แบบอย่างด้านมารยาทที่ดีงามของท่านอบุลฟัฎล์ อัลอับบาส (อ)
แบบอย่างด้านมารยาทที่ดีงามของท่านอบุลฟัฎล์ อัลอับบาส (อ)
ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่าง ๆ ของอิสลาม หนึ่งในมรดกที่ล้ำค่าที่สุดที่ผู้เป็นพ่อสามารถมอบให้กับลูก ๆ ของตนนั้นถูกแนะนำไว้ว่ามันคือมารยาท ถึงขั้นที่ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวว่า :
لا میراث کالادب
“ไม่มีมรดกใดที่จะเลอเลิศเหมือนดั่งมารยาท (และการอบรมขัดเกลา)” (นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 13)
คุณลักษณะนี้คือหนึ่งจากคุณลักษณะที่สำคัญและเด่นชัดที่สุดที่มีอยู่ในตัวของท่านกอมัร บนีฮาชิม หรือท่านอบุลฟัฎล์ อัลอับบาส (อ.) ตลอดช่วงชีวิตของท่านและอายุขัยของท่านนั้น ท่านได้พยายามระวังรักษามารยาทด้วยวิธีการที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งและต่อปวงบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อท่านอบาอับดิลลาฮ์ อิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นพี่ชายของท่าน
คุณลักษณะที่สำคัญและเป็นจุดเด่นเฉพาะตัวนี้ สามารถพบเห็นได้ในมิติต่าง ๆ แห่งการดำเนินชีวิตของท่านอับบาส (อ.) ซึ่งในที่นี้จะขอชี้ให้เห็นตัวอย่างบางส่วนจากมิติเหล่านั้นในชีวิตของมหาบุรุษท่านนี้
1) มารยาทในการเชื่อฟังปฏิบัติตาม
ท่านอบัลฟัฎลิ์ อัลอับบาส (อ.) นั้น ทั้งในการเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าและทั้งในการเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำ (อิมาม) ของท่านนั้น ถือว่าอยู่ในแนวหน้าและนำหน้าประชาชนทั้งหมดในยุคสมัยของตน เมื่อครั้งที่ท่านอมีรุ้ลมะอ์มินีน อะลี (อ.) ได้ขอให้ท่านอะกีลน้องชายของท่านช่วยคัดเลือกสตรีคนหนึ่งเพื่อมาเป็นภรรยา โดยที่ท่านคาดหวังว่าคุณลักษณะของการเชื่อฟังปฏิบัติตามและการให้การช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน (อ.) หัวหน้าบรรดาชะฮีด (ผู้พลีชีพ) จะเป็นส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะต้น ๆ ของบุตรที่จะถือกำเนิดขึ้นมาจากภรรยาในอนาคตของท่าน โดยท่านได้กล่าวว่า :
اُریدُ مِنکَ أن تَختِبَ لی إمرَآةً مِن ذَوِ البُیوتِ وَ الحَسبِ وَ النَّسَبِ وَ الشُّجاعَة لِکَی اُسیبَ مِنها وُلدا یَکونُ شجاعاً أضُدا یَنصُرَ وَلَدیَ الحُسَین لِیُواصیهِ لِنَفسِهِ فی طَفِّ کَربلا
“ฉันต้องการให้ท่านคัดเลือกสตรีคนหนึ่งจากผู้ที่มีบ้านเรือน มีชาติตระกูล มีสายตระกูลที่ดีงามและมีความกล้าหาญ เพื่อที่นางจะได้ให้กำเนิดบุตรแก่ฉันที่มีความกล้าหาญและมีความเข้มแข็ง ซึ่งเขาจะให้การช่วยเหลือฮุเซนบุตรของฉัน เพื่อที่เขา (ฮุเซน) จะมอบภารกิจแก่เขาให้ปฏิบัติแทนตนในแผ่นดินกัรบะลา”
ท่านอับบาสได้ไปถึงระดับหนึ่งของมารยาทในการเชื่อฟังและการปฏิบัติตาม โดยที่ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) บทหนึ่งได้ฉายภาพบุคลิกภาพอันสูงส่งนี้ของท่านให้ทุกคนได้เห็นโดยกล่าวว่า :
“ท่านอบุลฟัฎล์ อัลอับบาส จะไม่นั่งเคียงข้างท่านอิมามฮุเซน (อ.) โดยปราศจากการขออนุญาตจากท่าน และหลังจากได้รับอนุญาตให้นั่งแล้ว ท่านจะนั่งลงเหมือนกับบ่าวผู้ถ่อมตนที่นั่งคุกเข่าอยู่เบื้องหน้าเจ้านายของตน” (มะอาลิซซิมฏ็อยน์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 443)
ท่านได้ไปถึงตำแหน่งอันสูงส่งของมารยาทในการเชื่อฟังและการปฏิบัติตามผู้นำ โดยที่ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับบุคลิกภาพของบุรุษแห่งพระเจ้าท่านนี้ไว้เช่นนี้ว่า :
رَحِمَ الله عمِّي العبّاس، فلقد آثر وأبْلي وَ فَدي أخاهُ بِنَفسِهِ حَتّي قُطِعَتْ يداه، فَأبْدَلَهُ اللهُ عزّ و جلّ بها جناحَيْن يَطِير بهما مع الملائکة في الجنّة، کما جَعَل لِجعفر بْن أبي طالب، و انّ للعباس عندالله تبارک و تعالي منزلة يَغْبِطُهُ بها جميعُ الشُّهداءِ يَوْمَ الْقِيامَةِ
“ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่านอับบาสน้าชายของฉัน แน่นอนยิ่งท่านได้เสียสละ แบกรับความเจ็บปวดและได้พลีอุทิศชีวิตของตนเองแด่พี่ชายของตน จนกระทั่งแขนทั้งสองของท่านถูกตัดขาด ดังนั้นอัลลอฮ์ (ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกร) ได้ทรงมอบสองปีกให้ท่านเพื่อโบยบินอยู่ในสวรรค์ร่วมกับมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงประทานให้แก่ท่านญะอ์ฟัร บุตรของท่านอบีฏอลิบ และแท้จริงสำหรับท่านอับบาสนั้นมีตำแหน่ง (อันสูงส่ง) ณ อัลลอฮ์ (ผู้ทรงจำเริญผู้ทรงสูงส่ง) ที่บรรดาชะฮีด (ผู้พลีชีพ) ทั้งมวลจะรู้สึกอิจฉา (อยากได้เหมือน) ท่านในตำแหน่งนั้น” (อัล อามาลี, เชคซอดูก, หน้าที่ 462)
2) มารยาทในการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า
ท่านอับบาสเป็นผู้รำลึกและเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งด้วยรูปแบบที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังเช่นในบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวประวัติของท่านได้มีปรากฏเช่นนี้ว่า ท่านเป็นบุตรชายของอิมาม (อะลี) ผู้ซึ่งการอิบาดะฮ์ต่าง ๆ ในยามดึกสงัดของท่านเป็นที่เลื่องลือทั้งในหมู่ประชาชนทั้งหลาย ท่านคือบุคคลซึ่งถูกบันทึกเกี่ยวกับสถานภาพของท่านไว้เช่นนี้ว่า :
کانَ فاضِلاً عالِماً عابِداً زاهِداً فَقیهاً تَقیّاً
“ท่านเป็นผู้มีความประเสริฐ เป็นผู้รู้ เป็นผู้เคร่งครัดการอิบาดะฮ์ มีความสมถะ เป็นผู้มีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (ในเรื่องศาสนา) เป็นผู้มีความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า” (มะอาลิซซิบฏ็อยน์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 436)
3) มารยาทด้านจิตวิญญาณ
คำว่า “มารยาทด้านใน” หรือด้านจิตวิญญาณนั้น หมายถึง การที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจะทรงยิ่งใหญ่เสมอในความคิด ในจิตใจและในการดำเนินชีวิตของท่าน และสิ่งที่นอกเหนือไปจากพระผู้เป็นเจ้านั้นจะเป็นสิ่งเล็กและไร้ความสำคัญในสายตาของท่าน ดังที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้สาธยายถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของมนุษย์ที่มีความสูงส่งและมีเกียรติไว้ โดยกล่าวว่า :
عظم الخالق فی أنفسهم فصغر ما دونه فی أعینهم
“(พวกเขาคือผู้ซึ่ง) พระผู้สร้างนั้นทรงยิ่งใหญ่ในจิตใจของพวกเขา ดังนั้นสิ่งที่นอกเหนือไปจากพระองค์เป็นสิ่งเล็กน้อยในสายตาของพวกเขา” (อัซรอรุซซอลาฮ์, หน้าที่ 301)
ท่านอับบาส บุตรของท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นผู้ทรงยิ่งใหญ่และทรงสูงส่ง โดยที่นอกจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งแล้ว ท่านไม่เคยมีความเกรงกลัวผู้ใดในหัวใจของท่านเลย และด้วยกับการรักษามารยาททางด้านจิตวิญญาณและด้านในหัวใจนี้ ท่านได้ใช้ชีวิตจวบจนวินาทีสุดท้ายอยู่เคียงข้างผู้เป็นนาย (เมาลา) ของท่าน และได้ทำการพิทักษ์ปกป้องครอบครัวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเกินคำบรรยาย และได้ปฏิเสธข้อเสนอต่าง ๆ ของยะซีดผู้ชั่วร้ายที่ส่งผ่านมาโดยชิมร์ บินซิลญูชัน ว่าหากท่านแยกตัวออกจากท่านอิมามฮุเซน (อ.) และเดินทางไปกูฟะฮ์ พวกเขาจะมอบอาชีพ ที่ดินและทรัพย์สินเงินทองให้เป็นรางวัลตอบแทน ท่านกลับรู้สึกไม่พอใจและโกรธกริ้วอย่างรุนแรงต่อข้อเสนอนี้
ที่มา sahibzaman.net