เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

8 เชาวาล ครบรอบวันแห่งการทำลายสุสานอัลบะกีอ์

1 ทัศนะต่างๆ 03.0 / 5

8 เชาวาล ครบรอบวันแห่งการทำลายสุสานอัลบะกีอ์

 

8 เชาวาล ครบรอบวันแห่งการทำลายสุสานอัลบะกีอ์ ในเมืองมะดีนะห์ อันเป็นสถานที่ฝังศพของบรรดาลูกหลานท่านศาสดา และบรรดาสาวกของท่านศาสดาอิสลาม ซึ่งรู้จักในนามวันการรื้อทำลาย “เยามุล ฮัดม์”

 

สุสานอัลบะกีอ์ คือ อนุสาวรีย์แห่งรัศมีของพระผู้เป็นเจ้าตลอดกาล ถึงแม้ว่าวันนี้จะมืดมิด เพราะไม่มีแม้ไฟสักดวงที่จะเปิดให้แสงสว่าง เพราะเป็นที่ฝังศพของบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ ลูกหลานท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.)ผู้นำแห่งมนุษยชาติ

 

คงไม่มีมุสลิมคนใดปฏิเสธได้ว่า สุสานอัลบะกีอ์ คือ มรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง สถานที่หนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งอิสลาม ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่จะมีเรื่องราวที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษแรกๆ ของอิสลามเท่ากับเมืองฮิญาซ

 

เนื่องจากว่า แหล่งกำเนิดต้นๆ แห่งอิสลามมีอยู่ที่นั่น และร่องรอยต่างๆ ของผู้นำผู้ยิ่งใหญ่หลายๆท่าน ในอิสลามถูกจารึกเอาไว้ ณ แผ่นดินแห่งนี้ แต่เป็นที่น่าเสียใจอย่างมากที่ในปัจจุบันนี้

 

บางกลุ่มที่คลั่งไคล้ลัทธิที่ดื้อด้านอย่างวะฮาบีย์ตักฟีรีย์ ได้ทำลายร่องรอยประวัติศาสตร์อันทรงค่าเหล่านั้นไปจนเกือบหมดสิ้น ด้วยข้ออ้างโคมลอย ซึ่งปราศจากตรรกะแห่งการอุตริกรรม และการตั้งภาคี

 

หนึ่งจากร่องรอยทางประวัติศาสตร์แห่งอัลอิสลามคือ สุสานอัลบะกีอ์ ซึ่งเป็นสุสานที่สำคัญยิ่งของอิสลามและมุสลิม เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่จะสามารถทำให้มุสลิม และมิใช่มุสลิมได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวในประวัติศาสตร์อิสลามได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้ที่เคยไปประกอบพิธีฮัจญ์มาแล้ว ก็มีน้อยคนนักที่ไม่ได้ไปเยี่ยมเยือนสุสานแห่งนี้

 

สุสานอัลบะกีอ์ คืออนุสาวรีย์แห่งรัศมีของพระผู้เป็นเจ้าตลอดกาล ถึงแม้ว่าวันนี้จะมืดมิด เพราะไม่มีแม้ไฟสักดวงที่จะเปิดให้แสงสว่าง เพราะเป็นที่ฝังศพของอิมามผู้บริสุทธิ์ ลูกหลานท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ผู้นำแห่งมนุษยชาติ ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) คือ ท่านอิมามฮะซัน (อ.), อิมามอะลี ซัยนุลอาบิดีน (อ.), อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.), และอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) และรวมถึงเหล่าสาวกผู้ทรงธรรมของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) อีกนับพันคน

 

บรรดานักกอรีผู้มีชื่อเสียง ลูกหลานบนีฮาชิมหลายท่านด้วยกันก็ถูกฝังในสุสานแห่งนี้ แล้วจะไม่ให้เรียกสุสานอัลบะกีอ์ว่า คืออนุสาวรีย์แห่งรัศมีของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไรกันเล่า?

 

ตามรายงานบุคคลแรกที่ถูกฝังในสุสาน แห่งนี้ คืออุสมาน บิน มัซอูน สาวกผู้ทรงเกียรติของศาสดามุฮัมมัด (ศ.)และท่านศาสดา (ศ.) ได้วางหินก้อนหนึ่งลงบนหลุมฝังศพของอุสมานด้วยมือของท่านเองและกล่าวว่า “จงฝังศพบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ของฉันที่นี่” แต่ต่อมาไม่นานเมื่อมัรวาน บิน ฮะกัม ผู้เป็นศัตรูกับบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้เป็นเจ้าเมืองแห่งนครมะดีนะฮ์

 

เขาได้ไปเอาหินก้อนนั้นออกเสีย และสาบานว่าเขาจะไม่ยอมให้มีหินก้อนใดสักก้อนบนหลุมฝังศพของอุสมาน บิน มัซอูน เพื่อที่ต้องการจะไม่ให้ใครรู้จักท่าน

 

หนังสือหลายเล่มที่ได้บันทึกไว้พร้อม รูปภาพจากผู้ที่เคยไปเยี่ยมเยียนสุสานอัลบะกีอ์เมื่อก่อนนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าสภาพของสุสานอัลบะกีอ์ ก่อนการเข้ามามีอำนาจของกลุ่มคลั่งไคล้ในลัทธิวะฮาบีย์ มีโดมและกรงเหล็กที่ทำด้วยทองแดงหรือเงิน กั้นล้อมรอบอย่างสวยงามวิจิตรตระการตา พร้อมทั้งมีหินศิลาจารึกนามของผู้ที่ถูกฝังอยู่ ณ ที่นั้นทุกคน แต่เมื่อวะฮาบีย์เข้ามามีอำนาจในผืนแผ่นดินฮิญาซ

 

พวกเขาลงมือทำลายอนุสาวรีย์รัศมีแห่งพระผู้เป็นเจ้านี้ทันที ตามหลักความเชื่อผิดๆ ที่พวกเขาอุปโลกน์ขึ้นมา การทำลายของวะฮาบีย์มิได้มีแค่นั้น พวกเขาลงมือทำลายสุสานอื่นๆ อีกหลายแห่งในนครมะดีนะฮ์ อาทิเช่น สุสานบรรดาชะฮีด (ผู้เสียชีวิตในหนทางพระเจ้า) ในสงคราม

 

อุฮุด หรือหลุมฝังศพของท่านฮัมซะฮ์ และอับดุลลอฮ์ บิดาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) รวมถึงอีกหลายสถานที่ในนครมักกะฮ์

 

ในความคิดและหลักศรัทธาของวะฮาบีย์ การบูรณะสุสาน การก่ออิฐหรือหินบนสุสานให้สูงกว่าพื้นดินเป็นสิ่งต้องห้าม

หรือการปฏิบัติเพื่อเป็นการให้เกียรติต่อสุสานของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยเฉพาะสุสานของบรรดาศาสดา บรรดาผู้เป็นที่รักของอัลลอฮ์

บรรดากัลยาณชนต่างๆ ก็ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งเป็นแนวความคิด ของอิบนุตัยมิยะฮ์ และศิษย์เอกของเขา

 

อิบนุก็อยยิม ที่มีความสับสนต่อรายงานต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องสุสาน จนมีการฟัตวาให้ทำลายสุสานต่างๆ ในนครมะดีนะฮ์ และต่อมาอิบนุตัยมิยะฮ์คนนี้ก็ยังได้ประกาศว่า

 

“การเยี่ยมเยียนสุสาน และการตะวัซซุล (การอาศัยสื่อยังพระผู้เป็นเจ้า) คือบิดอะฮ์ (การสร้างอุตริกรรมในศาสนา) และชิรก์ (การตั้งภาคีกับพระผู้เป็นเจ้า)”

 

อิบนุตัยมียะฮ์มีความเชื่อว่า   “การดุอาอ์ มีความนอบน้อม ขอสิ่งพึงประสงค์ ขอความช่วยเหลือ ณ สุสานอัลบะกีอ์ หรือสุสานอื่นๆ ต้องถูกประกาศห้ามอย่างจริงจัง และจะต้องทำลายสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่อยู่รอบๆ สุสานด้วย และหากยังมีการปฏิบัติสิ่งเหล่านั้นกันอีก   ก็จำเป็นที่จะต้องทำลายอย่าให้เหลือแม้แต่ซากของสุสาน แม้แต่ร่องรอยก็ไม่ต้องหลงเหลือให้เห็น”

 

ในความเป็นจริงแล้ว มวลมุสลิมต่างเห็นพร้องต้องกัน และเข้าใจกันดีโดยไม่ต้องใช้ปัญญาสักนิดว่า การขอความช่วยเหลือจากผู้ที่เป็นที่รักของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งอนุญาตในอิสลาม ไม่ได้ขัดกับบทบัญญัติศาสนาแต่ประการใด เพราะการที่มุสลิมคนหนึ่งได้ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ ผ่านท่านศาสดามุฮัมมัด และลูกหลานของท่านศาสดา (ศ.) ไม่ได้หมายความมุสลิมคนนั้นตั้งภาคีแต่ประการใด

 

เพราะเขาพึงทราบดีว่าผู้ประทานให้ คือพระองค์มิใช่ศาสดา แต่เนื่องจากว่าศาสดามุฮัมมัด (ศ.) คือบุคคลที่พระองค์ทรงรัก และเป็นคนใกล้ชิดของพระองค์ และการที่เราขอสิ่งประสงค์จากพระองค์ผ่านคนรัก และคนใกล้ชิดของพระองค์ นั่นคือการตั้งภาคีหรือ? วะฮาบีย์ถือว่าการปฏิบัติเช่นนั้นเป็นความผิดอันร้ายแรง

 

อิบนุตัยมียะฮ์ถึงขึ้นออกฟัตวาว่า

 

“หากบุคคลใดขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นที่นอกเหนือจากพระผู้เป็นเจ้า เขาต้องรีบ (เตาบัต) กลับเนื้อกลับตัว หากไม่แล้วการฆ่าเขาคนนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และทรัพย์สินทั้งหมดของเขาเป็นสิ่งอนุมัติทันที”

 

คงไม่จำเป็นต้องบอกว่าเหตุผลของการประกาศเช่นนั้นเพื่อรักษาศาสนาของพระองค์เพียงประการเดียว หากแต่ว่ามีมากกว่านั้น เพราะหากศึกษาดูโครงสร้างแนวความคิดของวะฮาบีย์แล้ว แท้จริงก็คือแนวทางหนึ่งของศัตรูแห่งอิสลามที่ต้องการเข้ามาทำลายอิสลาม ในคราบของอิสลามและมุสลิม

 

การบิดเบือนศาสนาอิสลามที่แท้จริง คือเป้าหมายหลักของศัตรู

 

แนวความคิดของวะฮาบีย์คือแนวความคิดหนึ่งที่แทรกซึมเข้ามาในหมู่มุสลิมซึ่งการถือกำเนิดของลัทธินี้ก็เป็นที่ทราบโดยทั่วไปเป้าหมายคือ สร้างความแตกแยกในหมู่มุสลิม ต่อต้านการญิฮาดและการต่อสู้ ห้ามจัดงานทำบุญต่างๆ ตามบ้านหรือในสุสาน ห้ามจัดงานวันเกิดท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) เป็นต้น โดยการโชว์สโลแกน “บิดอะฮ์” และ “ชิร์ก์” ซึ่งหากพิจารณาให้ดี การปฏิบัติทั้งหมดที่ลัทธินี้ต่อต้านล้วนนำมาซึ่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของมวลมุสลิมทั้งสิ้น

 

แปลและเรียบเรียงโดย เชคอิบรอฮีม อาแว

 

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม