• เริ่มต้น
  • ก่อนหน้านี้
  • 1 /
  • ถัดไป
  • สุดท้าย
  •  
  • ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 3362 / ดาวน์โหลด: 466
ขนาด ขนาด ขนาด
อบูตุรอบ

อบูตุรอบ

ผู้เขียน:
ภาษาไทย
อบูตุรอบ อบูตุรอบ
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน



การถือกำเนิดของอมีรุลมุอ์มินีน
ในการถือกำเนิดของอมีรุลมุอ์มินีน เขาคือของขวัญอันล้ำค่าที่อัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงประทานให้แก่เราะสูลของพระองค์ (ศ) เพราะทารกน้อยผู้นี้ คือผู้ที่จะให้การช่วยเหลือ เป็นสหายสนิท และกัลยาณมิตรของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ.ล.) เป็นผู้ร่วมชะตากรรมและน้องชาย และจะเป็นผู้ลบล้างความโศกเศร้าของท่าน (ศ.ล.)

บุคคลที่มารดาผู้ทรงเกียรติของเขาได้ขอความคุ้มครองจากพระผู้อภิบาลแห่งวิหารกะอฺบะฮฺในขณะที่นางตั้งครรภ์ ...
เธอคือ ฟาฏิมะฮฺ บินติอะสัด ผู้ซึ่งทารกน้อยที่อยู่ในครรภ์ของนาง คืออาคันตุกะผู้มีเกียรติของพระผู้เป็นเจ้า
และ ... อะลี คือทารกเพียงผู้เดียวที่ถือกำเนิดสู่โลกดุนยา ณ บ้านของอัลลอฮฺ
ถึงแม้จะค้นหา สำรวจตรวจตราสักเท่าไร เราก็จะไม่พบทารกหรือบุคคลใดที่มีคุณสมบัติพิเศษเช่นนี้ ทั้งก่อนหน้า และภายหลังจากเขา

ในขณะที่มารดาของทารกน้อยผู้นี้เดินออกมาจากวิหารกะอฺบะฮฺนั้น ได้สร้างความพิศวงให้แก่ชาวมักกะฮฺยิ่งนัก พวกเขามองเห็นทารกน้อยที่มีใบหน้าอิ่มเอิบเต็มไปด้วยรัศมีอยู่ในอ้อมกอดของนาง รัศมีที่ปรากฏบนใบหน้าของทารกน้อยช่างมีความงดงามประหนึ่งดวงจันทร์วันเพ็ญ ในค่ำคืน 15 ค่ำ กระนั้น

รับอิสลามคนแรก
ความโปรดปราน และความกรุณาปราณีจากพระองค์ ได้ปกคลุมเขา เพราะนับตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย จนเติบใหญ่สู่วัยหนุ่ม เขาได้รับการอบรมขัดเกลาโดยท่านศาสดามุหัมมัด (ขอความสันติพึงมีแด่ท่านและวงศ์วานของท่าน) อยู่ภายในบ้านและครอบครัวของท่านศาสดา (ศ)

ในท่ามกลางบุรุษทั้งหลาย อฺะลี (อฺลัยฮิสลาม) คือบุคคลแรกที่น้อมรับอิสลาม
แต่ในท่ามกลางเหล่าสตรี ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (สลามุลลอฮฺ อฺลัยฮา) ภรรยาผู้ซื่อสัตย์ของท่านศาสนทูต (ศ) คือบุคคลแรกที่ยอมสวามิภักดิ์ต่ออิสลาม
การดำรงนมาซที่เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในอิสลามนั้น ประกอบด้วย ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) อฺะลี (อฺ) และท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (สลามุลลอฮฺ อฺลัยฮา) โดยท่านศาสนทูตแห่งอิสลามได้วจนะว่า
“ในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่บุคคลอื่นใดจะยอมมอบหมายตนยอมจำนนต่ออิสลามนั้น มวลมลาอิกะฮฺของอัลลอฮฺ ต่างสรรเสริญสดุดีฉันและอฺะลี เพราะนอกจากเขาแล้ว ไม่มีบุรุษคนใดที่ได้ร่วมนมาซกับฉัน”

ท่านยังกล่าวอีกว่า :- “โอ้ อฺะลี เอ๋ย ! บุคคลแรกที่น้อมรับอิสลามก่อนประชาชนทั้งหมด และจะพบกับฉัน ณ สระน้ำเกาษัรฺ ในวันกิยามะฮฺก่อนใครทั้งหมด ก็คือเจ้า”

ลัยละตุลมะบีต
พวกกุเรช ได้ประชุมปรึกษาเพื่อวางแผนสังหารศาสดาแห่งอิสลาม(ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะอาลิฮฺ) แต่ทว่า อัลลอฮฺได้ทรงแจ้งให้ศาสนทูตของพระองค์ล่วงรู้ถึงแผนการนั้น และได้บัญชาให้ท่านละทิ้งบ้านเมือง (มักกะฮฺ) แต่เพื่อเป็นการประวิงเวลามิให้พวกมุชริกีนไหวตัว เพื่อจะไม่ให้พวกเขาติดตามท่านได้ทัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดให้ชายหนุ่มที่ยอมเสียสละในค่ำคืนอันระทึกขวัญ และเต็มไปด้วยภยันตรายได้เข้านอนแทนกายท่านเราะสูล (ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะอาลิฮฺ) โดยบุรุษผู้นั้นจะต้องมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว พร้อมที่จะยอมเสียสละเลือดและชีวิตแทนศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะอาลิฮฺ) การเสียสละครั้งยิ่งใหญ่นี้เองที่อฺะลี (อฺลัยฮิสลาม) อาสาสมัครด้วยความรักและความภาคภูมิใจ เขาได้สวมใส่เสื้อผ้าของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะอาลิฮฺ) แล้วทอดร่างลงบนที่นอนของท่าน (ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะอาลิฮฺ) ซึ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยงนั้นอย่างสงบมั่น

ในขณะที่เหล่ามุชริกีนได้เข้ารายล้อมบ้านหลังนั้นไว้ก่อนแล้ว และได้เฝ้าคอยสังเกตความเคลื่อนไหวภายในบ้านด้วยการใช้สายตาสอดส่ายเข้าทางประตูและหน้าต่าง และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าท่าน (ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะอาลิฮฺ) ยังคงหลับอยู่ ณ ที่นอนของท่าน บางครั้งพวกเขาจะโยนก้อนหินไปยังที่นอนของท่านเพื่อหยั่งดูว่าท่าน (ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะอาลิฮฺ) ยังคงนอน ณ ที่แห่งนั้น พวกเขาเฝ้าสังเกตการณ์และรอคอยจนกว่าจังหวะและโอกาสอันเหมาะสมจะมาถึง เพื่อจะได้จู่โจมเข้าไปด้วยความรวดเร็ว โดยไม่ให้ท่าน (ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะอาลิฮฺ) ได้ทันตั้งตัว แล้วสังหารศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะอาลิฮฺ) ให้เป็นชะฮาดะฮฺในบัดดล

ในวินาทีวิกฤตินี้เองที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุ อลัยฮิวะอาลิฮฺ) ได้อาศัยความมืดมิดที่ปกคลุมค่ำคืนจนสนิทนั้น หลบซ่อนตัวมุ่งสู่ถ้ำหิรออ์ อันเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย

ปิดประตูทุกบานเว้นแต่ประตูของอลี
สาวกของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) จำนวนหนึ่งได้สร้างบ้านเรือนบริเวณ “มัสญิดนบี” ซึ่งบ้านทุกหลังจะมีประตูบานหนึ่งเปิดเพื่อเป็นทางผ่านไปสู่มัสญิด
วันหนึ่ง ท่าน (ศ) ได้บัญชาให้ปิดทางผ่านและประตูทุกบาน ยกเว้นประตูบ้านของอฺะลี (อฺ) เท่านั้น คำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้พวกเขาบางส่วนแสดงความไม่พอใจ โดยต่างพากันกล่าววิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา ถึงขนาดที่คำพูดของพวกเขาเข้าทำนองคัดค้านและประท้วงท่าน (ศ) อาทิเช่น : -
ทำไมอฺะลี (อฺ) จึงได้รับสิทธิพิเศษด้วยเล่า ?

เพราะเหตุใดเขา (อฺ) จึงได้รับอนุญาตให้เปิดประตูบ้านเข้าสู่มัสญิดเพียงลำพังคนเดียว ในขณะที่บุคคลอื่นถูกห้าม ? ...

ท่านศาสดา (ศ) ได้กล่าวสุนทรพจน์กับสาวกของท่าน ภายหลังจากที่ท่านได้กล่าวสรรเสริญและขอบคุณอัลลอฮฺแล้ว ท่านได้กล่าวตอบพวกเขาดังนี้ : -
“นี่เป็นพระบัญชาของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงประสงค์เช่นนี้ ฉันได้รับบัญชาจากพระองค์ให้ปิดประตูทุกบาน ยกเว้นประตูบ้านอฺะลี ฉันคือบ่าวของอัลลอฮฺ ดังนั้น สิ่งใดที่พระองค์ทรงบัญชาลงมา ฉันจะต้องปฏิบัติมัน ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ลำพังตัวฉันเองไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะกำชับให้ปิดประตู หรืออนุญาตให้เปิดประตูบ้านของผู้ใด นอกจากสิ่งนั้นจะเป็นพระบัญชามายังฉัน และฉันก็ได้ปฏิบัติตามพระบัญชานั้น”

อลีในสมรภูมิ
ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) ได้มอบหมายภารกิจในการถือธงชัยในทุก ๆ สงครามให้แก่อฺะลี (อฺ) แม้กระทั่งในสงครามบะดัรฺ ในขณะที่เขา (อฺ) มีอายุ 23 ปี เขาคือบุรุษผู้สามารถคว่ำบรรดานักรบมุชริกีนระดับแกนนำให้ลงไปคลุกฝุ่นและตกเป็นฝ่ายปราชัยอย่างอัปยศ ก่อนที่จะย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม

บรรดานักประวัติศาสตร์ต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า อฺะลี (อฺ) ได้เข้าร่วมสงครามกับศาสนทูตแห่งอิสลาม (ศ) ในทุกสมรภูมิ ยกเว้นเพียงสงครามตะบู๊กเท่านั้น ซึ่งเขาต้องแบกรับภาระหน้าที่เป็นตัวแทนท่านนบี (ศ) อยู่ดูแลเมืองมะดีนะฮฺ และในวโรกาสนี้เองที่เขาได้มีความภาคภูมิใจ เมื่อศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) ได้อุปมาฐานภาพของเขา (อฺ) กับท่าน (ศ) อุปมัย ฐานภาพของฮารูน (อฺ) ที่มีต่อมูสา (อฺ)

เขาคือบุคคลที่ได้เผชิญกับอุปสรรค ความยากแค้นลำเค็ญอย่างแสนสาหัสในทุกสมรภูมิสงคราม ในสงครามอุหุดที่บรรดาสาวกจำนวนมากต่างทอดทิ้งให้ท่านศาสดา (ศ) ต้องอยู่เพียงลำพัง โดยพวกเขาได้วิ่งหนีเอาตัวรอดจากภยันตรายของข้าศึกที่บุกโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง แต่อะลี (อฺ) ผู้นี้ กลับยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่าน (ศ) ด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ในขณะที่เรือนร่างของเขาชุ่มโชกไปด้วยเลือดและบาดแผลฉกรรจ์ถึง 16 แผล จากการปกป้องชีวิตผู้เป็นสุดที่รักยิ่งของอัลลอฮฺ มุหัมมัด มุศเฎาะฟา (ศ)

เขาคือบุรุษผู้ซึ่งได้รับการบันทึกถึงความภาคภูมิใจ มิใช่แค่เพียงสงครามเดียวเท่านั้น แต่ทว่าในทุกสมรภูมิที่เขาได้เข้าร่วม
ในสมรภูมิบะดัรฺ ศาสดา (ศ) ได้เป็นพยานถึงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และความเป็นชายชาตินักรบของเขา โดยท่านได้กล่าวว่า : -
“แท้จริงเขา (อฺ) มาจากฉัน และฉันมาจากเขา...”
ในบะดัรฺ หรืออุหุดที่มลาอิกะฮฺแห่งวะหยู ท่านญิบเราะอีล อัล-อะมีน ได้ประกาศก้องว่า
“ไม่มีดาบ นอกจากซุลฟิกอรฺ และไม่มีสุภาพบุรุษ นอกจาก อฺะลี ” …

ในสงครามคอนดัก (อะหฺซาบ) ท่านนบีผู้ทรงเกียรติ (ศ) ได้วจนะว่า
“การต่อสู้ของเขา (อฺะลี) กับ อัมรฺ อิบนิอับดฺวัดด์ มีคุณค่าเหนือกว่าบรรดาอฺมัลและอิบาดะฮฺทั้งหมดของประชาชาติของฉันรวมกันตราบถึงวันกิยามะฮฺ....”

ในสมรภูมิค็อยบัรฺ ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) ได้กล่าวเทิดเกียรติ อฺะลี (อฺ) ว่า : -
“ในวันพรุ่งนี้ ฉันจะมอบหมายธงชัยแก่บุคคลที่เขาได้มอบความรักให้แก่อัลลอฮฺ และเราะสูลุลลอฮฺ และอัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ ก็รักเขาด้วยเช่นกัน”
“เขาจะบุกตะลุยศัตรูอย่างไม่หยุดยั้ง และจะไม่หันหลังให้เหล่าศัตรูโดยสิ้นเชิง....”
ในสงครามหุนัยนฺ เขาคือนักรบที่กล้าหาญชาญชัยที่สุด มีความเชี่ยวชาญและทุ่มเทมากที่สุด ...

ในสมรภูมินี้เองที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) ได้มอบฉายานามให้แก่เขาว่า : -
“ราชสีห์แห่งอัลลอฮฺ” และ “ดาบของผู้พิชิตศัตรูบนพื้นปฐพี”

เมตตาธรรมต่อผู้ขัดสน
< الَّذِيْنَ يُنْفِقُوْنَ اَمْوَالَهُمْ بِاللَّيْلِ وَ النَّهَارِ سِرّاً وَعَلانِيَةً ... > บะเกาะเราะฮ์ 274

“บรรดาผู้บริจาคทรัพย์สินของพวกเขาในยามค่ำคืนและยามกลางวัน ทั้งโดยลับและโดยเปิดเผย รางวัลของพวกเขา (ถูกตระเตรียมไว้) ณ พระผู้อภิบาลของพวกเขา ความหวาดหวั่นจะไม่แผ้วพาน และพวกเขาจะไม่เศร้าระทม”

สุภาพบุรุษคนเดียวกันนี้ ที่ในสมรภูมิสงคราม เขาจะมีความทระนง องอาจ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เสียสละ กล้าเผชิญหน้ากับศัตรูทุกนาม ดาบของเขาได้ฟาดฟันไปในวิถีทางแห่งอัลลลอฮฺ และศาสนทูตของพระองค์ ส่งบรรดาศัตรูของศาสนาแห่งสัจธรรม และศัตรูของมนุษยชาติให้ลงไปคลุกฝุ่นอย่างอัปยศอดสู แต่ทว่า ในท่ามกลางผู้ยากไร้ ผู้อ่อนแอ และเด็กกำพร้าแล้ว เขากลับเต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม และถ่อมตน ทรัพย์สินที่ได้พากเพียรขวนขวายหามาได้นั้น เขาจะใช้จ่ายและบริจาคไปในหนทางของอัลลอฮฺให้แก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว เขาจะให้การช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ ผู้ขัดสน เด็กกำพร้า และผู้เดินทาง และยังย้ำเตือนให้ผู้อื่นได้มีความเอื้ออาทร ด้วยการให้อาหารแก่ผู้หิวโหย และให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาอีกด้วย

เราจะเสกสรรจำนรรจาเช่นไรดี กับบุคคลผู้ซึ่งเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ถือว่า เขาคือผู้ที่อ่อนโยนที่สุด มีเมตตาธรรมที่สุดต่อประชาชน และท่าน (ศ) ยังได้แจ้งข่าวดีแก่เขา (อฺ) อีกว่า :-
“อัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงประทานความงดงามแก่เจ้า เนื่องจากความรักที่เจ้าหยิบยื่นแก่ผู้ยากจนขัดสนนั่นเอง”

ท่าน (อฺ) ลูก ๆ และครอบครัว จะมีความพึงพอใจในการใช้ชีวิตที่สมถะ เรียบง่ายที่สุด มีทรัพย์สินน้อยที่สุดเสมอ และไม่ว่าจะมีมากมายเท่าไร ท่านจะบริจาคจนหมดสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสมัยที่ท่านเป็นเคาะลีฟะฮฺ ถึงขนาดที่บุคคลที่ได้ไปพบเห็นสำรับอาหารที่แสนจะธรรมดาสามัญ จำนวนอันน้อยนิด หรือแม้กระทั่ง บางครั้ง สำรับอาหารอันว่างเปล่า ต่างมีความพิศวงต่อการดำเนินชีวิตของผู้นำเฉกเช่นท่าน (อฺ) ว่า : -
จะเป็นไปได้อย่างไรกันที่ผู้นำ และผู้บัญชาการแห่งรัฐอิสลามอันเกรียงไกร จะดำเนินชีวิตในสภาพเช่นนี้ ?

อิมามอะลี (อฺ) จะจัดสรรปันส่วนทรัพย์สินจากกองคลังบัยตุลมาลให้แก่ประชาชน และผู้ยากไร้อย่างรอบคอบ พิถีพิถัน และเป็นไปด้วยความยุติธรรมที่สุด โดยที่ท่านไม่เคยสะสมไว้สำหรับตนเองและเครือญาติเลย บางครั้งท่านจะกล่าวกับดุนยา หรือกับทรัพย์สินที่อยู่ในกองคลังบัยตุลมาลว่า :-
“เจ้าจงล่อลวงคนอื่นเถิด เพราะอฺะลี จะไม่มีวันตกเป็นเหยื่อแห่งการล่อลวงของเจ้าอย่างเด็ดขาด”

ท่านได้กล่าวถึงความเมตตาที่ท่านมีต่อผู้อื่นว่า “ฉันคือบิดาแห่งเด็กกำพร้าและผู้ยากจนขัดสน คือผู้ให้การชุบเลี้ยงแก่คนอนาถา และผู้ไร้ที่พึ่งพิง เป็นที่พักพิงให้แก่ผู้อ่อนแอทั้งหลาย และเป็นผู้ให้ความสงบมั่นแก่ผู้ที่กังวลและทุกข์ระทม”

การรำลึก การอิบาดะฮฺ ภารกิจ และการบากบั่น
ฎิรอรฺ อิบนิฎุมเราะฮฺ อัลกินานีย์ กล่าวว่า แท้จริงเขา (อิมามอลี) มีความสันโดษจากดุนยาและมีความเพียงพอกับมัน และคุ้นเคย เป็นสหายสนิทกับยามค่ำคืนในท่ามกลางความมืดสนิทของมัน ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เขาจะร้องไห้อย่างมากมาย ใช้ความคิดอย่างยาวนาน

แล้วเขาก็ร้องไห้ด้วยการร้องไห้อย่างเศร้าโศกระทม ประหนึ่งว่าในขณะนั้นฉันกำลังได้ยินเขากล่าวว่า โอ้ พระผู้อภิบาลของเรา โอ้ พระผู้อภิบาลของเรา ด้วยการอ้อนวอนต่อพระองค์ หลังจากนั้น เขาได้กล่าวกับดุนยาว่า “จงออกไปให้ห่างไกลจากฉันเถิด จงหลอกลวงคนอื่นเถิด แท้จริงข้าฯ ได้หย่าขาดจากเจ้า 3 ครั้งแล้ว

อะลีได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง หลังจากนั้นเขาได้เริ่มขุดบ่อน้ำ ณ ที่นั้น ในขณะที่ประชาชนได้เพียรพยายามช่วยกันขุดบ่อน้ำอยู่นั้น ทันใดนั้นเอง ตาน้ำได้พวยพุ่งขึ้นมา โดยที่ขนาดของมันประหนึ่งลำคอของอูฐ แต่แล้ว เขากลับบริจาค (เศาะดะเกาะฮฺ) มันให้แก่บรรดาผู้ขัดสน ผู้ยากไร้ ผู้เดินทาง และผู้ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ

อิมามอะลี (อฺ) เป็นผู้ที่มีความบากบั่น จริงจังกับภารกิจการงาน ท่านจะทำสวน ปลูกพืชผัก ตัดตอนกิ่งต้นไม้ พัฒนาปรับปรุงสวนอินทผลัม ท่านจะบากบั่นแสวงหาปัจจัยยังชีพที่หะลาลด้วยความพากเพียรพยายาม และได้บริจาคสิ่งเหล่านั้นไปในหนทางของอัลลอฮฺ โดยเหลือสำหรับตนเองกับครอบครัวเพียงน้อยนิดเท่านั้น

วันหนึ่ง ท่านได้ขุดบ่อน้ำ ภายหลังจากได้ใช้ความเพียรพยายามมาเป็นเวลาหลายวัน ในที่สุด ตาน้ำอันใสสะอาดบริสุทธิ์ได้พวยพุ่งออกมา โดยขนาดของมันประหนึ่งลำคอของอูฐ
ท่านได้ขึ้นมาจากบ่อน้ำ และนั่งมองผืนดินที่แห้งผากที่กำลังกระหายน้ำ พืชพันธุ์ ต้นไม้กำลังรอคอยน้ำ ประชาชนต่างแสดงความยินดีกับท่าน แต่ทว่า ท่านกลับบริจาคมันด้วยประโยคที่ว่า :-
โอ้บรรดาผู้ผู้ยากไร้ ผู้ขัดสน ผู้เดินทาง ท่านทั้งหลายจงใช้ประโยชน์จากมันเถิด เพื่ออัลลอฮฺจะทรงทำให้ใบหน้าของอะลีขาวผ่อง และทำให้เขาปิติยินดี และห่างไกลจากไฟนรกในวันกิยามะฮฺ
สวนอินทผลัมที่ได้เคยเป็นสักขีพยานแห่งความบากบั่นของอะลีในยามกลางวัน บัดนี้ มันได้เฝ้าเพ่งพินิจความเป็นบ่าวผู้จงรักภักดีที่กำลังสวามิภักดิ์ต่อผู้ที่คู่ควรต่อการเคารพภักดี ต้นอินทผลัมต่างเฝ้ามองมนุษย์ผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสูงส่ง ผู้มีอิสรเสรีพ้นจากพันธนาการใด ๆ ที่กำลังวิงวอน รำพึงรำพันอย่างถ่อมตนกับอัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่ง น้ำตาได้หลั่งนองสองแก้มโดยสามารถมองเห็นได้จากแสงเดือนที่ส่องฉายกระทบใบหน้านั้น

บริจาคขณะโค้งรุกูอฺ
ขอทานผู้แร้นแค้นคนหนึ่งได้เดินเข้าไปในมัสญิดนบี (ศ) เพื่อขอความช่วยเหลือจากประชาชน เพื่อขจัดปัดเป่าความยากไร้ของเขา แต่ไม่มีใครตอบรับคำเรียกร้องและสนใจใบหน้าที่เต็มไปด้วยความกังวล เศร้าหมองของเขาแม้แต่คนเดียว

เขาได้ยกมือทั้งสองขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างคนที่ท้อแท้และสิ้นหวัง พร้อมทั้งกล่าวว่า : -
โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงเป็นพยานให้ข้าฯ ด้วยเถิดว่า ข้าฯ ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน ณ มัสญิดเราะสูลของพระองค์ เพื่อขจัดความยากแค้นลำเค็ญของข้าฯ แต่แล้ว กลับไม่มีมนุษย์ผู้ใดหยิบยื่นน้ำใจให้แก่ข้าฯ ...

ในทันใดนั้นเอง ดวงตาที่ท้อแท้และสิ้นหวังของเขาได้ทอแสงเจิดจำรัสด้วยความหวังขึ้นมาทันที เมื่อเขาได้เหลือบไปเห็นชายหนุ่มผู้หนึ่งในท่ามกลางฝูงชนเหล่านั้นกำลังโค้งรุกูอฺ และได้ทำสัญญาณด้วยมือข้างขวา ซึ่งมีแหวนสวมอยู่ที่นิ้วหนึ่ง ทำให้เขาเข้าใจได้ทันทีว่าชายหนุ่มผู้นั้นปรารถนาจะบริจาคแหวนวงนั้นแก่เขา เขาได้เข้าไปใกล้ด้วยความปิติยินดีและขอบคุณพร้อมกับถอดแหวนวงนั้นออกจากนิ้วของชายหนุ่ม ...

เมื่อท่านนบีผู้ทรงเกียรติ (ศ) ได้ถามเขาว่า : - “ใครเป็นผู้ให้แหวนนี้แก่ท่าน ?”
เขาจึงตอบว่า “ผู้ที่โค้งรุกูอฺคนนั้น”
อัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่ง จึงได้ทรงประทานโองการ :-
“โดยแน่นอนยิ่ง ผู้ปกครองของสูเจ้า คืออัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธาที่พวกเขาดำรงการนมาซ และบริจาคทานในขณะที่พวกเขาโค้งรุกูอฺ” ประตูแห่งวิทยานคร
وَأْتُوْا الْبُيُوْتَ مِنْ اَبْوَابِهاَ> (سورةالبقرة / 189)
“สูเจ้าทั้งหลายจงเข้าสู่บ้านจากทางประตูเถิด”

قال رسول الله (ص) : أنا مدينة العلم وعليٌّ بابها , فمن أراد مدينة فليأت الباب
“ฉันคือเมืองแห่งความรู้ ส่วนอะลีคือประตูของมัน ดังนั้น ใครก็ตามที่ปรารถนาเดินเข้าสู่เมืองนี้ จำเป็นที่เขาจะต้องเข้าทางประตู”

นี่คือวจนะของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ มุหัมมัด มุศเฏาะฟา (ศ) คอตะมุลอันบิยาอ์ (ศาสดาสุดท้าย) ซึ่งทุกวจนะของท่านตั้งอยู่บนพื้นฐานของวะหฺยู ทั้งสิ้น พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงประทานศาสนาสุดท้าย และเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ที่สุดโดยผ่านการสื่อของท่าน (ศ) และได้ทรงประทานความรอบรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดทั้งในด้านดุนยาและอาคิเราะฮฺ ความรอบรู้ทั้งในฟากฟ้าและบนพื้นปฐพีให้แก่ท่าน (ศ)

ปกติวิสัยของมนุษย์โดยทั่วไป เขาจะเข้าบ้านหรือเมืองก็ด้วยการผ่านทางประตูของมัน ดังนั้น จึงจำต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เราต้องพลัดหลงออกไปจากหนทางที่จะนำวิทยาการที่เต็มไปด้วยมรรคผล และความจำเริญของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) ซึ่งเป็นวิทยาการที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง

“สูเจ้าทั้งหลายจงเข้าสู่บ้านจากทางประตูเถิด”
(อัล -บะเกาะเราะฮฺ 2 : 189)

วิถีที่จะดำดิ่งสู่ห้วงมหาสมุทรอันแสนล้ำลึกแห่งความคิดของเขา
ประตูที่จะมุ่งเข้าสู่นครแห่งความรู้อันเกรียงไกรของเขา …
สมดั่งที่เขาได้วจนะนั้นแล

ปรากฏการณ์สำคัญ ณ เฆาะดีรฺคุม
ณ บ่อน้ำที่มีนามว่า “คุม” (เฆาะดีรฺคุม) ซึ่งตั้งอยู่แถบชานเมือง “ญุหฺฟะฮฺ” ขณะนั้น เป็นเวลาใกล้เที่ยง ท่าน (ศ) ได้บัญชาให้พวกเขาหยุดพักเพื่อชุมนุม ณ สถานที่แห่งนั้น แน่นอนที่สุด ย่อมจะต้องมีภารกิจที่มีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งยวดที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) ได้บัญชาเช่นนั้น เพราะมันเป็นช่วงเวลาและสถานที่ ที่อยู่ในท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุ...

มีรายงานว่า บรรดาหุจญาจได้สร้างมิมบัรฺชั่วคราวขึ้นมาเพื่อที่จะให้ฝูงชนที่ชุมนุมกันอย่างเนืองแน่น สามารถมองเห็นและได้ยินคำประกาศอันมีความสำคัญยิ่งของท่านอย่างทั่วถึง ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) ได้ยืน ณ สถานที่นั้น ... และท่านได้กล่าวสุนทรพจน์จนกระทั่งถึงประโยคต่อไปนี้ : -ฉันมิได้มีความเหมาะสมที่สุดและดีเลิศที่สุดในท่ามกลางผู้ศรัทธาดอกหรือ ?

พวกเขาต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “หามิได้ โอ้เราะสูลุลลอฮฺ สิ่งที่ท่านกล่าวมานั้นแหละคือสัจธรรม และแล้ว ท่าน (ศ) ได้จับมือของอฺะลี (อฺ) ชูขึ้น พร้อมกับกล่าวด้วยเสียงที่กึกก้องกังวานขึ้นว่า :-
“ใครที่ฉันเป็นผู้นำและผู้ปกครองของเขา ดังนั้น ภายหลังจากฉันแล้ว อะลีผู้นี้ก็คือผู้นำของเขาด้วย”
(บางรายงานกล่าวว่า ท่านศาสนทูตได้กล่าวประโยคดังกล่าวนี้ซ้ำถึง 4 ครั้งด้วยกัน)

ภายหลังจากสิ้นสุดสุนทรพจน์และคำวิงวอนของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) แล้ว บรรดาสาวกต่างได้ทยอยเข้าร่วมแสดงความปิติยินดีกับอะลี (อฺ) ด้วยการกล่าวประโยคดังต่อไปนี้ : -
“ขอความจำเริญจงมีแด่ท่าน โอ้ บุตรแห่งอบูฏอลิบ
นับแต่นี้ไป ท่านคือเมาลา (ผู้นำ) ของเรา และเมาลาของผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิง”

วาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) กล่าวว่า : -
... โอ้ อะลีเอ๋ย ผู้ที่โชคร้ายที่สุดก็คือผู้ที่ฟันเจ้า
แล้วท่าน (ศ) ได้ชี้ไปยังส่วนที่เขา (อฺ) จะถูกฟัน

ครั้งหนึ่ง ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้ร้องไห้ ด้วยเหตุนี้ ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี (อฺ) จึงได้ถามท่านว่า
โอ้ เราะสูลุลลอฮฺ ! ท่านร้องไห้จนกระทั่งน้ำตาได้เปียกชุ่มใบหน้าด้วยสาเหตุอันใดหรือ ?
ท่าน (ศ) จึงตอบเขาว่า : -
บางส่วนจากพวกเขามีความอิจฉาริษยาอยู่ในหัวใจ และมีความเป็นศัตรูต่อเจ้า และแล้วเมื่อถึงวันที่ฉันไม่ได้อยู่ในท่ามกลางพวกเขา พวกเขาจะสำแดงมันออกมาอย่างเปิดเผย
ใช่แล้ว ภายหลังจากฉัน ประชาชาตินี้จะไม่ให้เกียรติเจ้า และจะสังหารเจ้าจนศีรษะ ใบหน้า และเคราของเจ้าแดงฉานไปด้วยเลือด ผู้ที่สังหารเจ้าอย่างโหดเหี้ยมนั้นคือผู้ที่โชคร้ายที่สุด

แต่อฺะลี (อฺ) กลับตั้งคำถามกับท่าน (ศ) ว่า : -
โอ้ ผู้เป็นมิตรแห่งพระผู้เป็นเจ้า เมื่อถึงยุคสมัยนั้น ศาสนาของฉันจะยังมั่นคงอยู่ใช่ไหม ?

เราะสูลุลลอฮฺ : - ใช่แล้ว มันจะยังมั่นคง
แล้วท่าน (ศ) ได้กล่าวต่อไปอีกว่า เจ้าจะดำเนินชีวิตบนครรลองแห่งศาสนาและแบบฉบับของฉัน และจะถูกสังหารเพราะการยืนหยัดบนสุนนะฮฺของฉัน บุคคลใดที่รักเจ้าก็เท่ากับเขารักฉัน และบุคคลใดที่รังเกียจเดียจฉันท์และเป็นศัตรูกับเจ้า ก็เท่ากับเขาได้รังเกียจฉันและเป็นศัตรูกับฉันด้วย

สุภาพบุรุษผู้ซึ่งมุสลิมทุกคนเป็นหนี้บุญคุณในการรับใช้ และเสียสละของเขาตราบถึงวันกิยามะฮฺ
บุรุษผู้ซึ่งมีเกียรติสูงสุด และเป็นที่รักที่สุดของศาสดาแห่งอัลลอฮฺ (ศ)

แต่แล้ว พวกเขากลับปฏิบัติต่ออฺะลี (อฺ) ผู้นี้ด้วยความกักขฬะ หยาบช้าและป่าเถื่อน โดยในขณะที่เขา (อฺ) กำลังเฝ้ารอคอยคำสัญญาแห่งศาสดา (ศ) ว่าเขาจะได้รับ “ชะฮาดะฮฺ” อยู่นั้น เขาได้กล่าวรำพึงรำพันขึ้นว่า :-
“โอ้ พระผู้อภิบาลของข้าฯ ข้าฯ รู้สึกเหนื่อยหน่ายต่อประชาชนมากแล้ว และพวกเขาก็รู้สึกเบื่อหน่ายต่อข้าฯ เช่นกัน ดังนั้น ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระจากข้าฯ และได้ทรงโปรดปลดปล่อยข้าฯ ให้พ้นจากพันธนาการของพวกเขาด้วยเถิด”

โดยเขากล่าวว่า
“เมื่อเวลาแห่งพันธสัญญาได้ย่างกรายเข้ามา ฉันปรารถนาจะได้พบกับพระผู้อภิบาลของฉัน ด้วยท้องอันว่างเปล่า”

บางครั้งเขาจะใช้มือจับลูบไปที่เคราพร้อมกับกล่าวว่า : -
“อีกไม่นานแล้วที่เจ้าจะชุ่มโชกไปด้วยโลหิตสีแดงที่ไหลมาจากศีรษะของข้าฯ”

ในค่ำคืนแห่งพันธสัญญานั้น เขาได้ดำรงการนมาซ กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ ดุอฺาอ์ และวิงวอนอย่างมากมาย
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เขาเดินออกมานอกระเบียงบ้าน แล้วแหงนหน้ามองสู่ท้องฟ้าเป็นเวลาเนิ่นนาน พร้อมกับกล่าวว่า :-
“ข้าฯ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า ข้า ฯ จะไม่กล่าวเท็จ
และสิ่งที่ได้ถูกสัญญาไว้ ก็หาใช่ความเท็จไม่
แน่นอน ค่ำคืนนี้แหละ คือค่ำคืนที่ข้าฯ ได้เฝ้ารอคอยมาเป็นเวลาช้านาน”
ก่อนรุ่งอรุณจะมาถึง ใกล้เวลาบอกสัญญาณอะซานเพื่อเตือนนมาซศุบหฺแล้ว
ท่าน (อฺ) ได้เตรียมพร้อมที่จะออกจากบ้านมุ่งสู่เป้าหมาย คือ “มัสญิด”
เพื่อการเข้าเฝ้าต่อพระผู้อภิบาล อย่างนิรันดร
ในที่สุด พวกทรยศและเนรคุณได้ลอบทำร้ายด้วยการฟันที่ศีรษะผู้เป็นวะศีย์ของมุศเฏาะฟา (ตัวแทนแห่งท่านศาสดา) สามีของฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรอ (ส) จนได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัส

ในช่วงวันเวลาดังกล่าว ท่านได้ทำการสั่งเสียให้ทุกคนมีระเบียบวินัย ให้ดำรงการนมาซ และศึกษาทบทวนตัวบทแห่งคัมภีร์อัล-กุรฺอานเสมอ ๆ พร้อมทั้งกล่าวว่า :-
“เมื่อถึงเวลานั้น.... ในวันที่ฉันมิได้อยู่ท่ามกลางพวกท่านแล้วพวกท่านจะรู้จักฉัน พวกท่านจะมีความรู้สึกเสียดายฉัน”

อิมามหะสัน มุจญ์ตะบา (อฺ) บุตรชายของท่าน และผู้เป็นหลานตาของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้กล่าวว่า : -
“ค่ำคืนนี้ สุภาพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ได้อำลาจากโลกดุนยาไปแล้ว
จะไม่มีบุคคลใดเทียบเทียมเขาในด้านอฺมัลความดี
และจะไม่มีใครเทียบเทียมเขาได้สักกรณีเดียว”
ท่านมิได้ละทิ้งทรัพย์สิน ทองคำ เพชรนิลจินดาไว้ให้แก่พวกเรา
แต่ทว่า มรดกของท่านคือแบบฉบับแห่งการดำเนินชีวิต
และคำสอน คำสั่งเสียที่เราจะต้องพิทักษ์รักษาและดำเนินตามอย่างมั่นคง

เราจะขอจบด้วยวจนะหนึ่งจากท่านศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ (ศ) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า : -
“อุปมา รัศมีและความสว่างไสวของอฺะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อฺ) ที่สถิตอยู่ ณ สรวงสวรรค์อันสูงสุด อุปมัย ดั่งความสุกสกาววาววับของดวงดาวในยามรุ่งอรุณสำหรับชาวปฐพีกระนั้น”





แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน