หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์
ผู้เขียน:
สัยยิดมุจญ์ตะบา ลารีย์
ภาษาไทย
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
ระหว่างคุณูปการที่ประชาชาติจะได้รับจากผู้นำผู้มีสิทธิอันชอบธรรมและมีเป้าหมายและอุดมการณ์เพื่อให้ประชาชนพบกับแสงสว่างแห่งสัจธรรม มีเกียรติ ศักดิ์ศรี และอิสรเสรีพ้นจากพันธนาการจากความเป็นทาสของมนุษย์ กับภยันตรายและความเสื่อมเสียจากผู้ปกครองที่อธรรม ไม่แยแสต่อชะตากรรมของประชาคม และเหยียบย่ำทำลายสิทธิของปัจเจกชนและสังคมนั้น ย่อมไม่เป็นที่สงสัยในภาพลักษณ์ของผู้นำทั้งสอง
บุคคลที่จะเข้ามาสืบทอดภารกิจชี้นำประชาชาติต่อจากศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) นั้น จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในสารธรรมคำสอน มีวัตรปฏิบัติ วิสัยทัศน์ และอุดมการณ์เดียวกับท่าน (ศ) ด้วย และนอกเหนือจากจริยธรรมที่สูงส่ง ฐานภาพและเกียรติคุณทางด้านจิตวิญญาณ ความสะอาดบริสุทธิ์ และการพยายามขัดเกลาตัวตนให้ผ่องแผ้วอยู่เสมอแล้ว เขาจะต้องมีความสันทัดและเชี่ยวชาญในหลักคำสอนอย่างถ่องแท้ด้วย ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถให้คำตอบที่สอดคล้องกับบทบัญญัติและหลักคำสอนได้ในทุก ๆ ปัญหา และสามารถขจัดข้อข้องใจและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ เพราะอิสลามปฏิเสธหลักการที่กล่าวว่าทุกคนมีสิทธิที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำประชาคมอิสลาม และปล่อยให้ชะตากรรมของสังคมต้องตกอยู่ในกำมือของใครก็ได้
ด้วยศักยภาพ และความสามารถในการบริหารของฏอลูตนั่นเองที่อัลลอฮฺทรงเลือกสรรให้เป็นผู้ปกครองกลุ่มชนของท่าน ดังที่พระองค์ได้ตรัสในอัลกุรฺอานว่า
“แท้จริง อัลลอฮฺทรงเลือกสรรเขาให้เป็นผู้ปกครองพวกท่าน และทรงเพิ่มพูนความรู้และความสามารถอย่างอเนกอนันต์แก่เขา” (สูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 248)
อิมามมุหัมมัด อัลบากิรฺ (อ) ได้กล่าวถึงตรรกะและวิสัยทัศน์ของพวกบนีสะกีฟะฮฺว่าพวกเขาได้แยกคุณสมบัติทั้งสองออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยท่านได้อ่านโองการที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่าพระองค์ทรงประทานคุณสมบัติแห่งความเป็นผู้ชี้นำทั้งด้านจิตวิญญาณและผู้นำด้านการบริหารประชาคมแก่บรรดาทายาทของศาสดาอิบรอฮีม (อ) ไว้ว่า
“พวกเขาอิจฉากลุ่มชนที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานความโปรดปรานกระนั้นหรือ ? โดยแน่นอนยิ่ง เราได้ประทานคัมภีร์และวิทยปัญญาให้เป็นมรดกแก่บรรดาทายาทของอิบรอฮีม และเราได้ประทานอาณาจักรและอำนาจการปกครองอันยิ่งใหญ่แก่พวกเขา” (สูเราะฮฺอันนิสาอ์ 4 : 54)
อิมามยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “พวกเขา (บนีสะกีฟะฮฺ) เชื่อว่าฐานภาพทั้งสองรวมอยู่ในทายาทของอิบรอฮีม (อ) แต่กลับปฏิเสธฐานภาพทั้งสองของทายาทแห่งนบีย์ (ศ) และไม่ยอมรับความจริงว่าคุณสมบัติทั้งสองจะเคียงคู่กับทายาทแห่งศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ศ) โดยไม่อาจแยกจากกันได้กระนั้นหรือ ?” (ตัฟสีรฺอิยาชีย์ เล่ม 1 หน้า 247)
15 อิมามะฮฺ ตำแหน่งที่สติปัญญาและจิตใต้สำนึกไม่อาจปฏิเสธได้ เป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิงที่อัลลอฮฺผู้ทรงเอกะผู้ทรงมีเจตนารมณ์จะให้มนุษย์พัฒนาไปสู่ความสูงส่งและสมบูรณ์ และยังได้ประทานความพร้อมที่จะให้พวกเขาไปสู่ความสูงส่งนั้นอย่างเป็นขั้นตอน จะปล่อยพวกเขาให้ระหนโดยขาดผู้ชี้นำ
เป็นความจริงที่ว่าในท่ามกลางอิมามมะอฺศูมทั้งสิบสองท่านนั้น เฉพาะอลีย์ อิบนุอบีฏอลิบ (อ) เท่านั้นที่มีโอกาสทำหน้าที่ปกครองประชาชาติ ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงระยะเวลาอันสั้น ในขณะที่พวกสับปลับกลับกลอกไม่ยอมเปิดโอกาสให้อิมามผู้ทรงคุณธรรมท่านอื่นได้ทำหน้าที่ผู้ปกครองเพื่อชี้นำสังคมภายใต้บทบัญญัติและหลักคำสอนของอัลกุรฺอาน อย่างไรก็ตามประชาชนคือผู้ที่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบที่เพิกเฉยและนิ่งดูดายปล่อยให้ความอธรรมเข้าครอบงำ จนกระทั่งระบอบการปกครองที่เที่ยงธรรมไม่ได้รับการจัดตั้งในทางปฏิบัติ และผลลัพธ์ก็คือพวกเขานั่นเองที่ไม่ได้รับคุณประโยชน์จากแบบฉบับที่สมบูรณ์ของผู้นำที่แท้จริง ในขณะที่อัลลอฮฺได้ทรงทำให้หุจญะฮฺ (หลักฐานและข้อพิสูจน์) ของพระองค์สมบูรณ์แบบที่สุดด้วยการเลือกสรรและประทานผู้นำที่เป็นกัลยาณชนและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมแก่พวกเขาแล้ว ผู้ถูกเลือกสรรที่ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้นำประชาชาติอิสลามเท่านั้น แต่ทว่ายังจะมีคุณประโยชน์ในการปลดปล่อยประชาชาติทั้งมวลอีกด้วย
อิมามอลีย์ อิบนุอบีฏอลิบ (อ) เฝ้าติดตามและเข้าใจสถานการณ์เสมอ ทุกครั้งที่เคาะลีฟะฮฺตัดสินพิพากษาผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม หรือมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติ หรือการนำบทลงโทษที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติอิสลามมาใช้กับผู้กระทำความผิด ท่านจะทักท้วง ตักเตือน และชี้นำ และจะคอยพิทักษ์หลักศรัทธาและหลักปฏิบัติอิสลามอย่างแข็งขันและจริงจังเสมอ ทุกครั้งที่เคาะลีฟะฮฺไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ท่านจะสำแดงความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้คำตอบกับนักปราชญ์ในศาสนาต่าง ๆ ที่ได้เดินทางจากทั่วทุกสารทิศไปยังนครมะดีนะฮฺเพื่อที่จะสอบถามปัญหาต่าง ๆ จากผู้ที่เป็นวะศีย์ (ตัวแทน) ของท่านนบีย์ และท่านจะสำแดงความพร้อมในการให้คำตอบกับคนเหล่านั้นเสมอ
แม้จะตกอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองของเคาะลีฟะฮฺเผด็จการทรราชที่เต็มไปด้วยความน่าสะพึงกลัว และพยายามที่จะใช้อิทธิพลทำลายฝ่ายสัจธรรม และพยายามเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของประชาคมให้หันเหออกไปจากสัจธรรมก็ตาม แต่ด้วยบะเราะกะฮฺของอิมามมะอฺศูมนี้เองที่ทำให้สารัตถะ คำสอน บทบัญญัติ การขัดเกลาปัจเจกชนและสังคมยังสามารถแพร่หลายในหมู่มุสลิม อีกทั้งกฎหมายและบทบัญญัติจากคัมภีร์อัลกุรฺอานยังคงมีชีวิตจิตวิญญาณอยู่ในท่ามกลางประชาคม
ตัวอย่างจากเคาะลีฟะฮฺบางส่วนที่พยายามจะทำลายความน่าเชื่อถือของอิมามมะอฺศูมีน (อลัยฮิมุสลาม) เช่นมะอ์มูน บินฮารูน อัรฺเราะชีด อับบาสีย์ ที่ใช้เล่ห์เพทุบายจัดประชุมทางวิชาการระหว่างอุละมาอ์จากมัซฮับและศาสนาต่าง ๆ กับท่านอิมามอลีย์ อัรฺริฎอ (อ) แต่นอกจากจะไม่สามารถบรรลุตามแผนการร้ายที่วางไว้แล้ว กลับได้สำแดงให้ประจักษ์ถึงเกียรติคุณและฐานภาพทางวิชาการของอิมามมะอฺศูมทั้งสิ้น
ด้วยสื่อแห่งทายาทผู้รับมรดกทางวิชาการจากศาสนทูตนี้เองที่ในต่างกรรมต่างวาระกันได้ทำให้ประชาคมได้รับแสงสว่างจากสารธรรมคำสอน ท่านอิมามญะอฺฟัรฺ อัศศอดิก (ศ) คือผู้เปิดประตูวิชาการด้วยการถ่ายทอดความรู้ให้แก่สานุศิษย์ด้านปรัชญา และวิภาษวิธี เช่น “มุฟัฎฎ็อล อิบนุอัมรฺ”, “มุอ์มิน อัลฏอก”, “ฮิชาม อิบนุหะกัม”, “ฮิชาม อิบนุสาลิม” และด้านคณิตศาสตร์ เคมี ให้แก่ “ญาบิรฺ อิบนุหัยยาน” และด้านฟิกฮฺ อุศูล และตัฟสีรฺ ให้แก่ “ซุรอเราะฮฺ”, “มุหัมมัด อิบนุมุสลิม”, “ญะมีล อิบนุดะรอจญ์”, “อิมรอน อิบนุอะอฺยุน”, “อบูบะศีรฺ” และ “อับดุลลอฮฺ อิบนุสะนาน” เป็นต้น (อิมามศอดิก วะมะซาฮิบอัรฺบะอะฮฺ )
อิบนุชะฮฺรฺออชูบ ได้เขียนไว้ว่า
“ไม่มีริวายาตจากบุคคลใดที่ได้รับการบันทึกเท่ากับที่มาจากท่านอิมามศอดิก (อ) ทั้งนี้ ท่านได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้บรรดาสานุศิษย์ถึง 4,000 คน ในจำนวนนั้นมีหัวหน้ามัซฮับชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺและอุละมาอ์ชั้นนำบางส่วนที่สมัครเป็นศิษย์ของท่านรวมอยู่ด้วย” (มะนากิบ อิบนุชะฮฺรฺออชูบ เล่ม 4 หน้า 247)
สานุศิษย์ของท่านอิมามญะอฺฟัรฺ ศอดิก (อ) ที่ถือเป็นบุคคลชั้นนำในมัซฮับต่าง ๆ ของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ ได้แก่ “มาลิก อิบนุอนัส”, “สุฟยาน เษารีย์”, “อิบนุอัยนียะฮฺ” และ “อบูหะนีฟะฮฺ”, “มุหัมมัด อิบนุหะสัน ชัยบานีย์” และ “ยะหฺยา อิบนุสะอีด”
ส่วนอุละมาอ์ ฟุเกาะฮาอ์ และมุหัดดิษีน ได้แก่ “อัยยูบ สะญัสตานีย์”, “ชุอฺบะฮฺ อิบนุหัจญาจ”, และ “อับดุลมะลิก อิบนุญะรีหฺ” เป็นต้น” (อิมามศอดิก วะมะซาฮิบุลอัรฺบะอะฮฺ โดย อะสัด หัยดัรฺ เล่ม 3 หน้า 27 – 28 – 46)
“อิบนุอบิลหะดีด” ซึ่งถือเป็นนักปราชญ์ชั้นแนวหน้าของชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺคนหนึ่ง ได้กล่าวถึงฐานภาพและเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ของอลีย์ อิบนุอบีฏอลิบ (อ) ว่า
“ข้าพเจ้าจะสาธยายถึงบุคคลผู้ซึ่งคุณสมบัติอันประเสริฐแห่งความมนุษย์ได้รวมศูนย์อยู่ในตัวเขาได้อย่างไรกันเล่า ทุกกลุ่มต่างถือว่าเขาเป็นกรรมสิทธิ์ของพวกตน เพราะทุกความประเสริฐและความดีงามมาจากเขา ความรู้และวิทยาการทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่เขา แหล่งกำเนิดปรัชญาแห่งพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นความรู้ที่ทรงคุณค่าได้มาจากอลีย์ (อ) “วาศิล อิบนุอะฏอ” ผู้นำสำนักคิดมุอฺตะซิละฮฺนั้น ครูของเขาเป็นสานุศิษย์ที่ได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาผ่าน 2 เยนเนอเรชันมาจากอลีย์ (อ) และวิทยาการที่สำนักคิดอิชาอิเราะฮฺได้รับมานั้นก็สืบขึ้นไปถึงอลีย์ (อ) เช่นกัน
ไม่มีข้อกังขาแต่อย่างใดว่าวิชาวิภาษวิธี (อิลมุลกะลาม) และปรัชญาของชีอะฮฺก็ถือกำเนิดมาจากอลีย์ (อ), อลีย์ อิบนุอบีฏอลิบ (อ) คืออุสตาซอิลมุลฟิกฮฺ (นิติศาสตร์อิสลาม) ของฟุเกาะฮาอ์ (นักนิติศาสตร์อิสลาม) ทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากอบูหะนีฟะฮฺที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดฟิกฮฺแห่งสำนักคิดหะนะฟีย์นั้น เคยเป็นศิษย์ของอิมามศอดิก (อ) มาก่อน ซึ่งตัวท่าน (อ) ตลอดจนบิดาและปู่ทวดของท่านล้วนได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้มาจากอลีย์ (อ) ทั้งสิ้น ส่วน “มาลิก อิบนุอนัส” ผู้สถาปนาสำนักฟิกฮฺมาลิกีย์นั้น อุสตาซของเขาคือศิษย์คนหนึ่งของอักเราะมะฮฺผู้ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากอิบนุอับบาสผู้เป็นสานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดของอลีย์ อิบนุอบีฏอลิบ (อ) นั่นเอง
อุมัรฺ อิบนุลค็อฏฏอบ มักจะร้องขอความช่วยเหลือจากอลีย์ (อ) เสมอ เมื่อไม่สามารถจะแก้ไขวิกฤติที่ยุ่งยากได้ และมักจะกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า
“มาตรว่าไม่มีอลีย์ อุมัรฺต้องประสบกับความพินาศแน่นอน”
ในขณะที่ไม่จำเป็นต้องสาธยายถึงความยิ่งใหญ่ของฟิกฮฺจากสำนักคิดชีอะฮฺซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากอิมามท่านแรกของสำนักคิดนี้ ในส่วนของวิชาตัฟสีรฺ (อรรถาธิบายอัลกุรฺอาน) นั้นเล่า อลีย์ (อ) อยู่ฐานะปรมาจารย์ของมุฟัสสิรีนทั้งหมด ซึ่งความจริงดังกล่าวจะสามารถพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาเนื้อหาของตำราตัฟสีรฺทั้งหลายว่าล้วนได้รับการบันทึกและอ้างอิงมาจากอลีย์ทั้งสิ้น ส่วนที่พาดพิงไปถึงอิบนุอับบาสนั้นในความเป็นจริงก็คือการกลับไปสู่อลีย์ (อ) นั่นเอง
ประชาชนได้พากันถามอิบนุอับบาสว่า “ท่านจะเปรียบเทียบความรู้ของท่านกับความรู้ของผู้เป็นบุตรแห่งลุงของท่านอย่างไร ?
เขาได้ตอบว่า “อุปมัยน้ำเพียงหยดหนึ่งในมหาสมุทร”
นักรหัสย (อิรฺฟาน) ชั้นแนวหน้าต่างถือว่าอลีย์ (อ) คือจุดกำเนิดแห่งวิชาการสาขานี้ อลีย์ (อ) ยังเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาภาษาศาสตร์และไวยากรณ์อรับด้วยการถ่ายทอดพื้นฐานแห่งหลักไวยากรณ์ให้แก่ศิษย์คนแรกคือ “อบุลอัสวัด” (ชัรฺหฺอิบนุอบิลหะดีด เล่ม 1 หน้า 6)
16 ใครคือผู้ที่สามารถจะสาธยายกฎหมายของอัลลอฮฺ ? กฎหมายหรือบทบัญญัติที่บรรดานักปราชญ์หรือนักกฎหมายชั้นนำของแต่ละประเทศพยายามใช้ความรู้ความสามารถตราขึ้นมาใช้กับประชาชนในประเทศของตนนั้น ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นจะต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาอรรถาธิบายในทุก ๆ ขั้นตอนเพื่อให้สอดคล้องตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างทั้งสิ้น ในทำนองเดียวกัน กฎหมายและบทบัญญัติอิสลามซึ่งยึดมั่นอยู่กับวิวรณ์และการชี้นำของพระผู้เป็นเจ้าก็ตั้งอยู่บนหลักการนี้เช่นกัน
คัมภีร์อัลกุรฺอานเป็นรากฐานและแหล่งกำเนิดหลักในการทำความเข้าใจและวินิจฉัยบทบัญญัติอิสลาม มีโองการบางส่วนที่มิได้ระบุหรือบ่งบอกความหมายไว้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการอรรถาธิบายจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงเพื่อสร้างความกระจ่างและขจัดความคลุมเครือให้หมดสิ้นไป
นอกจากนี้ อัลกุรฺอานยังได้ชี้นำวิถีทางและสาธยายหลักการขั้นพื้นฐานในประเด็นต่าง ๆ ของอิสลามเอาไว้อย่างกว้าง ๆ โดยมิได้เจาะลึกลงไปในรายละเอียดของหลักการหรือบทบัญญัติแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ หากบุคคลใดต้องการที่จะทราบรายละเอียดจากบทบัญญัตินั้น ๆ ลำพังแค่เพียงศึกษาจากตัวบทอัลกุรฺอานย่อมไม่สามารถที่จะสร้างความกระจ่างได้อย่างแน่นอน
ทัศนะ การวินิจฉัย และการตีความโองการคัมภีร์อัลกุรฺอานและหะดีษที่แตกต่างกันนี้เองที่มีอิทธิทำให้สารธรรมคำสอนอิสลามต้องเปลี่ยนแปลงและถูกบิดเบือนไปด้วย จากสาเหตุนี้เองที่อุละมาอ์แห่งราชสำนักที่เป็นสมุนรับใช้ผู้ปกครองเผด็จการทรราชได้ตีความและอรรถาธิบายความหมายของบทบัญญัติอิสลามให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ปกครองเหล่านั้น ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อที่จะฉกฉวยและแสวงหาผลประโยชน์เพื่อไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งที่ตนต้องการดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในหน้าประวัติศาสตร์ทั้งในยุคสมัยแห่งราชวงศ์อะมะวีย์และอับบาสีย์ เมื่อสัจธรรมต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ แล้วสมควรจะทำอย่างไร ? เพื่อที่จะทำให้เราได้เข้าใจเป้าหมายและเจตนารมณ์ของอัลกุรฺอานอย่างถ่องแท้ ไม่เป็นการคู่ควรหรือที่เราจะย้อนกลับไปหาผู้ที่เป็นศูนย์รวมแห่งความรู้ ผู้เป็นแหล่งอ้างอิงแห่งนิติบัญญัติ (ฟิกฮฺ) ผู้สะอาดบริสุทธิ์ (มะอฺศูม) ผู้มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในคัมภีร์แห่งฟากฟ้า และผู้เป็นทายาทสืบทอดมรดกของท่านนบีย์ (ศ) ? ผู้เป็นแหล่งอ้างอิงที่เชี่ยวชาญบทบัญญัติของคัมภีร์อัลกุรฺอานทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ
ตราบเท่าที่มนุษย์ไม่ยอมให้ความสำคัญกับผู้อรรถาธิบายอัลกุรฺอานที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมแล้ว พวกเขาจะต้องตกอยู่ในสภาพของผู้ที่เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยและวิตกกังวลอย่างไม่มีวันจบสิ้น และตัฟสีรฺที่บิดเบือนเหล่านั้นจะทำให้พวกเขาออกห่างจากสัจธรรมและสารัตถะของอัลกุรฺอานอย่างไกลลิบ
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๒๑
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
อิมามศอดิก (อ)ได้สถาปนาสถาบันการศึกษาอิสลามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของท่านเพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ประชาชาติอิสลาม ด้วยการให้การอบรมสั่งสอนสานุศิษย์มากมาย ท่าน (อ) ได้สำแดงความรู้และแนวคิดเพื่อเผชิญหน้ากับคลื่นลมแห่งความชั่วร้าย ความคิดที่บิดเบือนและหลงทางเพื่อเปิดโปงแผนการร้ายของนักอุปโลกน์หะดีษทั้งหลายที่ต้องการจะทำลายอิสลามอันบริสุทธิ์ ซึ่งปัจจัยและสภาพแวดล้อมทางการเมืองในสมัยนั้นได้เอื้ออำนวยให้ผู้คนหลงทาง
วันหนึ่งได้มีเศาะหาบะฮฺและสานุศิษย์ที่เคยศึกษาเล่าเรียนจากสำนักคิดของท่านอิมาม (อ) ซึ่งในจำนวนนั้นมี “ฮิชาม อิบนุหะกัม” อยู่ด้วย ได้เข้าพบท่านอิมาม (อ) ท่าน (อ) ได้กล่าวกับฮิชามว่า
“เจ้าจะไม่เล่าเรื่องราวที่ได้สนทนาและถกกับ “อัมรฺ อิบนุอุบัยดฺ” บ้างหรือ ? ฮิชามจึงกล่าวว่า “ฉันรู้สึกละอายที่จะบอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวกับท่านเหลือเกิน” อิมามจึงกล่าวว่า “ขอให้เจ้าเล่าความเป็นไปทั้งหมดเถิด” ฮิชามจึงได้เริ่มขึ้นว่า
“เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อฉันได้ทราบข่าวว่าอัมรฺ อิบนุอุบัยดฺ ได้รับการยอมรับให้เป็นหัวหน้ามัซฮับแล้ว เขาได้เรียกประชาชนให้ไปชุมนุมกันที่มัสญิดบัศเราะฮฺ ทำให้ฉันวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่ฉันเดินเข้าไปในมัสญิดนั้น ฉันได้เห็นเขากำลังนั่งตอบคำถามอยู่ท่ามกลางประชาชน ฉันจึงได้เข้าไปใกล้ ๆ และกล่าวกับเขาว่า
“โอ้ ผู้คงแก่เรียน ฉันเป็นคนต่างถิ่น จะอนุญาตให้ฉันถามปัญหาบ้างได้ไหม ? เขากล่าวว่า “ได้ซิ” ฉันจึงเริ่มถามว่า “ท่านมีตาไหม ? อัมรฺจึงพูดด้วยความฉงนว่า “เจ้าเด็กน้อย คำถามอะไรของเจ้า ? ทำไมจึงต้องถามในสิ่งที่เจ้าก็รู้ดีอยู่แล้ว ? ฉันจึงกล่าวว่า “กรุณาตอบคำถามในทำนองนี้ของฉันเถิด” เขาจึงกล่าวว่า “ถ้ายังงั้น จงถามมา”
ฉันจึงถามว่า
“ท่านมีตาใช่ไหม ?
อัมรฺ “ใช่”
“ท่านใช้มันเพื่ออะไร ?”
อัมรฺ “ใช้มองดูสีสันและมนุษย์”
“ท่านมีจมูกใช่ไหม ?”
อัมรฺ “ใช่”
“ท่านใช้มันเพื่ออะไร ?”
อัมรฺ “ใช้ดมกลิ่น”
“ท่านมีลิ้นใช่ไหม ?”
อัมรฺ “ใช่”
ท่านใช้มันเพื่ออะไร ?”
อัมรฺ “ใช้ชิมอาหาร”
“ท่านมีหูใช่ไหม ?”
อัมรฺ “ใช่”
“ท่านใช้มันเพื่ออะไร”
อัมรฺ “ใช้ฟังเสียงต่าง ๆ”
“ท่านมีหัวใจใช่ไหม ?”
อัมรฺ “ใช่”
“ท่านใช้มันเพื่ออะไร ?”
อัมรฺ “หัวใจคือเครื่องจำแนกสรรพสิ่งที่วนเวียนเข้ามาในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายว่าสิ่งใดถูกต้องและสิ่งใดที่ผิดพลาด”
ฉันจึงถามต่อไปว่า “มีอวัยวะใดบ้างที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยหัวใจ ?”
อัมรฺ “ไม่มี”
ฉันจึงกล่าวว่า “โดยที่อวัยวะทุกส่วนมีความสมบูรณ์ไม่เจ็บป่วยแต่อย่างใด”
อัมรฺ “เจ้าเด็กน้อย เมื่อประสาทสัมผัสทั้งห้าทำหน้าที่ผิดพลาดหรือเกิดความสงสัยขึ้นมา มันจะย้อนกลับไปยังหัวใจเพื่อให้ความสงสัยและความผิดพลาดนั้นอันตรธานหายไป เพื่อให้ความมั่นใจได้เข้ามาแทนที่”
ฉันจึงกล่าวว่า “จะเห็นได้ว่าอัลลอฮฺทรงประทานหัวใจให้อยู่ในฐานะที่สามารถขจัดข้อสงสัยและข้อกังขาของประสาทสัมผัสทั้งห้าและอวัยวะทุกส่วนของร่างกายมนุษย์”
อัมรฺ “ถูกต้อง”
ฉันจึงกล่าวว่า “หัวใจจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญสูงสุดสำหรับมนุษย์ ถ้าปราศจากมันแล้ว ไม่มีอวัยวะส่วนใดที่จะสามารถทำหน้าที่ชี้นำได้อีกแล้ว”
อัมรฺ “ถูกต้อง”
ฉันจึงกล่าวต่อไปว่า “โอ้ อบามัรฺวาน อัลลอฮฺ ผู้ทรงวิทยปัญญา ไม่ทรงปล่อยให้อวัยวะและประสาทสัมผัสทั้งห้าต้องระหนโดยปราศจากผู้นำ เพื่อทำหน้าที่ชี้นำประสาทสัมผัสทั้งห้าและอวัยวะทุกส่วนให้หลุดพ้นจากความสงสัยและคลางแคลงใจ เป็นไปได้หรือที่พระองค์จะทรงปล่อยให้สังคมมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แตกแยก และโง่เขลาเบาปัญญาโดยปราศจากอิมามและผู้ชี้นำ ? โดยไม่ได้แนะนำผู้นำที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์แก่พวกเขาเพื่อทำหน้าที่ชี้นำพวกเขาให้พ้นจากความผิดพลาดและหลงทาง ?”
อัมรฺจึงนิ่งเงียบ หลังจากที่เขาได้นิ่งเงียบอยู่ครู่หนึ่ง จึงได้หันมาถามฉันว่า “เจ้าคือ “ฮิชาม อิบนุหะกัม” ใช่ไหม ?” ฉันจึงตอบว่า “หามิได้” เขาจึงถามอีกว่า “ถ้างั้นก็ต้องเป็นเพื่อนกับเขา ?” ฉันจึงตอบว่า “หามิได้” เขาได้ถามต่อไปอีกว่า “เจ้าเดินทางมาจากไหน ?” ฉันจึงตอบว่า “ฉันเป็นชาวกูฟะฮฺ” เขาจึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น เจ้าก็คือฮิชามนั่นเอง” แล้วเขาได้ลุกขึ้นมาเชิญฉันให้ไปนั่งในที่นั่งของเขาโดยไม่ยอมกล่าวสิ่งใด จนกระทั่งฉันได้เดินออกจากมัสญิด”
อิมาม (อ) จึงยิ้มและกล่าวว่า “เจ้าได้รับการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้มาจากใคร ? “ เขากล่าวว่า “ฉันได้ร่ำเรียนมาจากท่าน”
อิมาม (อ) จึงกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ วิธีแสดงเหตุผลและพิสูจน์สัจธรรมดังกล่าวถูกบันทึกอยู่ในคัมภีร์ของอิบรอฮีม (อ) และมูสา (อ)” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 170)
ด้วยเหตุนี้ ตราบเท่าที่ท่านศาสดา (ศ) ยังเป็นผู้ชี้นำประชาชาติอิสลามอยู่นั้น ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าใจหลักคำสอนและบทบัญญัติของอัลลอฮฺโดยผ่านท่าน (ศ) แต่ภายหลังจากท่านศาสดา (ศ) แล้ว จำเป็นจะต้องมีผู้ชี้นำที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งความรู้และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเพื่อที่จะสามารถสาธยายรายละเอียดที่มิได้ถูกประทานมาโดยตรง และเป็นสิ่งที่ประชาชนจำเป็นจะต้องปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ หากมิเช่นนั้นแล้ว ประชาชาติจะต้องประสบกับวิกฤติและหลงออกจากวิถีทางที่เที่ยงตรง และไม่อาจจะไปถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์ของผู้ทรงสร้างที่ต้องการให้พวกเขาได้รับความจำเริญทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ภายหลังจากท่านศาสดา (ศ) แล้ว บรรดาอิมามมะอฺศูมีน (อ) ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอิมามได้ทำหน้าที่ชี้นำและเผยแผ่คำสอนจากคัมภีร์อัลกุรฺอานให้แก่ประชาชน และชี้นำพวกเขาด้วยวัตรปฏิบัติและคำพูดเท่าที่สถานการณ์และโอกาสจะเอื้ออำนวยภายใต้สภาพแวดล้อมที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาอันยาวนานแห่งหน้าประวัติศาสตร์ และผลพวงแห่งคำสอนทั้งหมดของพวกเขาได้กลายเป็นขุมทรัพย์หรือแหล่งวิชาการที่ทรงคุณค่าและตกทอดเป็นมรดกของประชาชาติอิสลาม ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้แหล่งวิชาการดังกล่าวกลายเป็นหลักฐานอ้างอิงและข้อพิสูจน์ที่ทรงคุณค่าและเต็มไปด้วยความน่าเชื่อถืออย่างแท้จริง และเป็นประตูที่เปิดกว้างที่จะสามารถขจัดอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ในทุกยุคทุกสมัยได้
ทุกคนต่างก็ประจักษ์ถึงความจริงดังกล่าวว่าเคาะลีฟะฮฺภายหลังจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) แทบจะไม่ประสีประสาในหลักธรรมคำสอนและบทบัญญัติอิสลาม และไม่สามารถขจัดปัญหาทางศาสนาให้กับประชาชนได้ ตัวอย่างเช่นเคาะลีฟะฮฺที่หนึ่งซึ่งรายงานหะดีษแค่เพียง 80 หะดีษเท่านั้น (มุสนัดอะหฺมัด อิบนุหัมบัล เล่ม 1 หน้า 2 – 14)
“นะวะวีย์” ได้กล่าวในตำรา “ตะฮฺซีบ” ของเขาว่า
“ศิดดีกได้รายงานหะดีษมาจากท่านนบีย์ (ศ) 142 หะดีษ โดย “สุยูฏีย์” ได้บันทึกในตำรา “ตารีคุลคุละฟาอ์” ของเขาจำนวน 104 หะดีษ และ “บุคอรีย์” ในตำราเศาะหี๊หฺของเขาอีก 22 หะดีษ” (อัฎวาอ์ อะลัสสุนนะติลมุหัมมะดียะฮฺ หน้า 224)
ผู้นำประชาชาติอิสลามซึ่งจะต้องเผชิญกับปัญหาทางศาสนาที่ท้าทายอย่างมากมาย และต้องสามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วยดี ในขณะที่ความรู้เกี่ยวกับอิสลามของเขากลับมีเหนือกว่าก็แค่เพียง “มุฆีเราะฮฺ อิบนุชุอฺบะฮฺ” ผู้ที่ฝ่าฝืนและกระทำความผิดบาปเท่านั้น (มุวัฏเฏาะอ์มาลิก หน้า 335)
ตัวเขาเองก็ยอมรับสารภาพออกมาอย่างชัดเจนว่ามิได้มีความรู้ทางศาสนาเหนือกว่าประชาชนทั่วไป และได้ประกาศกับผู้คนว่าหากเห็นความผิดพลาดของเขา ก็จงช่วยชี้นำเขาให้ไปสู่วิถีทางที่เที่ยงธรรมด้วย โดยเขาได้กล่าวว่า
“ฉันได้ขึ้นมาทำหน้าที่ปกครองท่านทั้งหลายในขณะที่มิได้มีความสามารถเหนือกว่าพวกท่านแต่อย่างใด ถ้าหากพบว่าฉันก้าวเดินไปบนวิถีทางที่ถูกต้อง ก็จงให้การสนับสนุนฉันเถิด แต่ถ้าพบว่าฉันกำลังก้าวไปสู่แนวทางที่โมฆะ พวกท่านก็จงช่วยให้ฉันกลับมาสู่แนวทางแห่งสัจธรรมด้วย” (เฏาะบะกอต อิบนุสะอัด เล่ม 3 หน้า 151)
“อุมัรฺ รายงานหะดีษเศาะหี๊หฺจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ไม่เกิน 50 หะดีษ” (อัฎวาอ์ อะลัสสุนนะติลมุหัมมะดียะฮฺ หน้า 204)
มีหลักฐานที่ชี้ชัดถึงระดับขั้นความรู้ทางศาสนาของเคาะลีฟะฮฺที่สองว่า เมื่อครั้งที่ชายคนหนึ่งได้มาหาเขาเพื่อสอบถามปัญหาศาสนา โดยถามเขาว่า “วาญิบที่ฉันจะต้องทำฆุสุล (การชำระร่างกายตามศาสนบัญญัติก่อนจะปฏิบัติอิบาดะฮฺบางอย่าง เช่นนมาซ ฯลฯ – ผู้แปล) แต่ฉันไม่สามารถจะหาน้ำได้ ดังนั้นตามหลักศาสนบัญญัติแล้ว ฉันจะต้องทำอย่างไร ?”
เคาะลีฟะฮฺที่สองจึงตอบว่า “ในกรณีเช่นนี้ นมาซได้รับการยกเว้นสำหรับเจ้า !” (สุนันอิบนุมาญะฮฺ เล่ม 1 หน้า 200)
ทั้ง ๆ ที่โองการจากคัมภีร์อัลกุรฺอานได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าในกรณีเช่นนี้มุสลิมจะต้องทำอย่างไร (สูเราะฮฺอันนิสาอ์ 4 : 43)
“โอ้ ศรัทธาชน ....หรือถ้าสูเจ้าสัมผัส (สมสู่) ผู้หญิง (ซึ่งต้องอาบน้ำฆุสุล) แล้ว สูเจ้าหาน้ำไม่พบ ดังนั้น จงทำตะยัมมุมด้วยดินที่สะอาดด้วยการลูบหน้าและมือทั้งสองของสูเจ้า” และสูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ 5 : 6 “โอ้ ศรัทธาชน .....หรือถ้าสูเจ้าสัมผัส (สมสู่) ผู้หญิง (ซึ่งต้องอาบน้ำฆุสุล) แล้ว สูเจ้าหาน้ำไม่พบ ดังนั้น จงทำตะยัมมุมด้วยดินที่สะอาดด้วยการลูบหน้าและมือทั้งสองของสูเจ้า อัลลอฮฺ ไม่ทรงปรารถนาจะสร้างความลำบากแก่สูเจ้า แต่ทรงปรารถนาจะชำระสูเจ้าให้สะอาด.......”
ส่วนอุษมาน เคาะลีฟะฮฺที่สามนั้น ได้รายงานหะดีษของท่านนบีย์ (ศ) ซึ่งมีบันทึกในเศาะหี๊หฺมุสลิมเพียง 5 หะดีษ และในเศาะหี๊หฺบุคอรีย์ 9 หะดีษเท่านั้น (อัฎวาอ์ อะลัสสุนนะติลมุหัมมะดียะฮฺ หน้า 204)
นี่คือประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่บ่งบอกถึงความรู้และความเข้าใจในศาสนาของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกครองและผู้นำของประชาชาติอิสลาม เมื่อผู้นำมีคุณสมบัติเช่นนี้แล้ว จะหวังว่าคำสอนและบทบัญญัติของอัลลอฮฺจะปลอดภัยจากการถูกแก้ไขและบิดเบือน และพวกเขาจะสามารถนำพาประชาชาติอิสลามไปสู่เป้าหมายที่สูงส่งสมดังเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร ? เพราะแท้จริงผู้ที่จะเข้ามาแบกรับภารกิจผู้นำอุมมะฮฺนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในบทบัญญัติและหลักคำสอนทางศาสนาอย่างถ่องแท้ และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพื่อที่จะสามารถขจัดข้อสงสัยและให้คำตอบในทุก ๆ คำถามได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่เคาะลีฟะฮฺทั้งสามแทบจะไม่ประสีประสากับกฎเกณฑ์และบัญญัติอิสลาม ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของผู้นำในทัศนะอิสลาม
วันหนึ่ง เคาะลีฟะฮฺที่สองได้ประกาศบนมิมบัรฺห้ามมิให้ประชาชนเรียกสินสอดทองหมั้นแพง ๆ ซึ่งหลังจากเขาได้ลงมาจากมิมบัรฺแล้ว สตรีนางหนึ่งได้คัดค้านคำประกาศของเขาว่า “เหตุใดท่านจึงสั่งห้ามมิให้เพิ่มสินสอดทองหมั้นด้วยเล่า อัลลอฮฺ มิได้ทรงตรัสในอัลกุรฺอานหรือว่า
“ถ้าพวกเจ้าเคยมอบทรัพย์สินมากมายแก่ภรรยาคนหนึ่ง ดังนั้น จงอย่าเอาสิ่งใดจากทรัพย์สินนั้นกลับคืน” (สูเราะฮฺอันนิสาอ์ 4 : 20)
เคาะลีฟะฮฺได้สารภาพในความผิดพลาดของตนและได้กล่าวกับอัลลอฮฺว่า “โอ้ พระผู้อภิบาล ได้โปรดอภัยในความผิดให้ฉันเถิด” แล้วเขาได้กล่าวกับประชาชนว่า “ประชาชนทั้งหมดมีความรอบรู้เกี่ยวกับบทบัญญัติของอัลลอฮฺเหนือกว่าอุมัรฺ” และได้ขึ้นมิมบัรฺอีกครั้งหนึ่งเพื่อกล่าวแก้ข้อผิดพลาดของตน (อัลเฆาะดีรฺ เล่ม 6 หน้า 87)
ขอให้เราพิสูจน์ระดับความรู้ของเคาะลีฟะฮฺที่สามด้วยการพิจารณาเหตุการณ์ต่อไปนี้เถิด
“ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺนั้น มีกาฟิรฺคนหนึ่งได้ถูกฆ่าโดยน้ำมือของมุสลิม เขาจึงพิพากษาให้ประหารชีวิตมุสลิมคนนั้น แต่เศาะหาบะฮฺกลุ่มหนึ่งของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ซึ่งอยู่ ณ สถานที่นั้นได้ทักท้วงและเตือนเขาว่าคำตัดสินดังกล่าวขัดแย้งกับบทบัญญัติซึ่งบทลงโทษในกรณีนั้น ฆาตกรต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ครอบครัวผู้ตายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เคาะลีฟะฮฺจึงได้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาตามคำทักท้วงของพวกเขา” (สุนันบัยฮะกีย์ เล่ม 8 หน้า 33)
การมอบหมายตำแหน่งผู้นำประชาชาติอิสลามให้กับผู้ที่สารภาพด้วยตัวเขาเองว่าไม่ประสีประสาในศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า ศาสนาที่ผู้นำจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระในการสาธยายบทบัญญัติของพระองค์ และบริหารกิจการสังคมภายใต้บทบัญญัติเหล่านั้น ถือเป็นสิ่งที่เหมาะสมและคู่ควรหรือ ? หรืออัลลอฮฺจะปล่อยให้ประชาชาติที่พระองค์ทรงประทานทางนำด้วยสายธารแห่งวิวรณ์........ให้ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถนำพาพวกเขาไปสู่ความจำเริญอย่างแท้จริงเท่านั้น...และพวกเขาไม่สามารถจะสร้างความกระจ่างในปัญหาพื้น ๆ ได้ แล้วปัญหาที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนเล่า ?
เป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายที่จะใช้ในดุลยพินิจตัดสินด้วยความเที่ยงธรรมและปราศจากความอคติ
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๒๒
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
17. อิมามะฮฺ และการชี้นำมนุษยชาติด้วยวิธีซ่อนเร้น คุณสมบัติพิเศษประการหนึ่งของอิมามหรือผู้นำก็คือการชี้นำประชาชาติด้วยวิธีซ่อนเร้น (ฮิดายะฮฺบาฏินีย์) ซึ่งไม่ใช่การชี้นำโดยวิธีเปิดเผย (ฮิดายะฮฺตัชรีอีย์) เป็นตำแหน่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกสรรกลุ่มชนที่พระองค์ทรงประทานเกียรติยศและฐานภาพอันสูงส่งแก่พวกเขา
ภายหลังจากที่พระผู้อภิบาลได้ทรงทดสอบศาสดาผู้ทรงเกียรติทั้งห้า (อุลุลอัซมฺ) ด้วยอุปสรรคและภัยพิบัติที่ร้ายแรงนานัปการ และพวกเขาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์ถึงศรัทธาและจิตวิญญาณที่มั่นคงจนกระทั่งขึ้นสู่ระดับของความเชื่อมั่นที่แท้จริงแล้ว พระองค์จึงทรงแต่งตั้งพวกเขาให้เป็นอิมามเพื่อทำหน้าที่ชี้นำประชาชนด้วยวิธีซ่อนเร้น
ในทำนองเดียวกัน กุรฺอานได้กล่าวถึงอิมามมะอฺศูมีน (อลัยฮิมุสลาม) ในหลายโองการว่าพวกเขาได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ชี้นำด้วยวิธีซ่อนเร้น.
ดังที่อัลกุรฺอานได้กล่าวถึงคุณสมบัติอันสูงเกียรติของผู้ดำรงตำแหน่งอิมามว่า
“เมื่อพวกเขา (ผ่านการทดสอบด้วยความ) อดทน และเชื่อมั่นในโองการของเรา เราจึงแต่งตั้งพวกเขาให้เป็นอิมามเพื่อนำคำบัญชาของเราชี้นำกลุ่มชนของพวกเขา”(สูเราะฮฺสัจญ์ดะฮฺ 32 : 24(แปลมัฟฮูม))
เจตนารมณ์ของการชี้นำ (ฮิดายะฮฺ) ในที่นี้หมายถึงการชี้นำตักวีนีย์ (ฮิดายะฮฺตักวีนีย์) มิใช่ฮิดายะฮฺตัชรีอีย์ ทั้งนี้เนื่องจากการเรียกร้องเชิญชวนและชี้นำมนุษย์ไปสู่สัจธรรมด้วยวิธีที่เปิดเผย (ซอฮิรีย์) นั้น เป็นภาระหน้าที่ของผู้ศรัทธาทุกคนอยู่แล้ว และการทำหน้าที่บริหารให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอัลลอฮฺก็มิได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอิมาม มีความอดทน และมีความเชื่อมั่นในโองการทั้งหลาย และต้องผ่านกระบวนการแห่งการทดสอบแต่อย่างใด แต่สำหรับการชี้นำตามบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า เป็นตำแหน่งที่จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระผู้อภิบาลเท่านั้น และจะต้องสามารถอดทนและยืนหยัดไม่ถลำสู่ความผิดบาปและกระทำในสิ่งไร้สาระ
“และเราได้แต่งตั้งพวกเขาให้เป็นอิมามเพื่อชี้นำสู่แนวทางที่ถูกต้องโดยบัญชาของเรา” (สูเราะฮฺอัมบิยาอ์ 21 : 23)
“วันที่เราจะเรียกมนุษย์ทุกคนพร้อมกับอิมามของพวกเขา” (สูเราะฮฺอิสรออ์ 17 : 71)
เมื่ออิบรอฮีม (อ) ได้ผ่านการทดสอบของอัลลอฮฺแล้ว พระองค์จึงทรงตรัสกับเขาว่า
“เมื่อพระผู้อภิบาลได้ทรงทดสอบอิบรอฮีมด้วยบัญชา แล้วเขาได้ปฏิบัติอย่างครบถ้วน พระองค์จึงตรัสว่า แท้จริง ฉันจะแต่งตั้งเจ้าให้เป็นอิมามของมนุษยชาติ เขาจึงวิงวอนว่า และจากลูกหลานของฉันด้วย พระองค์ทรงตรัสว่า พันธะสัญญาของฉันจะไม่ผูกพันถึงพวกอธรรม” (สูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺ 2 : 124)
ประเด็นที่สมควรพิจารณาจากโองการข้างต้น
ประการแรก ภายหลังจากศาสดาอิบรอฮีม (อ) ได้ผ่านการถูกทดสอบจากพระผู้อภิบาลในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งศาสนทูตของพระองค์แล้ว พระองค์จึงได้ทรงแต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งอิมาม
พระผู้อภิบาลได้ตรัสกับศาสดาอิบรอฮีม (อ) ในบั้นปลายชีวิตภายหลังจากที่ท่านได้ผ่านขั้นตอนแห่งการทดสอบอย่างแสนสาหัสมานานัปการแล้ว ซึ่งไม่เป็นที่สงสัยว่าขณะที่ท่านถูกทดสอบจากพระองค์นั้น ท่านกำลังอยู่ในฐานะของศาสดา (นบูวะฮฺ) และกำลังทำหน้าที่ชี้นำหลักศรัทธา โลกทัศน์ และจริยธรรมแก่ประชาชาติของท่าน ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้เองที่พระองค์ได้ทรงสัญญาว่าจะมอบหมายตำแหน่งอิมาม
เงื่อนไขประการที่สาม อิมามจะได้รับการปกป้องให้พ้นจากมลทินและความผิดบาป ดังที่โองการได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าพันธะสัญญาที่พระองค์จะทรงมอบหมายตำแหน่งอิมามะฮฺและวิลายะฮฺนั้นจะไม่ผูกพันถึงทายาทที่เป็นทุจริตชนซึ่งได้ล่วงละเมิดขอบเขตของความเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ ไม่ว่าพวกเขาจะสร้างความอธรรมต่อตนเองหรือต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็ตาม
1. อิมามะฮฺคือพันธสัญญาของอัลลอฮฺ และเป็นตำแหน่งที่ผูกพันเฉพาะผู้ที่มีเกียรติคุณ มีความผ่องแผ้ว สำรวมตนจากความชั่ว มีความยุติธรรม
2. ตำแหน่งนบีย์ (นบูวะฮฺ) กับตำแหน่งอิมาม (อิมามะฮฺ) สามารถรวมอยู่ในบุคคลเดียวกันได้ดังในกรณีของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ) ทั้งนี้เนื่องจากในด้านหนึ่งนั้นท่านได้รับวิวรณ์จากพระผู้อภิบาลในฐานะนบีย์ และได้ใช้หลักตรรกะและข้อพิสูจน์ที่เป็นเหตุผลที่ชัดเจนเพื่อสร้างสรรค์ประชาคมให้หลุดพ้นจากความคิดที่บิดเบือนและหลงทาง ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้น ท่านมีวัตรปฏิบัติ จริยธรรมที่สูงส่ง พลังแห่งจิตวิญญาณที่ชี้นำมนุษย์ไปสู่วิถีทางที่เที่ยงธรรม ด้วยเหตุนี้เองที่ประตูแห่งอิมามะฮฺจึงถูกเปิดกว้างจนในที่สุดท่านจึงได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งที่สูงส่งดังกล่าว
โองการข้างต้นชี้ให้เห็นว่าผู้ที่จะได้รับตำแหน่งอิมามะฮฺจะต้องสืบเชื้อสายมาจากสายธารของศาสดาอิบรอฮีม (อ) เท่านั้น และพวกเขาจะต้องไม่มีประวัติที่ด่างพร้อย ไม่เคยประพฤติฉ้อฉลและสร้างความอธรรมให้กับตนเองและผู้บริสุทธิ์คนอื่น ๆ ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าบ่าวผู้เป็นกัลยาณชนและมีคุณสมบัติพร้อมสรรพที่จะสืบทอดตำแหน่งอิมามต่อจากอิบรอฮีม (อ) ก็คือท่านศาสดามุหัมมัด (ศ) และอิมามผู้บริสุทธิ์ (อะอิมมะฮฺ มะอฺศูมีน - อลัยฮิมุสลาม) นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ พวกเขาคือทายาทผู้มีภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ที่สุดของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ) ซึ่งด้วยลำดับขั้นของการฮิดายะฮฺและการเป็นผู้นำที่ซ่อนเร้นและความรู้ในสิ่งเร้นลับ
ท่านอิมามศอดิก (ศ) กล่าวว่า
“ก่อนที่อัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่ง จะทรงแต่งตั้งอิบรอฮีม (อ) ให้เป็นศาสดา (นบูวะฮฺ) พระองค์ได้ทรงเลือกสรรเขาให้อยู่ในฐานะบ่าว (อับดฺ) ของพระองค์
และก่อนที่จะทรงสถาปนาตำแหน่งศาสนทูต (ริสาละฮฺ) พระองค์ทรงมอบหมายตำแหน่งศาสดา (นบูวะฮฺ) แก่ท่าน และก่อนที่จะทรงประทานตำแหน่งริสาละฮฺ พระองค์ทรงเลือกสรรเขาให้อยู่ในฐานะกัลญาณมิตร (เคาะลีล)
และก่อนที่จะทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นอิมาม พระองค์ได้เลือกสรรเขาให้เป็นเคาะลีลุลคอลิศ (มิตรแท้)ของพระองค์
และเมื่อเขาได้รับฐานภาพอันสูงส่งทั้งหมดแล้ว พระองค์จึงทรงตรัสกับเขาว่า
“ ณ บัดนี้ ฉันได้แต่งตั้งเจ้าให้เป็นอิมามแล้ว” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 175)
หะดีษจากอิมามมะอฺศูมีน (อ) มากมายที่ได้ย้ำยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องมีอิมามเพื่อทำหน้าที่ชี้นำผู้คน และเป็นเสมือนคำขวัญของพวกเขาที่กล่าวว่า “ตราบเท่าที่มนุษย์ยังดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ หลักฐานและข้อพิสูจน์ของอัลลอฮฺ (หุจญะตุลลอฮฺ) ก็จะคงอยู่ควบคู่ด้วยเสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้สารัตถะอิสลามธำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ภายใต้การพิทักษ์รักษาและการสาธยายที่ถูกต้องเที่ยงธรรมของมิตรผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ (วะลียุลลอฮฺ)”
ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) ได้กล่าวว่า
“อุปมาวงศ์วานแห่งมุหัมมัด (ศ) อุปมัยดั่งดวงดาวทั้งหลาย คราใดที่ดาวดวงหนึ่งต้องอันตรธานหายไป ดาวดวงใหม่จะเจิดจรัสขึ้นมาทดแทนเสมอ”(นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่ 100 หน้า 146 ศุบหี๊ย์ ศอลิหฺ)
อิมามศอดิก (อ) ได้กล่าวคุฏบะฮฺในตอนหนึ่งว่า
“อัลลอฮฺจะทรงทำให้ศาสนาของพระองค์เต็มไปด้วยรัศมีอันเจิดจ้าด้วยสื่อจากอิมามแห่งอะฮฺลุลบัยต์ (อ) และทรงทำให้ความรู้ของพระองค์สว่างไสวด้วยการสาธยายของพวกเขา บุคคลใดที่ประจักษ์แจ้งถึงสิทธิของผู้เป็นอิมาม เขาจะได้ลิ้มรสชาดอันหวานชื่นของศรัทธา และเขาจะถูกรู้จักจากใบหน้าที่เต็มไปด้วยความงดงามและมีรัศมีอิสลาม ทั้งนี้เนื่องจากอัลลอฮฺทรงแต่งตั้งอิมามให้เป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์และเป็นผู้ชี้นำประชาชาติ มงกุฎอันอลังการและสัญลักษณ์แห่งความเป็นผู้นำปรากฏบนศีรษะของเขา และรัศมีแห่งฟากฟ้าฉายแสงบนใบหน้าของเขา และพลังหนึ่งที่ไม่มีวันสิ้นสุดจากฟากฟ้าจะเป็นพยานให้เขา ความจำเริญจากพระผู้อภิบาลจะถูกประทานลงมาแก่ปวงบ่าวโดยผ่านมูลเหตุทั้งหลาย พระองค์จะไม่ทรงรับการรู้จักใด ๆ ของมนุษย์โดยมิได้ผ่านการรู้จักอิมาม
อิมามเป็นผู้ที่รอบรู้ทั้งวิวรณ์ (วะหฺยุ) และแบบฉบับ (สุนัน) ที่คลุมเครือและสลับซับซ้อนของศาสดา อัลลอฮฺทรงเลือกสรรทายาทของหุสัยน์ (อ) ให้เป็นอิมาม พวกเขาจะเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์ไปสู่วิถีแห่งอัลลอฮฺและโลกอันสถาพร พระองค์จะทรงแต่งตั้งทายาทของเขาให้เป็นผู้ชี้นำและเป็นแสงสว่างแก่มนุษยชาติ และเพื่อให้การชี้นำสัมฤทธิ์ผล และให้พวกเขาตัดสินบนบรรทัดฐานของสัจธรรมและความยุติธรรม
พวกเขาคือทายาทผู้ถูกเลือกสรรของศาสดาอาดัม, นูหฺ, อิบรอฮีม และอิสมาอีล และเป็นทายาทผู้มีฐานภาพและเกียรติคุณของศาสนทูตแห่งอิสลาม (ศ) พวกเขาได้จุติและถือกำเนิดอย่างสว่างไสวในโลกก่อนที่จะถูกสรรสร้างในเรือนร่างแห่งดิน และอัลลอฮฺทรงบันดาลให้พวกเขาเป็นรากฐานแห่งการดำรงชีวิตของมนุษยชาติและเป็นรากฐานที่มั่นคงของอิสลาม” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ ชัยค์สุลัยมาน หะนะฟีย์ หน้า 23 และ 524)
อิมามศอดิก (อ) ยังกล่าวด้วยว่า
“มาตรว่ามนุษย์จะหลงเหลืออยู่บนหน้าแผ่นดินนี้เพียงสองคน หนึ่งในนั้นจะต้องเป็นอิมาม มนุษย์คนสุดท้ายที่จะอำลาจากโลกนี้คืออิมาม เพื่อมิให้มนุษย์คนใดเอ่ยอ้างว่าพระองค์ทรงปล่อยเขาให้ระหนโดยปราศจากอิมามผู้ชี้นำ” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 180)
ครั้งหนึ่ง “อะอฺมัช” ได้ถามอิมามศอดิก (อ) ว่า
“ประชาชนจะได้รับคุณประโยชน์อันใดจากการหายไปของอิมาม ?” ซึ่งอิมาม (อ) ได้ตอบว่า “อุปมาที่พวกเขาได้รับคุณูปการจากดวงตะวันที่เคลื่อนคล้อยอยู่หลังเมฆหมอก อุปมัยดั่งที่พวกเขาได้รับความจำเริญและคุณประโยชน์จากการซ่อนเร้นกายของอิมามนั่นเอง” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 21)
“อิสหาก อิบนุฆอลิบ” รายงานว่า อิมามศอดิก (อ) ได้กล่าวว่า “อิมามได้รับการแนะนำและแต่งตั้งจากอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์เพื่อให้เป็นหุจญะฮฺ (หลักฐานและข้อพิสูจน์) ของอัลลอฮฺสำหรับมนุษย์ เพราะความจำเริญแห่งการมีอิมามนี่เองที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างปวงบ่าวกับโลก และสายธารแห่งความจำเริญของพระองค์ยังคงหมุนเวียนอย่างไม่ขาดสาย กิจการงานทุกอย่างของผู้เป็นบ่าวของพระองค์จะไม่ถูกตอบรับ นอกจากพวกเขาจะจำนนต่อวิลายะฮฺ (อำนาจการปกครอง) ของอิมามเท่านั้น พระองค์จะไม่ทรงสรรสร้างมนุษย์โดยปล่อยพวกเขาให้ระหน จนกว่าจะสำแดงวิถีแห่งตักวา และทำให้หุจญะฮฺ (หลักฐานและข้อพิสูจน์) แห่งสัจธรรมได้ครบถ้วนสมบูรณ์แก่พวกเขา” (อิษบาตุลฮุดา เล่ม 1 หน้า 247)
อิมามมุหัมมัด บากิรฺ กล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ นับตั้งแต่พระองค์ทรงนำดวงวิญญาณของอาดัม (อ) ไปสู่โลกอันนิรันดรแล้ว พระองค์ไม่เคยปล่อยให้แผ่นดินว่างเว้นอิมาม อิมามคือผู้ชี้นำมนุษย์ไปสู่สัจธรรม และเป็นหุจญะฮฺสำหรับปวงบ่าวของพระองค์ และแผ่นดินจะไม่ว่างเว้นจากการมีอยู่ของอิมามตลอดไป เพื่อให้พวกเขาเป็นหุจญะฮฺสำหรับปวงบ่าวของพระองค์สืบต่อไปนั่นเอง” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 179
“อบูคอลิด กามิลีย์” ได้ถามอิมามมุหัมมัด บากิรฺ (อ) ถึงตัฟสีรฺในอายะฮฺ “ดังนั้น จงศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์และรัศมีที่เราได้ประทานลงมา” (สูเราะฮฺอัตตะฆอบุน 64 : 8) ว่า รัศมี (นูรฺ) ในที่นี้หมายถึงอะไร ? ท่านอิมาม (อ) ได้ตอบว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ รัศมีในที่นี้คืออิมาม รัศมีของอิมามที่ปรากฏอยู่ในหัวใจของผู้ศรัทธาจะทอแสงสว่างที่แรงกล้ากว่ารัศมีของดวงตะวันเสียอีก การมีอยู่ของอิมามได้จุดประกายแห่งความสดใสขึ้นในดวงใจของผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺจะทรงยับยั้งมิให้รัศมีของอิมามฉายแสงเข้าสู่หัวใจของผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และหัวใจของพวกเขาจะมืดมนอนธกาล” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 195)
ชัยค์เศาะดูก บันทึกใน “อิละลุชชะรอยิอฺ” ว่า “ญาบิรฺ อันศอรีย์” ได้ถามท่านอิมามบากิรฺ (อ) ว่า “เหตุใดมนุษย์จึงจำเป็นต้องมีนบีย์และอิมาม ?”
ท่านได้ตอบว่า “เพื่อให้โลกยังคงธำรงไว้ และสันติภาพยังคงหลงเหลืออยู่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนบีย์และอิมาม เพราะความจำเริญจากการมีอยู่ของนบีย์และอิมามนี้เองที่อัลลอฮฺจะไม่ทรงลงทัณฑ์อย่างทันท่วงทีต่อประชาชน ดังที่อัลกุรฺอานได้กล่าวว่า
“ตราบเท่าที่เจ้ายังอยู่ในท่ามกลางพวกเขา อัลลอฮฺจะยังไม่ลงโทษพวกเขา” (สูเราะฮฺอันฟาล 8 : 33)
ท่านนบีย์ (ศ) ได้วจนะว่า “หมู่ดวงดาวเป็นความปลอดภัยของชาวฟ้าฉันใด อะฮฺลุลบัยต์ของฉันก็เป็นความปลอดภัยของชาวภาคพื้นดินฉันนั้น มาตรว่าดวงดาวบนฟากฟ้าต้องประสบกับความหายนะแล้วไซร้ ย่อมจะสร้างความเสียหายให้กับชาวฟ้าอย่างไม่ต้องสงสัย และมาตรว่าอะฮฺลุลบัยต์ของฉันมิได้อยู่ในท่ามกลางประชาชนแล้วไซร้ วิกฤตการณ์อันน่าสะพรึงกลัวจะต้องประสบกับชาวภาคพื้นดินอย่างแน่นอน”
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๒๓
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
นัยของอะฮฺลุลบัยต์หมายถึง บรรดาอิมามหรือผู้นำที่อัลลอฮฺได้ทรงบัญชาให้การอิฏออะฮฺต่อพวกเขาอยู่ในระดับเดียวกับการอิฏออะฮฺต่อพระองค์ ดังที่ทรงตรัสไว้ในอัลกุรฺอานว่า
“โอ้ ศรัทธาชน จงอิฏออะฮฺต่ออัลลอฮฺ และอิฏออะฮฺต่อเราะสูล และอุลุลอัมรฺ (ผู้ปกครอง) ในหมู่สูเจ้าเถิด”
อุลุลอัมรฺ ณ ที่นี้ก็คืออะฮฺลุลบัยต์ของท่านเราะสูล (ศ) นั่นเอง
พวกเขาได้รับการปกป้องให้บริสุทธิ์พ้นจากมลทินและความผิดบาป ดังที่อัลลอฮฺทรงให้การรับรอง พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนคำบัญชาของพระองค์ พวกเขาจะไม่ปฏิบัติสิ่งใดที่หันเหออกจากทางที่เที่ยงธรรม และวิถีของพวกเขามั่นคงอยู่บนหนทางที่เที่ยงธรรม (ศิรอฏ็อลมุสตะกีม) ปัจจัยยังชีพจะถูกจัดสรรให้ปวงบ่าวของพระองค์ บ้านเมืองจะได้รับการพัฒนา และฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาลด้วยบะเราะกะฮฺของผู้ทรงเกียรติเหล่านี้เท่านั้น รูหุลกุดุส (วิญญาณบริสุทธิ์) จะเคียงข้างพวกเขาตลอดเวลา และพวกเขาจะไม่มีวันแยกออกจากอัลกุรฺอานอย่างแน่นอน” (บิหารุลอันวารฺ เล่ม 23 หน้า 19)
“มุหัมมัด อิบนุฟุฎัยล์” ได้ถามท่านอิมามอลีย์ ริฎอ (อ) ว่า “โลกที่ปราศจากการมีอยู่ของอิมามจะดำรงอยู่ได้ไหม ?”
ท่านอิมาม (อ) ตอบว่า “ไม่ ดังหะดีษที่รายงานจากท่านอิมามศอดิก (อ) ว่า
“โลกจะไม่ว่างเว้นจากการมีอิมามผู้เป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์แห่งกาลเวลา เพราะมิฉะนั้น ชาวโลกจะต้องอยู่ภายใต้ความโกรธกริ้วของอัลลอฮฺ” แล้วอิมามริฎอ (อ) ได้กล่าวต่อไปว่า “โลกจะไม่มีวันว่างเว้นจากอิมาม มาตรว่าปราศจากอิมามแล้วไซร้ โลกนี้จะต้องประสบกับไฟบรรลัยกัลป์อย่างแน่นอน” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 179)
18.ความบริสุทธิ์ของอิมาม และความจำเป็นที่จะต้องเชื่อในสิ่งนี้
ตลอดหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ได้มีข้อขัดแย้งและถกเถียงตลอดมาในท่ามกลางสำนักคิดต่าง ๆ ว่าตำแหน่งนบีย์ (ศ) และอิมามจำเป็นจะต้องบริสุทธิ์ปราศจากมลทินและความผิดบาปด้วยหรือ ?
สำนักคิดชีอะฮฺมีความเชื่อตรงกันถึงความบริสุทธิ์ของอิมาม
“มุหัมมัด อิบนุอบีอุมัยรฺ” เล่าว่า ฉันได้ถาม “ฮิชาม อิบนุหะกัม” สานุศิษย์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของอิมามศอดิก (อ) ว่า “อิมามจำเป็นจะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยหรือ ?” ซึ่งเขาได้ตอบว่า "ใช่แล้ว” ฉันจึงกล่าวกับเขาว่า “โปรดอธิบายถึงนัยของความบริสุทธิ์ให้ฉันด้วยเถิด”
เขาจึงกล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องถลำสู่ความชั่วและความผิดบาปมีหลายประการด้วยกันคือ ความละโมบ ความอิจฉาริษยา ความโกรธ และความใคร่หรือตัณหาราคะ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ไม่มีปรากฏอยู่ในอิมามทั้งสิ้น
อิมามจะมีความละโมบได้อย่างไรในเมื่อท่านมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล แม้กระทั่งกองคลังจากบัยตุลมาลของมุสลิม ?
อิมามจะมีความอิจฉาริษยาได้อย่างไรในเมื่อผู้ที่จะมีความรู้สึกอิจฉาริษยา จะต้องมองเห็นผู้อื่นเหนือกว่าตน แล้วยังจะมีฐานภาพใดที่จะสูงส่งเหนือกว่าฐานภาพแห่งอิมามอีกเล่า ?
อิมามจะมีความโกรธในเรื่องดุนยาได้อย่างไรในเมื่อพระผู้อภิบาลได้ทรงประทานดาบอาญาสิทธิ์ให้ท่านเป็นผู้ตัดสินพิพากษาไปตามบทบัญญัติของพระองค์ ? ส่วนความโกรธเกี่ยวกับอาคิเราะฮฺนั้น ไม่ถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด
อิมามจะมีความใคร่หรือตัณหาราคะได้อย่างไรในเมื่อท่านสามารถรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่เป็นกามราคะและความมักง่ายใคร่อยากที่ต้องสูญสลายไปกับโลกดุนยา ซึ่งไม่สามารถจะเทียบเคียงกับความโปรดปรานและผลรางวัลตอบแทนอันไม่มีที่สิ้นสุดในโลกอาคิเราะฮฺที่พระองค์จะทรงประทานให้กับผู้บริสุทธิ์ที่ยึดมั่นในสัจธรรมได้เลย ?” (อะมาลีย์ เศาะดูก หน้า 376)
เราได้อ่านเรื่องราวสมัยที่ฟิรฺอาว์นฺ จอมอหังการผู้ฉ้อฉลได้กล่าวตำหนิศาสดามูสา กะลีมุลลอฮฺ (อ) อย่างรุนแรงในทันทีที่เขาเผชิญหน้ากับท่านว่า
“เรามิได้ชุบเลี้ยงเจ้ามาตั้งแต่วัยเด็กให้อยู่ในท่ามกลางพวกเราเป็นเวลาหลายปีดอกหรือ ? (ครั้นเมื่อเติบโตขึ้นมา) เจ้าได้ละเมิด (ด้วยการสังหารชาวอียิปต์คนหนึ่ง) และเจ้าเป็นผู้ที่เนรคุณ (ในความเป็นพระเจ้าของเรา) เขา (มูสา) จึงกล่าวว่า ฉันได้กระทำเช่นนั้นจริง (เพียงเพื่อจะช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่ มิได้มีเจตนาฆ่า) แต่ฉันได้พลาดพลั้งไป แล้วฉันได้หนีจากพวกท่าน เพราะกลัวพวกท่าน (จะจับฉันลงโทษ) และแล้วพระผู้อภิบาลของฉันได้ทรงประทานวิทยปัญญาแก่ฉัน และได้ทรงแต่งตั้งฉันให้เป็นเราะสูลของพระองค์” (สูเราะฮฺชุอะรออ์ 26 : 18 – 21(แปลมัฟฮูม))
จะเห็นได้ว่า เงื่อนไขที่สำคัญประการแรกของตำแหน่งอิมามก็คือความผ่องแผ้ว ความสำรวมตนจากความชั่วอย่างแท้จริง ความบริสุทธิ์ และคุณสมบัติที่คู่ควรต่อการเป็นตัวแทนของพระองค์ และแบบฉบับในการดำเนินชีวิตที่งดงามทั้งก่อนและหลังจากการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำประชาชาติ
ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้อย่างหนึ่งก็คือไม่มีมนุษย์คนใดที่จะไม่กระทำความผิดพลาด ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์โดยทั่วไปจะได้รับความรู้ด้วยสื่อแห่งประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งไม่สามารถจะประกันความผิดพลาดและการหลงลืมไปได้
ในขณะที่อิมาม (อ) สามารถสัมผัสอาณาจักรแห่งความเร้นลับด้วยตาใจ และได้รับความรู้ความเข้าใจในสารัตถะด้วยวิถีดังกล่าว เมื่อสื่อนำที่ทำให้รู้จักสัจธรรมคือหัวใจ มิใช่ประสาทสัมผัสทั้งห้า ความผิดพลาดและหลงลืมจึงไม่สามารถล่วงล้ำกล้ำกรายเขาได้ สิ่งที่ขจัดความผิดพลาดก็คือภาพที่ปรากฏในสมองกับภาพภายนอกมีความสอดคล้องตรงกัน
จากการที่อิมามได้รับการปกป้องให้สะอาดบริสุทธิ์ในทุก ๆ มิติ ทั้งในด้านคำพูด การกระทำ และแม้กระทั่งความคิดนี้เองที่ทำให้ท่านได้รับความรู้ในสิ่งเร้นลับ ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีมนุษย์คนใดที่จะสามารถสัมผัสถึงสารัตถะและแก่นแท้ของสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมดได้ด้วยวิถีทางปกติและด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า การรู้แจ้งเห็นจริง ความรู้ และการหยั่งถึงสิ่งเร้นลับนี้เองที่ทำให้อิมามได้รับการพิทักษ์ให้ปลอดภัยจากความผิดบาป และได้รับการชี้นำให้สามารถสัมผัสกับความจริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย
โดยหลักการทั่วไป การสำรวมตนจากความชั่วโดยวิถีแห่งการขัดเกลาจิตวิญญาณนั้นถือเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
19.หลักฐานและข้อพิสูจน์จากคัมภีร์และสุนนะฮฺนบีย์ (ศ) หลักฐานและข้อพิสูจน์ที่สำคัญในความบริสุทธิ์ของอะฮฺลุลบัยต์ของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) ก็คือ “อายะฮฺตัฏฮีรฺ” ที่ได้สาธยายถึงภาพลักษณ์ที่สะอาดปราศจากมลทิน และฐานภาพอันสูงส่งของทายาทแห่งท่านนบีย์ (ศ) ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า
“โดยแน่นอนยิ่ง อัลลอฮฺทรงประสงค์จะขจัด “ริจญ์สฺ” (มลทินและความผิดบาป) ของพวกเจ้า อะฮฺลุลบัยต์ และทรงชำระพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์” (สูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ 33 : 33)
“ริจญ์สฺ” ในภาษาอรับ หมายถึงมลทิน และความสกปรกโสมมทั้งที่เป็นซอฮิรีย์ (ภายนอก) และบาฏินีย์ (ภายใน) ซึ่งมีนัยถึงความชั่วและความผิดบาป กุรฺอานได้ใช้คำ “ริจญ์สฺ” ทั้งสองความหมายดังกล่าว ดังที่ในโองการหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสในความหมายที่เป็นซอฮิรีย์ว่า
“ซากสัตว์และเลือดที่ไหลรินและเนื้อสุกร แท้จริงมันเป็น “นะญิส” (สิ่งโสมม)” (สูเราะฮฺอันอาม 5 : 145)
ในขณะที่พระองค์ทรงตรัสในความหมายที่เป็นบาฏินีย์ในอีกโองการหนึ่งว่า
“ส่วนพวกที่ในหัวใจมีความป่วยไข้ (พวกสับปลับกลับกลอก) อัลลอฮฺจะยิ่งสำทับ “ริจญ์สฺ” (ความโสมมของความสับปลับกลับกลอก) ให้ทับถม “ริจญ์สฺ” (เดิม) ของพวกเขา และพวกเขาตายในสภาพผู้ปฏิเสธ” (สูเราะฮฺเตาบะฮฺ 9 : 125)
ส่วนในอายะฮฺตัฏฮีรฺ ที่พระองค์ทรงประสงค์จะขจัดมลทินและความโสมมออกจากสมาชิกแห่งครอบครัวของท่านนบีย์ (ศ) นั้น ไม่อาจจะตีความให้เป็นมลทินและความโสมมซอฮิรีย์ได้ ทั้งนี้เนื่องจากตามศาสนบัญญัติแล้ว มุสลิมทุกคนจะต้องพยายามหลีกห่างออกจากความสกปรกโสมมซอฮิรีย์ (นะญิส) อยู่แล้ว มิได้จำกัดเฉพาะอะฮฺลุลบัยต์ของท่านนบีย์ (ศ) แต่อย่างใด ในขณะที่โองการนี้ได้ค้ำประกันถึงฐานภาพและเกียรติคุณของสมาชิกแห่งครอบครัวของท่านศาสดา (ศ) เป็นกรณีพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้น การหลีกเลี่ยงจากนะญิสและความสกปรกโสมมก็มิได้ถือเป็นคุณงามความดีและความประเสริฐใด ๆ ที่พระองค์จะต้องเทิดเกียรติแก่ครอบครัวของท่านเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่อาจจะตีความหมายของ “ริจญ์สฺ” ในอายะฮฺนี้เป็นอย่างอื่นได้ นอกจากมลทินและความโสมมด้านจิตวิญญาณ (บาฏินีย์) เท่านั้น
ขณะเดียวกัน เจตนารมณ์ของอัลลอฮฺที่ทรงขจัดมลทินและความผิดบาปออกจากครอบครัวของท่านศาสดา (ศ) นั้น เป็นเจตนารมณ์ตักวีนีย์ กล่าวคือพระองค์ทรงประสงค์ให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากมลทินและความผิดบาปทั้งปวง เพราะถ้าตีความว่าอัลลอฮฺทรงมีเจตนารมณ์ตัชรีอีย์แล้ว ความหมายของอายะฮฺดังกล่าวจะต้องกลายเป็นว่าพระองค์ทรงกำหนดกฎเกณฑ์และบัญญัติ (ตัชรีอฺ) ให้อะฮฺลุลบัยต์ (อ) เป็นผู้ขจัดมลทินและความผิดบาปด้วยตัวของพวกเขาเอง หรือให้พวกเขาหลีกห่างจากความโสมมและความชั่วร้ายทั้งปวง ซึ่งไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการตีความเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่กินกับสติปัญญาและห่างไกลจากข้อเท็จจริง เพราะการยับยั้งหรือละทิ้งจากความชั่วและหลีกห่างจากความโสมมทั้งหลายนั้น ถือเป็นหน้าที่ที่ผู้ศรัทธาทุกคนจะต้องปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ (ชัรฺอีย์) อยู่แล้ว ซึ่งถือว่าผู้ที่ปฏิบัติตามจะมีฐานภาพหรือความประเสริฐพิเศษอันใดที่จะทำให้ท่านนบีย์ (ศ) ต้องปฏิบัติในสิ่งที่ท่านไม่เคยปฏิบัติเช่นนั้นกับใครทั้งก่อนและหลัง ด้วยการนำอะบา (ผ้าคลุม) มาปกคลุมผู้เป็นอะฮฺลุลบัยต์ของท่าน โดยไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นใดเข้าไปอยู่ภายใต้ผ้าคลุมผืนนั้นด้วย
อายะฮฺตัฏฮีรฺซึ่งถูกประทานให้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) นี้ เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่ประจักษ์เป็นอย่างดีในหมู่เศาะหาบะฮฺ และไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยในความสะอาดบริสุทธิ์และความอิคลาศของบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในโองการนี้ พวกเขายังได้รับการขนานนามว่า “อัศหาบุนกิสาอ์” และคราใดที่อะฮฺลุลบัยต์ของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ต้องเผชิญกับวิกฤติที่จำเป็นต้องสำแดงถึงฐานภาพและเกียรติคุณทางด้านจิตวิญญาณของตน พวกเขาจะหยิบยกความเป็น “อัศหาบุนกิสาอ์” ขึ้นมาเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงฐานภาพอันสูงส่งของพวกเขาทันที
ภายหลังจากอุมัรฺได้ตายลง ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) ได้กล่าวกับกลุ่มชูรอที่อุมัรฺได้กำหนดขึ้นมาเพื่อให้เป็นผู้ทำหน้าที่เลือกเคาะลีฟะฮฺ ว่า
“นอกจากฉันและทายาทแห่งครอบครัวของฉันแล้ว มีใครอีกไหมที่อายะฮฺตัฏฮีรฺได้ประทานมายังเขา ?”
พวกเขาตอบว่า “ไม่มี”
อลีย์ (อ) จึงกล่าวว่า “อะฮฺลุลบัยต์ผู้เต็มไปด้วยเกียรติอันสูงส่ง ดังที่พระองค์ทรงตรัสในอัลกุรฺอานว่า “โดยแน่นอนยิ่ง อัลลอฮฺทรงประสงค์จะขจัด “ริจญ์สฺ” (มลทินและความผิดบาป) ของพวกเจ้า อะฮฺลุลบัยต์ และทรงชำระพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์”
ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงขจัดมลทินและความโสมมทั้งซอฮิรีย์และบาฏินีย์ให้ห่างไกลจากเรา และทรงประทานให้พวกเราสามารถดำรงอยู่บนวิถีสัจธรรมอย่างมั่นคง” (ฆอยะตุลมะรอม หน้า 295)
อิบนุอับบาส กล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้วจนะว่า “พระผู้อภิบาลทรงจำแนกมนุษย์ออกเป็นสองฝ่าย และทรงกำหนดให้ฉันเป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเขา ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า “(และช่างประเสริฐเสียนี่กระไรสำหรับ) ชนชาวขวา” (สูเราะฮฺวากิอะฮฺ 56 : 27)
“(และช่างชั่วช้าอะไรเช่นนั้นสำหรับ) ชนชาวซ้าย” (สูเราะฮฺวากิอะฮฺ 56 : 40)
“ฉันคือชนชาวขวาที่ประเสริฐสุด แล้วพระองค์ยังทรงจำแนกชนชาวขวาออกเป็น 3 กลุ่ม และทรงชำระฉันให้สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด ดังที่ทรงตรัสว่า
“และพวกเจ้าถูกจำแนกออกเป็นสามกลุ่ม คือชนผู้สัตย์จริงฝ่ายขวา (ช่างประเสริฐเสียนี่กระไรสำหรับพวกเขา) และชนผู้ละเมิดฝ่ายซ้าย (ช่างชั่วช้าอะไรเช่นนั้นสำหรับพวกเขา) และกลุ่มชนที่สามคือผู้ศรัทธาก่อนใครอื่น พวกเขาคือผู้ใกล้ชิด (พระองค์)” (สูเราะฮฺวากิอะฮฺ 56 : 7 – 11)
“และฉันคือผู้ที่ประเสริฐสุด เพราะเป็นผู้ศรัทธาคนแรก แล้วพระองค์ทรงจำแนกในระหว่างกลุ่มชนทั้งหลาย และทรงกำหนดให้ฉันเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเขา ดังที่ทรงตรัสว่า
“โอ้ มนุษย์เอ๋ย แท้จริง เราได้สร้างพวกเจ้าให้เป็นเพศชายและเพศหญิง และได้จำแนกพวกเจ้าออกเป็นเผ่าพันธุ์และตระกูลต่าง ๆ เพื่อให้พวกเจ้าได้ทำความรู้จักกัน แท้จริง ผู้มีเกียรติสูงสุดในหมู่พวกเจ้า ณ ทัศนะของอัลลอฮฺ คือผู้ที่สำรวมตนที่สุด” (สูเราะฮฺหุญุรอต 49 : 13)
“และฉันคือผู้ที่สำรวมตนที่สุด และเป็นผู้ที่มีเกียรติที่สุดในท่ามกลางทายาทของอาดัม (อ) ถึงกระนั้น ฉันจะไม่มีวันอหังการและหยิ่งทะนงอย่างแน่นอน”
“แล้วพระองค์ทรงจำแนกพวกเขาออกเป็นเหล่าตระกูลต่าง ๆ และทรงกำหนดให้ตระกูลของฉันประเสริฐที่สุดในท่ามกลางตระกูลทั้งหลาย ดังที่ทรงตรัสว่า
“โดยแน่นอนยิ่ง อัลลอฮฺทรงประสงค์จะขจัด “ริจญ์สฺ” (มลทินและความผิดบาป) ของพวกเจ้า อะฮฺลุลบัยต์ และทรงชำระพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์” (สูเราะฮฺอะหฺซาบ 33 : 33)
“ด้วยเหตุนี้ ฉันและอะฮฺลุลบัยต์ของฉันจึงได้รับการปกป้องให้บริสุทธิ์ปราศจากมลทินและความผิดบาป” (อัดดุรฺรุลมันษูรฺ สุยูฏีย์ เล่ม 5 หน้า 199)
จากหะดีษข้างต้น ท่านนบีย์ (ศ) ได้ตัฟสีรฺอายะฮฺตัฏฮีรฺถึงความเป็นมะอฺศูมของอะฮฺลุลบัยต์ (อ) เอาไว้อย่างชัดเจน
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๒๔
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
ส่วนชะอ์นุซูลหรือความเป็นมาของอายะฮฺตัฏฮีรฺนั้น มีดังต่อไปนี้คือ ท่านหญิงอุมมุสะละมะฮฺ ภรรยาผู้ทรงเกียรติและเต็มไปด้วยตักวาของท่านศาสดา (ศ) ได้เล่าเหตุการณ์ที่อายะฮฺนี้ได้ถูกประทานลงมาที่บ้านของนางให้แก่ประชาชนกลุ่มหนึ่งว่า “วันหนึ่ง ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ส) บุตรีของท่านนบีย์ (ศ) ได้นำอาหารมามอบให้ท่าน (ศ) ท่านจึงบอกให้เธอไปเชื้อเชิญอลีย์ (อ) สามีของเธอ และหะสัน (อ) กับหุสัยน์ (อ) ให้มาร่วมสำรับอาหารด้วยกัน เธอจึงได้ปฏิบัติตามความประสงค์ของท่าน (ศ) เมื่อทั้งหมดได้รับประทานอาหารเสร็จ อายะฮฺตัฏฮีรฺจึงถูกประทานลงมา หลังจากนั้น ท่านนบีย์ (ศ) ได้ใช้ผ้าที่อยู่บนบ่าของท่านคลุมศีรษะของคนทั้งสี่ พร้อมกับวิงวอนจากพระองค์สามครั้งดังต่อไปนี้ “โอ้ พระผู้อภิบาล พวกเขาคืออะฮฺลุลบัยต์ของฉัน ขอพระองค์ทรงโปรดขจัดมลทินและความผิดบาปให้พ้นไปจากพวกเขา และชำระพวกเขาให้สะอาดบริสุทธิ์ด้วยเทอญ” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 125)
อุละมาอ์ชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺส่วนใหญ่กล่าวว่า “อายะฮฺตัฏฮีรฺถูกประทานลงมาแก่คนทั้งห้า (ปัญจตัน) อันได้แก่ ท่านนบีย์ (ศ) อลีย์ (อ) ฟาฏิมะฮฺ (ส) หะสัน (อ) และหุสัยน์ (อ)” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 126 - อัดดุรฺรุลมันษูรฺ สุยูฏีย์ เล่ม 5 หน้า 199 - มุสนัดอะหฺมัด อิบนุหัมบัล เล่ม 1 หน้า 331 – ตัฟสีรฺฟัครุรฺรอซีย์ เล่ม 1 หน้า 783 – เคาะศออิศุลกุบรอ เล่ม 2 หน้า 264 – เศาะวาอิก อิบนุหะญัรฺ หน้า 85)
อุมัรฺ อิบนุอบีสะละมะฮฺ ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย กล่าวว่า
“อายะฮฺตัฏฮีรฺถูกประทานลงมาที่บ้านของอุมมุสะละมะฮฺ โดยท่านนบีย์ (ศ) ได้เรียกอลีย์ (อ) ฟาฏิมะฮฺ (ส) หะสัน (อ) และหุสัยน์ (อ) เข้าไปใกล้ ๆ แล้วท่านได้ใช้ผ้าที่อยู่บนบ่าของท่านคลุมศีรษะพวกเขา พร้อมกับกล่าววิงวอนว่า “พวกเขาคืออะฮฺลุลบัยต์ของฉัน ขอพระองค์ทรงโปรดขจัดมลทินและความผิดบาปให้ห่างไกลจากพวกเขา และชำระพวกเขาให้สะอาดบริสุทธิ์ด้วยเทอญ”
อุมมุสะละมะฮฺจึงถามว่า “โอ้ เราะสูลุลลอฮฺ จะอนุญาตให้ฉันได้อยู่กับพวกเขาไหม ?”
ท่าน (ศ) จึงกล่าวว่า “จงอยู่ในสถานที่ของเธอเถิด เพราะเธอคือผู้ที่ประเสริฐเช่นกัน” (ญามิอุลอุศูล เล่ม 1 หน้า 101 – นอกจากนี้ ยังมีริวายะฮฺเกี่ยวกับชะอ์นุซูล ใน “ริยาฎุนนัฎเราะฮฺ” เล่ม 2 หน้า 269 และ “มัจญ์มะอุซซะวาอิด” เล่ม 9 หน้า 119 แบะ 207 ด้วยเช่นกัน)
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่า “รุ่งอรุณของวันหนึ่ง ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้เดินออกจากบ้านพร้อมกับผ้าที่พาดบนบ่า หลังจากนั้น หะสัน (อ) หุสัยน์ (อ) ฟาฏิมะฮฺ (ส) และอลีย์ (อ) ได้เข้าไปหาท่าน (ศ) ท่านจึงใช้ผ้าผืนนั้นคลุมไปบนศีรษะของคนทั้งสี่พร้อมกับอ่านอายะฮฺตัฏฮีรฺ” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 124)
อบุลหัมรออ์ เศาะหาบะฮฺคนหนึ่งของท่านนบีย์ (ศ) กล่าวว่า
“ฉันได้ติดสอยห้อยตามท่านนบีย์ (ศ) ในนครมะดีนะฮฺเป็นเวลา 8 เดือนเต็ม ทุกครั้ง ก่อนที่ท่าน (ศ) จะออกไปนมาซ ท่านจะต้องมุ่งตรงไปยังบ้านของอลีย์ (อ) เสมอ เมื่อไปถึงหน้าบ้าน ท่านจะใช้มือทั้งสองป้องที่ปากพร้อมกับกล่าวว่า
“นมาซ ! นมาซ ! อัลลอฮฺ ทรงประสงค์จะขจัดมลทินและความผิดบาปให้ห่างไกลจากพวกเจ้า โอ้ อะฮฺลุลบัยต์ และทรงชำระพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์” (อัดดุรฺรุลมันษูรฺ สุยูฏีย์ เล่ม 5 หน้า 198 – อะสะดุลฆอบะฮฺ เล่ม 5 หน้า 174 – มัจญ์มะอุซซะวาอิด เล่ม 9 หน้า 168)
แม้ว่าจะมีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ “อัศหาบุลกิสาอ์” หรือ “หะดีษกิสาอ์” มากมายเพียงไรก็ตาม แต่ถึงกระนั้น ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ก็ยังคงเน้นความสำคัญด้วยการพยายามให้ข่าวดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน เพื่อให้พวกเขาได้ตระหนักว่ามีใครบ้างที่เป็นอะฮฺลุลบัยต์หรืออัศหาบุลกิสาอ์ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้ชื่อของพวกเขาได้จารึกอยู่ในความทรงจำของเหล่าเศาะหาบะฮฺอย่างไม่มีวันลืมเลือน และหวังว่าพวกเขาจะช่วยกันเผยแผ่เหตุการณ์ดังกล่าวให้ผู้คนได้รับรู้กันอย่างแพร่หลายต่อไปในอนาคต ท่าน (ศ) ได้ใช้เวลาอันยาวนานในการสร้างความเข้าใจกับพวกเขา ถึงขนาดที่อิบนุอับบาสได้รายงานว่า “เป็นเวลา 9 เดือนที่ท่านนบีย์ (ศ) ได้เดินไปยังบ้านอลีย์ (อ) ก่อนจะถึงเวลานมาซศุบห์เป็นประจำทุก ๆ วัน เพื่อกล่าวกับสมาชิกในบ้านหลังนั้นว่า “ขอความสันติจงประสบแด่พวกท่าน โอ้ อะฮฺลุลบัยต์ หลังจากนั้น ท่านจะอ่าน “อายะฮฺตัฏฮีรฺ” ( กิฟายะตุฏฏอลิบ กันญีย์ ชาฟิอีย์ หน้า 232 – อัลอิมามุศศอดิก วัลมะซาฮิบุลอัรฺบะอะฮฺ เล่ม 1 หน้า 89 – นอกจากนี้ยังมีริวายะฮฺจากอิบนุอับบาสที่ได้รายงานถึงชะอ์นุซูลอายะฮฺใน “มุสนัดอะหฺมัด อิบนุหัมบัล” เล่ม 1 หน้า 330 – เคาะศออิศนะสาอีย์ หน้า 11 – ริยาฎุนนัฎเราะฮฺ เล่ม 2 หน้า 269 – มัจญ์มะอุซซะวาอิด เล่ม 9 หน้า 119 และ 207 อีกด้วย)
อนัส อิบนุมาลิก กล่าวว่า “เมื่อใกล้จะถึงเวลานมาซศุบหฺ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) จะเดินไปยังบ้านของฟาฏิมะฮฺ (ส) เป็นเวลาติดต่อกัน 6 เดือน พร้อมกับกล่าวกับสมาชิกในบ้านหลังนั้นว่า “โอ้ อะฮฺลุลบัยต์ของฉัน จงตื่นเพื่อไปสู่การนมาซเถิด หลังจากนั้น ท่านจะอ่านอายะฮฺตัฏฮีรฺ” ( เศาะหี๊หฺติรฺมิซีย์ เล่ม 2 หน้า 308 – มุสตัดร็อกหากิม เล่ม 3 หน้า 158 – ตัฟสีรฺอิบนุกะษีรฺ เล่ม 3 หน้า 483 – ฟุศูลุลมุฮิมมะฮฺ อิบนุเศาะบาฆ มาลิกีย์ หน้า 8 – ตัฟสีรฺเฏาะบะรีย์ เล่ม 22 หน้า 5 – ดุรฺรุลมันษูรฺ เล่ม 5 หน้า 199 – กันซุลอุมมาล เล่ม 7 หน้า 102 – มุสนัดอะหฺมัด อิบนุหัมบัล เล่ม 3 หน้า 286)
อมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) จะมายืนที่หน้าบ้านของเราในทุกรุ่งอรุณ พร้อมกับกล่าวว่า “ขออัลลอฮฺทรงประทานความเมตตาแด่พวกท่านด้วยเทอญ จงตื่นเพื่อไปสู่การนมาซเถิด” แล้วท่านจะอ่านอายะฮฺตัฏฮีรฺ” (ฆอยะตุลมะรอม หน้า 295)
อุละมาอ์บางคนพยายามตั้งข้อกังขาและปฏิเสธความเป็นมะอฺศูมของอะฮฺลุลบัยต์ โดยกล่าวว่า อายะฮฺตัฏฮีรฺเกี่ยวข้องกับภรรยาของท่านนบีย์ (ศ) ดังที่ได้มีพยานหลักฐานข้างเคียงยืนยันว่าอายะฮฺนี้ถูกประทานลงมาเพื่อเทิดเกียรติเหล่าภรรยาของท่าน หรือถ้ามิใช่เช่นนั้น อย่างน้อยที่สุด เราจะต้องไม่ผลักไสพวกนางให้ออกไปจากนัยแห่งอายะฮฺดังกล่าว เพราะมาตรว่าเจตนารมณ์ของอายะฮฺนี้หมายถึงอิศมะฮฺหรือความเป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากมลทินแล้วไซร้ เหล่าภรรยาของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) จะต้องได้รับฐานภาพแห่งความเป็นมะอฺศูมด้วย แต่กลับไม่มีผู้ใดยอมรับว่าพวกนางเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้ เราจะต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าอายะฮฺตัฏฮีรฺถูกประทานลงมาเกี่ยวกับบรรดาภรรยาของท่าน (ศ) เท่านั้น มิใช่หลักฐานที่บ่งบอกถึงความเป็นอิศมะฮฺของพวกนางหรือแม้กระทั่งอะฮฺลุลบัยต์ (อ) แต่อย่างใด !
ข้อท้วงติงดังกล่าวไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นการตีความที่มิได้สอดคล้องกับรูปประโยคในโองการเหล่านั้น เพราะถ้าหากอายะฮฺตัฏฮีรฺมีนัยถึงเหล่าภรรยาของท่านศาสดา (ศ) แล้ว รูปประโยคจะต้องเป็นพหุพจน์เพศหญิง (ญัมอฺ มุอันนัษ) ไม่ใช่พหุพจน์เพศชาย (ญัมอฺ มุซักกัรฺ) ในขณะที่อายะฮฺได้กล่าวว่า “อันกุม วะยุเฏาะฮิเราะกุม”
นอกจากนี้ ริวายะฮฺข้างต้นยังถือเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่านอกจากบุคคลทั้งสี่แล้ว ไม่มีบุคคอื่นใดที่ถูกนับเข้ารวมอยู่ในอะฮฺลุลบัยต์ของท่านนบีย์ (ศ) เมื่อท่าน (ศ) วจนะว่า “โอ้ อัลลอฮฺ พวกเขาคืออะฮฺลุลบัยต์ของฉัน” เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนว่าสมาชิกแห่งครอบครัวของท่านศาสดา (ศ) นั้น มีเพียงพวกเขาสี่คนนี้เท่านั้น ส่วนบรรดาภรรยา ตลอดจนเครือญาติผู้สนิทชิดเชื้อคนอื่น ๆ แม้กระทั่งท่านญะอฺฟัรฺ อิบนุอบีฏอลิบ และท่านอับบาส ผู้เป็นลุงของท่าน ก็มิได้อยู่ในฐานะสมาชิกแห่งอะฮฺลุลบัยต์ของท่านแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน ริวายะฮฺที่รายงานถึงชะอ์นุซูลของอายะฮฺนี้ยังได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้ตอบคำวอนขอของท่านหญิงอุมมุสะละมะฮฺ ซัยนับ และอาอิชะฮฺ เมื่อพวกนางถามว่า “พวกเราคือสมาชิกแห่งอะฮฺลุลบัยต์ของท่านด้วยไหม ?” โดยท่านได้กล่าวว่า “พวกเธอจงอย่าเข้ามา และจงอยู่ในสถานที่ของพวกเธอเถิด” นอกจากนี้ จะไม่เกิดข้อกังขาว่าอายะฮฺตัฏฮีรฺไปค้านหรือขัดแย้ง (ญุมละฮฺมุอฺตะริเฎาะฮฺ) กับอายะฮฺก่อนหน้านั้นที่ได้กล่าวถึงภรรยาของท่านนบีย์ (ศ) แต่อย่างใด ทั้งนี้เนื่องจากสามารถพบเห็นประโยคเช่นนี้ (ญุมละฮฺมุอฺตะริเฎาะฮฺ) ที่แทรกเข้ามาในท่ามกลางประโยคฟะศีหฺเสมอ และในอัลกุรฺอานก็มิได้มีแค่เพียงในกรณีนี้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ คำนิยาม “ตัฏฮีรฺ” มีความหมายเดียวกับ “อิศมะฮฺ” และในระหว่างนักรายงานหะดีษ (มุหัดดิษีน) และนักประวัติศาสตร์ (มุวัรฺริคีน) ต่างมีความเห็นตรงกันว่าเหล่าภรรยาของท่านศาสดา (ศ) มิได้มีฐานภาพและตำแหน่งที่สูงส่งเช่นนั้น ทั้งนี้เนื่องจากภรรยาของท่านหลายคนที่ได้ทำร้ายจิตใจของท่านนบีย์ (ศ) อย่างรุนแรง จนกระทั่งท่าน (ศ) ต้องละทิ้งภรรยาบางคนเป็นเวลาถึงหนึ่งเดือนเต็ม และยังได้ข่มขู่ว่าจะหย่าร้างพวกนางหลายครั้งหลายคราด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) กับเศาะหาบะฮฺจำนวนหนึ่งได้เดินเข้าใกล้บ้านภรรยาคนหนึ่งของท่าน ท่าน (ศ) ได้ชี้ไปยังบ้านหลังนั้นพร้อมกับกล่าวว่า “ฟิตนะฮฺ (วิกฤติ) จะอุบัติขึ้นจากบ้านหลังนี้ !” (เศาะหี๊หฺบุคอรีย์ เล่ม 2 หน้า 189)
ด้วยเหตุนี้ จะตีความให้ภรรยาผู้มีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่ในฐานะผู้สะอาดบริสุทธิ์ตามนัยของ “อายะฮฺตัฏฮีรฺ” ได้อย่างไร ?
ในทางกลับกัน มีหะดีษมากมายที่ได้รายงานอย่างชัดเจนถึงความเป็นอิศมะฮฺของอิมาม ตัวอย่างเช่น
อิบนุอับบาส กล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้วจนะว่า
“ฉัน อลีย์ หะสัน หุสัยน์ และทายาทผู้สืบเชื้อสายจากเขาอีก 9 คน คือมะอฺศูมและเป็นผู้ที่มีความสะอาดบริสุทธิ์” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 534)
“สะลีม อิบนุกัยสฺ” กล่าวว่า อมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) ได้กล่าวว่า
“นอกจากการอิฏออะฮฺต่ออัลลอฮฺ เราะสูล และอุลุลอัมรฺแล้ว การอิฏออะฮฺต่อบุคคลอื่นไม่ถือเป็นวาญิบแต่อย่างใด และสาเหตุที่วาญิบต้องอิฏออะฮฺต่ออุลุลอัมรฺก็เนื่องจากพวกเขาเป็นมะอฺศูม เป็นผู้ที่ห่างไกลจากความชั่วและความผิดบาปอย่างสิ้นเชิง และจะไม่ออกคำสั่งที่ขัดแย้งหรือฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺอย่างแน่นอน” (อิษบาตุลฮุดา เล่ม 1 หน้า 232)
อมีรุลมุอ์มินีน (อ) ยังกล่าวอีกว่า “เหตุใดท่านทั้งหลายจึงลังเลใจในวิถีแห่งสัจธรรมและความจริงอยู่อีกเล่า ? ทั้ง ๆ ที่ทายาทของท่านศาสดา (ศ) อยู่ในท่ามกลางพวกเจ้า พวกเขาคือผู้นำแห่งสัจธรรม คือธงชัยแห่งอิสลาม และมีคำพูดที่สัตย์จริง ท่านทั้งหลายจงยึดมั่นในอิตเราะฮฺประหนึ่งการยึดมั่นในอัลกุรฺอานเถิด และจงรีบเร่งเข้าหาพวกเขาประดุจดั่งผู้ที่กระหายเถิด” (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ หน้า 83)
อิมามอลีย์ ริฎอ (อ) กล่าวว่า “อิมามคือผู้ที่มีคุณสมบัติสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากความชั่ว ความผิดบาป และความบกพร่องใด ๆ และเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 200)
อิมามญะอฺฟัรฺ ศอดิก (อ) กล่าวว่า “บรรดาศาสดาและตัวแทนของศาสดาล้วนได้รับการพิทักษ์ให้พ้นจากมลทินและความผิดบาป เพราะพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว” (บิหารุลอันวารฺ เล่ม 25 หน้า 199)
ท่าน (อ) ยังได้สาธยายถึงความเป็นอิศมะฮฺเพิ่มเติมอีกว่า
“อิมาม คือผู้มีฐานภาพและเกียรติคุณสูงส่งที่ได้รับการเลือกสรรให้ชี้นำมนุษยชาติไปสู่วิถีแห่งอัลลอฮฺ, คือผู้ที่ยืนหยัดเพื่อสร้างความหวังแก่ดวงใจทั้งหลาย, คือผู้ที่ได้รับการเลือกสรรภายใต้การพินิจของอัลลอฮฺนับตั้งแต่อยู่ในโลก........... หลังจากนั้น เขาได้ฉายแสงในโลกแห่งการสรรสร้างในภาพลักษณ์แห่งวิญญาณอยู่ทางเบื้องขวาของบัลลังก์ของพระองค์ ก่อนที่พระองค์จะทรงสร้างสรรพสิ่งมีชีวิต เขาได้รับการถ่ายทอดความรู้และวิทยปัญญาจากโลกแห่งความเร้นลับ ได้รับตำแหน่งอิมามเพราะความรู้ และได้รับการเลือกสรรเพราะธรรมชาติและจุดกำเนิด (ฏีนะฮฺ) ที่บริสุทธิ์
สำหรับทายาทที่ประเสริฐที่สุดของอาดัม (อ) นูหฺ (อ) และผู้ที่ถูกเลือกสรรแห่งวงศ์วานอิบรอฮีม (อ) และลูกหลานของอิสมาอีล (อ) ก็คืออิตเราะฮฺ (ลูกหลาน) แห่งมุหัมมัด (ศ) นั่นเอง พระผู้อภิบาลผู้ทรงเกรียงไกร ทรงประทานความโปรดปรานพิเศษแก่เขา (ศ) ทรงพิทักษ์รักษาเขาด้วยอาตมัน (ซาต) อันบริสุทธิ์ของพระองค์ ทรงขจัดรากเหง้าแห่งความชั่วช้าของชัยฏอนไปจากเขา ความมืดมนอนธกาลและการกระซิบกระซาบแห่งความชั่วร้ายไม่อาจจะแผ้วพานเขาได้ เขาได้รับการปกป้องให้พ้นจากจริยธรรมที่น่ารังเกียจทั้งหลาย และมีความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจากความบกพร่องผิดพลาดทั้งหมด ได้รับการปกป้องจากภัยพิบัติ และบริสุทธิ์ปราศจากความผิดบาป และจะไม่กล้ำกรายใกล้ความเลวร้ายอย่างสิ้นเชิง คุณสมบัติแห่งความอดทนและความดีงามได้ขจรขจายนับตั้งแต่วัยเยาว์ และได้รับการกล่าวขานในด้านความรู้ ความประเสริฐ และความผ่องแผ้วอย่างแพร่หลาย” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 204)
อบูสะอีด คุดรีย์ รายงานว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้วจนะว่า
“โอ้ ประชาชน ฉันได้มอบอมานะฮฺที่ทรงคุณค่าและยิ่งใหญ่สองอย่างแก่พวกท่าน มาตรว่าพวกท่านได้ยึดทั้งสองอย่างมั่นคง พวกท่านจะไม่มีวันหลงทางอย่างแน่นอน อมานะฮฺหนึ่งยิ่งใหญ่กว่าอมานะฮฺหนึ่ง ทั้งสองคือคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และอิตเราะฮฺผู้เป็นอะฮฺลุลบัยต์ของฉัน พึงสังวรเถิดว่าอิตเราะฮฺกับกุรฺอานจะไม่มีวันพรากจากกันตราบกระทั่งวันกิยามะฮฺ” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 36 – และในเศาะหี๊หฺติรฺมิซีย์ เล่ม 5 หน้า 329 หะดีษที่ 3876 ได้บันทึกรายงานจาก “ซัยดฺ อิบนุอัรฺก็อม”)
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๒๕
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
นัยของอะฮฺลุลบัยต์หมายถึง บรรดาอิมามหรือผู้นำที่อัลลอฮฺได้ทรงบัญชาให้การอิฏออะฮฺต่อพวกเขาอยู่ในระดับเดียวกับการอิฏออะฮฺต่อพระองค์ ดังที่ทรงตรัสไว้ในอัลกุรฺอานว่า
“โอ้ ศรัทธาชน จงอิฏออะฮฺต่ออัลลอฮฺ และอิฏออะฮฺต่อเราะสูล และอุลุลอัมรฺ (ผู้ปกครอง) ในหมู่สูเจ้าเถิด”
อุลุลอัมรฺ ณ ที่นี้ก็คืออะฮฺลุลบัยต์ของท่านเราะสูล (ศ) นั่นเอง
พวกเขาได้รับการปกป้องให้บริสุทธิ์พ้นจากมลทินและความผิดบาป ดังที่อัลลอฮฺทรงให้การรับรอง พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนคำบัญชาของพระองค์ พวกเขาจะไม่ปฏิบัติสิ่งใดที่หันเหออกจากทางที่เที่ยงธรรม และวิถีของพวกเขามั่นคงอยู่บนหนทางที่เที่ยงธรรม (ศิรอฏ็อลมุสตะกีม) ปัจจัยยังชีพจะถูกจัดสรรให้ปวงบ่าวของพระองค์ บ้านเมืองจะได้รับการพัฒนา และฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาลด้วยบะเราะกะฮฺของผู้ทรงเกียรติเหล่านี้เท่านั้น รูหุลกุดุส (วิญญาณบริสุทธิ์) จะเคียงข้างพวกเขาตลอดเวลา และพวกเขาจะไม่มีวันแยกออกจากอัลกุรฺอานอย่างแน่นอน” (บิหารุลอันวารฺ เล่ม 23 หน้า 19)
“มุหัมมัด อิบนุฟุฎัยล์” ได้ถามท่านอิมามอลีย์ ริฎอ (อ) ว่า “โลกที่ปราศจากการมีอยู่ของอิมามจะดำรงอยู่ได้ไหม ?”
ท่านอิมาม (อ) ตอบว่า “ไม่ ดังหะดีษที่รายงานจากท่านอิมามศอดิก (อ) ว่า
“โลกจะไม่ว่างเว้นจากการมีอิมามผู้เป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์แห่งกาลเวลา เพราะมิฉะนั้น ชาวโลกจะต้องอยู่ภายใต้ความโกรธกริ้วของอัลลอฮฺ” แล้วอิมามริฎอ (อ) ได้กล่าวต่อไปว่า “โลกจะไม่มีวันว่างเว้นจากอิมาม มาตรว่าปราศจากอิมามแล้วไซร้ โลกนี้จะต้องประสบกับไฟบรรลัยกัลป์อย่างแน่นอน” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 179)
18.ความบริสุทธิ์ของอิมาม และความจำเป็นที่จะต้องเชื่อในสิ่งนี้
ตลอดหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ได้มีข้อขัดแย้งและถกเถียงตลอดมาในท่ามกลางสำนักคิดต่าง ๆ ว่าตำแหน่งนบีย์ (ศ) และอิมามจำเป็นจะต้องบริสุทธิ์ปราศจากมลทินและความผิดบาปด้วยหรือ ?
สำนักคิดชีอะฮฺมีความเชื่อตรงกันถึงความบริสุทธิ์ของอิมาม
“มุหัมมัด อิบนุอบีอุมัยรฺ” เล่าว่า ฉันได้ถาม “ฮิชาม อิบนุหะกัม” สานุศิษย์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของอิมามศอดิก (อ) ว่า “อิมามจำเป็นจะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยหรือ ?” ซึ่งเขาได้ตอบว่า "ใช่แล้ว” ฉันจึงกล่าวกับเขาว่า “โปรดอธิบายถึงนัยของความบริสุทธิ์ให้ฉันด้วยเถิด”
เขาจึงกล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องถลำสู่ความชั่วและความผิดบาปมีหลายประการด้วยกันคือ ความละโมบ ความอิจฉาริษยา ความโกรธ และความใคร่หรือตัณหาราคะ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ไม่มีปรากฏอยู่ในอิมามทั้งสิ้น
อิมามจะมีความละโมบได้อย่างไรในเมื่อท่านมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล แม้กระทั่งกองคลังจากบัยตุลมาลของมุสลิม ?
อิมามจะมีความอิจฉาริษยาได้อย่างไรในเมื่อผู้ที่จะมีความรู้สึกอิจฉาริษยา จะต้องมองเห็นผู้อื่นเหนือกว่าตน แล้วยังจะมีฐานภาพใดที่จะสูงส่งเหนือกว่าฐานภาพแห่งอิมามอีกเล่า ?
อิมามจะมีความโกรธในเรื่องดุนยาได้อย่างไรในเมื่อพระผู้อภิบาลได้ทรงประทานดาบอาญาสิทธิ์ให้ท่านเป็นผู้ตัดสินพิพากษาไปตามบทบัญญัติของพระองค์ ? ส่วนความโกรธเกี่ยวกับอาคิเราะฮฺนั้น ไม่ถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด
อิมามจะมีความใคร่หรือตัณหาราคะได้อย่างไรในเมื่อท่านสามารถรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่เป็นกามราคะและความมักง่ายใคร่อยากที่ต้องสูญสลายไปกับโลกดุนยา ซึ่งไม่สามารถจะเทียบเคียงกับความโปรดปรานและผลรางวัลตอบแทนอันไม่มีที่สิ้นสุดในโลกอาคิเราะฮฺที่พระองค์จะทรงประทานให้กับผู้บริสุทธิ์ที่ยึดมั่นในสัจธรรมได้เลย ?” (อะมาลีย์ เศาะดูก หน้า 376)
เราได้อ่านเรื่องราวสมัยที่ฟิรฺอาว์นฺ จอมอหังการผู้ฉ้อฉลได้กล่าวตำหนิศาสดามูสา กะลีมุลลอฮฺ (อ) อย่างรุนแรงในทันทีที่เขาเผชิญหน้ากับท่านว่า
“เรามิได้ชุบเลี้ยงเจ้ามาตั้งแต่วัยเด็กให้อยู่ในท่ามกลางพวกเราเป็นเวลาหลายปีดอกหรือ ? (ครั้นเมื่อเติบโตขึ้นมา) เจ้าได้ละเมิด (ด้วยการสังหารชาวอียิปต์คนหนึ่ง) และเจ้าเป็นผู้ที่เนรคุณ (ในความเป็นพระเจ้าของเรา) เขา (มูสา) จึงกล่าวว่า ฉันได้กระทำเช่นนั้นจริง (เพียงเพื่อจะช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่ มิได้มีเจตนาฆ่า) แต่ฉันได้พลาดพลั้งไป แล้วฉันได้หนีจากพวกท่าน เพราะกลัวพวกท่าน (จะจับฉันลงโทษ) และแล้วพระผู้อภิบาลของฉันได้ทรงประทานวิทยปัญญาแก่ฉัน และได้ทรงแต่งตั้งฉันให้เป็นเราะสูลของพระองค์” (สูเราะฮฺชุอะรออ์ 26 : 18 – 21(แปลมัฟฮูม))
จะเห็นได้ว่า เงื่อนไขที่สำคัญประการแรกของตำแหน่งอิมามก็คือความผ่องแผ้ว ความสำรวมตนจากความชั่วอย่างแท้จริง ความบริสุทธิ์ และคุณสมบัติที่คู่ควรต่อการเป็นตัวแทนของพระองค์ และแบบฉบับในการดำเนินชีวิตที่งดงามทั้งก่อนและหลังจากการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำประชาชาติ
ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้อย่างหนึ่งก็คือไม่มีมนุษย์คนใดที่จะไม่กระทำความผิดพลาด ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์โดยทั่วไปจะได้รับความรู้ด้วยสื่อแห่งประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งไม่สามารถจะประกันความผิดพลาดและการหลงลืมไปได้
ในขณะที่อิมาม (อ) สามารถสัมผัสอาณาจักรแห่งความเร้นลับด้วยตาใจ และได้รับความรู้ความเข้าใจในสารัตถะด้วยวิถีดังกล่าว เมื่อสื่อนำที่ทำให้รู้จักสัจธรรมคือหัวใจ มิใช่ประสาทสัมผัสทั้งห้า ความผิดพลาดและหลงลืมจึงไม่สามารถล่วงล้ำกล้ำกรายเขาได้ สิ่งที่ขจัดความผิดพลาดก็คือภาพที่ปรากฏในสมองกับภาพภายนอกมีความสอดคล้องตรงกัน
จากการที่อิมามได้รับการปกป้องให้สะอาดบริสุทธิ์ในทุก ๆ มิติ ทั้งในด้านคำพูด การกระทำ และแม้กระทั่งความคิดนี้เองที่ทำให้ท่านได้รับความรู้ในสิ่งเร้นลับ ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีมนุษย์คนใดที่จะสามารถสัมผัสถึงสารัตถะและแก่นแท้ของสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมดได้ด้วยวิถีทางปกติและด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า การรู้แจ้งเห็นจริง ความรู้ และการหยั่งถึงสิ่งเร้นลับนี้เองที่ทำให้อิมามได้รับการพิทักษ์ให้ปลอดภัยจากความผิดบาป และได้รับการชี้นำให้สามารถสัมผัสกับความจริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย
โดยหลักการทั่วไป การสำรวมตนจากความชั่วโดยวิถีแห่งการขัดเกลาจิตวิญญาณนั้นถือเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
19.หลักฐานและข้อพิสูจน์จากคัมภีร์และสุนนะฮฺนบีย์ (ศ)
หลักฐานและข้อพิสูจน์ที่สำคัญในความบริสุทธิ์ของอะฮฺลุลบัยต์ของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) ก็คือ “อายะฮฺตัฏฮีรฺ” ที่ได้สาธยายถึงภาพลักษณ์ที่สะอาดปราศจากมลทิน และฐานภาพอันสูงส่งของทายาทแห่งท่านนบีย์ (ศ) ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า
“โดยแน่นอนยิ่ง อัลลอฮฺทรงประสงค์จะขจัด “ริจญ์สฺ” (มลทินและความผิดบาป) ของพวกเจ้า อะฮฺลุลบัยต์ และทรงชำระพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์” (สูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ 33 : 33)
“ริจญ์สฺ” ในภาษาอรับ หมายถึงมลทิน และความสกปรกโสมมทั้งที่เป็นซอฮิรีย์ (ภายนอก) และบาฏินีย์ (ภายใน) ซึ่งมีนัยถึงความชั่วและความผิดบาป กุรฺอานได้ใช้คำ “ริจญ์สฺ” ทั้งสองความหมายดังกล่าว ดังที่ในโองการหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสในความหมายที่เป็นซอฮิรีย์ว่า
“ซากสัตว์และเลือดที่ไหลรินและเนื้อสุกร แท้จริงมันเป็น “นะญิส” (สิ่งโสมม)” (สูเราะฮฺอันอาม 5 : 145)
ในขณะที่พระองค์ทรงตรัสในความหมายที่เป็นบาฏินีย์ในอีกโองการหนึ่งว่า
“ส่วนพวกที่ในหัวใจมีความป่วยไข้ (พวกสับปลับกลับกลอก) อัลลอฮฺจะยิ่งสำทับ “ริจญ์สฺ” (ความโสมมของความสับปลับกลับกลอก) ให้ทับถม “ริจญ์สฺ” (เดิม) ของพวกเขา และพวกเขาตายในสภาพผู้ปฏิเสธ” (สูเราะฮฺเตาบะฮฺ 9 : 125)
ส่วนในอายะฮฺตัฏฮีรฺ ที่พระองค์ทรงประสงค์จะขจัดมลทินและความโสมมออกจากสมาชิกแห่งครอบครัวของท่านนบีย์ (ศ) นั้น ไม่อาจจะตีความให้เป็นมลทินและความโสมมซอฮิรีย์ได้ ทั้งนี้เนื่องจากตามศาสนบัญญัติแล้ว มุสลิมทุกคนจะต้องพยายามหลีกห่างออกจากความสกปรกโสมมซอฮิรีย์ (นะญิส) อยู่แล้ว มิได้จำกัดเฉพาะอะฮฺลุลบัยต์ของท่านนบีย์ (ศ) แต่อย่างใด ในขณะที่โองการนี้ได้ค้ำประกันถึงฐานภาพและเกียรติคุณของสมาชิกแห่งครอบครัวของท่านศาสดา (ศ) เป็นกรณีพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้น การหลีกเลี่ยงจากนะญิสและความสกปรกโสมมก็มิได้ถือเป็นคุณงามความดีและความประเสริฐใด ๆ ที่พระองค์จะต้องเทิดเกียรติแก่ครอบครัวของท่านเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่อาจจะตีความหมายของ “ริจญ์สฺ” ในอายะฮฺนี้เป็นอย่างอื่นได้ นอกจากมลทินและความโสมมด้านจิตวิญญาณ (บาฏินีย์) เท่านั้น
ขณะเดียวกัน เจตนารมณ์ของอัลลอฮฺที่ทรงขจัดมลทินและความผิดบาปออกจากครอบครัวของท่านศาสดา (ศ) นั้น เป็นเจตนารมณ์ตักวีนีย์ กล่าวคือพระองค์ทรงประสงค์ให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากมลทินและความผิดบาปทั้งปวง เพราะถ้าตีความว่าอัลลอฮฺทรงมีเจตนารมณ์ตัชรีอีย์แล้ว ความหมายของอายะฮฺดังกล่าวจะต้องกลายเป็นว่าพระองค์ทรงกำหนดกฎเกณฑ์และบัญญัติ (ตัชรีอฺ) ให้อะฮฺลุลบัยต์ (อ) เป็นผู้ขจัดมลทินและความผิดบาปด้วยตัวของพวกเขาเอง หรือให้พวกเขาหลีกห่างจากความโสมมและความชั่วร้ายทั้งปวง ซึ่งไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการตีความเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่กินกับสติปัญญาและห่างไกลจากข้อเท็จจริง เพราะการยับยั้งหรือละทิ้งจากความชั่วและหลีกห่างจากความโสมมทั้งหลายนั้น ถือเป็นหน้าที่ที่ผู้ศรัทธาทุกคนจะต้องปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ (ชัรฺอีย์) อยู่แล้ว ซึ่งถือว่าผู้ที่ปฏิบัติตามจะมีฐานภาพหรือความประเสริฐพิเศษอันใดที่จะทำให้ท่านนบีย์ (ศ) ต้องปฏิบัติในสิ่งที่ท่านไม่เคยปฏิบัติเช่นนั้นกับใครทั้งก่อนและหลัง ด้วยการนำอะบา (ผ้าคลุม) มาปกคลุมผู้เป็นอะฮฺลุลบัยต์ของท่าน โดยไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นใดเข้าไปอยู่ภายใต้ผ้าคลุมผืนนั้นด้วย
อายะฮฺตัฏฮีรฺซึ่งถูกประทานให้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) นี้ เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่ประจักษ์เป็นอย่างดีในหมู่เศาะหาบะฮฺ และไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยในความสะอาดบริสุทธิ์และความอิคลาศของบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในโองการนี้ พวกเขายังได้รับการขนานนามว่า “อัศหาบุนกิสาอ์” และคราใดที่อะฮฺลุลบัยต์ของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ต้องเผชิญกับวิกฤติที่จำเป็นต้องสำแดงถึงฐานภาพและเกียรติคุณทางด้านจิตวิญญาณของตน พวกเขาจะหยิบยกความเป็น “อัศหาบุนกิสาอ์” ขึ้นมาเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงฐานภาพอันสูงส่งของพวกเขาทันที
ภายหลังจากอุมัรฺได้ตายลง ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) ได้กล่าวกับกลุ่มชูรอที่อุมัรฺได้กำหนดขึ้นมาเพื่อให้เป็นผู้ทำหน้าที่เลือกเคาะลีฟะฮฺ ว่า
“นอกจากฉันและทายาทแห่งครอบครัวของฉันแล้ว มีใครอีกไหมที่อายะฮฺตัฏฮีรฺได้ประทานมายังเขา ?”
พวกเขาตอบว่า “ไม่มี”
อลีย์ (อ) จึงกล่าวว่า “อะฮฺลุลบัยต์ผู้เต็มไปด้วยเกียรติอันสูงส่ง ดังที่พระองค์ทรงตรัสในอัลกุรฺอานว่า “โดยแน่นอนยิ่ง อัลลอฮฺทรงประสงค์จะขจัด “ริจญ์สฺ” (มลทินและความผิดบาป) ของพวกเจ้า อะฮฺลุลบัยต์ และทรงชำระพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์”
ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงขจัดมลทินและความโสมมทั้งซอฮิรีย์และบาฏินีย์ให้ห่างไกลจากเรา และทรงประทานให้พวกเราสามารถดำรงอยู่บนวิถีสัจธรรมอย่างมั่นคง” (ฆอยะตุลมะรอม หน้า 295)
อิบนุอับบาส กล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้วจนะว่า “พระผู้อภิบาลทรงจำแนกมนุษย์ออกเป็นสองฝ่าย และทรงกำหนดให้ฉันเป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเขา ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า “(และช่างประเสริฐเสียนี่กระไรสำหรับ) ชนชาวขวา” (สูเราะฮฺวากิอะฮฺ 56 : 27)
“(และช่างชั่วช้าอะไรเช่นนั้นสำหรับ) ชนชาวซ้าย” (สูเราะฮฺวากิอะฮฺ 56 : 40)
“ฉันคือชนชาวขวาที่ประเสริฐสุด แล้วพระองค์ยังทรงจำแนกชนชาวขวาออกเป็น 3 กลุ่ม และทรงชำระฉันให้สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด ดังที่ทรงตรัสว่า
“และพวกเจ้าถูกจำแนกออกเป็นสามกลุ่ม คือชนผู้สัตย์จริงฝ่ายขวา (ช่างประเสริฐเสียนี่กระไรสำหรับพวกเขา) และชนผู้ละเมิดฝ่ายซ้าย (ช่างชั่วช้าอะไรเช่นนั้นสำหรับพวกเขา) และกลุ่มชนที่สามคือผู้ศรัทธาก่อนใครอื่น พวกเขาคือผู้ใกล้ชิด (พระองค์)” (สูเราะฮฺวากิอะฮฺ 56 : 7 – 11)
“และฉันคือผู้ที่ประเสริฐสุด เพราะเป็นผู้ศรัทธาคนแรก แล้วพระองค์ทรงจำแนกในระหว่างกลุ่มชนทั้งหลาย และทรงกำหนดให้ฉันเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเขา ดังที่ทรงตรัสว่า
“โอ้ มนุษย์เอ๋ย แท้จริง เราได้สร้างพวกเจ้าให้เป็นเพศชายและเพศหญิง และได้จำแนกพวกเจ้าออกเป็นเผ่าพันธุ์และตระกูลต่าง ๆ เพื่อให้พวกเจ้าได้ทำความรู้จักกัน แท้จริง ผู้มีเกียรติสูงสุดในหมู่พวกเจ้า ณ ทัศนะของอัลลอฮฺ คือผู้ที่สำรวมตนที่สุด” (สูเราะฮฺหุญุรอต 49 : 13)
“และฉันคือผู้ที่สำรวมตนที่สุด และเป็นผู้ที่มีเกียรติที่สุดในท่ามกลางทายาทของอาดัม (อ) ถึงกระนั้น ฉันจะไม่มีวันอหังการและหยิ่งทะนงอย่างแน่นอน”
“แล้วพระองค์ทรงจำแนกพวกเขาออกเป็นเหล่าตระกูลต่าง ๆ และทรงกำหนดให้ตระกูลของฉันประเสริฐที่สุดในท่ามกลางตระกูลทั้งหลาย ดังที่ทรงตรัสว่า
“โดยแน่นอนยิ่ง อัลลอฮฺทรงประสงค์จะขจัด “ริจญ์สฺ” (มลทินและความผิดบาป) ของพวกเจ้า อะฮฺลุลบัยต์ และทรงชำระพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์” (สูเราะฮฺอะหฺซาบ 33 : 33)
“ด้วยเหตุนี้ ฉันและอะฮฺลุลบัยต์ของฉันจึงได้รับการปกป้องให้บริสุทธิ์ปราศจากมลทินและความผิดบาป” (อัดดุรฺรุลมันษูรฺ สุยูฏีย์ เล่ม 5 หน้า 199)
จากหะดีษข้างต้น ท่านนบีย์ (ศ) ได้ตัฟสีรฺอายะฮฺตัฏฮีรฺถึงความเป็นมะอฺศูมของอะฮฺลุลบัยต์ (อ) เอาไว้อย่างชัดเจน
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๒๖
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
นี่คือริวายะฮฺที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนาม “หะดีษษะเกาะลัยน์” ซึ่งอุละมาอ์ทั้งสุนนีย์และชีอะฮฺได้บันทึกในตำราต่าง ๆ ด้วยสายรายงานที่หลากหลาย จากหะดีษมุตะวาติรฺบทนี้ มีสิ่งที่น่าพิจารณาอยู่หลายประเด็นด้วยกันคือ
ประการแรก ไม่เพียงแต่จริยวัตรและแบบฉบับของมะอฺศูมีน (อ) และการเชิญชวนสู่ความดีงาม และยับยั้งจากความชั่วของพวกเขาเท่านั้นที่มนุษย์ทุกคนจะต้องดำเนินรอยตามพวกเขา และการเพิกเฉยหรือฝ่าฝืนต่อแนวทางของพวกเขาจะทำให้หลงทางและประสบกับความหายนะจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ต่อเมื่อแบบฉบับของพวกเขาจะต้องไม่ผิดพลาดและฝ่าฝืนต่อแนวทางของพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาจะต้องยืนหยัดอย่างมั่นคงอยู่บนวิถีแห่งอิศมะฮฺอีกด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้ว ประชาชาติจะต้องประสบกับชะตากรรมที่เลวร้ายและต้องหลงทางอย่างแน่นอนถ้าหากต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามพวกเขา ในขณะที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้ประกาศอย่างหนักแน่นว่า การอิฏออะฮฺต่ออิตเราะฮฺของฉันจะไม่มีวันประสบกับความหายนะและจะไม่มีวันหลงทางอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาคือตัวแทนและภาพลักษณ์ของอิสลาม ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชาตินี้จะต้องยึดมั่นในวิถีและแบบฉบับของพวกเขาในการดำเนินชีวิต
ประการที่สอง ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าคัมภีร์ของอัลลอฮฺและอิตเราะฮฺของท่าน (ศ) จะไม่มีวันพรากจากกันตราบถึงวันกิยามะฮฺ และโลกนี้จะไม่มีวันว่างเว้นจากการมีอยู่ของอิมามแห่งกาลเวลาผู้เป็นมะอฺศูมเฉกเช่นที่คัมภีร์อัลกุรฺอานจะธำรงคงอยู่คู่โลกตราบถึงวันสุดท้ายเช่นกัน
ประการต่อมา ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ถือว่าอะฮฺลุลบัยต์ของท่านซึ่งดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่แตกต่างกันในทุกยุคทุกสมัย คือสถาบันแห่งความรู้ที่ทรงคุณค่าและน่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่มุสลิมทุกคนจะต้องศึกษาและแสวงหาความรู้บทบัญญัติของอัลลอฮฺจากพวกเขา
อิมามอลีย์ ริฎอ (อ) กล่าวว่า
“เมื่ออัลลอฮฺทรงเลือกสรรบุคคลใดให้ทำหน้าที่บริหารกิจการของปวงบ่าวของพระองค์ ก็จะทรงเปิดหัวอกของเขาให้กว้าง และทรงบรรจุวิทยปัญญาในหัวใจของเขา และทรงดลความรู้ของพระองค์แก่เขาอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้น ไม่มีอุปสรรคปัญหาใด ๆ ที่เกินความสามารถของเขา เขาจะไม่ประสบความสับสนที่จะเลือกสรรและจำแนกวิถีแห่งสัจธรรม เขาจะได้รับการปกป้องให้พ้นจากมลทินและความผิดบาปด้วยฐานภาพแห่งอิศมะฮฺ (ความบริสุทธิ์) เขาจะได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากพระองค์ และชัยชนะในการดำเนินตามวิถีสัจธรรมจะเป็นของเขา และความบกพร่องและผิดพลาดจะไม่แผ้วพานเขา พระองค์ทรงประทานตำแหน่งอันทรงเกียรติเพื่อให้เป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์แก่ปวงบ่าวและสิ่งที่ถูกสรรสร้างของพระองค์ พระองค์ทรงประทานเกียรติยศอันยิ่งใหญ่นี้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ เพราะอัลลอฮฺคือผู้ทรงเกริกเกียรติ เกรียงไกร” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า)
อัลลามะฮฺชัรฺฟุดดีน ได้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงกรณีดังกล่าวว่า
“ทั้ง ๆ ที่เรามีความเชื่อมั่นว่าไม่มีโองการใดจากอัลกุรฺอานจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข และคัมภีร์จากฟากฟ้าเล่มนี้จะได้รับการพิทักษ์รักษาให้ปลอดภัยจากการแก้ไขและบิดเบือน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการบันทึกและรวบรวมโองการทั้งหลายจะได้รับการเรียบเรียงตามลำดับขั้นตอนแห่งการประทานของพระองค์หรือไม่ เพราะสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า “อายะฮฺตัฏฮีรฺ” ที่ถูกประทานเกี่ยวกับ “อะฮฺลุลบัยต์” อาจจะถูกประทานลงมาเป็นกรณีเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับโองการอื่น ๆ เลยก็ได้ แต่ในขณะที่มีการบันทึกและรวบรวมโองการต่าง ๆ จากอัลกุรฺอาน อาจจะเกิดความผิดพลาด หรือมีเจตนาที่จะนำโองการนี้ไปสอดแทรกอยู่ในท่ามกลางโองการที่เกี่ยวข้องกับเหล่าภรรยาของท่านนบีย์ (ศ) ก็ได้” (กะลิมะตุลฆุรออ์ หน้า 213)
20. อิมาม กับความรู้ที่ครอบคลุมสารัตถะอิสลาม อิมาม คือผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความดีงามและความจำเริญซึ่งมีความรู้ความปราดเปรื่องถึงความต้องการของประชาชาติในทุก ๆ มิติ และยังรอบรู้ถึงสาเหตุแห่งความไพบูลย์และความจำเริญในการดำเนินชีวิตทั้งสองโลกของมนุษย์ และยังเป็นผู้ที่มีบทบาทที่จะเสริมสร้างความผาสุกและความโชคดีทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณของประชาชาติอีกด้วย และยังมีความเข้าใจวิธีการต่าง ๆ ที่จะบริหารกิจการของประชาชน ตลอดจนการชี้นำพวกเขา
ความรู้ความเข้าใจต่อสารัตถะอิสลามในทุก ๆ สาขาวิชาการ และการสามารถสัมผัสนัยและความหมายของภาษาแห่งคัมภีร์อัลกุรฺอานได้อย่างลึกซึ้งและถ่องแท้นั้น เกิดจากความปราดเปรื่องและความเป็นอัจฉริยะของอิมาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ฐานภาพของอิมาม ก็คือฐานภาพของท่านนบีย์ (ศ) นั่นเอง และความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนคุณสมบัติและคุณงามความดีทั้งหลาย คือการสำแดงภาพลักษณ์จากท่านเราะสูลนั่นเอง และคุณสมบัติอันเลอเลิศเหล่านี้ล้วนเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ซึ่งจะทรงประทานแก่ปวงบ่าวที่มีคุณสมบัติครบสมบูรณ์เท่านั้น
ผู้นำที่มีความรอบรู้อย่างลึกซึ้งในสัจธรรมและนัยแห่งบทบัญญัติ และความรู้ในสารัตถะอิสลามของอิมามนั้น เป็นความรู้ที่เกิดจากความเข้าใจและความเชื่อมั่นอย่างแท้จริง มิใช่เกิดจากการวินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) หรือตั้งข้อสันนิษฐาน หรือจินตนาการแบบเดาสุ่ม หรือความไม่ประสีประสาในหลักธรรมคำสอนอิสลามแต่อย่างใด เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่บุคคลที่ได้รับการเลือกสรรจากพระผู้อภิบาลให้ทำหน้าที่ชี้นำประชาชาติจะเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในบทบัญญัติและหลักธรรมคำสอนของพระองค์ ?
มนุษย์ผู้บริสุทธิ์ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิทักษ์ขุมคลังแห่งความรู้ของพระผู้เป็นเจ้าและรับผิดชอบต่อประชาชนนั้น จะต้องตระเตรียมสภาพแวดล้อมทางสังคมให้สอดคล้องกับภารกิจที่จะชี้นำและสั่งสอนผู้คนให้ไปสู่ความจำเริญ และทำให้พวกเขาสามารถก้าวไปสู่วิถีทางที่สมบูรณ์และเที่ยงตรงได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ เขาจะต้องพิทักษ์หลักความเชื่อและผลประโยชน์ทางสังคมของอุมมะฮฺอีกด้วย เพราะความหมายหรือนัยของความโปรดปรานอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระผู้อภิบาลก็คือพระองค์จะไม่มีวันปล่อยให้มนุษยชาติต้องระหนโดยปราศจากผู้ชี้นำ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำทั้งทางศาสนาและทางโลก ผู้มีฐานะเป็นศูนย์รวมแห่งความคิดและจิตวิญญาณของประชาชนจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติสูงส่ง มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญทั้งหลักการอิสลามและความต้องการของประชาชน และวิถีทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายและเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้านั้นจะต้องเปิดกว้างสำหรับเขาเสมอ เพื่อให้เขาสามารถนำพาประชาคมไปสู่เป้าหมายแห่งสัจธรรมและความสมบูรณ์อย่างแท้จริง ในสภาพเช่นนี้ เมื่อกุญแจเพื่อไขอุปสรรคปัญหาอยู่ในกรรมสิทธิ์ของพวกเขาแล้ว
ย่อมไม่มีหนทางใด ๆ ที่พวกเขาจะนำมาเป็นข้ออ้างและข้อแก้ตัวได้อีกต่อไป เพราะคุณูปการที่กล่าวมาทั้งหมด ตลอดจนขอบเขตอันกว้างไกลของมันปรากฏในจริยวัตรและถ้อยวจีหลายพันบทของบรรดาอิมามอย่างชัดเจน
บทบาททางด้านวิชาการของอิมามมะอฺศูม (อ) ในการให้คำตอบทางศาสนา ขจัดข้อเคลือบแคลงสงสัย ความคิดที่บิดเบือนเฉไฉไปสู่การปฏิเสธ การสาธยายสัจธรรม ทั้งด้วยวิธีอธิปราย สนทนา การถกเถียงทางวิชาการ และการสัมมนาในประเด็นหรือหัวข้อต่าง ๆ ล้วนสำแดงให้ประจักษ์ถึงความรู้ความเข้าใจและความปราดเปรื่องเกี่ยวกับทฤษฏีและแนวคิดอิสลามอันล้ำลึกและกว้างไกลของเขาทั้งสิ้น
เป็นที่ชัดเจนว่า บุคคลที่เปล่งประกายรัศมีในด้านความรู้ความเข้าใจที่เหนือกว่า มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่า มีสติปัญญาที่เลอเลศกว่า มีความคิดที่ล้ำลึกและละเอียดรอบคอบกว่า ที่เหนือสิ่งอื่นใด คือความเป็นอิศมะฮฺ (บริสุทธิ์) ย่อมจะเป็นผู้ที่มีฐานะภาพและเกียรติคุณที่เหมาะสมและคู่ควรต่อการอิฏออะฮฺมากกว่าคนอื่น ๆ อย่างแน่นอน
ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่มีความรู้ในอิสลามอย่างจำกัดจำเขี่ย โอกาสที่จะตัดสินผิดพลาดหรือฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งคัมภีร์กุรอานย่อมจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่มีหลักค้ำประกันว่าคำพูดและการกระทำของเขาจะสอดคล้องกับบทบัญญัติและคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้ เมื่อประชาชนต้องอิฏออะฮฺต่อผู้นำประเภทนี้ โอกาสที่จะผิดพลาดและกลายเป็นผู้ที่ขัดแย้งและฝ่าฝืนต่อคัมภีร์อัลกุรอานย่อมเป็นไปได้อย่างสูง (อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง) เพราะความรู้ความเข้าใจของเขาไม่อาจจะสร้างความมั่นใจ และเต็มไปด้วยข้อเคลือบแคลงสงสัยเสมอ และไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการดำเนินชีวิตที่เต็มไปด้วยการคาดเดา ย่อมจะประสบความผิดพลาดและทำให้หันเหออกจากวิถีทางของอัลกุรฺอานได้อย่างง่ายดาย ถึงแม้จะปราศจากเจตนาก็ตาม
อิมามศอดิก (อ) กล่าวว่า “อัลลอฮฺทรงบันดาลให้ศาสนาของพระองค์มีความสว่างไสวด้วยรัศมีอันเจิดจำรัสของอะหฺลุลบัยต์ (อ) และทรงสำแดงแหล่งกำเนิดของความรู้และการรู้จักพระองค์ด้วยสื่อและภาพลักษณ์ของพวกเขา ผู้ใดที่สัมผัสถึงสัจธรรมแห่งความเป็นอิมาม เขาจะได้ลิ้มรสชาติอันหวานชื่นของความศรัทธาและจะได้รับคุณูปการที่สูงส่ง และภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ของอิสลาม ปราศจากข้อบกพร่องใด ๆ เพราะพระองค์ทรงบันดาลให้อิมามเป็นธงชัยชี้นำ และเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์สำหรับประชาชาติ พระองค์ทรงบรรจงสวมมงกุฎที่เจิดจรัสด้วยรัศมีบนศีรษะของเขา อิมามคือฐานภาพที่อยู่ภายใต้รัศมีแห่งสัจธรรม และได้รับหลักค้ำประกันด้วยสัจธรรมจากฟากฟ้า ความรอบรู้ของเขาจะไม่มีวันสิ้นสุด ไม่มีใครจะสามารถสัมผัสถึงความกรุณาและความโปรดปรานของอัลลอฮฺ นอกจากด้วยสื่อและภาพลักษณ์ของอิมาม
อัลลอฮฺจะไม่ทรงรับการรู้จักของปวงบ่าว นอกจากพวกเขาจะรู้จักอิมาม อิมามสามารถรู้จักและสัมผัสสัจธรรมแห่งวิวรณ์และสุนนะฮฺที่สลับซับซ้อน พระองค์จะทรงเลือกสรรผู้ชี้นำประชาชาติจากทายาทของหุสัยน์ (อ) เสมอ” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 203)
มีบันทึกในหลักคำสอนอิสลามว่าความรู้ที่บรรดาศาสดาทั้งหลายได้รับมานั้น จะเป็นมรดกตกทอดมาถึงท่านศาสดาสุดท้าย (ศ) และอิมามมะอฺศูมีน (อ) เช่นเดียวกัน
อิมามบากิรฺ (อ) กล่าวว่า “ แท้จริงอัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงรอบรู้ ทั้งที่เป็นความรู้เฉพาะและความรู้ทั่วไป สำหรับความรู้เฉพาะของพระองค์นั้น ไม่มีใครสามารถที่จะล่วงรู้แม้กระทั่งอัมบิยาอ์และมวลมลาอิกะฮฺผู้ใกล้ชิดของพระองค์ แต่ทว่าพวกเขาสามารถสัมผัสความรู้ทั่วไปของพระองค์ ในขณะที่เราจะสัมผัสความรู้เหล่านั้นจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (บิหารุลอันวารฺ เล่ม 26 หน้า 160)
อิมามมูสา กาซิม (อ) กล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ สัจธรรมที่ถูกประทานมายังเรานั้น ยังไม่เคยถูกประทานทั้งแก่ศาสดาสุลัยมาน และศาสดาอื่นใดในประชาชาติทั้งหลาย พระองค์ทรงตรัสถึงเรื่องราวของศาสดาสุลัยมาน ว่า “จงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความโปรดปรานของเรา (ด้วยการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่น และจงพิทักษ์รักษาเพื่อตัวเจ้า) ซึ่งเจ้าจะไม่ถูกสอบสวนด้วยสาเหตุแห่งความโปรดปรานนั้น” (บิหารุลอันวารฺ เล่ม 26 หน้า 159)
อิมามศอดิก (อ) กล่าวว่า “ผู้ที่มีความรู้ในคัมภีร์ คืออมีรุลมุอฺมินีน อลีย์ (อ) ดังที่ท่านได้กล่าวว่า “พึงสังวรเถิดว่า ความรู้จากฟากฟ้าที่ถูกประทานผ่านศาสดาอาดัม (อ) สู่พื้นดิน และความประเสริฐหรือความจำเริญทั้งหลายที่ถูกประทานแก่อัมบิยาอ์จนถึงคอตุมุนอัมบิยาอ์ (ศาสดาสุดท้าย) นั้น ล้วนถูกรวมอยู่ในลูกหลานผู้เป็นทายาท (อิตเราะฮฺ) ของคอตะมุนนบียีนทั้งสิ้น" ( บิหารุลอันวารฺ เล่ม 26 หน้า 160)
ท่าน (อ) ยังกล่าวอีกว่า “อาตมันอันบริสุทธิ์ (ซาตุลอักดัส) ของอัลลอฮฺเต็มไปด้วยความรู้สองชนิด คือความรู้เฉพาะซึ่งไม่มีมนุษย์คนใดจะสามารถล่วงรู้และสัมผัสได้ กับความรู้ซึ่งมวลมลาอิกะฮฺและอัมบิยาอ์ทั้งหลายได้รับการถ่ายทอดจากพระองค์ และพระองค์ทรงประทานความรู้ชนิดนี้แก่เราด้วยเช่นกัน” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 255)
อิมามมุหัมมัด บากิรฺ (อ) กล่าวว่า “ความรู้ที่ถูกประทานแก่อาดัม อุบุลบะชัรฺ (อาดัม บิดาแห่งมนุษยชาติ) นั้น จะไม่มีวันสูญสลาย แต่ทว่า มันจะได้รับการถ่ายทอดผ่านมือหนึ่งไปสู่มือหนึ่ง อลีย์ (อ) คืออาลิม (ผู้รู้) ในศาสนาและบทบัญญัติของอัลลอฮฺ และไม่มีอาลิมจากพวกเราคนใดจะจากโลกนี้ไป นอกจากเขาจะต้องแต่งตั้งตัวแทนจากทายาทของตนให้เป็นผู้สืบทอดมรดกแห่งความรู้ของเขา หรือในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้เขารู้” ( อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 222)
ท่าน (อ) ยังได้กล่าวอีกว่า “เราคือขุมคลังแห่งความรู้ของอัลลอฮฺ เพียงแต่มิใช่ขุมคลังที่เต็มไปด้วยทองคำและเงิน แต่ทว่าคือขุมคลังแห่งความรู้ของอัลลอฮฺ” (ฆอยะตุลมะรอม หน้า 514)
อมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “ อัลลอฮฺจะไม่ทรงปล่อยให้แผ่นดินว่างเว้นจากหุจญะฮฺ (หลักฐานและข้อพิสูจน์) ของพระองค์ เพื่อให้เขายืนหยัดพิทักษ์สัจธรรม ไม่ว่าเขาจะปรากฏอยู่ในท่ามกลางประชาชน หรือซ่อนเร้นจากการมองเห็นของพวกเขาก็ตาม ทั้งนี้เพื่อมิให้หุจญะฮฺของพระองค์ต้องสิ้นสุดและเป็นโมฆะ แล้วใครคือหุจญะฮฺของพระองค์ และพวกเขาอยู่ที่ไหน ?
ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ! เมื่อพิจารณาถึงปริมาณแล้ว พวกเขามีเพียงน้อยนิดเท่านั้น แต่ทว่าในทัศนะของอัลลอฮฺแล้ว พวกเขามีฐานภาพและเกียรติคุณที่สูงยิ่ง พระองค์ทรงพิทักษ์รักษาบัยยินาต (หลักฐานอันชัดแจ้ง) เพื่อให้พวกเขาได้มอบหมายให้เป็นมรดก ผู้ที่มีคุณสมบัติเฉกเช่นเดียวกัน ให้เป็นของฝากแก่ทายาทผู้มีคุณสมบัติ ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขาได้มอบขุมคลังแห่งความรู้ของพวกเขา ให้ทายาทได้ประจักษ์แจ้งถึงสัจธรรม และสร้างความเชื่อมั่นแก่จิตวิญญาณ สิ่งที่เป็นความยากลำบากสำหรับ ... แต่เป็นความง่ายดายสำหรับพวกเขา สัจธรรมเป็นที่คุ้นเคยสำหรับพวกเขา แต่เป็นสิ่งแปลกหน้าสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ พวกเขาจะเป็นมิตรสนิทกับผู้ที่จะยกระดับจิตวิญญาณของพวกเขาให้สู่ฐานภาพที่สูงส่ง พวกเขาคือเคาะลีฟะฮฺของอัลลอฮฺบนหน้าแผ่นดิน ซึ่งจะชี้นำมนุษยชาติให้ไปสู่ศาสนาของพระองค์ (มะนากิบคอรัซมีย์ หน้า 390 - และใน “มุอฺญะมุลฟิฮฺริส นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ" หน้า 1407 ยังได้อ้างอิงจากแหล่งอ้างอิง 13 แหล่ง)
เมื่อครั้งที่อลีย์ (อ) ยังมีชีวิต เขาได้ช่วยขจัดปัดเป่าอุปสรรคปัญหาทางศาสนาให้แก่เคาะลีฟะฮฺทั้งสาม อลีย์ (อ) คือศูนย์รวมแห่งการแก้ไขวิกฤติทั้งหลายที่พวกเขาไม่สามารถจะขจัดปัดเป่ามันได้ แต่ไม่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์อิสลามว่าอิมามอลีย์ (อ) ต้องไปวอนขอความช่วยเหลือให้เศาะหาบะฮฺคนใดช่วยสำแดงทัศนะอิสลามเพื่อให้เขาได้เข้าใจในบทบัญญัติของอัลลอฮฺ และให้ความรู้และเจ้าใจถึงวิธีขจัดอุปสรรคปัญหาที่ถาโถมเข้ามา
รายงานจากสะอีด อิบนุมุสัยยับ กล่าวว่า “ประโยคที่ว่า :- “พวกท่านจงถามฉันเถิด ก่อนที่ฉันจะจากพวกท่านไป” ไม่มีใครที่จะกล้ากล่าวมัน นอกจากอลีย์ อิบนุอบีฏอลิบ (อ) เท่านั้น” (กันซุลอุมมาล เล่ม 15 หน้า 113)
ดังนั้น บุคคลผู้รับภารกิจในการบริหารและเป็นผู้ปกครองรัฐอิสลามจะเป็นเสาหลักและบรรทัดฐานในการสำแดงความรู้และโลกทัศน์เกี่ยวกับบทบัญญัติอิสลามแก่ประชาชาติ ดังที่อัลกุรอานได้ตรัสว่า
“จงกล่าวเถิด ผู้ที่ชี้นำสู่สัจธรรม คู่ควรจะได้รับการเชื่อฟังปฏิบัติตาม หรือผู้ที่ไม่พบทางนำนอกจากเขาจะถูกชี้นำ ? ดังนั้น พวกท่านจะตัดสินกันเช่นไร ? (สูเราะฮฺยูนุส 10 : 35)
โองการข้างต้นได้มอบหมายให้จิตใต้สำนึกของผู้คนได้ตัดสินว่า เขาสมควรจะเลือกอยู่กับฝ่ายใด ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า จิตใต้สำนึกของมนุษย์ทุกคนจะต้องตัดสินชี้ขาดว่าผู้ที่คู่ควรต่อการเชื่อฟังและปฏิบัติตามนั้นจะต้องรู้จักวิถีทาง สามารถจำแนกสัจธรรมออกจากโมฆะ และสามารถชี้นำประชาคมไปสู่วิถีทางดังกล่าว ส่วนผู้ที่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นในการจำแนกสัจธรรม และต้องให้ผู้อื่นชี้นำเขานั้น ย่อมไม่มีความเหมาะสมและคู่ควรต่อการอิฏออะฮฺด้วยประการทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ นอกจากผู้นำหรือผู้ปกครองที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นในการชี้นำเพื่อให้รู้จักกับสัจธรรม และวิธีแก้ปัญหาของประชาคมมุสลิมแล้ว ย่อมไม่มีใครที่จะคู่ควรต่อการอิฏออะฮฺหรือเชื่อฟังปฏิบัติตามได้เลย
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๒๗
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
ครั้งหนึ่ง “บุร็อยด์” บาทหลวงชาวคริสเตียน กับ “ฮิชาม อิบนุหะกัม” ได้เดินทางเพื่อจะไปพบอิมามญะฮฺฟัรฺ ศอดิก (อ) ในระหว่างทาง ทั้งสองได้พบกับอิมามมูสา อิบนุญะอฺฟัรฺ (อ) ท่าน (อ) จึงถามบุร็อยด์ว่า
“ท่านมีความเข้าใจในคัมภีร์อินญีลของท่านอย่างไร ?” เขาจึงตอบว่า “ไม่มีใครจะมีความรู้ความเข้าใจเทียบเท่าฉัน”
อิมามมูสา (อ) จึงกล่าวว่า “ท่านจะเชื่อได้อย่างไรว่าการตีความ (ตะอ์วีล) และอรรถาธิบาย (ตัฟสีรฺ) คัมภีร์ของท่านว่าถูกต้อง ?
เขาได้ตอบว่า “ฉันมีความเชื่อมั่นในความรู้และความเข้าใจของฉันอย่างเต็มเปี่ยม”
อิมามมูสา กาซิม (อ) จึงได้อ่านโองการจากคัมภีร์อินญีล ทำให้เขามีความประหลาดใจเป็นอย่างมาก ในที่สุด เชาได้กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ฉันได้เพียรพยายามเสาะแสวงหาบุคคลเฉกเช่นท่าน” และแล้วเขาได้กล่าวปฏิญาณเข้ารับอิสลาม ภรรยาที่ร่วมเดินทางไปกับเขาก็ได้ศรัทธาต่ออิสลามเช่นกัน
เมื่อฮิชาม, บุร็อยด์ และภรรยาของเขาได้เข้าพบท่านอิมามศอดิก (อ) แล้ว ฮิชามได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้อิมามฟัง ท่านอิมาม (อ) จึงอ่านโองการ :-
“เป็นเผ่าพันธุ์ที่สืบเชื้อสายซึ่งกันและกัน และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้”(สูเราะฮฺอาลิอิมรอน 3 : 34) ซึ่งบ่งชี้ถึงฐานภาพและเกียรติคุณของมูสา อิบนุญะอฺฟัรฺ (อ)
“บุร็อยด์” จึงถามอิมามศอดิก (อ) ว่า “ท่านมีความรู้ความเข้าใจในคัมภีร์เตารอต, อินญีล และคัมภีร์อื่น ๆ อย่างไรบ้าง ? อิมาม (อ) จึงตอบว่า “มันคือมรดกแห่งความรู้ที่ตกทอดมาถึงเรา เราจะอ่านคัมภีร์เหล่านี้ประดุจดังที่ศาสนิกชนเหล่านั้นได้อ่านมัน และเราจะออกเสียงเช่นเดียวกับที่พวกเขาได้ออกเสียง อัลลอฮฺจะไม่ทรงประทานหุจญะฮฺบนหน้าแผ่นดินของพระองค์ที่ตอบคำถามของผู้ถามว่า “ฉันไม่รู้” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 225)
“เนาฟิลีย์” กล่าวว่า หลังจากอิมามริฎอ (อ) เดินทางเข้าสู่รัฐคุรอซานแล้ว มะอ์มูน อับบาสีย์ ได้บัญชาให้เชิญผู้นำศาสนาและหัวหน้าสำนักคิดทั้งหลาย เช่น บาทหลวง บิช็อฟ (Bishop) คริสเตียน นักปราชญ์ชาวยิว ผู้อาวุโสของพวกบูชาดวงดาว กลุ่มชนที่ไม่ศรัทธาในหลักคำสอนจากฟากฟ้า ผู้พิพากษาของศาสนาโซโรแอสเตอร์ หมอชาวโรมัน ตลอดจนนักวิภาษวิทยาที่มีความปราดเปรื่องและเชี่ยวชาญในวิชาวิภาษวิธี (มุตะกัลลีมีน) ให้เข้าร่วมถกเถียงทางวิชาการ โดยได้ส่งสาสน์ไปถึงอิมามว่า ถ้าหากมีความประสงค์จะเข้าร่วมสนทนาทางวิชาการในครั้งนี้ ก็ขอให้.....อิมาม (อ) จึงได้ตอบรับคำเชิญนั้น และได้ถามฉัน (เนาฟิลีย์) ว่า
“มะอ์มูนมีเป้าหมายอะไรในการเชิญผู้นำศาสนามาร่วมสนทนาในครั้งนี้ ?
ฉันจึงตอบว่า “เขาต้องการจะทดสอบและวัดระดับความรู้ของท่าน”
อิมามจึงกล่าวว่า “เจ้าหวั่นเกรงว่าพวกเขาจะพิชิตชัยชนะเหนือฉันกระนั้นหรือ ?”
ฉันจึงตอบว่า “หามิได้ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ! ฉันไม่เคยหวั่นกลัวเช่นนั้น ฉันหวังและมีความเชื่อมั่นว่าอัลลอฮฺจะทรงสนับสนุนให้ท่านสามารถพิชิตชัยชนะเหนือพวกเขาอย่างแน่นอน”
อิมามจึงถามต่อไปว่า “เจ้าต้องการทราบไหมว่ามะอ์มูนจะประสบกับความผิดหวังเมื่อไร ?
ฉันจึงตอบว่า “แน่นอน”
อิมาม (อ) จึงกล่าวว่า “เมื่อฉันได้ยกหลักฐานและข้อพิสูจน์ด้วยภาษาของศาสนิกชนที่ศรัทธาในคัมภีร์เตารอต และกับผู้ที่เจริญรอยตามอินญีล ด้วยภาษาแห่งคัมภีร์อินญีล และกับชาวซะบูรฺ ด้วยภาษาแห่งคัมภีร์ซะบูรฺ และด้วยภาษาฮิบรูกับชาวฮิบรู (ยิว) และด้วยภาษาฟารฺซีย์ (เปอร์เซีย) กับผู้ที่ศรัทธาใน “ฮัรฺบะซาน” และด้วยภาษาโรมันกับชาวโรมัน และด้วยภาษา... กับ.... หลังจากนั้น ฉันจะใช้หลักฐานและข้อพิสูจน์ พิชิตชัยชนะเหนือพวกเขาทั้งหมด และจะทำให้หลักฐานและข้อพิสูจน์ของพวกเขาเป็นโมฆะ และทำให้พวกเขากลับไปสู่มัซฮับของตน และให้พวกเขาจำนนในคำพูดของฉัน เมื่อนั้น มะอ์มูนจะประจักษ์ว่าสิ่งที่เขายึดถือนั้นล้วนเป็นสิ่งโมฆะทั้งสิ้น”
เมื่อกำหนดวันนัดหมายได้มาถึง นักปราชญ์หัวหน้าชาวยิวได้เริ่มกล่าวขึ้นก่อนว่า
“เราจะไม่ยอมรับหลักฐานและข้อพิสูจน์ของท่าน นอกจากที่มาจากคัมภีร์ “เตารอต” ของมูสา (อ) “อินญีล” ของอีสา (อ) “ซะบูรฺ” ของดาวูด (อ) และ “ศุหุฟ” ของอิบรอฮีม (อ) เท่านั้น”
อิมาม (อ) ได้ตอบรับข้อเสนอของเขา และได้เริ่มพิสูจน์ถึงความเป็นศาสดาสุดท้ายของศาสดาแห่งอิสลาม (ศ) ด้วยหลักฐานที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนจากคัมภีร์ของพวกเขาเอง จนไม่หลงเหลือร่องรอยและข้อเคลือบแคลงสงสัยให้พวกเขาได้หยิบยกขึ้นมาคัดค้านแต่อย่างใด ในที่สุด นักปราชญ์ชาวยิวจึงต้องจำนนต่อสัจธรรมที่ท่าน (อ) ได้นำมาสำแดงเป็นคนแรก
หลังจากนั้น อิมามได้ถกกับผู้นำศาสนาคนอื่น ๆ ด้วยหัวข้อและประเด็นที่หลากหลาย ซึ่งได้สร้างความมหัศจรรย์ใจแก่พวกเขา
ในที่สุด อิมามได้กล่าวว่า “หากพวกท่านยังมีคำถามหรือข้อสงสัยใด ๆ ได้โปรดนำเสนอเถิด”
“อิมรอน ศอบีย์” ผู้มีความเชี่ยวชาญในอิลมุลกะลาม (วิภาษวิธีวิทยา) อย่างไม่มีใครสามารถเทียบเทียมได้ จึงกล่าวขึ้นว่า “ฉันได้เดินทางไปยังบัศเราะฮฺ กูฟะฮฺ ชาม ตลอดจนคาบสมุทรอาหรับ และได้ร่วมสนทนากับนักวิภาษวิธีชั้นแนวหน้าของพวกเขา แต่ไม่มีใครที่สามารถพิสูจน์ถึงความเป็นเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าให้เป็นที่ประจักษ์แก่ฉันได้แม้แต่คนเดียว”
อิมาม (อ) จึงได้เสนอหลักฐานเพื่อพิสูจน์ถึงความเป็นหนึ่งเดียวของพระผู้เป็นเจ้าด้วยหลักฐานและข้อพิสูจน์ที่เต็มไปด้วยตรรกะที่ชัดเจนอย่างรอบด้าน ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับอิมรอน ในที่สุด เขาจึงกล่าวว่า “ฉันขอปฏิญาณว่า พระผู้เป็นเจ้า เป็นดั่งที่ท่านได้สาธยายมา และมุหัมมัด (ศ) คือบ่าวของพระองค์ และท่าน (ศ) ได้รับการแต่งตั้งให้ชี้นำมนุษยชาติสืบต่อจากเขา”
หลังจากนั้น เขาได้ผินหน้าไปทางกิบละฮฺพร้อมกับก้มลงสัจญ์ดะฮฺ และกล่าวปฏิญาณตนยอมจำนนต่ออิสลาม
เมื่อการสนทนาได้สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ มะอ์มูนได้เดินออกจากที่ประชุมพร้อมกับอิมามริฏอ (อ) และประชาชนต่างแยกย้ายกันกลับ (อิษบาตุลฮุดา เล่ม 6 หน้า 45 – 49 และ “เตาหี๊ดเศาะดู๊ก” หน้า 427 – 429 หมายเหตุ :- รายละเอียดของคำสนทนาดังกล่าวถูกบันทึกอยู่ในหนังสือ “เตาหี๊ดเศาะดู๊ก” ของชัยค์เศาะดู๊ก)
อมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “จงเกรงกลัวอัลลอฮฺ และจงเชื่อฟังปฏิบัติตามอิมามของพวกท่าน เพราะสังคมในอุดมคติที่ประกอบด้วยกัลยาณชนจะได้รับการปลดปล่อยด้วยสื่อแห่งอิมามที่ทรงความยุติธรรม แต่สังคมที่เต็มไปด้วยคนพาลสันดานชั่ว จะประสบกับความหายนะและหลงทางเพราะการมีอิมามที่เป็นทุจริตชน” (บิหารุลอันวารฺ เล่ม 8 )
กล่าวโดยสรุปก็คือ ฐานภาพและคุณสมบัติของอิมามจะมีอิทธิพลโดยตรงต่อชะตากรรมของประชาชาติ ความไพบูลย์หรือความโชคร้ายของอุมมะฮฺขึ้นอยู่กับผู้นำ กล่าวคือ อิมามผู้ทรงความยุติธรรม จะช่วยฉุดรั้งประชาชาติให้ปลอดภัย ในขณะที่ผู้นำที่มีความทุจริตและฉ้อฉลจะชี้นำผู้คนไปสู่ความย่อยยับอัปราชัย
21 ความรู้ของอิมามได้มาจากแหล่งใดบ้าง ? แหล่งความรู้แรกที่ทรงคุณค่าและล้ำเลิศที่สุดที่บรรดาอิมามได้รับก็คือการติดต่อสัมพันธ์กับโลกแห่งความเร้นลับและการดลใจ (อิลฮาม)
แหล่งความรู้ที่สองคือคัมภีร์อัลกุรฺอาน ซึ่งเป็นขุมคลังความรู้ที่ทรงพลังที่บรรดาอะอิมมะฮฺ มะอฺศูมีน (อ) ได้อาศัยและตักตวง ซึ่งถือเป็นต้นลำธารอันบริสุทธิ์ในการทำความรู้จักอิสลามที่พวกเขาสามารถใช้ในการวินิจฉัยบทบัญญัติและปัญหาที่หลากหลายในอิสลาม และสารัตถะทางวิชาการจากความหมายหรือนัยที่ซ่อนเร้นอย่างล้ำลึกอยู่ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ
แหล่งความรู้ที่สามคือคัมภีร์และหนังสือหรือบันทึก (เศาะหี๊ฟะฮฺ) ต่าง ๆ ของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ที่เป็นมรดกตกทอดถึงอิมามมะอฺศูมีน (อ) ทุกคน ซึ่งได้ช่วยสนับสนุนให้พวกเขาสามารถรู้จักอิสลามได้อย่างกว้างขวางและล้ำลึก และยกระดับความรู้ของพวกเขาให้สู่ขั้นสูงสุด
หะดีษและริวายะฮฺมากมายที่กล่าวว่าวิทยาการทั้งสามแหล่งคือจุดกำเนิดของความรู้ของพวกเขา ซึ่งในที่นี้เราจะขอนำเสนอเพียงบางส่วน
อิมามศอดิก (อ) กล่าวว่า “ศาสดาดาวูด (อ) ได้รับมรดกความรู้จากศาสดาก่อนหน้าท่าน และมันได้ตกทอดถึงศาสดาสุลัยมาน (อ) ผู้เป็นทายาทของท่าน หลังจากนั้น มันได้สืบทอดต่อ ๆ กันมาตราบจนกระทั่งถึงท่านศาสดามุหัมมัด (ศ) และเราได้รับมรดกเหล่านั้นสืบต่อจากท่าน (ศ) นอกจากนี้ ศุหุฟของอิบรอฮีม (อ) และเตารอตของมูสา (อ) ก็เป็นมรดกตกทอดและถูกเก็บรักษา ณ ที่เราเช่นกัน”
เมื่ออิมามศอดิก (อ) กล่าวถึงตรงนี้ ทำให้อบูบะศีรฺ ซึ่งอยู ณ ที่นั้นด้วย ได้กล่าวด้วยความมหัศจรรย์ใจว่า
“ช่างเป็นความรู้ที่มากมายอะไรเช่นนั้น”
อิมาม (อ) จึงกล่าวว่า “โอ้ อบามุหัมมัด ! ความรู้ดังกล่าวหาได้มีคุณค่าที่แท้จริงไม่ เพราะความรู้ที่ทรงคุณค่าและยังคุณประโยชน์อย่างแท้จริงนั้น คือการดลใจ (อิลฮาม) ที่พระองค์ทรงดลถึงเราโดยตรงทุกทิวาราตรีกาลตลอดทุกชั่วโมง” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 225)
อิมามอลีย์ อิบนุมูสา อัรฺริฎอ (อ) กล่าวว่า “เมื่ออัลลอฮฺทรงประสงค์ก็จะเลือกสรรมนุษย์คนหนึ่งเป็นผู้นำเพื่อทำหน้าที่บริหารกิจการของประชาชน พระองค์จะทรงเปิดหัวอกของเขาให้กว้าง เพื่อบรรจุวิทยปัญญาในขุมคลังความรู้แห่งหัวใจของเขา และทรงสาธยายความรู้ของพระองค์โดยวิธีดลใจ (อิลฮาม) ดังนั้น ไม่มีอุปสรรคใดที่เกินความสามารถของเขา เขาสามารถรู้จักวิถีทางที่เที่ยงธรรมเป็นอย่างดี และนี่คือคุณสมบัติของผู้เป็นมะอฺศูม ซึ่งพระผู้อภิบาลทรงประทานความโปรดปรานและสนับสนุนด้วยซาต (อาตมัน) ของพระองค์ ความผิดพลาดและการฝ่าฝืนต่อบัญชาของพระองค์จะไม่เกิดขึ้นกับพวกเขา” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 202)
ครั้งหนึ่ง “หะสัน อิบนุอับบาส” ได้เขียนจดหมายถามอิมามริฎอ (อ) ว่า ”ตำแหน่งเราะสูล นบีย์ และอิมาม มีความแตกต่างอย่างไร ?
อิมาม (อ) ได้ตอบว่า “เราะสูล คือบุคคลที่ญิบรีลลงมายังเขา และเขาสามารถเห็นและได้ยินคำพูดของญิบรีล และติดต่อสัมพันธ์กับวิวรณ์ (วะหฺยุ) ของพระองค์ บางครั้งเขาจะได้รับวิวรณ์โดยผ่านความฝัน ดังเช่นการฝันของอิบรอฮีม (อ) ในขณะที่นบีย์จะได้ยินคำพูดของมลาอิกะฮฺ แต่บางครั้งเขาเพียงแต่มองเห็นโดยไม่สามารถได้ยินเสียง ส่วนอิมาม เพียงแต่ได้ยินเสียงญิบรีลโดยไม่สามารถมองเห็น“ (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 176)
อิมามมูสา อิบนุญะอฺฟัรฺ (อ) กล่าวว่า “ความรู้ของเราครอบคลุมกาลเวลาทั้งสามคือ ความรู้ในอดีตกาล อนาคตกาล และปัจจุบันกาล ความรู้เกี่ยวกับอดีตกาลได้ถูกอรรถาธิบาย (ตัฟสีรฺ) อย่างพร้อมสรรพสำหรับเรา และความรู้เกี่ยวกับอนาคตกาลได้ถูกบันทึกไว้อย่างพร้อมสรรพสำหรับเราเช่นกัน ส่วนความรู้ที่เกี่ยวกับปัจจุบันกาลและปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่จะอุบัติขึ้นมานั้นจะถูกดลสู่ดวงใจและการรับฟังของเรา มันคือความรู้ที่ประเสริฐที่สุดสำหรับเรา เพียงแต่ภายหลังจากมุหัมมัด (ศ) จะไม่มีศาสดาถูกประทานลงมาอีกแล้ว” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 264)
ดังนั้น ความโปรดปรานทางจิตวิญญาณที่อัลลอฮฺทรงประทานผ่านอิมามมะอฺศูมีน (อ) นั้นจะคงดำเนินต่อไป และการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างสิ่งถูกสร้างกับผู้ทรงสร้างจะไม่สิ้นสุดเพียงเพราะการจากไปของศาสดา (อ)
อะอิมมะฮฺ มะอฺศูมีน (อ) จะอาศัยและตักตวงความรู้อันไมมีวันสิ้นสุดจากคัมภีร์อัลกุรฺอาน ต่อไปนี้ ขอให้เราพิจารณาวจนะของพวกเขาเถิด
อิมามบากิรฺ (อ) กล่าวว่า “วิชาตัฟสีรฺกุรฺอาน และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับวิชาตัฟสีรฺ และความรู้ที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการแห่งยุคสมัยและปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่สัมพันธ์กับอัลกุรฺอานคือหนึ่งในความรู้ของเรา เมื่ออัลลอฮฺทรงประสงค์จะให้คนกลุ่มหนึ่งบริสุทธิ์ พระองค์จะให้พวกเขาได้ยิน ส่วนผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ยินทั้ง ๆ ที่พระดำรัสอันเป็นสัจธรรมสัมผัสโสตประสาทของเขานั้น เพราะประสาทหูของเขาไม่คุ้นเคยกับพระดำรัสของพระองค์นั่นเอง”
อิมาม (อ) ได้เงียบไปครู่หนึ่ง หลังจากนั้น ท่านจึงกล่าวต่อไปว่า “ถ้าหากเราประจักษ์ว่าบุคคลใดมีฐานภาพและคุณสมบัติทางจิตวิญญาณที่คู่ควร เราก็จะถ่ายทอดความรู้แก่เขา และอัลลอฮฺคือผู้ทรงพิทักษ์รักษาและเป็นที่พึ่งของเรา” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 229)
อิมามศอดิก (อ) กล่าวว่า “อัลกุรฺอานจะสะท้อนภาพและเรื่องราวในอดีต และแจ้งปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในอนาคต และกฎเกณฑ์หรือบทบัญญัติต่าง ๆ โดยที่เรามีความรอบรู้ต่อสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 61)
อมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงสนทนาด้วยภาษาแห่งกุรฺอานเถิด แต่กุรฺอานจะไม่สนทนากับพวกท่าน ฉันขอประกาศกับพวกท่านว่าคัมภีร์จากฟากฟ้าเล่มนี้จะสะท้อนภาพและเรื่องราวในอดีตและแจ้งข่าวในอนาคต ตลอดจนกฎเกณฑ์หรือบทบัญญัติที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกท่าน นอกจากนี้ กุรฺอานยังสาธยายถึงสาเหตุที่จะทำให้พวกท่านขัดแย้งอีกด้วย มาตรว่าพวกท่านถามฉัน ฉันก็จะถ่ายทอดและสอนพวกท่าน” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 61)
เศาะหาบะฮฺคนหนึ่งได้ถามอิมามมูสา อิบนุญะอฺฟัรฺ (อ) ว่า “สิ่งที่พวกท่านกล่าวมาทั้งหมดนั้นมีอยู่ในอัลกุรฺอานและสุนนะฮฺของท่านศาสดา (ศ) หรือว่ามาจากพวกท่านเอง ?”
อิมาม (อ) จึงกล่าวว่า “ความรู้ที่เราสาธยาย ล้วนมาจากกุรฺอานและสุนนะฮฺของท่านนบีย์ (ศ) ทั้งสิ้น” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 63)
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๒๘
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
วิชาการตีความอัลกุรฺอาน (ตะอ์วีล) ถือเป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเร้นลับ กล่าวคือความรู้ที่ไม่สามารถจะแสวงหาด้วยวิธีการปกติทั่วไปได้ ด้วยเหตุนี้ ตะอ์วีลก็คือภาพลักษณ์ที่แท้จริงของสิ่ง ๆ หนึ่ง หรือคำพูดหรือการกระทำซึ่งโดยตัวของมันเองถือเป็นความรู้ในสิ่งเร้นลับชนิดหนึ่ง ดังนั้น ไม่มีใครจะได้รับมัน นอกจากอัลลอฮฺจะทรงประทานแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์เท่านั้น ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า
“พระองค์คือผู้ทรงประทานคัมภีร์แก่เจ้า ในนั้นมีโองการต่าง ๆ ที่ (มีความหมาย) ชัดแจ้ง ซึ่งเป็นแม่บทของคัมภีร์ และ (โองการ) อื่น ๆ ที่ (มีความหมาย) เป็นนัย ดังนั้น สำหรับผู้ที่ในหัวใจของพวกเขามีความโลเล (สับปลับกลับกลอก) พวกเขาจะปฏิบัติตามโองการที่มีนัย เพื่อหวังสร้างวิกฤติ และเพื่อจะได้ตีความตามอำเภอใจ และไม่มีผู้ใดล่วงรู้ความหมายที่แท้จริงของมัน นอกจากอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ทรงความรู้ (อัรฺรอสิคูน ฟิลอิลมฺ) เท่านั้น” (สูเราะฮฺอาลิอิมรอน 3 : 6)
ดังนั้น ผู้ทรงความรู้ที่แท้จริง (รอสิคูน ฟิลอิลมฺ) ในที่นี้ก็คือผู้ที่มีความรู้ในโองการที่มีนัยดังที่อัลลอฮฺทรงรอบรู้มัน ดังหะดีษมากมายที่ได้ยืนยันว่าอิมามมะอฺศูมีน (อ) ทุกคนล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ในการตะอ์วีลกุรฺอาน
เศาะหาบะฮฺคนหนึ่งได้ถามอิมามบากิรฺ (อ) ว่า “ความหมายของหะดีษที่ว่า ไม่มีสิ่งใดในกุรฺอาน นอกจากมันจะต้องมีสิ่งที่เปิดเผย (ซอฮิรฺ) และซ่อนเร้น (บาฏิน) และไม่มีพระดำรัสใด นอกจากจะต้องมีความหมายและนัยแฝงอยู่เสมอ นัยของซอฮิรฺและบาฏิน ในที่นี้คืออะไร ?
อิมาม (อ) ได้ตอบว่า “สิ่งที่ถูกประทานลงมานั้นคือซอฮิรของกุรฺอาน ส่วนบาฏินของมันก็คือตะอ์วีล บางส่วนของมันได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ในขณะที่บางส่วนยังมาไม่ถึง ประดุจดังดวงตะวันและดวงเดือนที่เคลื่อนคล้อย เมื่อเวลาได้มาถึง มันก็จะอุบัติขึ้น พระองค์ทรงตรัสว่า "ไม่มีผู้ใดจะสัมผัสถึงนัยของมัน นอกจากอัลลอฮฺและบรรดาผู้ที่ทรงความรู้ (อัรฺรอสิคูน ฟิลอิลมฺ) เท่านั้น และเราคือผู้ที่มีความรู้อย่างสมบูรณ์ในตะอ์วีลกุรฺอาน” ( ตัฟสีรฺอัลมีซาน เล่ม 3 หน้า 74)
อิมามศอดิก (อ) กล่าวว่า “ผู้มีความรู้สูงสุดคือ เราะสูลุลลอฮฺ (ศ) อัลลอฮฺทรงสอนการตะอ์วีลในสิ่งที่พระองค์ทรงวิวรณ์แก่ท่าน พระองค์จะไม่ประทานสิ่งใด นอกจากจะทรงสอนการตะอ์วีลแก่ท่าน (ศ) และแก่ตัวแทนของท่าน ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากความรู้ในการตะอ์วีล คราใดที่ผู้รู้ในหมู่พวกเขาได้แสดงทัศนะ พระองค์จะทรงสร้างความกระจ่างแก่พวกเขาว่า
“คำพูดของพวกเขามีความหมายดังนี้คือ เราศรัทธาในสิ่งนั้น ทุกสรรพสิ่งล้วนมาจากพระผู้อภิบาลของเรา”
“ดังนั้น อัลกุรฺอานจะประกอบไปด้วยความหมายทั้งที่เฉพาะและทั่วไป ทั้งที่ชัดเจนและเป็นนัย ทั้งนาสิคและมันสูค เฉพาะผู้ทรงความรู้ (อัรฺรอสิคูน ฟิลอิลม์) เท่านั้นที่จะสามารถสัมผัสความหมายได้ทั้งหมด” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 213)
แหล่งข้อมูลที่สามที่อะอิมมะฮฺ มะอฺศูมีน (อ) ใช้เป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ก็คือหนังสือหรือเศาะหี๊ฟะฮฺ ซึ่งถือเป็นมรดกตกทอดมาจากท่านศาสดา (ศ)
อิมามศอดิก (อ) กล่าวว่า “หนังสือที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา ซึ่งทำให้เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้ใด ในขณะที่พวกเขาต้องพึ่งพิงเรา มันได้รับการบันทึกโดยอลีย์ (อ) โดยผ่านการเซ็นรับรองจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ในนั้นมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับหะลาล – หะรอม เราทราบดีถึงชะตากรรมและผลลัพธ์บั้นปลายของพวกท่าน ทั้งสิ่งที่พวกท่านเชื่อฟังปฏิบัติตามเรา และสิ่งที่พวกท่านฝ่าฝืน” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 241)
เศาะหาบะฮฺผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของอิมามศอดิก (อ) กล่าวว่า
“ฉันได้ถามอิมามศอดิก (อ) ว่า มรดกทางวิชาการที่ตกทอดมาถึงท่านนั้น เป็นความรู้ทั่วไป หรือคำอรรถาธิบายในสิ่งที่ประชาชนต้องประสบกับมัน เช่นการหย่าร้างและมรดก ?
อิมาม (อ) จึงตอบว่า “อลีย์ (อ) ได้บันทึกความรู้เกี่ยวกับการตัดสินพิพากษาและมรดกเอาไว้ทั้งหมด มาตรว่า อำนาจการปกครอง (ตัชรีอีย์) ได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ของเรา จะไม่มีวิกฤติใด นอกจาก เราจะขจัดมันตามแบบฉบับ (สุนนะฮฺ) ของเรา” (ญามิอฺ อหาดีษุชชีอะฮฺ เล่ม 1 หน้า 138)
อมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “ท่านศาสดา (ศ) ได้กล่าวกับฉันว่า “โอ้ อลีย์ ! จงบันทึกและเก็บรักษาสิ่งที่ฉันได้สาธยายแก่เจ้า” ฉันจึงถามว่า “โอ้ เราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ! ท่านเกรงว่าฉันจะหลงลืมมันกระนั้นหรือ ?”
ท่าน (ศ) จึงกล่าวว่า “หามิได้ เพราะฉันได้วิงวอนจากผู้ทรงเอกะให้พระองค์ทรงประทานความจำในคัมภีร์อัลกุรฺอานแก่เจ้า แต่จงบันทึกและเก็บรักษามันไว้สำหรับอิมามผู้ที่จะสืบทอดมรดกความรู้ต่อจากเจ้า ด้วยบะเราะกะฮฺ (ความจำเริญ) ของพวกเขาที่จะทำให้ฝนตกลงมาแก่ประชาชาติ และดุอาอ์ของประชาชนจะถูกตอบรับ และอะซาบ (การลงทัณฑ์อย่างฉับพลัน) จะไม่อุบัติกับพวกเขา และความเมตตาจะหลั่งลงมาจากฟากฟ้า”
หลังจากนั้น ท่าน (ศ) ได้ชี้ไปยังอิมามหะสัน (อ) พร้อมกับกล่าวว่า “นี่คือบุคคลแรกของพวกเขา”
แล้วท่าน (ศ) ได้ชี้ไปยังอิมามหุสัยน์ (อ) พร้อมกับกล่าวว่า
“และนี่คือบุคคลที่สองของพวกเขา และผู้นำคนต่อ ๆ ไปจะสืบเชื้อสายมาจากเขา” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 22)
อิมามบากิรฺ (อ) ได้กล่าวกับญาบิรฺ อันศอรีย์ ว่า
“โอ้ญาบิร มาตรว่าเราได้สาธยายหะดีษทั้งหลายด้วยทัศนะส่วนตัวของเราแล้วไซร้ ความหายนะจะต้องประสบกับเราอย่างแน่นอน พึงทราบเถิดว่า หะดีษที่เราได้รายงานทั้งหมดนั้น เราได้บันทึกและรวบรวมมาจากท่านเราะสูลุลลอฮ (ศ) ประดุจดั่งประชาชนได้สะสมทองคำและเงินกระนั้น”
อมีรุลมุอ์มีนีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “ไม่มีกุรฺอานโองการใดที่ถูกประทานลงมา นอกจากฉันจะต้องรู้ถึงสาเหตุและสถานที่ลงของมัน ความรู้ที่เก็บซ่อนไว้ในหัวอกของฉันนั้นมหาศาล ดังนั้น จงถามเถิด ก่อนที่ฉันจะจากพวกท่านไป ทุกครั้งที่โองการได้ถูกประทานลงมาโดยที่ฉันไม่ได้อยู่กับท่านเราะสูลุลลอฮ (ศ) ท่านจะรอจนกว่าฉันจะกลับมา เพื่อแจ้งข่าวแห่งวิวรณ์นั้นแก่ฉัน โดยท่านจะกล่าวว่า “โอ้ อลีย์ โองการเหล่านี้ได้ถูกประทานลงมาในขณะที่เจ้าไม่อยู่” หลังจากนั้นท่านจะสาธยายถึงรายละเอียดของเหตุการณ์และความหมายของโองการที่ถูกประทานลงมาอย่างละเอียด
อลีย์ (อ) ยังกล่าวอีกว่า “ความรู้ที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺได้ถ่ายทอดแก่ฉันนั้น ได้ซ่อนอยู่ในหัวอกของฉันอย่างมหาศาล มาตรว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพและอัจฉริยะที่จะรับและเก็บรักษามันไว้ และสามารถถ่ายทอดในสิ่งที่พวกเขาได้รับไปนั้นด้วยความซื่อสัตย์และระมัดระวังแล้ว ฉันจะถ่ายทอดส่วนหนึ่งให้เป็นอมานะฮฺแก่พวกเขา และจะเปิดประตูแห่งความรู้แก่พวกเขา ซึ่งแต่ละบานนั้นจะมีประตูอีกพันบานเปิดรออยู่“
มาลิก อิบนุอนัส กล่าวว่า “ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้กล่าวกับอลีย์ (อ) ว่า “เจ้าจะเป็นผู้ที่สาธยายและสร้างความกระจ่างในสิ่งที่ขัดแย้งภายหลังจากฉัน”
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าความรู้ประเภทนี้ไม่อาจจะได้รับมาด้วยกระบวนการเรียนรู้โดยทั่วไป ซึ่งท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้เปิดประตูแห่งความรู้ถึงหนึ่งพันประตูให้แก่อลีย์ (อ) พร้อมกับคำสอนที่เต็มไปด้วยมุอฺญิซาตหรือด้วยหลักฐานที่พร้อมสรรพอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาและโอกาสอันแสนสั้นและจำกัด โดยท่าน (ศ) ได้ใช้วิถีดังกล่าวถ่ายทอดความรู้และวิทยาการทุกแขนงให้บรรจุอยู่ในคลังความรู้ของอลีย์ (อ) เป็นที่แน่นอนว่า ระบบการถ่ายทอดและร่ำเรียน และการยกระดับความรู้สู่ขั้นสูงสุดของอลีย์ (อ) นั้นจะต้องอาศัยกระบวนการเฉพาะจากพลังแห่งนบูวะฮฺ และการฮิดายะฮฺภายใน และด้วยวิธีนี้เองที่ท่าน (ศ) ได้วิงวอนให้พระองค์ทรงเปิดหัวใจอลีย์เพื่อให้สามารถรองรับความรู้ที่เป็นสัจธรรมที่ล้ำลึกและคู่ควรกับศรัทธาที่สูงส่งและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของเขา
สะลีม บินกัยส์ รายงานว่าท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ) ได้กล่าวว่า
“เศาะหะบะฮฺของท่านนบีย์ (ศ) มิได้มีศักยภาพที่จะสามารถถามปัญหาและเข้าใจในคำตอบของท่าน (ศ) ได้อย่างลึกซึ้งเท่าเทียมทุกคน บางส่วนต้องการถามปัญหาหนึ่งจากท่าน (ศ) บางคนไม่มีความสามารถแม้แต่จะตั้งคำถามด้วยตนเอง จนต้องอาศัยสื่อจากผู้อื่นให้ถามท่าน (ศ) ในขณะที่ฉันจะอยู่รับใช้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) อย่างสม่ำเสมอทั้งกลางวันและกลางคืน ท่านมักจะอยู่ตามลำพังเพียงสองคนกับฉัน ฉันจะติดสอยห้อยตามท่านเสมอ เศาะหาบะฮฺของท่าน (ศ) ทุกคนต่างตระหนักดีว่าไม่มีบุคคลใดที่มีฐานภาพและได้รับความไว้วางใจเช่นนี้ ท่านมักจะมาที่บ้านของเราเสมอ หรือมิเช่นนั้นฉันจะไปพบท่านที่บ้านของท่าน เมื่อฉันได้พบกับท่าน ท่านจะบอกให้ผู้ที่อยู่ในบ้านอยู่ในความสงบ และจะสั่งให้บรรดาภรรยาของท่านออกไปจากที่นั้น แต่คราใดที่ท่านได้มาที่บ้านของเรา ทั้งฟาฏิมะฮฺ (ส) และลูก ๆ ของเราจะคอยต้อนรับท่านโดยพร้อมเพรียงกันเสมอ ท่านจะตอบคำถามของฉันทันทีภายหลังจากจบคำถามของฉัน และเมื่อฉันเป็นฝ่ายเงียบ ท่านจะเป็นฝ่ายเริ่มสนทนาก่อน ท่าน (ศ) จะอ่านทุก ๆ โองการที่ถูกประทานมายังท่านให้ฉันฟังเสมอ หลังจากนั้น ฉันจะบันทึกด้วยลายมือของฉันเอง และจะเก็บรักษามันไว้ ท่าน (ศ) จะสอนทั้งการตะอ์วีลและตัฟสีรฺ ทั้งอายะฮฺนาสิคและมันสูค ทั้งโองการมุหฺกัม (ชัดเจน) และมุตะชาบิฮฺ (คลุมเครือ) ทั้งความหมายคอศ (เฉพาะ) และอาม (ทั่วไป) แก่ฉัน ท่าน (ศ) ยังได้วิงวอนให้พระองค์ทรงประทานพลังแห่งความรู้ความเข้าใจและความจำในสิ่งเหล่านั้นแก่ฉัน ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงไม่เคยหลงลืมทั้งโองการของพระผู้เป็นเจ้าและความรู้ทุกอย่างที่ท่านได้ถ่ายทอดแก่ฉัน ท่าน (ศ) ยังได้สอนกฎเกณฑ์และบทบัญญัติของพระองค์ ข้ออนุมัติ (หะลาล) และข้อห้าม (หะรอม) การเชิญชวนสู่ความดีงามและยับยั้งจากความชั่ว ซึ่งท่านได้รับการถ่ายทอดมาจากพระองค์ ตลอดจนหลักธรรมคำสอนและคัมภีร์ของบรรดาศาสดาที่ได้ล่วงลับไปแล้วให้แก่ฉัน และฉันได้บันทึกอยู่ในความทรงจำของฉันทั้งหมดโดยไม่เคยหลงลืมแม้เพียงอักษรเดียว หลังจากนั้น ท่านได้ใช้มืออันจำเริญของท่านวางที่หน้าอกของฉันพร้อมกับวิงวอนให้อัลลอฮฺทรงประทานให้หัวใจของฉันเต็มไปด้วยความรู้ความเข้าใจ วิทยปัญญาและรัศมีของพระองค์
ฉันจึงได้ถามท่าน (ศ) ว่า “โอ้ เราะสูลุลลอฮฺ (ศ) นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่ท่านได้ขอดุอาอ์ให้แก่ฉันเป็นต้นมา ไม่มีสิ่งใดที่จะถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของฉันอีกเลย ท่านยังหวั่นเกรงว่าความหลงลืมจะเข้ามาแผ้วพานฉันอีกหรือ ?” ท่าน (ศ) ได้ตอบว่า “ฉันไม่เคยหวั่นกลัวว่าเจ้าจะไม่รู้และเป็นผู้ที่หลงลืม ฉันไม่เคยวิตกกังวลในสิ่งนั้น และมีความเชื่อมั่นอย่างสมบูรณ์ในตัวเจ้าเสมอ” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 64)
ด้วยฐานภาพพิเศษทั้งในด้านความรู้และโลกทัศน์ที่สูงส่งที่ไม่มีใครสามารถเทียบเทียมได้นี้เอง ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) จึงได้เทิดเกียรติเขาว่า
“ฉันคือนครแห่งความรู้ และอลีย์ (อ) คือประตูของมัน ผู้ที่ประสงค์จะแสวงหาความรู้ เขาจะต้องเข้าทางประตูอลีย์ (อ)” (มะนากิบคอรัซมีย์ หน้า 40 – มุสตัดร็อกเศาะหี๊หัยน์ เล่ม 3 หน้า 126 – ตารีคบัฆดาด เล่ม 4 หน้า 348 – เศาะวาอิกุลมุหัรฺริเกาะฮฺ หน้า 73 – อะสะดุลฆอบะฮฺ เล่ม 4 หน้า 22)
ท่านนบีย์ (ศ) ได้ประกาศอย่างชัดเจนกับประชาชาติของท่านว่าใครก็ตามที่ปรารถนาจะแสวงหาความรู้จากท่าน (ศ) เขาจะต้องเรียนรู้ผ่านบุคคลผู้นี้
นอกจากนี้ ท่าน (ศ) ยังได้วจนะอีกว่า
“โอ้ อลีย์ ฉันคือนครแห่งความรู้ เจ้าคือประตูของมัน ใครก็ตามที่คาดเดาว่าเขาสามารถจะเข้าสู่เมืองโดยไม่จำเป็นต้องผ่านประตู เขาคือคนโกหก” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 74)
“ฉันคือบ้าน (ขุมคลัง) แห่งวิทยปัญญา และอลีย์คือประตูของมัน” (เศาะหี๊หฺติรฺมิซีย์ เล่ม 13 หน้า 171 – กันซุลอุมมาล เล่ม 6 หน้า 156 – หิลยะตุลเอาลิยาอ์ เล่ม 1 หน้า 64)
แน่นอน ความรู้จะต้องมาก่อนการกระทำเสมอ ดังนั้น การปฏิบัติของมุสลิมจะสอดคล้องกับคำสอนของท่านนบีย์ (ศ) ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องอาศัยความรู้และการชี้นำจากอลีย์ (อ)
ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ตระหนักดีว่าในอนาคต ความรู้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประชาคมมุสลิม ดังนั้น ท่านจึงได้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับสารัตถะอิสลามแก่ประชาชาติ และสามารถชี้นำและสอนสั่งประชาชนที่เพิ่งเข้ารับอิสลามด้วยหลักธรรมคำสอนที่ยังบริสุทธิ์และยังไม่ถูกบิดเบือนแก้ไขภายหลังการจากไปของท่าน ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าว ท่านจึงได้รับมอบหมายให้ทำการอบรมสั่งสอนอลีย์ (อ) ผู้เป็นขุมคลังแห่งความรู้อันทรงคุณค่าที่มีศักยภาพอย่างแท้จริงที่จะพิทักษ์รักษาคำบัญชาของพระองค์ให้บริสุทธิ์ และยังเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติแห่งความเป็นผู้นำอย่างครบถ้วนสมบูรณ์อีกด้วย
อิบนุอับบาส รายงานว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้กล่าวว่า “...ความรู้ทั้งหมดที่ฉันได้รับมาจากพระองค์ ฉันได้ถ่ายทอดแก่อลีย์ (อ) ด้วยเหตุนี้ อลีย์ (อ) คือประตูแห่งความรู้ของฉัน” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 69 ) หุสัยน์ อิบนุอลีย์ (อ) กล่าวว่า “เมื่อครั้งที่โองการ “และเราได้รวบรวมไว้อย่างครบถ้วนในอิมามมุบีน”(สูเราะฮฺยาสีน 36 : 12) ถูกประทานลงมานั้น บรรดาเศาะหาบะฮฺต่างพากันถามท่านศาสดา (ศ) ว่า “นัยของคำว่า “อิมามมุบีน” ในที่นี้หมายถึงคัมภีร์เตารอต หรืออินญีล หรืออัลกุรฺอาน ?” ท่าน (ศ) จึงกล่าวว่า “หามิได้” สักครู่หนึ่ง ท่าน (ศ) จึงมองไปยังบิดาของฉันพร้อมกับกล่าวว่า “อิมามุนมุบีนก็คือบุคคลผู้นี้ ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงประทานให้เขาเป็นขุมคลังที่เต็มไปด้วยความรู้” ( ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 77)
อมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “ในทุก ๆ ปี ท่านนบีย์ (ศ) จะใช้เวลาส่วนหนึ่งไปปลีกวิเวกที่ถ้ำหิรออ์ และจะไม่มีใครได้มีโอกาสเห็นท่านในช่วงเวลาเหล่านั้น นอกจากฉันเพียงคนเดียวเท่านั้น ในขณะนั้น ยังไม่มีครอบครัวใดที่น้อมรับอิสลาม นอกจากครอบครัวของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวท่าน (ศ) และท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ และฉันคือบุคคลที่สามในท่ามกลางท่านทั้งสอง ฉันมีโอกาสได้เห็นรัศมีแห่งวิวรณ์ และได้สูดกลิ่นอายแห่งนบูวะฮฺ ในวินาทีที่วิวรณ์ได้ถูกประทานมายังท่านนบีย์ (ศ) นั้น เสียงของชัยฏอนได้สัมผัสโสตประสาทหูของฉัน ฉันจึงถามท่าน (ศ) ว่า “โอ้ เราะสูลุลลฮฮฺ (ศ) นั่นเสียงอะไรหรือ ?” ท่านจึงตอบว่า “มันคือเสียงแห่งความท้อแท้สิ้นหวังของชัยฏอนจากการเป็นบ่าวผู้เคารพภักดีของมัน โอ้ อลีย์ เจ้าสามารถได้ยินในสิ่งที่ฉันได้ยิน และเห็นในสิ่งที่ฉันเห็น จะต่างกันก็เพียงแต่เจ้ามิได้เป็นนบีย์ แต่คือตัวแทนของฉันและคือบุรุษที่เต็มไปด้วยคุณงามความดี” (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่ 187)
ติรฺมิซีย์รายงานว่า ท่านศาสดา (ศ) ได้กล่าวกับอลีย์ (อ) ว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ! ได้ทรงประทานความโปรดปรานแก่อลีย์ โอ้ อัลลอฮฺ ! ได้ทรงโปรดทำให้สัจธรรมวนเวียนอยู่เคียงข้างอลีย์ด้วยเถิด” (เศาะหี๊หฺติรฺมิซีย์ เล่ม 5 หน้า 297)
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๒๙
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
วิชาการตีความอัลกุรฺอาน (ตะอ์วีล) วิชาการตีความอัลกุรฺอาน (ตะอ์วีล)ถือเป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเร้นลับ กล่าวคือความรู้ที่ไม่สามารถจะแสวงหาด้วยวิธีการปกติทั่วไปได้ ด้วยเหตุนี้ ตะอ์วีลก็คือภาพลักษณ์ที่แท้จริงของสิ่ง ๆ หนึ่ง หรือคำพูดหรือการกระทำซึ่งโดยตัวของมันเองถือเป็นความรู้ในสิ่งเร้นลับชนิดหนึ่ง ดังนั้น ไม่มีใครจะได้รับมัน นอกจากอัลลอฮฺจะทรงประทานแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์เท่านั้น ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า
“พระองค์คือผู้ทรงประทานคัมภีร์แก่เจ้า ในนั้นมีโองการต่าง ๆ ที่ (มีความหมาย) ชัดแจ้ง ซึ่งเป็นแม่บทของคัมภีร์ และ (โองการ) อื่น ๆ ที่ (มีความหมาย) เป็นนัย ดังนั้น สำหรับผู้ที่ในหัวใจของพวกเขามีความโลเล (สับปลับกลับกลอก) พวกเขาจะปฏิบัติตามโองการที่มีนัย เพื่อหวังสร้างวิกฤติ และเพื่อจะได้ตีความตามอำเภอใจ และไม่มีผู้ใดล่วงรู้ความหมายที่แท้จริงของมัน นอกจากอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ทรงความรู้ (อัรฺรอสิคูน ฟิลอิลมฺ) เท่านั้น” (สูเราะฮฺอาลิอิมรอน 3 : 6)
ดังนั้น ผู้ทรงความรู้ที่แท้จริง (รอสิคูน ฟิลอิลมฺ) ในที่นี้ก็คือผู้ที่มีความรู้ในโองการที่มีนัยดังที่อัลลอฮฺทรงรอบรู้มัน ดังหะดีษมากมายที่ได้ยืนยันว่าอิมามมะอฺศูมีน (อ) ทุกคนล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ในการตะอ์วีลกุรฺอาน
เศาะหาบะฮฺคนหนึ่งได้ถามอิมามบากิรฺ (อ) ว่า “ความหมายของหะดีษที่ว่า ไม่มีสิ่งใดในกุรฺอาน นอกจากมันจะต้องมีสิ่งที่เปิดเผย (ซอฮิรฺ) และซ่อนเร้น (บาฏิน) และไม่มีพระดำรัสใด นอกจากจะต้องมีความหมายและนัยแฝงอยู่เสมอ นัยของซอฮิรฺและบาฏิน ในที่นี้คืออะไร ?
อิมาม (อ) ได้ตอบว่า “สิ่งที่ถูกประทานลงมานั้นคือซอฮิรของกุรฺอาน ส่วนบาฏินของมันก็คือตะอ์วีล บางส่วนของมันได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ในขณะที่บางส่วนยังมาไม่ถึง ประดุจดังดวงตะวันและดวงเดือนที่เคลื่อนคล้อย เมื่อเวลาได้มาถึง มันก็จะอุบัติขึ้น พระองค์ทรงตรัสว่า "ไม่มีผู้ใดจะสัมผัสถึงนัยของมัน นอกจากอัลลอฮฺและบรรดาผู้ที่ทรงความรู้ (อัรฺรอสิคูน ฟิลอิลมฺ) เท่านั้น และเราคือผู้ที่มีความรู้อย่างสมบูรณ์ในตะอ์วีลกุรฺอาน” ( ตัฟสีรฺอัลมีซาน เล่ม 3 หน้า 74)
อิมามศอดิก (อ) กล่าวว่า “ผู้มีความรู้สูงสุดคือ เราะสูลุลลอฮฺ (ศ) อัลลอฮฺทรงสอนการตะอ์วีลในสิ่งที่พระองค์ทรงวิวรณ์แก่ท่าน พระองค์จะไม่ประทานสิ่งใด นอกจากจะทรงสอนการตะอ์วีลแก่ท่าน (ศ) และแก่ตัวแทนของท่าน ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากความรู้ในการตะอ์วีล คราใดที่ผู้รู้ในหมู่พวกเขาได้แสดงทัศนะ พระองค์จะทรงสร้างความกระจ่างแก่พวกเขาว่า
“คำพูดของพวกเขามีความหมายดังนี้คือ เราศรัทธาในสิ่งนั้น ทุกสรรพสิ่งล้วนมาจากพระผู้อภิบาลของเรา”
“ดังนั้น อัลกุรฺอานจะประกอบไปด้วยความหมายทั้งที่เฉพาะและทั่วไป ทั้งที่ชัดเจนและเป็นนัย ทั้งนาสิคและมันสูค เฉพาะผู้ทรงความรู้ (อัรฺรอสิคูน ฟิลอิลม์) เท่านั้นที่จะสามารถสัมผัสความหมายได้ทั้งหมด” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 213)
แหล่งข้อมูลที่สามที่อะอิมมะฮฺ มะอฺศูมีน (อ) ใช้เป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ก็คือหนังสือหรือเศาะหี๊ฟะฮฺ ซึ่งถือเป็นมรดกตกทอดมาจากท่านศาสดา (ศ)
อิมามศอดิก (อ) กล่าวว่า “หนังสือที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา ซึ่งทำให้เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้ใด ในขณะที่พวกเขาต้องพึ่งพิงเรา มันได้รับการบันทึกโดยอลีย์ (อ) โดยผ่านการเซ็นรับรองจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ในนั้นมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับหะลาล – หะรอม เราทราบดีถึงชะตากรรมและผลลัพธ์บั้นปลายของพวกท่าน ทั้งสิ่งที่พวกท่านเชื่อฟังปฏิบัติตามเรา และสิ่งที่พวกท่านฝ่าฝืน” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 241)
เศาะหาบะฮฺผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของอิมามศอดิก (อ) กล่าวว่า
“ฉันได้ถามอิมามศอดิก (อ) ว่า มรดกทางวิชาการที่ตกทอดมาถึงท่านนั้น เป็นความรู้ทั่วไป หรือคำอรรถาธิบายในสิ่งที่ประชาชนต้องประสบกับมัน เช่นการหย่าร้างและมรดก ?
อิมาม (อ) จึงตอบว่า “อลีย์ (อ) ได้บันทึกความรู้เกี่ยวกับการตัดสินพิพากษาและมรดกเอาไว้ทั้งหมด มาตรว่า อำนาจการปกครอง (ตัชรีอีย์) ได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ของเรา จะไม่มีวิกฤติใด นอกจาก เราจะขจัดมันตามแบบฉบับ (สุนนะฮฺ) ของเรา” (ญามิอฺ อหาดีษุชชีอะฮฺ เล่ม 1 หน้า 138)
อมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “ท่านศาสดา (ศ) ได้กล่าวกับฉันว่า “โอ้ อลีย์ ! จงบันทึกและเก็บรักษาสิ่งที่ฉันได้สาธยายแก่เจ้า” ฉันจึงถามว่า “โอ้ เราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ! ท่านเกรงว่าฉันจะหลงลืมมันกระนั้นหรือ ?”
ท่าน (ศ) จึงกล่าวว่า “หามิได้ เพราะฉันได้วิงวอนจากผู้ทรงเอกะให้พระองค์ทรงประทานความจำในคัมภีร์อัลกุรฺอานแก่เจ้า แต่จงบันทึกและเก็บรักษามันไว้สำหรับอิมามผู้ที่จะสืบทอดมรดกความรู้ต่อจากเจ้า ด้วยบะเราะกะฮฺ (ความจำเริญ) ของพวกเขาที่จะทำให้ฝนตกลงมาแก่ประชาชาติ และดุอาอ์ของประชาชนจะถูกตอบรับ และอะซาบ (การลงทัณฑ์อย่างฉับพลัน) จะไม่อุบัติกับพวกเขา และความเมตตาจะหลั่งลงมาจากฟากฟ้า”
หลังจากนั้น ท่าน (ศ) ได้ชี้ไปยังอิมามหะสัน (อ) พร้อมกับกล่าวว่า “นี่คือบุคคลแรกของพวกเขา”
แล้วท่าน (ศ) ได้ชี้ไปยังอิมามหุสัยน์ (อ) พร้อมกับกล่าวว่า
“และนี่คือบุคคลที่สองของพวกเขา และผู้นำคนต่อ ๆ ไปจะสืบเชื้อสายมาจากเขา”(ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 22)
อิมามบากิรฺ (อ) ได้กล่าวกับญาบิรฺ อันศอรีย์ ว่า
“โอ้ญาบิร มาตรว่าเราได้สาธยายหะดีษทั้งหลายด้วยทัศนะส่วนตัวของเราแล้วไซร้ ความหายนะจะต้องประสบกับเราอย่างแน่นอน พึงทราบเถิดว่า หะดีษที่เราได้รายงานทั้งหมดนั้น เราได้บันทึกและรวบรวมมาจากท่านเราะสูลุลลอฮ (ศ) ประดุจดั่งประชาชนได้สะสมทองคำและเงินกระนั้น”
อมีรุลมุอ์มีนีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “ไม่มีกุรฺอานโองการใดที่ถูกประทานลงมา นอกจากฉันจะต้องรู้ถึงสาเหตุและสถานที่ลงของมัน ความรู้ที่เก็บซ่อนไว้ในหัวอกของฉันนั้นมหาศาล ดังนั้น จงถามเถิด ก่อนที่ฉันจะจากพวกท่านไป ทุกครั้งที่โองการได้ถูกประทานลงมาโดยที่ฉันไม่ได้อยู่กับท่านเราะสูลุลลอฮ (ศ) ท่านจะรอจนกว่าฉันจะกลับมา เพื่อแจ้งข่าวแห่งวิวรณ์นั้นแก่ฉัน โดยท่านจะกล่าวว่า “โอ้ อลีย์ โองการเหล่านี้ได้ถูกประทานลงมาในขณะที่เจ้าไม่อยู่” หลังจากนั้นท่านจะสาธยายถึงรายละเอียดของเหตุการณ์และความหมายของโองการที่ถูกประทานลงมาอย่างละเอียด
อลีย์ (อ) ยังกล่าวอีกว่า “ความรู้ที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺได้ถ่ายทอดแก่ฉันนั้น ได้ซ่อนอยู่ในหัวอกของฉันอย่างมหาศาล มาตรว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพและอัจฉริยะที่จะรับและเก็บรักษามันไว้ และสามารถถ่ายทอดในสิ่งที่พวกเขาได้รับไปนั้นด้วยความซื่อสัตย์และระมัดระวังแล้ว ฉันจะถ่ายทอดส่วนหนึ่งให้เป็นอมานะฮฺแก่พวกเขา และจะเปิดประตูแห่งความรู้แก่พวกเขา ซึ่งแต่ละบานนั้นจะมีประตูอีกพันบานเปิดรออยู่“
มาลิก อิบนุอนัส กล่าวว่า “ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้กล่าวกับอลีย์ (อ) ว่า “เจ้าจะเป็นผู้ที่สาธยายและสร้างความกระจ่างในสิ่งที่ขัดแย้งภายหลังจากฉัน”
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าความรู้ประเภทนี้ไม่อาจจะได้รับมาด้วยกระบวนการเรียนรู้โดยทั่วไป ซึ่งท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้เปิดประตูแห่งความรู้ถึงหนึ่งพันประตูให้แก่อลีย์ (อ) พร้อมกับคำสอนที่เต็มไปด้วยมุอฺญิซาตหรือด้วยหลักฐานที่พร้อมสรรพอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาและโอกาสอันแสนสั้นและจำกัด โดยท่าน (ศ) ได้ใช้วิถีดังกล่าวถ่ายทอดความรู้และวิทยาการทุกแขนงให้บรรจุอยู่ในคลังความรู้ของอลีย์ (อ) เป็นที่แน่นอนว่า ระบบการถ่ายทอดและร่ำเรียน และการยกระดับความรู้สู่ขั้นสูงสุดของอลีย์ (อ) นั้นจะต้องอาศัยกระบวนการเฉพาะจากพลังแห่งนบูวะฮฺ และการฮิดายะฮฺภายใน และด้วยวิธีนี้เองที่ท่าน (ศ) ได้วิงวอนให้พระองค์ทรงเปิดหัวใจอลีย์เพื่อให้สามารถรองรับความรู้ที่เป็นสัจธรรมที่ล้ำลึกและคู่ควรกับศรัทธาที่สูงส่งและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของเขา
สะลีม บินกัยส์ รายงานว่าท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ) ได้กล่าวว่า
“เศาะหะบะฮฺของท่านนบีย์ (ศ) มิได้มีศักยภาพที่จะสามารถถามปัญหาและเข้าใจในคำตอบของท่าน (ศ) ได้อย่างลึกซึ้งเท่าเทียมทุกคน บางส่วนต้องการถามปัญหาหนึ่งจากท่าน (ศ) บางคนไม่มีความสามารถแม้แต่จะตั้งคำถามด้วยตนเอง จนต้องอาศัยสื่อจากผู้อื่นให้ถามท่าน (ศ) ในขณะที่ฉันจะอยู่รับใช้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) อย่างสม่ำเสมอทั้งกลางวันและกลางคืน ท่านมักจะอยู่ตามลำพังเพียงสองคนกับฉัน ฉันจะติดสอยห้อยตามท่านเสมอ เศาะหาบะฮฺของท่าน (ศ) ทุกคนต่างตระหนักดีว่าไม่มีบุคคลใดที่มีฐานภาพและได้รับความไว้วางใจเช่นนี้ ท่านมักจะมาที่บ้านของเราเสมอ หรือมิเช่นนั้นฉันจะไปพบท่านที่บ้านของท่าน เมื่อฉันได้พบกับท่าน ท่านจะบอกให้ผู้ที่อยู่ในบ้านอยู่ในความสงบ และจะสั่งให้บรรดาภรรยาของท่านออกไปจากที่นั้น แต่คราใดที่ท่านได้มาที่บ้านของเรา ทั้งฟาฏิมะฮฺ (ส) และลูก ๆ ของเราจะคอยต้อนรับท่านโดยพร้อมเพรียงกันเสมอ ท่านจะตอบคำถามของฉันทันทีภายหลังจากจบคำถามของฉัน และเมื่อฉันเป็นฝ่ายเงียบ ท่านจะเป็นฝ่ายเริ่มสนทนาก่อน ท่าน (ศ) จะอ่านทุก ๆ โองการที่ถูกประทานมายังท่านให้ฉันฟังเสมอ หลังจากนั้น ฉันจะบันทึกด้วยลายมือของฉันเอง และจะเก็บรักษามันไว้ ท่าน (ศ) จะสอนทั้งการตะอ์วีลและตัฟสีรฺ ทั้งอายะฮฺนาสิคและมันสูค ทั้งโองการมุหฺกัม (ชัดเจน) และมุตะชาบิฮฺ (คลุมเครือ) ทั้งความหมายคอศ (เฉพาะ) และอาม (ทั่วไป) แก่ฉัน ท่าน (ศ) ยังได้วิงวอนให้พระองค์ทรงประทานพลังแห่งความรู้ความเข้าใจและความจำในสิ่งเหล่านั้นแก่ฉัน ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงไม่เคยหลงลืมทั้งโองการของพระผู้เป็นเจ้าและความรู้ทุกอย่างที่ท่านได้ถ่ายทอดแก่ฉัน ท่าน (ศ) ยังได้สอนกฎเกณฑ์และบทบัญญัติของพระองค์ ข้ออนุมัติ (หะลาล) และข้อห้าม (หะรอม) การเชิญชวนสู่ความดีงามและยับยั้งจากความชั่ว ซึ่งท่านได้รับการถ่ายทอดมาจากพระองค์ ตลอดจนหลักธรรมคำสอนและคัมภีร์ของบรรดาศาสดาที่ได้ล่วงลับไปแล้วให้แก่ฉัน และฉันได้บันทึกอยู่ในความทรงจำของฉันทั้งหมดโดยไม่เคยหลงลืมแม้เพียงอักษรเดียว หลังจากนั้น ท่านได้ใช้มืออันจำเริญของท่านวางที่หน้าอกของฉันพร้อมกับวิงวอนให้อัลลอฮฺทรงประทานให้หัวใจของฉันเต็มไปด้วยความรู้ความเข้าใจ วิทยปัญญาและรัศมีของพระองค์
ฉันจึงได้ถามท่าน (ศ) ว่า “โอ้ เราะสูลุลลอฮฺ (ศ) นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่ท่านได้ขอดุอาอ์ให้แก่ฉันเป็นต้นมา ไม่มีสิ่งใดที่จะถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของฉันอีกเลย ท่านยังหวั่นเกรงว่าความหลงลืมจะเข้ามาแผ้วพานฉันอีกหรือ ?” ท่าน (ศ) ได้ตอบว่า “ฉันไม่เคยหวั่นกลัวว่าเจ้าจะไม่รู้และเป็นผู้ที่หลงลืม ฉันไม่เคยวิตกกังวลในสิ่งนั้น และมีความเชื่อมั่นอย่างสมบูรณ์ในตัวเจ้าเสมอ” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 64)
ด้วยฐานภาพพิเศษทั้งในด้านความรู้และโลกทัศน์ที่สูงส่งที่ไม่มีใครสามารถเทียบเทียมได้นี้เอง ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) จึงได้เทิดเกียรติเขาว่า
“ฉันคือนครแห่งความรู้ และอลีย์ (อ) คือประตูของมัน ผู้ที่ประสงค์จะแสวงหาความรู้ เขาจะต้องเข้าทางประตูอลีย์ (อ)” (มะนากิบคอรัซมีย์ หน้า 40 – มุสตัดร็อกเศาะหี๊หัยน์ เล่ม 3 หน้า 126 – ตารีคบัฆดาด เล่ม 4 หน้า 348 – เศาะวาอิกุลมุหัรฺริเกาะฮฺ หน้า 73 – อุสดุลฆอบะฮฺ เล่ม 4 หน้า 22)
ท่านนบีย์ (ศ) ได้ประกาศอย่างชัดเจนกับประชาชาติของท่านว่าใครก็ตามที่ปรารถนาจะแสวงหาความรู้จากท่าน (ศ) เขาจะต้องเรียนรู้ผ่านบุคคลผู้นี้
นอกจากนี้ ท่าน (ศ) ยังได้วจนะอีกว่า
“โอ้ อลีย์ ฉันคือนครแห่งความรู้ เจ้าคือประตูของมัน ใครก็ตามที่คาดเดาว่าเขาสามารถจะเข้าสู่เมืองโดยไม่จำเป็นต้องผ่านประตู เขาคือคนโกหก”(ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 74)
“ฉันคือบ้าน (ขุมคลัง) แห่งวิทยปัญญา และอลีย์คือประตูของมัน” (เศาะหี๊หฺติรฺมิซีย์ เล่ม 13 หน้า 171 – กันซุลอุมมาล เล่ม 6 หน้า 156 – หิลยะตุลเอาลิยาอ์ เล่ม 1 หน้า 64)
แน่นอน ความรู้จะต้องมาก่อนการกระทำเสมอ ดังนั้น การปฏิบัติของมุสลิมจะสอดคล้องกับคำสอนของท่านนบีย์ (ศ) ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องอาศัยความรู้และการชี้นำจากอลีย์ (อ)
ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ตระหนักดีว่าในอนาคต ความรู้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประชาคมมุสลิม ดังนั้น ท่านจึงได้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับสารัตถะอิสลามแก่ประชาชาติ และสามารถชี้นำและสอนสั่งประชาชนที่เพิ่งเข้ารับอิสลามด้วยหลักธรรมคำสอนที่ยังบริสุทธิ์และยังไม่ถูกบิดเบือนแก้ไขภายหลังการจากไปของท่าน ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าว ท่านจึงได้รับมอบหมายให้ทำการอบรมสั่งสอนอลีย์ (อ) ผู้เป็นขุมคลังแห่งความรู้อันทรงคุณค่าที่มีศักยภาพอย่างแท้จริงที่จะพิทักษ์รักษาคำบัญชาของพระองค์ให้บริสุทธิ์ และยังเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติแห่งความเป็นผู้นำอย่างครบถ้วนสมบูรณ์อีกด้วย
อิบนุอับบาส รายงานว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้กล่าวว่า “...ความรู้ทั้งหมดที่ฉันได้รับมาจากพระองค์ ฉันได้ถ่ายทอดแก่อลีย์ (อ) ด้วยเหตุนี้ อลีย์ (อ) คือประตูแห่งความรู้ของฉัน” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 69)
หุสัยน์ อิบนุอลีย์ (อ) กล่าวว่า “เมื่อครั้งที่โองการ “และเราได้รวบรวมไว้อย่างครบถ้วนในอิมามมุบีน”(สูเราะฮฺยาสีน 36 : 12) ถูกประทานลงมานั้น บรรดาเศาะหาบะฮฺต่างพากันถามท่านศาสดา (ศ) ว่า “นัยของคำว่า “อิมามมุบีน” ในที่นี้หมายถึงคัมภีร์เตารอต หรืออินญีล หรืออัลกุรฺอาน ?” ท่าน (ศ) จึงกล่าวว่า “หามิได้” สักครู่หนึ่ง ท่าน (ศ) จึงมองไปยังบิดาของฉันพร้อมกับกล่าวว่า “อิมามุนมุบีนก็คือบุคคลผู้นี้ ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงประทานให้เขาเป็นขุมคลังที่เต็มไปด้วยความรู้” (ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า 77)
อมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “ในทุก ๆ ปี ท่านนบีย์ (ศ) จะใช้เวลาส่วนหนึ่งไปปลีกวิเวกที่ถ้ำหิรออ์ และจะไม่มีใครได้มีโอกาสเห็นท่านในช่วงเวลาเหล่านั้น นอกจากฉันเพียงคนเดียวเท่านั้น ในขณะนั้น ยังไม่มีครอบครัวใดที่น้อมรับอิสลาม นอกจากครอบครัวของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวท่าน (ศ) และท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ และฉันคือบุคคลที่สามในท่ามกลางท่านทั้งสอง ฉันมีโอกาสได้เห็นรัศมีแห่งวิวรณ์ และได้สูดกลิ่นอายแห่งนบูวะฮฺ ในวินาทีที่วิวรณ์ได้ถูกประทานมายังท่านนบีย์ (ศ) นั้น เสียงของชัยฏอนได้สัมผัสโสตประสาทหูของฉัน ฉันจึงถามท่าน (ศ) ว่า “โอ้ เราะสูลุลลฮฮฺ (ศ) นั่นเสียงอะไรหรือ ?” ท่านจึงตอบว่า “มันคือเสียงแห่งความท้อแท้สิ้นหวังของชัยฏอนจากการเป็นบ่าวผู้เคารพภักดีของมัน โอ้ อลีย์ เจ้าสามารถได้ยินในสิ่งที่ฉันได้ยิน และเห็นในสิ่งที่ฉันเห็น จะต่างกันก็เพียงแต่เจ้ามิได้เป็นนบีย์ แต่คือตัวแทนของฉันและคือบุรุษที่เต็มไปด้วยคุณงามความดี” (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่ 187)
ติรฺมิซีย์รายงานว่า ท่านศาสดา (ศ) ได้กล่าวกับอลีย์ (อ) ว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ! ได้ทรงประทานความโปรดปรานแก่อลีย์ โอ้ อัลลอฮฺ ! ได้ทรงโปรดทำให้สัจธรรมวนเวียนอยู่เคียงข้างอลีย์ด้วยเถิด” (เศาะหี๊หฺติรฺมิซีย์ เล่ม 5 หน้า 297)
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๓๐
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
สิ่งพ้นญาณวิสัย และสิ่งที่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า โลกแห่งความเร้นลับดำรงควบคู่กับโลกที่เปิดเผย สรรพสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ และไม่อาจจะสัมผัสในรูปที่ชัดเจนได้ ถูกจัดอยู่ในจำพวกสิ่งพ้นญาณวิสัย การที่เราไม่สามารถจะล่วงรู้ถึงสภาวการณ์ที่แท้จริงของวันกิยามะฮฺ การตอบแทนรางวัลความดีความชั่วในวันนั้น ตลอดจนกรณีที่เราไม่อาจจะจินตนาการภาพลักษณ์ของมวลมลาอิกะฮฺ อาตมัน (ซาต) และคุณลักษณะ (ศิฟาต) ของพระผู้เป็นเจ้าได้นั้น มิได้หมายความว่าสิ่งดังกล่าวมีความละเอียดจนเราไม่อาจจะสัมผัสมันได้ แต่เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นอยู่นอกเหนือจินตนาการ สถานที่ และกาลเวลาต่างหาก
สิ่งเร้นลับยังถูกจำแนกออกเป็นสองประเภทคือ สิ่งเร้นลับอย่างแท้จริง (ฆัยบ์มุฏลัก) และสิ่งเร้นลับโดยอุปมาหรือเทียบเคียงกับสิ่งอื่น (ฆัยบ์นะสะบีย์) บางอย่างเป็นความเร้นลับอย่างแท้จริง (มุฏลัก) และจะยังคงพ้นญาณวิสัยสำหรับมนุษย์ทุกคนและในทุกกาลเวลา และประสาทสัมผัสทั้งห้าไม่อาจจะค้นหาและพิสูจน์ได้ ดังเช่นอาตมันอันบริสุทธิ์ (ซาตุลอักดัส) ของพระผู้เป็นเจ้า ส่วนฆัยบ์นะสะบีย์ซึ่งเมื่อเทียบกับความเร้นลับบางอย่างแล้ว ยังถือว่ามันยังเป็นสิ่งที่เปิดเผย แต่เมื่อเทียบกับสิ่งอื่นแล้ว ถือว่ามันเป็นสิ่งที่พ้นญาณวิสัย
อมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “ทุก ๆ สิ่งที่ซ่อนเร้น เป็นที่ชัดเจนสำหรับพระองค์ และทุก ๆ สิ่งที่เร้นลับ เป็นที่เปิดเผยสำหรับพระองค์” (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่ 105)
“พระองค์ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย พระองค์คือผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (สูเราะฮฺหัชรฺ 59 : 22)
“ผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย ผู้ทรงเกรียงไกร ผู้ทรงสูงส่งยิ่ง” (สูเราะฮฺเราะอฺดุ 13 : 9)
“จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน ผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย พระองค์จะทรงพิพากษาระหว่างปวงบ่าวของพระองค์ในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกัน” ( สูเราะฮฺซุมัรฺ 39 : 46)
“แท้จริง ข้าคือผู้ทรงรอบรู้ถึงความเร้นลับของชั้นฟ้าและแผ่นดิน และสิ่งที่พวกเจ้าเปิดเผยและปิดบัง” (สูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺ 2 : 33)
“หลังจากนั้น พวกเจ้าจะถูกนำกลับไปสู่พระผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและเปิดเผย แล้วพระองค์จะทรงแจ้งในสิ่งที่พวกเจ้าได้ประกอบกรรมไว้” (สูเราะฮฺญุมุอะฮฺ 62 : 8)
“พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย และพระองค์คือผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วน” (สูเราะฮฺอันอาม 6 : 73)
อมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) กล่าวว่า “พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ในทุกสรรพสิ่ง แต่มิใช่ด้วยอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ซึ่งหากปราศจากสิ่งเหล่านั้นจะทำให้ความรอบรู้ของพระองค์ต้องสูญสิ้นไปด้วย ไม่มีส่วนเกินระหว่างพระองค์กับสิ่งที่ถูกรู้ในนามของความรู้ เฉพาะอาตมันอันบริสุทธิ์ (ซาตุลอักดัส) นั่นแหละคือพระองค์” (เตาหี๊ดเศาะดู๊ก หน้า 73)
“ณ พระองค์มีคลังกุญแจไขไปสู่สิ่งพ้นญาณวิสัยทั้งหลาย ไม่มีใครจะล่วงรู้มัน นอกจากพระองค์” (สูเราะฮฺอันอาม 6 : 59)
“จงกล่าวเถิด ฉันไม่มีอำนาจจะให้คุณและโทษแก่ตัวฉัน นอกจากที่อัลลอฮฺทรงประสงค์เท่านั้น และมาตรว่าฉันได้ล่วงรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัย แน่นอน ฉันคงได้สั่งสมความดีอย่างมากมาย และจะไม่มีความชั่วร้ายใด ๆ (จากแผนการของพวกท่าน) แผ้วพานฉันได้ ฉันมิใช่ใครอื่น นอกจากผู้ตักเตือนและแจ้งข่าวดีแก่ชนผู้ศรัทธาเท่านั้น” (สูเราะฮฺอะอฺรอฟ 7 : 188)
“ฉันไม่เคยกล่าวอ้างกับพวกท่านว่า ณ ที่ฉันมีขุมคลังของอัลลอฮฺ และ (ไม่เคยกล่าวอ้างว่า) ฉันมีความรอบรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัย และไม่เคยกล่าวอ้างว่า แท้จริง ฉันคือมลาอิกะฮฺ (ที่จุติลงมาจากฟากฟ้า)” (สูเราฮฺฮูด 11 : 31)
“จงกล่าวเถิด (โอ้ มุหัมมัด) “ไม่มีใครทั้งในชั้นฟ้าและแผ่นดินจะล่วงรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัย นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น และพวกเขาไม่อาจรู้ว่าพวกเขาจะถูกให้ฟื้นคืนชีพเมื่อไร” (สูเราะฮฺนัมลุ 27 : 65)
“จงกล่าวเถิด (โอ้ มุหัมมัด) ฉันมิใช่ศาสนทูตที่เพิ่งถูกส่งมาคนแรก (เพื่อจะมาสร้างความขัดแย้งกับศาสนทูตก่อน ๆ) และฉันไม่รู้ด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับฉันและพวกท่าน” (สูเราะฮฺอะหฺกอฟ 46 : 9)
“และในหมู่ชาวมะดีนะฮฺนั้น พวกเขามีสันดานที่สับปลับกลับกลอก เจ้า (มุหัมมัด) ไม่รู้จักธาตุแท้ของพวกเขาหรอก แต่เรารู้จักพวกเขาดี” (สูเราะฮฺเตาบะฮฺ 9 : 101)
จากบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า นอกจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) จะรู้จักพวกมุนาฟิกีนเป็นอย่างดีแล้ว ท่านยังได้เผยโฉมหน้าที่แท้จริงของพวกเขาให้เศาะหาบะฮฺใกล้ชิดบางคนที่มีความซื่อสัตย์และสามารถเก็บรักษาความลับไว้ได้
นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า “หุซัยฟะฮฺ” เป็นเศาะหาบะฮฺที่มีความซื่อสัตย์และสามารถเก็บรักษาความลับของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ ท่าน (ศ) จะเปิดเผยชื่อของพวกมุนาฟิกีนกับเขา
วันหนึ่ง เคาะลีฟะฮฺที่สองได้ถามเขาว่า “ในท่ามกลางเจ้าหน้าที่ของฉัน มีมุนาฟิกสอดแทรกอยู่บ้างไหม ?” เขาได้ตอบว่า “แน่นอน” เคาะลีฟะฮฺจึงถามว่า “ใคร ?” แต่หุซัยฟะฮฺไม่ยอมเอ่ยชื่อคนผู้นั้น แต่แล้วเคาะลีฟะฮฺก็สามารถสืบจนรู้ว่ามุนาฟิกผู้นั้นคือใคร และได้ปลดเขาออกจากตำแหน่งในที่สุด
อุมัรฺจะสามารถรู้ว่าใครคือมุนาฟิกโดยสังเกตการเข้าร่วมนมาซญะนาซะฮฺของหุซัยฟะฮฺ ถ้าเขาไปนมาซญะนาซะฮฺใด อุมัรฺก็จะไปร่วมด้วย ถ้ามิฉะนั้นแล้ว เขาจะไม่ไปนมาซด้วย” (อุสดุลฆอบะฮฺ เล่ม 1 หน้า 391)
โดยหลักทั่วไปแล้ว การที่จะมอบหมายให้บุคคลหนึ่งปฏิบัติภารกิจ (ตักลีฟ) ใด ๆ โดยผู้ที่ได้รับมอบหมายไม่มีความรู้ความเข้าใจย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน อัลลอฮฺทรงบัญชาให้ท่านศาสดา (ศ) ทำสงครามกับพวกกาฟิรฺและมุนาฟิก และทรงห้ามมิให้ท่านคล้อยตามทัศนะและความต้องการของพวกเขา ย่อมเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าท่าน (ศ) จะต้องรู้ว่าใครคือกาฟิรฺ และใครคือมุนาฟิก พระองค์ทรงตรัสว่า
“โอ้ นบีย์ ! จงต่อสู้กับพวกปฏิเสธและพวกสับปลับ และจงเฉียบขาดกับพวกเขา” (สูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ 9 : 73)
“จงอย่าคล้อยตามพวกกาฟิรฺและพวกมุนาฟิก และจงอย่าใส่ใจต่อการระรานของพวกเขา แต่จงมอบหมายต่ออัลลอฮฺเถิด” (สูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ 33 : 48)
จะเป็นไปได้อย่างไรที่อัลลอฮฺทรงบัญชาให้ท่านศาสดา (ศ) ต่อสู้กับพวกมุนาฟิก และให้แข็งกร้าวกับพวกเขานอกจากนั้น พระองค์ยังได้เตือนสำทับมิให้ท่านใส่ใจความต้องการของพวกเขาโดยที่ท่านไม่มีโอกาสล่วงรู้ว่าใครคือมุนาฟิกที่ท่านจะต้องแข็งกร้าวและต่อสู้กับพวกเขาตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ? ด้วยเหตุนี้ แสดงให้เห็นว่าการไม่รู้จักพวกมุนาฟิกของท่าน (ศ) นั้นแค่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง (ออฆอฮีเยเสวุม หน้า 184)
อัลกุรฺอานได้พิสูจน์ให้ประจักษ์ว่าพระผู้อภิบาลได้ทรงสอนความรู้เกี่ยวกับสิ่งพ้นญาณวิสัยให้แก่ศาสดาอุลุลอัซมฺ เมื่อพระองค์ทรงตรัสว่า
“และอัลลอฮฺจะไม่ทรงแจ้งสิ่งพ้นญาณวิสัยแก่พวกเจ้า แต่พระองค์จะทรงเลือกสรรเราะสูลบางคนตามที่พระองค์ทรงประสงค์ ดังนั้น พวกเจ้าจงศรัทธาต่ออัลลอฮฺและบรรดาเราะสูลของพระองค์เถิด” (สูเราะฮฺอาลิอิมรอน 3 : 179)
“นั่นคือบางส่วนของข่าวที่เร้นลับซึ่งเราได้ดลให้เจ้า (มุหัมมัด) ได้ล่วงรู้ ทั้งที่เจ้ามิได้อยู่ต่อหน้าพวกเขา” (สูเราะฮฺอาลิอิมรอน 3 : 44)
“อัลลอฮฺคือผู้ทรงรอบรู้สิ่งพ้นญาณวิสัย ดังนั้น พระองค์จะไม่ทรงเปิดเผยสิ่งพ้นญาณวิสัยของพระองค์แก่ผู้ใด นอกจากผู้ที่พระองค์ทรงพึงพอพระทัย แล้วพระองค์จะทรงส่งผู้พิทักษ์ (มลาอิกะฮฺ) เฝ้าระแวดระวังทั้งข้างหน้าและข้างหลังเขา” ( สูเราะฮฺญิน 72 : 26 – 27)
โองการข้างต้นได้พิสูจน์ให้ประจักษ์ว่าอัลลอฮฺคือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในความรู้ที่เร้นลับเพียงพระองค์เดียว พระองค์จะไม่ทรงประทานมัน นอกจากผู้ที่พระองค์ทรงพึงพระทัยเท่านั้น อันได้แก่ศาสดาบางคน ซึ่งนอกจากพระองค์จะทรงประทานความรู้ที่เร้นลับแก่พวกเขาแล้ว พระองค์ยังทรงส่งมวลมลาอิกะฮฺให้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มภัยแก่พวกเขาอีกด้วย นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงตรัสอีกว่า
“แท้จริง อัลกุรฺอานคือคำพูดของเราะสูล (ญิบรีล) ผู้ทรงเกียรติ ผู้ทรงพลัง ผู้ทรงเกียรติคุณ ณ ผู้เป็นเจ้าแห่งบัลลังก์ ผู้ได้รับการนอบน้อมเชื่อฟัง (จากมวลมลาอิกะฮฺด้วยกัน) ผู้ซื่อสัตย์ (ในภารกิจแห่งการเป็นทูตแห่งวิวรณ์)
และสหายของพวกเจ้า (มุหัมมัด) หาใช่คนวิกลจริต (ดังที่พวกเจ้าใส่ไคล้) ไม่ และโดยแน่นอน เขา (มุหัมมัด) ได้เห็นเขา (ญิบรีล) ณ ขอบฟ้า (ทางทิศตะวันออก) อย่างชัดแจ้ง และเขา (เราะสูลของพวกเจ้า) มิใช่ผู้ที่ตระหนี่ในความรู้ที่เป็นสิ่งพ้นญาณวิสัย (และเมื่อเขาประจักษ์ถึงผู้ที่คู่ควรต่อการรู้จักความรู้ที่เร้นลับ เขาจะถ่ายทอดมันทันที) ” ( สูเราะฮฺตักวีรฺ 81 : 19 – 24)
ณ ที่นี้ อัลลอฮฺทรงค้ำประกันว่าศาสนทูตของพระองค์บริสุทธิ์จากความตระหนี่ที่จะถ่ายทอดความรู้ที่เร้นลับให้แก่เศาะหาบะฮฺ และทรงแจ้งให้ทราบว่าท่าน (ศ) เป็นผู้ที่มีความรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัยด้วย
“และอัลลอฮฺจะไม่ทรงแจ้งสิ่งพ้นญาณวิสัยแก่พวกเจ้า แต่พระองค์จะทรงเลือกสรรเราะสูลบางคนตามที่พระองค์ทรงประสงค์ ดังนั้น พวกเจ้าจงศรัทธาต่ออัลลอฮฺและบรรดาเราะสูลของพระองค์เถิด” ( สูเราะฮฺอาลิอิมรอน 3 : 179)
“พวกเขากล่าวว่า เราจะไม่มีวันศรัทธาต่อท่าน จนกว่าท่านจะทำให้ลำธารน้ำพวยพุ่งออกจากแผ่นดินแก่เรา หรือจนกว่าท่านจะมีสวนอินทผลัมและสวนองุ่น แล้วทำให้ลำธารน้ำหลายสายพวยพุ่งจากท่ามกลางสวนนั้น หรือจนกว่าท่านจะทำให้ฟากฟ้าหล่นทับพวกเราเป็นเสี่ยง ๆ ดังคำเอ่ยอ้างของท่าน หรือจนกว่าท่านจะนำอัลลอฮฺและมวลมลาอิกะฮฺให้ปรากฏเบื้องหน้าเรา หรือจนกว่าท่านจะมีคฤหาสน์ทองคำ หรือจนกว่าท่านจะเหาะขึ้นไปในเวหา (แต่ถึงกระนั้น) เราก็จะยังไม่ศรัทธาในการขึ้นไปของท่าน จนกว่าท่านจะนำคัมภีร์ลงมาเพื่อเราจะได้อ่านมัน จงกล่าวเถิด พระผู้อภิบาลของฉันทรงมหาบริสุทธิ์ยิ่ง (จากสิ่งที่พวกท่านเสกสรรปั้นแต่ง) ฉันมิใช่ (ผู้วิเศษ) อื่นใด นอกจากสามัญชนที่ถูกแต่งตั้งเป็นศาสนทูตเท่านั้น” ( สูเราะฮฺอิสรออ์ (บนีอิสรออีล) 17 : 90 – 93)
“พวกเขาพากันกล่าวว่า นี่หรือศาสนทูต ? ! เขากินอาหารและเดินในตลาด (มิได้แตกต่างจากเรานี่ !) ไฉนจึงไม่มีมลาอิกะฮฺถูกประทานมาพร้อมกับเขาเพื่อจะได้เป็นผู้ตักเตือนร่วมกับเขา หรือไฉนจึงไม่มีคลังสมบัติถูกประทานมายังเขา หรือให้เขามีสวนพฤกษาเพื่อเขาจะได้บริโภคจากผลของมัน และพวกทุจริตชนยังกล่าวอีกว่า พวกท่านมิได้คล้อยตามผู้ใด นอกจาก บุรุษผู้ถูกคาถาอาคมครอบงำเท่านั้น” ( สูเราะฮฺฟุรฺกอน 25 : 7 – 8)
และนี่คือโลกทัศน์และแนวคิดของผู้คนยุคสมัยญาฮิลียะฮฺซึ่งคัมภีร์อัลกุรฺอานได้ตอบโต้ความคิดของพวกเขา
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๓๑
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
23 อิมามสามารถสัมพันธ์กับสิ่งพ้นญาณวิสัยได้หรือไม่ ? เศาะหาบะฮฺคนหนึ่งได้ถามท่านอิมามมุหัมมัด บากิรฺ (อ) ถึงนัยของโองการ “อัลลอฮฺคือผู้ทรงรอบรู้สิ่งพ้นญาณวิสัย พระองค์จะไม่ทรงเปิดเผยสิ่งพ้นญาณวิสัยของพระองค์แก่ผู้ใด นอกจากผู้ที่พระองค์ทรงพึงพอพระทัย”(สูเราะฮฺญิน 72 : 26 – 27) ว่าหมายถึงอะไร ? ท่านได้ตอบว่า “ไม่มีผู้ใดจะล่วงรู้สิ่งพ้นญาณวิสัยของพระองค์ นอกจากบรรดาศาสนทูตผู้ได้รับการเลือกสรรเท่านั้น ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ มุหัมมัด คือผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เขาได้รับความรู้ในสิ่งเร้นลับ ส่วนที่ทรงตรัสว่า “พระองค์ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับ” นั้น หมายถึงอัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่ง ทรงรอบรู้ในสิ่งที่จะอุบัติกับปวงบ่าวของพระองค์ก่อนที่พระองค์จะทรงสรรสร้างพวกเขา และก่อนที่มวลมลาอิกะฮฺจะรู้นับตั้งแต่ขั้นเกาะฎอ – เกาะดัรฺแล้ว ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้ความรอบรู้ของพระองค์ทั้งสิ้น มาตรว่าพระองค์ทรงประสงค์ มันจะต้องอุบัติขึ้นมา หากมิฉะนั้น มันจะไม่อุบัติ ส่วนความรู้ในขั้นเกาะฎอ – เกาะดัรฺ นั้น คือความรู้ที่ถูกประทานสู่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ก่อนที่จะมาถึงเรา” ( อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 256)
คัมภีร์อัลกุรฺอานได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าอัลลอฮฺจะทรงประทานความรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัยแก่ผู้ที่พระองค์ทรงพึงพระทัยในแต่ละยุคสมัย เช่นบรรดาอัมบิยาอ์ (อลัยฮิมุสลาม) นอกจากนี้ ด้วยฐานภาพและเกียรติคุณอันสูงส่งของบรรดาอะอิมมะฮฺ มะอฺศูมีน (อลัยฮิมุสลาม) พวกเขาสามารถติดต่อสัมพันธ์กับสิ่งพ้นญาณวิสัยในภาวการณ์ที่คับขันและจำเป็นด้วยอนุมัติของพระองค์เช่นเดียวกัน
เศาะหาบะฮฺคนหนึ่งกล่าวว่า ชาวเปอร์เซียคนหนึ่งได้ถามอิมามอบุลหะสัน (อ) ว่า “บรรดาอิมามมีความรู้ในสิ่งเร้นลับด้วยหรือ ?” ท่าน (อ) จึงตอบว่า “อิมามบากิรฺ (อ) ได้กล่าวว่า “คราใดที่ความรู้ในสิ่งเร้นลับถูกประทานมายังเรา เราก็จะรู้มัน แต่ถ้าไม่ถูกประทานมายังเรา เราก็จะไม่รู้ อัลลอฮฺทรงเปิดเผยความเร้นลับบางอย่างแก่ญิบรีล หลังจากนั้น เขาจะแจ้งแก่มุหัมมัด (ศ) และมุหัมมัด (ศ) จะเผยมันแก่ผู้ที่ท่านประสงค์” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 256)
ชายผู้หนึ่งได้ถามท่านอิมามศอดิก (อ) ว่า “มุหัมมัด (ศ) สามารถมองเห็นอาณาจักรแห่งฟากฟ้าและแผ่นดินเฉกเช่นที่อิบรอฮีม (ศ) มองเห็นด้วยหรือ ?” ท่าน (อ) ได้ตอบว่า “ใช่แล้ว รวมทั้งศอหิบ (อิมาม) ของพวกท่านด้วย” (บิหารุลอันวารฺ เล่ม 26 หน้า 115)
ต่อไปนี้คือหะดีษจากอิมามศอดิก (อ)
“เมื่ออิมามปรารถนาจะรู้ในสิ่งหนึ่ง อัลลอฮฺจะทรงประทานความรู้นั้นแก่เขา” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 2 หน้า 258)
“เราคือผู้ปกครองของอัลลอฮฺ คือขุมคลังแห่งความรู้ของพระองค์ คือแหล่งรวบรวมความเร้นลับแห่งวิวรณ์ของพระองค์” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 192)
“แท้จริง อัลลอฮฺ ทรงเกริกเกียรติ เกรียงไกร เกินกว่าที่จะพึ่งพาอาศัยปวงบ่าวของพระองค์ แล้วทรงปกปิดความรู้แห่งฟากฟ้าและแผ่นดิน” (บิหารุลอันวารฺ เล่ม 26 หน้า 110)
“มาตรว่าฉันได้อยู่ร่วมกับมูสา (อ) และคิฎิรฺ ฉันจะแจ้งกับทั้งสองว่าฉันมีความรู้เหนือกว่าท่านทั้งสอง และจะแจ้งในสิ่งที่ท่านทั้งสองไม่มีความรู้ในสิ่งนั้น เพราะท่านทั้งสองจะมีความรู้เกี่ยวกับอดีต แต่ไม่มีความรู้ในปัจจุบันตราบถึงวันกิยามะฮฺ ในขณะที่เราได้รับมรดกแห่งความรู้ทั้งหมดมาจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ)” (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 261)
“ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ! ปฐมและปัจฉิมแห่งความรู้ได้ถูกประทานแก่เราแล้ว” เศาะหาบะฮฺจึงได้ถามว่า “รวมทั้งความรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัยด้วยหรือ ?”
ท่าน (อ) จึงกล่าวว่า “โอ้ อนิจจา แท้จริง ฉันมีความรู้ในสิ่งที่อยู่ในไขสันหลังของบุรุษและสิ่งที่อยู่ในมดลูกของสตรี โอ้ อนิจจา จงเปิดหัวอกของเจ้าให้กว้างเถิด เพื่อโลกทัศน์ของเจ้าจะได้กว้างไกล และหัวใจของเจ้าจะได้สัมผัสสิ่งต่าง ๆ เพราะเราคือหุจญะฮฺ (หลักฐานและข้อพิสูจน์) ของอัลลอฮฺในท่ามกลางสิ่งถูกสร้างของพระองค์ เฉพาะผู้ศรัทธาที่เข้มแข็งประดุจดั่งภูผาเท่านั้นที่จะทนทานต่อสัจธรรมความจริง ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ มาตรว่าฉันประสงค์ ฉันจะแจ้งจำนวนกรวดทรายทั้งหมดแก่พวกเจ้า และทิวาราตรีกาลจะไม่เคลื่อนคล้อย นอกจากกรวดทรายจะเพิ่มพูน (เกิด) ประดุจดั่งการเกิดของมนุษย์ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ! ภายหลังจากฉัน พวกเจ้าจะชิงชังรังเกียจและเป็นศัตรูกัน จนกระทั่งชนกลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเจ้าจะทำลายอีกกลุ่มหนึ่ง” (บิหารุลอันวารฺ เล่ม 26 หน้า 27)
อิมามบากิรฺ (อ) กล่าวว่า “ได้มีผู้ถามท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ) เกี่ยวกับความรู้ของท่านนบีย์ (ศ) ซึ่งท่าน (อ) ได้ตอบว่า “ความรู้ของนบีย์ (ศ) คือความรู้ของอัมบิยาอ์รวมกันทั้งหมด ตลอดจนความรู้ในอดีตและอนาคตตราบถึงวันกิยามะฮฺ”
หลังจากนั้นท่าน (อ) ได้กล่าวว่า “ขอสาบานต่อผู้ซึ่งชีวิตฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ แท้จริง ความรู้ทั้งหมดของท่านนบีย์ (ศ) ตลอดจนความรู้ทั้งในอดีตและอนาคตตราบถึงวันกิยามะฮฺ อยู่ ณ ที่ฉัน” (บิหารุลอันวารฺ เล่ม 26 หน้า 110)
อิมาม (อ) ยังได้กล่าวอีกว่า “ฉันมีความวิตกกังวลในชนกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อในวิลายะฮฺและความเป็นผู้ปกครองของเรา พวกเขายังเชื่อว่าวาญิบต้องอิฏออะฮฺต่อเราประดุจดั่งการอิฏออะฮฺต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ แต่แล้วพวกเขากลับทำลายพันธะสัญญาของตน และเนื่องจากจิตใจที่รวนเร พวกเขาจึงได้กลายเป็นศัตรูต่อกัน ล่วงละเมิดสิทธิของเรา และยังได้ละเมิดต่อกลุ่มชนที่ยอมรับในสิทธิของเรา พวกเจ้าคาดเดาว่าอัลลอฮฺทรงบัญชาให้ปวงบ่าวอิฏออะฮฺต่อเอาลิยาอ์ของพระองค์ โดยที่พระองค์ทรงปกปิดอำพรางมิให้พวกเขาได้รับข่าวคราวจากฟากฟ้าและแผ่นดินกระนั้นหรือ ? และทรงซุกซ่อนความรู้ที่พวกเขาควรจะรู้จากสิ่งที่พวกเขาจะต้องเผชิญกับมันกระนั้นหรือ ? (อุศูลุลกาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 261)
อิมามศอดิก (อ) กล่าวว่า ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อลัยฮิสลาม) ได้กล่าวว่า
“อัลลอฮฺทรงประทานคุณสมบัติ 9 ประการแก่ฉันโดยที่พระองค์ไม่เคยประทานแก่ใครมาก่อนหน้าฉัน นอกจากท่านนบีย์ (ศ) คือพระองค์ทรงเปิดวิถีแห่งความรู้แก่ฉัน ทรงสอนสั่งความรู้เกี่ยวกับความตาย ภัยพิบัติ (บะลา) เชื้อสายวงศ์ตระกูล และฟัศลุลคิฏอบ (สิ่งที่จำแนกสัจธรรมออกจากความเท็จ) ฉันสามารถมองเห็นอาณาจักรโดยอนุมัติของพระผู้อภิบาลของฉัน พระองค์ทรงให้ฉันประจักษ์ถึงสิ่งที่ผ่านมาในอดีตและที่จะอุบัติขึ้นในอนาคต อัลลอฮฺทรงทำให้ศาสนาของประชาชาตินี้สมบูรณ์ด้วยวิลายะฮฺของฉัน และทรงให้ความโปรดปรานของพระองค์ครบถ้วนแก่พวกเขา และทรงพึงพระทัยให้อิสลามเป็นศาสนาสำหรับพวกเขา เมื่อพระองค์ทรงตรัสแก่มุหัมมัด (ศ) ในวันแห่งวิลายะฮฺว่า “โอ้ มุหัมมัด จงประกาศกับพวกเขาเถิดว่า “แท้จริง วันนี้ ฉันได้ทำให้ศาสนาของพวกเขาสมบูรณ์แล้ว และได้ประทานความโปรดปรานอย่างครบถ้วนแก่พวกเขาแล้ว และพึงพระทัยที่จะให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกเขา” และทั้งหมดนี้คือพระมหากรุณาธิคุณที่อัลลอฮฺทรงประทานแก่ฉัน ดังนั้น มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์” (บิหารุลอันวาร เล่ม 26 หน้า 141)
นี่คือริวายะฮฺบางส่วนที่อะอิมมะฮฺ มะอฺศูมีน (อ) ได้วจนะไว้ และคราใดที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นจะต้องสาธยายถึงสัจธรรมแห่งสิ่งเร้นลับ พวกเขาจะเปิดเผยและสำแดงมันให้เป็นที่ประจักษ์
อิบนุอบิลหะดีด อุละมาอ์อะฮฺลุสสุนนะฮฺ ได้เขียนไว้ว่า
“ที่อลีย์ (อ) กล่าวว่า “ฉันจะให้คำตอบในสิ่งที่พวกท่านถามฉันเกี่ยวกับเรื่องราวในอนาคต” นั้น มิได้มีนัยว่าท่านกำลังเอ่ยอ้างความเป็นพระเจ้า หรือความเป็นนบูวะฮฺ (ศาสดา) แต่นัยของมันก็คือ ฉันได้รับความรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัยจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ)”
แล้วเขาได้กล่าวต่อไปว่า “เมื่อเราได้ตรวจสอบข่าวคราวที่เป็นสิ่งพ้นญาณวิสัยจากท่านอลีย์ (อ) แล้ว เราจะประจักษ์ว่าทั้งหมดล้วนสอดคล้องและตรงกับความจริงทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าวจนะของท่าน (อ) นั้นเป็นสัจธรรม และได้สำแดงให้ประจักษ์ว่าท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ในสิ่งเร้นลับจริง ดังที่ท่าน (อ) ได้กล่าวว่า
“ขอสาบานต่อผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ (ฉันมีความรู้ในเหตุการณ์ที่จะอุบัติขึ้นในอนาคต) และจะตอบทุกคำถามของพวกท่าน” (ชัรฺหอิบนุอบิลหะดีด เล่ม 2 หน้า 175)
เหตุการณ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายที่ได้อุบัติขึ้นกับ “มัยษัม ตัมมารฺ” ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความรู้ในสิ่งเร้นลับของอมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ อิบนุอบีฏอลิบ (อ) ได้เป็นอย่างดี
วันหนึ่ง อลีย์ (อ) ได้กล่าวถึงชะตากรรมที่จะต้องประสบกับมัยษัม ตัมมารฺ เศาะหาบะฮฺผู้ใกล้ชิดของท่านต่อหน้าฝูงชนจำนวนมากว่าจะต้องเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมที่เต็มไปด้วยความสะเทือนใจ
“โอ้ มัยษัมเอ๋ย ! พึงรู้ไว้เถิดว่าภายหลังจากฉัน เจ้าจะต้องถูกจับ และถูกแขวนคอ เหตุการณ์ในวันที่สอง เลือดจากจมูกและปากจะหลั่งชโลมเคราของเจ้าจนแดงฉาน ในวันที่สาม พวกเขาจะใช้หอกทิ่มแทงเจ้าจนกระทั่งเจ้าได้กลับไปสู่ความเมตตาของพระองค์ จงรอคอยการมาของวันนั้นเถิด วันที่มันจะอุบัติขึ้นใกล้บ้านของ “อัมรฺ อิบนุหะรีษ” ซึ่งเจ้าจะเป็นคนที่สิบที่จะถูกสังหารในสภาพเช่นนั้น จะต่างกันแค่เพียงเชือก (ไม้) ที่จะใช้แขวนคอเจ้านั้นสั้นกว่าอีกเก้าคน แล้วฉันจะชี้ให้เจ้าได้รู้จักต้นไม้ที่พวกเขาจะใช้เป็นตะแลงแกงแขวนคอเจ้า”
สองวันหลังจากนั้น ท่าน (อ) ได้ชี้ให้มัยษัมดูต้นอินทผลัมต้นนั้น
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา มัยษัม ตัมมารฺ ได้เฝ้าวนเวียนไปที่ต้นอินทผลัมต้นนั้นวันแล้ววันเล่า และมักจะอาศัยความเงียบสงบของมันเพื่อปฏิบัติอิบาดะฮฺ นมาซ วิงวอนและรำพึงรำพันถึงพระผู้อภิบาลของเขา
ครั้งหนึ่ง เขาได้กล่าวรำพึงรำพันกับมันว่า
“ขออัลลอฮฺทรงประทานความจำเริญแก่เจ้า พระองค์ทรงสร้างฉันเพื่อเจ้า และทรงให้เจ้างอกเงยขึ้นมาเพื่อฉัน”
ทุกครั้งที่เขาได้พบกับอัมรฺ อิบนุหะรีษ เขามักจะกล่าวเสมอว่า “โปรดรับฉันในฐานะเพื่อนบ้านของท่านด้วย” โดยที่อัมรฺไม่เข้าใจนัยนั้น และได้ถามเขาว่า “ท่านจะซื้อบ้านของท่านอิบนุมัสอูด หรือบ้านของอิบนุหะกัมกระนั้นหรือ ?”
วันเวลาได้ผ่านเลยไป จนกระทั่งเมาลามุตตะกีน อลีย์ อิบนุอบีฏอลิบ (อ) ได้รับชะฮาดะฮฺ ในที่สุด ชะตากรรมของมัยษัม ตัมมารฺ ก็ได้มาถึง วันหนึ่ง ทุจริตชนได้จับเขาส่งมอบให้ “อุบัยดิลลาฮฺ อิบนุซิยาด” และได้รายงานความเป็นมิตรผู้ซื่อสัตย์และมีความบริสุทธิ์ใจต่ออลีย์ (อ) ของเขาให้อุบัยดิลลาฮฺผู้ซึ่งเพียรพยายามที่จะดับรัศมีและดวงประทีปแห่งศรัทธาและความรักที่มีต่อวงศ์วานแห่งอลีย์ (อ) ให้มืดสนิท ให้เขาทราบ หลังจากนั้น เขาได้ถามมัยษัมด้วยความอหังการว่า “ไหนล่ะพระเจ้าของเจ้า ?”
มัยษัมได้ตอบอย่างไม่สะทกสะท้านและไม่เกรงขามต่ออำนาจอันป่าเถื่อนของเขาว่า “พระองค์ทรงประทับไม่ไกลจากเหล่าอธรรมหรอก”
เขาจึงกล่าวขึ้นว่า “ฉันได้ข่าวถึงชะตากรรมที่ถูกทำนายเกี่ยวกับเจ้า ?”
มัยษัม “ใช่” แล้วเขาได้ยืนยันถึงรายละเอียดของคำทำนายของอลีย์ (อ) กับอุบัยดิลลาฮฺ
เขาจึงถามต่อว่า “อลีย์ (อ) ได้ทำนายว่าฉันจะจัดการกับเจ้าอย่างไร ?”
มัยษัม :- “เมาลาของฉัน อลีย์ (อ) ได้กล่าวว่าเจ้าจะแขวนคอฉัน และฉันจะเป็นคนที่สิบที่จะได้รับชะฮาดะฮฺในสภาพเช่นนั้น เพียงแต่เชือก (ไม้) ที่ใช้แขวนคอฉันจะสั้นกว่าคนอื่น”
อุบัยดิลลาฮฺ ได้กล่าวด้วยเสียงที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นว่า “แต่ฉันจะจัดการกับเจ้าให้ขัดแย้งกับสิ่งที่อลีย์ (อ) ได้ทำนายไว้”
มัยษัมจึงกล่าวอย่างเย้ยหยันว่า “เจ้าจะสามารถปฏิบัติให้ฝืนกับคำพูดของผู้เป็นเมาลาของฉันกระนั้นหรือ ? ! ทั้ง ๆ ที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) คือผู้ที่แจ้งข่าวเกี่ยวกับชะตากรรมของฉันให้อลีย์ (อ) และญิบรีลอะมีน (อ) คือผู้ที่แจ้งข่าวนี้แก่ท่าน (ศ) และญิบรีลอะมีน (อ) ได้รับวิวรณ์นี้มาจากอัลลอฮฺ ? ในขณะที่ฉันล่วงรู้แม้กระทั่งสถานที่ที่เป็นตะแลงแกงของฉัน และรู้ว่าฉันคือมุสลิมคนแรกที่พวกเขาจะใช้แซ่หวดที่ปากของฉัน”
อุบัยดิลลาฮฺได้สั่งให้นำมัยษัม ตัมมารฺ ไปขังคุก และในคุกนั่นเองที่มัยษัมได้มีโอกาสพบกับมุคตารฺ และได้กล่าวกับเขาว่า ท่านจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระในไม่ช้านี้ และท่านคือผู้ที่จะชำระหนี้เลือดให้กับหุสัยน์ อิบนุอลีย์ (อ) และจะเป็นผู้ที่จัดการสังหารอุบัยดิลลาฮฺ อิบนุซิยาด
วันเวลาผ่านไปไม่นาน มุคตารฺก็ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ ในขณะเดียวกัน อุบัยดิลลาฮฺก็ได้สั่งให้นำตัวของมัยษัมไปแขวนประจานที่ต้นไม้ใกล้บ้านของอัมรฺ อิบนุหะรีษ ในวันนั้นเองที่อัมรฺได้หวนรำลึกถึงนัยที่มัยษัมได้กล่าวกับเขาครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้น เขาได้กำชับให้คนรับใช้ของเขาทำความสะอาดที่ใต้ต้นอินทผลัมนั้น พร้อมทั้งให้จุดตะเกียงให้สว่างไสวตลอดเวลา
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
๓๒
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
ด้วยศรัทธาที่ฝังแน่นอยู่ในดวงใจของมัยษัมที่มีต่อวงศ์วานแห่งอลีย์ (อ) นั้นเอง ในขณะที่เขาถูกแขวนประจานนั้น ประชาชนต่างพากันไปเยี่ยมเยียนและถามไถ่ถึงฐานภาพและเกียรติคุณของอะฮฺลุลบัยต์ของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) จนกระทั่งข่าวคราวได้รู้ไปถึงหูของอิบนุซิยาดว่าเขาได้กล่าวเทิดเกียรติอะฮฺลุลบัยต์ และสร้างความอัปยศและความตกต่ำแก่เขา เป็นการตอกย้ำความเคียดแค้นชิงชังในกมลสันดานของเขามากยิ่งขึ้น เขาจึงได้สั่งให้ปิดปากมัยษัมเพื่อมิให้มีโอกาสได้พูดอีกต่อไป
เหตุการณ์ยังคงดำเนินไปตามคำทำนายของเมาลามุตตะกีน อลีย์ (อ) ต่อไป เมื่อย่างเข้าสู่วันที่สองที่เรือนร่างของมัยษัมถูกแขวนประจานอยู่นั้น พวกนั้นได้ใช้วิธีการทรมานต่าง ๆ นานาจนเลือดสีแดงฉานทั้งจมูกและปากได้หลั่งชโลมเคราของเขาจนเปียกชุ่ม และในที่สุด พวกมันได้ใช้หอกทิ่มแทงไปยังเรือนร่างของบุรุษผู้เปี่ยมล้นไปด้วยความรักความศรัทธาต่ออะฮฺลุลบัยต์ (อ) จนเขาได้กลายเป็นชะฮีดในที่สุด และเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ประสบกับวีรชนแห่งพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ถึงจุดอวสานด้วยประการฉะนี้” (ชัรฺหอิบนุอบิลหะดีด เล่ม 2 หน้า 291)
ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามญะมัล และการพิชิตชัยชนะเหนือบัศเราะฮฺโดยทหารของท่านอลีย์ (อ) แล้ว ท่านได้กล่าวคุฏบะฮฺว่า
“ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เมืองของพวกท่านจะต้องจมอยู่ใต้บาดาล และมัสญิดของพวกท่านจะดูประหนึ่งนาวาในท้องทะเลอันเวิ้งว้าง พระองค์จะทรงลงทัณฑ์เมืองนี้ทั้งจากข้างบนและข้างล่าง”
อิบนุอบิลหะดีด ได้อรรถาธิบายคำพูดดังกล่าวว่า “นับจากนั้นเป็นต้นมา เมืองบัศเราะฮฺได้จมอยู่ใต้บาดาลถึงสองครั้งด้วยกัน ครั้งหนึ่ง ในยุคสมัยของเคาะลีฟะฮฺ “อัลกอดิรฺ บิลลาฮฺ” บัศเราะฮฺได้จมอยู่ใต้ผิวน้ำเมื่อน้ำจากอ่าวเปอร์เซียได้ไหลทะลักและเอ่อล้นเข้ามาจนทำให้ตึกรามบ้านช่องต้องจมดิ่งอยู่ใต้บาดาล ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ ที่จะสามารถมองเห็นได้ นอกจากมัสญิดที่ท่านอลีย์ (อ) ได้ทำนายไว้เท่านั้น และเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งสองครั้งได้ทำลายบ้านเรือน ตลอดจนผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก” (ชัรฺหอิบนุอบิลหะดีด เล่ม 1 หน้า 253)
อิมามหะสัน มุจญ์ตะบา (อ) ได้ทำนายถึงชะตากรรมของท่านเองว่าท่านจะต้องถูกวางยาพิษด้วยน้ำมือของ “ญุอฺดะฮฺ” ภรรยาคนหนึ่งของท่าน นอกจากนี้ ท่าน (อ) ยังได้กล่าวกับอิมามหุสัยน์ (อ) ผู้เป็นน้องชายว่า “ผู้คนจำนวน 30,000 คน ที่แอบอ้างว่าเป็นประชาชาติอิสลามจะร่วมกันเข่นฆ่าและสังหารเจ้า และจะจับลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวของเจ้าเป็นเชลยศึก” ( อิษบาตุลฮุดา เล่ม 5 หน้า 147)
ภายหลังจากที่บนีฮาชิมได้มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก “มุหัมมัด อิบนุอับดิลลาฮฺ” ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺแล้ว พวกเขาได้จัดประชุมใหญ่ขึ้นทันทีพร้อมกับขอร้องให้อิมามศอดิก (อ) เข้าร่วมในที่ประชุมนั้นด้วย ซึ่งท่าน (อ) ได้ตอบรับคำเชิญของพวกเขา
ณ ที่ประชุมแห่งนั้น อับดุลลอฮฺ ได้เรียกร้องให้อิมาม (อ) ให้สัตยาบันแก่มุหัมมัด แต่อิมาม (อ) ได้ตอบเขาว่า
“ทั้งเจ้า ทั้งมุหัมมัด และทั้งอิบรอฮีม ผู้เป็นบุตรทั้งสองของเจ้าจะไม่มีวันได้ขึ้นสู่ตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺแม้แต่คนเดียว ผู้ที่จะได้เป็นเคาะลีฟะฮฺคนแรกคือชายผู้นี้” แล้วท่าน (อ) ได้ชี้ไปยัง “สะฟาหฺ” และกล่าวต่อไปว่า “หลังจากนั้นก็เป็นเขา” แล้วท่านได้ชี้ไปยัง “มันศูรฺ" แล้วท่านได้กล่าวต่อไปว่า “หลังจากนั้นจะเป็นคิวของลูกหลานของอับบาส ซึ่งมันจะดำเนินเรื่อยไปจนแม้กระทั่งเด็ก ๆ ก็จะได้เป็นเคาะลีฟะฮฺ และเหล่าสตรีก็จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้วย และในช่วงเวลานั้นเองที่มุหัมมัดและอิบรอฮีมผู้เป็นบุตรชายทั้งสองของเจ้าจะถูกสังหาร” (มะกอติลุฏฏอลิบีน อบุลฟะรัจญ์ อิศฟะฮานีย์ หน้า 172)
ก่อนที่ “ซัยด์ อิบนุอลีย์” ผู้เป็นน้องชายของอิมามมุหัมมัด บากิรฺ (อ) จะถูกจับแขวนคอที่ตำบลกินาสะฮฺ เมืองกูฟะฮฺ ได้ไม่นาน ท่านอิมาม (อ) ได้เคยกล่าวกับเขาว่า
“... จงอย่าได้รีบร้อน เพราะพระผู้อภิบาลจะไม่ทรงรีบเร่งปวงบ่าวของพระองค์ และจงอย่าได้ล้ำหน้าพระองค์ (จงอย่าด่วนปฏิบัติการใดก่อนที่เวลาจะมาถึง) ซึ่งพวกเขาจะสร้างวิกฤติจนท่านไม่อาจจะขจัดมันได้ และจะทำให้ท่านประสบกับความอัปราชัย ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ! โอ้ ผู้เป็นน้องของฉัน ท่านจะต้องถูกจับแขวนคอ ณ ตำบลกินาสะฮฺอย่างแน่นอน” (อิษบาตุลฮุดา เล่ม 5 หน้า 266)
ชัยค์หุรฺ อามิลีย์ ได้บันทึกไว้ว่า “หะดีษที่ท่านอิมามบากิรฺ (อ) ได้กล่าวนั้น เป็นหะดีษตะวาตุรฺ”
“หุสัยน์ บัชชารฺ” รายงานว่า ท่านอิมามอลีย์ ริฎอ (อ) ได้กล่าวว่า “อับดุลลอฮฺ จะฆ่ามุหัมมัด” ฉันจึงถามท่านว่า “อับดุลลอฮฺ ฮารูน (อัรฺเราะชีด) จะฆ่าพี่ชายของเขา ? !”
ท่านตอบว่า “ใช่แล้ว อับดุลลอฮฺ ซึ่งพำนักอยู่ที่คุรอซาน จะสังหารมุหัมมัด บุตรของซุบัยดะฮฺ ซึ่งพำนักอยู่ที่แบกแดดอย่างแน่นอน” (มะกอติลุฏฏอลิบีน หน้า 298)
“หุซัยฟะฮฺ” เล่าว่า ฉันได้ยินหุสัยน์ อิบนุอลีย์ (อ) กล่าวว่า
“ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ! บนีอุมัยยะฮฺจะต้องร่วมมือกันหลั่งเลือดของฉันอย่างแน่นอน โดยจะมีอุมัรฺ อิบนุสะอัด เป็นแม่ทัพ อิมาม (อ) ได้กล่าวประโยคดังกล่าวตั้งแต่ครั้งที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงถามท่าน (อ) ว่า “โอ้ ผู้เป็นบุตรแห่งเราะสูลุลลอฮฺ ! ท่านเราะสูล (ศ) เป็นผู้กล่าวเช่นนั้นหรือ ?” ท่านจึงตอบว่า “หามิได้”
หลังจากนั้น ฉันจึงไปพบท่าน (ศ) เพื่อเล่าเรื่องราวที่อิมามหุสัยน์ (อ) กล่าวให้ท่านฟัง
ท่าน (ศ) จึงกล่าวว่า
“ความรู้ของฉัน ก็คือความรู้ของหุสัยน์
และความรู้ของหุสัยน์ ก็คือความรู้ของฉัน” (อิษบาตุลฮุดา เล่ม 5 หน้า 207)
“อบูฮาชิม” เศาะหาบะฮฺคนหนึ่งของท่านอิมามหะสัน อัสกะรีย์ (อ) กล่าวว่า
“ฉันได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงท่านอิมาม (อ) เพื่อเล่าถึงการถูกทรมานและความทุกข์เข็ญที่ฉันต้องประสบอยู่ในคุก แต่ท่าน (อ) กลับตอบจดหมายของฉันว่า “เจ้าจะได้ไปนมาซซุฮรฺที่บ้านของเจ้าในวันนี้” ปรากฏว่าเมื่อเวลาเที่ยงของวันนั้นได้มาถึง ฉันได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ และได้นมาซซุฮรฺที่บ้านของฉัน” (อิษบาตุลฮุดา เล่ม 6 หน้า 286)
“ค็อยรอน” เล่าว่า “วันหนึ่ง ฉันได้ไปพบท่านอิมามอลีย์ ฮาดีย์ (อ) ท่าน (อ) ได้ถามฉันว่า “มีข่าวคราวของ“วาษิก” บ้างไหม ? ฉันจึงตอบว่า “ฉันได้พบกับเขาเมื่อสิบวันก่อน เขาสบายดีครับท่าน”
ท่าน (อ) จึงกล่าวว่า “ชาวเมืองมดีนะฮฺพากันกล่าวว่าเขาได้ตายไปแล้ว” หลังจากนั้น ท่าน (อ) ได้ถามว่า “แล้ว “ญะอฺฟัรฺ” ล่ะ ?”
ฉันได้ตอบว่า “เขาถูกจับกุมคุมขังอยู่ในคุกและมีสภาพที่น่าเวทนายิ่งนัก”
ท่าน (อ) จึงกล่าวว่า “บัดนี้ เขาได้ผู้ปกครองแล้ว”
หลังจากนั้น ท่านได้กล่าวถึงอิบนุซิยาต และได้ถามว่า “เขาทำอะไรอยู่หรือ ?” ฉันจึงตอบว่า “เขากำลังหมกมุ่นอยู่กับภารกิจการงาน ในขณะที่ผู้คนต่างพากันห้อมล้อมเขา” ท่านจึงกล่าวว่า “เขาหาได้มีความสุขไม่” ท่านได้เงียบไปครู่หนึ่ง แล้วจึงกล่าวต่อไปว่า
“ทุกสิ่งจะต้องเป็นไปตามกฎสภาวะ (มุก็อดดะรอต) ของอัลลอฮฺ วาษิกได้ตายไป ญะอฺฟัรฺได้เป็นเคาะลีฟะฮฺ ส่วนอิบนุซิยาตถูกสังหาร”
ฉันจึงถามว่า “เมื่อไรหรือ ?”
ท่านจึงตอบว่า “เหตุการณ์ทั้งหมดได้อุบัติขึ้นภายหลังจากเจ้าได้เดินทางออกจากที่นั่นเพียงหกวัน” (อิษบาตุลฮุดา เล่ม 6 หน้า 213)
“สุวัยด์ อิบนุฆอฟละฮฺ” เล่าว่า “วันหนึ่ง ขณะที่ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) กำลังคุฏบะฮฺอยู่นั้น ชายผู้หนึ่งได้ลุกขึ้นกล่าวว่า
“โอ้ อมีรุลมุอ์มินีน ! ในขณะที่ฉันกำลังเดินทางผ่าน “วาดิลกุรอ” นั้น ฉันได้ยินข่าวว่า “คอลิด อิบนุอัรฺฟิเฏาะฮฺ” ถึงแก่ความตาย ขอให้ท่านช่วยวิงวอนขอให้พระองค์ทรงอภัยโทษแก่เขาด้วยเถิด”
อลีย์ (อ) จึงกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ! เขายังมีชีวิตอยู่ และจะยังคงดำเนินชีวิตต่อไปจนกว่าเขาจะได้เป็นผู้ชี้นำเหล่าทหารที่หลงผิดที่อยู่ภายใต้การถือธงของ “หะบีบ อิบนุหัมมารฺ”
ในทันใดนั้นเอง ชายคนหนึ่งได้ลุกขึ้นพร้อมกับกล่าวว่า “ฉันนี่แหละคือหะบีบ อิบนุหัมมารฺ เหตุใดท่านจึงกล่าวเกี่ยวกับฉันเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่ฉันเป็นผู้ที่จงรักภักดีและเป็นชีอะฮฺของท่าน ?
อลีย์ (อ) จึงถามขึ้นว่า “เจ้าคือหะบีบ อิบนุหัมมารฺ กระนั้นหรือ ?” เขาจึงตอบว่า “ใช่ครับ”
ท่าน (อ) จึงกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ! เจ้าจะเป็นผู้ถือธงนำกองทัพนั้นอย่างแน่นอน และเจ้าจะเข้าสู่มัสญิดกูฟะฮฺทางประตูด้านนี้” แล้วท่านได้ชี้ไปยังบาบุลฟีล (ประตูช้าง)
“ษาบิต ษุมาลีย์” กล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันคือผู้หนึ่งที่ได้อยู่เห็นเป็นพยานว่าอิบนุซิยาดได้แต่งตั้งอุมัรฺ อิบนุสะอัด ให้เป็นแม่ทัพนำกองทัพอันมหึมาเพื่อไปเผชิญหน้ากับหุสัยน์ อิบนุอลีย์ (อ) โดยมีคอลิด อิบนุอัรฟิเฏาะฮฺ เป็นผู้บัญชาการรบ และมีหะบีบ อิบนุหัมมารฺ เป็นผู้ถือธง และได้เข้าสู่มัสญิดกูฟะฮฺทางบาบุลฟีล” (ชัรฺหอิบนุอบิลหะดีด เล่ม 2 หน้า 286)
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) ได้ทำนายไว้อย่างน่าประหลาดใจก็คือ เหตุการณ์ที่ “เราะชีด ฮิจญ์รีย์” ได้ถูกจับตัวส่งให้อิบนุซิยาด เมื่อไปถึง อิบนุซิยาดได้ถามเขาว่า
“อลีย์ได้ทำนายว่าฉันจะจัดการกับเจ้าไว้อย่างไรบ้าง ?”
เราะชีดจึงตอบว่า “ท่านได้กล่าวว่าเจ้าจะตัดมือและเท้าของฉัน แล้วนำฉันไปแขวนคอ” อิบนุซิยาดจึงกล่าวว่า “ขอสาบานต่อพระเจ้า ! ฉันจะจัดการกับเจ้าให้ขัดแย้งกับสิ่งที่อลีย์ (อ) ได้ลั่นวาจาไว้ เพื่อพิสูจน์ว่าวาจาของเขาหาได้ศักดิ์สิทธิ์ไม่”
เขาได้สั่งให้ปล่อยตัวเราะชีดทันที แต่ในขณะที่เราะชีดกำลังจะเดินออกจากสถานที่นั้น เขาได้ตะโกนขึ้นว่า “จงนำตัวเขากลับมาเดี๋ยวนี้ ฉันไม่เห็นว่าจะมีการลงทัณฑ์อันใดที่จะสาสมยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว จงจัดการตัดมือและเท้า และนำเขาไปแขวนคอเดี๋ยวนี้ เพื่ออุดมการณ์ในการเรียกร้องความยุติธรรมจะได้อันตรธานไปจากชีวิตของเขา ในที่สุด มือและเท้าของวีรบุรุษแห่งพระผู้เป็นเจ้าได้ถูกตัดจนขาดสะบั้น แต่ด้วยพลังศรัทธาอันมั่นคงที่ทำให้ลิ้นของเขายังคงยืนยันถึงความเป็นวีรบุรุษนักรบผู้หาญกล้าของเขาต่อไป
อิบนุซิยาดไม่อาจจะควบคุมสติอารมณ์ของตนอีกต่อไป เขาได้บันดาลโทสะด้วยการออกคำสั่งให้ตัดลิ้นของเราะชีด แต่ก่อนที่เราะชีดจะไม่มีโอกาสใช้ลิ้นจำนรรจาถ้อยคำแห่งสัจธรรมอีกต่อไป เขาได้กล่าวรำลึกถึงถ้อยคำของผู้เป็นนายว่า “เมาลาของฉันยังได้บอกฉันด้วยว่าพวกเขาจะตัดลิ้นของฉัน”
และในที่สุด พวกมันได้จัดการตัดลิ้นของวีรบุรุษผู้หาญกล้าที่พร่ำจำนรรจาถึงสัจธรรมอย่างไม่เหนื่อยหน่าย หลังจากนั้น พวกมันได้นำเขาไปแขวนคอ” (ชัรฺหอิบนุอบิลหะดีด เล่ม 2 หน้า 294)
นี่คือตัวอย่างเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในต่างยุคต่างสมัยซึ่งนักประวัติศาสตร์และนักรายงานหะดีษได้บันทึกในตำราต่าง ๆ อย่างมากมาย ผู้ที่มีจิตใจเที่ยงธรรมจะต้องยอมจำนนว่าบรรดาอะอิมมะฮฺ มะอฺศูมีน (อลัยฮิมุสลาม) ต่างสามารถติดต่อสัมพันธ์กับสิ่งพ้นญาณวิสัย และด้วยอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาสามารถจะรู้ถึงสิ่งเร้นลับได้
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน
ทางเว็บไซต์อัลฮะซะนัยน์ได้ปรับเนื้อหาคำแปลบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่
๓๓