เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

วันอาชูรอ คือวันแห่งการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

วันอาชูรอ คือวันแห่งการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)

 

เกี่ยวกับวันแห่งการปรากกฎกาย (ซุฮูร) และการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) นั้น มีคำรายงาน (ริวายะฮ์) ที่หลากหลายได้ถูกรายงานไว้ ซึ่งในบางรายงานกล่าวว่า วันแห่งการปรากฏกาย (ซุฮูร) ตรงกับวันอีดนูรูซ บางรายงานกล่าวว่าตรงกับวันอาชูรอ บางรายงานกล่าวว่าตรงกับวันเสาร์หรือวันศุกร์ - แน่นอนจากกรณีที่ว่าอีดนูรูซซึ่งเป็นปีตามสุริยคติ และวันอาชูรอเป็นการคำนวณจากปีทางจันทรคติ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะตรงกัน และก็เป็นไปได้ที่จะมาบรรจบตรงกันในวันศุกร์หรือวันเสาร์

 

      สำหรับกรณีของคำรายงานต่างๆ ที่พูดถึงวันแห่งการปรากฏกาย (ซุฮูร) มีสองวันนั้น (คือบางรายงานบอกว่าเป็นวันศุกร์และบางรายงานเป็นวันเสาร์) ก็สามารถอธิบายให้เหตุผลได้ กล่าวคือ ในกรณีที่คำรายงานเหล่านี้มีสายรายงานที่ถูกต้อง (ซอเฮี๊ยะห์) คำรายงานต่างๆ ที่พูดถึงวันศุกร์จะถูกอรรถาธิบายว่าเป็น "วันของปรากฏกาย" (ซุฮูร) และคำรายงานต่างๆ ที่พูดถึงวันเสาร์คือ “วันของการจัดตั้งและการเริ่มต้นการยืนหยัดและการทำลายล้างบรรดาผู้ต่อต้าน” อย่างไรก็ตาม คำรายงานต่างๆ ที่พูดถึงวันเสาร์นั้น ในด้านของสายรายงานยังต้องมีการพิจารณาและตรวจสอบ แต่คำรายงานที่พูดถึงวันศุกร์นั้นไม่มีปัญหาใดๆ ในด้านของสายรายงาน (1) แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ การยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมาม (อ.) จะตรงกับวันเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ประเด็นดังกล่าวนี้ชี้ให้เราได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์อันเป็นพิเศษระหว่างผู้นำขบวนการต่อสู้ทั้งสองท่านนี้เป็นอย่างดี

 

      ท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) ได้กล่าวว่า

 

کاني بالقائم يوم عاشورا يوم السبت قائماً بين الرکن و المقام و بين يديه جبرئيل ينادي: البيعة لله فيملأها عدلا کما ملئت ظلما و جورا

 

“ประหนึ่งว่าฉันกำลังมองเห็นกออิม กำลังยืนอยู่ในระหว่างรุกน์และมะกอมในวันอาชูรอซึ่งตรงกับวันเสาร์ และเบื้องหน้าของเขานั้นญิบรออีลกำลังป่าวประกาศว่า “ท่านทั้งหลายจงให้สัตยาบัน (ต่อเขา) เพื่ออัลลอฮ์เถิด” แล้วเขาก็จะทำให้แผ่นดินเต็มเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม เช่นเดียวกับที่มันถูกทำให้เต็มไปด้วยความอธรรมและการกดขี่” (2)

 

      ท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) ได้กล่าวเช่นกันว่า

 

ان القائم صلوات الله عليه ينادي باسمه ليلة ثلاث و عشرين و يقوم يوم عاشورا يوم قتل فيه الحسين بن علي (ع)؛

 

“กออิม (อ.) จะถูกป่าวประกาศด้วยชื่อของเขาในค่ำคืนที่ 23 ของเดือนรอมฎอน และเขาจะยืนหยัดขึ้นในวันอาชูรอ วันที่ท่านฮุเซน บุตรของท่านอะลี (อ.) ถูกสังหาร" (3)

 

การล้างแค้นของอิมามมะฮ์ดี (อ.) จากบรรดาผู้ที่สังหารอิมามฮุเซน (อ.)

 

       ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวกับท่านอิมามซัยนุ้ลอาบิดีน บุตรชายของท่านว่า

 

یا ولدی یا علی و الله لایسکن دمي حتی یبعث الله المهدی(عج). فیقتل علی دمی من المنافقین الکفرة الفسقة سبعین ألفاً

 

"โอ้อะลี ลูกรักของพ่อ! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ เลือดของพ่อจะยังไม่สงบนิ่ง จนกว่าอัลลอฮ์จะส่งมะฮ์ดี (อ.) มา แล้วเขาจะสังหารผู้ที่หน้าซื่อใจคด ผู้ปฏิเสธ ผู้ประพฤติชั่ว ถึงเจ็ดหมื่นคน เพื่อแก้แค้นแทนเลือดของพ่อ” (4)

 

       อับดุสสลาม บินซอและห์ ฮะรอวี ได้เล่าว่า ฉันได้กล่าวกับท่านอิมามริฎอ (อ.) ว่า “โอ้บุตรของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์! ท่านมีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับฮะดีษที่ถูกรายงานมาจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ที่กล่าวว่า

 

اذا قام (خرج) القائم عليه السلام قتل ذراري قتلة الحسين عليه السلام بفعال آبائهم

 

เมื่อท่านกออิม (อ.) ยืนหยัดขึ้น ท่านจะสังหารลูกหลานของบรรดาผู้ที่สังหารท่านอิมามฮุเซน (อ.) เนื่องจากการกระทำของบรรพบุรุษของพวกเขา”

 

      ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า «هو كذلك» “ถูกต้องแล้ว มันเป็นจริงเช่นนั้น” ฉันจึงถามท่านว่า “แล้วพระดำรัสของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ที่พระองค์ทรงตรัสว่า  «وَلَا تَزِرُ وَازِرَةٌ وِزْرَ أُخْرَى» “และไม่มีผู้แบกรับความรับผิดชอบคนใดที่จะต้องจะแบกรับบาปของผู้อื่น” จะหมายความว่าอย่างไร” ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า

 

صدق الله في جميع اقواله ولكن ذراري قتلة الحسين يرضون بفعال آبائهم ويفتخرون بها، ومن رضي شيئاً (كان) كمن اتاه، ولو ان رجلاً قتل في المشرق فرضي بقتله رجل في المغرب لكان الراضي عند الله عز وجل شريك القاتل، فانما يقتلهم القائم عليه السلام اذا خرج لرضاهم بفعل ابائهم

 

“ทุกคำพูดที่อัลลอฮ์ทรงตรัสนั้นเป็นความจริง แต่เนื่องจากเชื้อสายของผู้ที่สังหารท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้นพึงพอใจและภาคภูมิใจต่อพฤติกรรมของบรรพบุรุษของพวกเขา และผู้ใดก็ตามที่พึงพอใจต่อสิ่งใด ก็เหมือนกับว่าตัวเขาเองเป็นผู้กระทำสิ่งนั้น และหากว่ามีผู้หนึ่งถูกฆ่าทางทิศตะวันตกและอีกคนหนึ่งทางทิศตะวันออกพึงพอใจต่อการถูกฆ่าของเขา แน่นอนยิ่ง ณ อัลลอฮ์ (ซ.บ.) แล้ว ผู้ที่พึงพอใจนั้นจะมีส่วนร่วม (ในความผิดบาป) กับผู้ฆ่าคนนั้น และแท้จริงแล้วเมื่อท่านกออิม (อ.) ปรากฏตัวขึ้น ท่านจะสังหารพวกเขาเหล่านั้น ก็เนื่องจากความพึงพอใจของพวกเขาที่มีต่อพฤติกรรมของบรรพบุรุษของพวกเขา” (5)

 

แหล่งที่มา :

 

(1) เจ็ชเม่ อันดอซ เบะฮ์ ฮุกูมะเต้ มะฮ์ดี, นัจญ์มุดดีน ฏ้อบะซี, หน้าที่ 63

 

(2) อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้าที่ 274 ; กัชฟุลฆุมมะฮ์, เล่มที่ 3, หน้าที่ 252 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 52, หน้าที่ 290

 

(3) อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้าที่ 274 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 52, หน้าที่ 290

 

(4) อัลมะนากิบ, อิบนุชะฮ์รอชูบ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 85 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้าที่ 299 ; เจ็ชเม่ อันดอซ, หน้าที่ 148

 

(5) ชะรออิอุลอิสลาม, เล่มที่ 1, หน้าที่ 219 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 52, หน้าที่ 313 ; อิษบาตุ้ลฮุดาต, เล่มที่ 3, หน้าที่ 455 ; เจ็ชเม่ อันดอซ, หน้าที่154

 

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม