เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ผู้ศรัทธาต่อพระเจ้าและปรโลกที่หาใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริงไม่!

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

  ผู้ศรัทธาต่อพระเจ้าและปรโลกที่หาใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริงไม่!

 

   “มุนาฟิก (คนสับปลับ) ก็เหมือนกับหนูในท้องทุ่งหรือในทะเลทรายที่จะสร้างปากรังของมันไว้สองทาง โดยที่มันจะเปิดปากทางหนึ่งไว้เพื่อการเข้าออกและจะปิดอีกปากทางหนึ่งไว้...”

 

     ในอัลกุรอานบท (ซูเราะฮ์) อัลบากอเราะฮ์ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงชี้ถึงคนกลุ่มหนึ่งว่า แม้พวกเขาจะกล่าวออกมาด้วยวาจาว่าพวกเขาศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันกิยามะฮ์ (วันฟื้นคืนชีพ) แต่พวกเขาก็หาใช่ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ที่แท้จริงไม่

 

     ตัวบทของโองการ :

 

وَمِنَ النَّاسِ مَن یَقُولُ ءَامَنَّا بِاللَّهِ وَبِالْیَوِمِ الاْخِرِ وَمَا هُم بِمُؤْمِنِینَ

 

"และจากหมู่ชนนั้น มีผู้กล่าว่า เราศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันปรโลกแล้ว ในขณะที่พวกเขาหาใช่ผู้ศรัทธาไม่" (1)

 

     ในช่วงต้นของบท (ซูเราะฮ์) นี้ ได้แนะนำให้รู้จักผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ไว้ในสี่โองการและได้แนะนำผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร) ไว้ในสองโองการ และจากโองการที่ 8 ถึง 20 ได้แนะนำให้รู้จักคนกลุ่มที่สาม คือ "มุนาฟิก" (คนสับปลับ) คนพวกนี้ไม่ได้มีความศรัทธาเหมือนคนกลุ่มแรกและก็ไม่มีความกล้าหาญที่จะแสดงตนว่าเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาเหมือนคนกลุ่มที่สอง

 

     "มุนาฟิก" (คนสับปลับ) ก็เหมือนกับหนูในท้องทุ่งหรือในทะเลทรายที่จะสร้างปากรังของมันไว้สองทาง โดยที่มันจะเปิดปากทางหนึ่งไว้เพื่อการเข้า-ออก และจะปิดอีกปากทางหนึ่งไว้ เมื่อใดก็ตามที่มันรู้สึกถึงอันตรายและมีภัยคุกคาม มันจะใช้หัวของมันเปิดทางที่ถูกปิดไว้และวิ่งหนีไป ชื่อของรูลับ (ปากทางที่ถูกปิด) ของหนู คือ "نَافِقَاءُ" (นาฟิกออ์) ซึ่งคำว่า "มุนาฟิก" ( مُنَافِقٌ) ก็มีรากศัพท์มาจากคำเดียวกัน

 

      แม้ว่าจุดประสงค์ของคำว่า "นิฟาก" (ความสับปลับ) ในโองการเหล่านี้จะหมายถึง "การซ่อนการปฏิเสธศรัทธาในหัวใจและการแสดงออกถึงความศรัทธาออกมาทางภายนอก" ก็ตาม แต่ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ นั้น คำว่า "นิฟาก" (ความสับปลับ) มีความความหมายครอบคลุมอย่างกว้างขวาง โดยที่ใครก็ตามที่คำพูดและการกระทำของเขาไม่ตรงกันถือว่ามีลักษณะของความสับปลับ (นิฟาก) อยู่ในตัวเขา ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ได้ชี้ให้เห็นว่า หากเราบิดพลิ้วต่อความไว้วางใจ (อะมานะฮ์) และพูดปด และละเมิดต่อคำมั่นสัญญาของตนเอง เราคือ มุนาฟิก (คนสับปลับ) แม้ว่าเราจะทำนมาซและถือศีลอดก็ตาม

 

      ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

 

آيَةُ الْمُنَافِقِ ثَلاثٌ إِذَا حَدَّثَ كَذَبَ ، وَإِذَا وَعَدَ أَخْلَفَ ، وَإِذَا اؤْتُمِنَ خَانَ

 

"เครื่องหมายของผู้สับปลับ (มุนาฟิก) มีสามประการ คือ เมื่อเขาพูด เขาจะโกหก และเมื่อเขาสัญญา เขาจะละเมิด และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจ เขาจะบิดพลิ้ว" (2)

 

     "นิฟาก" (ความสับปลับ) คือลักษณะหนึ่งของการโกหกหลอกลวงทางด้านการกระทำและความเชื่อ และการโอ้อวด (ริยาอ์) ก็เป็นลักษณะหนึ่งของ "นิฟาก" (ความสับปลับ) ยิ่งไปกว่านั้นริวายะฮ์ (คำรายงาน) ถือว่าเป็นประเภทหนึ่งของการตั้งภาคี (ชิรก์) ต่อพระเจ้า

 

      ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

 

 ان اخوف ما اخاف علیکم الشرك الاصغر. قالوا : و ما الشرك الاصغر یا رسول الله؟ قال : الریا، یقول الله تعالی یوم القیامة اذا جاء الناس باعمالهم اذهبو الی الذین کنتم ترائون في الدنیا، فانظروا هل تجدون عندهم من جزاء؟

 

"สิ่งที่ฉันหวั่นกลัวที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับพวกท่าน คือ การตั้งภาคีเล็ก" บรรดาสาวกได้ถามว่า : "โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ อะไรคือการตั้งภาคีเล็ก?" ท่านตอบว่า : "มันคือ การโอ้อวด ในวันกิยามะฮ์ อัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่งจะทรงตรัสเมื่อหมู่ชนได้มาพร้อมกับอะมั้ล (การกระทำ) ต่างๆ ของพวกเขาว่า พวกเจ้าจงไปยังบรรดาผู้ที่พวกเจ้าได้โอ้อวดพวกเขาในขณะที่อยู่ในโลก (ดุนยา) เถิด แล้วดูซิว่าพวกเจ้าจะพบผลตอบแทน ณ พวกเขาหรือไม่ " (3)

 

แหล่งที่มา :

 

1.อัลกุรอาน บทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 8

2.ซอเฮียะฮ์ มุสลิม  กิตาบุลอีมาน ฮะดีษที่ 89

3.บิฮารุลอันวาร เล่ม72 หน้า 303

 

แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม