การยึดถือพระผู้เป็นเจ้าเป็นหลักในทัศนะของอิมามฮะซัน อัลมุจตะบา
หนึ่งในความคาดหวังที่สำคัญที่สุดที่บรรดาศาสดาและผู้นำ(อิมาม)ทุกท่านมีต่อปวงบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า นั่นก็คือ การที่พวกเขาจะยึดเอาพระผู้เป็นเจ้าเป็นที่ตั้งในการกระทำและพฤติกรรมต่าง ๆ ของตน จะยึดเอาความพึงพอพระทัยของพระองค์มาก่อนทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นพื้นฐานของกิจการทั้งมวลในการดำเนินชีวิตของตนเอง
ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ก็เช่นเดียวกันซึ่งตัวท่านเองนั้นคือ ผู้ที่ยึดเอาพระผู้เป็นเจ้าเป็นที่ตั้งและทุกๆ อณูแห่งชีวิตของท่านนั้นมีความบริสุทธิ์ใจและดำเนินไปในทิศทางแห่งความพึงพอพระทัยของพระองค์ ท่านเองก็มีความคาดหวังจากประชาชาติมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดาชีอะฮ์ของท่านที่จะต้องยึดเอาความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าเป็นที่ตั้งหรือเป็นหลักพื้นฐานในกิจการต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิตของพวกเขา โดยที่บางครั้งท่านก็จะแสดงความคาดหวังดังกล่าวนี้ออกมาในรูปของคำพูดที่อธิบายให้เห็นถึงผลอันเลวร้ายของการที่คนเราคำนึงหรือยึดเอามนุษย์เป็นที่ตั้งจนเป็นเหตุทำให้ต้องเบี่ยงเบนออกจากความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า โดยที่ท่านกล่าวว่า
مَنْ طَلَبَ رِضَی اللّهِ بِسَخَطِ النّاسِ كَفاهُ اللّهُ اُمُورَ النّاسِ وَ مَنْ طَلَبَ رِضَی النّاسِ بِسَخَطِ اللّهِ وَكَلَهُ اللّهُ اِلَی النّاسِ
“ผู้ใดที่แสวงหาความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นเหตุทำให้มนุษย์โกรธเกลียด พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้เขาพอเพียงจากกิจการทั้งหลายของมนุษย์ และผู้ใดที่แสวงหาความพึงพอใจของมนุษย์จนนำไปสู่ความกริ้วโกรธของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจะทรงปล่อยวางเขาให้เป็นหน้าที่ของมนุษย์” (1)
และบางครั้งท่านจะชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์และคุณค่าต่างๆ ของการยึดเอาพระผู้เป็นเจ้าเป็นที่ตั้งและการคำนึงถึงความพึงพอพระทัยของพระองค์ โดยที่ท่านจะกล่าวว่า
اَنَا الضّامِنُ لِمَنْ لَمْ یَهْجُسْ في قَلْبِهِ اِلاّ الرِّضا اَنْ یدْعُوَ اللّهَ فَیسْتَجابُ لَهُ
“ฉันจะเป็นผู้ให้หลักประกันแก่บุคคลที่ไม่มีสิ่งใดปรากฏขึ้นในหัวใจของเขานอกจากความพึงพอพระทัย (ของพระผู้เป็นเจ้า) เพียงเท่านั้น ในการที่เขาจะวิงวอนของต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยที่พระองค์จะทรงตอบรับเขา”(2)
มีผู้รายงานฮะดีษคนหนึ่งได้เล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยอ้างคำพูดจากท่านอิมามฮะซัน (อ.)ว่า ในวันอีดิลฟิตริ ท่านอิมามฮะซัน(อ.)ได้เดินผ่านประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังเล่นและหัวเราะขบขันกันอยู่ ท่านได้หยุดยืนที่พวกเขาและกล่าวว่า
اِنَّ اللّهَ جَعَلَ شَهْرَ رَمَضانَ مِضْمارا لِخَلْقِهِ فَیسْتَبِقُونَ فیهِ بِطاعَتِهِ اِلی مَرْضاتِهِ فَسَبَقَ قَوْمٌ فَفازُوا وَ قَصَّر آخَرُونَ فَخابُوا
“แท้จริงพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนดให้เดือนรอมฎอนเป็นสนามฝึกสำหรับปวงบ่าวของพระองค์ที่พวกเขาจะแข็งขันชิงชัยกันในเดือนนี้ไปสู่ความพึงพอพระทัยของพระองค์ด้วยการเชื่อฟังพระองค์ ดังนั้นกลุ่มชนใดที่นำหน้า พวกเขาก็ได้รับความสำเร็จ และกลุ่มชนใดที่บกพร่อง พวกเขาก็พบกับความขาดทุน” (3)
การบรรลุสู่ความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้านั้นคือ ความปรารถนาของปวงศาสดาทั้งมวล ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองในริวายะฮ์(คำรายงาน)บทหนึ่งจึงได้กล่าวว่า ท่านศาสดามูซา(อ.)ได้ทูลขอต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า
يا رَبِّ ، دُلَّني على عَمَلٍ إذا أنا عَمِلتُهُ نِلتُ بهِ رِضاكَ فَأوحَى اللّه إلَيهِ يا بنَ عِمرانَ ، إنّ رِضايَ في كُرهِكَ و لَن تُطِيقَ ذلكَ ... فَخَرَّ موسى عليه السلام ساجِدا باكِيا.... فَأوحَى اللّه إلَيهِ إنّ رِضاي في رِضاكَ بِقَضائي
“โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์! โปรดทรงชี้แนะแก่ข้าพระองค์ถึงอะมั้ล(การกระทำ)หนึ่ง ซึ่งเมื่อข้าพระองค์กระทำมันแล้ว ข้าพระองค์จะได้รับความพึงพอพระทัยจากพระองค์” พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงวิวรณ์แก่ท่านว่า: “โอ้บุตรของอิมรอนเอ๋ย! แท้จริงความพึงพอใจของข้านั้นอยู่ในสิ่งที่เจ้ารังเกียจ เจ้าจะไม่สามารถปฏิบัติสิ่งนั้นได้หรอก” มูซา (อ.)ได้ก้มลงซุญูดในสภาพที่ร่ำไห้....ดังนั้นพระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงวิวรณ์แก่ท่านว่า : “แท้จริงความพึงพอใจของข้านั้นอยู่ในความพึงพอใจของเจ้าต่อการกำหนด (กอฎออ์) ของข้า” (4)
เชิงอรรถ
(1)-มีซานุลฮิกมะฮ์, มุฮัมมะดี เรย์ ชะฮ์รี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 153
(2)-บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 43, หน้าที่ 351
(3)-ตุหะฟุลอุกูล, หน้าที่ 410, อะดีษที่ 22
(4)-มุนตะค็อบ มีซานุลฮิกมะฮ์, มุฮัมมะดี เรย์ ชะฮ์รี, หน้าที่ 221, ฮะดีษที่ 2628
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน