อเชิญชวนมนุษยขาติให้รู้จักถึงพระองค์

นักอรรถาธิบายอัล กุรอานได้ให้ทัศนะที่มีความแตกต่างกันในการอธิบายความหมายของโองการนี้ว่า

บางคนกล่าวว่า เป็นคำถามที่ถามกับประชาชาติทั้งหลายในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด

อีกทัศนะหนึ่งได้กล่าวว่า ความหมายของโองการนี้ คือ การย้อนกลับไปหายังพระมหาคัมภีร์ทั้งหลายของพระผู้เป็นเจ้า

และในอีกทัศนะหนึ่งก็กล่าวว่า โองการนี้ถูกประทานในค่ำคืนเมียะรอจ(การขึ้นสู่ฟากฟ้า)ของท่านศาสดามุฮัมมัด

ดังนั้น จุดประสงค์ของโองการนี้ คือ การเชิญชวนของบรรดาศาสดาทั้งหลายมาสู่การรู้จักในพระเจ้าองค์เดียว

อัล กุรอานกล่าวว่า

“จงกล่าวเถิด มุฮัมมัด พวกท่านไม่เห็นดอกหรือว่า สิ่งที่พวกท่านวิงวอนขอ นอกจากอัลลอฮ์พระเจ้าองค์เดียว และจงแสดงให้ข้าเห็นซิว่า พวกมันได้สร้างอะไรในหน้าแผ่นดิน หรือพวกมันมีส่วนร่วมในการสร้างชั้นฟ้าทั้งหลาย จงนำคัมภีร์ก่อนหน้านี้หรือร่องรอยจากความรู้(ที่เป็นหลักฐานยืนยันในการนี้) หากว่าพวกท่านเป็นผู้ซื่อสัตย์จริง”(บทอัลอะฮ์กอฟ โองการที่ ๔)

โองการนี้กล่าวที่ ประโยคที่ว่า “จงนำคัมภีร์”  ซึ่งบ่งบอกถึง ไม่มีคัมภีร์ใดที่เชิญชวนประชาชาติไปสู่การตั้งภาคี และบรรดาศาสดาทุกคนก็ได้เชิญชวนประชาชาติมาสู่ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า

๑๙๒

 ดังนั้น ถ้าหากว่า ในโลกนี้ มีพระเจ้าหลายองค์ก็จะต้องส่งศาสดาของแต่ละองค์ลงมา และเชิญชวนประชาชาติให้รู้จักในแต่ละองค์ และจากช่วงแรกของโองการนี้ บ่งบอกถึง ความหมายของเหตุผลนี้ ก็คือ ถ้าหากว่า ในโลกนี้ มีพระเจ้าหลายองค์ พวกเขาจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน เพราะว่าสติปัญญาได้กล่าวว่า สิ่งที่ไม่มีส่วนร่วมในการสร้าง จึงไม่สมควรที่จะเคารพภักดีหรือเรียกสิ่งนั้นว่า เป็นพระเจ้า

กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า พระเจ้าที่ไม่มีการสร้าง ไม่ถูกเรียกว่า เป็นพระเจ้า ในขณะเดียวกัน สิ่งที่พวกตั้งภาคีได้สร้างขึ้น พวกมันก็ไม่มีอำนาจในการสร้าง และก็ไม่เรียกสิ่งนั้นว่าเป็นพระเจ้าด้วย

ข้อพิสูจน์ของการชี้นำและการมีอยู่ ที่ได้รับจากวจนะของอิสลาม

ดั่งวจนะของท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน)ได้กล่าวสั่งเสียแก่บุตรชายของท่านว่า

“โอ้ลูกรัก จงรู้เถิดว่า หากว่าพระผู้เป็นเจ้าของเจ้ามีหลายองค์ ก็จะต้องส่งบรรดาศาสดาลงมาแก่เจ้า และเจ้าก็จะเห็นในร่องรอยของการปกครองของพวกเขา และการกระทำ และคุณลักษณะของพวกเขา แต่ทว่า พระผู้เป็นเจ้ามีเพียงองค์เดียว”

(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายที่ ๓๑)

จากคำกล่าวของท่านอิมามอะลี ที่กล่าวว่า “จะต้องส่งบรรดาศาสดาทั้งหลายมาแก่เจ้า” บ่งบอกถึง ข้อพิสูจน์ของการชี้นำ และประโยคที่กล่าวว่า “เจ้าจะเห็นร่องรอยของพวกเขา”  ก็บ่งบอกถึง ข้อพิสูจน์ของการมีอยู่ และในวจนะนี้ยังได้กล่าวถึง ความเป็นพระผู้เป็นเจ้า จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีร่องรอยการสร้างให้เห็นอย่างกระจ่างชัด และมีการส่งบรรดาศาสนทูต เพื่อที่จะเชิญชวนมนุษยชาติให้รู้จักถึงพระองค์

๑๙๓

ถ้าในโลกนี้ มีพระเจ้าหลายองค์ ก็จะต้องส่งศาสนทูตของตนเองลงมา และมีร่องรอยในการสร้างให้เห็นเป็นที่ประจักษ์  และในขณะเดียวกัน โลกนี้มิได้มีสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น ในโลกนี้ จึงมีเพียงพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวเท่านั้น

  สรุปสาระสำคัญ

๑.อัล กุรอานได้กล่าวว่า ความเป็นเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า และการเคารพภักดีในพระองค์ เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ และโองการอัล กุรอาน เป็นหลักฐานที่สำคัญของการให้เหตุผลทางสติปัญญาถึงการพิสูจน์ในความเป็นเอกานุภาพ

๒.บางส่วนของโองการอัล กุรอานได้กล่าวถึง ในยามที่มนุษย์ประสบกับปัญหาต่างๆที่ไม่สามารถแก้ด้วยตนเองได้ เขาก็จะนึกถึงพระผู้เป็นเจ้า เป็นอันดับแรก เพราะว่า การรู้จักพระองค์ เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของเขา

๓.ความเป็นระบบระเบียบของเอกภพ เป็นเหตุผลหนึ่งของอัล กุรอานที่บ่งบอกว่า มีพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียวเป็นผู้บริหาร เพราะว่า ถ้าหากว่า มีพระเจ้าหลายองค์ ก็จะต้องเห็นการบริหารของแต่ละองค์ และก็จะเห็นว่า โลกคงมีแต่ความวุ่นวาย

๔.ทัศนะของอัล กุรอานมีความเห็นว่า บรรดาศาสดาทุกคนได้เชิญชวนมนุษยชาติมาสู่การรู้จักพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว เพราะว่า ถ้าหากว่า ในโลกนี้ มีพระเจ้าหลายองค์ ก็จะต้องส่งศาสนทูตมาแต่ละองค์ เพื่อที่จะเชิญชวนให้รู้จักในพระเจ้าของพวกเขา และนี่คือความหมายของ ข้อพิสูจน์ของการชี้นำ

๕.ท่านอิมามอะลี ก็เช่นกันได้กล่าวในคำสั่งเสียให้บุตรชายของเขาว่า เป้าหมายของการเชิญชวนบรรดาศาสดาทุกคน ก็เพื่อให้มนุษย์มาสู่การรู้จักในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว

๑๙๔

   บทที่ ๑๐

   ความเป็นเอกานุภาพ และการตั้งภาคี (ชิรก์) ตอนที่ หนึ่ง

    คำสองคำที่มีความหมายแตกต่างกันคือ คำว่า ความเป็นเอกานุภาพและการตั้งภาคี (ชิรก์) ความเป็นเอกานุภาพ หมายถึง การมีความเชื่อในความเอกะและความเป็นหนึ่งเดียวของพระผู้เป็นเจ้า และการปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้าหลายองค์

ส่วน การตั้งภาคี (ชิรก์) หมายถึง การมีความเชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้าหลายองค์ และการปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้าองค์เดียว  ด้วยเหตุนี้เอง การตั้งภาคีในเทววิทยาอิสลาม จึงถูกแบ่งออกเป็น ๒ ประเด็น ดังนี้

๑.การตั้งภาคี ที่เป็นศัพท์วิชาการทางศาสนาและใช้ในเทววิทยาอิสลาม เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเทววิทยาอิสลามก็คือ การอธิบายในรายละเอียดของการตั้งภาคี และการสร้างความสัมพันธ์ให้เข้ากับหลักการอื่นของศาสนา

๒.จากความแตกต่างของทั้งสองคำ คือ คำว่าความเป็นเอกานุภาพ และการตั้งภาคี ดังนั้น การอธิบายในการจัดประเภทและกฏของการตั้งภาคี เพื่อที่จะมีความเข้าใจในความหมายของ ความเป็นเอกานุภาพ ได้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น การรู้จักในสิ่งหนึ่งต้องรู้จักในความแตกต่างของสิ่งนั้น

๑๙๕

 

   ประเภทของการตั้งภาคี

    การตั้งภาคี (ชิริก์) สามารถที่จะแบ่งออกเป็นหลาย ประเภท ดังนี้

๑.การตั้งภาคีในอาตมัน หมายถึง การมีความเชื่อว่า พระเจ้ามีรูปร่าง และมีหลายองค์ ดังนั้น ประเภทนี้  จึงแบ่งออกเป็น  ๒ ประเด็นด้วยกัน

(๑.)การมีความเชื่อว่า พระเจ้ามีรูปร่าง

(๒).การมีความเชื่อว่า พระเจ้ามีหลายองค์

   คำอธิบาย

การตั้งภาคีในอาตมัน เป็นประเด็นแรก หมายถึง การมีความเชื่อว่า พระเจ้ามีรูปร่าง ซี่งเป็นสาเหตุให้เกิดการตั้งภาคี และในบทความเป็นเอกานุภาพในอาตมันก็ได้กล่าวไปแล้ว ในการอธิบายความหมายของ การมีส่วนประกอบทางสติปัญญา และการมีความเชื่อว่า พระเจ้ามีองค์เดียวในความเชื่อของมนุษย์ ก็มีจำนวนน้อย แต่ในทางตรงกันข้าม การมีความเชื่อว่าพระเจ้ามีรูปร่างนั้น มีจำนวนมากกว่า (จะกล่าวรายละเอียดใน สาเหตุของการตั้งภาคี เป็นอันดับต่อไป )

สาเหตุหนึ่งของการตั้งภาคี คือ การหลงใหลในวัตถุของมนุษย์ โดยพวกวัตถุนิยมมีความเชื่อว่า พระเจ้าต้องมีรูปร่างที่เป็นวัตถุ ดังนั้น การมีความเชื่อเช่นนี้ จึงเป็นประเภทหนึ่งของการตั้งภาคีในอาตมัน และอิสลาม เรียกพวกนี้ว่า พวกมุญัซซะมะฮ์ หมายถึง พวกที่มีความเชื่อว่า พระเจ้ามีรูปร่างที่เป็นวัตถุ

๑๙๖

ในความหมายที่สองของการตั้งภาคีในอาตมัน หมายถึง การมีความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ แต่การมีความเชื่อเช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นการตั้งภาคีในอาตมัน เพราะว่าในขณะเดียวกัน ที่มนุษย์คนหนึ่งได้ทำการเคารพบูชาในสิ่งต่างๆ โดยที่มีความคิดว่า สิ่งนั้นมิใช่เป็นพระเจ้า แต่สิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยพระผู้เป็นเจ้า และการเคารพบูชาในสิ่งนั้น เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า หรือคิดว่าสิ่งนั้นเป็นบุตรของพระองค์ หรือเป็นผู้บริหารส่วนหนึ่งของโลก แม้ว่าการมีความเชื่อเช่นนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดการตั้งภาคีในการบริหารก็ตาม แต่ไม่ได้มีผลกระทบในการตั้งภาคีในอาตมันเลย ดังนั้น จากความหมายนี้ นั่นก็คือ การมีความเชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้าหลายองค์ที่มีความเป็นอิสระในตัวเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ความหมายนี้ ในเชิงวิชาการด้านปรัชญา หมายถึง การมีความเชื่อในการมีอยู่ของหลายสิ่งที่จำเป็นที่ต้องมีอยู่ ในสภาพที่มิได้เป็นผลของสิ่งใดและก็มิได้เป็นสิ่งถูกสร้างของสิ่งใด

ดังนั้น การอธิบายข้างต้น แสดงเห็นได้ว่า การตั้งภาคีในอาตมันที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ มีจำนวนน้อยหรือน้อยมาก แต่ทว่าการตั้งภาคีที่เกิดขึ้นในมนุษย์ เกิดจากประเภทอื่นของการตั้งภาคี

๒.การตั้งภาคีในคุณลักษณะ หมายถึง การมีความเชื่อในการมีอยู่ของคุณลักษณะที่ไม่มีอยู่ในอาตมันของพระผู้เป็นเจ้า ประเด็นนี้ เป็นประเด็นในเชิงวิชาการด้านปรัชญา และเป็นข้อถกเถียงกันในหมู่ของนักปรัชญากับนักเทววิทยาอิสลาม และเช่นเดียวกัน การมีความเชื่อเช่นนี้ ก็เกิดขึ้นน้อยมากเหมือนกับการตั้งภาคีในอาตมัน

๑๙๗

สำนักคิดอัชอะรีย์มีความเชื่อในการมีอยู่ของคุณลักษณะที่มิได้มีอยู่ในอาตมันของพระผู้เป็นเจ้า โดยพวกเขามีความเชื่อว่า คุณลักษณะทั้งเจ็ดประการของพระผู้เป็นเจ้าที่มิได้มีอยู่ในอาตมันของพระองค์ ซึ่งกล่าวได้ว่า พวกอัชอะรีย์มีความเชื่อในการตั้งภาคีในคุณลักษณะ และในบทต่อไปจะอธิบายว่า การตั้งภาคีประเภทนี้ มิได้เป็นสาเหตุให้มนุษย์ต้องตกศาสนา ถ้าหากว่ามิได้มีความเชื่อในการตั้งภาคีในอาตมันอยู่ก็ตาม

๓.การตั้งภาคีในการกระทำ หมายถึง มีความหมายตรงกันข้ามกับความเป็นเอกานุภาพในการกระทำ และมีประเภทที่เหมือนกันกับความเป็นเอกานุภาพในการกระทำ ก็คือ การตั้งภาคีในการสร้าง ,การตั้งภาคีในการเป็นผู้อภิบาล และการตั้งภาคีในการวางกฏระเบียบ

การตั้งภาคีในการสร้าง หมายถึง การมีความเชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้าที่เป็นผู้สร้างหลายองค์ในสภาพที่ไม่มีองค์ใดมีชัยชนะเหนืออีกองค์อื่น ดั่งตัวอย่างเช่น การมีความเชื่อในผู้สร้างแห่งความดี และความชั่ว ด้วยกับการมีความเชื่อนี้ พระเจ้า เป็นผู้สร้างความดี  นั่นคือ พระเจ้าแห่งความดี ส่วนผู้ที่สร้างความชั่ว ก็คือ ซาตาน หรือ พระเจ้าแห่งความชั่ว ดังนั้น พระเจ้าแห่งความดี ทรงสร้างแต่ความดี ซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความชั่วและพระเจ้าแห่งความชั่วก็สร้างแต่ความชั่วและไม่เกี่ยวข้องกับความดี

การมีความเชื่อแบบนี้ได้เกิดขึ้น ในศาสนามานี และศาสนาโซโรเอสเตอร์ แต่ในศาสนาอิสลามก็มิได้ยอมรับการมีความเชื่อนี้ เพราะว่าอิสลามมีความเชื่อในความเป็นเอกะในการสร้าง กล่าวคือ การมีความเชื่อว่า พระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้สร้างแต่เพียงผู้เดียว

๑๙๘

การตั้งภาคีในการเป็นผู้อภิบาล ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งของการตั้งภาคีในการกระทำ ที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ได้เกิดขึ้นมากมายในหมู่กลุ่มชนและเผ่าพันธ์ของมนุษย์ และจากการตรวจสอบในความเชื่อที่เป็นการตั้งภาคี จะเห็นได้ว่า พวกเขามีความเชื่อในการเป็นผู้อภิบาลของพระเจ้าที่เป็นอิสระหลายองค์ ดั่งตัวอย่างเช่น การมีความเชื่อในการเป็นะผู้อภิบาลของลม ,ฝน ท้องฟ้า และต้นไม้ เป็นต้น

การตั้งภาคีในการวางกฏระเบียบ หมายถึง การยอมรับในการวางกฏระเบียบของสิ่งที่มิใช่พระผู้เป็นเจ้า และการปฏิบัติตามคำสอนที่มีความขัดแย้งกับคำสั่งสอนของพระองค์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า โดยส่วนมากการเกิดขึ้นของการตั้งภาคีประเภทนี้ มาจากสาเหตุของการหันเหออกจากศาสนาในหมู่กลุ่มชนที่ปฏิบัติตามศาสนา เช่น ในกลุ่มชนที่ปฏิบัติตามศาสนาคริสตร์ โดยมีความคิดเห็นว่า โป๋ปเป็นผู้ทรงสิทธิ์และบริสุทธิ์ในการวางกฏระเบียบในเรื่องของศาสนา โดยปราศจากความผิดบาปทั้งหลาย

   การตั้งภาคีในความเป็นพระเจ้าและการเคารพภักดี

    การตั้งภาคีในความเป็นพระเจ้า หมายถึง การมีความเชื่อในการเป็นพระเจ้าของสิ่งอื่นที่มิใช่เป็นพระผู้เป็นเจ้า และการเคารพภักดีและสักการะบูชาในสิ่งนั้น

 การตั้งภาคีในการเคารพภักดี หมายถึง การเคารพภักดีต่อสิ่งอื่นที่มิใช่เป็นพระเจ้า

๑๙๙

ดังนั้น การตั้งภาคีทั้งสองประเภท จะอยู่คู่กันโดยไม่สามารถแยกออกจากกัน เพราะว่าบุคคลใดก็ตามที่มีความเชื่อในความเป็นพระเจ้าของสิ่งหนึ่ง ก็ย่อมจะต้องทำการเคารพภักดีและสักการะบูชาในสิ่งนั้นอย่างแน่นอน และในบางกรณี การตั้งภาคีทั้งสองนี้อยู่คู่กับการเป็นผู้อภิบาล เพราะว่า พื้นฐานหนึ่งทางสติปัญญาของการตั้งภาคีในความเป็นพระเจ้า คือ การตั้งภาคีในการเป็นผู้อภิบาล หมายความว่า เมื่อบุคคลใดก็ตามที่มีความเชื่อในการเป็นผู้อภิบาลของพระเจ้าหลายองค์ เขาก็จะต้องทำการเคารพภักดีในพระเจ้าเหล่านั้นด้วย

การตั้งภาคีในความเป็นพระเจ้า และการเคารพภักดี เกิดขึ้นในหมู่พวกตั้งภาคี ซึ่งมีด้วยกันหลายสภาพ

พวกตั้งภาคีกลุ่มหนึ่ง ได้บูชาเจว็ดที่ตนเองสร้างขึ้นมาจากหิน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ได้ทำการบูชาในดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวนพเคราะห์ทั้งหลาย เพราะว่าพวกเขามีความเชื่อในความสูงส่งของมัน และยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำการบูชาต่อธรรมชาติ และมีอีกบางกลุ่มที่ทำการบูชาต่อสิงสาราสัตว์ เพราะว่าพวกขาเชื่อในการมีพลังที่เหนือธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ในสิ่งทั้งหลาย

ระดับขั้นของการตั้งภาคี

    การตั้งภาคีมีหลายระดับขั้น ด้วยกัน ในบางครั้ง เป็นระดับขั้นที่เปิดเผย และบางครั้ง เป็นระดับขั้นที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวของมนุษย์

การตั้งภาคีในการเคารพภักดี ในระดับขั้นที่เปิดเผย หมายถึง การประกอบพิธีกรรมใดๆก็ตาม เช่น การก้มกราบ การเชือดสัตว์พลี ต่อสิ่งหนึ่งโดยที่มีความเชื่อว่า สิ่งนั้นเป็นพระเจ้า

๒๐๐