การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า0%

การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า ผู้เขียน:
กลุ่ม: หลักศรัทธา
หน้าต่างๆ: 9

การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

ผู้เขียน: แปล: เชค อบูนัสรีน
กลุ่ม:

หน้าต่างๆ: 9
ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 33958
ดาวน์โหลด: 404

รายละเอียด:

การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า
ค้นหาในหนังสือ
  • เริ่มต้น
  • ก่อนหน้านี้
  • 9 /
  • ถัดไป
  • สุดท้าย
  •  
  • ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 33958 / ดาวน์โหลด: 404
ขนาด ขนาด ขนาด
การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

ผู้เขียน:
ภาษาไทย
การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน



1. อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม)กับหมอชาวอินเดีย
ประเด็นสนทนา :การทำความรู้จักพระเจ้า

“มุฟัฎฎ็อล” สาวกคนหนึ่งของท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) ได้เขียนจดหมายถึงท่านอิมามโดยมีเนื้อหาสาระพอสรุปได้ดังนี้
บัดนี้ ในสังคมของเรามีชนกลุ่มหนึ่งกำลังสำแดงความปฏิเสธการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า และยังพยายามชี้นำผู้คนให้คล้อยตามแนวทางของพวกเขาอีกด้วย ในตอนท้ายของจดหมาย มุฟัฎฎ็อลยังได้ขอร้องให้ท่านอิมามเขียนตำราขึ้นมาสักเล่มหนึ่งเพื่อเป็นหลักฐานหักล้างความคิดที่เต็มไปด้วยอันตรายดังกล่าว

ท่านอิมามศอดิก (อ) ได้ตอบจดหมายของสหายรักของท่านดังนี้ :-
“...ความโปรดปราน ความเมตตาและความเอื้ออาทรอันยิ่งใหญ่ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานแก่มนุษยชาติก็คือ ความคิดและสติปัญญาซึ่งถือเป็นสื่อหรือเครื่องมือที่จะทำให้พวกเขาสามารถทำความรู้จักพระองค์ และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่พระองค์ทรงประทานคัมภีร์ ซึ่งในนั้นมีสารัตถะที่ควรค่าต่อการพิจารณาใคร่ครวญ และจะต้องยอมจำนนในการมีอยู่ของพระองค์ นอกจากนั้น มันยังบรรจุไปด้วยโอสถขนานเอกที่จะใช้เยียวยารักษาและขจัดโรคร้ายแห่งความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลายให้สูญสลายไปได้ ....

ขอสาบานด้วยตัวของข้าฯว่า พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงเพิกเฉยละเลยต่อกลุ่มชนที่โง่เขลาเบาปัญญาในการที่จะทำให้พวกเขาทำความรู้จักพระองค์ ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาสามารถที่จะพิจารณาใคร่ครวญถึงระบบการสรรสร้างที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์และพิถีพิถันทั้งฟากฟ้าและแผ่นดินซึ่งล้วนต่างสำแดงให้ประจักษ์ถึงการมีอยู่ของผู้ทรงบริหารและสรรสร้างอย่างเป็นระบบระเบียบของมันทั้งสิ้น

“สำหรับประชาชนที่พากันปฏิเสธพระเจ้า พวกเขาจะต้องพิจารณาใคร่ครวญถึงปรัชญาในการมีอยู่ของเขาเอง”

ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มชนที่ประกอบความผิดบาป ก่อกรรมทำเข็ญ และสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดินนั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากความเคยชินในการทำความผิดบาป จนในที่สุดพวกเขาไม่อาจที่จะควบคุมเจตนารมณ์เสรีของตนมิให้โน้มเอียงไปสู่การฝ่าฝืนและหลงผิดได้ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังได้สร้างความอธรรมจนทำให้ซาตานมารร้ายเข้าครอบงำและเอาชนะพวกเขาในที่สุด ด้วยเหตุนี้เองที่พวกเขาจึงไม่เหมาะสมและคู่ควรที่จะได้รับสัจธรรมและทางนำที่เที่ยงตรงจากพระผู้เป็นเจ้า

เป็นที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งที่สิ่งถูกสรรสร้างดังกล่าวเข้าใจและคิดกันไปว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะทำความรู้จักพระผู้เป็นเจ้าได้ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาต่างได้เห็นเป็นพยานถึงการเป็นผู้ถูกสร้างที่พรั่งพร้อมไปด้วยระบบที่ละเอียดพิถีพิถันในตัวของพวกเขาเองซึ่งสติปัญญาของพวกเขาจะต้องพิศวงงงงัน และการปฏิเสธของพวกเขาจะต้องกลับกลายเป็นสิ่งโมฆะ
ขอสาบานต่อชีวิตของฉัน มาตรว่าผู้คนเหล่านั้นได้พิจารณาใคร่ครวญถึงระบบที่เต็มไปด้วยความยิ่งใหญ่และน่ามหัศจรรย์ของการสรรสร้างสรรพสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงจากสารัตถะหนึ่งไปสู่สารัตถะหนึ่ง จากภาพลักษณ์หนึ่งไปสู่อีกภาพลักษณ์หนึ่ง จนกระทั่งได้พัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์แบบของมันแล้ว พวกเขาก็จะประจักษ์ถึงผู้ทรงสร้างและผู้คอยควบคุมให้โลกและจักรวาลนี้เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ เพราะทุกสรรพสิ่งล้วนเต็มไปด้วยองค์ประกอบและระเบียบแบบแผนที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของผู้สรรสร้างที่เป็นผู้คอยควบคุมบริหารที่เต็มไปด้วยวิทยปัญญาและชาญฉลาดอย่างแท้จริง

จดหมายของท่านได้มาถึงฉันแล้ว ดังนั้น ฉันใคร่ที่จะหยิบยกเรื่องราวหนึ่งที่ฉันได้สนทนาและถกเถียงกับผู้ที่ปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้าขึ้นมาเพื่อใช้เป็นคำตอบตามที่ท่านได้เรียกร้องฉันมา”

ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้ :

หมอชาวอินเดียคนหนึ่งมักจะเดินทางมาเยี่ยมเยียนฉันครั้งแล้วครั้งเล่า เขาชอบที่จะสนทนาและถกเถียงกับฉันเกี่ยวกับความเชื่อถือศรัทธาของตน
วันหนึ่ง เขาได้มาหาฉันตามปกติ ในขณะที่เขากำลังหมกมุ่นอยู่กับการตำลูกสมอเพื่อตระเตรียมตัวยาอยู่นั้น เขาได้หยิบยกประเด็นที่เคยสนทนาก่อนหน้านั้นมาคุยกับฉันอีก โดยเริ่มกล่าวว่า :-

“โลกนี้ดำรงมาตั้งแต่ดั้งเดิม และจะดำรงต่อไปอย่างถาวร ต้นไม้จะเจริญงอกงามและจะเหี่ยวเฉาตายไปในที่สุด ทารกหนึ่งจะถือกำเนิดขึ้นมา ในขณะที่คนอื่น ๆ จะค่อยทยอยตายจากไป”

นอกจากนี้ หมอผู้นี้ยังเชื่อว่าไม่มีหลักฐานและข้อพิสูจน์ใด ๆ ที่บ่งบอกว่าพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่จริง และความเชื่อดังกล่าวได้กลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดติดต่อกันมาจากบรรพชนคนรุ่นก่อนจนตกทอดมาถึงยุคปัจจุบัน โดยผู้อาวุโสน้อยกว่าจะเชื่อตามผู้ที่อาวุโสมากกว่า โดยเขาเชื่อว่าเฉพาะประสาทสัมผัสทั้งห้าเท่านั้นที่จะใช้พิสูจน์และทำความรู้จักกับสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา

หลังจากนั้น เขาได้กล่าวว่า “เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าวิธีที่จะรู้จักสรรพสิ่งทั้งหลาย ต้องอาศัยการสัมผัสเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น ท่านยังจะมีวิธีอื่นใดที่จะใช้ทำความรู้จักกับพระเจ้าของท่านหรือ ?
อิมาม : สติปัญญา หลักฐาน และข้อพิสูจน์ทางสติปัญญา

หมอชาวอินเดีย : ลำพังสติปัญญาโดยปราศจากประสาทสัมผัสทั้งห้าไม่สามารถจะใช้พิสูจน์หรือสัมผัสสิ่งใด ๆ ได้หรอก ดังนั้น สติปัญญาของท่านจะยอมจำนนว่าพระเจ้ามีอยู่จริงได้จะต้องอาศัยตามอง หรือใช้หูฟัง หรือไม่ก็ประสาทสัมผัสส่วนอื่น

อิมาม : เอาละ ก่อนที่เราจะเข้าสู่ประเด็นหลัก ฉันมีคำถามที่จะถามท่านอยู่ข้อหนึ่ง ในขณะที่ท่านปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า แต่ฉันเป็นผู้ที่เชื่อและศรัทธาว่าพระเจ้ามีอยู่จริง ดังนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือคนใดคนหนึ่งในระหว่างเราทั้งสองจะต้องเป็นฝ่ายถูก และอีกคนหนึ่งจะต้องเป็นฝ่ายผิด จะไม่มีสมมติฐานหรือทางเลือกที่สามอื่นจากนี้ ใช่ไหม ?

หมอ : แน่นอน

อิมาม : มาตรว่าความเชื่อของท่านถูกต้อง ท่านจะยอมรับหรือไม่ว่าสาเหตุแห่งความเชื่อที่ผิดพลาดของฉันจะไม่กระทบกระเทือนและเป็นภยันตรายกับตัวฉันแม้แต่น้อย ทว่า ถ้าความเชื่อของท่านผิดพลาด ท่านจะยอมรับหรือไม่ว่า ด้วยการปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า ท่านจะกลายเป็นผู้ที่โชคร้ายและประสบกับความวิบัติอย่างแน่นอน ?

หมอ : ใช่

อิมาม : ฉะนั้น ระหว่างเราทั้งสอง ใครกันเล่าที่จะปลอดภัย และใครกันเล่าที่จะประสบกับความพินาศ ?

หมอ : แน่นอน ท่านจะเป็นผู้ที่ปลอดภัย แต่ในเมื่อความเชื่อในพระเจ้าของท่านตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคลุมเครือ ในขณะที่ความเชื่อในการไม่มีพระเจ้าของฉัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้และความเชื่อมั่นที่เต็มไปด้วยข้อพิสูจน์ กล่าวคือ ทุกสรรพสิ่งที่ไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าสัมผัสได้ จะถือว่ามีอยู่ได้อย่างไร และพระเจ้าเป็นสิ่งที่ประสาทสัมผัสทั้งห้าไม่สามารถสัมผัสและพิสูจน์ได้ ดังนั้น จึงสรุปได้อย่างไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ว่า “ไม่มีพระเจ้า”

อิมาม : ด้วยเหตุผลที่ท่านไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระเจ้านี้เองที่ทำให้ท่านปฏิเสธพระองค์ ตรงกันข้าม ในขณะที่ฉันไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าพิสูจน์ถึงการมีอยู่จริงของพระเจ้าได้ แต่ฉันกลับเป็นผู้ที่ยอมจำนนและศรัทธาในการมีอยู่ของพระองค์ !

หมอ : ท่านหมายความว่าอย่างไร ?

อิมาม : เหตุผลก็คือสรรพสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า (เช่น เรือนร่าง สีสัน แสง เสียง) นั้น ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงและไม่คงทนถาวรทั้งสิ้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ทรงสร้างจะอยู่ในฐานะเดียวกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง ที่พระองค์จะเปลี่ยนสภาพและเสื่อมสลายดังเช่นสรรพสิ่งทั้งมวล”

หมอ : นี่เป็นคำตอบที่ไม่อาจจะใช้เป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระเจ้าได้ เพราะฉันเชื่อมั่นว่าหนทางที่จะทำความรู้จักกับสรรพสิ่งทั้งหลายได้ก็คือประสาทสัมผัสทั้งห้าเท่านั้น ถ้าปราศจากสิ่งดังกล่าวแล้ว สติปัญญาไม่สามารถที่จะสัมผัสหรือเข้าถึงสิ่งใดได้”

อิมาม : สิ่งที่ท่านหยิบยกขึ้นเป็นข้อโต้แย้งกับฉันกำลังย้อนกลับไปหาตัวท่านเอง เพราะท่านเป็นผู้ยืนยันมิใช่หรือว่าสิ่งที่ไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าพิสูจน์ได้ย่อมไม่มีอยู่จริง ?

หมอ : ฉันไม่เข้าใจในความหมายของท่าน ?

อิมาม : ท่านโต้แย้งว่าคำพูดของฉันเกี่ยวกับการมีอยู่ของพระเจ้านั้นไม่มีหลักฐานและข้อพิสูจน์ใด ๆ คำโต้แย้งดังกล่าวได้ย้อนกลับไปหาตัวท่านเอง ก็เพราะท่านมิได้มีหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงการไม่มีอยู่ของพระเจ้า

สมมุติว่าความเชื่อของท่านเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (ที่กล่าวว่าทุกสิ่งที่ไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าพิสูจน์ได้ ย่อมไม่มีอยู่ในโลกนี้) หรือว่าท่านได้เดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกเพื่อพิสูจน์ถึงการไม่มีอยู่จริงของพระเจ้าแล้ว จึงทำให้ท่านกล่าวว่า “เพราะฉันไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าพิสูจน์พระเจ้าได้ ดังนั้น ฉันจึงกล้ากล่าวว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง”

(อิมามต้องการจะอธิบายว่า ประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่นตาที่ใช้มอง หรือหูที่ใช้ฟังนั้น มีขอบเขตหรือระยะทางที่จำกัด ดังนั้น ในเมื่อหมอผู้นี้ยังไม่ได้ออกไปสัมผัสทั่วทุกสารทิศ แล้วเขาจะอ้างได้อย่างไรว่าไม่มีพระเจ้า = ผู้แปล)

หมอ : ใช่ ฉันไม่เคยเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกมาก่อน

อิมาม : แล้วท่านจะทราบได้อย่างไร ? ในขณะที่ยังมีสรรพสิ่งอีกมากมายที่สติปัญญาของท่านไปไม่ถึง แต่ท่านรีบปฏิเสธมันนั้น เนื่องจากประสาทสัมผัสทั้งห้าของท่านยังมิได้สัมผัสกับมันมาก่อน และความรู้ของท่านก็ไม่สามารถที่จะตัดสินได้ว่าสถานที่ที่ท่านไม่เคยไปสัมผัสนั้นมีสิ่งใดบ้าง ?

หมอ : ถึงแม้ว่าฉันไม่สามารถล่วงรู้ถึงสิ่งเหล่านั้นได้ ถึงกระนั้น เป็นไปได้ว่าในแต่ละสถานที่นั้นอาจจะมีผู้บริหาร หรืออาจจะไม่มีผู้บริหารก็ได้ ( ในกรณีดังกล่าว ออกุสต์ กองต์ นักปรัชญาผัสสนิยมร่วมสมัย ได้กล่าวว่า “เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้ว่านับตั้งแต่โลกอุบัติขึ้นมาว่ามันมีภารกิจใดบ้าง ดังนั้น จึงไม่อาจที่จะปฏิเสธถึงการมีอยู่ของสิ่งเก่าก่อนและสิ่งที่ติดตามมาในภายหลังได้ เสมือนดังที่เราก็ไม่สามารถที่จะพิสูจน์มันได้เช่นกัน”

อิมาม : ดังนั้น ท่านกำลังสับสนในคำพูดของท่านเองที่กล่าวว่า “ฉันเชื่อมั่นว่าไม่มีพระเจ้า” แต่บัดนี้ ท่านกลับกล่าวว่า “พระเจ้าอาจจะมี หรืออาจจะไม่มี” เท่ากับท่านกำลังก้าวออกจากอาณาเขตแห่งการปฏิเสธพระเจ้า เข้ามาสู่อาณาจักรแห่งความคลางแคลงสงสัยแล้ว ด้วยเหตุนี้ ทำให้ฉันมั่นใจว่าท่านจะต้องก้าวพ้นออกจากอาณาจักรแห่งความสงสัยไปสู่การทำความการรู้จักพระเจ้าในที่สุด

หมอ : ในเมื่อประสาทสัมผัสทั้งห้าไม่สามารถใช้พิสูจน์พระเจ้าได้ แล้วยังจะมีวิถีทางใดอีกเล่าที่จะใช้พิสูจน์ ?

อิมาม : จากลูกสมอที่ท่านกำลังบดทำยาอยู่ในขณะนี้

หมอ : ถ้าเป็นดังเช่นที่ท่านกล่าวจริง ย่อมเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมทีเดียว เพราะถือเป็นการพิสูจน์ด้วยวิถีแห่งประสบการณ์และการทดลอง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในเชิงวิชาการอีกด้วย

อิมาม : ใช่แล้ว ที่ฉันจะพิสูจน์ด้วยสิ่งนี้ก็เพราะฉันได้พิจารณาแล้วว่าท่านเป็นผู้ที่สัมผัสและคุ้นเคยกับมันกว่าสิ่งอื่นใด เพราะมาตรว่ามีสิ่งอื่นที่ท่านคุ้นเคยมากกว่านี้แล้วไซร้ ฉันจะใช้สิ่งนั้นพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระเจ้ากับท่านทันที ทั้งนี้เนื่องจากทุกสิ่งที่ท่านจินตนาการนั้น ล้วนมีที่มาและองค์ประกอบเฉพาะที่บ่งบอกถึงความเป็นสิ่งถูกสร้างของมันทั้งสิ้น

อิมาม : ท่านมองเห็นลูกสมอนี้ใช่ไหม ?

หมอ : ใช่

อิมาม : แล้วท่านทราบไหมว่าภายในลูกสมอใบนี้มีสิ่งใดซ่อนอยู่บ้าง ?

หมอ : ตราบเท่าที่ฉันยังไม่ผ่ามันออกมา ฉันจะไม่มีวันทราบได้เลย

อิมาม : ท่านยอมรับใช่ไหมว่ามีเมล็ดอยู่ภายในลูกสมอใบนี้ ซึ่งในขณะนี้ท่านไม่สามารถมองเห็นมันได้ ? ( อิมามศอดิก (อ) ต้องการที่จะพิสูจน์ให้หมอชาวอินเดียผู้นี้ได้ตระหนักว่า สรรพสิ่งที่มีอยู่ตั้งมากมายก่ายกองในโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ทว่า ประสาทสัมผัสทั้งห้าไม่สามารถจะสัมผัสมันได้ แต่หมอผู้นี้พยายามจะเลี่ยงบาลีเพื่อจะไม่ให้ตนต้องเข้าสู่มุมอับ ด้วยเหตุนี้เอง บางครั้งเขากล้าที่จะปฏิเสธในสิ่งที่เป็นที่ประจักษ์และยอมรับกันโดยทั่วไป)

หมอ : ตราบเท่าที่ฉันยังไม่เห็น ฉันจะทราบได้อย่างไรเล่า อาจจะเป็นไปได้ว่าไม่มีสิ่งใดอยู่ในนั้นเลยก็ได้

อิมาม : ท่านยอมรับไหมว่าภายใต้เปลือกของมันมีเนื้อเยื่อหรือสิ่งอื่นซ่อนอยู่ ?

หมอ : ตราบเท่าที่ฉันยังไม่เห็น ฉันไม่มีวันที่จะทราบได้ อาจจะมี หรืออาจจะไม่มีก็ได้

อิมาม : ท่านยอมรับไหมว่าลูกสมอใบนี้เติบโตมาจากดิน ?

หมอ : ใช่ เพราะฉันได้ประสบพบเห็นด้วยตัวฉันเอง

อิมาม : ลูกสมอใบนี้จะไม่เป็นเครื่องยืนยันหรอกหรือว่ายังมีลูกสมอใบอื่น ๆ ที่ท่านยังมิได้เห็นมัน ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดที่ต่อเนื่องยาวนานจนกระทั่งทำให้มีลูกสมอใบนี้ขึ้นมา ?

หมอ : (เพื่อหลีกให้พ้นจากการจนตรอก เขาจึงพยายามเลี่ยงบาลีด้วยการกล่าวว่า) ฉันจะทราบได้อย่างไรเล่า เพราะเป็นไปได้ว่านอกจากลูกสมอใบนี้แล้ว อาจจะไม่มีลูกสมออื่นใดอยู่ในโลกใบนี้เลยก็ได้ ตราบเท่าที่ฉันยังไม่เห็นลูกสมออื่น ๆ ด้วยตาของฉัน จะให้ฉันยอมรับว่ามันมีอยู่จริงได้อย่างไรเล่า ?!

อิมาม : ท่านยอมรับไหมว่าลูกสมอใบนี้ถือกำเนิดจากต้นของมัน หรือท่านจะโต้แย้งว่ามันเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องอาศัยต้น ?

หมอ : แน่นอน ต้องเกิดจากต้นของมัน

อิมาม : เอาละ บัดนี้ท่านยอมรับแล้วว่าต้นสมอที่ท่านไม่เคยเห็นมันมาก่อนนั้นจะต้องมีอย่างแน่นอน ในขณะที่ก่อนหน้านี้ท่านเคยกล่าวว่า “ตราบเท่าที่ประสาทสัมผัสทั้งห้าของฉันยังมิได้สัมผัสกับสิ่งนั้น ฉันจะไม่มีวันยอมรับว่ามันมี”

หมอ : ถูกต้องที่ว่าฉันยังไม่เคยเห็นมันมาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ฉันขอยืนยันว่า ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ต้นสมอต้นนั้น ตลอดจนกระทั่งสรรพสิ่งที่มีอยู่จริงในโลกนี้จะต้องสามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่ในกรณีที่ท่านอ้างถึงการมีอยู่ของพระเจ้านี่ซิ กลับไม่มีประสาทสัมผัสส่วนใดสามารถพิสูจน์และให้คำตอบแก่มนุษย์ทั้งหลายได้ ท่านจะขจัดข้อสงสัยของฉันในเรื่องนี้อย่างไร ?

อิมาม : หมายความว่าวันหนึ่งท่านได้ไปยังสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งไม่เคยมีต้นสมอมาก่อน หลังจากนั้นไม่นานท่านได้ไปยังสถานที่แห่งนั้นเป็นคำรบสอง แล้วท่านได้เห็นต้นสมอ ? เพราะเท่ากับว่าท่านได้เห็นต้นสมองอกเงยขึ้นมาทั้ง ๆ ที่มันไม่เคยมีมาก่อนหน้านั้นใช่ไหม ?

หมอ : แน่นอน ฉันไม่ปฏิเสธถึงการงอกเงยของต้นสมอนั้น แต่ฉันใคร่ที่จะกล่าวว่า ก่อนที่จะงอกเงยขึ้นเป็นต้นสมอขึ้นมาได้ ย่อมมีเงื่อนไขและองค์ประกอบต่าง ๆ กระจัดกระจายอยู่ภายใต้ต้นไม้นั้นมาก่อน

อิมาม : ไหนท่านลองบอกมาซิว่าท่านเคยเห็นลูกสมอมาก่อนที่ต้นของมันจะงอกเงยขึ้นมาหรือ ?

หมอ : ใช่ ฉันเคยเห็น

อิมาม : ท่านเคยตั้งข้อสันนิษฐานมาก่อนใช่ไหมว่าต้นสมอต้นนี้ถือกำเนิดขึ้นมาจากราก ลำต้น กิ่งก้านสาขา เปลือก ลูกสมอที่ได้รับการเก็บเกี่ยว และใบสมอที่ร่วงหล่นลงมา ?

หมอ : แน่นอนว่าสติปัญญาไม่อาจจะยอมรับในข้อสันนิษฐานนี้ได้

อิมาม : ฉะนั้น สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นคือตัวก่อกำเนิดต้นสมอใช่ไหม ?

หมอ : ใช่ แต่ท่านจะสามารถพิสูจน์ได้อย่างไรว่า มีผู้ทำให้ต้นสมอนั้นถือกำเนิดเกิดขึ้นมา ?

อิมาม : แน่นอน แต่ก่อนที่จะพิสูจน์ ท่านจะให้สัญญาไหมว่าท่านจะยอมจำนนเมื่อได้ประจักษ์ถึงผลงานด้านบริหารว่าจะต้องมีผู้บันดาลบริหาร เสมือนกับการได้เห็นผลงานด้านศิลปะ ว่าจะต้องมีศิลปินอย่างแน่นอน ?

หมอ : แน่นอน ย่อมไม่มีหนทางอื่นนอกจากนี้

อิมาม : ท่านทราบดีว่าลูกสมอใบนี้มีขนาด รูปทรง องค์ประกอบที่เฉพาะของมัน สีสันอันหลากหลาย สีขาวที่อยู่ภายใต้สีเหลือง เนื้อที่อ่อนนุ่มที่ถูกห่อหุ้มอยู่ภายใต้เปลือกที่แข็งแรง แต่ละชั้นแต่ละชิ้นส่วนล้วนแล้วแต่มีองค์ประกอบเฉพาะของมันทั้งสิ้น

เนื้อสมอที่สามารถให้น้ำ ลำต้นที่มีน้ำหล่อเลี้ยงหมุนเวียนตลอดเวลา ใบที่สามารถพิทักษ์รักษาให้รอดพ้นทั้งจากอากาศที่หนาวเหน็บและร้อนระอุ และยังให้ความคุ้มครองป้องกันจากสายลมมิให้ความสดชื่นแข็งแรงต้องอันตรธานหายไปจากต้นสมอ

หมอ : ไม่เป็นการดีกว่าหรือที่จะให้ใบปกคลุมต้นเสมอ ?

อิมาม : การบันดาลบริหารของพระผู้เป็นเจ้าย่อมดีกว่า เพราะถ้าเป็นดังเช่นที่ท่านกล่าวมา มันจะไม่มีวันที่จะได้รับความกระชุ่มกระชวยจากพระพายสายลม และไม่อาจจะปกป้องจากความหนาวเหน็บของคิมหันต์ฤดูได้ ในที่สุด มันจะต้องเหี่ยวเฉา ในขณะที่อีกด้านหนึ่งถ้าปราศจากแสงตะวัน มันจะไม่มีวันเจริญเติบโตและให้ผลที่สุกปลั่งได้

ในยามกลางวันที่มันได้รับแสงตะวัน ในบางช่วงเวลาที่มันได้รับสายลม และในบางฤดูกาลที่ความหนาวเหน็บได้เข้ามาปกคลุม จนกลายเป็นเงื่อนไขและองค์ประกอบที่ทำให้มันไปสู่จุดที่สมบูรณ์ และนี่คือผลงานการสรรสร้างของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงกรุณาปรานี และผู้ทรงบันดาลบริหารที่เต็มไปด้วยวิทยปัญญา

หมอ : ที่ท่านสาธยายมานั้น ถือว่าเพียงพอที่จะทำความรู้จักถึงความเป็นมาของลูกสมอ ต่อไปนี้ขอให้ท่านอธิบายตามที่ท่านได้สัญญาไว้ซิว่าการบันดาลบริหารนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

อิมาม : ท่านเคยเห็นลูกสมอก่อนที่มันจะสุกปลั่งซึ่งในนั้นจะเป็นเพียงผลเล็ก ๆ ที่ไม่มีทั้งเมล็ด เนื้อ เปลือก สี รสชาติ และความแข็ง นอกจากน้ำอยู่ในท่ามกลางมันเท่านั้นไหม ?

หมอ : ใช่ ฉันเคยเห็น

อิมาม : ถ้าเช่นนั้น ไหนท่านลองบอกมาซิว่า ถ้าปราศจากผู้ออกแบบที่ทรงไว้ซึ่งวิทยปัญญา ปรีชาญาณ และทรงรอบรู้ที่ได้บันดาลบริหารให้เมล็ดเล็ก ๆ ที่ปราศจากสิ่งอื่นใดนอกจากน้ำตามที่เราได้สาธยายไปแล้ว จะสามารถทำให้องค์ประกอบที่หลากหลายของลูกสมอบังเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

ถ้าปราศจากผู้ออกแบบที่เต็มไปด้วยปรีชาญาณ ผลลัพธ์ก็คือต้นสมอจะเต็มไปด้วยน้ำ แต่มันจะไม่มีวันให้ผลตามมาอย่างแน่นอน

หมอ : จากที่ท่านได้สาธยายมานั้น ฉันยอมรับว่าต้องมีผู้ที่ออกแบบและสร้างลูกสมอขึ้นมา และเป็นที่ชัดเจนว่าไม่เพียงแต่ลูกสมอเท่านั้น แต่ทว่าสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนต่างเกิดขึ้นโดยผ่านผู้ออกแบบและสรรสร้างทั้งสิ้น แต่ทว่ามันมิได้บ่งบอกถึงการมีอยู่ของพระเจ้าแต่อย่างใด เพราะจะทราบได้อย่างไรว่าลูกสมอหรือสรรพสิ่งทั้งหลายจะมิได้เกิดขึ้นมาจากการออกแบบและสรรสร้างของพวกมันเอง ? !

อิมาม : หลังจากที่ท่านได้พิจารณาถึงระบบการสรรสร้างที่พิถีพิถันและเต็มไปด้วยวิทยปัญญา ท่านจะยังไม่ยอมจำนนอีกหรือว่าผู้ที่สรรสร้างลูกสมอและสรรพสิ่งทั้งหลายจะต้องทรงไว้ซึ่งวิทยปัญญาและปรีชาญาณอย่างแท้จริง ?

หมอ : ไม่เลย

อิมาม : ท่านเคยได้เห็นปรากฏการณ์ของลูกสมอในขณะที่กำลังบังเกิดขึ้นมาตราบจนกระทั่งมันได้เน่าเปื่อยและสูญสลายบ้างไหม ?

หมอ : ใช่ ฉันยอมรับว่าลูกสมอเป็นสิ่งที่ถูกอุบัติขึ้นมา แต่ฉันมิได้กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผู้สร้างจะเป็นสิ่งที่ถูกอุบัติขึ้นมาอันจะเป็นผลทำให้ไม่สามารถให้กำเนิดตนเองขึ้นมาได้

อิมาม : ครั้งแรกท่านกล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผู้สร้างที่ทรงไว้ซึ่งวิทยปัญญาจะเป็นปรากฏการณ์ ต่อมาท่านยอมรับว่าลูกสมอเป็นปรากฏการณ์หรือสิ่งที่ถูกบังเกิดขึ้นมา บทสรุปของการยอมรับทั้งสองนี้ก็คือ ลูกสมอเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง และผู้ที่ทรงประดิษฐ์และทรงสร้างมันก็คือพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งและทรงเกริกเกียรติ เกรียงไกร นั่นเอง
บัดนี้ ถ้าหากท่านย้อนกลับมากล่าวว่าลูกสมอเป็นผู้สร้างตัวของมันเอง ก็เท่ากับว่าท่านกำลังยอมรับในสิ่งที่ท่านปฏิเสธ (การมีอยู่ของพระผู้สร้าง)นั่นเอง
นอกจากนี้ ท่านยังยอมรับถึงพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงวิทยปัญญา และทรงรอบรู้ เพียงแต่ท่านสับสนในการขนานนามและเรียกขานพระองค์เท่านั้นเอง

หมอ : หมายความว่าอย่างไร ?

อิมาม : เพราะท่านยอมรับในการมีอยู่จริงของผู้ที่ทรงไว้ซึ่งวิทยปัญญาและผู้ทรงบันดาลบริหารที่เต็มไปด้วยความพิถีพิถัน แต่เมื่อฉันได้ถามท่านว่าแล้วผู้นั้นคือใครเล่า ? ท่านกลับตอบว่า “ลูกสมอ” ด้วยเหตุนี้เอง เท่ากับท่านได้ยอมรับในการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า เพียงแต่ท่านยังสับสนในการเรียกขานโดยเรียกลูกสมอว่าเป็นพระเจ้า มาตรว่าท่านได้พิจารณาใคร่ครวญอย่างถ่องแท้แล้ว ท่านจะต้องยอมจำนนว่าลูกสมอมิได้มีพลังใด ๆ ที่จะสามารถสรรสร้างตัวของมันขึ้นมา และยิ่งไปกว่านั้นมันยังไม่อาจที่จะควบคุมและบันดาลบริหารตัวของมันเองได้

เมื่อหมอผู้นี้ไม่สามารถที่จะหยิบยกหลักฐานขึ้นมาโต้แย้งได้ เขาจึงกล่าวขึ้นว่า “นอกจากนี้ ท่านยังจะมีหลักฐานและข้อพิสูจน์อื่นอีกไหม ?”

อิมาม : ใช่แล้ว บรรทัดฐานจากคำพูดของท่าน ลูกสมอสามารถออกแบบและสร้างตัวของมันเอง และยังรู้ด้วยว่าสมควรจะสร้างตัวของมันอย่างไร ดังนั้น ด้วยเหตุผลกลใดเล่าที่มันไม่ยอมสร้างตัวเองให้ยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยพลังความสามารถ แต่กลับสร้างตัวเองขึ้นมาในรูปทรงที่เล็ก ไร้ความสามารถ และเต็มไปด้วยข้อบกพร่องมากมาย และเหตุไฉนมันจึงไม่สามารถปกป้องตนเองให้รอดพ้นจากการแตกสลายและถูกกลืนกินได้ ?
เหตุใดจึงสร้างตัวตนในรูปลักษณ์ที่ต่ำต้อยด้อยค่า ไร้กำลังวังชาและต้องเหี่ยวแห้งอับเฉา และยังเป็นสิ่งที่มีรสชาติขมฝาดด้วยเล่า ?

หมอ : ก็เพราะมันมีพลังอำนาจเพียงเท่านั้น หรืออาจจะเป็นไปได้ว่ามันมีพลังอำนาจยิ่งไปกว่านั้น แต่ทว่ามันพึงพอใจที่จะสร้างตัวเองขึ้นมาให้มีศักยภาพเพียงเท่านั้น

อิมาม : ท่านสามารถอธิบายได้ไหมว่าลูกสมอได้สร้างตัวมันขึ้นมาเมื่อไร และได้บริหารตัวเองอย่างไร ? มันได้สร้างและบริหารก่อนที่ตัวมันเองจะบังเกิดขึ้นมา ? หรือว่าภายหลังจากที่มันได้บังเกิดขึ้นมา ?
ถ้าท่านตอบว่าลูกสมอได้สร้างตัวมันขึ้นมาภายหลังจากที่มันได้บังเกิดขึ้นมาแล้ว ถือว่าคำตอบดังกล่าวเป็นสิ่งที่เหลวไหลและเหลือเชื่อและขัดแย้งกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรกันที่สิ่งถูกสร้างหนึ่งจะสามารถสร้างตัวตนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้น บทสรุปจากคำตอบดังกล่าวก็เท่ากับลูกสมอหนึ่งจะต้องบังเกิดขึ้นมาสองครั้งด้วยกัน (มีสรรพสิ่งใดบ้างในโลกนี้ที่สามารถบังเกิดขึ้นมาเกินกว่าหนึ่งครั้ง และยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการบังเกิดขึ้นมาจากการสร้างของตัวมันเองด้วย ? ดังนั้น ขอให้วิญญูชนตั้งสติใคร่ครวญดูเถิด = ผู้แปล)

แต่ถ้าหากคำตอบของท่านออกมาว่า ลูกสมอได้สร้างและบริหารตัวของมันจนกระทั่งเจริญเติบโตก่อนที่มันจะบังเกิดหรือถือกำเนิดขึ้นมา ไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยคำอธิบายใด ๆ ถึงความเหลวไหลและเป็นโมฆะของคำตอบดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากก่อนที่ลูกสมอจะบังเกิดขึ้นมานั้น ยังไม่เคยมีมันมาก่อนหน้านั้น ฉะนั้น สิ่งที่ไม่มีมาก่อนจะสามารถสร้างให้สิ่งหนึ่งมีขึ้นมาได้อย่างไร ?
ในขณะที่ท่านหักล้างความเชื่อของฉันที่กล่าวกับท่านว่า :-
“สิ่งที่มีอยู่ (พระผู้เป็นเจ้า) ได้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลายจากที่ไม่เคยมีมาก่อนให้มีขึ้นมา”

แต่ท่านกลับไม่พิจารณาและคิดที่จะหักล้างความเชื่อของตัวท่านเองที่ว่า :-
“สิ่งที่ไม่มีอยู่ (ลูกสมอก่อนที่มันจะบังเกิดขึ้นมา) สามารถสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน (ตัวมันเอง) ให้มีขึ้นมาได้”

ขอท่านได้โปรดพิจารณาใคร่ครวญเถิดว่าความเชื่อศรัทธาของใครที่ใกล้เคียงกับสัจธรรมความจริงยิ่งกว่า ?

หมอ : ความเชื่อของท่าน

อิมาม : แล้วยังจะมีอุปสรรคอันใดอีกหรือที่ขัดขวางมิให้ท่านมีความเชื่อเดียวกับฉัน ?

หมอ : บัดนี้ เป็นที่ชัดเจนสำหรับฉันแล้วว่าลูกสมอและสรรพสิ่งทั้งหลายมิได้เป็นผู้ออกแบบและสรรสร้างตัวของมันเอง แต่ขณะนี้มีคำตอบที่วิ่งเข้ามาสู่สมองของฉันแล้วว่า ต้นสมอนั่นไงเล่าที่เป็นผู้สร้างลูกสมอ เหตุผลก็เพราะมันได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากต้นของมันนั่นเอง

อิมาม : ถ้าเช่นนั้น ใครหรือคือผู้ที่ทำให้ต้นสมอบังเกิดขึ้นมา ?

หมอ : ต้นสมอก่อนหน้านั้นไงละ

อิมาม : แล้วมันจะไปสิ้นสุดตรงจุดใดกันเล่า ?
เท่ากับว่าเราจะต้องนับย้อนหลังเพื่อแสวงหาต้นสมอทั้งหมดจนกระทั่งไปถึงต้นสมอต้นแรกที่เป็นจุดกำเนิดต้นสมอต้นต่อ ๆ มา ซึ่งในที่สุด ท่านจะต้องยอมจำนนจนได้ว่าพระผู้เป็นเจ้านั่นเองที่เป็นผู้ทรงสร้างต้นสมอต้นแรกขึ้นมา หรือไม่เช่นนั้น ท่านจะต้องกล่าวว่าเราไม่สามารถนับคำนวณได้ เนื่องจากมันจะไม่มีที่สิ้นสุด (Infinity) ซึ่งถ้าหากท่านเลือกประเด็นที่สอง ฉันก็มีข้อข้องใจที่จะถามท่านต่อไป






การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

หมอ : เชิญท่านถามได้เลย

อิมาม : ท่านยอมรับไหมว่าตราบเท่าที่เมล็ดพันธ์ของต้นสมอยังไม่หยั่งลึกลงไปในดิน และความเป็นลูกสมอของมันยังไม่สูญสิ้นสลาย ต้นสมอจะไม่มีวันเจริญงอกงามขึ้นมาได้ ?

หมอ : ถูกต้องตามที่ท่านกล่าว

อิมาม : ภายหลังจากที่ลูกสมอได้เปลี่ยนสภาพเป็นต้นสมอ จนกระทั่งมันสามารถดำรงอยู่ได้เป็นเวลาร้อยปี ใครหรือที่ทำให้ต้นสมอนั้นสามารถดำรงอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ?
ไม่มีหนทางอื่นใดนอกจากท่านจะต้องยอมจำนนว่าเขาผู้นั้นคือ ผู้ทรงสรรสร้างต้นสมอนั่นเอง เพราะถ้าหากท่านกล่าวว่าในช่วงเวลานั้นไม่มีลูกสมออื่นใด ย่อมเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง

หมอ : เปล่าเลย ฉันไม่เชื่อว่าลูกสมอคือตัวที่ทำให้ต้นสมอเจริญงอกงามขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าว

อิมาม : ถ้าเช่นนั้น ท่านกำลังยอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงสรรสร้างต้นสมอตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลาย หรือว่าท่านยังคงงุนงงสงสัยอยู่อีก ?

หมอ : ฉันกำลังงุนงงและสับสน

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) ทราบดีว่าสาเหตุที่หมอผู้นี้ยังลังเลและสับสนอยู่นั้น ก็เนื่องจากเขาไม่สามารถขจัดข้อกังขา “วิถีที่จะทำความรู้จักพระผู้เป็นเจ้า” นั่นเอง และสาเหตุจากการที่เขามีความเชื่อว่าวิถีที่จะทำความรู้จักกับสรรพสิ่งทั้งหลายได้นั้นจะต้องอาศัยสื่อจากประสาทสัมผัสทั้งห้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงไม่ยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้า แต่เนื่องจากท่านอิมามได้อธิบายในประเด็นดังกล่าวมาอย่างเพียงพอแล้ว ท่านจึงได้นำเสนอวิถีที่จะทำความรู้จักพระองค์ขึ้นมากล่าวกับเขาว่า :-
เราทั้งสองมีความเข้าใจที่กลับตาลปัตรกัน

ในขณะที่ท่านเชื่อว่า :-
“การที่จะสามารถทำความรู้จักสรรพสิ่งทั้งหลายได้นั้น สติปัญญาจะต้องพึ่งพาอาศัยสื่อจากประสาทสัมผัสทั้งห้า”

แต่ฉันกลับมีความเชื่อว่า :-
“ประสาทสัมผัสทั้งห้าต่างหากที่จะต้องพึ่งพาอาศัยสติปัญญาในการทำความรู้จักสรรพสิ่งทั้งมวล” ( ผู้ที่ปรารถนาจะแสวงหารายละเอียดเพิ่มเติม สามารถศึกษาจากหนังสือ “ฟัลสะฟะตุนา” (ปรัชญาของเรา) จากบทประพันธ์ของท่านชะฮีด สัยยิดมุหัมมัด บากิรฺ ศ็อดรฺ หน้าที่ 27 ภายใต้หัวข้อ “ทัศนะเกี่ยวกับประสาทสัมผัส” และหน้าที่ 47 ภายใต้หัวข้อ “ตรรกะที่อนุมานจากประสบการณ์”)

หมอ : ตราบเท่าที่ยังไม่มีหลักฐานและข้อพิสูจน์ ฉันไม่อาจที่จะพบความกระจ่างในประเด็นดังกล่าวนี้ได้

อิมาม : ท่านเคยทราบใช่ไหมว่าบางครั้งประสาทบางส่วนหรือทุกส่วนจะหยุดการทำงาน และวิญญาณจะเข้ามาคอยควบคุมร่างกายของเราแทนที่ ?

หมอ : คำพูดดังกล่าวดูเหมือนว่าจะถือเป็นหลักฐานและคำตอบแล้วละ เพียงแต่ท่านจะช่วยขยายความให้ชัดเจนกว่านี้หน่อยได้ไหม ?

อิมาม : ท่านยอมรับไหมว่าภายหลังจากที่ประสาททุกส่วนได้หยุดการทำงานไปชั่วขณะหนึ่งนั้น แต่ทว่าวิญญาณยังคงอยู่กับเรือนร่างของเรา ?

หมอ : แน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประสาทหยุดการทำงาน สติปัญญาก็ไม่อาจที่จะรับรู้สิ่งใด ๆ ได้อีกต่อไป

อิมาม : ท่านทราบดีใช่ไหมว่าทารกแรกคลอดจากครรภ์มารดาไม่สามารถที่จะอาศัยประสาทสัมผัสทั้งห้าได้

หมอ : ถูกต้อง

อิมาม : เมื่อเป็นเช่นนั้น แล้วประสาทสัมผัสส่วนใดหรือที่ชี้นำทารกน้อยให้ร่ำร้องเรียกหาเมื่อเขาหิวหรือกระหายนม ?
และประสาทสัมผัสส่วนใดหรือที่ทำให้ทารกน้อยสามารถหัวเราะขึ้นมาได้ภายหลังจากที่เขาได้ดื่มนมจนอิ่มหนำสำราญแล้ว ?
ประสาทสัมผัสส่วนใดของนกที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหารหรือที่บงการหรือชี้นำให้มันรู้ว่าสัตว์ชนิดไหนที่เป็นเหยื่อของมัน เพื่อที่มันจะได้ร่อนลงไปหาเหยื่อของมันได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ?

และประสาทสัมผัสส่วนใดของนกที่กินเมล็ดพืชเป็นอาหารหรือที่ชี้นำให้มันร่อนลงไปหาเหยื่อเฉพาะที่เป็นเมล็ดพืชเท่านั้น ?
มาตรแม้นว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าคือสื่อที่ชี้นำให้นกทั้งสองชนิดสามารถจำแนกเหยื่อของมัน ทั้ง ๆ ที่นกทั้งสองต่างก็มีประสาทสัมผัสทั้งห้าที่ไม่แตกต่างกันแล้วไซร้ แล้วเหตุใดนกชนิดหนึ่งจึงบินร่อนลงไปหาเหยื่อที่เป็นเมล็ดพืช ในขณะที่นกอีกชนิดหนึ่งกลับร่อนไปหาเหยื่อที่เป็นเนื้อสัตว์เท่านั้น ?
ประสาทการรับรู้ที่ทำให้นกชนิดหนึ่งรู้ว่าเมล็ดพืชเท่านั้นที่เหมาะสมและคู่ควรกับระบบภายในกระเพาะลำไส้ของมัน ในขณะที่ประสาทการรับรู้ของนกอีกชนิดหนึ่งรู้ว่าเฉพาะเนื้อสัตว์เท่านั้นที่เหมาะสมกับระบบภายในร่างกายของมัน ดังนั้น นกทั้งสองชนิดนี้ใช้ประสาทสัมผัสส่วนใดในการเรียนรู้ถึงเหยื่อของมัน ?

ด้วยเหตุใดเมื่อลูกนกชนิดที่หากินอยู่ในน้ำถูกปล่อยให้ลงน้ำในครั้งแรก มันจึงสามารถว่ายน้ำได้โดยไม่สำลักหรือจมน้ำ ในขณะที่เมื่อปล่อยให้ฝูงนกที่หากินบนบกให้ลงน้ำ มันจะจมลงทันที ทั้ง ๆ ที่นกทั้งสองชนิดนี้มีประสาทสัมผัสทั้งห้าเช่นเดียวกัน ?
แล้วด้วยสาเหตุใดที่ประสาทสัมผัสทั้งห้าสามารถช่วยให้นกประเภทแรกสามารถหากินอยู่ในน้ำได้ แต่ไม่อาจจะช่วยให้นกประเภทที่สองทำเช่นนั้นได้ ? ....

ด้วยเหตุผลกลใดหรือที่เมื่อมดตัวเล็ก ๆ ตกลงไปในน้ำทั้ง ๆ ที่มันไม่เคยเรียนรู้การว่ายน้ำมาก่อน แต่มันกลับสามารถว่ายน้ำได้ ในขณะที่มนุษย์อายุ 50 ปีที่เต็มไปด้วยพละกำลังและมีความรอบรู้สารพัดอย่าง ถ้าไม่เคยผ่านการฝึกฝนการว่ายน้ำมาก่อน เขาจะต้องสำลักและจมน้ำ?

มาตรว่าเฉพาะประสาทสัมผัสทั้งห้าเท่านั้นที่สามารถใช้เป็นสื่อในการทำความรู้จักสรรพสิ่งที่มีอยู่บนโลกนี้แล้ว เหตุใดมนุษย์ที่พรั่งพร้อมไปด้วยสติปัญญา ประกอบไปด้วยประสาทสัมผัสที่สมบูรณ์ ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชนยาวนาน และอยู่ใต้เงื่อนไขเดียวกัน นั่นคือทั้งสองต่างไม่เคยเรียนรู้การว่ายน้ำมาก่อน แต่ทว่ามนุษย์กลับไม่มีความสามารถเฉกเช่นที่มดมีได้ ?

ตัวอย่างข้างต้นยังไม่เพียงพออีกหรือที่จะทำให้ท่านเข้าใจว่าทารกน้อยที่ร่ำร้องเรียกหานมเมื่อหิว วิหกน้อยที่จิกกินเมล็ดพืชเป็นอาหารเมื่อมันร่อนหาเหยื่อที่เป็นเมล็ดพืชเท่านั้น และลูกนกที่กินเนื้อเป็นอาหารเมื่อมันตามล่าหาเฉพาะเหยื่อที่เป็นเนื้อสัตว์ ว่ามันคือวิญญาณซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของสมอง ?

เมื่อหมอผู้นี้ไม่สามารถที่จะให้คำตอบใด ๆ ได้ เขาจึงกล่าวขึ้นว่า
“จะให้ฉันไม่ยอมรับได้อย่างไรว่าสติปัญญาที่ปราศจากประสาทสัมผัสจะสามารถสัมผัสและรับรู้ในสรรพสิ่งต่าง ๆ ได้ ?”

เมื่อท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) เห็นว่าหมอผู้นั้นต้องการที่จะพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าด้วยวิถีแห่งประสาทสัมผัส ท่านจึงได้สาธยายอย่างละเอียดลออเพื่อให้เขาได้ประจักษ์ว่าสติปัญญาสามารถทำความรู้จักพระองค์ด้วยการพิจารณาใคร่ครวญและสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่บนโลกนี้โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า หลังจากนั้น ท่านได้อรรถาธิบายอีกด้วยว่าวิญญาณซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของสมองก็ยังสามารถที่จะใช้เป็นสื่อในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยประสาทสัมผัสทั้งห้าได้เช่นเดียวกัน โดยท่านเริ่มจากการตั้งคำถามขึ้นว่า :-
“ท่านเคยฝันว่ากำลังรับประทานอาหารที่มีรสชาติเอร็ดอร่อย หรือขณะที่กำลังดื่มเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานฉ่ำเย็นชื่นใจบ้างไหม ?”

หมอ : ครับ ฉันเคยฝันเช่นนั้นมาก่อน

อิมาม : แล้วเคยมีบ้างไหมที่ท่านฝันว่ากำลังหัวเราะหรือร้องไห้ หรือฝันว่าได้เดินทางท่องเที่ยวไปตามเมืองต่าง ๆ ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงท่านไม่เคยไปประสบพบพานมาก่อน หรืออาจจะเคยไปมาก่อนก็ตาม โดยที่ท่านสามารถบันทึกภาพแห่งความทรงจำเกี่ยวกับสาระสำคัญของเมืองนั้น ๆ ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกด้วย ?

หมอ : ใช่ครับ นับครั้งไม่ถ้วนเชียวล่ะ

อิมาม : แล้วท่านเคยฝันเห็นญาติพี่น้องของท่านที่ได้ล่วงลับไปแล้วในสภาพเช่นเดียวกับขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่บ้างไหม ?

หมอ : ใช่ครับ นี่ก็นับครั้งไม่ถ้วนเช่นกัน

อิมาม : ในขณะที่ท่านนอนหลับ ประสาทสัมผัสส่วนใดหรือที่ทำให้ท่านได้รับรู้รสชาติแห่งความเอร็ดอร่อยของอาหารและเครื่องดื่ม หรือทำให้ท่านได้พบเห็นสรรพสิ่งที่สวยสดงดงามในการท่องเที่ยว หรือทำให้ท่านหัวเราะและร้องไห้ หรือทำให้ท่านได้รู้จักกับผู้ตายและได้สนทนากับพวกเขา ?

หมอ : ฉันไม่สามารถที่จะให้คำตอบได้ว่ามันคือประสาทสัมผัสส่วนใด เพราะว่าในขณะที่เรากำลังหลับใหลอยู่นั้น ประหนึ่งว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าได้ยุติภารกิจของมัน ซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากคนที่ตายไปแล้ว กล่าวคือเราไม่อาจจะได้ยินหรือมองเห็นสิ่งใด ๆ ได้อย่างสิ้นเชิง

อิมาม : ภายหลังจากที่ท่านได้ตื่นขึ้นมา ท่านสามารถที่จะเล่าเรื่องราวแห่งความฝันนั้นได้ไหม ?

หมอ : แน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งฉันยังฝันเห็นเหตุการณ์บางอย่างก่อนที่มันจะอุบัติขึ้นจริงเสียอีก ซึ่งในเวลาต่อมาเหตุการณ์นั้นก็ได้อุบัติขึ้นมาเหมือนกับที่ฉันได้ฝันเอาไว้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

อิมาม : แล้วประสาทสัมผัสส่วนใดหรือที่ทำให้ท่านสามารถจดจำและย้อนรำลึกถึงเรื่องราวแห่งความฝันได้อย่างถูกต้องแม่นยำภายหลังจากที่ท่านได้ตื่นขึ้นมา ?

หมอ : ประสาทสัมผัสไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในความฝันของเรา

อิมาม : ด้วยเหตุนี้ ท่านจะยังไม่ยอมรับอีกหรือว่าวิญญาณซึ่งเป็นศูนย์รวมของสมองนั่นเองที่เป็นสื่อกลางที่คอยควบคุมบัญชาการในขณะที่เรากำลังหลับ ?

หมอ : แต่สิ่งที่เราได้เห็นในความฝันนั้นมันเป็นแค่ภาพลวงตา (Mirage) เท่านั้น เมื่อเรามองเห็นภาพลวงตาจากสถานที่ที่ไกลลิบ ในครั้งแรกเราเข้าใจว่าจะต้องมีน้ำอยู่เบื้องหน้าอย่างแน่นอน แต่เมื่อเข้าไปใกล้ ๆ เรากลับไม่พบเห็นสิ่งใดเลย ในทำนองเดียวกัน ความฝันก็เป็นเฉกเช่นนี้แหละ

อิมาม : เป็นการถูกต้องและสอดคล้องกับความเป็นจริงแล้วหรือที่ท่านอุปมาอุปมัยความฝันกับภาพลวงตา ? ท่านไม่เคยฝันว่ากำลังรับประทานส้มที่มีรสเปรี้ยวจัด หรือทานขนมหวาน หรือฝันว่าท่านกำลังมีความสนุกสนานรื่นเริง หรือเต็มไปด้วยความเศร้าหมองบ้างหรืออย่างไร ?

หมอ : เพราะฉันไม่พบเห็นสิ่งใดเมื่อไปถึงสถานที่ที่เคยเป็นภาพลวงตา เช่นเดียวกับที่เมื่อฉันตื่นขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างในความฝันของฉันมันได้อันตรธานจนหมดสิ้น

อิมาม : ท่านจะยอมจำนนในข้อพิสูจน์ของฉันไหม ถ้าฉันจะกล่าวถึงสิ่งที่ท่านได้เคยประสบพบเห็นในความฝันซึ่งทำให้ท่านสุขสันต์พร้อมกับมีร่องรอยปรากฏอย่างชัดเจน ว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับภาพลวงตาที่ปราศจากร่องรอยใด ๆ อย่างสิ้นเชิง ?

หมอ : แน่นอน

อิมาม : ท่านเคยฝันว่าได้ร่วมประเวณีกับสตรีที่ท่านรู้จัก หรือแม้กระทั่งกับสตรีที่ท่านไม่เคยรู้จักมาก่อนบ้างไหม ?

หมอ : ใช่ครับ นับครั้งไม่ถ้วน

อิมาม : ความสุขสมเมื่อท่านร่วมประเวณีในฝัน ไม่เทียบเท่ากับการร่วมประเวณีในขณะที่ตื่นหรืออย่างไร ? แล้วในขณะที่ท่านฝันว่ากำลังร่วมประเวณีนั้น อสุจิมิได้หลั่งออกมาเช่นเดียวกับขณะที่ตื่นหรืออย่างไร ?
นี่คือคำตอบที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าข้อโต้แย้งของท่านที่ว่าความฝันมิได้แตกต่างกับภาพลวงตานั้น เป็นสิ่งที่โมฆะ

หมอ : ประสาทสัมผัสของผู้ที่ฝันเปียก ก็คือประสาทสัมผัสส่วนเดียวกับขณะที่เขาตื่นนั่นเอง

อิมาม : คำพูดดังกล่าวเท่ากับเป็นการตอกย้ำทัศนะและความเชื่อของฉันนั่นเอง ทั้งนี้เนื่องจากท่านกำลังสารภาพออกมาโดยไม่รู้ตัวว่าภายหลังจากที่ประสาทสัมผัสทุกส่วนยุติการทำงานนั้น แต่ทว่าสมองยังคงทำงานและสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ต่อไป ฉะนั้น ท่านจะยังปฏิเสธอีกหรือว่าสมองมิได้ยุติบทบาทของมันในขณะที่ประสาทส่วนต่าง ๆ ยุติการทำงานลง ?

หมอ : ฉันไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าท่านจะสามารถขจัดข้อข้องใจเกี่ยวกับการทำความรู้จักพระเจ้าได้ บัดนี้ คำอธิบายของท่านชัดเจนจนฉันไม่อาจจะโต้แย้งได้อีกแล้ว

อิมาม : ท่านจะอนุญาตให้ฉันตอกย้ำถึงสัจธรรมดังกล่าวในวันนี้ไหม ?

หมอ : แล้วแต่ท่านจะเห็นสมควรเถิด เพราะฉันไม่มีสิ่งใดที่จะหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งท่านอีกแล้ว

อิมาม : ท่านเห็นด้วยไหมว่า ในการเริ่มต้นประกอบอาชีพการงาน ไม่ว่าจะด้านธุรกิจการค้าก็ดี อุตสาหกรรมก็ดี หรือวิศวกรผู้ออกแบบตึกรามบ้านช่องก็ดี สิ่งแรกที่ท่านจะต้องตระเตรียมก็คือ การคิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบและวางแผนงานอย่างเป็นระบบ หลังจากนั้นจึงจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ท่านพิจารณาแล้วว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด และน่าจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนที่จะลงมือสู่ภาคปฏิบัติ ?

หมอ : ถูกต้องตามที่ท่านกล่าว

อิมาม : แล้วประสาทสัมผัสส่วนใดหรือที่ช่วยให้ท่านคิดใคร่ครวญในสิ่งดังกล่าว ?

หมอ : ไม่มี

อิมาม : ท่านไม่ทราบหรือว่าสมองของท่านคือสื่อที่ทำหน้าที่จำแนกแยกแยะความจริงเท็จให้แก่ท่าน ?

หมอ : เป็นความจริงตามที่ท่านกล่าว ขอท่านได้โปรดอธิบายเพิ่มเติมเพื่อขจัดข้อคลางแคลงสงสัยให้อันตรธานหายไปจากหัวใจของฉันอย่างสิ้นเชิงด้วยเถิด

ท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) ได้สนทนาและสาธยายให้หมอชาวอินเดียผู้นี้จนหัวใจของเขาอิ่มเอิบไปด้วยสัจธรรมความจริง และแล้วในที่สุด หมอที่เคยปฏิเสธสัจธรรมความจริงผู้นี้ได้ยอมจำนนและกล่าวสารภาพออกมาอย่างเต็มภาคภูมิว่า :-
“ข้าฯ ขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺ
พระองค์คือผู้ทรงเอกะ
ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์”
มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว

(บิหารุลอันวารฺ เล่ม 3 หน้า 152 - 193)



2. อิมามศอดิก (อ)กับอบูชากิรฺ
ประเด็นสนทนา

- การรู้จักพระเจ้า
- สาเหตุของการมีศาสนา
- ปรัชญาและวิทยาการ

ท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) มีสานุศิษย์ที่ให้ความสนใจศึกษาวิชาการต่าง ๆ จากท่านอย่างมากมาย ภายหลังจากบทเรียนได้ผ่านไปในแต่ละวัน ท่านจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีข้อข้องใจในเชิงวิชาการและปัญหาทั่วไปได้ซักถามอย่างเต็มที่ และท่านจะตอบทุก ๆ คำถามของพวกเขา

บ่อยครั้งที่ข้อซักถามและการสนทนาได้ยืดเยื้อยาวนานจนกระทั่งท่านไม่สามารถจะกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านได้ ด้วยเหตุนี้ ท่านจะไหว้วานให้สาวกของท่านไปซื้อขนมปังมาก้อนหนึ่ง ท่านจะรับประทานขนมปังเปล่า ๆ เพียงไม่กี่คำ หลังจากนั้น ท่านจะเริ่มสนทนาต่อไป
ท่านจะขอร้องมิให้สานุศิษย์หยิบยกประเด็นข้อโต้แย้งก่อนที่จะจบบทเรียนเสียก่อน แต่หลังจากนั้น ไม่ว่าพวกเขามีข้อสงสัยใด ๆ ก็สามารถซักถามได้อย่างเต็มที่
โดยปกติแล้ว บทเรียนจะสิ้นสุดยุติลงเมื่อเข้าเวลานมาซซุฮรฺ (บ่าย) หลังจากนมาซ ท่านจึงจะเดินทางกลับบ้านของท่าน
วันหนึ่ง ภายหลังจากนมาซได้เสร็จสิ้นลง มีชายคนหนึ่งชื่อ “อบูชากิรฺ” ได้เข้ามาหาท่านพร้อมกับกล่าวว่า :-

“ฉันมีข้อข้องใจที่จะซักถาม ท่านจะอนุญาตให้ฉันซักถามได้อย่างเต็มที่ไหม ?”

อิมาม : เชิญท่านตามสบายเถิด

การเชื่อในพระเจ้าเป็นเรื่องไร้สาระกระนั้นหรือ?!
อบูชากิรฺ : เหตุใดท่านจึงหลอกลวงสานุศิษย์และประชาชนทั้งหลายให้คล้อยตามตำนานและพงศาวดารที่เหลวไหลไร้สาระด้วยเล่า ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) ตำนาน – พงศาวดาร อะไรหรือ ?

อบูชากิรฺ : เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้ามิใช่อื่นใดนอกจากเป็นเพียงตำนานและนิยายปรัมปราที่ท่านหยิบยกขึ้นมาเพื่อชี้นำให้ประชาชนคล้อยตามและยอมรับในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงเท่านั้น

ประสาทสัมผัส คือหนทางเดียวที่จะรู้จักสรรพสิ่งทั้งหลาย?
อบูชากิรฺยังได้กล่าวต่อไปว่า :“เฉพาะประสาทสัมผัสทั้งห้าเท่านั้นที่จะใช้พิสูจน์ถึงการมีอยู่จริงของสรรพสิ่งบนโลกนี้” เมื่อเราไม่สามารถจะใช้ประสาทสัมผัสดังกล่าวพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระเจ้า ฉะนั้น จึงสรุปได้อย่างง่ายดายว่า “ไม่มีพระเจ้า”
ท่านอาจจะแย้งขึ้นมาก็ได้ว่า “แม้ว่ามนุษย์จะไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระเจ้า แต่พวกเขายังมี “ประสาทสัมผัสภายใน” เพื่อใช้พิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระองค์

คำโต้แย้งเช่นนี้ก็ยังไม่ถูกต้องอยู่ดี ทั้งนี้เนื่องจาก “ประสาทสัมผัสภายใน” จะต้องอาศัยห้าประสาทสัมผัสภายนอกอยู่นั่นเอง ถ้าแน่จริง ไหนท่านลองจินตนาการอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งขึ้นมาในสมองของท่านโดยไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัสภายนอกซิ
เมื่อท่านจินตนาการถึงเพื่อนที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้าท่าน ถ้ามิใช่เพราะประสาทตา ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะมองเห็นเขา หรือถ้ามิใช่เพราะประสาทหู ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะได้ยินเสียงของเขา หรือเมื่อท่านจับมือของเขา ท่านจะต้องอาศัยประสาทส่วนนั้นช่วยในการรับรู้ดังกล่าว มิฉะนั้น ท่านก็ไม่สามารถที่จะสัมผัสมือของเขาโดยอาศัยประสามสัมผัสภายในเพียงอย่างเดียวได้

ฉะนั้น ประสาทสัมผัสภายในจะต้องอาศัยประสาทสัมผัสทั้งห้าเสมอ และตราบใดที่ประสาทดังกล่าวไม่ทำงาน ท่านจะไม่สามารถรับรู้และสัมผัสสิ่งใดได้เลย ด้วยเหตุนี้เอง ถ้าหากท่านจะอ้างว่า “ฉันรู้จักพระเจ้าด้วยประสาทสัมผัสภายใน” จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้
หรือถ้าท่านจะโต้แย้งว่า “ฉันรู้จักพระเจ้าโดยมิได้อาศัยทั้งประสาทสัมผัสภายนอกและภายใน แต่อาศัยสมองและสติปัญญาต่างหาก”

นี่ก็เป็นข้อโต้แย้งที่ไม่อาจจะยอมรับได้เช่นเดียวกัน เพราะสมองที่ปราศจากประสาทสัมผัสทั้งห้าย่อมไม่มีวันที่จะรับรู้และทำความรู้จักสิ่งใดได้ ถ้าแน่จริง ไหนท่านลองพิสูจน์สิ่งใดก็ได้โดยไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัส ถ้าท่านสามารถทำได้ เมื่อนั้น ฉันจึงจะยอมรับว่าสมองสามารถนำมาพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระเจ้าได้จริง

พระเจ้าที่ท่านเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้เคารพสักการะนั้นมิใช่อื่นใด นอกจากเป็นสิ่งที่ท่านจินตนาการหรือคิดขึ้นมาเองทั้งสิ้น
ท่านได้จินตนาการสิ่งหนึ่งขึ้นมาให้อยู่ในรูปลักษณ์หนึ่งซึ่งเมื่อท่านสนทนา มโนภาพจะคอยหลอกท่านว่ามันเป็นผู้พูด ในทำนองเดียวกัน เมื่อท่านรับประทานอาหาร หรือเข้านอน มันจะคอยหลอกหลอนว่าเป็นผู้รับประทานหรือเข้านอน แต่เนื่องจากท่านมีเจตนาแฝงเร้นเพื่อที่จะรักษาฐานภาพ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และได้รับการเชื่อถือในวงสังคม ท่านจึงปิดบังอำพรางมิให้ผู้ใดล่วงรู้ แล้วหลอกพวกเขาว่าพระเจ้าเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะมองเห็นได้ตลอดกาล และพระองค์มิทรงประสูติ และไม่ทรงถูกประสูติ

เจว็ดของชาวฮินดู
พระเจ้าของท่านที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาก็ไม่ต่างไปจากเจว็ดที่ถูกปิดกั้นด้วยม่านของพวกฮินดูนั่นเอง ในประเทศอินเดีย มีรูปปั้นอยู่ตัวหนึ่งที่ถูกปกปิดด้วยผ้าม่านจากทางด้านหน้าของมัน ซึ่งไม่มีมนุษย์คนใดจะสามารถมองเห็นมันได้ บรรดาเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาศาสนสถานแห่งนี้จะพากันโฆษณาชวนเชื่อว่าเจว็ดดังกล่าวจะไม่ยินยอมให้มนุษย์คนใดได้เห็นมันโดยเด็ดขาด เพราะมันรู้ดีว่าใครก็ตามที่ได้เห็นมัน บุคคลผู้นั้นจะต้องมีอันเป็นไปและต้องตายในทันที !

กรณีข้างต้นมิได้มีความแตกต่างกับสิ่งที่ท่านกล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังที่ท่านกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสรรสร้างโลกนี้ที่ไม่มีใครสามารถมองเห็นพระองค์ได้อย่างสิ้นเชิง และไม่มีใครสามารถได้ยินเสียงของพระองค์ นอกจากผู้เป็นศาสดาของพระองค์เท่านั้น

ฉันขอคัดค้านและโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดสร้างโลกนี้ขึ้นมา ทว่ามันได้บังเกิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง ท่านเชื่อว่ามีผู้ไปปลูกต้นหญ้าตามท้องทุ่งนากระนั้นหรือ ? ท่านเชื่อว่ามีผู้ให้กำเนิดมดแมลงและยุงกระนั้นหรือ ? หรือว่าสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนบังเกิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง ?

....ไม่มีวันที่ฉันจะหลงเชื่อและคล้อยตามนิทานปรัมปราที่เต็มไปด้วยสิ่งไร้สาระของท่านหรอก ไม่มีทางที่ฉันจะยอมรับในพระเจ้าที่ไม่อาจมองเห็นได้ของท่าน ฉันจะกราบไหว้บูชาเฉพาะพระเจ้าที่ฉันสามารถมองเห็นด้วยตา และได้ยินด้วยหูทั้งสองของฉันเท่านั้น ถ้าพระเจ้าไม่ทรงมีสุรเสียง อย่างน้อยที่สุดเราจะต้องสามารถสัมผัสพระองค์ได้ด้วยมือ เมื่อนั้นฉันจึงจะยอมจำนนในพระองค์

...เหตุใดท่านจึงหลอกลวงประชาชนให้หลงทางด้วยเทพนิยายไร้สาระ ? เหตุใดท่านจึงไม่ปล่อยให้พวกเขาเชื่อถือศรัทธาในสารัตถะความจริงแทนการคล้อยตามอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ในเทพนิยายที่ไร้สาระด้วยเล่า ?
มนุษย์เราต่างหากคือผู้สร้างที่แท้จริง หาใช่พระเจ้าตามที่ท่านเข้าใจไม่ ฉันเป็นผู้บรรจงแกะสลักและสร้างพระเจ้าด้วยมือของฉันเอง แต่พระเจ้าของท่านมิใช่อื่นใด นอกจากมโนภาพที่คอยหลอนหลอกท่านเท่านั้น

ตลอดระยะเวลาที่อบูชากิรฺสนทนาอยู่นั้น อิมามมิได้ขัดจังหวะหรือโต้แย้งคำพูดของเขาแม้แต่ครั้งเดียว มีอยู่สองสามครั้งที่สานุศิษย์ของท่านที่ร่วมนั่งฟังอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้นพยายามที่จะตอบโต้คำพูดของเขา ทว่าท่านอิมามได้ใช้สัญลักษณ์เตือนพวกเขามิให้แสดงปฏิกิริยาใด ๆ ออกมา

หลังจากที่อบูชากิรฺได้กล่าวจบลง ท่านอิมามยังคงนิ่งเงียบ ประหนึ่งว่าถ้าเขามีสิ่งใดที่จะกล่าวเพิ่มเติมแล้วละก้อ ท่านยังคงเปิดโอกาสให้เขาอยู่เสมอ
เวลาได้ผ่านพ้นไปชั่วขณะ ท่านอิมามจึงได้ถามขึ้นว่า ท่านยังมีสิ่งใดที่จะกล่าวอีกไหม ?

อบูชากิรฺ : คำพูดสุดท้ายของฉันก็คือ พระเจ้าที่ไม่สามารถมองเห็นดังที่ท่านนำมามอมเมาประชาชนนั้น ก็เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง เกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์ศฤงคาร และความสุขสบายส่วนตัวของท่านเท่านั้น นอกจากนี้ฉันก็ไม่มีอะไรจะกล่าวกับท่านอีกแล้ว

คำตอบของอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม)
ท่านอิมาม : (อลัยฮิสลาม) :- ต่อไปนี้ อนุญาตให้ฉันได้ตอบข้อโต้แย้งของท่านบ้าง และฉันจะขอเริ่มต้นจากประเด็นสุดท้ายก่อน

ตามที่ท่านกล่าวว่า สาเหตุที่ฉันเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้ศรัทธาและเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า เพียงเพื่อแสวงหาเกียรติยศชื่อเสียง ความมั่งคั่งร่ำรวย และความสุขสบายส่วนตัวนั้น มาตรว่าการดำเนินชีวิตของฉันมีสภาพเฉกเช่นผู้ปกครอง (เคาะลีฟะฮฺ) ในยุคปัจจุบันแล้วไซร้ ถือว่าข้อกล่าวหาของท่านเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทว่าในวันนี้ท่านก็ได้เห็นแล้วว่าอาหารที่ฉันรับประทานมื้อที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง นอกจากขนมปังเปล่าเพียงไม่กี่คำ และในค่ำคืนนี้ฉันขอเชื้อเชิญท่านไปยังบ้านของฉัน เพื่อท่านจะได้เป็นสักขีพยานอีกครั้งหนึ่งว่าอาหารค่ำของฉันมีอะไร และเครื่องใช้ภายในบ้านของฉันมีอะไรบ้าง ?

มาตรแม้นว่าฉันปรารถนาจะแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง หรือเพื่อตักตวงความสุขในโลกนี้ตามที่ท่านกล่าวหาแล้วไซร้ ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ฉันจะอาศัยวิถีทางแห่งการเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าเพื่อที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ฉันสามารถที่จะแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยด้วยวิถีทางแห่งการประกอบอาชีพ เช่นเป็นนักเคมี ( เจตนารมณ์ในที่นี้ก็คือวิทยาการด้านเคมีที่ท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) มีความรอบรู้อย่างแท้จริงนั่นเอง )

หรือมิฉะนั้นฉันก็สามารถที่จะลงทุนประกอบกิจการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉันมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ เหนือกว่าพ่อค้าวานิชทั้งหลาย ยิ่งไปกว่านั้น ฉันยังทราบดีว่าในแต่ละประเทศมีผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่สำคัญใดบ้าง และสมควรจะนำสินค้าใดไปจำหน่ายในประเทศเหล่านั้นเพื่อที่จะทำกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย




การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

ท่านลองสอบถามพ่อค้าวานิชในเมืองนี้ (มะดีนะฮฺ) เถิดว่า ในเมืองอิศฟะฮานก็ดี อัซนะตุรฺโรมก็ดี (ชื่อเมืองหรือแคว้นหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ระหว่างประเทศตุรกีกับประเทศอาเซอร์บัยจันปัจจุบัน = ผู้แปล) หรือกีลีกีย์ก็ดี ว่าเมืองเหล่านี้มีสินค้าส่งออกที่สำคัญใดบ้างซึ่งในทัศนะของพ่อค้าชั้นแนวหน้าถือว่าจะให้ผลกำไรอย่างมหาศาลถ้าหากนำเข้ามาขายในคาบสมุทรอาหรับ ?

ฉันมั่นใจว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะให้คำตอบแก่ท่านอย่างถูกต้องแม่นยำอย่างแน่นอน ทั้งนี้เนื่องจากพ่อค้าวานิชเหล่านี้จะรู้จักเฉพาะสินค้าที่มาจากเมืองชาม (ซีเรีย) มิศรฺ (อียิปต์) คาบสมุทร (ญะซีเราะฮฺ)(หมายถึงอาณาเขตทางทิศเหนือของอาณาจักร Mesopotamia เนื่องจากในอดีตมีแม่น้ำ 3 สายไหลผ่านทางตอนเหนือของอาณาจักรดังกล่าว ชาวอาหรับจึงขนานนามว่า “คาบสมุทร”) และบัยนันนะฮฺรัยน์ (เมโสโปเตเมีย) เท่านั้น พวกเขาไม่มีข้อมูลข่าวสารว่ามีสินค้าใดบ้างจากประเทศดังกล่าวที่สามารถสร้างผลกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำถ้าหากนำเข้ามาจำหน่ายในคาบสมุทรอาหรับ ในขณะที่ฉันรู้ในสิ่งเหล่านั้น และยังรู้อีกด้วยว่าควรจะเคลื่อนกองคาราวานสินค้าตามเส้นทางใดที่จะสามารถลดต้นทุนค่าขนส่งให้ต่ำกว่าเส้นทางอื่น ๆ

ที่ท่านกล่าวหาว่าฉันเรียกร้องเชิญชวนผู้คนให้เคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้าโดยมีเป้าหมายที่จะหลอกลวงพวกเขาเพียงเพื่อหวังในทรัพย์ศฤงคาร ฉันขอตอบท่านว่า นับตั้งแต่วันแรกที่ฉันเริ่มเรียกร้องเชิญชวนประชาชนจนกระทั่งถึงวันนี้ ฉันไม่เคยได้รับรางวัลตอบแทนใด ๆ จากพวกเขา นอกจากผลไม้เพียงเล็กน้อยที่พวกเขาหยิบยื่นให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ...ท่านมีความเชื่อหรือว่าจะมีมนุษย์คนใดที่ขันอาสาเข้ามาแบกรับภารกิจเรียกร้องเชิญชวนผู้คนให้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าตลอดชั่วชีวิตของเขาเพียงเพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนในทุก ๆ ปีซึ่งมีแค่ผลทับทิมหรืออินทผลัมเพียงน้อยนิด

ฉันทราบมาว่าบิดาของท่านเป็นพ่อค้าวานิชขายไข่มุก บางทีท่านอาจได้รับประสบการณ์ในการทำความรู้จักไข่มุกจากบิดาของท่านบ้างก็ได้...ฉันรู้จักและมีความเชี่ยวชาญด้านอัญมณีทุกชนิดเป็นอย่างดี ไม่มีอัญมณีชนิดใดที่ฉันไม่รู้ถึงคุณค่าหรือราคาของมัน
มาตรว่าฉันเป็นผู้ทีละโมบโลภมากอยากมั่งมีศรีสุขแล้วไซร้ ด้วยเหตุผลกลใดที่ฉันจะต้องแสวงหาความมั่งคั่งด้วยวิถีทางแห่งการเชิญชวนผู้คนให้ศรัทธาพระผู้เป็นเจ้าด้วยเล่า ฉันควรจะยึดอาชีพเป็นพ่อค้าอัญมณีไม่ดีกว่าหรือ ?
ท่านทราบไหมว่าในโลกนี้มีเพชรกี่ชนิด ?

อบูชากิรฺ : ไม่ทราบ

อิมาม : แล้วท่านทราบไหมว่าในโลกนี้มีทับทิมกี่ชนิด ?

อบูชากิรฺ : ไม่ทราบเช่นกัน

อิมาม : แล้วท่านทราบไหมว่าในโลกนี้มีมรกตกี่ชนิด ?

อบูชากิรฺ : นี่ก็ไม่ทราบเช่นกัน

อิมาม : ฉันทราบดีถึงอัญมณีเหล่านี้ว่ามีกี่ชนิด และยังสามารถรู้ถึงราคาค่างวดในแต่ละชนิดดีอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่ฉันมิได้เป็นพ่อค้าวานิชแต่อย่างใด

อิมาม : ท่านทราบไหมว่าแสงอันสุกใสส่องสกาวแวววาวของเพชรนั้นเกิดจากอะไร ?

อบูชากิรฺ : จะให้ฉันรู้ได้อย่างไรเล่าในเมื่อทั้งตัวฉันและบิดาของฉันมิได้เป็นพ่อค้าเพชร ?

อิมาม : แสงอันสุกใสส่องสกาวแวววาวของเพชรนั้นเนื่องจากมันได้ผ่านการเจียระไนนั่นเอง แล้วท่านทราบไหมว่าผู้คนได้เพชรมาอย่างไร ?

อบูชากิรฺ : ไม่ทราบ

อิมาม : พวกเขาได้มันมาจากแหล่งที่เคยเป็นแม่น้ำลำคลองมาก่อน (เราได้รับความรู้จากคำกล่าวของท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) ว่าในปัจจุบันผู้คนค้นพบเพชรจากสถานที่ที่เคยเป็นต้นแม่น้ำลำธารที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก่อน แต่มันได้เหือดแห้งไม่ทิ้งร่องรอยของแม่น้ำให้หลงเหลืออีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปอัฟริกา จะมีก็เพียงเพชรจากเทือกเขาโอราลในประเทศรัสเซียเท่านั้นที่ถือเป็นกรณียกเว้น แต่ถึงกระนั้น มันก็หาใช่เพชรแท้แต่อย่างใดไม่)

ที่ฉันหยิบยกประเด็นดังกล่าวนี้ขึ้นมาสนทนากับท่านก็เพื่อให้ท่านได้ตระหนักว่าถ้าฉันปรารถนาที่จะแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยแล้วไซร้ ฉันสามารถที่จะแสวงหามันมาโดยวิถีทางแห่งการเป็นพ่อค้าอัญมณี หรือประกอบอาชีพเป็นนักเคมีไม่ดีกว่าหรือ ?

ความเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น
ต่อไปนี้ ฉันจะขอตอบข้อกล่าวหาลำดับต่อไปของท่าน

ท่านกล่าวว่าฉันนำนิยายปรัมปราขึ้นมาเพื่อเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าที่ไม่อาจไม่เห็นได้
ท่านปฏิเสธพระเจ้าที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตา อยากถามว่าแล้วท่านสามารถมองเห็นอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกายของท่านกระนั้นหรือ ?

อบูชากิรฺ : ไม่

อิมาม : ถ้าหากท่านสามารถมองเห็นอวัยวะภายในตัวของท่านเอง ท่านคงจะไม่กล้ากล่าวออกมาหรอกว่า เพราะพระเจ้าเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ ดังนั้น ความเชื่อในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นเพียงนิทานปรัมปราที่ไร้สาระอย่างสิ้นเชิง

อบูชากิรฺ : การมองเห็นอวัยวะภายในร่างกายไปเกี่ยวข้องกับความเชื่อในพระเจ้าที่ท่านกล่าวอ้างว่ามี แต่ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างไร ?

อิมาม : ท่านได้กล่าวมิใช่หรือว่าสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู สัมผัสด้วยมือ ดมกลิ่นด้วยจมูก ชิมด้วยลิ้น ย่อมไม่มีอยู่ในโลกนี้ ดังนั้น เมื่อไม่มีอยู่ จึงไม่คู่ควรต่อการเชื่อถือศรัทธาและเคารพภักดี ?

อบูชากิรฺ : ใช่ ฉันกล่าวเช่นนั้นจริง

การไหลเวียนของโลหิต
อิมาม : ท่านเคยได้ยินเสียงโลหิตที่ไหลเวียนภายในร่างกายของท่านบ้างไหม ?

อบูชากิรฺ : เลือดมีการเคลื่อนไหวในร่างกายของเราด้วยหรือ ?

อิมาม : ถูกต้อง แล้วท่านเคยได้กลิ่นคาวเลือดที่กำลังสูบฉีดและไหลเวียนอยู่ภายในร่างกายของท่านบ้างไหม ?

อบูชากิรฺ : ไม่เคย

อิมาม : ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีเลือดจะไหลเวียนทั่วสรรพางกายของท่านหนึ่งครั้ง และถ้ามันหยุดทำงานเพียงไม่กี่นาที ท่านจะต้องตายทันที

อบูชากิรฺ : ฉันไม่อาจจะยอมรับได้ว่าในร่างกายของฉันมีการไหลเวียนและสูบฉีดของเลือดอยู่ตลอดเวลา

อิมาม : อุปสรรคที่ขัดขวางมิให้ท่านยอมรับถึงการสูบฉีดและไหลเวียนของเลือดภายในร่างกายของท่านเองนั้นก็คือความไม่รู้นั่นเอง และด้วยความไม่รู้ดังกล่าวนี้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้ท่านยอมรับในการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะ
การทำงานและการกระตุ้นของเซลล์ในร่างกาย
ท่านทราบเกี่ยวกับสิ่งถูกสร้างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบรรจุอยู่ภายในร่างกายของท่านเพื่อให้มันได้ทำหน้าที่ให้ท่านสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้บ้างไหม ?

อบูชากิรฺ : ไม่ทราบ

อิมาม : เพราะท่านเลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่ท่านสามารถมองเห็นเท่านั้น ท่านจึงไม่สามารถรับรู้ในการมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ได้
ถ้าท่านเป็นนักวิชาการ ท่านจะทราบว่าภายในร่างกายของท่านนั้นมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างมากมาย ซึ่งมีปริมาณเทียบเท่ากับก้อนกรวดที่อยู่ตามถนนหนทางทีเดียว สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นถือกำเนิดขึ้นมาในร่างกายของท่าน และจะเจริญเติบโตและให้กำเนิดลูกหลานอย่างต่อเนื่อง มันจะยุติการทำงานหรือตายลงภายหลังจากวันเวลาได้ผ่านพ้นไประยะหนึ่ง โดยที่ท่านไม่สามารถจะมองเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู สัมผัสด้วยมือ ดมกลิ่นด้วยจมูก หรือไม่สามารถรับรู้ถึงรสชาติของมันด้วยลิ้นได้ มันจะถือกำเนิดขึ้นมา และจะเจริญเติบโต และจะตายลง เพื่อให้ท่านได้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ในขณะที่ท่านอวดอ้างอย่างผู้ที่ทรงความรอบรู้ และปฏิเสธถึงการมีอยู่ของมัน ทั้ง ๆ ที่สาเหตุในการปฏิเสธนั้นเกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญาของท่านเอง...

มาตรว่าท่านได้รู้จักตัวตนของท่านเอง และรู้ว่ามีสิ่งใดบังเกิดขึ้นในตัวท่านบ้าง ท่านจะไม่มีวันกล่าวออกมาว่าเพราะฉันไม่เห็นพระเจ้า ฉันจึงไม่ยอมรับในการมีอยู่ของพระองค์ และถือว่าพระเจ้าผู้ทรงเอกะที่ไม่อาจมองเห็นได้นั้นเป็นเพียงนิทานปรัมปราที่ไร้สาระเท่านั้น

อะตอมที่เคลื่อนไหวภายในก้อนหิน
ท่านเห็นก้อนหินที่วางอยู่ข้างระเบียงนี้ไหม ?

ท่านคิดว่ามันเป็นวัตถุที่ไม่เคลื่อนไหว เพราะสายตาของท่านไม่สามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของมันได้ ถ้ามีใครก็ตามมาบอกท่านว่ามีการเคลื่อนไหวอยู่ภายในหินก้อนนี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวหรือการขยับตัวของเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็ประหนึ่งว่าเราหยุดนิ่งหรือมิได้เคลื่อนไหวใด ๆ เลย ท่านจะไม่มีวันยอมรับคำพูดของเขาอย่างแน่นอน และท่านจะต้องกล่าวหาว่าคำพูดของเขาเป็นสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ และคิดว่าตัวท่านเท่านั้นที่ฉลาดปราดเปรื่อง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เนื่องจากการไม่ตระหนักถึงความไม่รู้ในสิ่งนี้ ท่านจึงไม่ปรารถนาที่จะศึกษาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไรในหินก้อนนั้น และสักวันหนึ่ง เมื่อแวดวงวิทยาการได้พัฒนาและก้าวล้ำไกลไปกว่านี้ ประชาชนจะสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวที่อยู่ภายในหินได้ ( นิตยสารวิชาการของประเทศอเมริกา ฉบับเดือนมิถุนายน 1973 เขียนไว้ว่า มนุษย์สามารถที่จะมองเห็นโมเลกุลที่กำลังเคลื่อนไหวได้อย่างชัดเจน และพวกเขาสามารถมองเห็นอะตอมในทุก ๆ โมเลกุลได้อย่างเลือนรางด้วยการอาศัยแสงเลเซอร์)

โอ้ อบูชากิรฺ : ท่านกล่าวว่าทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ล้วนถือกำเนิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเองทั้งสิ้น ไม่มีผู้ใดไปสร้างมันขึ้นมา เช่นวัชพืชหรือต้นหญ้าตามท้องทุ่งนา เป็นต้น มาตรว่าท่านได้ใช้ความคิดและตรึกตรองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ท่านจะประจักษ์ว่า ถ้าวัชพืชเหล่านั้นไม่มีเมล็ดและองค์ประกอบหรือเงื่อนไขที่จะทำให้มันสามารถเจริญเติบโตได้แล้ว มันจะไม่มีวันงอกเงยขึ้นมาอย่างแน่นอน

มาตรว่าท่านเป็นนักศึกษาที่ใฝ่หาวิชาความรู้แล้วไซร้ ท่านจะต้องเห็นด้วยอย่างแน่นอนว่าจิตใต้สำนึกไม่อาจจะยอมรับได้ว่าปรากฏการณ์หรือสรรพสิ่งทั้งหลายจะถือกำเนิดเกิดขึ้นมาโดยตัวของมันเอง แต่ทว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยผู้สร้าง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นวัตถุที่ไร้ชีวิตจิตใจ หรือสิ่งที่มีชีวิตจิตวิญญาณ เช่นมนุษย์ สัตว์ หรือพืชก็ตาม
มาตรว่าท่านเป็นนักปราชญ์ ท่านจะต้องทราบดีว่าไม่มีปราชญ์คนใดในระหว่างปวงปราชญ์ของสำนักคิดทั้งหลายที่จะเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งไม่มีผู้สร้างมันขึ้นมา เพียงแต่ถ้าพิจารณาอย่างผิวเผิน สิ่งที่ทำให้เข้าใจว่านักปราชญ์บางส่วนไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับผู้สร้างนั้น เนื่องจากพวกเขามิได้เรียกขานหรือยอมรับในผู้สร้างว่าคือพระเจ้า หรือ “อัลลอฮฺ” เท่านั้นเอง มิฉะนั้นแล้ว จิตใต้สำนึกของผู้ที่ปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้าโดยทั่วไปต่างมีความเชื่อในจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ให้กำเนิดหนึ่ง และเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่สรรพสิ่งจะบังเกิดขึ้นมาโดยปราศจากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ( บทสรุปสุดท้ายของหลักความเชื่อของพวกวัตถุนิยม (Materialism) ก็คือ ในโลกนี้มีสิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่ตลอดเวลาซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้กำเนิดโลกและสรรพสิ่งทั้งหลายในรูปลักษณ์ปัจจุบัน ซึ่งพวกเขาขนานนามว่าวัตถุ (Material) หรือพลังงาน (Energy) ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่าพวกวัตถุนิยมก็มีความเชื่อในพระเจ้าเช่นเดียวกัน กล่าวคือพวกเขาเชื่อว่ามีสิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่ตลอดเวลา และสิ่งดังกล่าวคือผู้ที่ให้กำเนิดโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง เพียงแต่สิ่งนั้นปราศจากสติปัญญา ความรู้สึก และเจตนารมณ์ใด ๆ ซึ่งพวกเขาเรียกขานมันว่า “พลังงาน” (Energy)) ดังนั้น ข้อแตกต่างระหว่างผู้ที่ศรัทธาในพระเจ้ากับพวกวัตถุนิยมก็คือ คนกลุ่มแรกเชื่อว่าพระเจ้ามีคุณลักษณะแห่งความรอบรู้และเจตนารมณ์ ในขณะที่คนกลุ่มที่สองเชื่อว่าพระองค์ปราศจากสำนึกและเจตนารมณ์ (วัตถุหรือพลังงาน) แต่ทั้งสองกลุ่มต่างเชื่อในพระเจ้าเหมือนกัน
ความไม่รู้คือสาเหตุแห่งการปฏิเสธพระเจ้า
สาเหตุที่มนุษย์ปฏิเสธพระเจ้านั้นมิใช่เกิดจากความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องและรอบรู้แต่อย่างใด ในทางกลับกัน ความไม่รู้และความโง่เขลาเบาปัญญาต่างหากเล่าที่ทำให้พวกเขาพากันปฏิเสธพระองค์ มนุษย์ที่มีสติปัญญาที่แท้จริงนั้น แค่เพียงเขาได้พิจารณาใคร่ครวญระบบการทำงานภายในร่างกายของเขาเองเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น เขาจะประจักษ์ว่าการที่มันสามารถทำงานอย่างเป็นระบบอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ขาดตกบกพร่องได้นั้น ย่อมจะต้องมีผู้ที่คอยควบคุมบัญชาอยู่ และผู้ที่คอยควบคุมบัญชานั้นก็คือบุคคลเดียวกันกับผู้ที่กำลังควบคุมบริหารโลกและจักรวาลอยู่นั่นเอง

โอ้ อบูชากิรฺ : ตามที่ท่านกล่าวกับฉันว่าเราทั้งสองสามารถที่จะสร้างพระเจ้าขึ้นมาเองก็ได้ นัยและความหมายของท่านในที่นี้ก็คือพระเจ้าของเราถือกำเนิดขึ้นมาด้วยการสร้างของเรานั่นเอง จะต่างกันก็ตรงที่ท่านสร้างพระเจ้าของท่านด้วยหินหรือไม้พร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องมือแกะสลัก ในขณะที่ฉันพิสูจน์พระเจ้าด้วยความคิดและจินตนาการของฉัน

ระหว่างพระเจ้าของท่านกับพระเจ้าของฉันนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ พระเจ้าของท่านจะยังไม่บังเกิดขึ้นมาจนกว่าท่านจะลงมือสร้างและแกะสลักเสียก่อน ในขณะที่พระเจ้าของฉันทรงดำรงอยู่และมีมาก่อนที่ฉันจะใช้ความคิดและจินตนาการถึงพระองค์เสียอีก
การที่ฉันไม่ได้สร้างพระเจ้าด้วยความคิดและจินตนาการของฉันก็เนื่องจากพระองค์ทรงดำรงมาก่อนที่ความคิดและจินตนาการของฉันจะมีนั่นเอง สิ่งเดียวที่ฉันสามารถจะทำได้ก็คือความพยายามที่จะทำความรู้จักถึงความยิ่งใหญ่ ความเกริกเกียรติเกรียงไกรของพระองค์ให้มากยิ่งขึ้น
เมื่อท่านเดินทางไปในท่ามกลางท้องทุ่งทะเลทรายและได้เห็นได้สัมผัสกับภูเขาที่สูงใหญ่ และตัดสินใจว่าจะต้องใช้เวลาทำความรู้จักกับมันให้มากที่สุดนั้น ฉันจะกล่าวได้ไหมว่าภูเขาลูกนั้นถูกสร้างขึ้นมาด้วยมือทั้งสองของท่าน หรือมันได้ถูกบังเกิดขึ้นมาจากจินตนาการของท่าน ?

ภูเขาย่อมมีมาก่อนที่ท่านจะได้ไปเห็นมัน และมันก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปภายหลังจากที่ท่านได้จากไปแล้ว สิ่งที่ท่านสามารถจะทำได้ก็คือการพยายามที่จะทำความรู้จักมันให้มากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ท่านจะสามารถทำความรู้จักกับมันได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความสามารถของตัวท่านเองเป็นประการสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ท่านไม่อาจที่จะทำความรู้จักภูเขาได้อย่างถ่องแท้ถี่ถ้วนหรอก ทั้งนี้เนื่องจากมาตรฐานความรู้ของท่านนั้นมิได้อยู่ในระดับขั้นที่จะทำให้ท่านสัมผัสหรือเข้าถึงรากเหง้า จุดกำเนิด หรือที่มาของมันได้ ในทำนองเดียวกัน ท่านก็ไม่อาจจะทราบได้ว่าจุดสิ้นสุดของมันจะมีมาเมื่อไร และภายในภูเขาลูกนั้นมีส่วนผสมหรือองค์ประกอบอะไรบ้าง มีแร่ธาตุหรือสิ่งมีค่าอันใดซุกซ่อนอยู่ภายใต้ความลึกล้ำและสลับซับซ้อนของขุนเขานั้นบ้าง และแร่ธาตุเหล่านั้นจะให้คุณค่าอย่างมหาศาลแก่มนุษย์อย่างไรบ้าง ?....

มาตรว่าท่านได้รู้หรือตระหนักถึงก้อนหินที่ท่านได้นำมันมาแกะสลักเป็นรูปปั้นหรือเจว็ดเพื่อใช้เป็นสิ่งสักการะบูชาว่ามันมิได้มีคุณค่าใด ๆ แล้วละก้อ ท่านจะไม่มีวันปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้าที่แท้จริงได้อย่างง่ายดายเช่นนี้แน่นอน และท่านจะไม่มีวันกล่าวกับฉันหรอกว่า “ฉัน (อิมาม) ได้สร้างพระเจ้าจากจินตนาการของฉันเอง” ด้วยสาเหตุที่ท่านไม่รู้จักคุณสมบัติของหินอย่างแท้จริงนั่นเอง ท่านจึงเข้าใจว่ามันเชื่อฟังปฏิบัติตามมือทั้งสองของท่าน โดยที่ท่านสามารถจะแกะสลักให้มีรูปลักษณ์ต่าง ๆ ตามที่ท่านต้องการได้ ทั้ง ๆ ที่สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ท่านสามารถแกะสลักหินได้นั้น เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าได้สร้างมันขึ้นมาจากของเหลวชนิดหนึ่ง จนกระทั่งท่านได้แกะสลักมันขึ้นมาในวันนี้ มิฉะนั้นแล้ว เมื่อท่านเริ่มลงมือแกะสลัก หินนั้นจะแตกกระจัดกระจายไม่ต่างจากสภาพของการนำกระจกมาแกะสลักแต่อย่างใดหรอก

อบูชากิรฺ : ท่านเชื่อว่าหินถือกำเนิดมาจากของเหลวกระนั้นหรือ ?

อิมาม : ถูกต้อง

อบูชากิรฺได้ระเบิดหัวเราะออกมาด้วยเสียงอันดังจนทำให้สานุศิษย์คนหนึ่งของท่านอิมาม : (อลัยฮิสลาม) มีความโกรธเคืองเป็นอย่างมาก แต่ท่านอิมามได้ปรามเขาไว้ และกล่าวว่า ปล่อยให้เขาหัวเราะไปเถิด

หลังจากนั้น เขาได้กล่าวขึ้นว่า ที่ฉันไม่สามารถกลั้นหัวเราะเอาไว้ได้ก็เพราะคำพูดของท่านที่ว่า หินที่เต็มไปด้วยความแข็งแรงนั้นถูกสร้างมาจากน้ำ !

อิมาม : ฉันไม่เคยกล่าวเลยว่าหินถูกสร้างมาจากน้ำ สิ่งที่ฉันกล่าวก็คือ จุดเริ่มต้นของหินนั้นมาจากของเหลว

อบูชากิรฺ : ไม่เห็นว่าจะแตกต่างกันตรงไหนเลย เพราะของเหลวก็คือน้ำนั่นเอง

อิมามจึงกล่าวออกมาด้วยความอดทนว่า สรรพสิ่งมากมายที่เป็นของเหลว แต่มิใช่น้ำ หรือถ้าเป็นน้ำ ก็เป็นน้ำผสม มิใช่น้ำบริสุทธิ์ (เช่นน้ำผลไม้ น้ำซุป น้ำแกง เป็นต้น)....

ในกรณีของหินก็เช่นเดียวกัน ก่อนหน้านั้นมันเคยเป็นของเหลวมาก่อน แต่มิใช่น้ำตามที่ท่านเข้าใจ เพียงแต่เป็นของเหลวชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับน้ำ ภายหลังจากที่ความร้อนได้ลุกเดือดพล่าน ด้วยเดชานุภาพและอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า ความร้อนได้ค่อย ๆ เย็นลงและจับตัวกันเป็นวัตถุที่แข็งหรือเป็นหินดังรูปลักษณ์ที่เราได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง และถ้าหากนำมันไปวางไว้ในความร้อนที่อุณหภูมิถึงขีดสูงสุด มันจะเปลี่ยนรูปทรงและหลอมละลายกลายเป็นของเหลวอีกครั้งหนึ่ง

พระเจ้าทรงสถิตอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ?
อบูชากิรฺ : พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะที่ไม่อาจมองเห็นได้นี่นะหรือที่ทรงสถิตอยู่ภายในหิน ?

อิมาม : พระองค์ทรงสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกสถานที่จะมีพระองค์

อบูชากิรฺ : สติปัญญาของฉันไม่อาจจะยอมรับได้ว่าสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นจะสถิตอยู่ในทุกสถานที่

อิมาม : ถ้าเช่นนั้น สติปัญญาของท่านก็ไม่อาจจะยอมรับเช่นกันซิว่าอากาศที่ไม่สามารถจะมองเห็นด้วยตาก็มีอยู่ทั่วไป ? ( เป็นคำตอบในเชิงปฏิปักษ์หรือย้อนถามคู่สนทนาให้ตระหนักในสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเด็นที่กำลังสนทนา)

อบูชากิรฺ : ถึงแม้ว่าอากาศจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ แต่เราสามารถที่จะสัมผัสและรู้สึกได้เมื่อลมพัดผ่าน ในขณะที่เราไม่สามารถสัมผัสพระเจ้าของท่านไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

อิมาม : ในกรณีที่ไม่มีกระแสลมพัดผ่าน ท่านสามารถที่จะรับรู้และสัมผัสกับอากาศได้ไหม ?

อบูชากิรฺ : ไม่ได้

อิมาม : ท่านยอมรับใช่ไหมว่าสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นและไม่อาจสัมผัสได้นั้นมีอยู่ในทุกสถานที่ ?

อบูชากิรฺ : ใช่

อิมาม : ในทำนองเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะที่เราไม่สามารถจะมองเห็นพระองค์ แต่พระองค์ทรงสถิตอยู่ในทุกสถานที่ ที่ฉันกล่าวมาข้างต้นก็เพื่อนำเสนอเป็นตัวอย่างเท่านั้น เพราะโดยสารัตถะแล้ว ระหว่างอากาศที่ถือเป็นธาตุชนิดหนึ่งนั้น ย่อมไม่มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงอย่างสิ้นเชิงกับพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสรรสร้างสรรพสิ่งทั้งมวล...

การศรัทธาในพระเจ้ากับคุณประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์
หลังจากนั้น ท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) ได้เริ่มกล่าวถึงผลลัพธ์บั้นปลายของผู้ที่ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะว่า :-
สำหรับมนุษย์ที่มีชีวิตโดยมิได้ศรัทธาและปฏิบัติตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้านั้น พวกเขามีสภาพที่ไม่ต่างไปจากผู้ที่การมอง การฟัง และการสัมผัสได้อันตรธานและสูญสิ้นไปจากตัวของเขาชั่วขณะหนึ่ง ทำให้ไม่อาจจะรู้ได้ว่า :-เขาจะไปสู่ทิศทางใด ?
เขาจะทำเช่นไร ?
เขาจะพึ่งพิงสิ่งใด ? ( ทั้งนี้เนื่องจากโลกที่ปราศจากพระผู้เป็นเจ้าย่อมไม่ต่างไปจากซากศพหรือโครงกระดูกที่ไร้ชีวิตจิตวิญญาณ ไร้ความรู้สึก ไร้ทิศทางและเป้าหมายนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์หรือปวงปราชญ์ที่มีโลกทัศน์แบบวัตถุนิยม เช่น ซาร์เตอร์ พวกเขาจะให้ความหมายของคำว่า “โลก” ว่าเป็นสิ่งที่ไร้แก่นสาร ไร้สาระ และหาสารัตถะใด ๆ มิได้ จากนิยามและคำจำกัดความดังกล่าวนี้เอง พวกเขาจึงถือว่ามนุษย์ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องกำหนดทิศทางหรือเป้าหมายใด ๆ ในการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้พบเห็นมนุษยชาติในศตวรรษที่ 20 ที่พวกเขาประสบความสำเร็จทั้งทางด้านวิทยาการ ปรัชญา และอุตสาหกรรม ฯลฯ จึงใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย ไร้ทิศทาง และไร้แก่นสารอย่างสิ้นเชิง)

การศรัทธาในพระเจ้า ไม่เพียงแต่จะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์เท่านั้น เพราะแม้แต้ในหมู่สัตว์เดรัจฉานก็ยังศรัทธาต่อพระองค์ และพวกมันไม่อาจที่จะมีชีวิตโดยปราศจากการศรัทธาต่อพระองค์ได้เช่นกัน มาตรว่าเราสามารถเข้าใจในภาษาของมัน เราจะประจักษ์ว่าในท่ามกลางเดรัจฉานนั้นก็มีการเคารพภักดีและรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าด้วยเช่นกัน
การศรัทธาในพระเจ้าของสัตว์และพืช
...ฉันมิได้กล่าวว่าสัตว์ทั้งหลายมีความเชื่อศรัทธาเช่นเดียวกับที่มนุษย์ศรัทธา แต่ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าพวกมันต่างยอมจำนนและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เป็นคำบัญชาของพระองค์อย่างไม่อิดเอื้อน

โอ้ อบูชากิรฺ : แม้แต่วัชพืชหรือพฤกษาทั้งหลายก็ยังศรัทธาและเคารพเชื่อฟังพระเจ้า มันจะเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระองค์ด้วยสำนึกแห่งความเป็นพืชของมัน เพราะมิฉะนั้นแล้ว ท่านจะได้พบเห็นความไม่เป็นระบบของมันอย่างแน่นอน ในท่ามกลางพืชจำนวน 150 สายพันธ์ใหญ่ ๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสรรสร้าง และในแต่ละสายพันธ์เหล่านั้นยังมีสายพันธ์ย่อย ๆ ถูกแยกออกมาอีกมากมายนั้น ท่านจะไม่พบพืชพันธ์ชนิดใดที่ใช้ชีวิตอย่างไร้ระเบียบแบบแผนแม้แต่สายพันธ์เดียว... (นักพฤกษศาสตร์ในยุคปัจจุบันได้จำแนกพืชออกเป็นสายพันธ์ใหญ่ ๆ ทั้งหมด 150 สายพันธ์ด้วยกัน ซึ่งในแต่ละสายพันธ์ ยังมีสายพันธ์ย่อยอีกหลากหลายชนิด)

ฉันทราบดีว่าท่านไม่อาจจะยอมรับในสิ่งที่ฉันกล่าวมาข้างต้นได้ หรือท่านอาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ฉันกล่าวด้วยซ้ำ ทั้งนี้เนื่องจากการที่มนุษย์จะทำความเข้าใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นั้น อย่างน้อยที่สุด เขาจะต้องมีพื้นฐานความรู้ในด้านนั้น ๆ อยู่บ้าง เพราะเมื่อสมองและสติปัญญาได้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะองก์ความรู้มาในระดับหนึ่งแล้ว ความฉลาดปราดเปรื่องจะเข้าไปทดแทนความไม่รู้หรือความโง่เขลาเบาปัญญา หลังจากนั้นมันถึงจะสามารถรองรับความรู้และความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย

สิ่งไม่มีชีวิตก็ศรัทธาในพระเจ้าเช่นกัน
ไม่เพียงแต่เดรัจฉานและพืชพันธ์ที่มีสัญชาติญาณแห่งการรับรู้ของสัตว์และพืชเท่านั้นที่รู้จักพระเจ้าและมีความศรัทธาในพระองค์ แม้กระทั่งวัตถุหรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ยังรู้จักและศรัทธาต่อพระองค์ด้วยสัญชาติญาณแห่งการรับรู้ของมันด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นแล้ว มันจะประสบกับความโกลาหลอลหม่าน และอณูของวัตถุหรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตเหล่านั้นจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ อย่างแน่นอน ( เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรฺอานว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะไม่สรรเสริญสดุดีพระผู้เป็นเจ้า เพียงแต่พวกเจ้าไม่เข้าใจใน (ภาษาแห่ง) การสรรเสริญสดุดีของมันเท่านั้น” (คัมภีร์อัลกุรฺอาน บทอิสรออฺ หรือบนีอิสรออีล 17 : 44))

แสงตะวันที่จุดกำเนิดของมันคือดวงอาทิตย์นั้น ก็สรรเสริญสดุดีพระผู้เป็นเจ้าเช่นเดียวกัน มันจะเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่พระองค์ทรงบัญญัติอย่างซื่อสัตย์และเที่ยงตรง แสงของดวงอาทิตย์เกิดจากธาตุที่เป็นปัจจัยสำคัญสองประการที่ตรงข้ามกัน ในขณะที่ตัวมันเองมิได้มีแสงสว่างอยู่ แต่เมื่อมันได้รวมกัน มันจะก่อกำเนิดแสงสว่างขึ้นมา ( นิตยสาร “ชีวิตกับวิทยาศาสตร์” ได้ระบุว่าปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้เกิดแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ก็คือการรวมตัวกันระหว่างอะตอมของวัตถุธาตุ)

...มาตรว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงยุติการควบคุมบริหารโลกและจักรวาลเพียงแค่ชั่วอึดใจเดียวเท่านั้น โลกและสรรพสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในโลกนี้จะต้องประสบกับความหายนะในทันที กล่าวคือมันจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นอย่างอื่นจนหมดสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะสูญสลายไปอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง




การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

อย่างไรก็ตาม พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงบิดพลิ้วพันธสัญญาและบ่ายเบี่ยงจากการบริหารกิจการโลกนี้ให้แปรเปลี่ยนเป็นอื่นอย่างแน่นอน ทั้งนี้เนื่องจากโลกและจักรวาลถูกบริหารอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่แน่นอนและสม่ำเสมอ และด้วยความรอบรู้อย่างแท้จริงของพระองค์นั่นเองที่ทรงกำหนดกฎเกณฑ์ในการบริหารโลกอย่างมีระเบียบแบบแผนและสม่ำเสมอ พระองค์ทรงบัญญัติกฎเกณฑ์ทุกอย่างขึ้นมาเพื่อเป็นคุณประโยชน์โดยรวมของชาวโลกทั้งสิ้น ไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่ถูกกำหนดขึ้นมาอย่างไร้สาระ

ปรัชญาของความตาย
กฎเกณฑ์หนึ่งตามทัศนะของกลุ่มชนที่โง่เขลาเบาปัญญาเชื่อว่ามิได้ให้สารประโยชน์และคุณค่าใด ๆ แก่มนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังถือว่ามีแต่จะก่อให้เกิดโทษต่อมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นั่นก็คือ “ความตาย”
แต่โดยสารัตถะแล้ว ความตายสามารถให้คุณค่าและสาระประโยชน์อย่างแน่นอน ถ้าปราศจากความตาย มนุษยชาติจะต้องสูญพันธ์อย่างแน่นอน นักวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยโบราณต่างเคยประสบความผิดหวังมามากแล้วที่ไม่สามารถสกัดกั้นมนุษย์มิให้พบกับความตายได้ และฉันขอกล่าวเตือนนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตข้างหน้าว่าจงอย่าได้ใช้ความเพียรพยายามใด ๆ ในการที่จะยับยั้งความตายให้รอดพ้นไปจากมนุษย์เลย ( จากคำเตือนของท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) นี่เอง ทำให้เราได้รำลึกถึง “อเลกซิส คาร์ล” ที่เขาได้ใช้ความพยายามเพื่อหยุดยั้งความตายจากมนุษย์ ถึงแม้ว่าความพยายามดังกล่าวจะมีคุณค่าอยู่บ้างก็ตาม แต่ทว่า เขาไม่สามารถที่จะบรรลุสู่เป้าหมายนั้นได้ ในที่สุด เขาต้องสิ้นหวังและล้มเลิกความคิดที่จะทำลายความตายให้อันตรธานหายไปจากมนุษย์อย่างสิ้นเชิง !)

โอ้ อบูชากิรฺ ขอให้ท่านหยุดคิดสักนิดหนึ่งเถิด
ขอให้ท่านตั้งสมมุติฐานขึ้นมาว่า มาตรแม้นว่าไม่มีความตายอยู่ในโลกนี้ และมนุษย์รู้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตอย่างอมตะนิรันดรกาล ในสภาพเช่นนี้ (มนุษย์จะยิ่งเต็มได้ด้วยความหยิ่งผยองลำพองตน) พวกกดขี่ฉ้อฉลก็จะยิ่งตักตวงและกอบโกยผลประโยชน์อย่างอธรรม เพื่อที่จะได้เสวยสุขบนกองทุกข์ของผู้ยากไร้อย่างยาวนานตลอดไป และเมื่อใดก็ตามที่บรรดาผู้ยากไร้ที่อ่อนแอกล้าที่จะขัดขืนลุกขึ้นมาเผชิญหน้าและต่อสู้ พวกเขาจะต้องปราบปรามให้หมอบราบคาบ...และด้วยสาเหตุที่ผู้คนเหล่านั้นสามารถสั่งสมอำนาจบารมีเอาไว้อย่างเหลือล้น พวกเขาจึงต้องคิดวางแผนการที่จะทำลายกลุ่มชนที่มีอำนาจบารมีที่ด้อยกว่าหรือลดหลั่นลงมา (เข้าทำนองปลาใหญ่กินปลาเล็ก) หลังจากนั้น พวกที่มีอำนาจบารมีทัดเทียมกันก็จะฟาดฟันและห้ำหั่นกันจนกว่าจะคงเหลือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น และท่านลองตั้งสมมุติฐานต่อไปอีกว่าเมื่อบุคคลผู้นั้นสามารถมีชีวิตยืนยาวตราบเท่าอายุขัยของโลกนี้จะหาไม่แล้ว ในที่สุด มนุษยชาติทั้งหลายก็จะต้องสูญพันธ์อย่างไม่ต้องสงสัย

สมมุติฐานอีกประการหนึ่งก็คือ ในกรณีที่ความตายไม่สามารถจะเข้ามาแผ้วพานพวกเขา และมนุษยชาติก็ไม่สูญพันธ์ไปจากโลกนี้ แน่นอนว่าในระยะเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปีเท่านั้นจำนวนประชากรจะต้องล้นโลกอย่างแน่นอน และไม่เพียงแต่พวกเขาจะทำสงครามเพื่อแย่งชิงสิงสาราสัตว์ทุกชนิดมาเป็นอาหารเพื่อประทังชีวิตเท่านั้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อส่ำสัตว์ต้องสูญพันธ์ไปจากโลกนี้จนหมดสิ้นแล้ว มนุษย์จะต้องหันหน้าเข้ามาห้ำหั่นกันเพื่อเย่งชิงเนื้อมนุษย์ด้วยกันมาเป็นอาหารประทังความหิวโหย !

อบูชากิรฺ : คำพูดของท่านเกี่ยวกับความตาย ทำให้ฉันต้องฉงนและมึนงงยิ่งนัก !!

อิมาม : เพราะเหตุใดหรือ ?

อบูชากิรฺ : นัยและความหมายของมันก็คือ เราจะต้องรีบเร่งฆ่าตัวตายให้เร็วไวที่สุด เพราะเจตนารมณ์และความพึงพอพระทัยที่แท้จริงของพระเจ้าก็คือการสิ้นสุดหรือจบชีวิตของมนุษย์ ฉะนั้น ยิ่งเราประสบกับความตายรวดเร็วมากเท่าไร ก็จะยิ่งสร้างความพึงพอพระทัยให้พระองค์มากขึ้นเท่านั้น ? !

ความตายอย่างปัจจุบันทันด่วน
อิมาม : ผู้ที่ฆ่าตัวตาย เท่ากับเขาได้ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์และบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า เพราะพระองค์ทรงบัญชาให้มนุษย์พยายามรักษาชีวิตของตนเท่าที่กำลังความสามารถของเขาจะพึงมี ทั้งนี้เพื่อให้ดำเนินไปตามปรัชญาแห่งการสรรสร้างมนุษยชาติ และเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเอง และหนทางหนึ่งที่จะรักษาชีวิตของเราให้ยืนยาวก็คือการไม่สร้างความสุดโต่งในด้านการบริโภค เพราะสิ่งนี้จะช่วยทำให้อายุขัยโดยปกติของมนุษย์ยืนยาว ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ ปู่ทวดผู้เป็นบรรพชนของฉันได้วจนะไว้ว่า :-จงอย่าสร้างท้องของท่านให้เป็นสุสานของส่ำสัตว์”

อบูชากิรฺ : อะไรคือความหมายของประโยคดังกล่าว ?

อิมาม : หมายถึงท่านทั้งหลายจงอย่าบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากมาย

อบูชากิรฺ : โดยส่วนตัวแล้ว ฉันเป็นคนที่ชอบรับประทานเนื้อเป็นอย่างมาก และไม่อาจจะละเว้นได้เลย

อิมาม : ฉันไม่ได้กล่าวว่ามิให้บริโภคเนื้ออย่างสิ้นเชิง เพียงแต่จงอย่าพยายามรับประทานในปริมาณที่มากเท่านั้น

อบูชากิรฺ : เพราะเหตุใดหรือ ?

อิมาม : เพราะการรับประทานเนื้อในปริมาณมาก ๆ สำหรับบางคน อาจจะทำให้เขาต้องประสบกับความตายอย่างปัจจุบันทันด่วนได้ (เช่นโรคหัวใจวาย (Heart Attack) หรือโรคเส้นโลหิตในสมองแตก (Apoplectic) เป็นต้น = ผู้แปล)

อบูชากิรฺ : นับเป็นครั้งแรกที่ฉันได้ยินเรื่องราวทำนองนี้

อิมาม : ฉันไม่ได้กล่าวว่าการรับประทานเนื้อจะมีผลทำให้มนุษย์ประสบกับความตายอย่างปัจจุบันทันด่วน สิ่งที่ฉันกล่าวข้างต้นก็คือการรับประทานเนื้อในปริมาณมาก ๆ สำหรับคนส่วนหนึ่ง ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าการบริโภคเนื้ออย่างมากมาย แต่ไม่ทำให้บุคคลผู้นั้นต้องตายอย่างกะทันหันก็ได้

อบูชากิรฺ : ความตายอย่างปัจจุบันทันด่วนที่ท่านกล่าวมานั้นหมายความว่าอย่างไร ?

อิมาม : บุคคลที่เมื่อมองดูผิวเผินเพียงรูปกายภายนอก เขาอาจจะเป็นคนที่มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เขาป่วยเป็นโรคบางชนิดและจะต้องเป็นลมสิ้นสติก่อนที่จะประสบกับความตายอย่างปัจจุบันทันด่วนในที่สุด

อบูชากิรฺ : เป็นไปได้อย่างไร ?

อิมาม : มีผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีโรคอยู่ภายในโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้นมิได้สำแดงผลข้างเคียงใด ๆ ออกมาก่อนหน้าที่ความตายจะมาเยือนพวกเขา

อบูชากิรฺ : ฉันไม่อาจจะยอมรับได้ว่ามนุษย์จะต้องตายอย่างปัจจุบันทันด่วน ทั้ง ๆ ที่ (เมื่อพิจารณาจากภายนอก) เขามิได้มีโรคภัยไข้เจ็บใด ๆ อาจจะเป็นไปได้สำหรับในกรณีของผู้ที่ตายในสนามรบ หรือกรณีทะเลาะวิวาทกัน

อิมาม : ตราบเท่าที่ยังมิได้เห็นด้วยตา ท่านก็ยังคงปฏิเสธถึงการมีอยู่ของมันอยู่นั่นเอง และเนื่องจากท่านยังไม่เคยได้ประสบพบเห็นผู้ที่ตายอย่างปัจจุบันทันด่วนนี่เอง ทำให้ท่านไม่เชื่อในสิ่งดังกล่าว ดังนั้น ขอให้ท่านรับรู้ด้วยเถิดว่าความตายดังกล่าวนั้นเกิดจากสาเหตุ 3 ประการด้วยกันคือ จากสมอง หัวใจ และเลือด ( วิทยาการด้านการแพทย์ปัจจุบันยอมรับกันอย่างแพร่หลายแล้วว่าความตายอย่างปัจจุบันทันด่วนนั้นมี 3 ประการใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ :-
ก. สมอง เช่นเส้นเลือดตีบตันในสมองจนเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของสมองได้ หรือกรณีที่เลือดคั่งในสมอง
ข. เส้นเลือดของหัวใจตีบ ทำให้เลือดและออกซิเจนไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ หรือเซลล์หัวใจไม่มีอาหารมาหล่อเลี้ยงเนื่องจากการฉีกขาดของเส้นเลือด
ค. เกิดจากตัวของเลือดเอง กล่าวคือในกรณีที่ก้อนเลือดเข้าไปอุดตันภายในเส้นเลือด ทำให้มันไม่สามารถไหลเวียนและเข้าไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ได้


อบูชากิรฺ : เหตุใดที่สมอง หัวใจ และโลหิตจึงมีผลทำให้มนุษย์ต้องตายอย่างปัจจุบันทันด่วน ?

อิมาม : ขั้นสุดท้ายของความตายอย่างปัจจุบันทันด่วนทุกชนิดเกิดจากกรณีที่เลือดมีความเข้มข้นเกินกว่าภาวะปกติทั่วไป และสาเหตุที่ทำให้เลือดข้นเกินภาวะปกติก็เนื่องจากการรับประทานเนื้อสัตว์เป็นประจำ รวมทั้งอาหารจำพวกที่ให้พลังงานสูง (Calory) ในปริมาณที่มากกว่าปกติ และเมื่อสภาวะของเลือดมีความข้นสูงแล้ว ความตายอย่างกะทันหันจะอุบัติขึ้นในสมอง หัวใจ หรือในส่วนของเลือดนั่นเอง
เราจะไม่พบความตายในลักษณะเช่นนี้ในหมู่ชาวอาหรับเบดูอิน ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาไม่ค่อยบริโภคเนื้อสัตว์และอาหารจำพวกที่ให้พลังงานสูงนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบางเผ่าพันธุ์จะรับประทานเนื้อสัตว์เพียงปีละครั้งเท่านั้น กล่าวคือในพิธีหัจญ์ที่มักกะฮฺ...
ในนครมะดีนะฮฺนี้ ท่านรู้จักใครบ้างที่มีอายุถึงหนึ่งร้อยปี ?

อบูชากิรฺ : ฉันไม่รู้จักบุคคลใดในเมืองนี้ที่มีอายุถึงหนึ่งร้อยปี

อิมาม : ก่อนหน้านี้ ในสมัยที่ชาวเมืองนี้ไม่บริโภคเนื้อสัตว์และอาหารที่ให้พลังงานสูงในปริมาณที่มากกว่าปกติทั่วไปนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิงต่างมีอายุยืนยาวถึงหนึ่งร้อยปี...อย่างไรก็ตาม ถ้าหากท่านได้เดินทางออกไปในชนบทที่อยู่นอกเมืองมะดีนะฮฺซึ่งเป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของชนเผ่าต่าง ๆ แล้ว ท่านจะได้พบเห็นผู้คนทั้งหญิงชายที่มีอายุถึงหนึ่งร้อยปีมีจำนวนมากมาย
การอุดตันของเส้นเลือดที่เกิดขึ้นกับผู้คนบางส่วนจะกลายเป็นสาเหตุของความตายอย่างกะทันหัน หรือมิฉะนั้นประชาชนโดยส่วนใหญ่มักจะประสบกับความแก่ชราเร็วกว่าผู้คนโดยทั่วไป และในที่สุด พวกเขาจะประสบกับความตายก่อนวัยอันสมควรเสมอ

สาเหตุแห่งความตาย
อบูชากิรฺ : อะไรคือสาเหตุแห่งความตายหรือ ?

อิมาม : สาเหตุแห่งความตายมีอยู่ด้วยกัน 2 ประการใหญ่ ๆ คือ
1. ความเจ็บไข้ได้ป่วย (โรคภัยไข้เจ็บ) ดังที่ฉันได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าผู้คนที่ประสบกับปัญหาเส้นเลือดอุดตัน ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเข้าใจว่าตนเองมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ แต่พวกเขาต้องประสบกับความตายเนื่องจากโรคภัยภายในที่มิได้สำแดงออกมาให้พวกเขาได้ทราบล่วงหน้านั่นเอง

2. ความชรา ถึงแม้ว่ามนุษย์จะมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์เพียงไรก็ตาม แต่ทว่า ความเฒ่าชะแรแก่ชราก็จะเข้ามาพรากชีวิตของพวกเขาไปในที่สุด เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนี้ Hippocrates (ฮิพพอคราทีซ) แพทย์ชาวกรีก (หรือยูนาน ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งแพทยศาสตร์) เคยกล่าวเอาไว้ว่าความชราถือเป็นโรคภัยไข้เจ็บชนิดหนึ่ง และในวันหนึ่งข้างหน้าถ้าหากมนุษย์สามารถค้นพบโอสถที่ใช้บำบัดโรคชรานี้ได้ พวกเขาจะไม่ประสบกับความตาย

อบูชากิรฺ : แต่แพทย์ในยุคปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสกัดกั้นโรคนี้ได้

อิมาม : ใช่แล้ว และฉันมีความเชื่อมั่นว่าแพทย์ทุกยุคทุกสมัยจะไม่มีวันค้นพบโอสถเพื่อใช้สกัดกั้นโรคชรานี้ได้อย่างสิ้นเชิง

อบูชากิรฺ : ท่านทราบได้อย่างไรว่าโรคชราจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ?

อิมาม : เพราะความตายเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า และวิทยปัญญา ความรอบรู้ และเดชานุภาพของพระองค์ จึงทรงประทานให้มนุษย์เกิดมา และให้พวกเขาประสบกับความตายในที่สุด...

อบูชากิรฺ : ถ้าเช่นนั้น สิ่งที่ผู้คนพากันกล่าวว่าศาสดาบางท่านก่อนหน้านี้มีอายุเป็นอมตะนิรันดร หมายความว่าอย่างไร ?

อิมาม : ท่านจงอย่าได้หลงเชื่อคำพูดดังกล่าว ตราบเท่าถึงปัจจุบัน ยังไม่มีมนุษย์คนใดที่เกิดมาแล้วไม่ประสบกับความตาย หรือถ้าหากว่าบุคคลผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่จนถึงขณะนี้ และจะไม่มีวันประสบกับความตายแล้ว คำพูดเหล่านั้นมิใช่อื่นใดนอกจากนิยายปรัมปราที่ไร้สาระอย่างสิ้นเชิง...

อบูชากิรฺ : ฉันกำลังยับยั้งชั่งใจว่าถ้าหากฉันยอมจำนนในพระผู้เป็นเจ้าที่ไม่อาจมองเห็นได้แล้ว ฉันจะยอมรับศาสดาของท่านด้วย แต่ในขณะที่ฉันยังไม่ศรัทธาในศาสดาของท่าน ฉันเคยได้ยินคัมภีร์อัลกุรฺอานบางโองการที่พระผู้เป็นเจ้าของท่านทรงดำรัสขัดแย้งกับคำพูดสุดท้ายของท่านที่กล่าวว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก ๆ จะมีผลทำให้เลือดอุดตันและประสบกับความตายอย่างกะทันหัน ซึ่งฉันเชื่อมั่นว่าท่านเป็นผู้ที่มีความเชื่อในคัมภีร์อัลกุรฺอานอย่างแน่นอน ?

อิมาม : แน่นอน เพราะมันคือพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า

อบูชากิรฺ : แล้วเหตุใดคำกล่าวของท่านจึงขัดแย้งกับพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าของท่านเองเล่า ?

อิมาม : ฉันได้กล่าวสิ่งใดที่ไปขัดแย้งกับพระดำรัสของพระองค์หรือ ?

อบูชากิรฺ : ฉันเคยได้ยินจากคัมภีร์อัลกุรฺอานว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องประสบกับความตายตามวาระที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ และพวกเขาจะไม่ถูกประวิงเวลาให้ล่าช้า หรือยืดเวลาให้เนิ่นนานแม้เพียงชั่วโมงเดียว (เกี่ยวกับวาระแห่งความตายนี้ คัมภีร์อัลกุรฺอานได้กล่าวไว้อย่างมากมายหลายโองการด้วยกัน ตัวอย่างเช่น “และในทุกประชาชาติมีวาระกำหนด (ที่ถูกลิขิตเอาไว้อย่างแน่นอน) ครั้นเมื่อวาระเวลาได้มาถึงพวกเขา พวกเขาจะหน่วงเหนี่ยวให้ล่าช้าสักชั่วโมงหนึ่งก็ไม่ได้ และจะรีบเร่งให้วาระนั้นมาถึงเร็วกว่ากำหนด (สักหนึ่งชั่วโมง) ก็ไม่ได้เช่นกัน” (อัลกุรฺอาน บทอัลอะอฺรอฟ 7 : 34 และนอกจากนี้ยังมีปรากฏอยู่ในบทยูนุส 10 : 49, อัลหิจญ์รฺ 15 : 5, อันนะหฺลุ 16 : 61, ฟาฏิรฺ 35 : 45)

อิมาม : ถูกต้อง นี่คือพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรฺอาน

อบูชากิรฺ : แล้วท่านมิได้กล่าวหรือว่า ใครก็ตามที่บริโภคเนื้อสัตว์และอาหารจำพวกไขมันในปริมาณมาก ๆ เขาจะประสบกับความตายก่อนที่วาระจะมาถึง ?

อิมาม : ถูกต้อง

อบูชากิรฺ : ด้วยเหตุนี้ คำพูดของท่านจึงขัดแย้งกับพระดำรัสของพระองค์

อิมาม : ประการแรก ฉันกล่าวว่าในหมู่ผู้คนจำนวนหนึ่งที่บริโภคเนื้อสัตว์และอาหารจำพวกไขมันในปริมาณมาก ๆ เป็นไปได้ที่พวกเขาจะประสบกับเลือดอุดตันและพบกับความตายในที่สุด ฉันมิได้หมายถึงผู้คนทั้งหมดแต่อย่างใด
ประการที่สอง อายุขัยที่เป็นไปตามธรรมชาติกับอายุขัยที่มนุษย์เป็นผู้ทำให้มันสั้นลงด้วยตัวของเขาเองนั้นย่อมมีความแตกต่างกัน พระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงตรัสว่า “ทุกชีวิตจะต้องลิ้มรสกับความตายตามที่พระองค์ทรงลิขิตวาระไว้” (1. เกี่ยวกับกรณีนี้ คัมภีร์อัลกุรฺอานได้กล่าวไว้ในหลายโองการด้วยกัน ตัวอย่างเช่น “ทุกชีวิตจะต้องลิ้มรสกับความตาย แล้วพวกเจ้าจะถูกนำกลับมายังเรา” (อัลกุรฺอาน บทอัลอังกะบูต 29 : 57 และนอกจากนี้ยังมีปรากฏในบทอาลิอิมรอน 3 : 185, บทอัลอัมบิยาอ์ 21 : 35) นั้น เกี่ยวข้องกับอายุขัยที่เป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนผู้ที่ทำลายหรือฆ่าตัวตาย มิได้อยู่ในเงื่อนไขของโองการที่พระองค์ทรงกล่าวถึงวาระสุดท้ายของอายุขัยที่ไม่มีผู้ใดจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้แต่อย่างใด

พระผู้เป็นเจ้าอาจจะทรงกำหนดวาระแห่งอายุขัยของบุคคลหนึ่งไว้ที่ 80 , 90 หรือ 100 ปี แต่เนื่องจากเขาตัดสินใจใช้กริชหรือมีดสั้นจบชีวิตของตนตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม
เช่นเดียวกับผู้คนที่บริโภคเนื้อสัตว์หรืออาหารที่มีปริมาณไขมันสูงเป็นประจำจนทำให้เลือดไปอุดตันในสมองหรือหัวใจหรือในเส้นเลือด ในกรณีเช่นนี้ก็เท่ากับเขาได้ตระเตรียมการที่จะสังหารตัวของเขานั่นเอง (การสนทนาในประเด็นข้างต้นทั้งหมด และในประเด็นที่ 4 (อินชาอัลลอฮฺ สำหรับท่านที่สนใจคงจะได้ติดตามอ่านเมื่อถึงประเด็นนี้) ที่คัดมาจากหนังสือ “มันสมองของนักคิดชีอะฮฺ” ซึ่งได้รวบรวมทฤษฎีและแนวคิดของนักปราชญ์ ปัญญาชนและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก จำนวน 25 ท่าน ซึ่งถูกถ่ายทอดเป็นภาษาเปอร์เซียโดย “ซะบีหุลลอฮฺ มันศูรีย์” ส่วนหลักฐานและข้อพิสูจน์ที่ได้นำเสนอ ณ ที่นี้ ล้วนได้รับการตรวจสอบแล้วว่าถูกต้องและเชื่อถือได้ ถึงแม้ว่าสายรายงานบางส่วนจะมีปัญหาอยู่บ้างก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากประเด็นสนทนาทั้งสองมิได้ถูกบันทึกอยู่ในตำราหะดีษชั้นนำแต่อย่างใดนั่นเอง)



3. อิมามริฎอ (อลัยฮิสลาม)กับซินดีก(ผู้ปฏิเสธพระเจ้า)
ประเด็นสนทนา : ผู้สร้างโลก

สาวกคนหนึ่งของท่านอิมามอะลี ริฎอ (อลัยฮิสลาม) กล่าวว่า วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านอิมามริฎอกำลังนั่งสนทนากับประชาชนอยู่นั้น ได้มีซินดีกคนหนึ่งเข้ามาพบท่าน หลังจากกล่าวต้อนรับทักทายและรู้ถึงเป้าหมายในการมาของเขาแล้ว ท่านอิมามจึงกล่าวขึ้นว่า

“มาตรว่าการปฏิเสธพระเจ้าของท่านเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ท่านจะยอมรับไหมว่าผลลัพธ์บั้นปลายของเราทั้งสองย่อมเสมอเหมือนกัน การเคารพภักดี การนมาซ การถือศีลอด การจ่ายซะกาต (ทานภาคบังคับ) และการเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและโลกหน้าจะไม่สร้างความเสียหายและอันตรายใด ๆ แก่เราแม้แต่น้อย ? !”

ซินดีกผู้นั้นนิ่งเงียบ

ท่านอิมาม : จึงกล่าวต่อไปว่า “แต่มาตรว่าความเชื่อในการมีพระเจ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ท่านจะยอมรับไหมว่า ท่านจะต้องประสบกับความหายนะ ในขณะที่เราจะเป็นผู้ที่รอดปลอดภัย ? !”

นอกจากผู้ปฏิเสธพระเจ้า (ซินดีก) คนนี้จะไม่ตอบคำถามที่สองของท่านอิมามแล้ว เขายังเลี่ยงไปกล่าวในทำนองเย้ยหยันและย้อนกลับว่า “ขอให้ท่านได้รับความเมตตาจากพระเจ้าของท่านเถิด ! ไหนท่านลองบอกฉันซิว่า พระเจ้าของท่านเป็นอย่างไร และอยู่ที่ไหน ?”

อิมามริฎอ : “ท่านเข้าใจผิดแล้วละ
ท่านจะนำพระเจ้าไปไว้ที่ไหนหรือ ?

เพราะพระองค์ทรงดำรงโดยไม่ต้องอาศัยสถานที่
และท่านจะให้พระองค์มีสภาวะเช่นไรหรือ ?

เพราะพระองค์ทรงดำรงโดยไม่มีสภาวะ
มนุษย์ไม่อาจรู้จักพระผู้เป็นเจ้าด้วยกับ (การนำไปเปรียบเทียบกับ) สภาวการณ์และสถานที่ได้หรอก และไม่อาจจะรู้จักพระองค์ด้วยกับประสาทสัมผัสทั้งห้า กล่าวโดยสรุป เราไม่อาจที่จะนำสิ่งใดไปเปรียบเทียบกับพระองค์ได้”

ซินดีก : ในเมื่อไม่มีประสาทสัมผัสใด ๆ สามารถทำความรู้จักกับพระองค์ได้ ดังนั้น จึงสรุปว่าไม่มีพระเจ้า

อิมามริฎอ : เพราะประสาทสัมผัสของท่านไม่สามารถทำความรู้จักพระองค์ได้ใช่ไหมที่ทำให้ท่านปฏิเสธพระองค์ ?
ตรงกันข้ามกับเรา ด้วยเหตุที่ประสาทสัมผัสของเราไม่สามารถที่จะทำความรู้จักพระเจ้านี้เองที่ทำให้เราศรัทธาว่าพระองค์ทรงมีและทรงดำรงอยู่ และเชื่อว่าพระองค์คือพระผู้อภิบาลของเรา เนื่องจากพระองค์ไม่ทรงเหมือนสรรพสิ่งใดในโลกนี้นั่นเอง !”(“ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์” (อัลกุรฺอาน บทชูรอ (การปรึกษาหารือ) 42 : 11)

ซินดีก : ถ้าเช่นนั้น ไหนท่านลองบอกฉันซิว่าพระองค์ทรงเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร ?

อิมามริฎอ ก่อนอื่น ขอให้ท่านบอกฉันก่อนได้ไหมว่าพระองค์ไม่ทรงมีมาตั้งแต่เมื่อไร ? เพื่อฉันจะตอบท่านได้ว่าพระองค์ทรงเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร ?

ซินดีก : ท่านมีหลักฐานอะไรที่กล่าวว่าพระองค์ทรงมี ?

อิมามริฎอ : หลักฐานก็คือคราใดที่ฉันครุ่นคิดใคร่ครวญในตัวฉันเองว่าฉันไม่สามารถที่จะเพิ่มหรือลดสรีระเรือนร่างของฉันทั้งในด้านความสูงและความกว้าง และไม่สามารถที่จะขจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาออกไป หรือเสริมเติมแต่งสิ่งที่ฉันพึงพอใจเข้ามาในตัวฉันได้ จากบทสรุปนี้เองที่ทำให้ฉันประจักษ์ว่าจะต้องมีผู้ทรงสร้างฉันขึ้นมา ด้วยเหตุดังกล่าวที่ทำให้ฉันจำนนว่ามีพระเจ้า
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงก้อนเมฆ กระแสลมที่พัดผ่าน ระบบสุริยจักรวาล ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวต่าง ๆ ตลอดจนสรรพสิ่งที่อยู่ล้อมรอบตัวเราซึ่งถือเป็นเครื่องหมายหรือสัญญาณที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์และช่วยเสริมสร้างความมั่นใจแล้ว ทำให้ฉันตระหนักว่าสรรพสิ่งเหล่านี้จะต้องมีผู้สร้างและอยู่ภายใต้การควบคุมบริหารของผู้สร้างอย่างแน่นอน

ซินดีก : ถ้าพระเจ้ามีจริง แล้วเหตุใดดวงตาทั้งสองของฉันจึงมองไม่เห็นพระองค์ ?

อิมามริฎอ : ผู้สร้างกับสรรพสิ่งถูกสร้างย่อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในเมื่อพระผู้เป็นเจ้าคือผู้สรรสร้างสรรพสิ่งทั้งมวล พระองค์จึงย่อมแตกต่างกับสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง พระองค์ทรงอยู่เหนือการมองเห็น หรือเหนือสมองและสติปัญญาอันมีขอบเขตจำกัดของเราที่จะทำความเข้าใจพระองค์ได้อย่างลึกซึ้งถ่องแท้ได้

ซินดีก : ถ้าเช่นนั้น ไหนท่านลองสาธยายมิติและขอบเขตของพระองค์ให้ฉันได้รับความกระจ่างหน่อยซิ

อิมามริฎอ : มิติและขอบเขตของพระองค์ทรงอสงไขย

ซินดีก : หมายความว่าอย่างไร ?

อิมามริฎอ : เพราะสรรพสิ่งที่มีมิติและขอบเขตจำกัดย่อมจะต้องมีจุดสิ้นสุด และสมมุติฐานของขอบเขตจำกัดมีค่าเท่ากับสมมุติฐานของการเพิ่มหรือลดนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ พระองค์มิได้มีมิติและขอบเขตจำกัด และไม่ทรงเพิ่มหรือลด ไม่อาจจำแนกหรือแบ่งพระองค์ออกเป็นสัดส่วนต่าง ๆ ได้ พระองค์ทรงอยู่เหนือความคิด จินตนาการและทรงดำรงอยู่พ้นญาณวิสัย

ซินดีก : ได้โปรดอธิบายคำว่า พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ทรงอ่อนโยน ทรงได้ยิน ทรงมองเห็น ทรงวิทยปัญญาซิว่าหมายความว่าอย่างไร ? เพราะเราจะรู้สึกถึงความอ่อนโยนได้นั้น จำต้องอาศัยมือเป็นสื่อสัมผัส เราจะได้ยินเสียงหนึ่งได้ จำต้องจำต้องอาศัยหู จะมองเห็นสิ่งหนึ่งได้ จำต้องอาศัยดวงตาเป็นสื่อสัมผัส และเราจะได้รับวิทยปัญญาหรือเต็มไปด้วยความเชี่ยวชาญได้นั้น จำต้องผ่านประสบการณ์ในการประดิษฐ์คิดค้น ถ้าปราศจากสิ่งดังกล่าวแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผู้นั้นจะมีความอ่อนโยน ได้ยิน มองเห็น และมีวิทยปัญญาได้

อิมามริฎอ : นัยและความหมายในสิ่งที่ฉันกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ทรงอ่อนโยนและละเอียดอ่อนก็คือ พระองค์ทรงเต็มไปด้วยความพิถีพิถันในการสร้างสรรค์ทุกสรรพสิ่ง ท่านไม่เคยประสบพบพานบ้างหรอกหรือเมื่อใครก็ตามที่มีอุปนิสัยในการเลือกสรรด้วยความพิถีพิถันก่อนที่เขาจะตัดสินใจซื้อสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไป ผู้คนที่รู้จักมักคุ้นกับเขาจะพากันกล่าวว่าเขาเป็นคนที่ละเอียดอ่อนและพิถีพิถัน แล้วมีอุปสรรคอันใดที่เราไม่สามารถจะนำความหมายดังกล่าวมาใช้กับพระผู้ทรงสรรสร้างสรรพสิ่งที่เต็มไปด้วยความสวยสดงดงามวิจิตรตระการตาเล่า ?

และเมื่อเรากล่าวว่าพระองค์ทรงได้ยิน ความหมายก็คือไม่มีเสียงของสรรพสิ่งใดที่จะซ่อนเร้นไปจากการได้ยินของพระองค์...และพระองค์จะทรงจำแนกทุกถ้อยคำหรือภาษาอย่างถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงเป็นผู้ทรงได้ยิน แต่มิใช่ด้วยสื่อของหูแต่อย่างใด
เมื่อเรากล่าวว่าพระองค์ทรงมองเห็น นัยก็คือพระองค์ทรงเห็นแม้กระทั่งรอยเท้าของมดที่มีขนาดเล็กที่สุดที่เดินบนหินสีดำท่ามกลางความมืดมิดของค่ำคืนข้างแรม พระองค์คือผู้ทรงมองเห็น แต่มิใช่สื่อแห่งดวงตาเฉกเช่นสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสรรสร้างไม่
การสนทนาได้ดำเนินต่อไปอย่างยาวนานจนกระทั่งซินดีกหรือผู้ปฏิเสธพระเจ้าผู้นั้นยอมจำนนและกล่าวปฏิญาณตนเข้ารับอิสลามในที่สุด



4. อิมามริฎอ (อลัยฮิสลาม)กับอบูกุรฺเราะฮฺ
ประเด็นสนทนา :พระเจ้าอยู่ที่ไหน ?

มีชายคนหนึ่งชื่อ “อบูกุรฺเราะฮฺ” ได้มาพบท่านอิมามอะลี ริฎอ เพื่อสนทนาและถามปัญหาต่าง ๆ จากท่าน การสนทนาได้ดำเนินไปอย่างยาวนานจนกระทั่งมาถึงประเด็นเกี่ยวกับเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า (เตาฮีด) เขาได้ถามว่า :-
“พระผู้เป็นเจ้าอยู่ที่ไหน ?”

อิมามริฎอ : คำว่า “ที่ไหน” นั้นเป็นมิติหนึ่งที่มีนัยผูกพันกับสถานที่ และนัยของคำถามทำนองนี้เกี่ยวข้องกับการอยู่หรือไม่อยู่ ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านไปหาเพื่อนที่บ้านของเขา แต่ไม่พบเขา ท่านจะถามสมาชิกในบ้านว่า “เพื่อนของฉันไม่อยู่หรือ ?




การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

เขาไปไหน ?” แต่ในกรณีเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้านั้น พระองค์มิได้มีสภาวะเฉกเช่นตัวอย่างข้างต้นที่เราจะสามารถกล่าวได้ว่าขณะนี้พระองค์ไม่ทรงประทับอยู่ ณ สถานที่หนึ่งสถานที่ใดที่จะทำให้เราไม่สามารถพบพระองค์ได้ (เช่น ถ้ากล่าวว่าพระองค์ทรงประทับบนชั้นฟ้า ดังนั้น บนหน้าแผ่นดินจึงไม่มีพระองค์ !) พระองค์เป็นผู้ทรงสร้างโลก จักรวาล ชั้นฟ้าและแผ่นดิน และทรงเป็นผู้ควบคุมบริหาร ดังนั้น พระองค์จึงทรงดำรงอยู่ทุกหนทุกแห่ง

อบูกุรฺเราะฮฺ : พระผู้เป็นเจ้ามิได้อยู่บนฟากฟ้าหรอกหรือ ?

อิมามริฎอ : “อัลลอฮฺ” คือพระผู้เป็นเจ้าแห่งฟากฟ้าและแผ่นดิน ดังนั้น พระองค์ทรงดำรงและทรงประทับอยู่ทั้งในฟากฟ้าและแผ่นดิน พระองค์คือผู้ทรงบันดาลให้ท่านเป็นรูปร่างอยู่ในครรภ์มารดาของท่าน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน พระองค์จะทรงอยู่กับท่านเสมอ...( ท่านอิมามได้หยิบยกโองการจากคัมภีร์อัลกุรฺอานมาเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงและทรงประทับอยู่ในทุกสถานที่)

อบูกุรฺเราะฮฺ : ในเมื่อพระองค์ทรงดำรงและทรงประทับอยู่ในทุกสถานที่ แล้วเหตุใดทุกครั้งที่วิงวอนขอจากพระองค์ ท่านจึงต้องยกมือขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยเล่า ?

อิมามริฎอ : บนพื้นฐานแห่งวิทยปัญญาของพระผู้เป็นเจ้า (ที่มนุษย์ไม่สามารถจะทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้) นั้น พระองค์ทรงประสงค์ให้ปวงบ่าวเคารพภักดีพระองค์ด้วยวิธีการหรือรูปแบบที่หลากหลาย (นอกจากการตั้งเจตนาด้วยหัวใจที่ใสบริสุทธิ์แล้ว) การเคารพภักดีบางอย่าง อาศัยการพูดหรือสนทนากับพระองค์เพียงเท่านั้น (การเคารพภักดีโดยทางวาจา) บางอย่างต้องแสดงอิริยาบถ (การเคารพภักดีโดยกาย) และบางอย่างจะต้องมุ่งมั่นไปยังสถานที่ที่ถูกบัญชาไว้โดยเฉพาะ เช่น ในขณะนมาซ เราจะต้องผินหน้าไปทางกิบลัต หรือกะอฺบะฮฺ บัยตุลลอฮฺ อัลหะรอม ที่ตั้งอยู่ ณ นครมักกะฮฺ หรือในกรณีการประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺก็เช่นกันที่เราจะต้องเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าวเป็นต้น
“ดุอาอ์” หรือการวิงวอนขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าก็ถือเป็นการเคารพภักดีต่อพระองค์อย่างหนึ่ง พระองค์ทรงประสงค์ให้ปวงบ่าวและสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสรรสร้างทั้งหลายได้สำแดงความเป็นบ่าว ณ เบื้องพระพักตร์ของพระองค์ในขณะที่กำลังวิงวอนขอจากพระองค์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อบ่าวผู้ตระหนักและสำนึกถึงความเป็นผู้ต่ำต้อยด้อยค่าปรารถนาที่จะวิงวอนขอจากผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือ เขาจึงต้องเหยียดมือทั้งสองขึ้นสู่ท้องฟ้าในฐานะของผู้ (ยากไร้ที่) วอนขอ (จากผู้ทรงมั่งมีอย่างเหลือล้น)

อบูกุรฺเราะฮฺ : ถ้าเช่นนั้น ในระหว่างมวลมลาอิกะฮฺ (ทูตสวรรค์ = Angels) กับชาวดิน (สรรพสิ่งที่อาศัยอยู่บนพื้นโลก) ใครจะมีความใกล้ชิดกับพระองค์มากกว่ากัน ?

อิมามริฎอ : ถ้ามิติหรือนัยของคำว่า “ใกล้ชิด” ของท่านหมายถึงระยะทางที่คิดคำนวณเป็นคืบศอกแล้วละก้อ เราไม่สามารถที่จะวาดมโนภาพของมิติแห่งความใกล้ชิดระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับสรรพสิ่งต่าง ๆ ได้ และกล่าวโดยรวมแล้ว ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นผลงานการสรรสร้างของพระองค์ทั้งสิ้น และการที่พระองค์ทรงบริหารจัดการในกิจการหนึ่ง จึงไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางที่จะทำให้พระองค์ไม่สามารถควบคุมบริหารกิจการอื่น ๆ แต่อย่างใด ในขณะที่พระองค์ทรงควบคุมบริหารกับสรรพสิ่งถูกสร้างที่อยู่ในชั้นสูงสุดนั้น พระองค์ก็ทรงบริหารจัดการกับสิ่งถูกสรรสร้างที่อยู่ในชั้นต่ำสุดในเวลาเดียวกันด้วย ในทำนองเดียวกัน ขณะที่พระองค์ทรงควบคุมบริหารกับบรรดาสรรพสิ่งที่ถูกสรรสร้างครั้งแรก พระองค์ก็สามารถที่จะควบคุมบริหารกับสรรพสิ่งที่ถูกสรรสร้างล่าสุดด้วย ทั้งนี้ โดยมิได้มีอุปสรรคหรือสร้างความยุ่งยากลำบากแก่พระองค์แต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่เมื่อเทียบกับภารกิจที่เราประสบพบพานในชีวิตประจำวันแล้ว ภารกิจดังกล่าวของพระองค์จะเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน (ที่สรรพสิ่งถูกสร้างทั้งหลายไม่สามารถแบกรับมันได้) นอกจากนี้ ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่พระองค์จะต้องอาศัยงบประมาณ ต้องผ่านการปรึกษาหารือ ยิ่งไปกว่านั้น ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็ไม่อาจจะแผ้วพานพระองค์ได้

แต่มาตรว่ามิติของคำว่า “ใกล้ชิดกับพระเจ้า” ของท่านหมายถึง “ความใกล้ชิดทางจิตวิญญาณ” แล้วไซร้ ผู้ที่ยอมจำนนและเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และคำบัญชาของพระองค์มากกว่า (ไม่ว่ามลาอิกะฮฺหรือมนุษย์ก็ตาม) เขาจะเป็นผู้ที่มีสิทธิได้อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์มากกว่า

อบูกุรฺเราะฮฺ : ท่านยอมรับไหมว่ามีผู้ที่แบกพระผู้เป็นเจ้าเอาไว้ ?

อิมามริฎอ : เป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งที่ถูกแบกหามนั้น จะต้องอาศัยผู้ที่แบก ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิงที่พระผู้เป็นเจ้าจะมีความต้องการผู้ที่แบกพระองค์

อบูกุรฺเราะฮฺ : ถ้าเช่นนั้น เท่ากับท่านปฏิเสธหะดีษที่กล่าวว่า “เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของความโกรธกริ้วของพระผู้เป็นเจ้าก็คือ การที่มวลมลาอิกะฮฺผู้มีภารกิจแบกบัลลังก์อันหนักอึ้งไว้บนบ่า และต้องสัจญ์ดะฮฺกราบไหว้พระองค์ และบัลลังก์จะเบาลงภายหลังจากความกริ้วโกรธของพระองค์ได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากนั้น พวกเขาจะกลับไปยังสถานที่ของพวกเขา ?

อิมามริฎอ : นับตั้งแต่วันที่อัลลอฮฺทรงอัปเปหิซาตานมารร้ายออกไปจากสวนสวรรค์ของพระองค์จนถึงทุกวันนี้และตลอดไปจนถึงวันกิยามะฮฺนั้น ท่านเข้าใจว่าพระองค์ทรงพิโรธโกรธกริ้ว หรือว่าทรงพึงพอพระทัยมัน ?

อบูกุรฺเราฮฺ : พระองค์ทรงโกรธกริ้วมัน

อิมามริฎอ : ถ้าเช่นนั้น อัลลอฮฺไม่ทรงโกรธกริ้วตั้งแต่เมื่อไหร่จนต้องทำให้บัลลังก์ของพระองค์เบาลง ?
หลังจากนั้นท่านอิมามได้กล่าวต่อไปว่า ท่านเป็นอะไรไปเสียแล้วที่กล้าบังอาจบิดเบือนให้ร้ายต่อพระผู้เป็นเจ้าของท่านเอง และยังนำพระองค์ไปเปรียบเทียบกับสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสรรสร้างมันมา ?
มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ พระองค์จะไม่ทรงเสื่อมเสียเฉกเช่นสรรพสิ่งทั้งหลายที่ต้องประสบกับความเสื่อม

และพระองค์จะไม่ทรงแปรเปลี่ยนเฉกเช่นสรรพสิ่งทั้งหลายที่จะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลง
เมื่ออบูกุรฺเราะฮฺตระหนักว่าเขาไม่สามารถที่จะนำหลักฐานใด ๆ ขึ้นมาโต้แย้งท่านอิมามริฎอได้ เขาจึงต้องกลับไปในที่สุด



5. อิมามอะลีกับปุโรหิตยิว
ประเด็นสนทนา :พระเจ้าอยู่ที่ไหน ?

ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ วันหนึ่งได้มีปุโรหิต หรือนักปราชญ์ผู้คงแก่เรียนชาวยิวคนหนึ่งมาหาเขา และได้ถามเขาว่า :-
“ท่านคือเคาะลีฟะฮฺของศาสนทูตแห่งอิสลามใช่ไหม ?

อบูบักรฺ : ใช่

ปุโรหิตยิว : ในคัมภีร์เตารอตของเราได้ระบุเอาไว้ว่า เคาะลีฟะฮฺหรือตัวแทนของศาสนทูตทั้งหลายจะต้องมีความรู้เหนือกว่าสาวกทั้งหมด ดังนั้น ท่านจะสามารถตอบฉันได้ไหมว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงประทับอยู่บนฟากฟ้าหรือแผ่นดิน ?

อบูบักรฺ : พระองค์ทรงประทับอยู่บนฟากฟ้าเหนือบัลลังก์ของพระองค์

ปุโรหิตยิว :- ถ้าเช่นนั้น แผ่นดินจะต้องว่างเว้นจากพระองค์ และเมื่อพระเจ้าทรงประทับอยู่ ณ สถานที่หนึ่งแล้ว สถานที่อื่นจะต้องว่างเว้นจากการมีอยู่ของพระองค์ใช่ไหม ?

อบูบักรฺ :- นี่เป็นคำถามของพวกที่ไม่มีศาสนา ผู้มีศาสนาจะไม่กล่าวออกมาเช่นนี้อย่างแน่นอน ดังนั้น เจ้าจงออกไปให้ไกลจากที่นี่ซะ มิฉะนั้น ฉันอาจจะฆ่าเจ้าได้

นักปราชญ์ยะฮูดีย์ผู้นั้นเดินออกมาด้วยความรู้สึกหดหู่ ฉงนสนเท่ห์ระคนผิดหวัง พร้อมกับรู้สึกเย้ยหยันอิสลามไปในทีด้วย แต่ในระหว่างทางนั้นเอง เขาได้พบกับอะลี : และโดยที่เขายังมิได้กล่าวคำใด ๆ ออกมา ท่านอิมามอะลี : ได้กล่าวกับเขาขึ้นว่า :-
“ฉันทราบดีว่าท่านได้ไปพบกับท่านอบูบักรฺ และได้ถามอะไรเขาไปบ้าง และเขาได้ตอบท่านอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ขอให้ท่านโปรดรับรู้เถิดว่า เรามีความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ทรงสรรสร้างสถานที่ (รวมตลอดถึงสรรพสิ่งทั้งหลาย) ดังนั้น พระองค์จึงไม่มีความจำเป็นในสิ่งดังกล่าว และที่เหนือไปกว่านั้น ทุกหนทุกแห่งต่างร่ำร้องเรียกหาพระองค์ เพียงแต่เราจะต้องเข้าใจไว้ด้วยว่า แท้จริง พระผู้เป็นเจ้าทรงประทับและทรงดำรงอยู่ในทุกสถานที่โดยปราศจากการพึ่งพิงไปยังสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น หรือการพำนักพักพิงของพระองค์ไม่จำต้องอาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดเคียงข้างเฉกเช่นมิติหรือสถานะของสรรพสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย พระองค์ทรงอยู่เหนือสภาวการณ์ของสถานที่ ในขณะที่ไม่มีสรรพสิ่งใดที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมบริหารของพระองค์

หลังจากนั้น ท่านอิมามอะลี : ได้ถามเขาว่า “มาตรว่าฉันสามารถพิสูจน์ถึงสารธรรมคำสอนจากคัมภีร์ของท่านอย่างถูกต้องแม่นยำแล้วไซร้ ท่านจะยอมจำนนต่อสัจธรรมอิสลามไหม ?

ปุโรหิตยิว :- ตกลง

อิมามอะลี : ในคัมภีร์เล่มหนึ่งของท่านได้กล่าวไว้เช่นนี้ใช่ไหมว่า “วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านศาสดามูซา บุตรของอิมรอน กำลังนั่งอยู่นั้น ได้มีมลาอิกะฮฺจากทางทิศตะวันออกมาหาเขา เขาจึงถามมลาอิกะฮฺตนนั้นว่า “ท่านมาจากไหน ?” มลาอิกะฮฺได้ตอบว่า “ฉันมาจากอัลลอฮฺ”

หลังจากนั้น มีมลาอิกะฮฺอีกตนหนึ่งมาจากทิศตะวันตกได้มาหาท่านอีก ท่านศาสดามูซา : ได้ถามว่า “ท่านมาจากไหน ?” คำตอบของเขาก็คือ “ฉันมาจากอัลลอฮฺ”

หลังจากนั้น มลาอิกะฮฺอีกตนหนึ่งได้มาหาท่านอีก และท่านศาสดามูซาก็ได้ถามเขาว่า “ท่านมาจากไหน ?” เขาได้ตอบว่า “ฉันมาจากแผ่นดินชั้นที่เจ็ด และมาจากอัลลอฮฺ”

คำตอบของมลาอิกะฮฺทั้งสามได้สร้างความมหัศจรรย์ใจแก่ท่านศาสดามูซา : ยิ่งนัก ทำให้ท่านกล่าวขึ้นว่า “มหาบริสุทธิ์ยิ่งนัก พระผู้เป็นเจ้าผู้ซึ่งไม่มีสถานที่ใดที่ว่างเว้นไปจากพระองค์ และไม่มีสถานที่ใดที่ไม่มีพระองค์ (พระองค์ทรงดำรงอยู่ในทุกสถานที่)”

หลังจากท่านอิมามอะลีกล่าวจบ ปุโรหิตชาวยิวผู้นั้นจึงกล่าวขึ้นว่า :-
“ฉันขอปฏิญาณว่าสิ่งที่ท่านกล่าวมาทั้งหมดนั้นถูกต้องสอดคล้องกับคัมภีร์ของเรา
และแท้จริง ท่านคือผู้ที่มีฐานภาพคู่ควรต่อตำแหน่งตัวแทนของศาสนทูตของท่าน” (อิหฺติญาจญ์ เฏาะบัรฺซีย์ เล่ม 2 หน้า 313)

เหตุการณ์ที่ละม้ายคล้ายคลึงกันนี้
อนัส อิบนุมาลิก รายงานว่า “ภายหลังจากการอสัญกรรมของท่านศาสนทูตแห่งอิสลาม (ขออัลลอฮฺทรงประสาทพรแด่ท่านและวงศ์วานผู้บริสุทธิ์ของท่าน)แล้ว ได้มีชาวยิวคนหนึ่งเดินทางมายังนครมะดีนะฮฺเพื่อแสวงหาความจริงเกี่ยวกับอิสลาม เมื่อเดินทางไปถึงที่นั่น เขาได้แจ้งความประสงค์ถึงการเดินทางมาในครั้งนี้ว่าเขาปรารถนาที่จะพบกับบุคคลที่สามารถชี้นำและให้คำตอบเกี่ยวกับอิสลามแก่เขาได้ดีที่สุด ซึ่งชาวเมืองมะดีนะฮฺได้แนะนำให้เขาไปพบกับท่านอบูบักรฺ

เมื่อได้เข้าพบท่านอบูบักรฺ เขาจึงกล่าวขึ้นว่า “ฉันมีคำถามและข้อสงสัยที่จะไต่ถามมากมาย ซึ่งไม่มีใครที่จะสามารถตอบข้อสงสัยเหล่านี้ได้ นอกจากผู้เป็นศาสดาของท่าน และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนของเขาเท่านั้น”

อบูบักรฺ :ขอให้ท่านถามมาได้เลย

ชาวยิว :“อะไรบ้างที่พระเจ้าไม่มี ?” (อัลลอฮฺไม่ทรงมีอะไร ?)
“อะไรบ้างที่ไม่มีอยู่ ณ พระเจ้า ?” (ณ อัลลอฮฺ ไม่มีอะไร ?)
“อะไรบ้างที่พระเจ้าไม่ทรงรู้ ?” (อัลลอฮฺไม่ทรงรู้อะไร ?)

คำถามดังกล่าวได้สร้างความขุ่นเคืองให้กับอบูบักรฺขึ้นมาทันที พร้อมกันนั้น เขาได้กล่าวขึ้นว่า “นี่เป็นคำถามของพวกที่ไม่มีศาสนา” พร้อมกับตัดสินใจที่จะสั่งให้ประหารชีวิตชาวยิวผู้นั้น ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของผู้ที่อยู่ในสถานที่แห่งนั้น

ท่านอิบนุอับบาสซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วยจึงได้กล่าวคัดค้านขึ้นว่า “เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมสำหรับเขา”

อบูบักรฺ :“ท่านไม่ได้ยินหรือว่าเขาพูดอะไรออกมา ?”

อิบนุอับบาส “ขอให้ท่านตอบคำถามไปตามความรู้ความสามารถของท่านเถิด หรือมิฉะนั้น ก็โปรดนำเขาไปพบกับอะลี : เพื่อที่อะลีจะได้ขจัดข้อสงสัยให้กับเขา เพราะฉันเคยได้ยินท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ขออัลลอฮฺทรงประสาทพรแด่ท่านและวงศ์วานผู้บริสุทธิ์ของท่าน) เคยกล่าวเกี่ยวกับอะลี อิบนุอบีฏอลิบ : ว่า :-“โอ้ อัลลอฮฺ โปรดชี้นำดวงใจของเขา และทรงทำให้ลิ้นของเขายืนหยัดอย่างมั่นคง (บนหนทางแห่งสัจธรรม) ด้วยเทอญ”

อบูบักรฺและผู้ที่อยู่ ณ สถานที่แห่งนั้นจึงได้พร้อมใจเดินทางไปพบท่านอิมามอะลี :

เมื่อไปถึง อบูบักรฺจึงกล่าวกับท่านอิมามอะลี ว่า :-
“โอ้ อบัลหะสัน คำถามของยะฮูดีย์ผู้นี้เหมือนกับพวกซินดีก (พวกปฏิเสธพระเจ้า) หรือพวกที่ไม่มีศาสนา”

อิมามอะลี : จึงได้หันไปถามชาวยิวผู้นั้นว่า “ท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยอะไรหรือ ?”

ยะฮูดีย์ : “ข้อสงสัยของฉันไม่มีใครสามารถจะขจัดมันได้ นอกจากศาสดาและผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของเขาเท่านั้น”

อิมามอะลี : “ถ้าเช่นนั้น โปรดถามมาเถิด”

ยะฮูดีย์ผู้นั้นจึงได้ทวนคำถามที่เคยถามท่านอบูบักรฺ

อิมามอะลี :“สิ่งที่อัลลอฮฺไม่ทรงรู้ก็คือ สิ่งที่พวกท่านชาวยะฮูดีย์ทั้งหลายพากันกล่าวว่า “อุซัยร์” เป็นบุตรชายของพระองค์” อัลลอฮฺไม่ทรงรับรู้ว่าพระองค์ทรงมีบุตร”
“และสิ่งที่ไม่มีอยู่ ณ อัลลอฮฺ ก็คือความอยุติธรรมและความฉ้อฉล ซึ่งคุณลักษณะเช่นนี้จะไม่ปรากฏอยู่ในพระองค์อย่างสิ้นเชิง”
“และสิ่งที่อัลลอฮฺไม่ทรงมี ก็คือ ภาคี เพราะพระองค์คือผู้ทรงดำรงอยู่อย่างเอกะปราศจากภาคีใด ๆ ทั้งสิ้น”

ภายหลังจากที่ยะฮูดีย์ผู้นั้นได้รับฟังคำตอบทั้งสามแล้ว เขาจึงได้กล่าวคำปฏิญาณตน (ชะฮาดะตัยน์) เข้ารับอิสลามทันที ในขณะเดียวกัน อบูบักรฺและผู้ที่อยู่ ณ สถานที่แห่งนั้นต่างเห็นพ้องต้องกันให้ตั้งฉาญานามอิมามอะลี : ว่า :-
“ผู้ขจัดความวิตกกังวล”

6. อิมามศอดิกกับพวกลัทธิวัตถุนิยม
ประเด็นสนทนา :ปรัชญาและวิชาการ

นักปราชญ์แนววัตถุนิยมและปฏิเสธสิ่งพ้นญาณวิสัยคนหนึ่งได้ไปพบท่านอิมามศอดิก : และได้หยิบยกประเด็นต่าง ๆ ขึ้นมาสนทนากับท่านอย่างมากมาย ซึ่ง ณ ที่นี้ เราจะขอหยิบยกมานำเสนอเพียงบางส่วนเท่านั้น

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- “ผู้คนเหล่านี้เคารพภักดีพระเจ้าที่พวกเขาไม่สามารถมองเห็นกันได้อย่างไร ?”

อิมามศอดิก :- “ดวงใจที่ใสสว่างด้วยรัศมีแห่งศรัทธา จะสามารถมองเห็นพระองค์”
“ปัญญาที่ตื่นตลอดเวลา จะสามารถพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระองค์ ประหนึ่งดวงตาที่มองเห็นพระองค์กระนั้น”
“ยิ่งไปกว่านั้น ดวงตาที่มองเห็นระบบแห่งการสรรสร้างที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อนพิถีพิถันของโลกและจักรวาลจะ (ใคร่ครวญจนกระทั่ง) สามารถมองเห็นพระองค์”
“นอกจากนี้ บรรดาศาสดาที่ถูกประทานมาพร้อมกับเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แห่งการเป็นศาสนทูตของพระองค์ และคัมภีร์แห่งฟากฟ้าที่เต็มไปด้วยสารธรรมคำสอนอันลึกซึ้งตรึงใจ ถือเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า”

“เพียงแค่ปวงปราชญ์ ปัญญาชน และผู้มีสติปัญญาทั้งหลายได้คิดใคร่ครวญถึงผลงานแห่งการสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ของพระองค์ พวกเขาจะต้องยอมจำนนถึงการมีอยู่ของพระองค์ โดยไม่จำเป็นต้องมองเห็นพระองค์”

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- “พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงเดชานุภาพที่จะสำแดงอาตมันของพระองค์ให้มนุษย์ได้ประจักษ์ เพื่อพวกเขาจะได้มองเห็นและรู้จักพระองค์ ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้พวกเขาเคารพภักดีพระองค์จากผลแห่งความศรัทธาและเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมนั้นหรืออย่างไร ?”

อิมามศอดิก :- “เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (มะหาล) และสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ย่อมไม่มีคำตอบแต่อย่างใด” ( ปรากฏการณ์หรือสิ่ง ๆ หนึ่งจะอุบัติขึ้นมาได้ จะต้องอาศัยองค์ประกอบและเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก สิ่งนั้นจะต้องมีความเป็นไปได้หรือมีศักยภาพที่จะบังเกิดขึ้นมา ประการที่สอง อำนาจที่สามารถทำให้สิ่งนั้นบังเกิดขึ้นมาได้จะต้องควบคู่กับศักยภาพ ดังนั้น การมีอยู่ของอำนาจที่ปราศจากศักยภาพที่จะทำให้สิ่งหนึ่งบังเกิดขึ้นมา ย่อมไม่มีผลที่จะทำให้ปรากฏการณ์อุบัติขึ้นมาได้ ดังนั้น สิ่งที่สติปัญญาไม่อาจจะยอมรับได้ถึงการบังเกิดขึ้นมาของสิ่งนั้น สาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากมันไม่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ที่จะบังเกิดขึ้นมา หาใช่ว่าพระผู้เป็นเจ้ามิทรงมีเดชานุภาพแต่อย่างใดไม่)

ตำแหน่งศาสดา
นักลัทธิวัตถุนิยม :- “ท่านจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงประทานศาสดาและศาสนทูตของพระองค์ลงมา ?”

อิมามศอดิก :- ด้วยกับข้อพิสูจน์ที่เป็นหลักตรรกะเบื้องต้นดังต่อไปนี้คือ :-
ก. จะต้องมีผู้สร้างทั้งมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลาย และผู้สร้างจะต้องเป็นผู้ที่มีพลังอำนาจและเดชานุภาพอย่างแท้จริง
ข. ผู้ที่สร้างโลกและจักรวาลจะต้องเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งวิทยญาณ พระองค์จะไม่ทรงปฏิบัติภารกิจใด ๆ ที่เหลวไหลและไร้สาระ
ค. ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มนุษย์ทั้งหมดติดต่อเพื่อขอรับคัมภีร์ที่เป็นธรรมนูญสูงสุดจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตให้เกิดความสันติสุขอย่างแท้จริงได้

ด้วยหลักตรรกะข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าจะต้องเลือกสรรศาสนทูตเพื่อทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนและชี้นำประชาชนให้บรรลุสู่ความสูงส่งและสมบูรณ์ เพราะมิฉะนั้นแล้ว เป้าหมายและเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการสรรสร้างมนุษย์ของพระองค์จะประสบกับความล้มเหลว และการสรรสร้างของพระองค์ก็จะกลายเป็นสิ่งเหลวไหลและไร้สาระ”

ความเสื่อมสลายของวัตถุ
พวกลัทธิวัตถุนิยม :- สรรพสิ่งทั้งหลายถูกสร้างจากอะไร ?

อิมามศอดิก :- ทุกสรรพสิ่งถูกสร้างขึ้นมาจากความเป็นศูนย์ พระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายจากที่ไม่เคยมีมาก่อน

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- เป็นไปได้อย่างไรกันที่สรรพสิ่งทั้งหลายจะถือกำเนิดขึ้นมาจากความเป็นศูนย์หรือไม่เคยมีมาก่อน ?

อิมามศอดิก :- สรรพสิ่งที่ปรากฏอยู่บนโลกนี้จะไม่ออกนอกเหนือไปจากข้อสันนิษฐาน 2 ประการต่อไปนี้
1. สรรพสิ่งทั้งหลายบังเกิดขึ้นมาจากสสารหรือวัตถุหนึ่งซึ่งมีมาตั้งแต่ดั้งเดิม หรือ
2. สรรพสิ่งทั้งหลายเพิ่งจะบังเกิดขึ้นภายหลังจากที่โลกได้ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว

สันนิษฐานแรกนั้น ไม่อาจเป็นไปได้ด้วยเหตุผลและข้อพิสูจน์ 3 ประการต่อไปนี้คือ
1. มาตรว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้มีมาแต่ดั้งเดิมและจะดำรงอยู่อย่างจีรังยั่งยืนโดยไม่เสื่อมสลายแล้วไซร้ ย่อมขัดแย้งกับความเป็นสิ่งที่ถูกถือกำเนิดขึ้นมาอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนั้น ทุกสรรพสิ่งยังต้องการผู้สร้างหรือผู้ให้กำเนิด (สาเหตุหรืออิลละฮฺ) ที่เป็น “วาญิบุลวุญูด” (สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีและดำรงอยู่ หรืออัตภาวะ ซึ่งในที่นี้หมายถึงพระผู้เป็นเจ้า) ผู้ทรงดำรงอยู่ด้วยอาตมัน (ซาต) ของพระองค์เอง และความสูญสลายไม่อาจจะแผ้วพานพระองค์ได้

2. วัตถุธาตุหรือสรรพสิ่งทั้งหลายมิใช่อื่นใด นอกจาก “สสาร” (เญาฮัรฺ หรือ Substance) และไม่มากไปกว่าหนึ่งสี ดังนั้น รูปลักษณ์และสีสันอันหลากหลายเหลือคณานับที่ปรากฏอยู่บนโลกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ? (ผู้ที่สนใจจะศึกษาเพิ่มเติม สามารถค้นหาได้จากหนังสือ “ปรัชญาของเรา” (ฟัลสะฟะตุนา) ในหัวข้อ “วัตถุธาตุที่อยู่ภายใต้กรอบของฟิสิกส์” ตั้งแต่หน้า 542 – 555)

3. มาตรว่าสสารหรือสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงคงอยู่เคียงคู่กับโลกนี้มาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้วไซร้ เหตุใดความตายหรือความเสื่อมสลายจึงสามารถแผ้วพานมันได้ แต่มาตรว่าโดยสารัตถะ สรรพสิ่งทั้งหลายมิได้มีชีวิตดำรงอยู่คู่กับโลกตั้งแต่ดั้งเดิมแล้วไซร้ ชีวิตจะจุติหรือถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
และมาตรว่าสิ่งมีชีวิตบังเกิดมาจากองค์ประกอบที่มีชีวิต ส่วนสิ่งไม่มีชีวิตถือกำเนิดขึ้นมาจากองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต กรณีเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งที่ไม่อาจมีชีวิตด้วยตัวของมันเอง จะสามารถมีมาตั้งแต่ดั้งเดิมได้อย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งที่ไร้ชีวิตและจิตวิญญาณไม่อาจดำรงคงอยู่ได้ และจะต้องประสบกับความสูญสลายอย่างแน่นอน (และความหมายข้างต้นขัดแย้งกับนัยของคำว่า “มีมาแต่ดั้งเดิม” กล่าวคือ การดำรงอยู่กับการไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้ให้กำเนิด (อิลละฮฺ) เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง) (โปรดคิดใคร่ครวญและตริตรอง)

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- มาตรว่าคำอธิบายของท่านเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วไซร้ เหตุใดจึงกล่าวกันว่าสรรพสิ่งที่มีอยู่บนโลกนี้จะต้องมีวันสูญสลาย ?

อิมามศอดิก :- นั่นเป็นความเชื่อของกลุ่มชนที่ปฏิเสธว่าไม่มีผู้ที่คอยควบคุมบริหารโลกและจักรวาล และปฏิเสธบรรดาศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าต่างหากเล่า ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังถือว่าคัมภีร์ที่พระองค์ทรงประทานมายังศาสนทูตทั้งหลายนั้นเป็นเพียงนิทานปรัมปราที่เล่าขานสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล และศาสนทูตเหล่านั้นได้เสกสรรปั้นแต่งศาสนาขึ้นมาตามอำเภอใจของตนเองต่างหาก

ในขณะที่สรรพสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏบนโลกนี้ล้วนถือเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงการถูกบังเกิดขึ้นมาทั้งสิ้น การหมุนของโลกก็ดี กาลเวลาที่ผันเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามครรลองของมันก็ดี ฤดูกาลที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในรอบปีก็ดี ตลอดจนปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ เช่นปริมาณที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง (เช่น ปรากฏการณ์น้ำขึ้น – น้ำลง เป็นต้น) ความตาย ความสูญสลาย นอกจากนี้ จิตใต้สำนึกของมนุษย์เองที่ยอมจำนนว่าไม่มีใครสามารถลิขิตชีวิตของตนเองได้ สิ่งดังกล่าวข้างต้น ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าโลกใบนี้จะต้องถูกบังเกิดขึ้นมา และยังถือเป็นหลักฐานด้วยว่าจะต้องมีพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างอย่างแน่นอน

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- ถ้าเช่นนั้น ก่อนที่จะสร้างโลกนี้ขึ้นมา ผู้สร้างมีความรอบรู้ในสิ่งที่จะสร้างกระนั้นหรือ ?

อิมามศอดิก :- แน่นอน พระผู้เป็นเจ้าทรงรอบรู้ตั้งแต่ดั้งเดิม พระองค์จะทรงสร้างทุกสรรพสิ่งจากความรอบรู้อย่างอสงไขยของพระองค์

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- พระผู้เป็นเจ้ามีเรือนร่างและอวัยวะที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ?

อิมามศอดิก :- คำถามหรือโจทย์ในทำนองนี้ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เนื่องจากโดยสารัตถะแล้ว คำว่าความแตกต่างหรือความเหมือนในพระผู้เป็นเจ้านั้นไม่ปรากฏอยู่ในพระองค์ เพราะคำถามเกี่ยวกับความเหมือนหรือความต่างในด้านเรือนร่างและอวัยวะนั้นจะใช้ในกรณีของสรรพสิ่งที่มีคุณลักษณะเป็นส่วนสัดเท่านั้น เช่นคำถามที่ว่า “เรือนร่างหรืออวัยวะของสิ่งนั้นกับสิ่งนี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกันหรือแตกต่างกัน ?”

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- ถ้าเช่นนั้น นัยของคำว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ทรงเอกะหมายความว่าอย่างไร ?

อิมามศอดิก :- นัยของคำว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงเอกะ” หมายถึงอาตมันของพระองค์ทรงเอกะเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ ในขณะที่สรรพสิ่งทั้งหลายที่ท่านจินตนาการนั้น ล้วนประกอบไปด้วยเรือนร่างและอวัยวะทั้งสิ้น นอกจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะเท่านั้นที่ไม่มีจินตนาการใด ๆ ที่จะสามารถจำแนกพระองค์ออกเป็นเรือนร่างและอวัยวะได้อย่างสิ้นเชิง

ปรัชญาแห่งการสร้างสรรค์
พวกลัทธิวัตถุนิยม :- เมื่อพิจารณาถึงนัยของคำว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงพึ่งพาอาศัยสรรพสิ่งใด ๆ เพื่อให้พระองค์ได้บังเกิดขึ้นมา นอกจากนั้น พระองค์มิได้อยู่ภายใต้อิทธิพลและการบีบบังคับใด ๆ และพระองค์ไม่ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายโดยไร้เป้าหมาย ไร้ทิศทาง ถ้าเช่นนั้น อะไรคือปรัชญาแห่งการสรรสร้างของพระองค์ ?

อิมามศอดิก :- พระองค์ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งขึ้นมาเพื่อที่จะสำแดงให้เป็นที่ประจักษ์ถึงเดชานุภาพ วิทยปัญญา และความรอบรู้ที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อนของพระองค์ และเพื่อที่จะทรงควบคุมบริหารให้เป็นไปตามครรลองแห่งระบบของพระองค์




การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

ปรัชญาของการมีปรโลก
พวกลัทธิวัตถุนิยม :- เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าจึงไม่กำหนดให้โลกนี้เป็นสถานที่ตอบแทนรางวัลแห่งกรรมดีและกรรมชั่ว ? เหตุใดพระองค์จึงต้องรอตัดสินพิพากษาผู้ประพฤติดีและชั่วในโลกหน้าด้วย ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- พระองค์ทรงกำหนดให้โลกนี้เป็นแค่เพียงสนามแห่งการทดสอบ เป็นสถานที่แสวงหาและตักตวงผลกำไรแห่งความดีงามเพื่อก้าวไปสู่ความสูงส่งและความสมบูรณ์ และเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดและความโปรดปรานจากพระองค์

พระองค์ทรงบันดาลให้โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าพิสมัยและน่ารังเกียจ ทั้งนี้ เพื่อพระองค์จะทรงทดสอบว่ามีใครบ้างที่สามารถก้าวไปสู่ความสมบูรณ์และความสูงส่งในสนามแห่งการทดสอบของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงจำแนกระหว่างสนามทดสอบของโลกนี้ กับสนามแห่งการรับรางวัลตอบแทนในผลกรรมที่แต่ละคนได้กระทำไว้ในโลกหน้า

ปรัชญาของการสร้างซาตานมารร้าย
พวกลัทธิวัตถุนิยม :- การที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างศัตรูของพระองค์ขึ้นมาบนหน้าแผ่นดิน จะถือว่าพระองค์ทรงมีวิทยปัญญากระนั้นหรือ ?
ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงดำรงตั้งแต่ดั้งเดิมโดยไม่เคยมีศัตรูมาก่อน แต่หลังจากนั้น (ตามทัศนะและความเชื่อของท่าน) พระองค์กลับสร้างซาตานมารร้ายขึ้นมาเพื่อให้มีอิทธิพลล่อลวงปวงบ่าวผู้ไม่ยอมเชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์ให้หลงออกจากแนวทางแห่งสัจธรรม โดยซาตานมารร้ายสามารถใช้เล่ห์เพทุบายสารพัดเพื่อกระซิบกระซาบปวงบ่าวของพระองค์ให้เคลือบแคลงสงสัยในความเป็นพระผู้อภิบาลของพระองค์ จนเป็นเหตุให้คนกลุ่มหนึ่งต้องปฏิเสธและตั้งตนเป็นศัตรูกับพระองค์ และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ศรัทธาและเชื่อฟังพระองค์ ?

มาตรว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงวิทยปัญญาอย่างแท้จริงดังที่ท่านกล่าวอ้างแล้วไซร้ เหตุใดพระองค์จึงสร้างศัตรูขึ้นมาให้มีอิทธิพลเหนือปวงบ่าวของพระองค์ และเปิดโอกาสให้พวกมันล่อลวงปวงบ่าวของพระองค์ให้หลงไปจากวิถีทางที่เที่ยงธรรม ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- ศัตรูที่ท่านกล่าวถึงไม่สามารถที่จะสร้างภยันตรายต่อพระองค์ได้ และในทางกลับกัน ความเป็นมิตรสนิทของมันก็มิได้สร้างคุณประโยชน์ใด ๆ แก่พระองค์เช่นกัน ?

มนุษย์จะเกรงกลัวศัตรูก็ต่อเมื่อมันสามารถสร้างพิษภัยและความเสียหาย หรือในทางกลับกัน ศัตรูผู้นั้นต้องสามารถสร้างคุณูปการแก่เราเท่านั้น ถ้าศัตรูมีเจตนาที่จะยึดทรัพย์สินไปจากเรา เขาสามารถที่จะใช้อิทธิพลบังคับขู่เข็ญจากเราได้ หรือในกรณีที่เขาต้องการจะทำลายล้างอำนาจฝ่ายตรงข้าม เขาสามารถจะจัดการได้อย่างฉับพลันทันที

แต่สำหรับซาตานมารร้ายผู้เป็นบ่าวที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะให้เคารพภักดีพระองค์เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ทรงตระหนักดีถึงธาตุแท้และพฤติกรรมในอนาคตของมันนับตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงเริ่มสร้าง และภายหลังจากวันที่ถูกสร้าง ทั้งซาตานมารร้ายและทูตสวรรค์ของพระองค์ต่างทุ่มเทให้การเคารพภักดีพระองค์เป็นระยะเวลายาวนานตราบจนกระทั่งพระองค์ประสงค์จะทดสอบด้วยการบัญชาให้ทั้งสองเทิดเกียรติและฐานภาพต่ออาดัม ( นัยของคำว่า “การทดสอบของพระผู้เป็นเจ้า” ณ ที่นี้หมายถึงเพื่อให้ปวงบ่าวของพระองค์ตระเตรียมความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่ความเป็นบ่าวที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง)

แต่ด้วยความอิจฉาริษยา ความหยิ่งผยองมักใหญ่ใฝ่สูงนั่นเองที่ทำให้ซาตานมารร้ายกล้าฝ่าฝืนต่อคำบัญชาของพระองค์ จนในที่สุดมันต้องถูกอัปเปหิและถูกสาปแช่งจากพระองค์ ด้วยเหตุนี้เองที่ได้สร้างความเคียดแค้นชิงชังและอาฆาตพยาบาทต่ออาดัมและลูกหลานของท่านอย่างฝังลึกอยู่ในกมลสันดานของมัน และมันยังได้ปวารณาว่าจะขอเป็นศัตรูคู่ปรปักษ์กับพวกเขาตลอดไป
อย่างไรก็ตาม มันจะไม่สามารถมีอิทธิพลเหนือลูกหลานศาสดาอาดัมได้ นอกจากการกระซิบกระซาบและล่อลวงพวกเขาให้หลงไปจากหนทางที่เที่ยงธรรมเท่านั้น (“และ (ในปรโลก) เมื่อกิจการได้ถูกตัดสินพิพากษาแล้ว ซาตานมารร้ายจะกล่าวว่า แท้จริง อัลลอฮฺได้ทรงสัญญาที่เป็นสัจจะกับพวกท่าน (ว่าจะตอบแทนรางวัลแก่ผู้จงรักภักดี และจะลงทัณฑ์ผู้ฝ่าฝืน) และฉันก็ได้สัญญากับพวกท่าน (เช่นกัน) แต่ฉันได้บิดพลิ้วสัญญากับพวกท่าน และฉันมิได้มีอำนาจอิทธิพลใด ๆ เหนือพวกท่าน นอกจาก การเรียกร้อง (หลอกลวง) พวกท่าน แล้วพวกท่าน (บางส่วน) ได้ตอบสนองตอบคำเรียกร้องของฉัน” (คัมภีร์อัลกุรฺอาน บทอิบรอฮีม 14 : 22)
“และซาตานมารร้ายมิได้มีอำนาจอิทธิพลใด ๆ (ที่จะล่อลวง) พวกเขา เว้นแต่เพื่อเราจะได้ประจักษ์ว่ามีผู้ใดที่ศรัทธาต่อปรโลกจากหมู่ผู้ที่มีความสงสัยในเรื่องนั้น” (คัมภีร์อัลกุรฺอาน บทอัสสะบะอ์ 34 : 21)

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าจึงมีความลำเอียงในการสร้างสรรค์ด้วยการเทิดเกียรติชนกลุ่มหนึ่งให้สูงส่ง และทรงทำให้ชนอีกกลุ่มหนึ่งอัปยศอดสู ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- ผู้มีเกียรติในทัศนะของพระผู้เป็นเจ้า คือบุคคลที่เชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์ ส่วนผู้ไร้เกียรติและอัปยศ คือผู้ที่ฝ่าฝืนคำบัญชาของพระองค์

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- หมายความว่าในท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีใครที่มีเกียรติและมีความสูงส่งเหนือกว่าผู้อื่นใช่ไหม ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- บรรทัดฐานแห่งเกียรติยศและความสูงส่งก็คือ การสำรวมตนจากความชั่วเท่านั้น

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- ถ้าเช่นนั้น (ตามความเชื่อของท่าน) เท่ากับว่าลูกหลานของอาดัมมีความเท่าเทียมกันทั้งหมด เฉพาะการสำรวมตนจากความชั่วเท่านั้นที่เป็นบรรทัดฐานในการจำแนกความสูงส่งของมนุษย์ ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- ถูกต้อง เรามีความเชื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างมาจากดิน พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะทรงสรรสร้างอาดัมและหะวาผู้เป็นบิดรมารดาของมนุษยชาติทั้งหมดขึ้นมา และท่านทั้งสองคือบ่าวของพระองค์
อย่างไรก็ตาม พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงเกียรติ ทรงเลือกสรรชนกลุ่มหนึ่งจากลูกหลานของอาดัมให้พวกเขาถือกำเนิดมาในสภาพที่สะอาดบริสุทธิ์ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ พระองค์ทรงพิทักษ์รักษาพวกเขาให้พ้นจากมลทินและความผิดบาปทั้งปวง ณ กระดูกสันหลังของบิดาและมดลูกของมารดา ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มปฏิสนธิในครรภ์มารดา นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงเลือกสรรจากผู้ที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ในหมู่พวกเขาเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นศาสดาและศาสนทูตของพระองค์...
วิทยปัญญาแห่งการเลือกสรรเช่นนั้น เนื่องจากพระองค์ทรงรอบรู้และตระหนักดีนับตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงเริ่มสรรสร้างแล้วว่าพวกเขาจะเคารพภักดีและเชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์เหนือกว่ามวลมนุษย์ทั้งหลาย และพวกเขาจะไม่ตั้งสิ่งใดเป็นภาคีเคียงคู่กับพระองค์ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงได้รับความกรุณาและความโปรดปรานจากพระองค์เหนือมวลมนุษย์ทั้งหลาย... ”

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าจึงไม่สร้างมนุษย์ทั้งหลายให้เป็นผู้ยอมจำนนในความเป็นเอกะของพระองค์ และให้พวกเขาจงรักภักดีต่อพระองค์ทั้งหมด ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ว่าคุณธรรมความดีที่มนุษย์ขวนขวายนั้นเกิดจากเจตนารมณ์เสรีของเขาเอง มิใช่ลิขิตจากพระองค์แต่อย่างใด เพราะมิฉะนั้น รางวัลตอบแทนแห่งสรวงสวรรค์ หรือการลงทัณฑ์ในไฟนรก ย่อมไร้ซึ่งนัยและความหมายโดยปริยาย
พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์และทรงบัญชาให้พวกเขาเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายและบทบัญญัติของพระองค์ และพระองค์ทรงพิสูจน์สัจธรรมคำสอนที่สมบูรณ์ด้วยการประทานศาสดาและคัมภีร์จากฟากฟ้าแก่พวกเขา พระองค์ทรงให้อิสรเสรีแก่พวกเขาให้มีสิทธิเลือกสรรที่จะเชื่อฟังปฏิบัติตาม หรือจะฝ่าฝืนคำบัญชาของพระองค์ ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ต้องมีข้ออ้างใด ๆ ภายหลังจากที่พระองค์ทรงประทานรางวัลตอบแทนแก่ผู้ที่จงรักภักดี และทรงลงโทษทัณฑ์แก่ผู้ที่ทรยศฝ่าฝืน

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- หมายความว่ามนุษย์เป็นผู้มีอิสรเสรีที่จะเลือกสรรว่า จะประกอบความดีงาม หรือจะสร้างความเสื่อมเสียด้วยตัวของเขาเองใช่ไหม ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาใช้ให้มนุษย์ประกอบแต่คุณงามความดี และทรงห้ามมิให้พวกเขาสร้างความเสื่อมเสียบนหน้าแผ่นดิน พวกเขามีเจตนารมณ์เสรีที่จะเลือกสรรในระหว่างสิ่งทั้งสอง

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- มนุษย์จะไม่ประกอบกรรมทำชั่วโดยอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้พวกเขาหรอกหรือ ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- ถูกต้อง พวกเขาสามารถอาศัยปัจจัยเหล่านั้นเพื่อประกอบกรรมทำชั่วในสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้ามไว้เช่นเดียวกับที่พวกเขาใช้มันเพื่อประกอบคุณธรรมความดีงาม

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- เท่ากับว่ามนุษย์มีอิสรเสรีที่จะประกอบคุณธรรมความดี หรือจะประพฤติชั่วใช่ไหม ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงห้ามปรามมนุษย์มิให้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด นอกจากพระองค์จะทรงตระหนักดีว่าพวกเขามีความสามารถเพียงพอที่จะละทิ้งมันได้เท่านั้น ในทำนองเดียวกัน พระองค์จะไม่ทรงบัญชาใช้ให้พวกเขากระทำสิ่งใด นอกจากพระองค์จะทรงตระหนักดีว่าพวกเขามีศักยภาพเพียงพอที่จะปฏิบัติมันได้ เพราะพระองค์จะไม่ทรงอธรรมและฉ้อฉลและไม่ทรงบัญชาสิ่งใดโดยปราศจากเป้าหมายและไร้สาระ และจะไม่ทรงกำหนดบทบัญญัติใดที่มนุษย์ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติตามได้

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- ถ้าเช่นนั้น แสดงว่าพระผู้เป็นเจ้าสามารถที่จะเปลี่ยนผู้ปฏิเสธให้กลายเป็นผู้ศรัทธาได้ใช่ไหม ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทั้งหลายตามธรรมชาติที่บริสุทธิ์แห่งอิสลาม พระองค์ทรงบัญชาใช้พวกเขาให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม และละเว้นในสิ่งที่ชั่วร้าย ส่วนการปฏิเสธนั้น เป็นคุณลักษณะหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่มนุษย์ได้ฝ่าฝืนคำบัญชาใช้ของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้ามิได้สร้างมนุษย์คนใดขึ้นมาเพื่อให้เป็นผู้ปฏิเสธพระองค์ อิสลามถือว่ามนุษย์จะกลายเป็นผู้ปฏิเสธได้ก็ต่อเมื่อเขาได้ย่างเข้าสู่วัยที่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งเป็นวัยที่สามารถจะจำแนกแยกแยะสัจธรรมความจริงได้ และสัจธรรมนั้นได้เป็นที่ปรากฏแก่เขาแล้ว แต่เขากลับปฏิเสธมัน เมื่อนั้นจึงจะถือว่าเขาเป็นผู้ปฏิเสธ ...

ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า
พวกลัทธิวัตถุนิยม :- มาตรว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงยุติธรรมจริงแล้ว เหตุใดพระองค์จึงปล่อยให้ทารกที่ปราศจากความผิดบาปต้องประสบกับเคราะห์กรรมความทุกข์ยากและความเจ็บป่วยด้วยเล่า ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- (ในทัศนะของอิสลาม) ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น ความเจ็บป่วยที่เป็นการทดสอบจากพระเจ้า ความเจ็บป่วยที่เป็นการลงโทษจากพระองค์ ความเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุนำไปสู่ความตาย ท่านมีความเข้าใจว่าอาหารที่เป็นพิษ น้ำสกปรก หรือพันธุกรรมที่เป็นมรดกตกทอดมาจากมารดานั้นคือสาเหตุแห่งโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนบุคคลใดที่ระมัดระวังตนเองอย่างเต็มกำลังความสามารถ เขาจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งความเชื่อในทำนองนี้สอดคล้องกับกลุ่มชนที่พากันกล่าวว่า “การกินและการดื่มถือเป็นสาเหตุแห่งความเจ็บไข้ได้ป่วย และคือหนทางที่จะนำพาไปสู่ความตาย” ในขณะที่ท่านอริสโตเติล ผู้เป็นปรมาจารย์ทางด้านการแพทย์ หรือท่านเพลโต ปรัชญาเมธี ก็ยังต้องตาย และในขณะที่ท่านญาลีนูส (Galenus) ย่างเข้าสู่วัยชรานั้น ดวงตาทั้งสองข้างของท่านแทบจะมองไม่เห็นสิ่งใด และในที่สุด ท่านก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งจากความตายได้เช่นกัน กล่าวคือ ปวงปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายไม่สามารถที่จะสกัดกั้นความตายของมนุษย์ทั้งหลายหรือแม้แต่ตนเองได้

แม้แต่นายแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญการเฉพาะโรค และรู้วิธีที่จะบำบัดรักษาโรคนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีก็ยังต้องประสบกับความตาย แล้วนับประสาอะไรกับหมอธรรมดาทั่ว ๆ ไปที่ต้องประสบกับความเจ็บป่วย ในขณะที่ประชาชนที่ไม่ประสีประสาในวิชาการแพทย์ตั้งมากมาย กลับมีอายุขัยที่ยืนยาวกว่านายแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้วยซ้ำ
เมื่อความตายได้ย่างกรายเข้ามาเยือนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ วิทยาการทันสมัยที่เขาได้ร่ำเรียนและสั่งสมประสบการณ์มานานนับสิบ ๆ ปีก็ไม่สามารถยังคุณประโยชน์ใด ๆ แก่เขาได้ ในทางกลับกัน เมื่อยังไม่ถึงกำหนดวันเวลา (อะญัล) ความไม่ประสีประสาเกี่ยวกับวงการแพทย์นั้น มิอาจสร้างภยันตรายใด ๆ แก่เราได้

การสร้างสิ่งชั่วร้าย
พวกลัทธิวัตถุนิยม :- ไหนท่านลองบอกมาซิว่า ในการสรรสร้างของพระผู้เป็นเจ้านั้น พระองค์จำต้องพึ่งพาอาศัยภาคีด้วยหรือไม่ ? และมาตรว่าพระองค์ทรงมีภาคีแล้วไซร้ พระองค์ทรงขัดแย้งกับภาคีของพระองค์ในการควบคุมบริหารโลกและจักรวาลหรือไม่ ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- ไม่มี

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- ถ้าเช่นนั้น ใครคือผู้ที่สร้างความชั่วร้ายขึ้นมาบนหน้าแผ่นดิน ?

ใครหรือคือผู้สร้างสัตว์ร้าย สิงห์สาราสัตว์ และสรรพสิ่งที่น่าขยะแขยงอีกมากมาย ทั้งหนอน ไส้เดือน กิ้งกือ ยุง แมลงวัน งูพิษ แมลงป่อง ?
ในเมื่อท่านเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงสร้างสิ่งใดขึ้นมาอย่างไร้สาระ และทุกสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างมา ล้วนมีเจตนารมณ์ เป้าหมาย และมีคุณประโยชน์ทั้งสิ้น

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- ท่านคิดว่าตัวยาที่สกัดมาจากแมลงป่อง เพื่อใช้รักษาและขับนิ่วจากกระเพาะปัสสาวะนั้นไม่มีประโยชน์หรืออย่างไร ?
เซรุ่มที่มีคุณภาพดีที่สุดมิได้สกัดมาจากน้ำลายหรือพิษของงูแมวเซาดอกหรือ ?
เนื้อของมันมิได้มีประโยชน์ในการเยียวยารักษาโรคเรื้อนหรอกหรือ ?
ไส้เดือนที่อาศัยอยู่ใต้พื้นดินไม่มีประโยชน์สำหรับการเยียวยารักษาโรคเรื้อนหรอกหรือ ?

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- จริงด้วย ข้าพเจ้าลืมสังเกตไปว่าสิ่งที่ท่านกล่าวมาล้วนมีประโยชน์และมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- และวิทยปัญญาประการหนึ่งที่พระองค์ทรงสร้างแมลงหรือสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้มันเป็นอาหารของนกทั้งหลาย

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- เราจะกล่าวได้ไหมว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงบริหารปรากฏการณ์อย่างขาดตกบกพร่อง ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- เป็นไปไม่ได้

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- ถ้าเช่นนั้น เหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงสร้างผู้ชายให้มีสภาพที่ผ่านการขลิบอวัยวะเพศให้เรียบร้อยเสียก่อน ? การสร้างส่วนเกินมาเช่นนี้มีวิทยปัญญาซ่อนเร้น หรือว่าเป็นการสร้างขึ้นมาอย่างไร้ประโยชน์และขัดแย้งกับวิทยปัญญา ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- ต้องมีคุณค่าและวิทยปัญญาอย่างแน่นอน

พวกวัตถุนิยม :- ถ้าเช่นนั้น เหตุใดท่านจึงเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้นมาแต่ดั้งเดิม การขลิบอวัยวะเพศชายที่ท่านทั้งหลายถือปฏิบัติกันมานั้น เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าเป็นการกระทำที่ดีกว่าสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์มาตั้งแต่ดั้งเดิมนั่นเอง เพราะท่านถือว่าการไม่ได้ขลิบอวัยวะเพศชายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ในขณะที่พระองค์ทรงสร้างผู้ชายมาในสภาพที่มิได้ผ่านการขลิบมาก่อน ในขณะที่ท่านเชื่อว่าการขลิบนั้นเป็นการกระทำที่ดีงาม ทั้ง ๆ ที่มิได้มาจากพระองค์ แต่เป็นการกระทำของพวกท่านเอง ? เท่ากับท่านกำลังเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงบกพร่องในการสร้างสรรค์ และยังเป็นการสร้างที่แย้งกับวิทยปัญญาด้วย ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- ทั้งกรณีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์เพศชายมาโดยมิได้ผ่านการขลิบอวัยวะเพศ และการถือปฏิบัติในการขลิบอวัยวะเพศชายของเรา ล้วนต่างมีวิทยปัญญาด้วยกันโดยไม่มีข้อขัดแย้งแต่อย่างใดทั้งสิ้น ทั้งสองกรณีต่างมีประโยชน์ ดังที่เราได้ประจักษ์เป็นอย่างดีว่า เมื่อทารกถือกำเนิดจากครรภ์มารดานั้น สายสะดือจะติดกับมารดาของเขา และพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงวิทยญาณได้ทรงสร้างเขามาในสภาพเช่นนั้น แต่พระองค์ทรงบัญชาให้มนุษย์ตัดสายสะดือภายหลังจากที่ทารกน้อยได้คลอดออกมา ถ้าไม่ตัดทิ้งไป ทั้งมารดาและทารกจะต้องได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ในทำนองเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงเดชานุภาพที่จะสร้างมนุษย์โดยมิให้เล็บมือและเล็บเท้าของเขางอกเงยขึ้นมาก็ได้
หรือพระองค์สามารถที่จะสร้างมนุษย์โดยปราศจากเส้นผมหรือขนก็ได้

หรือพระองค์ทรงสร้างลูกอัณฑะของวัวตัวผู้ขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่การตอนน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า
ดังนั้น มนุษย์ไม่อาจจะโต้แย้งวิทยปัญญาของพระผู้เป็นเจ้าในทุกกิจการงานของพระองค์ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งกิจการของพระองค์ ทั้งสิ่งที่มนุษย์ถือปฏิบัติ (ตามพระบัญชาของพระองค์) ล้วนตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของวิทยปัญญาทั้งสิ้น

การวิงวอนขอจากพระผู้เป็นเจ้า
พวกลัทธิวัตถุนิยม :- ท่านมิได้กล่าวหรอกหรือว่าพระผู้เป็นเจ้าของท่านทรงตรัสว่า “จงวิงวอนขอจากฉัน แล้วฉันจะตอบรับคำวิงวอนขอของท่าน” ในขณะที่เป็นที่ประจักษ์แก่เราท่านทั้งหลายแล้วว่าพระองค์มิได้ทรงตอบรับคำวิงวอนขอของผู้ทุกข์แค้นลำเค็ญตั้งมากมาย หรือกรณีที่ผู้ถูกอธรรมได้วิงวอนขอให้พระองค์ช่วยทำลายล้างผู้อธรรมและสร้างความฉ้อฉล แต่ทว่าพระองค์ก็หาได้ให้ความช่วยเหลือพวกเขาแต่อย่างใด ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- ไม่มีบ่าวคนใดที่ร้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์ แล้วพระองค์จะไม่ตอบคำวิงวอนขอของเขา ยกเว้นผู้อธรรมซึ่งคำวิงวอนขอของเขาจะไม่ถูกตอบรับ จนกว่าเขาจะกลับเนื้อกลับตัวและขอลุแก่โทษก่อนเท่านั้น ส่วนผู้ที่มิได้ฉ้อฉลและสร้างความอธรรมนั้น พระองค์จะทรงตอบรับคำวิงวอนของเขาเมื่อทรงตระหนักว่าคำตอบรับนั้นจะเอื้ออำนวยประโยชน์แก่เขา ในทางกลับกัน มาตรว่าจะไม่เป็นการเอื้ออำนวยประโยชน์อันใดแก่เขา พระองค์จะทรงทดแทนด้วยการขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ (บะลาอ์) ให้พ้นไปจากวิถีชีวิตของเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัว และจะทรงสะสมรางวัลอย่างมากมายไว้สำหรับวันเวลาที่เขาจำต้องใช้มัน
บางครั้งเป็นสิ่งที่ยากต่อการตัดสินใจสำหรับผู้ศรัทธาในสิ่งที่เขาไม่รู้ว่าผลลัพธ์บั้นปลายในการวิงวอนขอของเขาจะให้คุณหรือโทษแก่เขากันแน่

บางครั้ง มนุษย์จะวิงวอนขอให้พระองค์ทรงทำลายล้างผู้ที่อายุขัยของเขายังไม่ถึงกำหนดกฎสภาวะของพระองค์
บางทีการวิงวอนขอให้ฝนตกลงมา อาจจะเป็นไปได้ว่าถ้าฝนได้ตกลงมาในเวลานั้น อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลดีสำหรับชาวเมืองนั้นก็ได้ เพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงรอบรู้ในการบริหารโลกนี้ได้ดีกว่ามนุษย์ทั้งหลายนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขอื่นอีกมากมายที่เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้คำวิงวอนขอของมนุษย์ไม่ถูกตอบรับ

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- โอ้ ผู้เป็นปราชญ์ ! เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าจึงไม่เปิดโอกาสให้ตัวแทนของพระองค์ลงมาจากฟากฟ้าสู่พื้นโลกบ้าง ? และเหตุใดจึงไม่มีใครที่สามารถจะขึ้นสู่ฟากฟ้า ? และเหตุใดพระองค์จึงไม่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้สามารถขึ้นสู่ฟากฟ้า เพราะมาตรว่ามนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยสามารถทำเช่นนี้ได้แล้วไซร้ พระผู้เป็นเจ้าก็จะได้รับการพิสูจน์ถึงการดำรงอยู่ของพระองค์ได้อย่างง่ายดาย ความเคลือบแคลงสงสัยในการมีอยู่ของพระองค์ก็จะอันตรธานหายไปจากหัวใจของมนุษย์โดยปริยาย จะเพิ่มพูนพลังแห่งความเชื่อมั่นศรัทธาในพระองค์ยิ่งขึ้น จะทำให้มนุษย์ตระหนักและยอมจำนนว่ามีผู้ที่คอยควบคุมบริหาร ณ ฟากฟ้าเบื้องบนโดยผ่านการยืนยันจากบุคคลที่ได้เข้าพบพระองค์ ณ ฟากฟ้าเบื้องบนภายหลังจากที่เขาได้เดินทางกลับลงมาสู่พื้นโลก ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- ในบางกรณีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานบางสิ่งจากฟากฟ้าซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของท่านเป็นอย่างดีถึงการเป็นผู้ทรงบริหารโลกนี้ ท่านมิได้พิจารณาดวงตะวันที่ทอแสงจากฟากฟ้าและได้แปรเปลี่ยนโลกให้เป็นกลางวันเพื่อให้สัตว์โลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้ดำเนินวิถีชีวิตในยามนั้นหรอกหรือ ?

ท่านมิได้พิจารณาแสงนวลผ่องของดวงจันทร์ที่ส่องประกายลงมาจากฟากฟ้าและได้เปลี่ยนทิวาให้เป็นราตรีกาลหรอกหรือ ?
ด้วยสื่อแห่งดวงตะวันและดวงจันทร์นั่นเองที่ทำให้เราสามารถคำนวณนับวัน เดือน ปีได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มาตรว่ามันมิได้เคลื่อนคล้อยไปตามวิถีโคจรแล้วไซร้ มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะต้องประสบกับความสับสนอลหม่าน และโลกจะต้องถึงกาลพินาศอย่างไม่ต้องสงสัย เหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงเครื่องหมายและสัญลักษณ์ว่ามีผู้คอยควบคุมบริหารจักรวาลและฟากฟ้าและสรรพสิ่งทั้งหลายนั่นเอง

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงตรัสสนทนากับท่านศาสดามูสา (โมเสส) จากฟากฟ้า และทรงเทิดท่านศาสดาอีสา (เยซู) ขึ้นสู่ฟากฟ้า และทรงบัญชาให้เทวทูตของพระองค์เสด็จลงมาจากฟากฟ้า แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าท่านไม่เชื่อในสิ่งที่ท่านไม่สามารถมองเห็นได้ ลำพังสิ่งที่มองเห็นก็เพียงพอแล้วที่จะพิสูจน์และเข้าถึงซึ่งสัจธรรม

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- จะไม่เป็นการดีกว่าหรือที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงชุบชีวิตให้ผู้คนที่ล้มตายได้ฟื้นขึ้นมาในทุก ๆ 100 ปี ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่ได้สอบถามเรื่องราวและเหตุการณ์ภายหลังจากความตายว่าเขาได้ไปประสบพบพานสิ่งใดบ้าง ชีวิตหลังความตายมีสภาพเช่นไร และพวกเขาได้รับการปฏิบัติเช่นไร ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความเชื่อศรัทธาแก่ผู้ที่ยังมีชีวิต และทำให้ความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลายถูกลบเลือนและอันตรธานหายไปจากหัวใจของพวกเขา ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- กลุ่มชนที่ปฏิเสธและกล่าวหาว่าศาสดาของพวกเขาโกหกมดเท็จได้เคยใช้คำพูดดังกล่าวมาแล้วทั้งสิ้น... พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ของพระองค์โดยผ่านการสาธยายของบรรดาศาสดาของพระองค์ถึงผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้วจากหมู่พวกเรา แล้วยังจะมีคำกล่าวของผู้ใดที่จะสัตย์จริงยิ่งไปกว่าพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าและวจนะของศาสดาของพระองค์อีกเล่า ?
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงชุบชีวิตของผู้ที่ตายให้ฟื้นขึ้นมามากมาย พระองค์ทรงชุบชีวิต “ชาวถ้ำ” (อัศหาบุลกะฮฺฟฺ) ให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่พวกเขาได้ตายไปแล้ว 309 ปีในยุคสมัยที่ผู้คนพากันปฏิเสธวันฟื้นคืนชีพ (ปรโลก) ทั้งนี้ เพื่อที่จะสำแดงให้ผู้คนในยุคนั้นได้ประจักษ์ถึงเดชานุภาพของพระองค์ว่า พระองค์ทรงเดชานุภาพที่จะชุบชีวิตผู้ตายให้ฟื้นขึ้นมาในโลกหน้าอีกครั้งหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย

หรือในกรณีที่พระองค์ทรงชุบชีวิต “อัรฺมิยาอ์” (Jeremiah) ผู้เป็นศาสดาคนหนึ่งของพระองค์ภายหลังจากที่ท่านได้ตายไปแล้ว 100 ปี ( ดังที่พระองค์ทรงตรัสในคัมภีร์อัลกุรฺอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 259 ว่า “หรือเฉกเช่น (อุทาหรณ์ของ) ผู้ที่ผ่านเมืองหนึ่ง (เมืองเยรูซาเล็มซึ่งถูกทำลายโดยกษัตริย์เนบุชัดเนซัรฺ เมื่อ 599 ปี ก่อนคริสตกาล) และมันได้พังลงมาบนหลังคาของมัน…” )
หรือกรณีที่พระองค์ทรงตอบรับคำวิงวอนขอของท่านศาสดา “หิซกีล” ด้วยการชุบชีวิตกลุ่มชนของเขาให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ( “เจ้ามิได้พิจารณาพวกเขา (วงศ์วานอิสรออีล) ที่ได้ออกจากเคหะสถานในขณะที่พวกเขาหลายพันคนหวาดหวั่นครั่นคร้ามความตายหรอกหรือ ?” (คัมภีร์อัลกุรฺอาน บทอัลบะเกาะฮฺ 2 : 243)

ในทำนองเดียวกัน พระองค์ทรงชุบชีวิตประชาชาติของท่านศาสดามูสา (โมเสส) เมื่อครั้งที่พวกเขาติดตามท่านขึ้นไปยังภูเขาฏูรฺ ภายหลังจากที่พวกเขาเรียกร้องต้องการที่จะเห็นพระผู้เป็นเจ้าของมูสา




การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

3. “และเมื่อพวกเจ้ากล่าวว่า โอ้ มูสา ! เราจะไม่เชื่อท่าน จนกว่าเราจะได้เห็นอัลลอฮฺอย่างชัดเจนเสียก่อน และแล้ว สายฟ้าได้คร่า (ลงโทษ) พวกเขาในขณะที่พวกเจ้ามองดูอยู่ แล้วเราได้ให้พวกเจ้าฟื้นขึ้นหลังจากที่พวกเจ้าได้ตายไปแล้ว เพื่อพวกเจ้าจะได้ (สำนึกและ) ขอบคุณ (พระองค์)” (คัมภีร์อัลกุรฺอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 55 – 56)

เรื่องราวของมานีย์ (Manes)
พวกลัทธิวัตถุนิยม :- “มานีย์” มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- มานีย์เป็นผู้แสวงหาคนหนึ่ง แต่ในที่สุด เขาได้ตั้งศาสนาใหม่ขึ้นมาโดยการนำเอาหลักคำสอนของพวกบูชาไฟ (โซโรแอสเตอร์) มาผสมผสานกับหลักคำสอนของคริสเตียน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสารธรรมคำสอนของทั้งสองศาสนาแต่อย่างใด
หลักความเชื่อของเขาก็คือ โลกและจักรวาลนี้มีพระเจ้าสององค์ที่คอยควบคุมบริหารอยู่ นั่นคือพระเจ้าแห่งความมืดมนอนธกาลและพระเจ้าแห่งความสว่างไสว ความสว่างถูกปกคลุมไปด้วยความมืด ซึ่งในที่สุด ชาวคริสเตียนได้ปฏิเสธคำสอนของเขา ในขณะที่พวกบูชาไฟต่างพากันยอมรับนับถือเขา

ศาสดาของโซโรแอสเตอร์
พวกลัทธิวัตถุนิยม :- พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานศาสดามาให้แก่พวกบูชาไฟหรือไม่ ? ข้าพเจ้าได้ศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ ของพวกเขาซึ่งในนั้นมีหลักธรรมคำสอนที่เต็มไปด้วยอุทาหรณ์ อนุสติ ข้อเตือนใจและเรื่องราวที่ให้ข้อคิดและเป็นประโยชน์อย่างมากมาย พวกเขามีความเชื่อเช่นเดียวกันว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับผลกรรมที่ตนกระทำไว้ภายหลังจากความตายแล้ว นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาในแง่ของหลักคำสอนในทางศาสนาแล้ว พวกเขายังมีบทบัญญัติให้ศาสนิกชนถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอีกด้วย ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานศาสดาลงมาแก่ทุก ๆ ประชาชาติเพื่อให้การอบรมสั่งสอนผู้คนเหล่านั้น และพระองค์ทรงประทานศาสดาลงมาแก่พวกบูชาไฟด้วยเช่นกัน แต่ทว่าพวกเขากลับปฏิเสธท่านและคัมภีร์ที่ท่านนำมา

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- แล้วใครคือศาสดาของพวกเขา ? บางกลุ่มเข้าใจว่าศาสดาของพวกเขาคือ “คอลิด อิบนุสะนาน” ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- คอลิด อิบนุสะนาน เป็นเพียงอาหรับเบดูอินเร่ร่อนเท่านั้น หาใช่ศาสดาแต่อย่างใดไม่ คำพูดที่ว่าเขาคือศาสดานั้นมิใช่อื่นใดนอกจากเป็นเพียงการโจษขานและเล่าลือกันเท่านั้นเอง

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- ถ้าเช่นนั้นโซโรแอสเตอร์คือศาสดาของพวกเขาใช่ไหม ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- โซโรแอสเตอร์ได้อาศัยลำนำและท่วงทำนองมาขับกล่อมพวกบูชาไฟ พร้อมกับอ้างตนว่าเป็นศาสดาของพวกเขา จนกระทั่งคนกลุ่มหนึ่งได้หลงเชื่อและคล้อยตาม ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งพากันปฏิเสธและเนรเทศเขาออกจากเมืองจนต้องตกเป็นเหยื่อของส่ำสัตว์ร้ายในท้องทุ่งทะเลทรายในที่สุด (Zoroaster จะขับลำนำที่มีท่วงทำนองเฉพาะ เบื้องหน้าสำรับอาหารทุกครั้ง โปรดดู “บิหารุลอันวารฺ” เล่ม 10 หน้า 179)

พวกลัทธิวัตถุนิยม :- กลุ่มชนใดที่มีความโน้มเอียงเข้าสู่สัจธรรมมากกว่าในระหว่างพวกบูชาไฟกับพวกอาหรับสมัยญาฮิลียะฮฺ(ยุคอนารยชน) ?

อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) :- อาหรับยุคอนารยชน เพราะพวกบูชาไฟต่างพากันปฏิเสธศาสดาทุกคน พวกเขามิได้ยึดถือแบบฉบับและหลักธรรมคำสอนของศาสดาคนใดมาใช้ในการดำเนินชีวิต ในขณะที่กษัตริย์คอสโรพัรวีซ ผู้เป็นกษัตริย์ของพวกโซโรแอสเตอร์ได้เข่นฆ่าสังหารศาสดาของพวกเขาถึง 300 คน
พวกบูชาไฟมิได้อาบน้ำชำระล้างร่างกายตามหลักธรรมคำสอนที่ศาสนาก่อน ๆ ได้เคยถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่อย่างใด ในขณะที่พวกอาหรับยุคอนารยชนได้ยึดถือปฏิบัติสิ่งดังกล่าว เพราะพวกเขาถือว่าเป็นหลักธรรมคำสอนของศาสนาที่เที่ยงธรรมทั้งหลาย

พวกบูชาไฟจะไม่ขลิบอวัยวะเพศ ทั้ง ๆ ที่เป็นแบบฉบับของศาสดาทั้งหลาย ในขณะที่อาหรับยุคอนารยชนได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
พวกบูชาไฟจะไม่อาบน้ำศพและห่อผ้าศพหรือผู้ตายของพวกเขา พวกเขาจะนำศพไปวางไว้ท่ามกลางโขดหิน ในขณะที่อาหรับยุคอนารยชนจะจัดการอาบน้ำศพ ห่อผ้าศพ และนำศพไปฝังตามแบบฉบับที่ศาสดาทั้งหลายได้เคยถือปฏิบัติกันมา
พวกบูชาไฟถือว่าการแต่งงานกับมารดา ลูกสาว และน้องสาวของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่อนุมัติ ในขณะที่อาหรับญาฮิลียะฮฺถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (บิหารุลอันวารฺ เล่ม 10 หน้า 164 – 180)

7. ศาสดามุหัมมัด(ขออัลลอฮฺทรงประสาทพรแด่ท่านและวงศ์วานของท่าน)กับชนชั้นปกครองชาวกุร็อยช์
ประเด็นสนทนา : พิสูจน์ความเป็นศาสดา

ในช่วงแรกของ “บิอฺษะฮฺ” หรือการสถาปนา “มุหัมมัด บุตรของอับดุลลอฮฺ” ให้เป็นศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้า วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านศาสดามุหัมมัด กำลังสอนคัมภีร์อัลกุรฺอานและบัญญัติอิสลามให้แก่สหายของท่าน ณ ลานวิหารกะอฺบะฮฺ มัสญิดอัลหะรอมนั้นเอง ได้มีชนชั้นปกครองชาวกุรัยช์ ซึ่งประกอบไปด้วย “อบุลบัคตะรีย์” “อบูญะฮัล” “อาศ อิบนุวาอิล” อับดุลลอฮฺ บุตรของอุมัยยะฮฺ ฯลฯ ได้เดินเข้าไปหาท่าน (ขออัลลอฮฺทรงประสาทพรแด่ท่านและวงศ์วานของท่าน)

เมื่อเห็นท่านศาสดามุหัมมัด และสหายของท่านกำลังมีการเรียนการสอนเช่นนั้น พวกเขาจึงเริ่มตระหนักว่าภารกิจของมุหัมมัด เริ่มจะก้าวหน้าและส่งสัญญาณอันตรายต่อพวกเขาแล้ว อย่ากระนั้นเลย พวกเราจะต้องเร่งตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการเข้าไปสร้างความปั่นป่วนเพื่อลดความน่าเชื่อถือและสร้างความอัปยศอดสูให้เขาต้องได้รับความอับอายต่อหน้าสหายและธารกำนัลกันเถิด และเพื่อให้เขาเลิกล้มการเชิญชวนผู้คนให้กระด้างกระเดื่องและหลงออกไปจากหนทางแห่งบรรพชนของเรา
มาตรว่ามาตรการนี้ยังไม่สัมฤทธิ์ผล “ดาบ” คือมาตรการสุดท้ายที่จะใช้หยุดยั้งเขา

อบูญะฮัล :- เป็นความคิดที่เฉียบคมทีเดียว ปัญหาอยู่ที่ว่า ใครล่ะที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะต่อกรและถกเถียงกับเขา ?

อับดุลลอฮฺ บุตรของอุมัยยะฮฺ จึงกล่าวสวนขึ้นว่า ฉันนี่ไง เจ้าไม่มั่นใจหรือว่าฉันมีความสามารถอย่างทัดเทียมที่จะต่อกรกับคนอย่างมุหัมมัด ?

อบูญะฮัล : ใช่แล้ว

และแล้วทั้งหมดต่างมุ่งหน้าไปหาท่านศาสดามุหัมมัด โดยอับดุลลอฮฺเป็นผู้เปิดฉากขึ้นก่อนเป็นคนแรกว่า :-
“โอ้ มุหัมมัด เจ้าได้เอ่ยอ้างในสิ่งที่ยิ่งใหญ่อะไรเช่นนั้น คำเอ่ยอ้างของเจ้าช่างเต็มไปด้วยความน่าฉงนสนเท่ห์และสร้างความงุนงงสงสัยยิ่งนัก เจ้าอ้างว่าเป็นศาสนทูตของพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล เป็นการไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่พระองค์จะทรงสถาปนาบุคคลเฉกเช่นเจ้าให้เป็นผู้สื่อสาสน์ เพราะเจ้าเป็นเพียงสามัญชนที่ดื่มกินและเดินเหินตามท้องตลาดเฉกเช่นพวกเราและมนุษย์ทั้งหลายนั่นเอง ( พวกเขาพากันกล่าวว่า (ผู้ที่) กินอาหารและเดินตามท้องตลาด (เฉกเช่นพวกเราทั้งหลาย) นี่หรือคือศาสนทูต ! ? (คัมภีร์อัลกุรฺอาน บทอัลฟุรฺกอน 25 : 7)

จงดูซิว่ากษัตริย์แห่งโรมและเปอร์เซียที่พิถีพิถันในการเลือกสรรเฉพาะบุคคลที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย มีเกียรติยศชื่อเสียงในวงสังคม มีคฤหาสน์อันโอ่อ่า ห้อมล้อมไปด้วยข้าราชบริพารให้เป็นทูตหรือตัวแทนของพระองค์
พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาลย่อมมีฐานันดรศักดิ์ที่เหนือกว่าเหล่ากษัตริย์ทั้งหลาย เพราะพวกเขามีฐานะเป็นเพียงบ่าวของพระองค์ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะทรงแต่งตั้งผู้ที่มีความยากแค้นแสนเข็ญเยี่ยงเจ้าให้ดำรงตำแหน่งศาสนทูตของพระองค์อย่างแน่นอน และมาตรว่าเจ้าคือศาสนทูตของพระองค์ตามคำเอ่ยอ้างแล้ว พระองค์จะต้องส่งทูตสวรรค์ลงมาเพื่อให้การรับรองและยืนยันถึงความเป็นศาสนทูตของเจ้า และเราจะต้องได้เห็นทูตสวรรค์ของพระองค์บ้างแล้ว (เหตุใดจึงไม่มีทูตสวรรค์ถูกส่งลงมากับเขา เพื่อจะได้เป็นผู้ตักเตือนร่วมกับเขาด้วยเล่า ? (คัมภีร์อัลกุรฺอาน บทอัลฟุรฺกอน 25 : 7)

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จะส่งศาสนทูตของพระองค์มาเชิญชวนประชาชนจริงแล้ว พระองค์จะต้องเลือกสรรทูตสวรรค์มากกว่าที่จะแต่งตั้งมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเราท่านทั้งหลายอย่างแน่นอน ฉันเชื่อว่าเจ้าจะต้องถูกคาถาอาคมจนหลงผิดคิดว่าตนคือศาสนทูตของพระเจ้าอย่างแน่นอน ( มาตรว่าอัลลอฮฺทรงประสงค์ พระองค์จะต้องส่งทูตสวรรค์ลงมาอย่างแน่นอน (คัมภีร์อัลกุรฺอาน บทอัลมุอ์มินูน 23 : 24) พวกเขากล่าวว่า มาตรว่าพระเจ้าของเราทรงประสงค์ พระองค์จะต้องส่งทูตสวรรค์ลงมาอย่างแน่นอน (คัมภีร์อัลกุรฺอาน บทฟุศศิลัต 41 : 14)

ศาสดามุหัมมัด : ท่านยังมีสิ่งใดที่จะพูดอีกไหม ?

อับดุลลอฮฺ :- มาตรว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ที่จะส่งศาสนทูตของพระองค์ลงมายังพวกเราแล้ว พระองค์จะต้องเลือกสรรผู้ที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยและเป็นผู้มีอิทธิพลในหมู่พวกเราอย่างแน่นอน
คัมภีร์อัลกุรฺอานที่เจ้าทึกทักเอาว่าพระองค์ทรงประทานแก่เจ้านั้น เหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงประทานแก่ผู้ที่มีเกียรติและฐานันดรศักดิ์ในหมู่ชนชาวมักกะฮฺเฉกเช่น “วะลีด บุตรของมุฆีเราฮฺ” หรือในหมู่ชาวฏออิฟ เฉกเช่น “อุรฺวะฮฺ บุตรของมัสอู๊ด” เล่า ?

ศาสดามุหัมมัด : ท่านมีอะไรจะพูดอีกไหม ?

อับดุลลอฮฺ :- พวกเราจะไม่มีวันหลงเชื่อและคล้อยตามคำพูดของเจ้า จนกว่าเจ้าจะเนรมิตให้ทั่วทั้งแผ่นดินมักกะฮฺเต็มไปด้วยธารน้ำเสียก่อน
นอกจากนี้ ดังที่เจ้าก็ทราบดีอยู่แล้วว่าทั่งทั้งนครมักกะฮฺเต็มไปด้วยโขดหินและภูเขา มาตรว่าเจ้าปรารถนาที่จะให้พวกเราคล้อยตามเจ้าแล้ว ก็จงขจัดโขดหินทั้งหลายให้หมดสิ้นจากแผ่นดินแห่งนี้ และจงเนรมิตแผ่นดินนี้ให้เต็มไปด้วยบ่อน้ำ และให้ธารน้ำไหลรินทั่วทั้งแผ่นดินเพื่อขจัดปัดเป่าบรรเทาทุกข์ให้แก่ชาวเมืองนี้ซิ

หรือพวกเราจะไม่คล้อยตาม จนกว่าเจ้าจะมีสวนอินทผลัมและองุ่นเพื่อให้เจ้าและเราทั้งหลายได้ใช้ประโยชน์จากมัน แล้วทำให้ธารน้ำหลายสายไหลรินจากสวนเหล่านั้น
หรือจนกว่าเจ้าจะบันดาลให้ฟากฟ้าแตกลงมาและทับพวกเราเป็นเสี่ยง ๆ
หรือจนกว่าพระผู้เป็นเจ้าและทูตสวรรค์ของพระองค์จะทรงสำแดงตนให้เราได้ประจักษ์ต่อสายตาของเราเสียก่อน
หรือจนกว่าเจ้าจะมีปราสาทราชวังที่ประดับประดาไปด้วยทองคำทั้งหลังเสียก่อน (คัมภีร์อัลกุรฺอานได้หยิบยกคำพูดของผู้ปฏิเสธแห่งเมืองมักกะฮฺไว้พอเป็นสังเขป ดังนี้ “พวกเขากล่าวว่า เราจะไม่ศรัทธาต่อเจ้า จนกว่าเจ้าจะทำให้แผ่นดินแตกออกเป็นลำธารแก่เราเสียก่อน หรือจนกว่าเจ้าจะมีสวนอินทผลัมและองุ่น แล้วทำให้ธารน้ำหลายสายพวยพุ่งออกมาจากสวนนั้น หรือจนกว่าเจ้าจะทำให้ฟากฟ้าหล่นลงมาทับพวกเราเป็นเสี่ยง ๆ ตามที่ท่านเอ่ยอ้าง หรือจนกว่าท่านจะนำอัลลอฮฺและทูตสวรรค์มาปรากฏให้เราได้เห็นเสียก่อน” (บทอิสรออ์ 17 : 90 – 93)

หรือจนกว่าเจ้าจะสามารถขึ้นสู่ฟากฟ้าเบื้องบนเสียก่อน แต่ถึงกระนั้น เราจะยังไม่มีวันคล้อยตามเจ้า จนกว่าเจ้าจะได้นำจดหมายจากพระเจ้าที่มีเนื้อหาดังต่อไปนี้มาแสดงแก่พวกเราเสียก่อน
“นี่คือจดหมายจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงวิทยญาณ ถึงอับดุลลอฮฺ บุตรของอุมัยยะฮฺ และกลุ่มชนของเขา ข้าขอบัญชาให้พวกท่านศรัทธาและเชื่อฟังคำพูดของมุหัมมัด และจงให้การรับรองและยืนยันถึงการเป็นศาสนทูตของเขา”
แต่ถึงแม้เจ้าจะสามารถปฏิบัติภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงก็ตาม ฉันก็ยังไม่มั่นใจว่าจะให้การรับรองและยืนยันในความเป็นศาสนทูตของเจ้าหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้ว่าเจ้าจะสามารถนำพาเราขึ้นสู่ฟากฟ้า และเปิดประตูทุกบานให้เราได้เข้าไปในนั้น เราก็จะยังคงเชื่อว่า เจ้าอาศัยเวทมนตร์คาถาหลอกหลอนสายตาของเราอยู่นั่นเอง (และมาตรว่าเราได้เปิดประตูแห่งฟากฟ้าเพื่อให้พวกเขาได้เข้าไปในนั้น พวกเขาก็จะยังคงกล่าวว่าสายตาของพวกเราถูกทำให้พร่ามัว ยิ่งไปกว่านั้น พวกเรายังถูกเวทมนตร์คาถาอีกด้วย (คัมภีร์อัลกุรฺอาน บทอัลฮิจญ์รุ 15 : 14 – 15)

ศาสดามุหัมมัด : ท่านไม่มีสิ่งใดจะพูดอีกแล้วใช่ไหม ?

อับดุลลอฮฺ :- ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ยังไม่เพียงพออีกหรือ ?
ใช่ ฉันไม่มีสิ่งใดที่จะพูดกับเจ้าอีกแล้ว ต่อไปนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าที่จะตอบข้อทัดทานและเผยความนัยจากหัวใจของเจ้า...

ท่านศาสดามุหัมมัด จึงได้เริ่มกล่าวคำวิงวอนกับพระผู้อภิบาลว่า :-
“โอ้ อัลลอฮฺ พระองค์คือผู้ทรงได้ยินทุกสรรพเสียง ทรงรอบรู้ทุกสรรพสิ่ง และทรงทราบดีว่าปวงบ่าวของพระองค์กล่าวอะไรออกไปบ้าง”

พระผู้เป็นเจ้าจึงประทานโองการหนึ่งลงมายังท่าน หลังจากนั้น ท่านจึงได้กล่าวกับอับดุลลอฮฺ บุตรของอุมัยยะฮฺ ว่า :-
“เป็นสิ่งถูกต้องที่ท่านทักท้วงว่า ฉันเป็นมนุษย์ปุถุชนเฉกเช่นท่านทั้งหลาย ฉันกินอาหารและเดินเหินเหมือนพวกท่าน แต่สิทธิในการเลือกสรรที่จะแต่งตั้งศาสนทูตเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์เพียงผู้เดียว เมื่อพระองค์ทรงตระหนักว่าฉันคือผู้ที่มีคุณสมบัติคู่ควร พระองค์จึงทรงเลือกสรรฉันให้เป็นศาสนทูตของพระองค์”
“ที่ท่านกล่าวว่า กษัตริย์ทั้งหลายจะแต่งตั้งผู้ที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยและมีเกียรติยศชื่อเสียงในวงสังคมให้เป็นทูตของพวกเขา แล้วเหตุใดพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงเลือกสรรฉันให้เป็นทูตของพระองค์เล่า ? เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าท่านไม่ประสีประสาและเข้าถึงเจตนารมณ์ในการแต่งตั้งศาสนทูต การที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกสรรผู้ที่ยากไร้เยี่ยงฉันให้เป็นศาสนทูตของพระองค์ ก็เพื่อที่จะสำแดงเดชานุภาพของพระองค์ให้ประจักษ์แก่ท่านทั้งหลายว่า ทั้ง ๆ ที่พวกท่านสั่งสมบารมี อิทธิพล และสิ่งอำนวยความสะดวกไว้อย่างครบครัน ถึงกระนั้น ก็ยังไม่สามารถขัดขวางฉันจากการเรียกร้องเชิญชวนประชาชน และไม่สามารถทำลายล้างฉันได้ และในไม่ช้า พระองค์จะทรงช่วยเหลือฉันให้พิชิตชัยชนะเหนือพวกท่านทั้งหลาย ฉันจะสังหารบางส่วนจากพวกท่าน และจับบางส่วนเป็นเชลย และจะปกครองเมืองต่าง ๆ ของพวกท่าน...

“ที่ท่านกล่าวว่า ถ้าฉันคือศาสนทูตที่แท้จริงแล้ว จะต้องมีทูตสวรรค์ถูกประทานมาพร้อมกับฉันเพื่อยืนยันถึงการเป็นศาสนทูตของฉันด้วย
และที่ท่านกล่าวว่า มาตรว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จะส่งศาสนทูต พระองค์จะต้องเลือกสรรเฉพาะทูตสวรรค์ของพระองค์เท่านั้น คำทักท้วงนี้ก็ไม่มีความถูกต้องแต่อย่างใด เพราะสายตาของพวกท่านไม่อาจจะมองเห็นทูตสวรรค์ของพระองค์ได้ และสมมุติว่าพวกท่านสามารถมองเห็นทูตสวรรค์ พวกท่านก็จะต้องพากันปฏิเสธว่าแท้จริงเขาเป็นเพียงมนุษย์เฉกเช่นพวกท่าน เพราะมาตรว่าพระองค์จะส่งทูตสวรรค์ลงมา พระองค์จะต้องส่งเขามาในสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ติดต่อสัมพันธ์ ได้ยินคำสนทนา และเข้าใจถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์ของเขา มิฉะนั้น พวกท่านจะเข้าถึงสารัตถะแห่งคำพูดของผู้เป็นทูตสวรรค์ของพระองค์ได้อย่างไร ?

ด้วยเหตุนี้ พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงเลือกสรรมนุษย์ให้เป็นศาสนทูตของพระองค์ และทรงประทานความมหัศจรรย์ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายไม่สามารถจะสำแดงมันได้อย่างสิ้นเชิง และนี่คือข้อพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานแก่ศาสนทูตของพระองค์
เพราะมาตรว่าพระองค์ทรงประทานทูตสวรรค์ซึ่งมีสภาวะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพวกท่านและมนุษย์ทั้งหลายให้สำแดงความมหัศจรรย์ต่อพวกท่าน เพื่อพิสูจน์ถึงการเป็นศาสนทูตของพระองค์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วไซร้ พวกท่านจะต้องพากันปฏิเสธว่ามันมิได้มาจากพระองค์อย่างแน่นอน...

“ที่ท่านกล่าวว่า ฉันถูกคาถาอาคมจนสับสนและคาดคิดไปต่าง ๆ นานาว่าเป็นศาสนทูตของพระองค์นั้น พวกท่านต่างทราบเป็นอย่างดีถึงโลกทัศน์และศักยภาพในการจำแนกสิ่งถูกผิดของฉันว่าเหนือกว่าพวกท่าน พวกท่านเคยประสบพบพานความชั่วช้าเลวทราม การคดโกง ทรยศหักหลัง คำพูดที่โกหกมดเท็จและไร้สาระจากฉันนับตั้งแต่เยาว์วัยตราบจนกระทั่งเข้าสู่วัย 40 ปี สักครั้งไหม ?

“ส่วนกรณีที่ท่านทักท้วงว่าเหตุใดคัมภีร์อัลกุรฺอานจึงไม่ถูกประทานลงมาแก่ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและคู่ควรแห่งนครมักกะฮฺหรือฏออิฟนั้น ?
พระผู้เป็นเจ้ามิได้ถือเอาฐานะแห่งความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นสรณะเฉกเช่นท่านทั้งหลาย พระองค์จะทรงเลือกสรรผู้ที่มีฐานันดรศักดิ์ที่คู่ควรอย่างแท้จริงให้เป็นผู้สาธยายคัมภีร์และชี้นำประชาชน

“ส่วนกรณีที่ท่านเรียกร้องต้องการหลักฐานเพื่อยืนยันถึงการเป็นศาสนทูตของฉันนั้น (ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า) สมมุติฐานของข้อเรียกร้องมีหลายประการด้วยกันด้วยกัน คือ
ประการแรก มาตรว่าฉันปฏิบัติภารกิจสำเร็จลุล่วงตามคำเรียกร้องต้องการของท่านแล้วไซร้ ก็มิอาจจะใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ถึงการเป็นศาสนทูตของฉันได้ ยิ่งไปกว่านั้น ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺจะไม่ถือเอาความโง่เขลาเบาปัญญาของประชาชนขึ้นมาเป็นสรณะเพื่อพิสูจน์ถึงการเป็นศาสนทูต ซึ่งโดยสารัตถะแล้วไม่อาจจะพิสูจน์ได้ด้วยวิถีทางดังกล่าว

ประการที่สอง มาตรว่าฉันปฏิบัติตามคำเรียกร้องของท่านแล้วไซร้ มันจะสร้างความพินาศแก่ตัวท่านเอง และการสำแดงหลักฐานและข้อพิสูจน์ก็เพื่อที่จะเชิญชวนประชาชนให้หันเข้ามาสู่ศาสนาอันเที่ยงธรรม หาใช่เพื่อสร้างความพินาศแก่พวกเขาแต่อย่างใดไม่
ประการที่สาม มีหลักฐานอย่างชัดเจนที่พิสูจน์ว่าท่านเป็นมนุษย์ดื้อด้านที่ไม่มีวันจะยอมจำนนต่อสัจธรรมความจริง และบุคคลใดที่ประสบกับความป่วยไข้ด้วยโรคร้ายเช่นนี้ โอสถขนานเอกที่จะใช้เยียวยารักษาโรคร้ายนี้ก็คือ ภัยพิบัติ (บะลาอ์) จากฟากฟ้า หรือไฟนรก หรือไม่ก็คมดาบจากผู้เป็นที่รักของพระองค์เท่านั้น

สำหรับประเด็นแรกที่ท่านเรียกร้องให้ฉันสำแดงหลักฐานความเป็นศาสนทูตด้วยการบันดาลให้ธารน้ำไหลรินทั่วทั้งแผ่นดินมักกะฮฺนั้น ถือเป็นข้อเรียกร้องที่บ่งบอกถึงความไม่ประสีประสาของท่านต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า มาตรว่าฉันสามารถสำแดงให้เป็นไปตามคำเรียกร้องของท่านแล้วไซร้ จะถือเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์แห่งการเป็นศาสนทูตของฉันกระนั้นหรือ ?

อับดุลลอฮฺ :- ไม่

ศาสดามุหัมมัด :- ท่านผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสวนแห่งเมืองฏออิฟ ก่อนที่สวนเหล่านั้นจะมีสภาพดังเช่นทุกวันนี้ พื้นดินมิได้เต็มไปด้วยความแข้งกระด้าง ลุ่ม ๆ ดอน ๆ และปราศจากน้ำ แล้วท่านได้ทุ่มเทความพยายามจนกลายเป็นแผ่นดินที่ราบเรียบและเต็มไปด้วยธารน้ำไหลรินหรอกหรือ ?

อับดุลลอฮฺ :- ใช่

ศาสดามุหัมมัด :- การทุ่มเทความพยายามจนธารน้ำไหลรินทั่วพื้นดินของท่าน ถือเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ว่าท่านและชาวฏออิฟเป็นศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าหรือ ?

อับดุลลอฮฺ :- เปล่า

ศาสดามุหัมมัด :- ถ้าเช่นนั้น การสามารถทำให้ธารน้ำไหลรินจึงมิใช่หลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงความเป็นศาสนทูตของมุหัมมัดเช่นกัน และคำทักท้วงของท่านก็เหมือนกับสิ่งที่ท่านได้ทักท้วงว่าพวกท่านจะไม่มีวันยอมรับในศาสนาที่ฉันนำมา จนกว่าฉันจะเดินเหินหรือรับประทานอาหารเฉกเช่นที่ประชาชนทั้งหลายได้ถือปฏิบัติกัน
ส่วนข้อเรียกร้องที่สองที่ต้องให้ฉันมีสวนอินทผลัมและองุ่นเสียก่อน ท่านและพวกพ้องของท่านชาวฏออิฟมิได้มีสวนเหล่านี้หรืออย่างไร ?... และด้วยการมีสวนดังกล่าว ท่านและชาวสวนในเมืองฏออิฟได้เป็นศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าหรืออย่างไร ?

อับดุลลอฮฺ :- เปล่า

ศาสดามุหัมมัด :- แล้วเหตุใดท่านจึงเรียกร้องต้องการให้ศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าปฏิบัติในสิ่งที่ไม่อาจจะใช้เป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงความเป็นศาสนทูตเล่า ?
ยิ่งไปกว่านั้น การท้าทายให้พิสูจน์เช่นนี้ไม่มีหลักตรรกะศาสตร์อีกด้วย เพราะไม่อาจจะใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้

ส่วนข้อเรียกร้องที่สามที่ท้าทายให้ฉัน (แสดงอภินิหารบันดาล) ให้ฟากฟ้าหล่นลงมาทับพวกท่านให้ถึงแก่ความพินาศนั้น ศาสนทูตของอัลลอฮฺมีคุณสมบัติแห่งความเมตตาและเอื้ออาทรเกินกว่าที่จะคิดทำลายล้างท่านให้พินาศย่อยยับ และเขาจะพิสูจน์สัจธรรมความจริงด้วยการสำแดงหลักฐานเท่านั้น
และความมหัศจรรย์ (มุอฺญิซาต) ที่จะใช้พิสูจน์ถึงการเป็นศาสนทูตของพระองค์จะต้องไม่เกิดจากการเลือกสรรของประชาชนด้วย ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาไม่มีวันที่จะเข้าถึงซึ่งคุณประโยชน์และโทษของมัน และบางทีพวกเขาอาจจะเลือกสรรในสิ่งที่ไม่อาจจะเป็นไปได้ด้วยประการทั้งปวง

ท่านศาสดามุหัมมัด ยังได้กล่าวต่อไปว่า “นายแพทย์จะปล่อยให้ผู้ป่วยเป็นผู้เลือกรับประทานยาตามอำเภอใจของเขากระนั้นหรือ ? หามิได้ ทว่าเขาจะเป็นผู้กำหนดตัวยาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ไม่ว่าผู้ป่วยจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม”
นอกจากนี้ ในกรณีที่บุคคลหนึ่งเอ่ยอ้างถึงกรรมสิทธิ์ว่าเขามีเหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม ผู้พิพากษาไม่มีสิทธิที่จะกล่าวกับเขาว่า หลักฐานและข้อพิสูจน์ที่ท่านนำมานั้นจะต้องสอดคล้องกับความพึงพอใจของคู่ปรปักษ์หรือฝ่ายตรงข้าม และจะต้องปล่อยให้เขาเป็นผู้เลือกสรรและตัดสินใจเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้น ไม่มีมนุษย์คนใดที่จะสามารถพิสูจน์ถึงสิทธิของตนได้

สำหรับข้อเรียกร้องที่สี่ที่ให้นำพระผู้เป็นเจ้าและทูตสวรรค์ของพระองค์มาปรากฏนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้ว ยังถือเป็นเรื่องที่ไร้สาระโดยไม่ต้องการคำสาธยายใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะพระผู้ทรงสร้างมิได้มีคุณลักษณะเฉกเช่นผู้ถูกสร้างที่จะให้พระองค์ทรงเคลื่อนไหว ปรากฏกายเบื้องหน้าบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพื่อให้พวกเขาได้เห็นพระองค์...
ท่านมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเรือกสวนไร่นาและคนสวนทั้งในเมืองฏออิฟและมักกะฮฺหรอกหรือ ?

อับดุลลอฮฺ :- ใช่

ศาสดามุหัมมัด :- แล้วท่านปฏิบัติภารกิจทั้งหมดด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ตัวแทนทำหน้าที่แทนท่าน ?

อับดุลลอฮฺ :- มอบหมายหน้าที่ให้ตัวแทนของฉัน

ศาสดามุหัมมัด :- สมมุติว่ามีกลุ่มคนสวนคัดค้านตัวแทนของท่านโดยไม่ยอมรับในการทำหน้าที่แทนของเขาจนกว่าท่านจะต้องร่วมทำหน้าที่กับเขาด้วยเท่านั้น ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องไหม ?




การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

อับดุลลอฮฺ :- ไม่

ศาสดามุหัมมัด : ถ้าเช่นนั้น ตัวแทนของท่านจะต้องทำอย่างไรเพื่อพิสูจน์ถึงการเป็นตัวแทนที่ถูกต้องของเขา ?
ถ้าเขามีหลักฐานและข้อพิสูจน์ที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวแทนอย่างถูกต้องมาจากท่านแล้ว คนสวนทุกคนจะต้องยอมรับในความเป็นตัวแทนของเขาใช่หรือไม่ ?

อับดุลลอฮฺ :- ถูกต้อง

ศาสดามุหัมมัด : สมมุติว่าคนสวนไม่ให้การยอมรับในความเป็นตัวแทนของเขา แล้วเขากลับมาหาท่านพร้อมกับกล่าวว่าพวกเขาต้องการที่จะให้ท่านไปทำงานร่วมกับฉันด้วย และตราบเท่าที่ท่านไม่ยอมไปกับฉัน ฉันก็จะไม่ไปพบกับพวกเขาอีกต่อไป ในกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าตัวแทนของท่านฝ่าฝืนคำสั่งของท่านหรือ ? และท่านจะไม่กล่าวกับเขาหรือว่า ท่านเป็นเพียงตัวแทนของฉันเท่านั้น หาใช่ที่ปรึกษาหรือผู้บังคับบัญชาของฉัน ?

อับดุลลอฮฺ :- ถูกต้อง

ศาสดามุหัมมัด : ในเมื่อท่านไม่อาจจะยอมรับข้อเรียกร้องของคนสวนและตัวแทนของท่านว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว เหตุไฉนท่านจึงโต้แย้งกับผู้ที่เป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าเล่า ? นี่จะไม่ถือเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนหรือว่าข้อเรียกร้องทั้งหลายของท่านนั้นโมฆะ (บาฏิล)
สำหรับข้อเรียกร้องที่ห้าที่ให้ฉันมีปราสาทราชวังเสียก่อนนั้น ท่านทราบดีมิใช่หรือว่ากษัตริย์แห่งอัยคุปต์เป็นเจ้ากรรมสิทธิ์ปราสาทราชวังมากมายที่ทำด้วยทองคำ ?

อับดุลลอฮฺ :- ถูกต้อง

ศาสดามุหัมมัด : ด้วยการมีปราสาทราชวังดังกล่าว เขาได้เป็นศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้ากระนั้นหรือ ?

อับดุลลอฮฺ :- เปล่า

ศาสดามุหัมมัด : ในทำนองเดียวกัน การมีปราสาทราชวังจึงไม่ถือเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงการเป็นศาสนทูตของมุหัมมัดแต่อย่างใด และมุหัมมัดย่อมไม่ถือเอาความโง่เขลาเบาปัญญาของท่านเพื่อมาหักล้างและพิสูจน์ถึงการเป็นศาสนทูตของเขาเช่นกัน
สำหรับข้อเรียกร้องที่ห้าที่ให้ฉันขึ้นไปยังฟากฟ้าเพื่อนำจดหมายจากพระผู้เป็นเจ้ามายืนยันกับเจ้านั้น การขึ้นสู่ฟากฟ้ายากเย็นยิ่งกว่าการลงมาจากฟากฟ้าเสียอีก และท่านเป็นผู้กล่าวเองมิใช่หรือว่าถึงแม้ว่าฉันจะสามารถขึ้นสู่ฟากฟ้าได้ก็ตาม ท่านก็จะไม่มีวันเชื่อและศรัทธาในตัวฉัน ในเมื่อการขึ้นสู่ฟากฟ้าของฉันมิได้มีผลที่จะทำให้ท่านมีความศรัทธาแล้ว การเดินทางกลับลงมาจากนั้นก็ย่อมมีสภาพเฉกเช่นเดียวกันนั่นเอง

นอกจากนี้ ท่านยังท้าทายให้ฉันนำจดหมายจากพระองค์ลงมาสำแดงแก่ท่านอีกด้วย และภายหลังจากฉันได้ปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นลงแล้ว มิอาจจะรู้ได้ว่าท่านจะยอมรับในความเป็นศาสนทูตของฉันหรือไม่
ดังนั้น จากคำสารภาพของท่านเอง จึงถือว่าท่านเป็นมนุษย์ที่มีความดื้อด้าน ซึ่งไม่ว่าสัจธรรมความจริงจะเด่นชัดเพียงไรก็ตาม ท่านก็จะไม่มีวันยอมจำนน ด้วยเหตุนี้ โอสถขนานเดียวที่จะเยียวยารักษาโรคร้ายที่หยั่งรากลึกอยู่ในหัวใจของท่านก็คือคมดาบของผู้เป็นทหารของอัลลอฮฺเท่านั้น...

พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานโองการแก่ฉันเพื่อสนองตอบคำท้าทายทั้งหลายของท่านเพียงประโยคเดียวเท่านั้นว่า...
“มหาบริสุทธิ์ยิ่งพระผู้อภิบาลของฉัน ฉันเป็นเพียงมนุษย์ผู้เป็นศาสนทูตของพระองค์เท่านั้น”
พระผู้อภิบาลผู้ทรงบริสุทธิ์จะไม่ทรงคล้อยตามและสนองตอบคำเรียกร้องของพวกโง่เขลาเบาปัญญา ฉันเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับพวกท่าน ฉันได้รับการสถาปนาให้เป็นศาสนทูตของพระองค์ ไม่มีความจำเป็นที่ฉันจะต้องนำหลักฐานและข้อพิสูจน์อื่นใดมาสำแดงแก่พวกท่าน นอกจากที่พระองค์ทรงประทานแก่ฉันเท่านั้น... (สรุปพอสังเขปจาก) บิหารุลอันวารฺ เล่ม 9 หน้า 269 – 280)

8. อิมามศอดิก (ขออัลลอฮฺทรงประสาทพรแด่ท่าน)กับญาบิรฺ บุตรหัยยาน
ประเด็นสนทนา : ปรัชญาทั่วไป

อิมามศอดิก คือครูคนแรกที่นำวิธีการและแบบฉบับในการถกระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียนมาใช้ในการเรียนการสอน โดยระหว่างศิษย์ด้วยกันจะนำบทเรียนที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูมาถกกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแตกฉานอย่างแท้จริง และแบบฉบับดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในสถาบันการศึกษาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการศึกษาของสายธารชีอะฮฺอิมามียะฮฺนับตั้งแต่ยุคสมัยนั้นตราบถึงปัจจุบัน

วันหนึ่งท่านอิมามศอดิก ได้สอนบทเรียนปรัชญาแก่สานุศิษย์ของท่านว่า “ทุกสรรพสิ่งล้วนอยู่ในสภาวะที่กำลังเคลื่อนไหว ถ้าปราศจากการเคลื่อนไหว จะไม่มีสิ่งใดสามารถดำรงอยู่บนโลกนี้ได้ กล่าวคือ จะไม่มีสภาพดังที่เราเห็นเช่นทุกวันนี้ จะไม่มีสิ่งใดสูญสลาย เพราะวุญูด (สิ่งที่อุบัติขึ้นมา) จะไม่สูญสลาย เพียงแต่จะเปลี่ยนสภาพเท่านั้น

ญาบิรฺ :- ท่านมั่นใจหรือว่าทุกสรรพสิ่งอยู่ในสภาวะเคลื่อนไหวโดยไม่มีข้อยกเว้น ?

อิมามศอดิก :- สำหรับฉันแล้ว ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องนี้

ญาบิรฺ :- ถ้าเช่นนั้น แสดงว่าเสียงก็สามารถเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน ?

อิมามศอดิก :- แน่นอน แต่การเคลื่อนไหวหรือการเดินทางของเสียงจะช้ากว่าแสง หลักฐานอย่างหนึ่งก็คือเมื่อท่านเห็นช่างตีเหล็กกำลังตีเหล็กอยู่ในร้าน ในวินาทีนั้นเอง ท่านจะเห็นแสงหรือประกายไฟที่เกิดขึ้นจากการกระทบกันของเหล็ก แต่เนื่องจากเสียงที่เกิดจากการกระทบกันนั้นมีความเร็วไม่เทียบเท่ากับแสง มันจึงเคลื่อนไหวมาถึงประสาทสัมผัสหูของท่านช้ากว่าแสง

ญาบิรฺ :- ช้ากว่ากันมากน้อยขนาดไหน ?

อิมามศอดิก :- ขึ้นอยู่กับระยะทางระหว่างต้นเสียงกับตัวท่าน กล่าวคือ ในระยะทางที่ใกล้ ท่านจะได้ยินเสียงเพียงไม่กี่อึดใจเท่านั้น แต่ท่านจะได้ยินช้ากว่าในระยะทางที่ไกลออกไปเป็นทวีคูณ

ญาบิรฺ :- มีการคำนวณระยะทางดังกล่าวไว้หรืออย่างไร ?

อิมามศอดิก :- ถูกต้อง นักปราชญ์ชาวกรีกนาม “อาร์คิมีดีส”(Archimedes นักคณิตศาสตร์ นักประดิษฐ์ และนักฟิสิกส์ชาวกรีกผู้ค้นพบกฎแห่งความถ่วงและคาน/ผู้แปล)ได้คำนวณระยะทางเอาไว้และกล่าวว่า :-
“มาตรว่าบุคคลหนึ่งอยู่ห่างจากต้นเสียงเป็นระยะทาง 400 ศอก เขาจะสามารถได้ยินเสียงนั้นในเวลา 8 วินาที ผลจากการคำนวณดังกล่าวจึงได้ข้อสรุปว่า ยิ่งระยะทางห่างไกลมากเท่าไร การเดินทางของเสียงก็จะยิ่งช้าขึ้นเป็นลักษณะผกผันมากขึ้นเท่านั้น

ญาบิรฺ :- จากผลลัพธ์ของการคำนวณดังกล่าว เท่ากับว่าทุกครั้งที่พระผู้เป็นเจ้าประสงค์จะตรัสกับศาสนทูตของพระองค์ จะต้องอาศัยเวลานับพัน ๆ ปีกว่าสุรเสียงของพระองค์จะเดินทางผ่านชั้นสุญญากาศจากฟากฟ้าทั้งเจ็ดลงมาถึงพื้นโลก ?

อิมามศอดิก :- ที่กล่าวกันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงประทับ ณ ฟากฟ้าชั้นเจ็ดนั้น เป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจกันไปเองต่างหาก เพราะในความเป็นจริงแล้ว พระองค์ทรงดำรงอยู่ในทุกสภาวการณ์และทุกหนทุกแห่ง ไม่มีสถานที่ใดที่ไม่มีพระองค์ ดังนั้น จึงไม่มีความห่างระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับศาสนทูตของพระองค์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม สมมุติว่าพระองค์ทรงประทับ ณ ฟากฟ้าชั้นเจ็ดจริง พระองค์ทรงเดชานุภาพที่จะบันดาลให้สุรเสียงของพระองค์ไปถึงประสาทสัมผัสของผู้เป็นศาสนทูตภายในเสี้ยววินาทีเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้ามิได้มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกับสรรพเสียงของสรรพสิ่งทั้งหลายที่จะต้องอาศัยระยะทางแต่อย่างใด
พระผู้เป็นเจ้าทรงเดชานุภาพที่จะบันดาลให้สุรเสียงของพระองค์เดินทางจากสถานที่ที่ไกลโพ้นของโลกนี้ให้ถึงประสาทสัมผัสของศาสนทูตของพระองค์แค่เพียงอึดใจหนึ่งเฉกเช่นที่พระองค์ทรงสรรสร้างโลกและจักรวาลนั่นเอง

ญาบิรฺ :- ถ้าโลกถูกสร้างมาเพียงชั่วอึดใจเดียว (ดังที่ท่านกล่าว) แล้วเหตุใดจึงกล่าวกันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกขึ้นมาในระยะเวลาหกวัน ?

อิมามศอดิก :- องค์ประกอบสำคัญของโลกอุบัติขึ้นมาในชั่วอึดใจเดียวเท่านั้น แต่ค่อย ๆ วิวัฒนาการในช่วงเวลาหกวันจนกระทั่งกลายสภาพเป็นโลกดังที่เราได้เห็นเช่นทุกวันนี้
ไม่เป็นที่สงสัยว่าในระยะเริ่มแรกของการสรรสร้างนั้น โลกหาได้มีสภาพเป็นเช่นนี้มาก่อน แต่มันได้ผ่านการวิวัฒนาการเป็นระยะเวลายาวนานจนกลายสภาพดังเช่นปัจจุบัน
และระยะเวลาหกวันดังที่พระผู้เป็นเจ้าทรงดำรัสนั้น ก็เพื่อที่จะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปได้เข้าใจเท่านั้นเอง ดังนั้น จงอย่าได้สันนิษฐานว่าจำนวน 6 วัน ณ ทัศนะของพระองค์นั้นมีระยะเวลาเท่ากับหกวันของเราท่านทั้งหลาย แต่เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าเป็นหกช่วงเวลาที่มีการวิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงจนทำให้โลกมีสภาพดังเช่นทุกวันนี้...

เอกภาพแห่งการดำรงอยู่
ญาบิรฺ :- ท่านกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่ทุกหนทุกแห่งหรือ ?

อิมามศอดิก :- ถูกต้อง ฉันกล่าวเช่นนั้นจริง และมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ฉันได้กล่าวไปนั้น

ญาบิรฺ :- แสดงว่าท่านมีความเชื่อว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ?

อิมามศอดิก :- ถูกต้อง

ญาบิรฺ :- ถ้าเช่นนั้น เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าความเชื่อของกลุ่มชนที่พากันกล่าวว่า “ผู้สร้างกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้างเป็นสิ่งเดียวกัน” (เอกภาพแห่งการดำรงอยู่ หรือ “วะหฺดะตุลวุญูด”) เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เพราะในเมื่อเราเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่ในทุกสรรพสิ่ง เท่ากับเรายอมรับด้วยว่าในทุกสรรพสิ่ง แม้กระทั่ง หิน ดิน น้ำ และพืชพรรณทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่เป็นพระเจ้า ?

อิมามศอดิก :- หาใช่เช่นนั้นไม่ ท่านกำลังเข้าใจไขว้เขวต่างหากเล่า ความเชื่อที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่ในหิน ดิน น้ำ และพืชพรรณทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่มิได้หมายความว่าหินดินน้ำและพืชคือพระเจ้า “เปรียบเสมือนน้ำมันที่อยู่ในตะเกียง แต่มิได้หมายความว่าตะเกียงคือน้ำมัน” นั่นเอง...
มาตรว่าความเชื่อดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้ก็จะต้องมีอำนาจเฉกเช่นเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าซิ เพราะทุกสรรพสิ่งล้วนคือพระเจ้า ? !

กลุ่มชนที่มีความเชื่อว่าผู้ทรงสร้างกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้างคือสิ่งเดียวกัน เท่ากับพวกเขากำลังเชื่อว่าตนเองคือพระเจ้านั่นเอง แล้วพวกเขาสามารถปฏิบัติภารกิจอะไรบ้างที่สามารถพิสูจน์ว่าพวกเขามีคุณลักษณะของความเป็นพระเจ้า ?
โอ้ ญาบิรฺ ! จงรู้ไว้เถิดว่า ถึงแม้พระผู้เป็นเจ้าจะทรงดำรงอยู่ในทุกสภาวการณ์ ทุกสถานที่ และในทุกสรรพสิ่งก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าสถานที่และสรรพสิ่ง ตลอดจนสิ่งถูกสร้างทั้งหลายคือพระเจ้าแต่อย่างใด แต่ทว่าพระองค์คือผู้ทรงบันดาลให้เกิดการเคลื่อนไหว และด้วยการเคลื่อนไหวนั้นเองที่สสาร วัตถุธาตุ พืชพรรณ และสรรพสัตว์ทั้งหลายสามารถดำรงไปตามสภาวการณ์ของมัน
บนพื้นฐานของหลักความเชื่อที่ว่า เป็นไปไม่ได้ที่ชีวิตจะปราศจากการเคลื่อนไหวนี้เอง จึงไม่มี “มุวะหิด” (Unitarian = ผู้ศรัทธาในความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) คนใดที่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าก็คือการเคลื่อนไหว ทั้งนี้เนื่องจากการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งถูกสร้าง (มัคลู๊ก) หนึ่งของพระองค์เฉกเช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งหลายนั่นเอง กล่าวโดยสรุปก็คือ ความเคลื่อนไหวเป็นสิ่งถูกสร้างที่กลายเป็นแรงผลักไสให้สรรพสิ่งถูกสร้างทั้งหลายถือกำเนิดขึ้นมานั่นเอง

พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงเคลื่อนไหว
ปวงปราชญ์แห่งกรีกล้วนต่างมีความผิดพลาดที่พวกเขาพากันกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเคลื่อนไหว ทั้งนี้เนื่องจากการเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นไม่ได้ นอกจากจะต้องมีพลังหนึ่งพลังใดที่มาผลักไสมันเท่านั้น และตราบเท่าที่พลังยังคงดำรงอยู่ การเคลื่อนไหวก็จะดำเนินต่อไป แต่ตราบใดที่พลังได้สูญสิ้นไป การเคลื่อนไหวก็จะสิ้นสุดยุติไปด้วย
พลังคือตัวผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อน และพระองค์คือผู้ทรงให้กำเนิดพลังขึ้นมา ดังนั้น พลังที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนก็คือพลังที่มาจากพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง

แต่สำหรับผู้ศรัทธาในความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เขาจะมีความเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งจะบังเกิดขึ้นมาได้จะต้องอาศัยการเคลื่อนไหว และความเชื่อเช่นนี้ก็มิได้ขัดแย้งกับเตาหีด (หลักเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า) แต่อย่างใด เพราะพระองค์ทรงบริหารโลกและจักรวาลโดยอาศัยมูลเหตุหรือปัจจัยต่าง ๆ และปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือการเคลื่อนไหวนั่นเอง
นักปรัชญาชาวกรีกบางส่วนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวเป็น “มาดดะฮฺ”(Essence ซึ่งในปรัชญากรีกหมายถึง “แก่นแท้” (Ousia or Substance) เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นสากล (Universal) สามารถเข้าใจได้ เพียงแต่ไม่ปรากฏให้เห็นภายนอก) ส่วนมาดดะฮฺและลำดับขั้นสุดท้ายของมาดดะฮฺมิใช่อื่นใดนอกจากการเคลื่อนไหว ถ้ามาดดะฮฺนั้นหยุดเคลื่อนไหว มันก็จะประสบกับความสูญสลายทันที

โอ้ ญาบิรฺ ! นักปรัชญาชาวกรีกบางคนมีความเชื่อว่าแม้แต่ทัศนะคติความคิดก็ถือเป็นมาดดะฮฺเช่นกัน พวกเขากล่าวว่าถ้าปราศจากมาดดะฮฺ ความคิดก็จะไม่บังเกิดขึ้นมา “อุปมา-อุปมัย เมื่อปราศจากดอกไม้ ย่อมไม่มีใครสามารถดอมดมกลิ่นหอมของมันได้” นั่นเอง
พวกเขากล่าวกันเช่นนั้น แต่กลับปฏิเสธทัศนะและความคิดของตนเอง
เพราะขึ้นชื่อว่าปรัชญา (หิกมะฮฺ) แล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยกรีกหรือในสมัยปัจจุบัน สารัตถะสำคัญของมันก็คือ “ไม่มีสรรพสิ่งใดที่จะสูญสลายไปอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนสภาพเท่านั้น” ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีวันสูญสลาย และจะเปลี่ยนสภาพภายหลังจากความตาย ในทำนองเดียวกัน ความคิดของเขาก็จะเปลี่ยนไปตามสภาพร่างกายด้วยเช่นกัน และไม่เป็นที่สงสัยว่ามันจะเปลี่ยนสภาพเป็นอย่างอื่น และสาเหตุและคุณลักษณะภายในของมนุษย์ที่จะคงเหลือภายหลังจากความตายของเขาก็คือวิญญาณนั่นเอง

ปรัชญาของการมีศาสนบัญญัติ
โอ้ ญาบิรฺ ! เมื่อผู้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อหลักศรัทธาในศาสนาว่าเป็นสัจธรรมความจริงแล้ว เขาจะมีความศรัทธาอย่างมั่นคงไม่คลอนแคลน ซึ่งถือเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ และเมื่อมนุษย์ได้ประจักษ์ถึงความเป็นระบบระเบียบและความสมบูรณ์ของสรรพสิ่งทั้งหลายแล้ว เขาจะมีความอิ่มเอิบและซาบซึ้งตรึงใจในสัจธรรมนั้น...

ญาบิรฺ :- แต่น่าเสียดายที่ประชาชนทั่วไปไม่เข้าใจในสารธรรมคำสอนของศาสนาอย่างถ่องแท้ พวกเขาจึงไม่สามารถสัมผัสสัจธรรมได้อย่างแท้จริง ?

อิมามศอดิก :- สาเหตุสำคัญที่ผู้คนไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับรสชาติอันซาบซึ้งของสัจธรรมก็เพราะพวกเขาขาดความรู้ความเข้าใจนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันจะสั่งเสียประชาชนให้พยายามแสวงหาความรู้อยู่เสมอ

ญาบิรฺ :- เหตุใดสัจธรรมความจริงแห่งอิสลามจึงไม่ถูกประทานให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถ้วนทั่วทุกคน ?

อิมามศอดิก :- ไม่เพียงแต่สารธรรมคำสอนอิสลามเท่านั้นที่ไม่อาจจะทำให้มนุษย์ทั้งหลายสามารถสัมผัสได้อย่างลึกซึ้ง ทว่าสารธรรมคำสอนของศาสนาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าซึ่งถูกประทานก่อนหน้าการมาของอิสลามก็มีสภาพนี้เช่นกัน

โอ้ ญาบิรฺ ! พึงสังวรเถิดว่า ศาสนานั้นแตกต่างจากปรัชญา
เมื่อนักปรัชญาคนหนึ่งสำแดงทัศนะของตนออกมา เขามิได้คาดหวังให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจในทัศนะทางปรัชญาของเขา กล่าวคือ เขาทราบดีว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่อาจที่จะสัมผัสหรือเข้าถึงทัศนะทางปรัชญาของเขาได้ แต่กลุ่มเป้าหมายที่เขาประสงค์จะสื่อไปถึงก็คือนักปรัชญาด้วยกัน หรือปวงปราชญ์ หรือผู้ที่มีความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับปรัชญาต่างหาก และเขาจะนำเสนอทัศนะที่สอดคล้องกับสติปัญญาของผู้คนเหล่านั้น

ดังนั้น ศาสนาจึงต่างจากปรัชญา
พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้ง (มับอัษ) ศาสนทูตเพื่อให้ท่านเรียกร้องเชิญชวนมนุษยชาติทั้งมวลไปสู่สัจธรรมอิสลาม มิใช่เพียงเพื่อให้ท่านเรียกร้องเฉพาะกลุ่มชนที่มีสติปัญญาเหนือกว่ากลุ่มชนทั่วไปเท่านั้น พระองค์ทรงประทานหลักฐานและข้อพิสูจน์อย่างครบครันเพื่อให้พวกเขาจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข
ในทำนองเดียวกับศาสดาก่อนหน้านี้...

ด้วยเหตุนี้ ศาสนทูตของอัลลอฮฺจึงเผยแผ่อิสลามแก่ประชาชนด้วยรูปแบบและวิธีการที่ง่ายที่สุด และสาเหตุที่ท่านมิได้นำเสนอหลักฐานเพื่อพิสูจน์สารัตถะความจริงในทุกเรื่องก็เนื่องจากประชาชนทั่วไปไม่สามารถที่จะเข้าถึงคุณค่าและประโยชน์แห่งสารธรรมคำสอนได้ทั้งหมดนั่นเอง และตราบจนกระทั่งปัจจุบัน พวกเขาก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจ (ในสิ่งที่พระองค์ทรงประทานมา) ได้ทั้งหมด
และถึงแม้ว่าจะมีผู้ที่สามารถพิสูจน์สัจธรรมความจริงแก่ประชาชนด้วยการสาธยายและนำเสนอหลักฐานที่ง่ายที่สุดก็ตาม ก็ยังไม่สามารถทำให้พวกเขาเข้าถึงสัจธรรมได้ทั้งหมดอยู่นั่นเอง
และนี่คือเหตุผลที่ว่าศาสนบัญญัติถูกประทานลงมาเพื่อสนองศรัทธาของประชาชน มิใช่เพื่อสนองสติปัญญาของพวกเขาแต่อย่างใด เว้นแต่ผู้คนที่มีความเฉลียวฉลาด มีสติปัญญาหลักแหลม และสามารถที่จะเข้าถึงคุณค่าและสารประโยชน์ของบทบัญญัติศาสนาด้วยสติปัญญาของเขาเองเท่านั้น

ปรัชญาเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับสติปัญญาของมนุษย์ ในขณะที่ศาสนามีความสัมพันธ์กับความเชื่อถือศรัทธาของพวกเขา และเฉพาะปัญญาชนมุสลิมที่ผ่านการศึกษาและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเท่านั้นที่สามารถจะเข้าถึงปรัชญาแห่งบทบัญญัติทางศาสนาได้ แต่สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น การมีศรัทธาก็ถือเป็นการเพียงพอแล้ว
ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดที่จะสาธยายปรัชญาที่เป็นบทบัญญัติทางศาสนาแก่ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากเฉพาะปวงปราชญ์ หรือนักวิชาการ หรืออย่างน้อยที่สุด บุคคลผู้นั้นจะต้องผ่านการเรียนรู้ปรัชญาเบื้องต้น จึงจะสามารถเข้าใจคำอธิบายในเชิงปรัชญาได้...

ญาบิรฺ :- ฉันมีความแปลกใจว่าเหตุใดประชาชนทั่วไปจึงไม่พยายามแสวงหาความรู้ให้เข้าถึงปรัชญาของบทบัญญัติอิสลามและนัยที่ลึกซึ้งของพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า เพราะฉันเชื่อว่าถ้าหากพวกเขาได้ประจักษ์ถึงสารธรรมดังกล่าว ศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าจะต้องก้าวไกลไปกว่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย ?

อิมามศอดิก :- ทุกศาสนาก่อนหน้านี้ล้วนแล้วแต่มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าใจในศาสนบัญญัติและเข้าใจปรัชญาหรือวิทยปัญญาของศาสนบัญญัติของตน ภารกิจในการชี้นำประชาชนให้ไปสู่วิถีที่เที่ยงธรรมจึงต้องตกเป็นหน้าที่ของผู้นำ ในอิสลามก็เช่นกัน และในอนาคตกาลข้างหน้า นักปราชญ์ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในหมู่มุสลิมก็จะยังคงแบกรับภารกิจชี้นำประชาชนดังเช่นที่เป็นอยู่ในสภาวการณ์ปัจจุบันนั่นเอง และฉันมีความเชื่อมั่นว่าสภาวการณ์เช่นนี้ก็จะยังคงดำรงต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่ความรู้สามารถแพร่หลายครอบคลุมทั่วถึงทุกคน

การแพร่หลายของความรู้ในหมู่ประชาชน ญาบิรฺ :- เป็นไปได้ไหมว่าสักวันหนึ่งวิชาความรู้จะแพร่หลายทั่วถึงประชาชนทั้งหมด ?

อิมามศอดิก :- วันนั้นจะปรากฏและเป็นจริงขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อ (ประการแรก) มนุษยชาติทั้งหลายต้องตระหนักเสียก่อนว่าจำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีความรอบรู้อย่างแท้จริง และ (ประการที่สอง) จะต้องมีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมสรรพเพื่อให้ทุกคนสามารถแสวงหาความรู้ได้อย่างสะดวกและทั่วถึงอย่างแท้จริง ( วันที่ว่านั้น ก็คือปัจจุบันนั่นเอง)

ญาบิรฺ :- หมายความว่าในวันนั้นมนุษยชาติทั้งหลายจะกลายเป็นผู้มีความรู้อย่างแท้จริง ?

อิมามศอดิก :- หามิได้ ถึงกระนั้น ความรู้ก็จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายครอบคลุมทั้งหมดอยู่นั่นเอง เพราะเมื่อถึงวันนั้น ความพร้อมที่จะแสวงหาวิชาความรู้ของแต่ละคนก็ยังคงไม่เท่าเทียมกันอยู่นั่นเอง ในสภาวการณ์เช่นนี้ ถึงแม้ว่าอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนจะเอื้ออำนวยให้ทุกคนสามารถแสวงหาความรู้ได้อย่างสะดวกเพียงไร แต่สำหรับผู้ที่ขาดความพร้อม พวกเขาจะต้องยุติการเรียน หรือหันไปเลือกเรียนในสาขาวิชาการอื่น ด้วยเหตุนี้ จะไม่มียุคสมัยใดที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนทั้งหลายกลายเป็นผู้ที่มีความรู้อย่างแท้จริงได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในสภาวการณ์เช่นนั้น จะไม่มีประชาชนที่ไร้การศึกษาเฉกเช่นวันนี้ ทั้งนี้เนื่องจากในยุคนั้นประชาชนจะสนใจและให้ความสำคัญต่อการศึกษาและแสวงหาความรู้ อย่างน้อยที่สุด พวกเขาจะสามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันนั้น ผู้รู้หรือนักปราชญ์จะสามารถสร้างความกระจ่างและให้ความรู้ความเข้าใจในสารัตถะอิสลามได้อย่างทั่วถึง...
และฉันมีความหวังว่าวันหนึ่งจะต้องมาถึง วันที่ถึงแม้ว่าประชาชนทั้งหลายจะไม่สามารถสัมผัสหรือเข้าถึงสารัตถะแห่งคำสอนของอิสลามได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุด พวกเขาส่วนใหญ่จะต้องสามารถสัมผัสและเข้าถึงสารัตถะความจริงอื่น ๆ ได้...

วิทยปัญญาของการยกเลิกศาสนบัญญัติ
ญาบิรฺ :- เหตุใดท่านศาสดา (ศ) จึงเปลี่ยนกิบละฮฺ (ทิศที่มุสลิมจะต้องผินหน้าเพื่อนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า) ? ( ในช่วงแรกของการสถาปนาศาสนทูตแห่งอิสลาม (ขออัลลอฮฺทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) “บัยตุลมุก็อดดัส” คือ “กิบละฮฺ” ของมุสลิม แต่ (ตามบันทึกของอิบนุฮิชาม กล่าวว่า) ภายหลังจากที่ท่านได้ฮิจเราะฮฺ (อพยพ) ไปยังนครมะดีนะฮฺได้เพียง 7 เดือน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงวิวรณ์ให้เปลี่ยนกิบละฮฺเป็น “กะอฺบะฮฺ” แทน)

อิมามศอดิก :- ท่านศาสนทูตอิสลาม (ขออัลลอฮฺทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) ปฏิบัติไปตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า

ญาบิรฺ :- พระผู้เป็นเจ้าไม่เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างแท้จริงหรืออย่างไร ?

อิมามศอดิก :- ทำไมหรือ ?

ญาบิรฺ :- การที่มนุษย์คนหนึ่งจะตัดสินใจเบนเข็มหรือเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตใหม่นั้น เกิดจากการไม่สามารถล่วงรู้หรือไม่ประสีประสาอย่างแท้จริงในสิ่งที่เป็นอนาคตกาล แต่สำหรับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ในทุกสรรพสิ่งอย่างแท้จริงและทรงรอบรู้อย่างอสงไขย ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่พระองค์จะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่ทรงบัญญัติไว้ คำถามจึงติดตามมาว่า ก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ทรงบัญชาให้ผู้ศรัทธาผินหน้าไปทางตุลมุก็อดดัสเมื่อพวกเขาจะนมัสการพระองค์ แล้วเหตุใดพระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระบัญชาให้พวกเขาผินหน้าไปทางกะอฺบะฮฺในเวลาต่อมา ?

อิมามศอดิก :- โอ้ ญาบิรฺ ! เหตุผลของท่านถูกต้องเพียงมิติเดียวเท่านั้น แต่ในอีกมิติหนึ่งนั้นผิดพลาด และที่ร้ายไปกว่านั้น ท่านมิได้นำมิติที่สามมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาด้วย

ญาบิรฺ :- อะไรคือมิติที่ว่านั้น ?

อิมามศอดิก :- ประชาชน ! ท่านลืมไปแล้วหรือว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงประทานบทบัญญัติลงมาเพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติทั้งมวล หาใช่เพื่อสรรพสิ่งที่เป็นวัตถุธาตุ และการดำรงอยู่ของวัตถุธาตุนั้นไม่มีความสลับซับซ้อนหรือแตกต่างกันและมีเพียงมิติเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมันจึงคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น แต่การดำเนินชีวิตทางสังคมของมนุษย์นั้น มีการวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงกำหนดบทบัญญัติให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และสภาพแวดแล้วในการดำเนินชีวิตของมนุษย์โดยผ่านศาสนทูตของพระองค์
พระองค์ทรงทราบดีนับตั้งแต่เริ่มแรกที่ทรงบัญชาให้มุสลิมในยุคนั้นผินหน้าไปทาง “บัยตุลมุก็อดดัส” ยามที่พวกเขานมาซ และทรงทราบด้วยว่าพระองค์จะทรงบัญชาให้พวกเขาเปลี่ยนทิศกิบละฮฺภายหลังจากนั้น

เราท่านทั้งหลายต่างหากที่เข้าใจไปเองว่าพระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติ แต่พระองค์ทรงตระหนักดีว่าบทบัญญัติของพระองค์คงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ดังที่ฉันจะหยิบยกมาสักสองตัวอย่างเพื่อที่จะให้ท่านได้เข้าใจในสิ่งที่ฉันกล่าวไปข้างต้นดังนี้




การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า

ถ้าแมลงวันที่ถือกำเนิดมาในช่วงกลางฤดูใบไม้ผลิสามารถมีชีวิตอยู่ได้จนกระทั่งถึงฤดูหนาวและสามารถทนทานกับอากาศอันหนาวเหน็บได้ มันจะต้องเข้าใจว่ากฎเกณฑ์ของโลกได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างแน่นอน แต่สำหรับฉันและท่านจะเข้าใจเช่นนั้นด้วยไหม ?

ญาบิรฺ :- หามิได้

อิมามศอดิก :- เพราะเราต่างทราบดีว่าหลังจากฤดูร้อน ฤดูหนาวก็จะต้องย่างกรายเข้ามา ด้วยเหตุนี้ ตามทัศนะของเราถือว่ากฎเกณฑ์แห่งการสรรสร้างของโลกนี้ยังคงที่หรือมิได้มีความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ตัวอย่างที่สอง สมมุติว่าท่านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งหนึ่ง และได้มอบให้อยู่ในการครอบครองของเพื่อนของท่านเป็นเวลาหนึ่งปี แต่เนื่องจากเขามิได้ใส่ใจในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ครั้นเมื่อท่านประสงค์จะเรียกทรัพย์สินนั้นคืนเมื่อครบกำหนดเวลา ทำให้เขางุนงงสงสัยและคิดว่าเหตุใดท่านจึงเปลี่ยนความตั้งใจ ทั้ง ๆ ที่ท่านได้ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่เริ่มแรกแล้วว่าจะมอบสิ่งนั้นให้อยู่ในครอบครองของเขาเพียงหนึ่งปีเท่านั้น
ในทำนองเดียวกันกับกฎเกณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้าที่เราต่างพากันเข้าใจว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือขัดแย้งไปจากเดิม ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงมีเจตนารมณ์มาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้วว่าจะให้เป็นไปเช่นไร และพระองค์จะไม่ทรงกำหนดกฎเกณฑ์ที่ขัดแย้งกันอย่างแน่นอน

ญาบิรฺ :- เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกิบละฮฺเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันมึนงงสงสัยมาเป็นเวลาช้านาน บัดนี้ ฉันเริ่มได้รับความกระจ่างบ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ฉันยังมีข้อข้องใจที่จะไต่ถามท่านอยู่อีก ?

อิมามศอดิก :- จงถามมาเถิด

วิทยปัญญาของการเปลี่ยนกิบละฮฺ
ญาบิรฺ :- ครั้งแรกพระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้ผู้ศรัทธานมาซผินหน้าไปทาง “บัยตุลมุก็อดดัส” มีวิทยปัญญาอะไรหรือที่พระองค์ทรงบัญชาให้เปลี่ยนเป็น “กะอฺบะฮฺ” แทน ?

อิมามศอดิก :- ในช่วงเริ่มแรกที่ท่านศาสนทูตแห่งอิสลาม (ขออัลลอฮฺทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) เริ่มเผยแผ่และเรียกร้องเชิญชวนนั้น มุสลิมยังมีจำนวนน้อยและไร้พลังอำนาจ ตรงข้ามกับศาสนิกชนชาวยิวและคริสเตียนที่เป็นชนส่วนใหญ่ของสังคม... การสร้างความขัดแย้งเกี่ยวกับกิบละฮฺ รังแต่จะสร้างความชิงชังรังเกียจให้เกิดขึ้นกับพวกเขา ด้วยเหตุนี้ พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงบัญชาให้ผู้ศรัทธานมาซผินหน้าไปทางบัยตุลมุก็อดดัส ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ชาวยิวและชาวคริสต์ซึ่งให้เกียรติต่อบัยตุลมุก็อดดัสเป็นอย่างสูงมีทัศนะคติในทางลบและตั้งตนเป็นศัตรูกับมุสลิม...

วิทยปัญญาในการเลือกกะอฺบะฮฺเป็นกิบละฮฺของมุสลิม ญาบิรฺ :- น่าจะเป็นเช่นที่ท่านกล่าว การที่มุสลิมนมาซผินหน้าไปทางบัยตุลมุก็อดดัสย่อมสร้างความพึงพอใจแก่ชาวยิวและชาวคริสต์ได้ในระดับหนึ่ง แต่คำถามก็คือเหตุใดกะอฺบะฮฺจึงถูกเลือกให้เป็นกิบละฮฺแทน เหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงเลือกสถานที่อื่น ?

อิมามศอดิก :- ท่านทราบดีใช่ไหมว่าก่อนฟัตหุลมักกะฮฺ (การพิชิตมักกะฮฺโดยท่านศาสดาและมุสลิม) กะอฺบะฮฺเคยอยู่ภายใต้การดูแลของท่านศาสนทูตแห่งอิสลาม (ศ) มาก่อน ?

ญาบิรฺ :- ใช่ครับ และกะอฺบะฮฺเป็นสถานที่รวมของเจว็ดทั้งหลาย

อิมามศอดิก :- ใครบ้างที่สักการบูชารูปเจว็ดเหล่านั้น

ญาบิรฺ :- ประชาชนในคาบสมุทรอาหรับ

อิมามศอดิก :- ในคาบสมุทรอาหรับมีคนกลุ่มใดบ้างที่ไม่ยอมสักการบูชาเจว็ด ?

ญาบิรฺ :- นอกจากชาวยิวและชาวคริสต์บางส่วนแล้ว ประชาชนล้วนสักการบูชาเจว็ดทั้งสิ้น

อิมามศอดิก :- ชาวอาหรับทุกเผ่าพันธุ์ล้วนมีเจว็ดเพื่อเป็นที่เคารพบูชาของตนเอง ด้วยเหตุนี้ กะอฺบะฮฺจึงเป็นสถานที่ที่ได้รับการเทิดเกียรติจากประชาชนในคาบสมุทรอาหรับทั้งหมด แต่เมื่อท่านศาสนทูตแห่งอิสลาม (ศ) ได้บัญชาให้ผู้ศรัทธานมาซผินหน้าไปทางกะอฺบะฮฺแทนบัยตุลมุก็อดดัสแล้ว ไม่เพียงแต่จะสร้างความแปลกใจแก่พวกเขาเท่านั้น ทว่า ฉันขอยืนยันว่าการนมาซผินหน้าไปทางกะอฺบะฮฺเป็นสิ่งที่สะดวกกว่าการนมาซผินหน้าไปทางบัยตุลมุก็อดดัส

ญาบิรฺ :- ทว่าในสมัยนั้นอิสลามมิได้จำกัดอาณาเขตอยู่แค่เพียงคาบสมุทรอาหรับเท่านั้น แต่ได้ขจรขจายไปทั้งตะวันออกและตะวันตกด้วย

อิมามศอดิก :- ถูกต้อง

ญาบิรฺ :- นั่นนะซิ นอกจากชาวอาหรับแล้ว แสดงว่าชนชาติอื่น ๆ มิได้ให้เกียรติกะอฺบะฮฺด้วยกระนั้นหรือ ?

อิมามศอดิก :- ภายหลังจากท่านศาสนทูตแห่งอิสลาม (ศ) ได้ประกาศให้กะอฺบะฮฺเป็นกิบละฮฺสำหรับมุสลิมแล้ว ชนชาติต่าง ๆ ที่มิใช่อาหรับต่างให้เกียรติต่อกะอฺบะฮฺด้วยเช่นกัน และการที่อิสลามิกชนทั่วโลกพร้อมใจกันนมาซผินหน้าไปทางกะอฺบะฮฺนั้น ทำให้กะอฺบะฮฺกลายเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับโลกอิสลามที่ไม่เคยปรากฏในศาสนาใด ๆ มาก่อนในอดีต...

ญาบิรฺ :- ความเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของกะอฺบะฮฺเพื่อการนมาซมีความสำคัญกว่า หรือว่าเพื่อการประกอบพิธีหัจญ์ ?

อิมามศอดิก :- ความเป็นศูนย์รวมเพื่อการนมาซมีความสำคัญกว่า ทั้งนี้เนื่องจากอิสลามิกชนจำนวนมากมายที่ไม่สามารถจะเดินทางไปประกอบพิธีหัจญ์ได้ถึงแม้ว่าจะแค่เพียงครั้งเดียวในชีวิตของพวกเขาก็ตาม ในขณะที่มุสลิมทุกคนซึ่งอาศัยอยู่ทั่วทุกมุมโลกสามารถที่จะนมาซผินหน้าไปทางกะอฺบะฮฺวันละห้าเวลาได้ทุกคน และอาจกล่าวได้ว่ามุสลิมจากทั่วทุกสารทิศจะผินหน้าไปสู่กะอฺบะฮฺวันละห้าเวลาตลอด 24 ชั่วโมงเป็นประจำทุกวัน และประดุจดั่งว่าในทุก ๆ วัน อิสลามิกชนทั่วโลกต่างส่งกระแสจิตและสบสายตาซึ่งกันและกันวันละห้าเวลา
ประหนึ่งอิสลามิกชนจากทั่วทุกสารทิศได้พร้อมใจกันส่งเสียงสนทนาให้หลอมรวมกัน ณ สถานกะอฺบะฮฺ มุสลิมนับพันล้านคนร่วมกันประสานเสียงจากทั่วทุกสารทิศทั้งตะวันออกและตะวันตกเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของพระผู้เป็นเจ้า (ตักบีรฺ อัลลอฮุอักบัรฺ) ซึ่งไม่เคยมีศาสนาหรือศาสนิกชนใดที่มีศูนย์รวมทางจิตวิญญาณเช่นนี้มาก่อนในอดีตกาล และจะไม่มีต่อไปในอนาคตกาลนอกจากอิสลามิกชนเท่านั้น...

สาเหตุของการฆ่าตัวตาย
ญาบิรฺ :- อะไรคือมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนบางส่วนต้องตัดสินใจฆ่าตัวตาย ?

อิมามศอดิก :- ผู้คนที่คิดสั้นทำอัตวินิบาตกรรมนั้น เนื่องจากพวกเขาไม่มีความศรัทธาในศาสนานั่นเอง ผู้ที่ศรัทธาอย่างมั่นคงในศาสนาจะไม่มีวันคิดสั้นฆ่าตัวตายอย่างแน่นอน และฉันเชื่อมั่นว่าท่านไม่เคยประสบพบพานมุสลิมที่ศรัทธามั่นในอิสลามคิดสั้นฆ่าตัวตายแม้แต่คนเดียว
เป็นไปได้ที่มุสลิมจะถูกเข่นฆ่าสังหารในสมรภูมิสงคราม แต่ไม่มีวันที่พวกเขาจะคิดทำอัตวินิบาตกรรมอย่างแน่นอน
มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนคิดฆ่าตัวตายก็คือพวกเขาสิ้นหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปนั่นเอง...
ความสิ้นหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกันคือ :-

1. ความเกียจคร้าน บางครั้ง มนุษย์จะมีความรู้สึกเกียจคร้านจนไม่อยากจะแตะต้องและรับผิดชอบภารกิจใด ๆ ทั้งสิ้น และความเกียจคร้านที่ถึงขีดสุดจะทำให้เขารู้สึกท้อแท้สิ้นหวังในทุกสิ่งทุกอย่างอย่างสิ้นเชิง และความสิ้นหวังนั้นเองที่ทำให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด

2. การพนัน ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ในศาสนาของเรา การพนันจะทำให้มนุษย์ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวภายในเวลาอันรวดเร็ว และเมื่อผู้ติดการพนันได้ประจักษ์ว่าการทุ่มเทความพยายามตลอดชีวิตของเขาต้องมาสูญสิ้นสลายภายในชั่วพริบตาเดียวเช่นนั้น กำลังใจที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปจึงไม่หลงเหลืออีกต่อไป ทำให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด

3. โรคประสาท โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากกรรมพันธุ์และโรคพิษสุราเรื้อรังที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ( จากสถิติของประเทศฝรั่งเศสเมื่อหลายปีที่ผ่านมาได้บันทึกไว้ว่า 40 % ของโรคร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศดังกล่าว เกิดจากการที่ผู้คนพากันดื่มสุราถึง 50 % ถึงขนาดที่นายแพทย์ชาวเยอรมันผู้หนึ่งได้กล่าวเตือนรัฐบาลของตนว่า “ถ้าหากพวกท่านปิดประตูโรงงานผลิตเหล้าเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าขอรับประกันว่าประเทศชาติของเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลบ้าถึงครึ่งหนึ่งเช่นกัน”)ซึ่งโรคประสาทประเภทนี้จะไม่มีวันบังเกิดขึ้นในหมู่มุสลิม ทั้งนี้เนื่องจากอิสลามิกชนไม่ดื่มสุรานั่นเอง... แต่สำหรับชนชาติที่นิยมดื่มสุราเป็นอาจิณ มีความเป็นไปได้สูงที่บุตรหลานของพวกเขาจะประสบกับโรคร้ายสองโรคคือ โรคประสาท และโรคอัมพาต

4. ประสบความล้มเหลวในชีวิต ถ้าหากมุสลิมคนหนึ่งต้องประสบกับความล้มเหลว (ทั้งทางธุรกิจหรือหน้าที่การงาน) แล้ว เขาจะไม่มีวันคิดสั้นฆ่าตัวตายอย่างแน่นอน เนื่องจากหลักคำสอนที่ให้ผู้ศรัทธาทุกคนมอบหมาย (ตะวักกุล) ต่อพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง แต่สำหรับผู้คนที่ไม่มีหลักศรัทธาเป็นสรณะ เป็นไปได้ที่เขาจะสิ้นหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป และตัดสินใจฆ่าตัวตายเมื่อประสบกับความล้มเหลวในชีวิต
ในระหว่างมูลเหตุทั้งสี่ประการ ถือว่าความเกียจคร้านเป็นมูลเหตุพื้นฐานที่สุด และสถิติของผู้ที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เกิดจากความเกียจคร้านเป็นประการสำคัญ ถ้ามีใครสามารถล่วงรู้ถึงสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในหัวใจของพวกเขาแล้ว ก็จะรู้ว่าแรงกระตุ้นสำคัญที่ผลักดันให้พวกเขาต้องคิดฆ่าตัวตายเกิดจากความเกียจคร้านนั่นเอง ในขณะที่หนึ่งในสารธรรมคำสอนของอิสลามก็คือให้มุสลิมทุกคนหลีกห่างและตั้งตนเป็นศัตรูกับความเกียจคร้าน
สัญชาติญาณของมนุษย์โดยทั่วไป พวกเขาปรารถนาความเพริดแพร้วและความสะดวกสบายโดยไม่ต้องมีพันธะผูกพันหรือแบกรับภารกิจใด ๆ โดยเฉพาะในยามรุ่งอรุณ ซึ่งการนอนหลับในช่วงนั้นเป็นยอดปรารถนาของทุกคน ในขณะที่อิสลามได้มอบหมายภารกิจสำคัญให้มุสลิมทุกคนต้องตื่นขึ้นมานมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้าก่อนรุ่งอรุณ และถือเป็นภารกิจที่มีผลอย่างใหญ่หลวงที่จะช่วยป้องกันมุสลิมทุกคนมิให้มีความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังในการดำเนินชีวิต หลังจากนมาซในยามรุ่งอรุณได้เสร็จสิ้นลง ความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจในชีวิตประจำวันย่อมมีอยู่ในตัวของมุสลิม ในทำนองเดียวกับการนมาซสี่เวลาที่เหลือ ซึ่งล้วนเป็นกิจวัตรประจำวันที่ช่วยปกป้องมุสลิมทั้งหญิงและชายมิให้เป็นคนเกียจคร้านในหน้าที่การงานทั้งสิ้น

สาเหตุของความตาย
ญาบิรฺ :- พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์และให้ชีวิตจิตวิญญาณแก่พวกเขา เหตุใดพระองค์จึงต้องลิขิตความตายและความสูญสลายแก่พวกเขาด้วยเล่า ?

อิมามศอดิก :- “ความตาย” มิได้เป็น “การสูญสลาย” ดังที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจแต่อย่างใด แต่ทว่าเป็น “การเปลี่ยนชีวิตหนึ่งไปสู่ชีวิตหนึ่ง” ต่างหาก... สำหรับมุสลิมที่ความศรัทธาของเขาเกิดจากความรู้ความเข้าใจที่ถ่องแท้แล้ว เขาจะไม่หวาดหวั่นต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างแน่นอน... แต่ถ้าผู้ที่มิใช่มุสลิมเป็นผู้ตั้งคำถามดังกล่าว ฉันจะตอบพวกเขาว่า “ความตาย คือประตูที่เปิดให้มนุษย์เข้าไปสู่ชีวิตในโลกใหม่ และเขาจะมีชีวิต (ในโลกใหม่) อีกครั้งหนึ่ง”
โอ้ ญาบิรฺ ! เจ้าเคยมีชีวิตอยู่ในครรภ์มารดาของเจ้ามาก่อนใช่ไหม ?

ญาบิรฺ :- ใช่ครับ

อิมามศอดิก :- เจ้ารับประทานอาหารขณะที่อยู่ในครรภ์มารดาใช่ไหม ?

ญาบิรฺ :- ใช่ครับ

อิมามศอดิก :- เจ้าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา เพียงแต่คลอดออกมาในสภาพของทารกใช่ไหม ?

ญาบิรฺ :- ใช่ ฉันเชื่อว่าฉันเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา

อิมามศอดิก :- พอจะนึกได้ไหมว่าในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา เจ้าเคยคิดคำนึงถึงความตายมาก่อน ?

ญาบิรฺ :- ไม่ทราบครับ

อิมามศอดิก :- นอกจากความตายแล้ว ในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา เจ้าเคยตั้งเจตนารมณ์หรือมีเป้าหมายอะไรบ้างไหม ?

ญาบิรฺ :- ฉันไม่สามารถทบทวนความทรงจำและรำลึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อครั้งที่มีชีวิตอยู่ในนั้นได้อย่างสิ้นเชิง

อิมามศอดิก :- ระหว่างการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้กับชีวิตที่อยู่ในครรภ์มารดา เจ้าคิดว่าอย่างไหนจะดีกว่ากัน ?

ญาบิรฺ :- การมีชีวิตในครรภ์มารดานั้นแสนสั้นนัก ไม่มากไปกว่า 9 เดือน

อิมามศอดิก :- บางที เจ้าอาจจะเคยจินตนาการมาก่อนก็ได้ว่าช่วงเวลา 9 เดือนสำหรับการมีชีวิตในครรภ์มารดานั้นอาจจะเนิ่นนานกว่าการมีชีวิตในโลกนี้ถึง 80 – 90 ปี ทั้งนี้เนื่องจากมาตรฐานของช่วงเวลาในแต่ละสภาวการณ์มีความแตกต่างกัน และขึ้นอยู่กับว่าใครจะสังเกตการดำเนินชีวิตของตนได้ดีกว่ากัน
ฉันเชื่อว่าบ่อยครั้งที่เวลาหลายชั่วโมงสำหรับเจ้า อาจจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วประหนึ่งว่ามันเพิ่งผ่านไปเพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น และในทางกลับกัน บ่อยครั้งที่เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง ช่างเชื่องช้าจนดูประหนึ่งว่ามันกินเวลาเป็นสิบ ๆ ชั่วโมงเลยทีเดียว ( ท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) ได้กล่าวถึงทฤษฎีความสัมพันธ์ของเวลาเมื่อสิบศตวรรษก่อนหน้าที่ “บิกเกรล” แห่งฝรั่งเศส “ไอน์สไตน์” แห่งเยอรมัน และ “ฮาวาร์ด ฮินตัน” แห่งอังกฤษ และผู้คนที่เห็นด้วยกับทฤษฎีความสัมพันธ์ของไอน์สไตน์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ (Theory of Relativity) ซึ่งเราท่านทั้งหลายต่างได้ประจักษ์ถึงความจริงดังกล่าวในการใช้ชีวิตประจำวันโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับเรื่องความฝัน กล่าวคือบางครั้งเราจะฝันเห็นเหตุการณ์ที่มีช่วงระยะเวลาอันยาวนานนับสิบ ๆ ปี ในขณะที่เรานอนหลับไปเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น)

ในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา เจ้าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีสติสัมปชัญญะและความรู้สึกนึกคิด ด้วยเหตุนี้ บางทีเจ้าอาจจะเคยมีความหวังความตั้งใจอย่างมากมาย เพียงแต่เจ้าไม่สามารถจะทบทวนความทรงจำเหล่านั้นได้ ในฐานะที่เจ้าก็เป็นปราชญ์คนหนึ่ง เจ้าไม่เคยคิดบ้างหรือว่าการคลอดออกจากครรภ์มารดามาสู่โลกนี้ คือความตายชนิดหนึ่ง ?
เจ้าเคยคิดบ้างไหมว่าในขณะที่มีชีวิตอยู่ในครรภ์มารดานั้น เจ้าปรารถนาที่จะอยู่ในนั้นตลอดไป เพราะไม่มีโลกหรือสถานที่ใดที่จะสะดวกสบายและวิเศษไปกว่านั้นอีกแล้ว และการที่จะต้องอำลาจากสถานที่ที่พิเศษเช่นนั้น (ดังที่ฉันได้กล่าวว่าเป็นความตายชนิดหนึ่ง) จะทำให้เจ้ามีความกังวลและอนาทรร้อนใจจนต้องกู่ก้องร้องตะโกนเมื่อเจ้าถือกำเนิดมาอยู่ในโลกนี้ ?

แต่ ณ วันนี้ เจ้ามีความเชื่อแล้วว่าในโลกที่เจ้ากำลังอาศัยอยู่นี้มีความวิเศษกว่าโลกที่เจ้าเคยอาศัยอยู่ในครรภ์มารดาเสียอีก

ญาบิรฺ :- ถึงแม้ว่าฉันจะไม่สามารถรู้หรือทบทวนความทรงจำถึงสภาพความเป็นอยู่ของฉันในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดาได้ แต่ฉันก็เชื่อมั่นว่าชีวิตในโลกปัจจุบันจะต้องมีความวิเศษกว่าอย่างแน่นอน

อิมามศอดิก :- นี่คือสิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่าโลกภายหลังความตายย่อมมีความวิเศษและดีกว่าโลกนี้อย่างแน่นอน

ญาบิรฺ :- ถ้าหากมีสภาพที่เลวร้ายไปกว่านี้ละ ?

อิมามศอดิก :- ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าเฉพาะกลุ่มชนที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามสารธรรมคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเคร่งครัดเท่านั้นที่โลกภายหลังจากความตายจะมีความวิเศษและดีกว่าโลกปัจจุบัน เพราะนอกจากสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาต่อมนุษยชาติในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้ว สามัญสำนึกและสติปัญญาถือว่าไม่อาจจะเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งนี้เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรอบรู้ ทรงเดชานุภาพ และทรงยุติธรรม พระองค์จะไม่ทรงบิดพลิ้วสัญญา ไม่ทรงอิจฉาริษยาและอาฆาตพยาบาทที่จะนำปวงบ่าวผู้เป็นกัลยาณชนของพระองค์จากโลกที่ดีงามไปสู่โลกที่เลวร้ายอย่างแน่นอน
และสมมุติว่าพระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงสัญญาเอาไว้อย่างชัดเจนมาก่อน แต่เนื่องจากเป้าหมายที่พระองค์ทรงสรรสร้างมนุษย์ก็เพื่อการวิวัฒนาการไปสู่ความสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ สามัญสำนึกของเราจึงสามารถตัดสินได้ว่าชีวิตภายหลังจากความตายย่อมจะมีความวิเศษกว่าชีวิตในโลกนี้อย่างแน่นอน...

ปรัชญาของการมีชีวิต
ญาบิรฺ :- ไม่เป็นการสะดวกกว่าและดีกว่าหรอกหรือที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงให้มนุษย์เราได้ถือกำเนิดเกิดมาในโลกภายหลังจากความตายซึ่งเป็นโลกที่ดีกว่าและจีรังยั่งยืนกว่านับตั้งแต่เริ่มแรกโดยไม่ต้องให้เราต้องมามีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน และไม่ต้องให้เราต้องประสบกับความตาย ?

อิมามศอดิก :-... มาตรว่าผู้ที่มิได้มีความเชื่อศรัทธาในศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ตั้งคำถามกับฉันเพื่อต้องการที่จะทราบถึงวิทยปัญญา (หิกมะฮฺ) ของพระองค์ ฉันจะตอบเขาดังนี้ว่า “เจตนารมณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้มนุษย์ผ่านขั้นตอนการดำเนินชีวิตที่หลากหลายก็เพื่อให้พวกเขาได้ผ่านการขัดเกลาตนเองและวิวัฒนาการในแต่ละขั้นตอนแห่งการดำเนินชีวิตให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าพวกเขาจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมคู่ควรที่จะเข้าไปสู่โลกที่สมบูรณ์กว่าและจีรังยั่งยืนกว่านั่นเอง...”

วิทยปัญญาของการสร้างมนุษย์ ญาบิรฺ :- คำถามต่อมาก็คือ มีความจำเป็นอันใดหรือที่พระผู้เป็นเจ้าจะต้องสร้างมนุษย์ เป็นไปได้ไหมที่พระองค์จะทรงละเว้นไม่ต้องสร้างมนุษย์ขึ้นมา ?

อิมามศอดิก :- มุสลิมทุกคนย่อมทราบดีถึงเจตนารมณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาว่าเพื่อให้พวกเขาได้ทำความรู้จักพระองค์ กล่าวคือให้มนุษย์ได้ทำความรู้จักกับที่มาและความเป็นไปของตัวเขาเอง และมุสลิมทุกคนมีความเชื่อว่าของขวัญอันล้ำค่าที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานแก่มนุษย์ก็คือการสรรสร้างเขามานั่นเอง ( ณ ที่นี้ ท่านญาบิรฺ อิบนุหัยยาน ได้ถามถึงวิทยปัญญาแห่งการสรรสร้างมนุษย์ตามทัศนะของผู้ที่มิใช่มุสลิม และท่านอิมามศอดิก (อ) ได้ตอบคำถามที่สอดคล้องกับวิทยปัญญาแห่งการสร้างสรรค์โดยรวม และเนื่องจากท่านอิมามได้ตอบคำถามที่คล้ายคลึงดังกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนในการสนทนาสองประเด็นก่อนหน้านี้แล้ว ด้วยเหตุนี้ เราจึงมิได้นำมาเสนอ ณ ที่นี้)