เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การปกครองในอัลกุรอาน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

การปกครองในอัลกุรอาน

โดย เชคอิมรอน พิชัยรัตน์


หัวข้อเกี่ยวกับ “การปกครองในอัลกุรอาน” ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยจะเห็นได้ว่ามีหนังสือมากมายที่ได้เขียนรายละเอียดเรื่องการปกครองไว้

ในบทความสั้นๆ นี้คงไม่อาจนำเนื้อหาที่กว้างและลึกเหล่านั้นมานำเสนอได้ทั้งหมด แต่จะจำกัดลงมาในคำถามหนึ่งที่ต้องการคำตอบชัดเจนในประเด็นนี้ว่า อัลกุรอานกล่าวถึงการปกครองของศาสนาไว้หรือไม่อย่างไร? ซึ่งจะขอกล่าวในสามหัวข้อต่อไปนี้:

คำว่า “ฮุกม์-حُکم” ในอัลกุรอานหมายถึง “บัญชา” “การตัดสินชี้ขาด” ซึ่งการบัญชาและตัดสิ้นชี้ขาดในที่นี้เป็นกรรมสิทธิ์ที่สงวนไว้เฉพาะแต่พระเจ้าเท่านั้น เพราะไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์ที่แท้จริงในการออกคำสั่งและบัญชาได้นอกจากพระองค์เท่านั้น จึงเห็นได้ว่าในอัลกุรอานจะใช้คำต่างๆ ที่สื่อถึงความหมายเฉพาะไว้ เช่น:

إِنِ الْحُكْمُ إِلَّا لِلَّـهِ “การตัดสินเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์”(ซูเราะฮ์ยูซุฟ โองการที่ 67)

أَلَا لَهُ الْحُكْمُ “พึงสังวรการตัดสินชี้ขาดเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์”(ซูเราะฮ์อัลอันอาม โองการที่ 62)

لَهُ الْحَمْدُ فِي الْأُولَىٰ وَالْآخِرَةِ ۖ وَلَهُ الْحُكْمُ “บรรดาการสรรเสริญเป็นของพระองค์เท่านั้นทั้งโลกนี้และโลกหน้า และการตัดสินชี้ขาดเป็นของพระองค์เท่านั้น” (ซูเราะฮ์อัลกอศ็อศ โองการที่ 70)

وَاللَّهُ يَحْكُمُ لَا مُعَقِّبَ لِحُكْمِهِ “อัลลอฮ์ทรงตัดสิน ไม่มีใครเป็นผู้ทัดทานการตัดสินของพระองค์ได้”(ซูเราะฮ์อัรเราะอ์ด โองการที่ 41)

فَالْحُكْمُ لِلَّهِ الْعَلِيِّ الْكَبِيرِ “ดังนั้นการตัดสินชี้ขาดเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงเกรียงไกรยิ่ง(ซูเราะฮ์อัลฆอฟิร โองการที่ 12)

อำนาจการปกครองทั้งหมดนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง

وَلَهُ مَا فِي السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ “ และสิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์”(ซูเราะฮ์อันนะห์ล โองการที่ 52)

โองการต่างๆ ในลักษณะนี้อธิบายถึงพระเจ้าทรงเป็นเจ้าของที่ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งผลที่ตามมานั้นก็คืออำนาจการปกครองทั้งหมดย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ด้วยเช่นกัน การบัญชาและการตัดสินชี้ขาดไม่ว่าในด้านของตักวีนีและตัชรีอี ย่อมมาจากพระองค์ทั้งสิ้น ทว่ามีบางส่วนที่อัลลอฮ์ทรงตรัสเชื่อมโยงบทบัญญัติของหลักการศาสนาแก่ท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) เช่น:

وَأَنِ احْكُمْ بَيْنَهُمْ بِمَا أَنْزَلَ اللَّهُ “และ(เจ้าโอ้มุฮัมหมัด)จงตัดสินระหว่างพวกเขาตามที่อัลลอฮ์ประทานลงมา” (ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 49)

فَاحْكُمْ بَيْنَهُمْ بِمَا أَنْزَلَ اللَّهُ “และเจ้าจงตัดสินระหว่างพวกเขาตามที่อัลลอฮ์ประทานลงมา” (ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 48)

อัลลอฮ์(ซบ.) ทรงมีอำนาจการปกครองด้านบทบัญญัติด้วยการส่งบรรดาศาสนทูตของพระองค์ลงมา และท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) คือศาสดาท่านสุดท้ายที่พระองค์ทรงลงมาปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในการจัดตั้งการปกครองศาสนาและการปกครองแบบอิสลามขึ้น เพื่อให้องคาพยพการปกครองสอดคล้องกับบทบัญญัติของพระเจ้า กล่าวคือ การปกครองของพระเจ้าในสังคมมนุษย์ดำเนินไปบนเส้นทางของการปกครองศาสนาผ่านท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมามมะอ์ซูมนั่นเอง

ประเด็นการปกครองศาสนาและการปกครองแบบอิสลามเป็นประเด็นที่ชัดเจนและมีเหตุมีผลในคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะอัลกุรอานได้ให้ความสำคัญเป็นการเฉพาะในด้านสังคมของมนุษย์ โดยจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติส่วนมากนั้นถูกบัญชาไว้แก่ผู้คนทั่วไป เช่น:

وَأَقِيمُوا الصَّلَاةَ “และพวกเจ้าจงดำรงการนมาซ”(ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 43)

كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ “การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้าแล้ว” (ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 183)

وَلْتَكُنْ مِنْكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلَى الْخَيْرِ وَيَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنْكَرِ “และจงให้มีชนกลุ่มหนึ่งจากพวกเจ้าที่เชิญชวนไปสู่ความดีงาม กำชับกันให้กระทำคุณงามความดี และห้ามปรามจากการกระทำความชั่ว” (ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน โองการที่ 104)

وَجَاهِدُوا فِي سَبِيلِهِ “และจงต่อสู้ในวิถีทางของพระองค์”(ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 35)

وَلَكُمْ فِي الْقِصَاصِ حَيَاةٌ “และในบทบัญญัติกิศอศ(การชดใช้ชีวิตด้วยชีวิต)คือการธำรงไว้ซึ่งชีวิตสำหรับพวกเจ้า”(ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 179)

أَنْ أَقِیمُوا الدِّینَ وَ لاتَتَفَرَّقُوا فِیهِ “ว่าพวกเจ้าต้องยืนหยัดต่อศาสนาและอย่าได้แตกแยกในเรื่องนั้น” (ซูเราะฮ์อัชชูรอ โองการที่ 38)

ในตัฟซีรนุอ์มานี รายงานจากอิมามอาลี (อ.) ท่านได้กล่าวหลังจากโองการเหล่านี้ว่า: กลุ่มโองการเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่าประชาชาติต้องมีผู้นำในการยืนหยัดต่อภาระกิจเหล่านั้น การกำชับและห้ามปราม นำข้อบัญญัติต่างๆของพระเจ้ามาปฏิบัติใช้ในสังคม ต่อสู้กับเหล่าศัตรู และนำข้อบังคับ(วาญิบ)ต่างๆมาปฏิบัติใช้ ปรับปรุงแก้ไขฟื้นฟูสังคม ปกป้องรักษาให้ผู้คนปลอดภัยจากสิ่งที่เป็นภัยและเสียหาย เพราะการกำชับแลห้ามปรามทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ต่อไปไม่เช่นนั้นแล้วการส่งเสริมสนับสนุนและความกลัวจะถูกทำลายไป ทำให้ไม่มีใครเกรงกลัวการทำบาป ทำให้สังคมเสื่อมเสียอันเป็นเหตุให้ปวงบ่าวของพระองค์พบกับความพินาศ” (ตัฟซีรเมาฎูอี เล่ม 10 หน้า 28-29)

มีกล่าวไว้ในตัฟซีรอัลมีซานว่า:ในยุคต้นอิสลามอำนาจการปกครองสังคมนั้นเป็นของท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ) โดยอัลลอฮ์(ซบ.) ทรงบัญชาให้การเชื่อฟังปฏิบัติตามท่านนั้นเป็นข้อบังคับ(วาญิบ)เหนือบรรดามุสลิมและผู้คนทั้งหมด

وَأَطِيعُوا اللَّهَ وَأَطِيعُوا الرَّسُولَ “และจงภักดีต่ออัลลอฮ์และจงเชื่อฟังศาสนทูต” (ซูเราะฮ์อัตตะฆอบุน โองการที่ 12)

النَّبِيُّ أَوْلَىٰ بِالْمُؤْمِنِينَ مِنْ أَنفُسِهِمْ “ศาสดานั้นทรงสิทธิ์เหนือบรรดาผู้ศรัทธายิ่งกว่าตัวของพวกเขาเอง”(ซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ โองการที่6)

قُلْ إِنْ كُنْتُمْ تُحِبُّونَ اللَّهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللَّهُ “จงกล่าวว่า หากพวกเจ้ารักอัลลอฮ์ ก็จงปฏิบัติตามฉันแล้วอัลลอฮ์จะทรงรักพวกเจ้า” (ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 31

สิ่งที่ชัดเจนนั่นก็คือในอัลกุรอานไม่ได้กล่าวถึงการปกครองศาสนาไว้เป็นหัวข้อเฉพาะ ทว่าเข้าใจได้จากกลุ่มโองการต่างๆ ที่กล่าวถึงบทบัญญัติทางศาสนา การอบรมประชาชาติและหน้าที่บางประการเกี่ยวกับอำนาจและการปกครองไว้ในหมู่ประชาชาติทำให้ประเด็นการปกครองศาสนานั้นสมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นเหตุผลทางด้านสติปัญญาขั้นพื้นฐานก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า เป็นไปได้อย่างไรกันสำหรับศาสดาที่ถูกส่งลงมาเพื่อชี้นำมนุษยชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม แต่กลับไม่ให้ความสำคัญเรื่องการปกครอง ทั้งที่อำนาจการปกครองนั้นเป็นสื่อและเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม กล่าวคือ ความสำเร็จ ความก้าวหน้าและการแก้ไขปัญหาด้านปัจเจกของเขานั้นต้องพึ่งพาสังคม หมายถึงว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยกันเป็นกลุ่มโดยสัญชาตญาณดั้งเดิม ความสำเร็จ ความสมบูรณ์และความผาสุกของเขาเกี่ยวโยงกับการใช้ชีวิตเป็นกลุ่ม ชีวิตสันโดษและการปลีกตัวออกจากสังคมนั้นไม่อาจทำให้เขาพัฒนาและประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับเขานอกจากต้องอาศัยกันเป็นกลุ่มก้อนและสังคมองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตด้านสังคมของมนุษย์คือ ความปลอดภัย ความวุ่นวายของการไร้กฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพราะหากปราศจากความปลอดภัยสังคมนั้นก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างร่มเย็น มีความสุขและประสบความสำเร็จ ดังนั้นเพื่อให้ไปถึงยังเป้าหมายที่ตั้งไว้มนุษย์จำเป็นต้องมีการปกครองที่สร้างความมั่นคงปลอดภัยขึ้นในเบื้องต้น จึงเห็นได้ว่าตลอดหน้าประวัติศาสตร์มนุษย์พยายามหาหนทางและไขว่คว้าระบบการปกครองต่างๆ แม้แต่ระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการ เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข มั่นคงและปลอดภัย เพราะอย่างน้อยการปกครองสามารถที่จะปกป้องสังคมจากความวุ่นวายโกลาหลได้

ดังนั้นทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์จะมีชีวิตที่สงบสุข ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ความมั่นคง ได้ด้วยการต้องมีระบบการปกครอง และจากที่ยกโองการต่างๆข้างต้นมานั้นได้บทสรุปว่า อำนาจการปกครองนั้นเป็นของอัลลอฮ์ และทรงมอบอำนาจนี้แก่ศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) และยุคการเร้นกายของอิมามแห่งยุคสมัยอำนาจการปกครองนี้ถูกมอบไว้ให้แก่ฟะกีฮ์ (ปราชญ์)ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน บ่าวที่ซอลิห์ของพระองค์ ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 44

“แท้จริงเราได้ประทานคัมภีร์เตารอตลงมา ในนั้นมีทางนำและรัศมี บรรดาศาสดาผู้ซึ่งน้อมรับบัญชาของอัลลอฮ์ได้ใช้คัมภีร์นั้นบรรดาชาวยิว และบรรดานักบวชอีกทั้งบรรดานักปราชญ์ก็ได้ตัดสินไปตามคัมภีร์ของอัลลอฮ์ที่พวกเขาได้รับมอบหมายให้รักษาไว้ และพวกเขาเป็นพยานยืนยันคัมภีร์นั้นด้วย…”
โองการข้างต้นชี้ให้เห็นว่าบรรดานักปราชญ์ (นักการศาสนาที่มีคุณสมบัติ) ก็มีอำนาจปกครองตามพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นอำนาจที่อยู่คู่กับตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าเรื่อยมาตั้งแต่สมัยท่านศาสดาอีซา (อ) และศาสดามูซา (อ)

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม