เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ปฏิบัติการของชาวยิวในการต่อต้านท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) (ตอนที่ 1)

1 ทัศนะต่างๆ 05.0 / 5


ปฏิบัติการของชาวยิวในการต่อต้านท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) (ตอนที่ 1)


     ชาวยิวเนื่องจากเห็นว่าบรรดาศาสดาของพระเจ้าเป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของตน พวกเขาจึงลุกขึ้นต่อต้านและทำสงครามกับบรรดาศาสดาและไปไกลถึงขั้นทำการสังหารพวกท่าน จนกระทั่งช่วงเวลาการถือกำเนิดของเมาอูด (ผู้ที่ถูกสัญญาไว้) ท่านที่สอง (คือศาสดามุฮัมมัด) ซึ่งถูกสัญญาไว้ในคัมภีร์เตารอต (โตราห์) ได้มาถึง

         ชาวยิว เพื่อที่จะเผชิญหน้าและจัดการกับท่านศาสดาของพระเจ้า ได้มาเฝ้ารอการปรากฏตัวของท่าน ในช่วงเริ่มแรกนั้น พวกเขาเฝ้ารอโอกาสที่จะกำจัดท่าน และเมื่อพวกเขาล้มเหลวในเรื่องนี้ เพื่อที่จะชะลอการเคลื่อนตัวของท่านศาสดาไปยังดินแดนอัลกุดส์ (เยรูซาเล็ม) พวกเขาได้ปลุกปั่นให้เกิดสงครามต่างๆ ขึ้นในยุคเริ่มแรกของอิสลาม และในท้ายที่สุดด้วยการลอบสังหารท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และการแทรกซึมเข้าไปในองค์กรของรัฐของท่านศาสดา(ซ็อลฯ) พวกเขาก็สามารถยึดตำแหน่งการสืบทอดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และกำจัดท่านอะลี (อ.) ออกไปจากเส้นทางของพวกเขาได้สำเร็จ

          ด้วยแผนการของชาวยิวที่ใช้ประโยชน์ในทางมิชอบจากการขาดความรู้และความเข้าที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) ของชนชั้นนำจำนวนมาก พวกเขาได้ดำเนินการอย่างแยบยลถึงขั้นที่เสียงของบรรดาผู้ประท้วง แม้แต่บุตรีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ไม่บังเกิดผลใดๆ เลย  

คำนำ

          พื้นฐานของการประทานคัมภีร์อัลกุรอาน หมายถึง เวลาและสถานที่ของการประทานคัมภีร์อัลกุรอานนั้น คือยุคแรกของอิสลามและคาบสมุทรฮิญาซ และบนพื้นฐานของหลักการอรรถาธิบาย (ตัฟซีร) ทางประวัติศาสตร์ โองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นจะต้องมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (มิศดาก) ในช่วงเวลาของการลง (นุซูล) โองการอัลกุรอาน เพื่อจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้สำหรับประชาชนในยุคของการลง (นุซูล) นั้น ยกเว้นกรณีต่างๆ ที่บอกเล่าถึงอนาคตอันไกลโพ้นเท่านั้น คัมภีร์อัลกุรอานถือว่าชาวยิวเป็นศัตรูที่รุนแรงและร้ายกาจที่สุดของชาวมุสลิม โดยกล่าวว่า :

لَتَجِدَنَّ أَشَدَّ النَّاسِ عَداوَةً لِلَّذِینَ آمَنُوا الْیَهُودَ وَ الَّذِینَ أَشْرَکُوا

"เจ้าจะพบว่ามนุษย์ที่เป็นศัตรูที่รุนแรงที่สุดต่อบรรดาผู้ศรัทธาคือชาวยิวและบรรดาผู้ตั้งภาคี (ต่ออัลลอฮ์)" (1)

          แต่จากการพิจารณาดูในประวัติศาสตร์ยุคแรกของอิสลามและสงครามต่างๆ ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่เกิดขึ้นกับชาวยิว จะไม่พบเห็นกรณีต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความร้ายกาจของศัตรูที่สำคัญของบรรดาผู้ศรัทธานี้ และแม้แต่ในปฏิบัติการหลายครั้งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่กระทำต่อพวกเขา นักประวัติศาสตร์บางคนก็ยังถือว่ามุสลิมเป็นผู้เริ่มต้นสงครามก่อน และจากบริบทของประวัติศาสตร์ถือได้ว่าชาวยิวดำเนินการเพียงแค่เพื่อปกป้องตนเองเท่านั้น

          เมื่อพิจารณาถึงประเด็นที่ว่าในคัมภีร์อัลกุรอาน ตามการชี้ชัดของโองการต่างๆ และการเน้นย้ำของบรรดาผู้นำของศาสนานั้น จะไม่มีการบิดเบือนใดๆ และสิ่งที่อัลกุรอานพูดถึงนั้นย่อมเป็นความจริงและเป็นความถูกต้องเพียงเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในประวัติศาสตร์ ซึ่งหากถูกค้นพบร่องรอยของชาวยิวเกี่ยวกับแผนสมคบคิดมากมายในยุคแรกของอิสลามทั้งก่อนและหลังได้ มันก็จะเป็นที่กระจ่าง และเพื่อจุดประสงค์นี้ เราจำเป็นต้องทบทวนประเด็นสำคัญบางประการของประวัติศาสตร์ชาวยิว

          บรรดาผู้นำของชาวยิวและชาวยิวคนอื่นๆ ที่ปฏิบัติตามพวกเขา หลังจากศาสดามูซา (โมเสส) (อ.) พวกเขาได้เบี่ยงเบนออกจากเส้นทางของสัจธรรมและได้สังหารบรรดาศาสดาของพระเจ้าที่ถูกส่งมาเพื่อแก้ไขปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา (2) ตามคำทำนายของคัมภีร์โตราห์ คนกลุ่มนี้รอคอยการปรากฏตัวของเมาอูด (ผู้ที่ถูกสัญญาไว้) สองคน จนถึงยุคเริ่มแรกของอิสลาม หนึ่งในนั้น (คือศาสดาอีซา หรือเยซู (อ.)) ซึ่งได้ปรากฏตัวแล้ว และชาวยิวด้วยความเป็นศัตรูของตนได้ทำการกดดันท่านและไล่ล่าท่านและทำให้ท่านกลายเป็นศาสดาที่หายตัวไปของประวัติศาสตร์ และแค่นั้นยังไม่พอ โดยการแทรกซึมเข้าไปในศาสนาคริสต์พวกเขาได้ทำการบิดเบือนในศาสนานั้นถึงขั้นที่ได้เปลี่ยนแปลงพื้นฐานภารกิจของอีซา (อ.) ซึ่งนั้นก็คือ "การต่อต้านพวกฟาริสี" (Pharissees) ให้กลายเป็นมิตรและเข้าร่วมทางกับพวกฟาริสี องค์กรชาวยิวนี้ซึ่งมีข้อมูลมากมายนั้น พวกเขาจึงรู้จักศาสดาที่จะมาในอนาคต ซึ่งเป็นผู้ถูกสัญญาไว้คนที่สองเป็นอย่างดีเหมือนกับที่พวกเขารู้จักลูกๆ ของพวกเขาเอง :

الَّذِینَ آتَیْناهُمُ الْکِتابَ یَعْرِفُونَهُ کَما یَعْرِفُونَ أَبْناءَهُمْ وَ إِنَّ فَرِیقاً مِنْهُمْ لَیَکْتُمُونَ الْحَقَّ وَ هُمْ یَعْلَمُون

"บรรดาผู้ที่เราได้ประทานคัมภีร์แก่พวกเขานั้น พวกเขาย่อมรู้จักเขา (มุฮัมมัด) ดีเหมือนกับที่พวกเขารู้จักลูกๆ ของเขาเอง และแท้จริงกลุ่มหนึ่งจากพวกเขานั้นปิดบังสัจธรรมไว้ทั้งๆ ที่พวกเขารู้" (3)

           หลังจากศาสดาอีซา (อ.) องค์กรนี้ไม่เห็นภัยคุกคามใดๆ สำหรับตนเองนอกจากศาสนาอิสลาม อีกด้านหนึ่ง ศาสนาทั้งหลายในช่วงเวลานั้น เช่น ศาสนาคริสต์และศาสนายูดายพูดถึงบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเมื่อปรากฏตัวขึ้น จะชำระล้างโลกจากวิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์) การกดขี่ และความอยุติธรรม และองค์กรชาวยิวที่เบี่ยงเบนนี้เพื่อการอยู่รอดของตนจำเป็นที่พวกเขาต้องเริ่มปฏิบัติการ

เหตุผลการปรากฏตัวของชาวยิวในมะดีนะฮ์ (ระยะแรกก่อนการปฏิบัติการของชาวยิว)

          มะดีนะฮ์เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของการปกครองของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ว่าเริ่มแรกชาวยิวได้มาที่เมืองยัษริบ (เปลี่ยนชื่อเป็นมะดีนะฮ์ในเวลาต่อมา) และก่อตั้งเมืองนี้ขึ้น พวกเขาตั้งรกรากอยู่ในภูมิภาคนี้ในรูป "กลุ่ม" เป็นระยะเวลายาวนานก่อนการประสูติของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ชาวยิวได้รับรู้ว่าศาสดาแห่งยุคสุดท้ายจะมาที่เมืองยัษริบ และพวกเขามีข้อมูลอย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ (4)

          พวกเขากล่าวอ้างว่า พวกเขามาที่มะดีนะฮ์เพื่อสืบหาศาสดาแห่งยุคสุดท้ายและจะได้ศรัทธาต่อท่าน แต่จากการค้นคว้าประวัติศาสตร์ ทำให้เราเกิดความเคลือบแคลงสงสัยถึงข้อเท็จจริงของคำกล่าวอ้างนี้ ถ้าหากเป็นอย่างที่พวกเขากล่าวอ้างจริง ทำไมพวกเขาจึงไม่ศรัทธาในพระเยซู (ศาสดาอีซา (อ.)) ซึ่งได้แสดงปาฏิหาริย์ (มุอ์ญิซาต) ต่างๆ อย่างมากมาย? นอกจากนี้ยังมีคำถามอีกว่า ทั้งๆ ที่ชาวยิวก็รู้ดีว่าศาสดาแห่งยุคสุดท้ายจะถูกแต่งตั้งที่เมืองมักกะฮ์ แต่ทำไมพวกเขาจึงไม่ไปรอคอยการมาของท่านที่เมืองมักกะฮ์? ทำไมพวกเขาถึงตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่?

         ชาวยิวรู้ว่า ท่านศาสดาของอิสลาม (ซ็อลฯ) จะมาพำนักอาศัยอยู่ระหว่างภูเขาสองลูก คือ "อีร" และ "อุฮุด" ดังนั้นพวกเขาจึงตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ (5) ในที่นี้มีคำถามเกิดขึ้นอีกว่า ทำไมชาวยิวจึงกระจัดกระจายกันออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนฮิญาซ ในขณะที่พื้นที่ระหว่างภูเขาทั้งสองนี้เป็นพื้นที่มีขนาดจำกัด? พวกเขาอ้างว่าเข้าใจผิดพลาดในการค้นหาสถานที่จริง (มิศดาก) ของพื้นที่นี้ ด้วยเหตุนี้ชาวยิวบางกลุ่มจึงตั้งรกรากในค็อยบัร บางกลุ่มก็ตั้งรกรากอยู่ในตะบูก และบางส่วนก็กระจายไปอยู่ในพื้นที่อื่นๆ แต่คำกล่าวอ้างนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการโกหก เนื่องจากเมื่อดูแผนที่ของพื้นที่เหล่านี้ เราจะพบว่า พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่บนชุมทางจากนครมะดีนะฮ์ไปยังอัลกุดส์ ( กรุงเยรูซาเล็ม) พอดี โดยการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เหล่านี้ พวกเขาสามารถปิดเส้นทางของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่จะไปยังบัยตุลมักดิส (กรุงเยรูซาเล็ม) ได้อย่างง่ายดาย หากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ต้องการเดินทางจากมะดีนะฮ์ไปยังดินแดนคานาอัน (ปาเลสไตน์) ไม่ว่าจะผ่านเส้นทางใดก็ตามชาวยิวจะเผชิญหน้าต่อต้านท่าน ถ้าท่านเดินทางโดยใช้เส้นทางอิรัก ท่านก็จะต้องผ่านพื้นที่ฟะดัก และถ้าท่านใช้เส้นทางมะดีนะฮ์ ก็จะต้องผ่านพื้นที่ค็อยบัร ดังนั้นเราจะยอมรับได้อย่างไรว่าพวกเขามาตั้งรกรากอยู่ในเมืองหลวงของรัฐของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยบังเอิญและไม่ได้ตั้งใจ!?

          ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ประกาศศาสนาอยู่ในนครมักกะฮ์เป็นเวลาสิบสามปี และชาวยิวก็รู้ดีถึงการได้รับแต่งตั้งเป็นศาสดาของท่าน แม้แต่ปุโรหิตชาวยิวคนหนึ่งก็พยายามค้นหาตัวท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในวันที่ท่านถือกำเนิด (6) ชาวยิวในเมืองมะดีนะฮ์จะไม่รู้ได้อย่างไรว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ผู้ถูกสัญญาไว้นั้นได้ถือกำเนิดแล้วในนครมักกะฮ์!? หากพวกเขามาที่มะดีนะฮ์เพื่อช่วยเหลือศาสดาแห่งยุคสุดท้าย ทำไมพวกเขาถึงไม่ศรัทธาต่อท่านในนครมักกะฮ์ ทั้งที่พวกเขาก็รู้จักท่านเป็นอย่างดี? เป็นระยะเวลายาวนานก่อนการประสูติของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ฮาชิมได้เคยพูดกับภรรยาของตนขณะเดินทางผ่านเมืองมะดีนะฮ์ว่า : "หากชาวยิวพบเด็กคนนี้ (หมายถึงอับดุลมุฏฏอลิบปู่ของท่านศาสดา) พวกเขาจะฆ่าเขา" (7) นี่ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชาวยิวได้กล่าวกับชาวเมืองมะดีนะฮ์ว่า : "ศาสดาผู้นี้เป็นศาสดาของพวกเรา และพวกเรามาพำนักอาศัยอยู่ที่นี่ก็เพื่อจะศรัทธาต่อท่าน"

          ดังนั้นเราจึงพบว่า ชาวยิวได้มาที่มะดีนะฮ์และบริเวณโดยรอบเพื่อสะกัดกั้นไม่ให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เข้าสู่อัลกุดส์ เมื่อพิจารณาดูแผนที่ชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวยิวในแผ่นดินฮิญาซ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ชาวยิวได้สร้างแนวปิดกั้นตั้งแต่มะดีนะฮ์ไปจนถึงกำแพงเมืองอัลกุดส์ พวกเขาได้จัดเตรียมป้อมปราการทางทหารและอุปสรรคกีดขวางที่ยิ่งใหญ่ไว้ในเส้นทางนี้ เพื่อที่จะไปถึงยังอัลกุดส์นั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จำเป็นต้องข้ามผ่านปราการเจ็ดชั้น ได้แก่ บนีกุร็อยเซาะฮ์, บนีมุศฏอลิก, บนีนะฎีร, ค็อยบัร, ตะบูก, มูตะฮ์, อัลกุดส์ ปราการสามชั้นแรกอยู่ในเมืองมะดีนะฮ์ และชาวยิวก็ได้ตั้งรกรากอยู่ในเมืองนั้น แต่ละปราการพวกเขาได้ทำสงครามกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในช่วงเวลาที่กำหนด ในปราการถัดไปท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ก้าวเข้าสู่สงครามต่างๆ จนกระทั่งไปถึงเมืองมูตะฮ์ แต่ด้วยกับกลอุบายต่างๆ ของชาวยิว ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงไปไม่ถึงอัลกุดส์ ภารกิจในการครอบครองอัลกุดส์นั้นพระผู้เป็นเจ้าได้มอบให้เป็นหน้าที่ของบรรดาผู้ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว (8)

          ดังนั้นภารกิจหนึ่งของท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) คือการมุ่งสู่ดินแดนอัลกุดส์ ตามข่าวต่างๆ ของแหล่งข่าวของชาวยิว หากศาสดาแห่งยุคสุดท้ายยึดครองดินแดนใดหรือตั้งถิ่นฐานในนั้น เขาจะไม่สูญเสียดินแดนนั้นไปอีกเลย ด้วยเหตุนี้หากศาสดาของอิสลามไปถึงอัลกุดส์ ชาวยิวจะต้องยุติจากการเคลื่อนไหวระดับโลก ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ปราการและฐานที่มั่นของชาวยิว เช่น บนีก็อยนะกออ์, บนีกุร็อยเซาะฮ์, ค็อยบัรและอื่นๆ จึงถูกสร้างขึ้นในมะดีนะฮ์ไปจนถึงอัลกุดส์ ป้อมปราการเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเวลายาวนานหลายปี ป้อมปราการค็อยบัรอยู่บนภูเขา พวกเขาได้ขุดลำคู (สนามเพาะ) และสร้างกำแพงเหนือลำคู และสร้างป้อมปราการขึ้นอีกด้านหนึ่งของกำแพง ในขณะที่ในช่วงเวลานั้นพวกเขาไม่มีศัตรูใดๆ ในเมืองมะดีนะฮ์ ด้วยเหตุนี้ เราจะพบว่าพวกเขาได้วางแผนไว้ล่วงหน้าสำหรับการป้องกันอย่างเหนียวแน่นต่อศาสดาแห่งยุคสุดท้าย ในทางปฏิบัติเราก็ได้เห็นเช่นกันว่าพวกเขาใช้ป้อมปราการเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำสงครามกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จากนั้นพวกเขาก็หาทางชะลอท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในเมืองตะบูก ผลของความพยายามเหล่านี้คือความพ่ายแพ้ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายที่เมืองมูตะฮ์ กองทัพของอุซามะฮ์เป็นกองกำลังสุดท้ายที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้จัดเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะเคลื่อนพลไปยังชายแดนของกรุงโรมและปาเลสไตน์ในปัจจุบัน แต่ด้วยการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และการบ่อนทำลายของคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีในประวัติศาสตร์ กองทัพของอุซามะฮ์นี้จึงต้องหยุดจากการเคลื่อนทัพและเป็นที่น่าเสียดายที่การปฏิบัติการชะลอของชาวยิวสามารถยับยั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไม่ให้ไปถึงอัลกุดส์ได้สำเร็จ (9)

การก่อการร้ายอันเป็นประวัติการของชาวยิว (ระยะแรกของปฏิบัติการของชาวยิว)

         ชาวยิวโดยการรับรู้ถึงรัศมี (นูร) แห่งความเป็นศาสดา (นุบูวะฮ์) ที่มีอยู่ในบรรพบุรุษของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และการเทียบสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ทั้งหลายพวกเขาจึงได้พยายามที่จะดับรัศมี (นูร) นี้

1) การลอบสังหารฮาชิม :

         ฮาชิม บรรพบุรุษชั้นสูงสุดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นชาวมักกะฮ์ แต่หลุมศพของเขาอยู่ในฉนวนกาซาของปาเลสไตน์! เขาออกจากมักกะฮ์ไปทำการค้าขายที่เมืองชาม (ซีเรีย) และในเมืองยัษริบ เขาได้เป็นแขกของหัวหน้าเผ่าหนึ่งในเมืองมะดีนะฮ์ ซึ่งมีชื่อว่า “อัมร์ บิน ซัยด์ บิน ละบีด ค็อซรอญี” ฮาชิมแต่งงานกับซัลมา ลูกสาวของอัมร์ หลังจากการแต่งงาน ฮาชิมได้พาภรรยาของเขาไปยังมักกะฮ์ เมื่อซัลมาตั้งครรภ์ตามเงื่อนไขของการแต่งงานของพวกเขา เขาพาเธอกลับไปหาครอบครัวของเขาที่ยัษริบเพื่อคลอดบุตร และจากนั้นเขาก็ไปที่เมืองชามเพื่อทำการค้าขาย ในช่วงเวลาที่ออกเดินทางเขาได้สั่งเสียภรรยาของเขาว่า มีความเป็นไปได้ที่เขาจะไม่ได้กลับจากการเดินทางครั้งนี้ พระผู้เป็นเจ้าจะประทานลูกชายให้เธอ เธอจงปกป้องดูแลเขาให้ดียิ่ง ฮาชิมไปถึงฉนวนกาซาและหลังจากเสร็จสิ้นจากการค้าขาย ในขณะที่จะเดินทางกลับในคืนนั้น เขาก็ล้มป่วยกะทันหัน เขาได้เรียกบรรดาสหายของเขามาพบและบอกว่าพวกท่านจงเดินทางกลับไปยังมักกะฮ์เถิด เมื่อพวกท่านไปถึงมะดีนะฮ์ จงนำสลามของฉันไปยังภรรยาของฉัน และจงกำชับเธอเกี่ยวกับลูกชายของฉันที่จะเกิดจากเธอ และจงบอกเธอว่า เขา (ทารกน้อยผู้นี้) คือสิ่งที่ฉันมีความกังวลมากที่สุด ดังนั้นเขาจึงขอปากกาและกระดาษและเขียนคำสั่งเสีย ส่วนสำคัญของมันคือคำสั่งเสียให้นางปกป้องเด็กทารกที่จะถือกำเนิดขึ้นและแสดงความปรารถนาที่จะกลับไปพบเขา (10)

        ท่านศาสดามูซา (อ.) ได้บอกข่าวถึงการมาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ให้ชาวยิวได้รับรู้ พวกเขารับรู้ถึงรูปลักษณ์ภายนอกของพ่อแม่และเชื้อสายของท่าน และมีข้อมูลมากมายอยู่ในมือ พวกเขามีความเชี่ยวชาญในความรู้เกี่ยวกับการจำแนกใบหน้า (กิยาฟะฮ์) ที่พวกเขาได้เรียนรู้จากท่านศาสดามูซา (อ.) และได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นฮาชิมจึงเป็นที่รับรู้สำหรับพวกเขา และชาวยิวก็รู้ดีว่าศาสดาในยุคสุดท้ายนั้นมาจากลูกหลานของฮาชิม แต่ลูกธนูของพวกเขาโจมตีเป้าหมายช้าเกินไป ขณะฮาชิมได้ถูกลอบสังหารนั้นอับดุลมุฏฏอลิบก็ได้จุติในครรภ์มารดาแล้วในเมืองมักกะฮ์

2) การลอบสังหารอับดุลมุฏฏอลิบ :

         ลูกของฮาชิม เกิดและเติบโตในเมืองมะดีนะฮ์และได้รับการตั้งชื่อว่า"ชัยบะฮ์" ตามคำสั่งเสียของฮาชิม ผู้เป็นแม่จึงได้ดูแลเขา ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้เป็นแม่ไม่ได้แต่งงานใหม่อีกเลย วันหนึ่งชายคนหนึ่งจากบนีอับดุมะนาฟ ขณะไปทำการค้าขายในเมืองยัษริบ ได้เห็นเด็กคนหนึ่งกำลังเล่นอยู่และเรียกตนเองว่าเป็นลูกชายของฮาชิม เขาจึงสอบถามถึงเรื่องราวจากเด็กนั้น เด็กน้อยได้แนะนำตัวเอง ชายผู้นั้นจึงได้นำข่าวนี้ไปบอกแก่มุฏฏอลิบ (11) และมุฏฏอลิบได้มายังเมืองยัษริบและได้พาเด็กคนนี้หนีไปอยู่ที่นครมักกะฮ์ด้วย (12) ตามอีกรายงานหนึ่ง มุฏฏอลิบได้กระทำเช่นนั้นโดยความเห็นชอบจากแม่ของเด็ก (13) ในขณะที่มุฏฏอลิบและชัยบะฮ์เดินทางกลับสู่มักกะฮ์ ชาวยิวได้ล่วงรู้เกี่ยวกับบุคคลทั้งสองและได้โจมตีพวกเขา แต่พวกเขาก็ได้รับการช่วยเหลืออย่างปาฏิหาริย์ (14) เมื่อมุฏฏอลิบพาเขาไปอยู่ที่มักกะฮ์ ประชาชนต่างเรียกเขาว่า อับดุลมุฏฏอลิบ โดยคิดว่าเขาเป็นทาสของมุฏฏอลิบ และชื่อนี้ก็ติดปากอยู่กับเขา (15)

3) การลอบสังหารอับดุลลอฮ์ :

         ชาวยิวล้มเหลวในการลอบสังหารอับดุลมุฏฏอลิบ และจากอับดุลมุฏฏอลิบ บุตรชายที่ชืออับดุลลอฮ์ก็ถือกำเนิดขึ้นมา อับดุลลอฮ์เป็นชาวมักกะฮ์ แต่หลุมศพของเขาอยู่ที่มะดีนะฮ์ในถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวยิว เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเขานั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น ชาวยิวพยายามลอบสังหารเขาหลายครั้งแต่ก็ต้องล้มเหลว (16) วันหนึ่ง วะฮับ บิน อับดุลมะนาฟ พ่อค้าคนหนึ่งในเมืองมักกะฮ์ ได้พบเห็นอับดุลลอฮ์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นชายหนุ่มอายุ 25 ปี โดยที่ชาวยิวกำลังปิดล้อมเขาและพยายามที่จะฆ่าเขา วะฮับเกิดความหวั่นกลัวและเข้าไปในหมู่บนีฮาชิม และตะโกนว่า : จงช่วยอับดุลลอฮ์ด้วย ศัตรูของเขาได้ปิดล้อมเขาไว้ อับดุลลอฮ์จึงรอดพ้นมาได้อย่างอัศจรรย์ วะฮับซึ่งได้เห็นการรอดพ้นอย่างปาฏิหาริย์ของอับดุลลอฮ์และเห็นนูร (รัศมี) แห่งความเป็นศาสดาอยู่บนใบหน้าของเขา เขาจึงได้เสนอการแต่งงานระหว่างอามินะฮ์ลูกสาวของตนกับอับดุลลอฮ์ และการแต่งงานนี้จึงได้เกิดขึ้น

          มีรายงานกล่าวว่า ชาวยิวส่งผู้หญิงคนหนึ่งจากบรรดานักบวชชาวยิวมาเพื่อให้เป็นภรรยาของอับดุลลอฮ์ และเพื่ออสุจิของศาสดาแห่งยุคสุดท้ายจะถูกเคลื่อนไปยังผู้หญิงคนนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้หญิงคนนั้นจะไปดักพบกับอับดุลลอฮ์ทุกวันระหว่างทางและจะขอแต่งงานกับเขา แต่วันต่อมาหลังจากที่อับดุลลอฮ์ได้แต่งงานกับอามินะฮ์ หญิงชาวยิวผู้นั้นก็ไม่ได้ยื่นข้อเสนอแต่งงานดังกล่าวอีก เมื่ออับดุลลอฮ์ได้พบนางอีกครั้งจึงถามนางว่า ทำไมครั้งนี้เธอถึงไม่ขอฉันแต่งงานอีก? นางบอกว่า นูร (รัศมี) ที่อยู่บนหน้าผากของท่านไม่มีอีกแล้ว อับดุลลอฮ์ได้แต่งงานแล้ว (17) ไม่กี่เดือนหลังจากการแต่งงานของทั้งสองและในขณะที่อามินะฮ์กำลังตั้งครรภ์ อับดุลลอฮ์ก็เสียชีวิตในมะดีนะฮ์ระหว่างเดินทางกลับจากเมืองชาม (ซีเรีย) (18) และลูกธนูของชาวยิวก็เข้าเป้าล่าช้าเป็นครั้งที่สอง และอับดุลลอฮ์ได้เสียชีวิตลงในเมืองยัษริบอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัย แต่ไม่สามารถสืบร่องรอยการลอบสังหารได้

4) ความพยายามที่จะลอบสังหารท่านศาสดา (ซ็อลฯ) :

         ในรายงานได้กล่าวว่า ในคืนหลังจากการประสูติของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ผู้รู้ชาวยิวคนหนึ่งได้มายังดารุลนัดวะฮ์ และกล่าวว่า : “เมื่อคืนนี้มีเด็กทารกคนหนึ่งถือกำเนิดในหมู่พวกท่านใช่หรือไม่? พวกเขากล่าวว่า : ไม่มี! เขากล่าวว่า : ถ้าเช่นนั้นเขาจะต้องถือกำเนิดในปาเลสไตน์เป็นแน่ ทารกนั้นเป็นผู้ชายชื่ออะห์มัด และความพินาศของชาวยิวจะเกิดขึ้นจากมือของเขา หลังจากการประชุม พวกเขาก็พบว่า มีทารกชายคนหนึ่งเกิดจากอับดุลลอฮ์ บิน อับดุลมุฏฏอลิบ พวกเขาจึงบอกผู้รู้ชาวยิวคนนั้นว่า ใช่แล้ว มีเด็กคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นในหมู่พวกเรา และพวกเราขอสาบานต่อพระเจ้าว่า เขาเป็นเด็กผู้ชาย! ผู้รู้ชาวยิวขอให้พวกเขาพาตนไปพบเด็กทารกผู้นั้น พวกเขาได้พาผู้รู้ชาวยิวไปพบเด็กทารก เมื่อได้เห็นเด็กทารกเขาเป็นลมหมดสติ และเมื่อฟื้นคืนสติขึ้นมา เขาก็กล่าวว่า : ฉันสาบานต่อพระเจ้า! ความเป็นศาสดา (นุบูวะฮ์) ได้ถูกแยกไปจากบนีอิสรอเอลแล้วจนถึงวันฟื้นคืนชีพ (กิยามะฮ์) เขาผู้นี้คือผู้ที่จะมาทำลายบนีอิสรอเอล และเมื่อเขาเห็นว่าชาวกุเรชพึงพอใจกับข่าวนี้ เขาก็กล่าวกับชาวกุเรชว่า : ฉันขอสาบานต่อพระเจ้า! เขาจะกระทำบางสิ่งกับพวกท่านซึ่งจะทำให้ชาวตะวันออกและตะวันตกต้องจดจำมัน (19) ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ถูกรับรุ้นับตั้งแต่วันแรกที่ท่านถือกำเนิดขึ้น ลูกธนูของชาวยิวสำหรับการสกัดกั้นการปรากฏตัวของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ได้ผิดเป้าอีกครั้ง และถึงตอนนี้เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย ชาวยิวจำเป็นต้องหาทางกำจัดท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)

เชิงอรรถ :

1. อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 82

2. อัลกุรอานบทอัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 91; อาลิอิมรอน โองการที่ 112

3. อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะห์ โองการที่ 146

4. อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 8, หน้า 308

5. อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 8, หน้า 309

6. อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 8, หน้า 300

7. บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 15, หน้า 51

8. พันธสัญญาเดิม บทที่ 26

9. ตะบาเร อินหิรอฟ, มะฮ์ดี ฏออิบ, เล่ม 1, หน้า 320

10. บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 15, หน้า 51-53

11. บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 15, หน้า 122

12. บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 15, หน้า 158

13. อัลญะซะรี, เล่ม 2, หน้า 6

14. บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 15, หน้า 60

15. บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 15, หน้า 123

16. บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 15, หน้า 110-90

17. อัลมะนากิบ, อิบนุชะฮ์รอชูบ, เล่ม 1, หน้า 26

18. ตารีคอัฏฏอบารี เล่มที่ 1, หน้า 598

19. อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 8, หน้า 300)

แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม