ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) แบบอย่างของความเมตตาและความเอื้ออาทร
ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) แบบอย่างของความเมตตาและความเอื้ออาทร
คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงนามชื่อของบรรดาศาสดามากกว่า 25 ท่าน พร้อมกับกล่าวถึงคุณลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของแต่ละท่านไว้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเอ่ยถึงศาสดาอิดรีส (อ.) จะกล่าวว่า:
إِنَّهُ کَانَ صِدِّیقًا نَّبِیًّا
“แท้จริงเขา (อิดรีส) เป็นผู้สัจจริง อีกทั้งเป็นศาสดา”
(อัลกุรอานบทมัรยัม โองการที่ 56)
หรือเมื่อเอ่ยถึงศาสดานุห์ (อ.) จะกล่าวว่า :
إِنَّهُ کَانَ عَبْدًا شَکُورًا
“แท้จริงเขา (นูห์) เป็นบ่าวที่กตัญญูอย่างมาก”
(อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 3)
หรือเมื่อเอ่ยถึงศาสดาอิบรอฮีม (อ.) จะกล่าวว่า :
إِنَّ إِبْراهيمَ لَحَليمٌ أَوَّاهٌ مُنيبٌ
“แท้จริงอิบรอฮีมนั้นเป็นผู้มีขันติ ผู้มีจิตใจอ่อนโยนและหันหน้าเข้าหาสัจธรรมเสมอ”
(อัลกุรอานบทฮูด โองการที่ 75)
แต่เมื่อเอ่ยถึงศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) อัลกุรอานไม่ได้หยิบยกแค่เพียงคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งของท่านเพียงเท่านั้น แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :
إِنَّكَ لَعَلَى خُلُقٍ عَظِيمٍ
“แท้จริงเจ้าคือผู้ตั้งมั่นอยู่บนจริยธรรมอันยิ่งใหญ่”
(อัลกุรอานบทอัลกอลัม โองการที่ 68)
นั่นหมายความว่า คุณลักษณะต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวของคนดีมีคุณธรรมหรือปวงศาสดา (อ.) ทั้งหลายนั้นรวมอยู่ในตัวของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในระดับที่สมบูรณ์ที่สุด
และนอกเหนือจากโองการดังกล่าวแล้ว คัมภีร์อัลกุรอานยังได้กล่าวถึงบางส่วนจากคุณลักษณะเฉพาะต่างๆ ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไว้ และในท่ามกลางคุณลักษณะเหล่านั้นที่ถูกเน้นย้ำมากที่สุด คือ
คุณลักษณะของความเมตตา ความเอื้ออาทร ความห่วงใยและการมีปฏิสัมพันธ์ที่อ่อนโยนต่อประชาชน
ดังเช่นในอัลกุรอานบทอาลิอิมรอน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงชี้ถึงเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการประกาศศาสนา และทำให้ประชาชนหันมาเลื่อมใสศรัทธาต่อศาสนาอิสลาม นั้นก็คือ ความสุภาพอ่อนโยนของท่าน โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า :
فَبِمَا رَحْمَةٍ مِّنَ اللَّهِ لِنتَ لَهُمْ ۖ وَلَوْ كُنتَ فَظًّا غَلِيظَ الْقَلْبِ لَانفَضُّوا مِنْ حَوْلِكَ
“นั่นเป็นเพราะความเมตตาจากอัลลอฮ์ ที่ทำให้เจ้าได้สุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และหากเจ้าเป็นผู้หยาบคายและมีจิตใจแข็งกระด้างแล้ว แน่นอนยิ่งพวกเขาจะเตลิดออกไปจากรอบตัวเจ้า”
(อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 159)
อีกโองการหนึ่งที่ชี้ถึงคุณลักษณะของความห่วงใย ความเอื้ออาทรและความเมตตากรุณาของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า :
لَقَد جاءَكُم رَسولٌ مِن أَنفُسِكُم عَزيزٌ عَلَيهِ ما عَنِتُّم حَريصٌ عَلَيكُم بِالمُؤمِنينَ رَءوفٌ رَحيمٌ
“แน่นอนยิ่ง ศาสนทูตคนหนึ่งจากพวกเจ้าเองได้มาหาพวกเจ้าแล้ว เป็นที่ทุกข์ใจยิ่งต่อเขาในสิ่งที่พวกเจ้าได้รับความทุกข์ยาก เป็นผู้ห่วงใยพวกเจ้า เป็นผู้กรุณาและเป็นผู้เมตตาต่อบรรดาผู้ศรัทธา”
(อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 128)
ความเป็นห่วงเป็นใยของท่านที่มีต่อชะตาชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการชี้นำ (ฮิดายะฮ์) นั้นถึงขั้นที่ทำให้ท่านทุกข์ใจและเศร้าโศกเสียใจอย่างรุนแรง จนกระทั่งพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานโองการลงมายังท่านว่า :
لَعَلَّكَ بَاخِعٌ نَفْسَكَ أَلا يَكُونُوا مُؤْمِنِينَ
“บางทีเจ้าอาจจะเป็นผู้ทำลายชีวิตของตัวเจ้าเอง เพียงเพราะพวกเขาไม่ศรัทธา”
(อัลกุรอานบทอัชชุอะรออ์ โองการที่ 3)
และพระองค์ยังได้ทรงตรัสต่อท่านว่า :
فَلَا تَذْهَبْ نَفْسُكَ عَلَيْهِمْ حَسَرَاتٍ
“เจ้าอย่าทำให้จิตใจของเจ้าระทมทุกข์เนื่องจากพวกเขาเลย”
(อัลกุรอานบทฟาฏิร โองการที่ 8)
นั่นคือความห่วงใยและความเอื้ออาทรที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีต่อประชาชนทั้งมวล
แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ