ปัจจัยที่จำเป็นในการข้ามผ่านสะพาน(ซิร๊อฏ)
ปัจจัยที่จำเป็นในการข้ามผ่านสะพาน(ซิร๊อฏ)
หนึ่งในฉากที่ยากลำบากของวันกิยามะฮ์ (โลกหน้า) คือการข้ามสะพาน “ซิร๊อฏ” เพื่อที่จะข้ามผ่านสะพานที่เล็กและบางนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องเตรียมปัจจัยความพร้อมต่างๆ ของตนล่วงหน้าไว้ตั้งแต่อยู่ในโลกนี้ การปฏิบัติตามหน้าที่ต่างๆ ทางศาสนา ความรักและความเป็นมิตรต่ออะฮ์ลุลบัยติ์ (ครอบครัว) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และการละทิ้งจากบาปและการละเมิดฝ่าฝืนพระผู้เป็นเจ้า คือส่วนหนึ่งจากปัจจัยจำเป็นในการข้ามผ่านเส้นทางที่เต็มไปด้วยอันตรายนี้
การอนุมัติผ่านข้ามสะพาน ด้วยกับวิลายะฮ์
ตามคำสอนของริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหลาย หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการผ่านสะพาน “ซิร๊อฏ” คือความรักและความเป็นมิตรต่ออะฮ์ลุลบัยติ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มีริวายะฮ์ (คำรายงาน) จำนวนมากได้เน้นย้ำในประเด็นนี้ ดั่งเช่นในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่ง ท่านอิมามซอดิก (อ.) ที่ได้ชี้ถึงการเชื่อฟังปฏิบัติตามอะฮ์ลุลบัยติ์ว่า เป็นสื่อที่จะทำให้เท้าของมนุษย์มั่นคงอยู่บนสะพานซิร๊อฏ
มุฟัฎฎ็อล บินอุมัร ได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) เกี่ยวกับ “ซิรอฏ็อล มุสตะกีม” ท่านตอบว่า :
هُوَ الطَّرِيقُ إِلَى مَعْرِفَةِ اللَّهِ عَزَّ وَ جَلَّ وَ هُمَا صِرَاطَانِ صِرَاطٌ فِي الدُّنْيَا وَ صِرَاطٌ فِي الْآخِرَةِ فَأَمَّا الصِّرَاطُ الَّذِي فِي الدُّنْيَا فَهُوَ الْإِمَامُ الْمَفْرُوضُ الطَّاعَةِ مَنْ عَرَفَهُ فِي الدُّنْيَا وَ اقْتَدَى بِهُدَاهُ مَرَّ عَلَى الصِّرَاطِ الَّذِي هُوَ جِسْرُ جَهَنَّمَ فِي الْآخِرَةِ وَ مَنْ لَمْ يَعْرِفْهُ فِي الدُّنْيَا زَلَّتْ قَدَمُهُ عَنِ الصِّرَاطِ فِي الْآخِرَةِ فَتَرَدَّى فِي نَارِ جَهَنَّمَ
“มันคือทางนำสู่การรู้จักอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร และมันมีสองสะพาน สะพานหนึ่งอยู่ในโลกนี้ และอีกสะพานหนึ่งอยู่ในปรโลก สำหรับสะพานซึ่งอยู่ในโลกนี้ นั่นคือ อิมาม (ผู้นำ) ที่ถูกกำหนดบังคับให้ปฏิบัติตาม ผู้ใดที่รู้จักเขา (อิมาม) ในโลกนี้ และปฏิบัติตามการชี้นำของเขา เขาก็จะข้ามผ่านสะพานซึ่งเป็นทางข้ามนรกในวันกิยามะฮ์ และผู้ใดที่ไม่รู้จักเขา (อิมาม) ในโลกนี้ เท้าของเขาก็จะลื่นไถลจากสะพานที่อยู่ในปรโลก และจะพลัดตกลงสู่ไฟนรก” (1)
ในฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่ง ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า :
يَا عَلِيُّ إِذَا كَانَ يَوْمُ الْقِيَامَةِ أَقْعُدُ أَنَا وَ أَنْتَ وَ جَبْرَئِيلُ عَلَى الصِّرَاطِ فَلَمْ يَجُزْ أَحَدٌ إِلَّا مَنْ كَانَ مَعَهُ كِتَابٌ فِيهِ بَرَاةٌ بِوَلَايَتِكَ
“โอ้อะลีเอ๋ย! เมื่อวันกิยามะฮ์มาถึง ฉันกับเจ้าและญิบรีลจะนั่งอยู่บนสะพาน (ซิร๊อฏ) จะไม่มีใครผ่านมันไปได้ นอกจากผู้ที่มีบันทึกอยู่กับเขาซึ่งเขียนว่า ผู้รอดพ้นด้วยวิลายะฮ์ของเจ้า” (2)
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) และอิมาม (อ.) ท่านอื่นๆ นั้น ไม่ใช่แค่เพียงการเป็นชีอะฮ์แบบผิวเผินและว่างเปล่า แน่นอนว่าจำเป็นจะต้องติดตามมาด้วยการแสดงความรักความผูกพัน การรู้จักและการปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นด้วย พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :
قُلْ إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللّهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللّهُ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ
“(โอ้มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮ์ ดังนั้นจงปฏิบัติตามฉัน แล้วอัลลอฮ์จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยโทษบาปทั้งหลายของพวกท่านให้แก่พวกท่าน”
(อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 31)
วิลายะฮ์ (การยอมรับอำนาจปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ก็เช่นเดียวกัน จะเป็นจริงได้ด้วยกับการเชื่อฟังและการปฏิบัติตามแนวทางและแบบอย่างของท่านเหล่านั้น ซึ่งนั่นก็คือ การกระทำสิ่งที่เป็นหน้าที่จำเป็น (วาญิบาต) และการละทิ้งสิ่งที่เป็นข้อห้าม (มุฮัรร่อมาต) ทั้งหลาย
และที่สำคัญ “ฮักกุนนาส” (สิทธิของเพื่อนมนุษย์) จะต้องไม่ติดค้างอยู่กับเรา และหนึ่งในอุปสรรคกีดขวางที่ร้ายแรงที่มีอยู่ในสะพานซิร๊อฏ คือ “ฮักกุนนาส” (สิทธิของเพื่อมนุษย์) ในการอรรถาธิบายโองการที่ 14 ของอัลกุรอาน บทอัลฟัจญ์รุ ที่กล่าวว่า :
إِنَّ رَبَّكَ لَبِالْمِرْصادِ
“แท้จริงพระผู้อภิบาลของเจ้านั้นทรงอยู่ ณ สถานที่เฝ้าดูอย่างแน่นอน”
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า :
المِرْصَاد قَنْطَرةٌ عَلَى الصِّراطِ لا يَجُوزُها عَبْدٌ بِمَظْلَمَة
“มิรศ๊อด (สถานที่เฝ้าดู) นั้น มันคือสะพานบนซิร๊อฏ บ่าวที่ยังมีสิ่งอธรรม (ที่ติดค้างผู้อื่นอยู่) จะไม่ผ่านมันไปได้” (3)
ตัวอย่างของ “ฮักกุนนาส” (สิทธิของเพื่อมนุษย์) นั้นมีมากมาย อย่างเช่น การนินทา การใส่ร้าย การเยาะเย้ยถากถางผู้อื่น ไปจนถึงการทำให้ผู้อื่นหลงออกจากทางนำ (การทำให้ผู้อื่นมองศาสนาและการยึดมั่นในศาสนาไปในแง่ร้าย การทำให้ผู้อื่นติดยาเสพติด การทำลายชีวิตของพวกเขา และอื่นๆ)
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สาเหตุของ “ฮักกุนนาส” ที่ทำให้เขาไม่สามารถข้ามผ่านสะพานซิร๊อฏไปได้นั้น ก็คือเหตุที่เขาผู้นั้นไม่มีความดีงามใดๆ ติดตัวที่จะมอบให้แก่เจ้าของสิทธิ์ และไม่สามารถไถ่ตัวเองให้หลุดพ้นไปได้นั้น ผลของมันก็คือ เขาจะต้องรับเอาความผิดบาปต่างๆ ของเจ้าหนี้มาทบทวีแก่ตัวเอง และทำให้เขาต้องได้รับโทษทัณฑ์เพิ่มมากขึ้น ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :
انَّه لَیَأتی العَبدُ یَومَ القیامَه و قَد سَرَّته حَسَناتُهُ فَیَجییٌ الرَّجُلُ فیقولُ: یا رَبِّ ظَلَمَنی هذا فَیُؤخَذُ مِن حَسَناتِهِ فَیُجعَلُ فی حَسَناتِ الّذی سَألَهُ، فما یَزالُ کذلکَ حتّى ما یَبقى لَهُ حَسَنةٌ، فإذا جاءَ مَن یَسألُهُ نَظَرَ إلى سَیِّئاتِهِ فَجُعِلَت مَع سیّئاتِ الرَّجُلِ، فلا یَزالُ یُستَوفى مِنهُ حتّى یَدخُلَ النارَ
“แท้จริงบ่าว (ของอัลลอฮ์) จะมาในวันกิยามะฮ์ ในสภาพที่ความดีทั้งหลายของเขาจะทำให้เขาดีใจ และแล้วบุคคลผู้หนึ่งก็มา แล้วกล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ บุคคลผู้นี้ได้อธรรมต่อข้าฯ แล้วความดีทั้งหลายของเขาก็จะถูกนำไปรวมในความดีทั้งหลายของผู้ที่ทวงถามเขา และมันจะดำเนินอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งไม่มีความดีใดๆ เหลืออยู่สำหรับเขาอีก แล้วเมื่อมีผู้มาทวงถามเขาอีก พระองค์จะทรงมองดูไปยังความผิดบาปทั้งหลายของเขา มันจะถูกรวมกับความผิดบาปทั้งหลายของชายผู้นั้น และเขาจะถูกทำให้ต้องรับเอาไปอย่างครบถ้วน จนกระทั่งเขาจะเข้าสู่นรก” (4)
บทสรุป : สะพานซิร๊อฏ คือสะพานที่ทอดอยู่บนนรก และทุกคนจะต้องผ่านข้ามไปบนมัน มนุษย์ที่เป็นคนดี (ซอและห์) จะผ่านข้ามไปได้อย่างปลอดภัย และคนชั่วจะร่วงหล่นลงไปในนรก ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องจัดเตรียมเส้นทางแห่งความผาสุกไพบูลย์ของตน ด้วยการปฏิบัติตามแบบอย่างของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) อย่างมีความเข้าใจ และด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่เป็นหน้าที่บังคับ (วาญิบ) หลีกเลี่ยงจากข้อห้ามทั้งหลาย มีความอดทนและการยืนหยัดบนเส้นทางนี้
แหล่งอ้างอิง :
(1) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 8, หน้าที่ 6
(2) แหล่งที่มาเดิม
(3) แหล่งที่มาเดิม
(4) มีซานุ้ลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 6, หน้าที่ 535
เรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ