ศาสนบัญญัติที่ควรรู้

ศาสนบัญญัติที่ควรรู้0%

ศาสนบัญญัติที่ควรรู้ ผู้เขียน:
กลุ่ม: วิชาฟิกฮ์
หน้าต่างๆ: 3

ศาสนบัญญัติที่ควรรู้

ผู้เขียน: เว็บไซต์ อัชชีอะฮ์
กลุ่ม:

หน้าต่างๆ: 3
ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 22051
ดาวน์โหลด: 595

รายละเอียด:

ศาสนบัญญัติที่ควรรู้
ค้นหาในหนังสือ
  • เริ่มต้น
  • ก่อนหน้านี้
  • 3 /
  • ถัดไป
  • สุดท้าย
  •  
  • ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 22051 / ดาวน์โหลด: 595
ขนาด ขนาด ขนาด
ศาสนบัญญัติที่ควรรู้

ศาสนบัญญัติที่ควรรู้

ผู้เขียน:
ภาษาไทย
ศาสนบัญญัติที่ควรรู้ ศาสนบัญญัติที่ควรรู้
แปลและเรียบเรียง:เว็บไซต์อัชชีอะฮ์



อหฺกาม(ศาสนบัญญัติ)
ดังกล่าวไปแล้วว่า หลักการของอิสลามได้แบ่งออกเป็น ๓ สามหมวดใหญ่ ๆ คือ หลักการศรัทธา หลักการปฏิบัติและอหฺกาม โดยได้นำหลักการปฏิบัติมาไว้หลังจากการเรียนรู้จักพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ว่าเมื่อรู้แล้วต้องปฏิบัติ เช่น การทำนมาซ ถือศีลอด และ ฯลฯ อันเป็นการแสดงออกถึงการเป็นบ่าวและการเชื่อฟังปฏิบัติตามบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ส่วนอหฺกามการปฏิบัติที่จะกล่าวเป็นอันดับแรกได้แก่ การทำนมาซและการถือศีลอด

นมาซ
นมาซ เป็นข้อบังคับประการแรกของหลักการอิสลาม จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น การละเว้นย่อมได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ดังที่อัล-กุรอานได้กล่าวถึงชาวสวรรค์ที่พวกเขาได้ถามชาวนรกดังนี้ว่า

“อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกท่านต้องอยู่ในไฟนรก พวกเขาได้ตอบว่าเป็นเพราะพวกเราไม่ทำนมาซ” (ซูเราะฮฺ อัล-มุดดัษษิร: ๔๒-๔๓)

ท่านศาสดา(ศ็อล ฯ) กล่าวว่า “นมาซเป็นเสาหลักของศาสนา ถ้านมาซถูกยอมรับ ณ อัลลอฮฺ อิบาดะอื่น ๆ ก็จะถูกยอมรับไปด้วย แต่ถ้านมาซถูกปฏิเสธ อิบาดะฮอื่น ๆ ก็จะถูกปฏิเสธด้วย”

นมาซเปรียบเสมือนเป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา ดังเช่นคนที่ทำความสะอาดร่างกายวันละ ๕ ครั้ง แน่นอน ร่างกายของเขาจะไม่มีความสกปรกโสมมติดค้างอีกต่อไป และถึงแม้ว่าจะมีแต่ก็น้อย คนที่ทำนมาซวันละ ๕ เวลาก็เช่นเดียวกัน ความผิดบาปของเขาจะถูกผ่อนจากหนักให้เป็นเบาหรืออาจถูกชำระล้างจนหมดสิ้น แต่ต้องพึงสังวรอยู่เสมอว่าหากทำนมาซโดยไม่ได้ใส่ใจหรือไม่ได้ให้ความสำคัญต่อนมาซ ก็เท่ากับว่าเขาไม่ได้ทำนมาซ อัล-กุรอาน กล่าวว่า

“ขอความหายนะจงมีแด่พวกทำนมาซ ผู้ซึ่งเป็นพวกเผลอเรอต่อนมาซของพวกเขา” (ซูเราะฮฺ อัล-มาอูน: ๕)

วันหนึ่งท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้เดินเข้าไปในมัสญิดและเห็นคน ๆ หนึ่งกำลังทำนมาซอยู่โดยที่เขาทำระกูอฺกับสุญูดไม่สมบูรณ์ ท่านศาสดาจึงได้กล่าวว่า“ถ้าหากชายผู้นี้ตายลงในขณะที่เขากำลังทำนมาซ เท่ากับเขาได้ตายโดยมิได้เป็นมุสลิม”
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นสำหรับทุก ๆ คนที่ต้องทำนมาซด้วยความนอบน้อมและตั้งใจ ซึ่งขณะที่ทำนมาซอยู่นั้นต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าตนกำลังสนทนาอยู่กับผู้ใด ทุกอิริยาบถที่แสดงออกไม่ว่าจะเป็นการระกูอฺหรือสุญูดและขั้นตอนอื่นๆต้องทำให้ดีและสมบูรณ์ที่สุดเพื่อที่จะได้รับบทสรุปที่ดีที่สุดจากนมาซ อัล-กุรอาน กล่าวว่า
“แท้จริงแล้ว นมาซเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะยับยั้งความอนาจารและสิ่งต้องห้าม” (ซูเราะฮฺ อัล-อังกะบูต : ๔๕)

ซึ่งในความเป็นจริงถ้าพิจาณาที่มารยาทของนมาซที่ถูกกำหนดไว้ แน่นอนเขาจะไม่มีวันทำความผิดบาป เช่น สถานที่ทำนมาซต้องได้รับอนุญาตและเสื้อผ้าชุดนั้นก็ต้องไม่ใช่เสื้อผ้าที่ขโมยมา แต่ถ้าเป็นเสื้อผ้าที่ขโมยมา นมาซของเขาถือว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นความจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัตินมาซทุก ๆ คนที่จะต้องระมัดระวังอย่างดีที่สุด และแม้ว่าจะเป็นการกระทำเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นเขาก็ต้องหลีกเลี่ยงอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่อนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินที่หะรอม (ไม่อนุมัติ)

ทำนองเดียวกัน นมาซจะเป็นที่ยอมรับของพระองค์ก็ต่อเมื่อผู้นมาซต้องเป็นคนที่ไม่มีความอิจฉาริษยา ไม่ลุ่มหลงต่อโลกและรวมไปถึงคุณลักษณะที่ไม่ดีอื่น ๆ อันเป็นคุณลักษณะที่ต่ำทราม เป็นที่ทราบกันดีว่าความประพฤติมิชอบย่อมเป็นบ่อเกิดของคุณลักษณะที่ต่ำทราม ขณะเดียวกันมักจะพบเจอคนที่ทำนมาซเป็นประจำแต่เขาก็ยังทำความผิดอยู่ สาเหตุก็คือเขาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่จำเป็นของนมาซ และในที่สุดนมาซของเขาก็ไม่ได้รับการตอบรับ

หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า นมาซเป็นหลักการที่พิถีพิถันอย่างมากที่ต้องให้ความกระตือรือร้นเป็นพิเศษ ไม่ว่าผู้ทำนมาซจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม (หรือแม้แต่สภาพใกล้ตาย)เป็นวาญิบต้องทำนมาซ และถ้าไม่สามารถอ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮฺและซูเราะฮฺอื่นได้ทางปาก ก็ให้อ่านในใจถ้าไม่สามารถยืนทำได้ก็อนุญาตให้นั่งทำ และถ้าไม่สามารถนั่งทำได้ก็อนุญาตให้นอนทำ จุดประสงค์ก็คือไม่ว่ามนุษย์จะอยู่ในสภาพอย่างไรก็ตามเขาต้องทำนมาซ หรือแม้แต่ในภาวะสงครามที่กำลังสู้รบกันอยู่ หรือในภาวะที่จำเป็นที่ไม่สมารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น ไม่สามารถหันหน้าไปทางกิบละฮฺได้ ให้นึกอยู่ในใจว่าตรงกับกิละฮฺก็ถือว่าเพียงพอ

นมาซที่เป็นวาญิบ
นมาซวาญิบมีอยู่ด้วยกัน ๖ ประเภท ดังนี้

๑.นมาซประจำวัน ๕ เวลา
๒.นมาซอายาต (เมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและผู้คนหวาดกลัว)
๓.นมาซมัยยิต (นมาซให้กัลผู้ตายหรือนมาซคนตาย)
๔.นมาซเฎาะวาฟวาญิบ (เฎาะวาฟเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการทำหัจญ์)
๕.นมาซชดใช้แทนบิดามารดา ซึ่งเป็นวาญิบสำหรับบุตรชายคนโต
๖.นมาซนะซัร (เป็นการบนบานกับอัลลอฮฺ(ซบ.) เช่น หากข้าพระองค์หายป่วยจะทำนมาซ ๒ เราะกะอัต)

ขั้นเตรียมการของนมาซ
สำหรับการทำนมาซซึ่งหมายถึงการปรากฏตน ณ เบื้องพระพักตร์ของอัลลอฮฺ (ซบ.)องค์พระผู้อภิบาล ซึ่งถือเป็นการแสดงความเป็นบ่าวที่จงรักภักดีต่อพระองค์ นมาซจำเป็นต้องมีการเตรียมการ ถ้าปราศจากขั้นตอนเหล่านี้ถือว่านมาซไม่ถูกต้อง ขั้นเตรียมการของนมาซประกอบด้วย ความสะอาด, เวลา,เสื้อผ้า, สถานที่และกิบละฮฺ

๑.ความสะอาด
ผู้ทำนมาซทุกคนขณะที่จะทำนมาซต้องเป็นผู้ที่มีความสะอาด หมายถึงปฏิบัติตามหน้าที่ของตนที่ได้ถูกกำหนดไว้คือ ก่อนทำนมาซต้องทำ “วุฎู”หรือ “ฆุสุล” หรือ“ตะยัมมุม” และร่างกายกับเสื้อผ้าต้องไม่เปรอะเปื้อนนะญิส หรือ นิญาสาต

นะญิส หมายถึงสิ่งโสโครกทางศาสนา ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ดังนี้
๑.-๒.ปัสสาวะ – อุจจาระ (ทั่ว ๆ ไป) และรวมไปถึงปัสสาวะ อุจจาระของสัตว์ที่เนื้อเป็นหะรอม(ไม่อนุมัติให้ประทาน) ที่มีเลือดไหลพุ่งหมายถึง สัตว์บางประเภทที่เมื่อตัดเส้นเลือดแล้วจะมีเลือดไหลพุ่งออกมา เช่น แมว สุนัขจิ้งจอก กระต่ายและสัตว์อื่นที่ลักษณะคล้ายคลึงกัน และรวมไปถึง ไก่หรือสัตว์ประเภทอื่นที่กินนะญิสเข้าไปและเนื้อของได้กลายเป็นอะรอม ถือว่าปัสสาวะและอุจจาระของเป็นนะญิสด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ ช่องทวารเบาเฉพาะน้ำเท่านั้นที่ทำความสะอาดได้ ส่วนช่องทวารหนักนั้นสามารถใช้น้ำทำความสะอาดหรือใช้ก้อนหิสามก้อนหรือสิ่ง ที่คล้ายคลึงกับก้อนหิน(เฉพาะในกรณีที่อุจจาระไม่กระเด็นเปรอะเปื้อนบริเวณ อื่น)ถ้าไม่เช่นนั้นนอกเหนือจากน้ำแล้วอย่างอื่นไม่สามารถทำความสะอาดได้

๓.ซากสัตว์ สัตว์ที่มีเลือดไหลพุ่ง ไม่ว่าเนื้อจะเป็นหะรอมหรือหะล้าลก็ตาม ถือว่าเป็นนะญิสทั้งสิ้น ยกเว้นบางส่วนจากร่างกายของ เช่น ขน ผม เล็บ (เป็นส่วนที่ไม่มีวิญญาณ)ถือว่าสะอาด

๔.เลือดของสัตว์ที่มีเลือดไหลพุ่ง ไม่ว่าเนื้อจะเป็นหะรอมหรือหะล้าลก็ตาม ถือว่าเลือดของเป็นนะญิส

๕. -๖. สุนัข – สุกร อวัยวะทุกส่วนบนร่างของแม้กระทั่งขน ถือเป็นนะญิส

๗.สุรา หรือของเหลวทุกประเภทที่ดื่มเข้าไปแล้วทำให้เกิดอาการมึนเมา ถือเป็นนะญิส

๘.เบียร์


สิ่งที่ใช้ทำความสะอาด
สิ่งที่สามารถขจัดนะญิสได้ เรียกว่า “มุเฏาะฮิร” (หมายถึงสิ่งที่ใช้ทำความสะอาดนะญิส) ประกอบด้วย

๑.น้ำ ของที่เปื้อนนะญิสสามารถใช้น้ำทำความสะอาดได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ (ไม่มีสิ่งใดเจือปน)ถ้าและต้องไม่เป็นน้ำผสม (มีสิ่งอื่นเจือปน)เช่น น้ำผลไม่ น้ำกุหลาบ ไม่สามารถใช้ทำความสะอาดนะญิสได้ และถ้าทำวุฎูหรือฆุสลฺด้วยกับน้ำดังกล่าว ถือว่าไม่ถูกต้อง (บาฏิล)

หมายเหตุ น้ำแย่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ น้ำบริสุทธิ์และน้ำไม่บริสุทธิ์ และน้ำบริสุทธิ์ยังแบ่งออกอีกเป็น ๒ ประเภท คือน้ำที่มีปริมาตร “กุร”หมายถึง น้ำทีมีน้ำหนักประมาณ ๓๘๔ กก. ถ้าหากมีนะญิสตกลงไปและไม่ทำให้สี กลิ่น รส อย่างหนึ่งอย่างใดเปลี่ยนไป ถือว่าไม่เป็นนะญิส

อีกประเภทหนึ่งคือ น้ำน้อย หมายถึงน้ำที่มีปริมาตรไม่ถึงกุร ถ้าหากมีนะญิสตกลงไป ถือว่าเป็นนะญิส

๒.พื้นดิน สามารถทำความสะอาดพื้นรองเท้ากับใต้ฝ่าเท้าได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องแห้งและบริเวณนั้นต้องไม่เป็นนะญิส

๓.แสงแดด สามารถทำความสะอาดพื้นดิน กำแพง ฝ่าและฝาผนังได้ ด้วยการส่องแสงไปยังบริเวณดังกล่าวจนแห้ง

๔.การกลายสภาพ หมายถึง สิ่งของที่เป็นนะญิสได้กลายสภาพเป็นของสะอาด เช่น สุนัขตกลงไปในทะเลเกลือและได้กลายเป็นเกลือ

๕.การเคลื่อนย้าย เช่น เลือดจากร่างกายมนุษย์หรือจากสัตว์ที่มีเลือดไหลพุ่ง ได้ย้ายไปอยู่ในตัวสัตว์ที่ไม่มีเลือดไหลพุ่ง เช่น ยุง หรือแมลงวัน หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้

๖.การหายไปของนะญิส จากภายนอกร่างของสัตว์หรือภายในของมนุษย์ เช่น ขนสัตว์หรือภายในรูจมูกของคนถ้าเปื้อนเลือด และหลังจากที่เลือดได้หายไป ถือว่าสะอาดไม่จำเป็นต้องใช้น้ำล้างอีก

๗.การตาม หมายถึง สิ่งที่เปื้อนนะญิสได้สะอาดตามของที่เปื้อนนะญิสที่ถูทำความสะอาดแล้ว เช่นกาฟิรฺได้กลายเป็นมุสลิมและลูกของเขาได้ตามเขา ถือว่าสะอาดด้วยเช่นกัน

๘.การระเหย เช่น น้ำองุ่นที่ต้มจนเดือดถือว่าเป็นนะญิส แต่ภายหลังจากที่น้ำองุ่นดังกล่าวระเหยไปสองในสามส่วน ส่วนที่เหลือถือว่าสะอาด

วุฎูและเงื่อนไข
เป็นมุสตะฮับก่อนทำวุฎูให้แปรงฟัน บ้วนปากและล้างจมูกก่อน

คำสั่งในการทำวุฎู
อวัยวะส่วนที่เป็นวาญิบที่ต้องทำวุฎูมี ๔ ส่วนด้วยกัน คือใบหน้า แขนทั้งสองข้าง ศีรษะและเท้าทั้งสอง

วิธีการทำวุฎูให้ล้างหน้าตั้งแต่ไรผมจนถึงปลายคาง ส่วนแขนทั้งสองข้างให้ล้างตั้งแต่ข้อศอกจนถึงปลายนิ้ว หลังจากนั้นให้ลูบศีรษะและหลังเท้าทั้งสองข้างจากปลายนิ้วเท้าจนถึงข้อเท้า สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการทำวุฎูอ ได้แก่

๑.อวัยวะที่จะทำวุฎูต้องสะอาดปราศจากนะญิสและสิ่งกีดขวางน้ำ
๒.น้ำที่ใช้ทำวุฎูต้องเป็นน้ำบริสุทธิ์และได้รับอนุญาต
๓.เนียต หมายถึง ทำวุฎูเพื่อความโปรดปรานของอัลลอฮฺ (ซบ.)ดังนั้น ถ้ามีจุดประสงค์อื่น เช่น เพื่อความเย็นหรือเพื่อดับกระหายจึงได้ทำวุฎู ถือว่าไม่ถูกต้อง

๔.ต้องทำไปตามขั้นตอน คือ อันดับแรกให้ล้างหน้า หลังจากนั้นล้างแขนขวาและแขนซ้าย ให้ลูบศีรษะ หลังเท้าขวาและหลังเท้าซ้าย
๕.ต้องทำอย่างต่อเนื่อง หมายถึง ในแต่ละขั้นตอนต้องทำให้ติดต่อกัน อย่างทิ้งช่วงให้ห่างจนอวัยวะที่ทำวุฎูแล้วก่อนหน้านี้น้ำได้แห้งหมดแล้ว

หมายเหตุ การลูบศีรษะไม่จำเป็นต้องโดนหนังศีรษะ เพียงลูบไปบนผมก็ถือว่าถูกต้อง แต่ถ้าผมในบริเวณอื่นได้มารวมกันตรงจุดที่จะทำการลูบ จำเป็นต้องปัดออกก่อน ในทำนองเดียวกันเช่นกัน กรณีที่เป็นคนผมยาวและโดยเฉพาะ บริเวณที่จะทำการลูบนั้นมีผมยาว ก่อนลูบให้หวีก่อนและต้องลูบให้โดนแถบโคนผม หรือไม่ก็ให้แหวกผมและลูบลงบนหนังศีรษะ

สิ่งที่ทำให้วุฎูเสีย
สิ่งทีเป็นเหตุทำให้วุฎูเสีย (บาฏิล)เรียกว่า “มุบฏิลาต”ประกอบไปด้วยปัสสาวะ อุจจาระ การผายลม หมดสติ มึนเมา การนอนหลับ(ทั้งประสาทหูและตา ดังนั้น ถ้าตาหลับแต่หูได้ยิน ถือว่าวุฎูไม่เสีย) เสียสติ มีญินาบัต (หมายถึงอสุจิได้เคลื่อนออกมา)และกรณีอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุจำเป็นต้องทำฆุสลฺ และรวมไปถึงการมีระดูเกินกำหนดด้วย

ฆุสลฺ
ฆุสลฺ. หมายถึง การอาบน้ำตามข้อกำหนดของศาสนา เช่น หลังจากการร่วมหลับนอนหรือหลังจากหมดรอบเดือน เป็นต้น
ฆุสลฺ สามารถทำได้สองวิธี คือ แบบตัรตีบี (ทำเป็นขั้นตอน)และอิรติมาซี (ดำลงในน้ำ)

ฆุสลฺตัรตีบี มี ๓ ขั้นตอน ดังนี้คือ
·อันดับแรก ให้ล้างศีรษะกับลำคอ
·อันดับที่สอง ให้ล้างซีกขวาของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า
·อันดับที่สาม ให้ล้างซีกซ้ายโดยทำเหมือนกับอับดับที่สอง

ฆุสลฺอิรติมาซี หมายถึง การดำลงในน้ำเพียงครั้งเดียว โดยให้ร่างกายทั้งหมดอยู่ใต้น้ำ
ฆุสลฺแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ฆุสลฺที่เป็นวาญิบและฆุสลฺที่เป็นมุสตะฮับ ฆุสลฺมุสตะฮับนั้นมีมากมายหลายประเภทซึ่งจะไม่ขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้ แต่จะกล่าวเฉพาะฆุสลฺที่เป็นวาญิบเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๗ ประเภท

๑.ฆุสลฺญินาบัต (ภายหลังจากการร่วมหลับนอน)
๒.ฆุสลฺมัยยิต (อาบน้ำให้คนตาย)
๓.ฆุสลฺ มัสส์ มัยยิต (สัมผัสคนตาย)ที่ร่างของเขาเย็นแล้วและยังไม่ได้ทำฆุสลฺมัยยิต ผู้สัมผัสจำเป็นต้องทำฆุสลฺมัสมัยยิต
๔.ฆุสลฺนะซัร หมายถึง ได้บนบานหรือสาบานว่าจะทำฆุสลฺ
๕.ฆุสลฺเหฎ (ภายหลังจากการหมดรอบเดือน)
๖.ฆุสลฺนิฟาส (โลหิตหลังการคลอดบุตรได้หมดลง)
๗.ฆุสลฺอิสติฮาเฎาะฮฺ (ระดูเกินกำหนด)
ฆุสลฺ ๔ ประเภทแรกเป็นฆุสลฺร่วมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ส่วน ๓ ประเภทหลังเป็นฆุสลฺเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น

สิ่งที่เป็นหะรอม (ต้องห้าม)ขณะมีญุนูบ
๑.สัมผัสอักษรอัล-กุรอาน พระนามของอัลลอฮฺ (ซบ.) ชื่อของท่านศาสดาและบรรดาอิมาม
๒.เข้าไปในมัสญิดหะรอมและมัสญิดุนนบี
๓.เข้าไปหยุดในมัสญิดอื่น (ที่นอกเหนือจากสองมัสญิดข้างต้น)และได้วางของในมัสญิดนั้น
๔.อ่านอัล-กุรอานซูเราะฮฺหนึ่งซูเราะฮฺใดที่มีสัจดะฮฺวาญิบ(ซูเราะฮฺอัล นัจม,อิกเราะฮ, อลีฟลามตันซีล และฮามีมสัจดะฮ)
หมายเหตุ การทำฆุสลฺก็เหมือนกับทำวุฎู กล่าวคือ จำเป็นต้องเนียต ร่างกายก่อนทำฆุสลฺต้องสะอาดและต้องไม่มีอุปสรรดกีดขวางน้ำไม่ให้โดนผิวหนัง

การตะยัมมุม
กรณีที่มีเวลาน้อย ป่วย ไม่มีน้ำหรือในกรณีอื่นที่คล้ายคลึงกันซึ่งไม่สามารถทำวุฎูหรือฆุสลฺเพื่อทำ นมาซ และประกอบอิบาดะฮฺอื่นๆได้ดังนั้น จำเป็นต้องทำตะยัมมุมแทน

การทำตะยัมมุมมี ๔ ขั้นตอนที่เป็นวาญิบ ดังต่อไปนี้

๑.เนียต
๒.ตบฝ่ามือทั้งสองลงบนฝุ่นหรือบนสิ่งที่ทำตะยัมมุมแล้วถูกต้อง
๓.ให้เอาฝ่ามือทั้งสองลูบหน้า ตั้งแต่ไรผมจนถึงคิ้วและขึ้นไปบนปลายจมูก
๔.ลูบมือขวาตั้งแต่ข้อมือจนถึงปลายนิ้ว หลังจากนั้นให้ลูบมือซ้ายโดยทำเหมือนกับมือขวา

การทำตะยัมมุมแทนที่วุฎู ให้ทำเพียงเท่านี้ถือว่าเพียงพอ แต่ถ้าเป็นตะยัมมุมแทนที่ฆุสลฺ (เช่นฆุสลฺญินาบัต) เมื่อทำเสร็จแล้วให้เอาฝ่ามือตบลงบนฝุ่นอีกครั้งหลังจากนั้นให้ลูบที่มือขวา และซ้ายตามลำดับ

การทำตะยัมมุมและเงื่อนไข
๑.ถ้าไม่สามารถหาฝุ่นได้ให้ใช้กรวดแทน ถ้าไม่มีกรวดให้ทำตะยัมมุมบนหิน แต่ถ้าไม่มีสิ่งที่กล่าวมาแล้วเลยให้ทำตะยัมมุมบนฝุ่นที่ได้รวมกันอยู่ในที่ ใดที่หนึ่ง

๒.การทำตะยัมมุมบนปูนขาวหรือสิ่งที่เป็นวัตถุดิบอื่นๆ ถือว่าไม่ถูกต้อง

๓.ถ้าน้ำมีราคาแพงมากแต่มีความสามารถซื้อน้ำนั้นได้ ถือว่าไม่อนุญาตให้ทำตะยัมุมม แต่จำเป็นต้องซื้อน้ำนั้นมาทำวุฎูหรือฆุสลฺ

๒.เวลานมาซ
นมาซซุฮรฺและอัศรฺ ทั้งสองต่างมีเวลาเฉพาะและเวลาร่วมซึ่งกันและกัน เวลาเฉพาะของนมาซซุฮรฺ ให้นับตั้งแต่เริ่มเข้าเวลาซุฮรฺไปจนถึงช่วงเวลาแค่ทำนมาซซุฮรฺเสร็จ ฉะนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ถ้าใครลืมและได้ทำนมาซอัศรฺถือว่านมาซบาฏิล

หมายเหตุ เริ่มเข้าเวลาซุฮรฺ สามารถรู้ได้โดยการนำเอาไม้หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ปักลงบนพื้นดินให้(ตั้งฉาก ๙๐ องศา) เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นเงาของไม้ที่ปักนั้นจะทอดไปทางทิศตะวันตก ดวงอาทิตย์ขึ้นสูงเท่าใดเงาไม้จะสั้นลงตามลำดับ เมื่อถึงเวลาซุฮรฺพอดี เงาไม้จะเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเมื่อเวลาซุฮรฺผ่านไป เงาไม้จะเปลี่ยนทิศทอดไปทางทิศตะวันออก ซึ่งดวงอาทิตย์คล้อยไปทางทิศตะวันตกมากเท่าใด เงาไม้จะเหลืองเพียงเล็กน้อนเท่านั้น และเมื่อเวลาซุฮรผ่านไป เงาไม่จะเปลี่ยนทิศทอดปทางทิศตะวันออก ซึ่งดวงอาทิตย์คล้อยไปทางทิศตะวันตกมากเท่าใด เงาไม้ก็จะยิ่งยาวขึ้นมากตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเงาไม้เหลือเพียงเล็กน้อยจนกระทั่งเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง เป็นที่แน่นอนว่าได้เข้าเวลานมาซซุฮรฺแล้ว

ช่วงเวลาเฉพาะสำหรับนมาซอัศรฺนั้น คือช่วงเวลที่เหลือพอแค่ทำนมาซอัศรฺ หลังจากนั้นจะเป็นเวลาของนมาซมัฆริบ และจนถึงเวลาดังกล่าวถ้าใครยังไม่ได้ทำนมาซซุฮรฺ ถือว่าต้องเกาะฎอ (การชดใช้นมาซ)เพราะจำเป็นต้องทำนมาซอัศรฺในช่วงเวลาดังกล่าว

ส่วน ช่วงเวลาเฉพาะนมาซอัศรฺ ถือว่าเป็นเวลาร่วมระหว่างนมาซทั้งสอง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ถ้าหากใครลืมและได้ทำนมาซอัศรก่อนนมาซซุฮรฺ ถือว่านมาซถูกต้องและทำให้นมาซซุฮรฺภายหลังจากนั้น

นมาซมัฆริบกับนมาซอิชาอฺก็เช่นเดียวกัน ต่างมีเวลาเฉพาะ และเวลาร่วมระหว่างทั้งสอง

ช่วงเวลาเฉพาะสำหรับนมาซมัฆริบ เริ่มตั้งแต่เข้าเวลามัฆริบไปจนถึงช่วงเวลาแค่เหลือทำนมาซมัฆริบเสร็จ ส่วนเวลาเฉพาะสำหรับเวลานมาซอิชาอฺคือช่วงเวลาที่เหลือพอแค่ทำนมาซอิชาอฺจะ ถึงเที่ยงคืน และจนถึงเวลานั้นถ้ายังไม่ได้ทำนมาซมัฆริบ ให้ทำนมาซอิชาอฺก่อนหลังจากนั้นจึงทำนมาซมัฆริบ

ระหว่างเวลาเฉพาะของนมาซมัฆริบกับอิชาอฺ ถือเป็นเวลาร่วมกันระหว่างนมาซทั้งสอง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ถ้าใครผิดพลาดโดยได้ทำนมาซอิชาอฺก่อนนมาซมัฆริบ ถือว่านมาซถูกต้องและให้ทำนมาซมัฆริบภายหลังจากนั้น

หมายเหตุ: เวลามัฆริบถ้าจะนับจากเวลานาฬิกา ภายหลังจากดวงอาทิตย์ตกดิน ประมาณ ๑๕ นาที ให้สังเกตว่าแสงสีทองทางทิศตะวันออกที่ปรากฏขึ้นภายหลังจากดวงอาทิตย์ตกดิน ได้หายไปหมดแล้ว

*คืนตามชัรอี คือเวลา ๑๑.๑๕ นาฬิกา และเวลาของนมาซศุบฮฺ เริ่มตั้งแต่แสงเงินลับขอบฟ้าจนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้น หมายเหตุใกล้เวลาอะซาน จะมีแสงเงินปรากฏทางทิศตะวันออกและจะสูงขึ้น เรียกว่า”แสงเงินที่หนึ่ง” และเมื่อแสงเงินนั้นได้กระจายตัว เรียกว่า “แสงเงินที่สอง”จะเป็นอะซานและเริ่มเข้าเวลานมาซศุบฮพอดี

๓.เสื้อผ้า
เสื้อผ้าของผู้ทำนมาซมีเงื่อนไขดังนี้

๑.ต้องเป็นที่อนุญาต หมายถึง เป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือถ้าไม่ใช่ของตน จำต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
๒.ต้องไม่เปรอะเปื้อนนะญิส
๓.ต้องไม่ใช่หนังที่ทำจากซากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่เนื้อหะล้าลหรือหะรอมก็ตาม
๔.ต้องไม่ใช่ขนหรือผมของสัตว์ที่เนื้อเป็นหะรอม(ไม่อนุญาตให้รับประทาน)
๕.ผู้ทำนมาซชาย ไม่อนุญาตให้สวมใส่เสื้อผ้าไหมแท้หรือผ้าตาดทอง และต้องไม่ใส่เครื่องประดับที่เป็นทองคำด้วย และถึงแม้ว่าไม่ใช่เวลานมาซ สำหรับผู้ชายแล้วก็ถือเป็นหะรอมหากจะสวมใส่ผ้าไหมหรือเครื่องประดับที่เป็นทองคำ

๔.สถานที่นมาซ
กะอบะฮฺที่ตั้งอยู่ ณ นครมักกะฮฺ ถือเป็นกิบละฮฺสำหรับมุสลิมทั่วโลกซึ่งเวลานมาซต้องหันหน้าไปทางนั้น แต่สำหรับคนที่อยู่ไกลจากนครมักกะฮฺ เมื่อเวลายืนหรือนั่งทำนมาซ สามารถกล่าวได้ว่าหันหน้าตรงกับกิบละฮฺ ถือว่าเพียงพอ เช่นกันในการปฏิบัติภารกิจบางอย่าง จำเป็นต้องหันหน้าไปทางกิบละฮฺ เช่น การเชือดสัตว์ เป็นต้น

ผู้ที่ไม่สามารถยืนหรือนั่งทำนมาซได้ อนุญาตให้นอนตะแคงขวาโดยหันหน้าตรงกับกิบละฮ แต่ถ้านอนตะแคงขวาไม่ได้ อนุญาตให้นอนตะแคงซ้าย และถ้ายังไม่สามารถทำได้อีกให้นอนหงายโดยหันฝ่าเท้าตรงกิบละฮฺ

ผู้ทำนมาซหลังจากค้นหาแล้วก็ยังไม่รู้ว่ากิบละฮฺอยู่ทิศใด ต้องใช้วิธีการพิจารณาเอาจากมิหฺรอบของมัสญิดหรือดูจากหลุมฝังศพ เพื่อเป็นการพิสูจน์กิบละฮฺในการทำนมาซ

สิ่งที่เป็นวาญิบในนมาซ
สิ่งที่เป็นวาญิบในนมาซมีอยู่ด้วยกัน ๑๑ อย่าง

๑.เนียต
๒.กิยาม(ยืน)
๓.ตักบีรอตุ้ลอิหฺรอม
๔.รุกูอฺ
๕.สุญูด
๖.การอ่าน
๗.ซิกรฺ (หมายถึง การกล่าวขณะสุญูดหรือรุกอฺ)
๘.ตะชะฮุด
๙.สลาม
๑๐.การทำไปตามขั้นตอน
๑๑.การทำอย่างต่อเนื่อง

ห้าประการแรกถือว่าเป็นรุกุ่นของการนมาซ ส่วนที่เหลือไม่ใช่รุกุ่น ความแตกต่างระหว่างรุกุ่นกับไม่ใช่รุกุ่น รุกุ่นนั้นถือว่าเป็นข้อบังคับที่เป็นหลักของนมาซ ถ้าหากตั้งใจ หรือลืมโดยเพิ่มหรือตัดออก ถือว่านมาซเสีย(บาฏิล)ส่วนวาญิบอื่นถือว่าไม่ใช่รุกุ่นของนมาซ แต่ถ้าตั้งใจทำให้มากหรือน้อยลงไปถือว่านมาซเสีย(บาฏิล)

กฎต่างๆของสิ่งที่เป็นวาญิบในนมาซ
๑.เนียต หมายถึง การที่ผู้นำนมาซได้ทำนมาซเพื่อความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ กล่าวคือ เพื่อปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์จึงได้ทำสิ่งนั้น การเนียตไม่จำเป็นต้องกล่าวออกมา เช่น ข้าพเจ้าขอทำนมาซซุฮรฺ ๔ เราะกะอัต กุรบะตันอิลัลลอฮฺ เพียงแค่นึกอยู่ในใจก็เพียงพอแล้ว

๒.ตักบีรอตุ้ลอิหฺรอม หลังจากที่อะซานอิกอมะฮฺ และเนียตเรียบร้อยแล้วให้กล่าวว่า “อัลลอฮุอักบัรฺ”๑ ครั้ง ถือว่าการนมาซได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และเนื่องจากกล่าวคำว่า“อัลลอฮุอักบัรฺ”ออกมา จึงทำให้การกระทำอื่นๆเช่น การรับประทาน การดื่ม หัวเราะ การหันหลังให้กิบละฮฺ ถือเป็นหะรอมทันที ซึ่งเรียกการกล่าวตรงนี้ว่า “ตักบีรอตุ้ลอิหฺรอม”

เป็นมุสตะหับในขณะที่กล่าวตักบีรอตุ้ลอิหฺรอม ให้ยกมือทั้งสองขึ้นสูงเสมอติ่งหู ขณะที่ทำให้รำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากพระองค์ถือเป็นสิ่งไม่จริงแท้ อีกทั้งเราได้ลืมจนหมดสิ้น

สิ่งที่เป็นวาญิบในการกล่าวตักบีรอตุ้ลอิหฺรอม

*ต้องกล่าวเป็นภาษาอาหรับอย่างถูกต้อง
*ขณะที่กล่าว “อัลลอฮุอักบัรฺ”ร่างกายต้องนิ่ง
*การกล่าวตักบีร ต้องให้ตนเองได้ยินด้วย

๓.การกิยาม (ยืน) การยืนตรงในขณะกล่าวตักบีรอตุ้ลอิหฺรอมกับการยืนที่ต่อเนื่องกับการรุกูอฺ หมายถึงการยืนตรงเพียงครู่หนึ่งก่อนทำระกูอฺถือเป็นรุกุ่นของนมาซ ส่วนการยืนในขณะอ่านซูเราะฮฺและยืนหลังจากรุกูอฺแล้วนั้น ไม่ถือว่าเป็นรุกุ่นของนมาซ เพราะฉะนั้น ถ้าลืมทำรุกูอฺ และก่อนที่จะลงสูญูดนึกขึ้นได้ ให้ยืนตรงก่อนหลังจากนั้นจึงทำรุกูอฺ แต่ถ้าทำรุกูอฺเลยขณะที่กำลังก้มอยู่นั้น (ถือว่าไม่ได้ยืนตรงก่อนทำระกูอฺ)นมาซเสีย(บาฏิล)

๔.รุกูอฺ (การก้มโค้ง)หลังจากอ่านฟาติหะฮฺกับซูเราะฮฺจบ ให้ก้มโค้งลงจนกระทั่งมือทั้งสองกุมอยู่ที่หัวเข่า ซึ่งเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า“รุกูอฺ” ขณะที่รุกูอฺอยู่นั้นให้อ่าน“สุบฮานะร็อบบิยัลอะซีมิวะบิหัมดิฮฺ”หรืออ่าน ว่า “สุบฮานั้ลลอฮ”๓ ครั้ง หลังจากนั้นจึงเงยาขึ้นและยืนในท่าตรงก่อนที่จะลงสุญูด

วาญิบของรุกูอฺ

๑.ให้ก้มโค้งลงตามที่กล่าวมาแล้ว
๒.ในกล่าวซิกรฺ (อย่างน้อยสุด ๓ ครั้งว่า สุบฮานั้ลลอฮฺ)
๓.ร่างกายต้องนิ่งในขณะกล่าวซิกรฺรุกูอฺ
๔.ให้ยืนตรงภายหลังจากรุกูอฺแล้ว
๕.ร่างกายต้องนิ่งภายหลังจากรุกูอฺแล้ว



โปรดติดตาม

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
ศาสนบัญญัติที่ควรรู้

มุสตะฮับบางอย่างของรุกูอฺ
๑.เป็นมุสตะฮับให้กล่าวซิกรฺรุกูอฺ ๓,๕,๗ ครั้งหรือมากกว่านั้น
๒.เป็นมุสตะฮับก่อนลงรุกูอฺ ในขณะที่ยืนอยู่นั้นให้ตักบีรก่อน
๓.เป็นมุสตะฮับขณะที่รุกูอฺอยู่นั้น ให้มองไปที่ระหว่างเท้าทั้งสอง
๔.เป็นมุสตะฮับก่อนการซิกรฺรุกูอฺหรือหลังจากนั้น ให้กล่าวเศาะละวาต
๕.เป็นมุสตะฮับหลังจากเงยขึ้นจากระกูอฺแล้ว เมื่อร่างกายนิ่งให้กล่าวว่า “สะมิอัลลอฮฺ ลิมัน หะมิดะฮ”

สุญูด สุญูดหมายถึง การก้มกราบโดยให้หน้าผาก เข่าและปลายนิ้วหัวแม่เท้าทั้งสองจรดพื้น และขณะที่สุญูดอยู่นั้นให้อ่านว่า “สุบฮานะร็อบบิยั้ลอะอฺลาวะบิฮัมดิฮฺ” ๑ ครั้ง หรืออ่านว่า”สุบะฮานั้ลลอฮฺ” ๓ ครั้ง

หลังจากนั้นจึงเงยขึ้นนั่งและก้มลงสุญูดอีก ๑ ครั้งในท่าเดิม และอ่านเหมือนเดิม
สถานที่สุญูดตรงจอดที่หน้าผากลงไปจรดนั้น ต้องเป็นดินหรือสิ่งที่เกิดขึ้นจากดิน ไม่อนุญาตให้สุญูดลงบนสิ่งอื่นที่ไม่ใช้ดิน ซึ่งสิ่งนั้นอาจเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม หรือวัตถุดิบอื่น ๆ

ตะชะฮุดและสลาม
ถ้าเป็นนมาซ ๒ เราะกะอัต หลังจากได้ทำสุญูดแล้วสองครั้งให้ยืนขึ้น เพื่อทำเราะกะอัตที่สอง เมื่ออ่านฟาติหะฮกับซูเราะฮฺจบ ให้อ่านกุนูตหลังจากนั้นจึงทำระกูอฺ สุญูดสองครั้ง อ่านตะชะฮุดและสลามตามลำดับเป็นอันว่านมาซสองเราะกะอัตจบสมบูรณ์ กรณีถ้าเป็นนมาซ ๓ เราะกะอัต หลังจากอ่านตะชะฮุดแล้วให้ยืนขึ้นเพื่อทำเราะกะอัตที่สาม โดยอ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮ ๑ ครั้ง หรืออ่าน “ตัสบีหาตอัรบะอะฮฺ”ดังนี้ “สุบฮานัลลอฮิ วัลหัมดุลิลลาฮิ วะลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮฺ วัลลอฮุอักบัรฺ” ๓ ครั้ง หลังจากนั้นจึงทำระกูอฺ สุญดสองครั้ง อ่านตะชะฮุดและสลามตามลำดับ ถ้าเป็นนมาซ ๔ เราะกะอัต ในเราะกะอัตที่สี่ให้ทำเหมือนเราะกะอัตที่สาม เมื่อทำตะชะฮุดเสร็จจึงกล่าวสลามตามลำดับ

หมายเหตุ กุนูต หมายถึงการอ่านดุอฺอในเราะกะอัตที่สองหลังจากอ่านฟาติหะฮฺกับซูเราะฮฺจบ ก่อนทำระกูอฺให้ยกมือทั้งสองขึ้นเสมอหน้าและอ่านดุอาอฺตามที่ตนประสงค์ เช่น อ่านว่า“ร็อบบะนา อาตินา ฟิดดุนยา หะสะนะฮฺ วะฟิลอาคิเราะติหะสะนะฮฺ วะกินาอะซาบันนาร”

คำอ่านตะชะฮุด ให้อ่านว่า “อัชฮะดุอันลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ วะหฺดะฮูลาซะรีกะละฮ วะอัชฮะดุอันนะมุฮัมมะดันอับดุฮูวะร่อซูลุฮู อัลลอฮุมมะศ็อลลิอะลามุฮัมมะดิววะอาลิมุฮัมมัด”

การกล่าวสลามในนมาซ ให้กล่าวว่า “อัสสะลามุอะลัยกะ อัยยุฮันนะบียุวะเราะหฺมะตุ้ลลอฮิ วะบะเราะกาตุ อัสสะลามุอะลัยนาวะอะลาอิบาดิลลาฮิศศอลิฮีน อัสสะลามุอะลัยกุมวะเราะหฺมะตุ้ลลอฮิวะบะเราะกาตุ”

นมาซอายาต
นมาซอายาตเป็นหนึ่งในนมาซวาญิบ สาเหตุที่เป็นวาญิบเนื่องจากการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ สาเหตุด้วยกันคือ

๑.เกิดสุริยุปราคา
๒.เกิดจันทรุปราคา
๓.เกิดแผ่นดินไหว
๔.ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และพายุดำและแดง ซึ่งเป็นเหตุทำให้หวาดกลัว

ขั้นตอนและวิธีการทำนมาซอายาต
นมาซอายาตมี ๒ เราะกะอัต แต่ละเราะกะอัตมี ๕ ระกูอฺ ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑.เมื่อเนียตนมาซเสร็จ ให้อ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮฺกับซูเราะฮฺอีกหนึ่งบท หลังจากนั้นให้ทำระกูอฺ เมื่อเงยขึ้นจากระกูอฺให้อ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮฺกับซูเราะฮฺอีกครั้ง และทำระกูอฺจนกระทั้งครบ ๕ ครั้ง เมื่อระกูอฺครั้งที่ห้าเสร็จ ให้ทำสุญูด ๒ ครั้ง หลังจากนั้นจึงยืนขึ้นเพื่อทำเราะกะอัตที่สอง ซึ่งทำเช่นเดียวกับเราะกะอัตแรก เสร็จแล้วจึงอ่านตะชะฮุดและสลามตามลำดับ

๒.วิธีที่สอง เมื่อเนียตนมาซเสร็จให้อ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ และซูเราะฮฺโดยแบ่งอายะฮฺของซูรฺนั้นออกเป็นห้าส่วน เช่น ซูเราะฮฺเตาฮีด ให้อ่าน ๑ อายะฮฺหลังจากนั้นจึงลงกุกูอฺ เมื่อเงยขึ้นจากระกูอฺไม่ต้องอ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮฺอีก แต่ให้อ่านอายะฮฺที่สองจากซูเราะฮฺนั้นและทำระกูอฺ ปฏิบัติเช่นนี้จนกระทั่งระกูอฺครบ ๕ ครั้ง และในเราะกะอัตที่สองก็ให้ทำเช่นเดียวกัน ตัวอย่างวิธีการทำแบบที่สอง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เราะกะอัตที่ ๑
·อ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ กับบิสมิลลาฮิรเราะหฺมานิเราะฮีม…………..ทำระกูอฺ(๑)
·เงยขึ้นอ่าน “กุ้ลฮุวัลอฮุอะหัด”……………….ทำระกูอฺ(๒)
·เงยขึ้นอ่าน “อัลลอฮุศเศาะมัด”………………ทำระกูอฺ(๓)
·เงยขึ้นอ่าน “วะลัมยะกุนละฮูกุฟุวันอะหัด”…………ทำระกูอฺ(๕)

เราะกะอัตที่ ๒
ให้ทำเช่นเดียวกับเราะกะอัตที่ ๑

นมาซมุซาฟิร(นมาซเดินทาง)
ผู้ที่เดินทางไกลอนุญาตให้ทำนมาซเดินทางได้ หมายถึง นมาซที่มี ๔ เราะกะอัตให้ทำเพียง ๒ เราะกะอัต แต่ต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

๑.การเดินทางต้องมีระยะทางไม่น้อยกว่า ๘ ฟัรซัค ( ประมาณ ๔๕ กิโลเมตร) ซึ่งผู้เดินทางอาจออกเดินทางไป ๔ ฟัร ซัคและกลับอีก ๔ ฟัรซัค
๒.เมื่อออกเดินทางต้องมีเจตนาว่าต้องเดินทางให้ถึง ๘ ฟัรซัค
๓.การเดินทางต้องไม่ใช่เพื่อการทำความผิดบาป
๔.ในระหว่างทางต้องไม่เปลี่ยนใจ
๕.ต้องไม่เป็นผู้ที่มีอาชีพเดินทางไกล ฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีอาชีพเดินทางไกล เช่น คนขับรถ ต้องทำนมาซเต็มทั้งสี่เราะกะอัต
๖.การเดินทางต้องถึงเขตกำหนดการเดินทาง หมายถึง ได้เดินทางออกไปจากบ้านของตนหรือสถานที่ที่ตั้งใจพักอยู่ที่นั่น ๑๐ วัน จนกระทั่งมองไม่เห็นกำแพงเมืองหรือไม่ได้ยินเสียงอะซาน

นมาซญะมาอัต
นมาซวาญิบประจำวัน เป็นมุสตะฮับสำหรับมุสลิมทุกคนให้ทำเป็นญะมาอัต(ทำรวมกัน)ซึ่งผลบุญของการทำนมาซญะมาอัตนั้นมากกว่าการทำนมาซเพียงคนเดียวหลายพันเท่า

เงื่อนไขของการทำนมาซญะมาอัต
๑.ผู้เป็นอิมามญะมาอัตต้องบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ ต้องเป็นมุอมิน ต้องอาดิล(ไม่ทำบาปเป็นอาจิณ)เป็นลูกที่เกิดถูกต้องตามหลักการของศาสนา สามารถทำนมาซและอ่านอัลกุรอานได้อย่างถูกต้อง และต้องเป็นผู้ชาย(ในกรณีที่ผู้นมาซตามเป็นผู้ชาย)

๒.ระหว่างอิมามกับผู้ตามต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง(เช่นม่าน)จนทำให้มองไม่เห็นอิมาม แต่ถ้าผู้ตามเป็นผู้หญิงถ้าหากมีสิ่งกีดขวาง เช่น ผ้าม่าน หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ถือว่าไม่เป็นไร

๓.บริเวณที่อิมามยืนต้องไม่สูงกว่าผู้ตาม (แต่ถ้าสูงกว่าเพียงเล็กน้อยหรือประมาณสี่นิ้วมือเรียงติดกัน)ถือว่าไม่เป็นไร

๔.ผู้ตามต้องยืนอยู่ข้างหลังอิมาม หรือยืนเสมอกับอิมาม

อหฺกาม(กฎข้อบังคับ)ของนมาซญะมาอัต
๑.ผู้ตามต้องอ่านทุกอย่างที่กำหนดไว้ในนมาซ ยกเว้น ซูเราะฮฺฟาติหะฮกับซูเราะฮฺ แต่ถ้านมาซของอิมามกับผู้ตามเราะกะอัตไม่ตรงกัน เช่น อิมามกำลังอ่านเราะกะอัตที่สาม ส่วนผู้ตามเพิ่งจะเริ่มเราะกะอัตที่หนึ่งหรือสอง ดังนั้น ผู้ตามต้องอ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮกับซูเราะฮฺด้วย แต่ถ้าอ่านซูเราะฮฺแล้วเกรงว่าจะไม่ทันระกูอฺของอิมาม ให้อ่านเฉพาะซูเราะฮฺฟาติหะฮอย่างเดียวแล้วทำรุกูพร้อมกับอิมาม(ในกรณีที่ลง รุกูอฺไม่ทันอิมาม ต้องเปลี่ยนเนียตเป็นนมาซคนเดียว)แล้วทำนมาซต่อให้เสร็จ

๒.ผู้ตามจะต้องทำขั้นตอนต่างๆของนมาซ เช่น ระกูอฺ และสุญูดหลังจากอิมามเล็กน้อยหรือทำพร้อมกับอิมาม ส่วนตักบีเราะตุ้ลอิหรอมกับสลามนมาซนั้น ต้องทำหลังจากอิมาม

๓.ถ้าอิมามกำลังทำระกูอฺอยู่และได้เนียตนมาซตามในช่วงนั้น ซึ่งทันระกูอฺของอิมามพอดี(หมายถึง เมื่อเนียตเสร็จลงทำระกูอฺขณะที่อิมามยังไม่เงยขึ้นจากระกูอฺ)ถือว่านมาซถูกต้องและนับเป็นหนึ่งเราะกะอัต

การถือศีลอด
หนึ่งในหลักการที่สำคัญยิ่งของศาสนาอิสลาม คือ การถือศีลอด ซึ่งเป็นวาญิบ(ข้อบังคับ)เหนือมุสลิมทุกคน(ที่บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ )ต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน หมายถึง การหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ศีลอดเสีย(บาฏิล)ตั้งแต่อะซานศุบฮจนถึงอะซานมัฆริบโดยมีเจตนาปฏิบัติตามบัญชาของอัลลอฮฺ

การถือศีลอดในศาสนาอิสลาม เป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวเน้นไว้อย่างมาก และอิสลามได้กล่าวยืนยันถึงคุณประโยชน์ รางวัลและผลตอบแทนของการถือศีลอด อิสลามได้ให้ความสำคัญกับการถือศีลอดถึงขนาดที่อัลลอฮฺ(ซบ.)ทรงตรัสว่า รางวัลและผลบุญของการถือศีลอดคือ “ตัวข้า”

ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) กล่าวว่า “อัลลอฮฺ(ซบ.)ทรงตรัสว่า การถือศีลอดนั้นเพื่อข้าและข้าคือผู้ตอบแทนผลรางวัล”
การถือศีลอดกับเงื่อนไขเฉพาะตัวของ ได้สร้างมนุษย์ให้เป็นบ่าวที่ดี มีความหวังและรอดพ้นจากอารมณ์ใฝ่ต่ำและตัณหาแห่งจิตใจ อีกทั้งมีผลต่อการชำระล้างจิตวิญญาณให้สะอาดจากความโสมมของความผิดบาป

ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ได้กล่าวกับท่าน ญาบีร บิน อับดุลลอฮ์ อันศอรีว่า “โอ้ญาบีรเอ๋ย เดือนนี้เป็นเดือนรอมฎอม และใครก็ตามได้ถือศีลอดในตอนกลางวัน ส่วนตอนกลางคืนเขาได้ตื่นเพื่อทำอิบาดะห์รำลึกถึงอัลลอฮฺ(ซบ.)เขาได้ปกป้อง ตัวของเขาให้รอดพ้นจากอาหารที่หะรอมและห่างไกลจากความโสมม และเขาได้ระมัดระวังลิ้นของเขาจากการพูดจาที่ไร้สาระและหะรอม ประหนึ่งเขาได้หลุดพ้นจากวังวนของความผิดบาปแล้ว ดังเช่นที่เขาได้ออกจากเดือนรอมฎอน”

ท่านญาบิร กล่าวว่า “โอ้ท่านศาสดาช่างเป็นข่าวที่ดีอะไรเช่นนี้”
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “โอ้ญาบีรเอ๋ย เงื่อนไขของมันก็ไม่ง่ายเลย”
ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า“ศีลอดคือโล่กำบังไฟนรกที่แข็งแรง”

รอมฎอนคือเดือนของอัลลอฮฺ(ซบ.)
ริวายะฮฺได้กล่าวถึงนามต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับและต้องใจไว้มากมายเกี่ยวกับเดือนรอมฎอน เช่น กล่าวว่า รอมฎอนคือเดือนอันจำเริญ เดือนแห่งการอัญเชิญอัลกุรอาน ฯลฯ ซึ่งมีอยู่นามเดียวที่เป็นนามที่ดีที่สุดคือ”เดือนแห่งพระผู้เป็นเจ้า”เรียก ได้ว่าเป็นการกล่าวนามของเดือนรอมฎอนไว้อย่างสมเกียรติที่สุด

แน่นอนเดือนทุกเดือนเป็นของอัลลอฮฺ เพียงแต่ว่าเดือนรอมฎอมนั้นถูกให้ความสำคัญมากที่สุด และเหตุที่ตั้งชื่อว่าเป็นเดือนแห่งพระผู้เป็นเจ้า เพราะมีความประเสริฐมากกว่าเดือนอื่นและเป็นเดือนแห่งการประทานอัลกรุอาน

เมื่อเดือนรอมฎอนได้เวียนมาถึง ประตูแห่งความเมตตาของอัลลอฮฺ(ซบ.)ได้เปิดออกเพื่อต้อนรับปวงบ่าว รูรรัศมีที่มีความสะอาดบริสุทธ์ของพระองค์ได้ส่องมายังจิตวิญญาณของมนุษย์ เพื่อเป็นประทีปนำการอิบาดะฮฺขัดเกลาจิตวิญญาณ และปรับปรุงจริยธรรมของตนเอง เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับผู้ที่จะทำการถือศีลอด

ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้กล่าวในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนชะอบานเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนแห่งอัล ลอฮฺไว้ว่า“โอ้ประชาชนเอ๋ย เดือนแห่งพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยความจำเริญ ความเมตตาและการอภัยได้เวียนมาถึงพวกท่านแล้ว เดือนนี้เป็นเดือนที่ประเสริฐที่สุด ณ อัลลอฮฺ(ซบ.)วันต่างๆของเป็นวันที่ดีที่สุด คืนต่างๆของวิเศษกว่าคืนในเดือนอื่น และเวลาแต่ละชั่วโมงประเสริฐกว่าเวลาในวันและคืนอื่น เป็นเดือนที่มนุษย์ได้ถูกรับเชิญให้เป็นแขกของพระผู้เป็นเจ้า ท่ามกลางความเมตตากรุณาและเกียรติยศที่สูงส่ง”

ตลอดเดือนรอมฎอน การหายใจเข้าออกมีผลบุญเหมือนกับการซิกรฺ และกล่าวสรรเสริญพระองค์ ส่วนการนอนหลับในเดือนนี้ถือเป็นการอิบาดะฮฺ ทุกเวลาที่เราของดุอาอพระองค์จะตอบรับดุอาอของเรา ฉะนั้นของให้เรากล่าวกับพระองค์ด้วยความจริงใจว่า “ขอพระองค์ทรงโปรดประทานเตาฟีกในการถือศีลอดและอ่านอัลกรุอานให้กับพวกเรา ด้วยเถิด”เพราะตกต่ำที่สุดสำหรับคนที่ทำให้เดือนแห่งจิตวิญญาณ ที่เต็มไปด้วยความเมตตาและความจำเริญ ต้องเป็นหะรอมสำหรับการขอลุกโทษต่อพระองค์

การถือศีลอดคือตัวสร้างความยำเกรง
อัลลอฮฺ(ซบ.)ทรงตรัสว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติไว้แก่พวกเจ้า ดุจดังเช่นที่เคยบัญญัติมาแล้วแก่ชนก่อนหน้าพวกเจ้า ทั้งนี้เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความยำเกรง”(ซูเราะฮฺ อัล-บะกะเราะฮฺ: ๑๘๓)

อิสลามได้กล่าวกับผู้ปฏิบัติตามว่า จงถือศีลอดในเดือนรอมฎอนหนึ่งเดือนให้ครบสมบูรณ์ เพราะศีลอดนี้เองเป็นตัวสร้างฐานที่แข็งแรงเพื่อนำเราไปสู่ความยำเกรงและ หลีกเลี่ยงความต้องการทั้งหลาย อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เพื่อที่เราจะได้พบกับทางนำ

ในความเป็นจริงแล้ว การถือศีลอดคือบันไดขั้นแรกที่จะทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จเพื่อก้าวไปสู่ ความสมบูรณ์ในขั้นต่อไป ดังนั้น เจตนารมณ์ที่แท้จริงของการถือศีลอด จึงไม่ได้อยู่ที่การงดการกินและดื่มแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าจิตวิญญาณของเขาก็ต้องจำศีลด้วย หมายถึง ต้องอดทนอดกลั้นและหลีกเลี่ยงจากการกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความโสมมแก่จิตใจและโน้มนำไปสู่การกระทำผิดบาป หรือตกเป็นทาสของชัยฏอนและอารมณ์ใฝ่ต่ำที่จะมาทำลายและเผาไหม้จิตใจ

สิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ศีลอดเสีย(บาฏิล)
มีหลายสาเหตุที่ทำให้ศีลอดเสีย ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นประกอบด้วย

๑.การกินและการดื่ม ไม่ว่าสิ่งที่กินหรือดื่มนั้นจะเป็นปรกติทั่วๆไป (เช่น ข้าว,น้ำ)หรือมิใช่ปรกติ เช่น ดิน,เปลือกไม้
๒.การร่วมเพศทำให้ศีลอดบาฏิล
๓.อิสติมนาอ หมายถึง การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองจนน้ำอสุจิเคลื่อนออกมา
๔.การพูดความเท็จที่เกี่ยวข้องกับอัลลอฮฺ(ซบ.)ศาสดาหรือตัวแทนของท่านศาสดา
๕.การปล่อยให้ฝุ่นละอองที่หนาทึบเข้าไปในลำคอ
๖.การดำน้ำที่ศีรษะอยู่ใต้น้ำทั้งหมด
๗.คงสภาพการมีญูนุบ เหฎ หรือนิฟาส จนถึงอะซานศุบฮ์
๘.การสวนทวารด้วยของเหลว
๙.การอาเจียนที่เกิดจากความตั้งใจ

การค้า(บัยอ์)
บัยอ์ หมายถึง การขายหรือการแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยกันในลักษณะทีว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของซึ่งอยู่ในฐานะของผู้ขายได้นำเอาสินค้าของตนมาขายเพื่อแลก เปลี่ยนกับเงินหรือสิ่งมีค่าอย่างอื่นกับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ ดังนั้น ถ้าผู้ซื้อต้องการได้สินค้า ต้องจ่ายเงินหรือสิ่งมีค่าอย่างอื่นตามที่ตกลงให้กับผู้ขาย

ด้วยเหตุนี้บัยอ์ (การค้า)จะเกิดขึ้นได้ต้องมีข้อตกลงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย(ผู้ซื้อกับผู้ขาย )ซึ่งทั้งสองต้องมีคุณสมบัติที่เพียงพอตามเงื่อนไขที่ศาสนาบัญญัติ อาทิเช่น บรรลุภาวะตามศาสนบัญญัติ มีสติสัมปชัญญะ มีความตั้งใจและมีความสมัครใจ เป็นต้น

สิ่งจำเป็นสำหรับ บัยอ์. คือต้องมีการอ่านอักดในการซื้อขาย(ข้อตกลง)ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจากทั้งสอง ต้องเสียเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผลเสียกับตัวเอง การทำสัญญาในลักษณะเช่นนี้ขัดกับความถูกต้องอิสลามจึงได้มีมาตราการควบคุม ไม่ดีไม่งามตรงนี้ไว้ ๒ ประการ คือ

๑.เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (ผู้ซื้อ-ผู้ขาย)มีความรู้สึกว่าในการค้าครั้งนี้ตนเป็นผู้เสียเปรียบ และได้บอกเลิกการค้ากับอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นมุสตะฮับให้ตอบรับข้อเสนอนั้น

๒.คิยาร (สิทธิพิเศษในการเลือก)ซึ่งทั้งสองนั้นมีและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อยกเลิก การค้าซึ่งกันและกันได้ คิยารมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน แต่ที่จำเป็นและสำคัญมีดังนี้

·คิยารมัจญะลิส หมายถึง ถ้ายังไม่ได้ตกลงกันว่าจะยกเลิกการค้า ทั้งสองฝ่ายไม่มีสิทธิยกเลิก
·คิยารฆับน์ หมายถึง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้หลอกให้อีกฝ่ายหนึ่งหลงกลในการทำสัญญาซึ่งเป็นผลเสียต่อ ตน เช่นได้สัญญาขายสินค้าถูกกว่าราคาจริงของ หรือผู้ซื้อได้สัญญาซื้อสินค้านั้นไว้ในราคาแพงลิบลิ่ว ในกรณีเช่นนี้ผู้ที่ถูกหลอกสามารถยกเลิกการค้าได้อย่างฉับพลัน

·คิยารอัยบหมายถึง หลังจากที่ได้ซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว ผู้ซื้อได้พบข้อตำหนิของสินค้า ดังนั้น ผู้ซื้อสามารถทำได้สองกรณี คือยกเลิกการค้านั้น หมายถึงคืนสินค้า หรือเรียกค่าปรับตามความเสียหายของสินค้า (เช่น ไปดูราคาในตลาดว่าถ้าไม่มีข้อตำหนิราคาเท่าใด และเมื่อมีข้อตำหนิราคาของตกลงมาเท่าใน ดังนั้น ให้ผู้ซื้อเรียกค่าปรับตามราคาที่แตกต่างดังกล่าว)

·คิยารฮัยวาน หมายถึง การซื้อขายสัตว์ เช่น วัว แพะ แกะ หรือม้า ผู้ซื้อมีสิทธิ ๓ วันในการที่จะยกเลิกการค้า(กรณีที่สัตว์นั้นบาดเจ็บ หรือพบข้อตำหนิ หรือตายภายในสามวัน) หรือดำเนินไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้

·คิยารชัรฏ หมายถึง ทั้งสองฝ่ายได้วางเงื่อนไขการค้าร่วมกัน กรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดข้อตกลง อีกฝ่ายหนึ่งสามารถยกเลิกการค้าได้ทันที

การกำหนดจ่ายเงินและรับของ

การซื้อขายกันนั้นสามารถจ่ายและรับของได้ ๔ วิธีดังนี้
๑.จ่ายเงินและรับของทันทีหลังจากที่ได้ตกลงกัน
๒.ตกลงกันว่ารับของก่อนแล้วจ่ายเงินทีหลัง การค้าประเภทนี้เรียกว่าการค้าที่มีกำหนดเวลา(คล้ายการซื้อด้วยบัตรเครดิต)
๓.ตรงกันข้ามกับประเด็นที่สองคือ จ่ายเงินก่อนแล้วรับของที่หลังเรียกการค้าประเภทนี้ว่า “บัยอ์สลัม”
๔.ตรงกันข้ามกับประเด็นแรก คือ ทั้งการจ่ายเงินและรับสินค้าได้ล่าช้าออกไป

ซึ่งทั้งสี่ประเภทนั้น เฉพาะสามประเภทแรกถือว่าถูกต้อง ส่วนประเภทที่สี่ถือว่าไม่ถูกต้อง
การซื้อตามชัรอียแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ การซื้อขายที่เป็นวาญิบ หะรอม มุสตะฮับ มักรูหฺ และมุบาห

การซื้อขายที่เป็นวาญิบ
อิสลามแสดงความรังเกียจต่อการเกียจคร้าน หรือทำตัวเป็นคนว่างงาน ในทางกลับกัน อิสลามให้การสนับสนุนการทำมาหากิน การใฝ่หาความรู้และการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการศึกษานั้น ถ้าหากนักศึกไม่สามารถศึกษาต่อไปได้นอกจากต้องทำการค้าเล็กๆน้อยๆหรือทำงาน ในกรณีนี้ เป็นวาญิบต้องทำเพื่อนำเอารายได้เหล่านั้นมาเป็นค่าครองชีพและเป็นทุนในการศึกษา

การซื้อขายที่ป็นมุสตะฮับ
การซื้อขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับค่าครองชีพของตนกับครอบครัวหรือเพื่อ เป็นประโยชน์ต่อบรรดามุสลิม ถือว่าเป็นมุสตะฮับ เช่น ผู้ที่ได้ทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ช่วยเหลือและจุนเจือผู้อื่น ถือเป็นมุสตะฮับ

การซื้อขายที่หะรอม
·การซื้อขายสิ่งที่เป็นนะญิส เช่น สุรา สุนัข สุกร
·การซื้อขายสิ่งที่ผลประโยชน์ของเป็นหะรอม เช่น ซื้อขายอุปกรณ์การพนัน
·การซื้อขายสิ่งของที่ได้มาจากการเล่นพนันหรือขโมยมา
·การซื้อขายตำราที่ทำให้เกิดความไขว้เขวและหลงทาง
·การขายของแก่ศรัตรูอิสลาม ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ศรัตรูมีความเข้มแข็งและมาต่อต้านมุสลิม
การซื้อขายสิ่งของที่เป็นหะรอมยังมีอีกมากมาย มิได้มีเฉพาะเท่าที่กล่าวไว้ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น

การซิ้อขายที่เป็นมักรูฮ (สิ่งที่น่ารังเกียจ)
·การบอกราคาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ซื้อ
·การบอกราคาสีนค้าที่ยากต่อการซื้อขาย
·เมื่อลูกค้ารู้สึกว่าเสียเปรียบและขอร้องให้ยกเลิกการค้า ถือเป็นมุสตะฮับให้รับคำข้อร้อง
·การโอ้อวดสินค้ามากจนเกินกว่าเหตุ
·การพูดจาหรือแสดงมารยาทไม่ดีกับผู้ซื้อ
·การสาบานในการซื้อขายแม้ว่าจะจริง
·การเข้าตลาดก่อนใครและไม่ออกหลังสุด
·การขอลดราคาภายหลังจากตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว

อะหฺกามในการซื้อขาย
๑.การซื้อขาย เก็บรักษา เขียน อ่านหรือสอนตำราที่ทำให้หลง
๒.ผสมสินค้าที่จะขายกับของที่มีราคาต่ำกว่า หรือกับของที่ไม่มีราคาเลย ถือว่าเป็นอะรอม เช่น ผสมผลไม้ที่ดีกับไม่ดี หรือผสมนมกับน้ำ เป็นต้น
๓.ไม่อนุญาตให้ซื้อขายวะกัฟ ยกเว้น กรณีที่ของนั้นมีตำหนิหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น พรมที่เหลือใช้ในมัสญิด
๔.ในการซื้อขาย ต้องบอกคุณลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าให้เป็นที่ชัดเจน
๕.การซื้อขายหรือให้ยืมของประเภทเดียวกันด้วยกับการชั่งตวง ถ้าของสิ่งหนึ่งมากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง สิ่งที่เพิ่มมากขึ้นถือเป็นดอกเบี้ยและเป็นหะรอม เช่น ให้เขาขอยืมข้าวไป ๑ เกวียน แต่เอากลับคืน ๑.๑ เกวียน เป็นต้น หรือให้เขาขอยืมเงินไป ๑,๐๐๐ บาท แต่เอาคืน ๑,๒๐๐ บาท เป็นต้น

ศาสนบัญญัติว่าด้วยอาหารและเครื่องดื่ม
กฎหนึ่งของอิสลามกล่าวว่า สิ่งใดก็ตามที่สามารถกินและดื่มได้ ถือว่าหะล้าล (เป็นที่อนุมัติ)ยกเว้นบางสิ่งบางอย่างที่ระบุไว้ในอัล-กุรอานและซุนนะฮของ ท่านศาสดาอย่างชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้บริโภคสิ่งเหล่านั้น

สิ่งที่อนุญาตให้บริโภคแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ เป็นสิ่งที่มีชีวิต (สัตว์ทั้งหลายที่ถูกกำหนดให้เป็นอาหาร)กับไม่มีชีวิต ได้แก่พืชผักผลไม้ต่าง ๆ

สิ่งที่มีชีวิต
สิ่งที่มีชีวิต ได้แก่ บรรดาสรรพสัตวทั้งหลายที่ถูกกำหนดให้เป็นอาหาร แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ สัตว์น้ำ สัตว์บกและสัตว์ปีก

๑.สัตว์น้ำ ในความหมายก็คือ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ซึ่งมีเพียงปลาที่มีเกล็ดเท่านั้นที่เนื้อของหะล้าล (อนุญาตบริโภค)ส่วนสัตว์อื่นที่นอกเหนือไปจากนี้ เช่นปลาไม่มีเกล็ดทุกชนิด หอย ปู เต่า ตะพาบน้ำและอื่น ๆ ถือว่าเนื้อของฮะร่าม (ไม่อนุญาตบริโภค)

๒.สัตว์บก แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทด้วยกันคือ สัตว์เลี้ยง (สัตว์ที่เลี้ยงไว้ใช้งานหรือเลี้ยงไว้กินเนื้อ)และสัตว์ป่า
·สัตว์เลี้ยง เนื้อของหะล้าล เช่น แพะ แกะ วัว ควาย หรืออูฐ เป็นต้น และมีบางประเภทที่เนื้อของเป็นมักรูห เช่น ม้า ลา หรือฬ่อ ส่วนสัตว์อื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากนี้ เช่น สุนัขหรือแมวนั้น เนื้อของเป็นหะรอม

·สัตว์ป่า เช่น แพะภูเขา เลียงผา กวาง ฯลฯ เนื้อของหะล้าล ส่วนสัตว์ที่นอกเหนือไปจากนี้ที่เป็นสัตว์ดุร้าย เช่น สิงห์โต เสือ หมี สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า หรือสัตว์ที่มีกรงเล็บ และรวมไปถึงกระต่ายซึ่งเนื้อของเป็นหะรอม

๓.สัตว์ปีก สัตว์ที่กินเมล็ดเป็นอาหาร หรือเวลาบินจะกระพือปีกไม่มีกรงเล็บ เช่น ไก่บ้าน นกพิราบ เป็นต้น เนื้อของหะล้าล ส่วนที่เหลือเนื้อของเป็นหะรอม

หมายเหตุ สัตว์ที่กล่าวไปแล้วนั้น เนื้อของมันจะหะล้าลก็ต่อเมื่อมันสะอาดตามเงื่อนไขของชัรอีย์ หมายถึง มีการเชือดอย่างถูกต้องโดยเอ่ยพระนามของอัลลอฮฺ

สิ่งที่ไม่มีชีวิต
สิ่งที่ไม่มีชีวิตจำแนกออกเป็น ๒ ประเภท คือ ของแข็งกับของเหลว

ของแข็ง
·ซากสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าเนื้อของจะเป็นหะล้าลหรือฮะร่ามก็ตามถ้ากินถือเป็นหะรอม และสิ่งที่เป็นนะญิสอื่น ๆ เช่น อุจจาระของสัตว์ที่เนื้อเป็นหะรอม และอาหารที่ไปโดนนะญิสซึ่งได้กลายเป็นนะญิส
·ดิน
·ยาพิษ สารพิษและสิ่งเป็นพิษอื่น ๆ
·สิ่งต่างที่โดยทั่ว ๆ ไปแล้วมนุษย์มีความรังเกียจ เช่น อุจจาระของสัตว์ (ที่เนื้อหะล้าล)และรวมไปถึงอวัยวะบางประเภทที่อยู่ในตัวสัตว์ที่เนื้อหะล้า ล ซึ่งมีอยู่๑๕ อย่าง ถือเป็นหะรอม ไม่อนุญาตให้กิน เช่น เลือด ม้าม ลูกอันฑะ อวัยวะเพศของ อุจจาระ ปัสสาวะ ถุงน้ำดี ฯลฯ (โปรดกลับไปดูหนังสือริซาละฮฺ หนังสือที่ว่าด้วยหลักการปฏิบัติ] หมวดการกินและการดื่ม)

ของเหลว
·การดื่มแอลกอฮอล์ หรือของเหลวทุกชนิดที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา แม้ว่าจะดื่มเพียงเล็กน้อยก็ตาม ถือว่าเป็นหะรอม
·น้ำนมของสัตว์ที่เนื้อเป็นหะรอม เช่น สุนัข สุกรและแมว เป็นต้น
·เลือดของสัตว์ทุกชนิดที่เวลาเชือดจะไหลพุ่งออกมา
·ของเหลวที่เป็นนะญิส เช่น ปัสสาวะและอสุจิของสัตว์เวลาเชือดจะมีเลือดไหลพุ่ง
·ของเหลวที่มีนะญิสตกลงไป
หมายเหตุ การกินแลการดื่มที่เป็นหะรอม จะเป็นหะรอมก็ต่อเมื่อต้องไม่มีความจำเป็นแฝงอยู่ เพราะในกรณีที่มีความจำเป็นและไม่มีอาหารอื่นอีกนอกจากอาหารหะรอมนั้น ซึ่งถ้าไม่กินอาจจะหิวจนถึงแก่ความตาย หรืออาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างหนัก หรือสาเหตุของการหิวทำให้การเดินทางล่าช้ากว่าเพื่อนร่วมทาง จนเป็นเหตุนำไปสู่ความในที่สุด ดังนั้น การกินหรือดื่มในลักษณะเช่นนี้โดยให้พอเพียงเฉพาะที่จำเป็น หรือแค่ขจัดความหิวโหยเพื่อให้รอดตาย ถือว่าอนุญาตยกเว้นพวกที่เดินทางไปทำสิ่งที่เป็นหะรอม เช่น ลักขโมย เล่นพนัน ทำซินา หรือทำความผิดบาปอื่น ๆ หรือเพื่อไปต่อต้านรัฐอิสลามและตกอยู่ในภาวะดังกล่าว

คำเตือนที่สำคัญ
การระมัดระวังเรื่องสุขภาพพลานามัย ถือเป็นหน้าที่เบื้องต้นของบรรดาประชาชาติทั้งหลาย ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ค่อยใส่ใจเท่าที่ควรก็ตามแต่การระมัดระวังก็คงมีอยู่เสมอ

ผลลัพธ์ลากหลายของการกินและการดื่มในด้านอนามัยนั้นเป็นที่ชัดเจน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อจิตวิญญาณ จริงยธรรมและการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่มีใครสงสัยเลยว่าสภาพจิตของคนเมากับคนที่มีสติปชัญญะสมบูรณ์นั้นมีความ แตกต่างกัน ซึ่งรวมไปถึงสภาพการเป็นอยู่ทางสังคมของพวกเขาด้วย เช่น ถ้าคนที่มีความเคยชินต่อการกินและดื่มสิ่งของที่สกปรก ซึ่งผลของการเคยชินของเขาจะเป็นม่านกั้นการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันทางสังคมของ เขา และสภาพดังกล่าวนั้นจะสร้างความอึดอัดต่อพวกที่อยู่ตรงกันข้าม

จากจุดนี้เอง โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์จะต้องเลือกสรรอาหารการกินที่อยู่ในขอบเขตจำกัด เขาไม่อาจดื่มหรือกินอาหารได้ทุกชนิดตามใจชอบ อัลลอฮฺ (ซบ.)ทรงตรัสไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนหน้าพิภพนี้พระองค์ได้สร้างขึ้นมาเพื่อมนุษย์ พระองค์ไม่ทรงต้องการปัจจัยยังชีพและความช่วยเหลือใด ๆ จากมนุษย์ พระองค์ทรงรอบรู้ถึงคุณประโยชน์และความเสียหายของ พระองค์ทรงประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนพบกับความผาสุกและความจำเริญ จึงได้กำหนดอาหารการกินว่าอาหารประเภทใดอนุมัติและไม่อนุมัติ

ท่านอิมามริฎอ (อ.)กล่าวว่า “อัลลอฮฺไม่ทรงกำหนดอาหารประเภทใดให้หะล้าลสำหรับมนุษย์ นอกจากจะต้องมีประโยชน์ต่อพวกเขา และไม่ทรงกำหนดอาหารประเภทใดให้หะรอม นอกเสียจากว่าจะเป็นเหตุนำไปสู่การลงโทษ ความตายและความเสียหายต่อมนุษย์”

ปรัชญาของการเป็นหะรอมย่อมชัดเจนอยู่แล้วสำหรับผู้ที่มีปัญญา ซึ่งบางอย่างยุติได้ด้วยกับการโต้เถียงทางวิชาการ แต่บางอย่างจนถึงปัจจุบันก็ยังหาข้อยุติไม่ได ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเหตุผลหรือปรัชญาของ และเราก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ากฎข้อนั้นไร้เหตุผลและปรัชญา เพราะกฎเกณฑ์ดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นมาโดยพระผู้เป็นเจ้า ผู้ซึ่งความรู้ขอบงพระองค์ไม่มีของบเขตจำกัด ฉะนั้น ถูกต้องที่สุดหากเราจะกล่าวว่าเหตุผลผละปรัชญาของกฎทุก ๆ ข้อนั้นมีอยู่ แต่ด้วยกับสติปัญญาอันน้อยนิดและมีขอบเขตจำกัดของเราต่างหากที่ไร้ความสามารถในการแสวงหาเหตุผล


โปรดติดตาม

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
ศาสนบัญญัติที่ควรรู้

การขโมย
ผู้ที่นำเอาทรัพย์สินของผู้อื่นมาด้วยกับการกดขี่หรือบังคับขู่เข็ญ ซึ่งเขาไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของสิ่งนั้นเลยแม้แต่นิดเลย แต่เขาก็ได้ยึดเอาของสิ่งนั้นมาเป็นของตัวเอง หรือผู้ที่ได้ละเมิดทรัพย์สินหรือตักตวงผลประโยชน์จากผู้อื่นโดยมิชอบ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ยึดของสิ่งนั้นมาเป็นของตัวเองก็ตาม ตามหลักชัรอีย์(ศาสนบัญญัติ)ถือว่าเป็นการขโมย

ฉะนั้น การขโมยจึงหมายถึง การเป็นเข้าครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบ หรือได้ละเมิดสิทธิของเจ้าของเดิม

จากจุดนี้เองจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้รู้ชัดว่า การขโมยเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะเป็นการละเมิดกรรมสิทธิ์ของมนุษย์ที่พึงมี การละเมิดสิทธิดังกล่าวจะมีผลเสียอย่างมากต่อการดำรงอยู่ของสังคมและการพัฒนา และถือเป็นการทำลายและหยุดยั้งการเติบโตของสังคม

ถ้าหากสังคมอนุญาตให้ละเมิดสิทธิของผู้อื่นโดยคนที่มีอำนาจมากกว่าสามารถกดขี่คนที่อ่อนแอ คำว่าสิทธิหรือกรรมสิทธิจะหมดความหมายลงทันที และใครก็ตามถ้าหากกล่าวถึงสิทธิ แล้วมองว่าผู้ด้อยโอกาสมีสิทธิน้อยกว่าตน แน่นอน เขาได้ขายเกียรติยศของตนเอง ในที่สุดแล้ว สังคมมนุษย์ก็จะกลับกลายเป็นตลาดที่มุ่งเน้นการค้ากำไรและการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เท่านั้น กฎเกณฑ์ของสังคมจะหมดความหมายและจะกลายเป็นการกดขี่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน

ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงได้วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการลักขโมยไว้อย่างรุนแรงและถือว่าเป็นบาปใหญ่ ซึ่งในบางครั้งอัลกุรอานและฮะดีษ กล่าวยืนยันว่าบาปใหญ่ทั้งหลายที่เป็นสิทธิของอัลลอฮฺ(ฮักกุ้ลลอฮ)จะได้รับการอภัย ยกเว้นการตั้งภาคีพระองค์ แต่ถ้าใครก็ตามได้ละเมิดสิทธิผู้อื่นดังเช่นการลักขโมยแล้ว อัลลอฮฺ (ซบ.)จะไม่อภัยให้กับเขาอย่างเด็ดขาด เพราะสิ่งนี้เป็นสิทธิระหว่างมนุษย์ด้วยกัน(ฮักกุ้นนาส)

ประมวลศาสนบัญญัติเกี่ยวกับการขโมย
๑.เป็นวาญิบสำหรับผู้ขโมย ที่จะต้องนำเอาสิ่งที่ขโมยส่งคืนเจ้าของโดยเร็ว ถ้าหากเจ้าของได้เสียชีวิตไปแล้วต้องส่งคืนให้กับทายาทที่มีสิทธิรักมรดก แม้ว่าการส่งของคืนจะสร้างความเสียหายให้กับตนอย่างมากก็ตาม เช่น ได้ขโมย หิน เหล็ก ทราย ไม้ และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ มาสร้างบ้านและอาคารซึ่งได้ใช้ทุนทรัพย์มากในการก่อสร้าง แม้ว่าจะสร้างเสร็จแล้วก็ตามก็ต้องทุบทิ้ง เพื่อนนำเอาวัสดุก่อสร้างที่ขโมยมาส่งคืนเจ้าของยกเว้นในกรณีที่เจ้าของ ยินดีรับเงินหรือสิ่งมีค่าอย่างอื่น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ขโมยได้ขโมยข้าวมา ๑๐ ก.ก และนำไปผสมกับข้าวสาลี ถ้าเจ้าของไม่ยินยอมรับเงินเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ขโมยจะต้องเลือกข้าวสาลีออกจากข้าวและส่งคืนเจ้าของ

๒.ถ้าพบว่าของที่ขโมยมามีตำหนิ นอกจากจะต้องนำของส่งคืนแล้วยังจะต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นการตอบแทนด้วยอีก ต่างหาก

๓.ถ้าของที่ขโมยมาชำรุดหรือได้รับความเสียหาย ต้องจ่ายเงินหรือสิ่งที่มีค่าอย่างอื่นเป็นการตอบแทน

๔.ถ้าขโมยได้เป็นผู้ทำลายผลประโยชน์หรือรายได้บางส่วนจากของที่ขโมยมา จำเป็นต้องรับผิดชอบ เช่น ถ้าเข้าได้ขโมยรถรับจ้างของผู้อื่นและได้เก็บซ่อนไว้กับตนสองสามวัน จำเป็นต้องรับผิดชอบเงินค่าจ้างที่เจ้าของพึงจะได้รับในจำนวนสองสามวันนั้น ด้วย

ถ้าของที่ขโมยมามีผลประโยชน์งอกเงยขึ้น เช่น เขาได้ขโมยแพะมาและนำไปเลี้ยงไว้อย่างดีจนเกิดผลประโยชน์มากมาย กระนั้นเขาก็ไม่มีสิทธิ์ในผลประโยชน์ดังกล่าว แต่ถ้าผลประโยชน์นั้นได้เกิดขึ้นตามฤดูกาล เช่น ได้โกงที่ดินของผู้อื่นมาและได้ทำเกษตรกรรมบนที่ดินนั้นถือว่าเขาต้องคืน ที่ดินพร้อมกับผงกำไรในการเกษตรให้กับเจ้าของเดิม

คุมส์
หนึ่งในภาระหน้าที่ของมุสลิม คือ การจ่ายคุมส์ หมายถึงการหักจ่าย๑/๕ จากรายได้สุทธิในรอบหนึ่งปีให้แก่ผู้ปกครองอิสลาม ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายคุมส์มี ๗ ประเภท ดังนี้

๑.รายได้จากกการทำมาหากิน เมื่อใดก็ตามที่ได้รับผลประโยชน์จากการทำมาหากิน เช่น ธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือแม้แต่รายได้จากการรับจ้างทำนมาซหรือถือศีลอดให้กับคนตาย ถ้าหักรายจ่ายในรอบหนึ่งมีแล้วยังมีรายได้เหลืออยู่ซึ่งเป็นรายได้สุทธิ จำเป็นต้องจ่ายคุมส์

๒.รายได้จากเหมืองแร่ธาตุต่างๆ เช่น ทองคำ เงิน ตะกั่ว ทองแดง เหล็ก น้ำ ถ่านหิน ฟิรูเซะ แอก-กิท(หินโมรา) สารส้ม เกลือ ฯลฯ ที่ถึงขั้นกำหนดที่ต้องจ่ายคุมส์

๓.ขุมทรัพย์ของมีค่าที่พบเจอใต้พื้นดิน ในต้นไม้ ภูเขา หรือใต้กำแพง ซึ่งอาจเรียกว่าขุมทรัพย์ก็ได้ ขั้นกำหนดที่ต้องจ่ายคุมส์ขุมทรัพย์และสถานที่ของ

·ถ้าพบเจอในที่ของตน ถือว่าเป็นของตนและต้องจ่ายคุมส์
·ถ้าพบเจอในที่ที่ไม่มีเจ้าของ เช่น ตามท้องทุ่ง ภูเขา ถือว่าเป็นของตนต้องจ่ายคุมส์
·ถ้าพบเจอในที่ของคนอื่น (หรือที่ที่มีเจ้าของ) ถือว่าเป็นเจ้าของที่นั้นๆ
·ถ้าพบเจอในที่ที่ซื้อมาจากคนอื่น ถ้ารู้ว่าไม่ใช่ของเจ้าของเดิมถือว่าเป็นของตนต้องจ่ายคุมส์ ถ้าสงสัยว่าอาจจะเป็นของคนหนึ่งคนใด จำเป็นต้องประกาศให้รับรู้ และหลังจากนั้นรู้ว่าไม่ใช่ของพวกเขา ให้แจ้งให้เจ้าของเดิมได้รับรู้ และถ้ารู้ว่าไม่ใช่ของใครเลย ถือว่าของนั้นเป็นของตนจำต้องจ่ายคุมส์

๔.สินสงคราม

๕.ทรัพย์ที่นำขึ้นมาจากท้องทะเล

๖.ทรัพย์สินหะล้าลที่ผสมปนกับทรัพย์สินหะรอม ในกรณีที่ทรัพย์ของเราได้ผสมปนกับทรัพย์ของคนอื่น ซึ่งอาจจะมีลักษณะดังนี้คือ

ในกรณีที่รู้จักเจ้าของ
·รู้จำนวนทรัพย์ที่ผสมอยู่ จำเป็นต้องแยกส่วนนั้นคือเจ้าของ
·ไม่รู้จำนวนทรัพย์ที่ผสมอยู่ จำเป็นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องอภัยให้แก่กัน
ในกรณีที่ไม่รู้จักเจ้าของ
·รู้จำนวนทรัพย์ที่ผสมอยู่ จำเป็นต้องเนียตแทนเจ้าของแล้วเอาทรัพย์ส่วนนั้นจ่ายเป็นเศาดะเกาะฮไป แต่เป็นอิหติยาฎวาญิบให้ขออนุญาตฮากิมก่อน
·ไม่รู้จำนวนทรัพย์ที่ผสมอยู่ จำเป็นต้องจ่ายคุมส์ทั้งหมด ส่วนที่เหลือจึงจะถือว่าหะล้าล

๗.พื้นดินที่กาฟิรซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศมุสลิมได้ซื้อจากมุสลิม

การจ่ายคุมส์เป็นวาญิบเหมือนกับนมาซและศีลอด และเป็นวาญิบสำหรับทุกคนที่บรรลุภาวะตามศาสนบัญญัติ มีสติสัมปชัญญะและมีทรัพย์หนึ่งในเจ็ดประเภทตามที่กล่าวมา

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าคุมส์ คือ การหักจากรายได้สุทธิ ๑/๕ ในรอบหนึ่งปี และสำหรับผู้ที่มีรายได้เท่านั้นที่จำเป็นต้องจ่าย ส่วนผู้ที่ไม่มีรายได้ไม่ต้องจ่าย ก่อนที่จะอธิบายในรายละเอียดส่วนอื่น ขอทำความเข้าใจกับสองประเด็นที่จะกล่าวต่อไปนี้

๑.จุดประสงค์ของคำว่า “รายจ่ายประจำปี” หมายความว่าอะไร?
๒.จำนวน ๑ ปีนั้น นับตามการคำนวณของจันทรคติหรือสุริยคติและควรจะนับเมื่อใด?

รายได้ประจำปี
อิสลามเป็นแนวทางที่ถูกำหนดขึ้นมาเพื่อชี้นำมนุษยชาติ ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ จะถูกแนะนำและจัดวางไว้อย่างรอบคอบ อิสลามให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้ทำงานประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว รายได้ทั้งหมดที่หามาได้จำเป็นต้องคำนึงถึงครอบครัวก่อนอื่นใด

ฉะนั้น เรื่องของคุมส์จึงมาหลังการเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งเมื่อครบปีต้องทำการคำรวณรายได้ หากไม่มีเหลือหรือไม่เพิ่มขึ้นมา ในกรณีนี้ไม่เป็นวาญิบต้องจ่ายคุมส์ แต่ถ้าเหลือจำเป็นต้องจ่าย ๑/๕ ส่วนที่เหลืออีก ๔/๕ เป็นของตน

ดังนั้น จุดประสงค์ของคำว่า “รายจ่ายประจำปี” จึงหมายถึง ปัจจัยทั้งหลายที่ตนและครอบครัวต้องการในการดำเนินชีวิต ดังตัวอย่างต่อไปนี้

๑.อาหารและเครื่องนุ่งห่ม
๒.เครื่องเรือน เช่น ภาชนะต่าง ๆ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ
๓.ยานพาหนะที่มิได้มีไว้เพื่อทำงานเพียงอย่างเดียว
๔.ค่าใช้จ่ายของแขก
๕.ค่าใช้จ่ายที่เตรียมไว้เพื่อแต่งงาน
๖.ตำราต่าง ๆ ที่ต้องการ
๗.ค่าใช้จ่ายที่จัดเตรียมไว้เพื่อเดินทางไปซิยาเราะฮฺ
๘.รางวัลหรือฮะดียะฮที่จะมอบให้กับผู้อื่น

กำหนดปีของคุมส์
เป็นธรรมดาของผู้ศรัทธาที่วันแรกของการบรรลุภาวะตามศาสนบัญญัติต้องทำ นมาซ ถ้าเป็นวันแรกของเดือนรอมฎอนต้องถือศีลอด และถ้า ๑ ปีผ่านไป วันขึ้นปีใหม่ต้องจ่ายคุมส์ ด้วยเหตุนี้ การคำนวณปีของการจ่ายคุมส์ให้เริ่มตั้งแต่ต้นปี (วันแรก) และเมื่อวันสุดท้ายสิ้นสุดลงถือว่าครบ ๑ ปีบริบูรณ์ตามปีของสุริยะคติ ดังนั้น การนับวันแรกของปีสำหรับคนทุกสาขาอาชีพย่อมมีความแตกต่างกัน อาทิเช่น

เกษตรกร เริ่มตั้งแต่การได้รับผลผลิตครั้งแรก
พนักงาน เริ่มตั้งแต่รับเงินเดือน ๆ แรกเป็นต้นไป
ผู้ใช้แรงงาน เริ่มตั้งแต่รับค่าแรงงวดแรกเป็นต้นไป
เจ้าของกิจการ เริ่มตั้งแต่ทำการค้า

รายได้ดังต่อไปนี้ไม่ต้องจ่ายคุมส์
๑.ทรัพย์สินที่ผู้ตายได้ละทิ้งไว้ให้ (มรดก) แต่ถ้ารู้ว่าผู้ตามยังไม่ได้จ่ายคุมส์ จำเป็นต้องจ่ายก่อน
๒.สิ่งต่าง ๆ ที่ผู้อื่นได้ยกให้ เช่น สิ่งของที่พ่อแม่ให้หรือของที่สามีให้กับภรรยา
๓.รางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับมา
๔.มะฮัรของผู้หญิง
๕.สิ่งของที่ได้รับมาในนามของคุมส์ ซะกาตหรือเศาะดะเกาะฮฺ
๖.ของขวัญที่ถูกมอบให้ในวันอีดต่าง ๆ

ผลพวงของการไม่จ่ายคุมส์
๑.ถ้าหากทรัพย์ส่าวนใดยังไม่ได้จ่ายคุมส์ ถือว่าไม่มีสิทธิใช้จ่ายทรัพย์สินส่วนนั้น หมายถึง อาหารต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายคุมส์ก่อนไม่สามารถกินได้ หรือเงินที่ยังไม่ได้หักเพื่อจ่ายคุมส์ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายใด้ทั้งสิ้น

๒.กรณีที่นำเงินที่ยังไม่ได้จ่ายคุมส์ไปทำการค้า (โดยปราศจากคำอนุญาตจากฮากิม) ๑/๕ ของการค้านั้นบาฎิล (โมฆะ)

๓.ถ้านำเงินที่ยังไม่ได้จ่ายคุมส์ไปซื้อบ้าน และทำนมาซในบ้านนั้นนมาซบาฎิล (โมฆะ)

๔.ถ้านำสิ่งของทียังไม่ได้จ่ายคุมส์ไปให้คนอื่น ถือว่า ๑/๕ ส่วนจากของนั้นไม่ใช่ของเขา

หัจญ์
หัจญ์เป็นหนึ่งในหน้าที่ที่เป็นวาญิบสำหรับมุสลิมทั้งหลาย และถือเป็นอิบาดะฮฺทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่สำหรับประชาชาติอิสลาม หัจญ์เป็นวาญิบ(ข้อบังคับ) สำหรับมุสลิมที่มีความสามารถเพียงครั้งเดียวในชีวิต
เงื่อนไขที่เป็นวาญิบของหัจญ์

๑.ต้องบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ (ผู้หญิง ๙ ปี ผู้ชาย ๑๕ ปี)
๒.มีสติสัมปชัญญะและมีความเป็นอิสระ กล่าวคือ การทำหัจญ์ต้องไม่ใช่การบีบบังคับให้ไปทำ จนต้องละทิ้งภาระที่เป็นวาญิบกว่าการทำหัจญ์ หรือเป็นเหตุให้กระทำความผิดที่การละเว้นสำคัญกว่าการทำหัจญ์

๓.ต้องมีความสามารถทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ มีความปลอดภัยและมีเวลาเพียงพอ

มาตรฐานของผู้ที่มีความสามารถ
๑.มีทรัพย์พียงพอสำหรับการเดินทางไปและกลับ
๒.ต้องมีค่าใช้จ่ายเพียงพอสำหรับครอบครัวขณะที่ตนทำหัจญ์อยู่ (ไม่สร้างความเดือดร้องให้กับครอบครัว)
๓.เมื่อเดินทางกลับต้องไม่ได้รับความเดือดร้อนจากอาชีพการงาน

ประเภทหัจญ์
หัจญ์แบ่งเป็น ๓ ประเภทตามความเหมาะสม สภาพและภูมลำเนาของมุสลิม ดังนี้คือ

๑.หัจญ์กิรอน
๒.หัจญ์อิฟรอด
๓.หัจญ์ตะมัตตุอ

หัจญ์สองประเภทแรก เป็นหน้าที่ของชาวมักกะฮฺและประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับมักกะฮฺ (ที่อยู่ในรัศมีห่างไม่เกิน ๑๖ ฟัรชัด ประมาณ ๙๐ กม.)รายละเอียดดูได้จากหนังสือริชาละฮ (ตำราที่ว่าด้วยหลักการปฏิบัติ)ส่วนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าว หากเดินทางไปทำหัจญ์จำต้องทำหัจญ์ประเภทที่สาม (หัจญ์ตะมัตตุอ)และก่อนที่จะทำหัจญ์ต้องทำอุมเราะฮฺตะมัตตุอก่อน

ขั้นตอนของการทำอุมเราะฮฺตะมัตตุอ
๑.ต้องเดินทางไปยังมีกอต เช่น มัสญิดชะญะเราะฮฺ เพื่อครองชุดอิหฺรอม
๒.เมื่อถึงยังมัสญิดหะรอม ต้องทำเฏาะวาฟ ๗รอบ
๓.ต้องทำนมาซเฏาะวาฟหลังจากนั้น ๒ เราะกะอัต
๔.ต้องเดินสะแอย์ระหว่างเขาเศาะฟากับมัรวะฮ ๗ รอบ
๕.หลังจากนั้นต้องทำการตักศีร ตัดผมหรือ เล็บ เพียงเล็กน้อย

ขั้นตอนของการทำฮัจญ์ตะมัตตุอฺ
๑.ครองชุดอิหฺรอมที่มักกะฮฺของเย็นวันที่ ๘ ซุ้ลฮิจญะฮฺ
๒.ทำการวุกูฟ (ที่ทุ่งอาระฟะฮฺในวันที่ ๙ ซุ้ลฮิจญะฮฺ ตั้งแต่ซุฮรฺจนถึงมัฆริบ)
๓.ทำการวุกุฟในค่ำคืนของอีดกุรบานที่มัชอัร
๔.ทำการขว้างเสาหินต้นสุดท้ายที่มินาในเช้าของวันอีดกุรบาน (๑๐ ชุ้ลฮิจญะฮฺ)
๕.ทำการกุรบาน (เชือดสัตว์) ที่มินา
๖.ทำการฮัลกฺ(โกนผมสำหรับฮัจญ์ครั้งแรก)หรือตักซีร (ตัดผม ตัดเล็บ) ที่มินา
๗.ทำการเฎาะวาฟหัจญ์ตะมัตตุอฺ
๘.นมาซหัจญ์ตะมัตตุอฺ
๙.เดินสะแอย์ระหว่างเศาะฟากับมัรวะฮฺ
๑๐.ทำการเฏาวาฟนิสาอฺ
๑๑.นมาซเฏาะวาฟนิสาอฺ ๒ เราะกะอัต
๑๒.ค้างแรมที่มินาในคืนที่ ๑๑,๑๒,๑๓ ซุ้ลฮัจญะฮฺ
๑๓.ขว้างเสาหินทั้งสามต้นในวันที่ ๑๑,๑๒,๑๓
ถ้าหลังซุฮรฺของวันที่ ๑๒ ซุ้ลฮิจญะฮฺ ฮุจญาตได้เดินทางออกจากมินาถือว่าพิธีหัจญ์ตะมัตตุอฺเป็นอันเสร็จสิ้น

สิ่งที่เป็นหะรามขณะที่ครองชุดอิหรอม
ฮุจญาตหลังจากครองชุดอิหรอมเรียบร้อยแล้ว ต้องเนียตและกล่าวลับบัยก์ ชณะที่ครองชุดอิหรอมอยู่นั้นตอ้งหลีกเลียงจากภาระกิจที่กล่าวต่อไปนี้ โดยมีทั้งสิ้น ๒๔ ประเภท ซึ่งสี่ประเภทเป็นหะรามสำหรับผู้ชายเท่านั้น สองประเภทเป็นหะรามสำหรับผู้หญิง ส่วนที่เหลือเป็นหะรามระหว่างฮุจญาตทั้งสอง

สิ่งที่เป็นหะรามร่วม
๑.การล่าสัตว์
๒.อ่านอักดฺ
๓.การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (อิสติมนาอ)
๔.ร่วมเพศ
๕.การใส่น้ำหอม (เครื่องหอมต่าง) ตลอดจนสบู่ แชมพูที่มีกลิ่นหอม

๖.การเขียนตา
๗.การส่องกระจก
๘.ทำการกลับกลอก (เช่น พูดโกหก ด่าทอ)
๙.ทำการโต้เถียงและพิพาทกันโดยกล่าวว่า ”ลาวัลลอฮ” “บะลาวัลลอฮ”
๑๐.การฆ่าสิ่งมีชีวิต เช่น แมลงที่เกาะอยู่ตามตัว

๑๑.สวมแหวนโดยมีเจตนาว่าเป็นเครื่องประดับ
๑๒.ทาน้ำตามร่างกาย
๑๓.การทำให้เลือดไหลออกจากร่างกาย
๑๔.การตัดเล็บ
๑๕.การถอนฟัน

๑๖.การถอนต้นพืชที่ขึ้นอยู่ในบริเวณมัสญิดหะรอม
๑๗.การพกพาอาวุธ

สิ่งที่เป็นหะร่ามสำหรับผู้ชาย
๑.การสวมใส่ผ้าที่มีรอยเย็บ
๒.การสวมใส่รองเท้าที่ปิดหลังเท้าจนมิดชิด
๓.การปกปิดศีรษะ
๔.การทำให้เกิดเงาเหนือศีรษะ

สิ่งที่เป็นหะรามสำหรับผู้หญิง
๑.การสวมใส่เครื่องประดับ
๒.การปกปิดหน้า

ขั้นตอนของการทำ อุมเราะฮฺ มุฟฟะเราะดะฮฺ
เป็นวาญิบสำหรับผู้ที่เดินทางไปมักกะฮฺเป็นประจำ ซึ่งการทำหัจญ์ไม่เป็นวาญิบ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

๑.ครองชุดอิหรอม
๒.เฏาะวาฟ
๓.นมาซเฏาะวาฟ
๔.สะแอย์
๕.ทำการตักศีร (ตัดผม เล็บ) เล็กน้อย
๖.เฏาะวาฟนิสาอฺ
๗.นมาซเฏาะวาฟนิสาอฺ



จบ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์

ทางเว็บไซต์อัลฮะซะนัยน์ได้ปรับเนื้อหาคำแปลบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่