เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การขอลุแก่โทษ (เตาบะฮ์) ในอัลกุรอาน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

การขอลุแก่โทษ (เตาบะฮ์) ในอัลกุรอาน
‎ 
‎ แม้ว่า จะมีรายงานต่าง ๆที่บ่งบอกว่า หากผู้ใดก็ตามที่ขอลุแก่โทษ ก่อนตายหรือตอนใกล้ตาย การขอลุแก่โทษของเขาก็จะถูกตอบรับ  แต่ตามการอธิบายอย่างชัดแจ้งของอัลกุรอานบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การขอลุแก่โทษตอนใกล้ตายนั้นจะไม่ถูกตอบรับ
‎ 
وَلَيْسَتِ التَّوْبَةُ لِلَّذِينَ يَعْمَلُونَ السَّيِّئَاتِ حَتَّى إِذَا حَضَرَ أَحَدَهُمُ الْمَوْتُ قَالَ إِنِّي تُبْتُ الآنَ‎ 
‎ 
‎ “การขอลุแก่โทษ(ที่อัลลอฮฺจะทรงรับ) นั้นมิใช่สำหรับบรรดาผู้ที่กระทำความชั่วต่างๆ จนกระทั่ง‎เมื่อความตายได้มายังคนหนึ่งคนใดในพวกเขา แล้วเขาก็กล่าวว่า บัดนี้แหละข้าพระองค์ขอลุแก่โทษ”‎ ‎ 
‎ (ซูเราะฮ์ นิซาอ์ โองการที่ 18) 
‎ 
อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี กล่าวไว้ว่า : สาเหตุที่การขอลุแก่โทษในสภาพเช่นนี้ไม่ถูกตอบรับนั้นก็เนื่องจากว่า เขาหมดหวังจากการมีชีวิตและกลัวในวันกิยามัตจึงทำให้เขาต้องจำยอมขอลุแก่โทษ ในเมื่อไม่มีการใช้ชีวิตในโลกนี้และไม่มีความประพฤติที่ดีงามหลงเหลืออยู่แล้วการขอลุแก่โทษอย่างแท้จริงก็ย่อมไม่มีเช่นกัน กล่าวคือ การขอลุแก่โทษในสภาพนั้นไม่ใช่เป็นการขอลุแก่โทษที่แท้จริง 
‎ 
‎ อีกด้านหนึ่งช่วงเวลาของความตายไม่ได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนสำหรับมนุษย์ทุกคน อาจเป็นได้ที่เขาอาจจะตายตอนนี้อย่างกระทันหันโดยที่เขาไม่ได้ขอลุแก่โทษ  ด้วยเหตุนี้มนุษย์จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องของการขอลุแก่โทษอยู่ตลอดเวลา อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลยที่ต้องตายไปในสภาพที่ไม่มีโอกาสลบล้างบาป 
‎ 
‎ นอกจากนั้นการล่าช้าในการขอลุแก่โทษและพอกบาปต่าง ๆ เอาไว้ เปรียบดังที่เขาได้ มักหมม ‎ความสกปรกโสมมเอาไว้เป็นเวลานานจนยากเกินที่จะทำความสะอาดมันได้  ด้วยเหตุนี้การล่าช้าในการขอลุแก่โทษนอกจากจะทำให้จิตวิญญาณของมนุษย์ต้องสกปรกแล้วยังเป็นการเปิดทางให้ทำบาปซ้ำซากและบาปอื่น ๆ ตามมา และเป็นไปได้ว่าเราอาจจะไม่มีโอกาสที่จะขออภัยโทษอีกเลย 
‎ 
ความสัมพันธ์ระหว่างการ “เตาบะฮ์”และการ “อิสติฆฟาร” 
‎ 
‎  มีโองการต่าง ๆมากมายที่กล่าวถึงเรื่องของการ “เตาบะฮ์”และการ “อิสติฆฟาร”  การเตาบะฮ์ ที่แท้จริงคือ ความเสียใจจากการทำบาปและตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะละทิ้งบาปนั้น และการเตาบะฮ์นี้จึงค่อยออกมาเป็นการอ้อนวอนขออภัยโทษ 
‎ 
ท่านอิมามอาลี (อ) กล่าวว่า : “เตาบะฮ์” คือความเสียใจจากก้นบึ้งของหัวใจ และการ “อิสติฆฟาร” ‎คือ การขอลุแก่โทษด้วยคำพูด   
‎ 
หรือจะกล่าวอีกได้ว่า การ “ อิสติฆฟาร” และการอ้อนวอนขออภัยโทษนั้นคือขั้นตอนหนึ่งของการ ‎‎“เตาบะฮ์”ที่แท้จริง ที่มนุษย์จะร้องขอวิงวอนอภัยโทษจากความผิดบาปต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยความ‎เสียใจอย่างที่สุด 
‎ 
โองการที่ 3 ซูเราะฮ์ฮูด กล่าวถึง การ “อิสติฆฟาร”และ “เตาบะฮ์” ด้วยกันว่า 
‎ 
وَأَنِ اسْتَغْفِرُوا رَبَّكُمْ ثُمَّ تُوبُوا إِلَيْه‎ 
‎ 
‎“และพวกท่านจงขออภัยโทษจากพระผู้อภิบาลของพวกท่าน แล้วจงกลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์...” 
‎ 
การคำนึงถึงประเด็น การ “เตาบะฮ์”และการ “อิสติฆฟาร” พร้อมกันนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่าง‎ยิ่ง อันที่จริงเมื่อพิจารณาโองการนี้อย่างถี่ถ้วน เราก็จะพบว่า ขั้นตอนหนึ่งของการขอภัยโทษที่แท้จริงนั้นก็คือ การร้องขอวิงวอนอภัยโทษจากบาปต่าง ๆต่อพระผู้เป็นเจ้า กล่าวอย่างสรุปก็คือว่า ‎การ “อิสติฆฟาร” นั้นคือ สิ่งที่มาถ่ายทอดแก่นแท้ของการ “เตาบะฮ์” 
‎ 
ผลของการ “เตาบะฮ์” และ การ “อิสติฆฟาร” 
‎ 
‎ ผลและความเป็นสิริมงคลของการ “เตาบะฮ์”และการ “อิสติฆฟาร” ทั้งทางด้านจิตวิญญาณและทางด้านวัตถุนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่านำมาพิจารณา ซึ่งจะขอกล่าวถึงผลทางด้านจิตวิญญาณเพียงบางส่วนดังนี้ 
‎ 
‎1. ได้รับความเมตตาและการได้รับอภัยโทษ 
‎ 
وَمَنْ يَعْمَلْ سُوءًا أَوْ يَظْلِمْ نَفْسَهُ ثُمَّ يَسْتَغْفِرِ اللَّهَ يَجِدِ اللَّهَ غَفُورًا رَحِيمًا‎ 
‎ 
‎“และผู้ใดที่กระทำความชั่วหรืออธรรมแก่ตัวเอง แล้วเขาขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ เขาก็จะพบว่าอัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงอภัยโทษ เป็นผู้ทรงเมตตายิ่ง” (ซูเราะฮ์ นิซาอ์ โองการที่ 110) 
‎ 
มีรายงานจากอิมามมุฮัมบาเกร (อ.)ว่า : ผู้ที่ขออภัยโทษนั้นเปรียบดังผู้ที่ไม่เคยทำบาปมาก่อนเลย 
‎ 
‎2. ได้รับความเมตตาและการอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแผ่ไพศาล 
‎ 
ทั้ง ๆที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาว่าจะทรงรับการขอลุแก่โทษจากการทำบาป แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า ‎พระผู้เป็นเจ้าทรงรับการอภัยโทษแค่ใหน  อาจเป็นไปได้ที่บาปนั้นจะหนักอึ้งจนทำให้มนุษย์หมดหวังที่จะได้รับอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ ! 
‎ 
‎ เมื่อเราได้ใคร่ครวญในโองการต่าง ๆ เราก็จะได้รับคำตอบว่า ไม่มีเวลาใดและสภาพใดเลยที่มนุษย์จะหมดหวังจากพระผู้เป็นเจ้า และความเมตตาของพระองค์นั้นยังคงแผ่ปกคลุมมวลบ่าวของพระองค์อยู่เสมอ อัลกุรอานได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า : 
‎ 
قُلْ يَا عِبَادِيَ الَّذِينَ أَسْرَفُوا عَلَى أَنْفُسِهِمْ لا تَقْنَطُوا مِنْ رَحْمَةِ اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ يَغْفِرُ الذُّنُوبَ جَمِيعًا ‏إِنَّهُ هُوَ الْغَفُورُ الرَّحِيمُ‎ 
‎ 
‎ “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด)โอ้ปวงบ่าวของข้า ! บรรดาผู้ละเมิดต่อตัวของพวกเขาเอง พวกท่านอย่าได้หมดหวังต่อพระเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺทรงอภัยความผิดทั้งหลายทั้งมวล แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” 
‎ 
‎ ถือได้ว่าโองการนี้เป็นโองการที่ให้ความหวังมากที่สุดแก่ผู้ที่ทำบาป ความแผ่ไพศาลของความเมตตานั้นถึงขนาดที่ว่า มีรายงานหนึ่งจากอิมามอาลี (อ.)ว่า : “ไม่มีโองการใดในอัลกุรอานที่จะแผ่ไพศาลมากไปกว่าโองการนี้อีกแล้ว” มีรายงานจากท่านษูบาน ผู้เป็นบ่าวรับใช้ท่านศาสนทูต (ซ็อล ‎ฯ) ว่า : “ฉันไม่ปรารถนาที่จะนำโลกนี้และสิ่งที่อยู่ในโลกนี้ทั้งหมดมาแลกกับโองการนี้” 
‎ 
จากโองการข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ทำบาปไม่ว่าบาปนั้นจะอยู่ในระดับใดก็ต้องไม่หมดจากความเมตตาอันแผ่ไพศาลของพระผู้เป็นเจ้า เพราะพระองค์คือผู้ทรงรับการอภัยโทษและทรงเมตตายิ่ง 
‎ 
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าจะมีโองการและรายงานต่าง ๆ ให้ความหวังแก่มนุษย์ว่าอย่าหมดหวังจากการให้อภัยโทษของพระผู้เป็นเจ้า แต่ผู้มีศรัทธาต้องเตรียมพร้อมและพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณของอยู่อยู่เสมอ เพราะการมีศรัทธาที่แท้จริงนั้นจะทำให้มนุษย์ไม่กล้าที่จะทำบาปต่อพระองค์ 
‎ 
‎ อย่างไรก็ตามบาปย่อมส่งผลที่ไม่ดีแม้ว่ามันจะถูกลบล้างไปแล้วก็ตาม  จะทำให้มนุษย์ถูกกีดกันจากการไปถึงยังจุดสมบูรณ์แบบของความเป็นมนุษย์ด้วยกับความยำเกรงและการประพฤติดี และสิ่งนี้ไม่สามารถนำสิ่งใดมาทดแทนได้เลย 
‎ 
‎3. ทำให้จิตผ่องแผ้วและบริสุทธิ์ 
‎ 
‎ การ “เตาบะฮ์”และการ “อิสติฆฟาร”  สำคัญอย่างมากในการล้างจิตวิญญาณและจิตให้ผ่องแผ้ว ‎ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ดำรัสว่า : “ จิตใจของมนุษย์เปรียบดังโลหะที่เปรอะเปื้อนด้วยสนิม ดังนั้นจงขจัดสนิมนั้นด้วยการขอลุแก่โทษและการอ่านอัลกุรอานเถิด” 
‎ 
‎4. ได้รับความปลอดภัยและการคุ้มครองให้พ้นจากการกระซิบกระซาบของชัยฏอน 
‎ 
‎   ชัยฏอน คือศัตรูที่เป็นมาช้านานและสาบานแล้วว่าจะกระซิบซาทุกขณะให้มนุษย์หลงทางให้จงได้ ด้วยเหตุนี้มนุษย์ต้องให้ความสำคัญกับอาวุธที่จะมาต่อสู้เพื่อให้พ้นจากความชั่วร้ายของมัน ‎ท่านศาสนทูต (ซ็อล ฯ)ดำรัสว่า “ บุคคลสามกลุ่มที่รอดพ้นจากความชั่วร้ายของชัยฏอน คือ ผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮฺ (ซบ.) , ผู้ที่ร้องให้เนื่องจากเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) และผู้ที่ขออภัยโทษในยามก่อนรุ่งสาง” 
‎ 
‎5. ได้รับโอกาสในการเข้าถึงวิทยาการที่ยังคุณค่า 
‎ 
‎ ความรู้และวิทยาการที่ยังคุณค่านั้นได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งมนุษย์จากถูกกีดกันจากสิ่งอันจำเริญนี้เนื่องจากบาปของพวกเขา แต่เขาจะได้รับประโยชน์จากความรู้และวิทยาการนั้นอีกด้วยกับการ “เตาบะฮ์”และการขอลุแก่โทษ มีรายงานจากอิมามศอดิก (อ.)ว่า “ ใครก็ตามที่กล่าวขออภัยโทษติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน  เขาจะได้พบกับคลังแห่งวิชาการ , ความร่ำรวยและปัจจัยยังชีพ” 
‎ 
‎ 
ขอขอบคุณเว็บไซต์อัชชีอะฮ์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม