เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เชค มุฟีด คือใคร มีสถานอย่างไรในโลกอิสลาม

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

เชค มุฟีด คือใคร มีสถานอย่างไรในโลกอิสลาม

 

เชคมุฟีด มีชื่อเต็มว่า เชค มุฮัมมัด บินมุฮัมมัด บินอัน-นุอ์มาน ชาวเมืองแบกแดด ประเทศอิรัก เกิดวันที่ 11 ซุลเกาะดะฮ์ ฮ.ศ.ที่ 336 
มรณะคืนวันศุกร์ที่ 3 รอมฎอน ฮ.ศ.ที่ 413 รวมอายุ 95 ปี  

 

ซัยยิดมุรตะฏอ(ลูกศิษย์เชคมุฟีด)เป็นอิหม่ามนำนมาซญะนาซะฮ์ให้ มีทั้งชาวซุนนีและชีอะฮ์มาร่วมนมาซญะนาซะฮ์ให้เขาอย่างเนืองแน่น 

 

เดิมร่างเชคมุฟีดถูกฝังไว้ที่บ้านตัวเองสองปี ต่อมาร่างถูกได้ย้ายไปฝังไว้ที่เมืองกาซิมัยน์เคียงข้างกับอาจารย์ของเขา คือ เชคศอดูก ตรงบริเวณด้านล่างสุสานของอิมามมุฮัมมัด บินอะลี อัลญะวาด(อ)  

เชคมุฟีดได้ใช้ชีวิตของเขาโดยส่วนมากไปเพื่อการเผยแพร่วิชาการมัซฮับอะฮ์ลุลบัยต์(อ) เขาปกป้องและตอบโต้กับคนทุกกลุ่มที่โจมตีให้ร้ายมัซฮับนี้

 

เชคมุฟีดนับได้ว่า เป็นนักวิชาการที่มีความรู้สูงสุดในยุคที่เขามีชีวิตอยู่ มีความฉลาดหลักแหลมในการตอบคำถามและเชี่ยวชาญวิชาฟิกฮ์  ฮะดีษและอิลมุลกะลาม กล่าวกันว่า ไม่เคยมีชุบฮะฮ์(ข้อสงสัย)ใดในมัซฮับอะฮ์ลุลบัยต์(อ)ที่เขาได้ยิน เว้นเสียแต่ว่าเขาจะเขียนคำตอบชี้แจงชุบฮะอ์นั้นภายในวันนั้น 


เชคมุฟีดได้แต่งตำรับตำราไว้ 200 กว่าเล่ม ซึ่งคนรุ่นหลังล้วนได้รับประโยชน์จากเขาอย่างมากมาย อาทิเช่น
กิตาบ อัลอิรชาด ฟี มะอ์ริฟะติฮุญะญิลละฮ์ อะลัลอิบาด, ตัศฮีฮุเอียะอ์ติกอด อิมามียะฮ์,อัลอะมีลีย์ ลิลมุฟีด, อัลฟุซูลุลอะชะเราะฮ์ ลิลฆ็อยบะฮ์, อักซามุลเมาลาฟิลลิซาน, ริซาละฮ์ ฟี มะอ์นาอัลเมาลา, อัลมุกนิอะฮ์,ตัฟดีลุ อมีรุลมุอ์มินีน, อัลมะซาอิล อัตตูซียะฮ์, อัตตะอ์วีศุ ฟิลอะห์กาม,อีมาน อะบีฏอลิบ เป็นต้น

 

นับได้ว่าเชคมุฟีด เป็นอุละมาอ์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งแห่งมัซฮับชีอะฮ์สิบสองอิมาม  เขาคือผู้ก่อตั้งแนวคิดอุซูลี  คือ นำหลักฐานด้านอักลีย์มาใช้ควบคู่ไปกับวิชาอุซูลุดดีน อีกทั้งเขายังเป็นเจ้าของเฮาซะฮ์ สถาบันสอนศาสนาซึ่งมีอุละมาอ์ชีอะฮ์เรียนจบสถาบันของเขาอย่างมากมาย ทั้งทางตรง คือ ได้ศึกษากับเชคมุฟีดและทางอ้อมคือได้ศึกษาจากตำราต่างๆที่เชคมุฟีดแต่งไว้

 

เชคมุฟีดมีสถานภาพยิ่งใหญ่ในสมัยการปกครองของราชวงศ์อาลิบูยะฮ์ ท่านอะเฎาะดุดเดาละฮ์ให้เกียรติเชคมุฟีดมากถึงขั้นที่ว่ามาเยี่ยมเชคมุฟีดถึงบ้านตอนล้มป่วยด้วยพระองค์เอง

 

คำยกย่องของอุละมาอ์ซุนนีต่อเชคมุฟีด

 

อบูฮัยยาน อัตเตาฮีดี (310-414 ฮ.ศ.) กล่าวว่า อิบนุลมุอัลลัม(เชคมุฟีด) เขาเป็นนักพูดที่ดีและนักโต้เถียงที่ดี เขามีความขันติสูงต่อคู่โต้วาที และมีบุคลิกภาพงดงาม

 

อิบนุนะดีม ( มรณะ 384 ฮ.ศ.)ได้กล่าวในหนังสืออัลฟิฮ์ริสต์ของเขาว่า ในยุคของเรานั้น ตำแหน่งผู้นำชีอะฮ์สูงสุดนั้นคือเชคมุฟีด เขานำหน้าในวิชากะลามต่อสักนักคืดต่างๆ มีความละเอียดลึกซึ้งในเชาว์ปัญญา ฉันเคยพบเขาและเห็นเขาเป็นผู้ที่ปราดเปรื่อง

 

อิบนุฮะญัรได้กล่าวถึง เชคมุฟีดไว้ในหนังสือลิซานุลมีซานว่า เขา(เชคมุฟีด)เป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะลำเค็ญมากและเขามุ่งมุ่นในการแสวงหาความรู้เป็นอย่างมาก มีความงดงามในถ้อยคำของ(ชีอะฮ์)อิมามียะฮ์ จนกระทั่งมีคนกล่าวว่า เขาคือ”มินนะฮ์”บุคคลที่มีบุญคุณต่อชีอะฮ์ทุกคน

 

อิบนุกะซีรได้กล่าวถึง เชคมุฟีดไว้ในหนังสืออัลบิดายะฮ์วันนิฮายะฮ์ว่า อัลมุฟีด คือ ชัยค์ของพวกชีอะฮ์อิมามียะฮ์ คือผู้ที่แต่งตำราไว้ให้พวกเขา และเป็นผู้ปกป้องสถาบันวิชาการของพวกเขา

 

เชคมุฟีดคือ มุญญัดดิดของชีอะฮ์

 

เชคมุฟีดได้สำแดงให้ประจักษ์ถึงแนวคิดและทัศนะต่างๆของเขา อันเป็นการสร้างกฏเกณฑ์ใหม่ให้กับวงการชีอะฮ์อิมามียะฮ์ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอะกีดะฮ์อิสลาม 

 

กล่าวคือ ในหมู่อุละมาอ์ชีอะฮ์ยุคก่อนนั้น พวกเขาจะยึดตัวบทอัลกุรอานและฮะดีษตามตัวอักษร โดยไม่มีการตะอ์วีล(ตีความ)หรืออธิบายเนื้อหาให้กว้างออกไป ตลอดจนไม่นำอักลีย์(สติปัญญา)อธิบายขยายความ แต่เราจะพบว่า 

 

เชคมุฟีด คือ หนึ่งในบรรดาอุละมาอ์รุ่นแรกที่เดินข้ามสิ่งนี้ไปสู่การยึดหลักตรรกะ(มันติก)เพื่อการอธิบายตัวบทเหล่านั้น เพราะตำราชีอะฮ์ต่างๆก่อนยุคเชคมุฟีด บางส่วนจะยึดตัวบทอักษรในเรื่องอะกีดะฮ์โดยไม่ตรวจสอบและวิเคราะห์ให้ละเอียด 

 

ส่วนเชคมุฟีดได้ทำการพิจารณาแก้ไขการบันทึกต่างๆ และได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการคัดลอกและการเขียนให้มีความถูกต้อง ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดคือ เชคมุฟีดได้ตรวจสอบตำราของเชคศอดูกชื่อกิตาบ “อิอ์ติกอดาต อัลอิมามียะฮ์” ให้มีความถูกต้อง 

 

โดยเชคมุฟีดได้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ตัศเฮียะฮ์ อัลอิอ์ติกอด” และตำราอะกีดะฮ์ของเชคมุฟีดที่เด่นอีกเล่มหนึ่งคือ 

 

“อันนุกะตุ อัลอิอ์ติกอดียะฮ์” 


กล่าวคือ ตำราเล่มนี้เชคมุฟีดได้แบ่งหลักศรัทธาชีอะฮ์เพื่อการศึกษาให้เข้าใจง่ายออกเป็น 5 ข้อคือ เตาฮีด ,อาดิล, นุบูวะฮ์, อิมามะฮ์ และมะอาด 

         

ด้วยเหตุนี้ เชคมุฟีดจึงถือว่าเป็นมุญัดดิด(ผู้ฟื้นฟู)วิชาการคนแรกๆสำหรับเรื่องอุซูลุดดีนของมัซฮับชีอะฮ์ และยังเป็นผู้แสดงแนวคิดต่างๆของมัซฮับชีอะฮ์อีกด้วย

 


บทความโดย เชคอับดุลญะวาด สว่างวรรณ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม