เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความเมตตาคือหนึ่งในคุณลักษณะของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความเมตตาคือหนึ่งในคุณลักษณะของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)


หนึ่งในคุณลักษณะที่อัลกุรอานกล่าวถึงท่านศาสดามุฮัมหมัด(ศ็อลฯ) คือ ความเมตตาของท่าน เหมือนในซูเราะฮ์อันบิยาอฺ โองการที่ 107
‎وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِّلْعَالَمِينَ
“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย”
ประโยคที่กล่าวว่า “ความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย” คำถามคือ ความเมตตาของท่านศาสดาครอบคลุมศัตรูด้วยหรือไม่?
หากเราตอบว่าครอบคลุมด้วย ลองมาดูโองการนี้
ซูเราะฮ์เตาบะฮ์ โองการที่ 128
‎لَقَدْ جَآءَكُمْ رَسُولٌ مِّنْ أَنفُسِكُمْ عَزِيزٌ عَلَيْهِ مَا عَنِتُّمْ حَرِيصٌ عَلَيْكُم بِٱلْمُؤْمِنِينَ رَءُوفٌ رَّحِيمٌ
“แท้จริงมีร่อซูลคนหนึ่งจากพวกท่านเองได้มาหาพวกท่านแล้ว เป็นที่ลำบากใจแก่เขาในสิ่งที่พวกท่านได้รับความทุกข์ยาก เป็นผู้ห่วงใยท่าน เป็นผู้เมตตา ผู้กรุณาสงสาร ต่อบรรดาผู้ศรัทธา”
ในโองการข้างต้นจะเห็นว่าความเมตตาของท่านศาสดาเจาะจงไปที่บรรดาผู้ศรัทธา
เราจะสามารถนำทั้งสองโองการมารวมกันได้อย่างไร?เพราะโองการแรกครอบคลุมทุกคนแต่โองการที่สองเจาะจงผู้ศรัทธา
เวลาที่เราพูดว่า “จงให้เกียรติผู้รู้” แปลว่าครอบคลุมผู้รู้ทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาใด แต่อีกประโยคหนึ่งพูดว่า “อย่าให้เกียรติคนชั่ว” กลายเป็นจำเพาะทันที
ประโยคแรกมีความหมายที่ครอบคลุม
ประโยคที่สองมีการจำเพาะเจาะจง
เมื่อเรานำสองประโยคนี้มารวมกันเราจะได้บทสรุปว่า “ให้เกียรติผู้รู้ที่ไม่ใช่คนชั่ว”
ท่านอัลลามะฮ์เฏาะบาเฏาะบาอี อธิบายไว้ในหนังสือตัฟซีรอัลมีซาน ว่า
ระฮ์มัต เทียบเท่ากับความยุติธรรม หมายถึง หากเราให้ความหมายคำว่าเราะฮ์มัตเป็นความยุติธรรม ก็จะเป็นเช่นนี้
“เราไม่ได้ส่งเจ้ามาเพื่อสิ่งใดยกเว้นเพื่อทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น”
ท่านมัรฮูมเฏาะบัรซี บันทึกในตัฟซีรมัจมะอุลบะยานว่า ระฮ์มัต มีความหมายว่า เนียะอฺมัต ก็จะมีความหมายในลักษณะนี้ว่า อัลลอฮ์ได้มอบเนียะอฺมัตให้แก่ประชาชาติทั้งหมด
บรรดานักตัฟซีรอธิบายว่า เราะฮ์มัตมีสองลักษณะคือ เฟะอ์ลี (สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น) และ ชะอฺนี(สถานภาพ)
จากตรงนี้ทำให้บรรดานักตัฟซีรต้องอธิบายว่า เราะฮ์มัตที่ว่านี้หมายถึงลักษณะที่สอง
หมายความว่า ท่านศาสดามีความเมตตาอยู่แล้วเพราะท่านมีฐานันดร(ชาอฺนี)นี้อยู่ ท่านได้กางร่มแห่งระฮ์มัตตั้งเอาไว้ ทุกคนที่เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มนี้ความเมตตาจะครอบคลุมเขาแต่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่(เฟะอฺลี)ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครที่ไปอยู่ภายใต้ร่มระฮ์มัตนี้ของท่านศาสดา ดังนั้นในตัวตนของท่านศาสดามีความเมตตาอยู่แล้วต่อทุกคนแต่ทุกคนจะได้รับความเมตตานี้ไหมขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเข้าไปอยู่ภายใต้ร่มแห่งความเมตตาหรือเปล่า
ท่านศาสดาต้องการจับมือทุกคนไปสู่สวรรค์และท่านก็พยายามด้วยที่จะให้ทุกคนได้เข้าสวรรค์แล้วระฮ์มัตของท่านจะปรากฏให้เห็นเมื่อใด ก็เมื่อท่านพูดด้วยความนุ่มนวล สุภาพ
ซูเราะฮ์ฟัตฮ์ โองการที่ 29
‎مُّحَمَّدٌ رَّسُولُ اللَّهِ ۚ وَالَّذِينَ مَعَهُ أَشِدَّاءُ عَلَى الْكُفَّارِ رُحَمَاءُ بَيْنَهُمْ
“มุฮัมมัดเป็นร่อซูลของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขา เป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญต่อพวกปฏิเสธศรัทธา เป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกเขาเอง”
ในโองการนี้กล่าวถึงสองแบบทั้งแข็งกร้าวกับผู้ปฏิเสธและทั้งเมตตาด้วย
หรืออีกโองการหนึ่ง ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน โองการที่ 159
‎فَبِمَا رَحْمَةٍ مِّنَ اللَّهِ لِنتَ لَهُمْ ۖ وَلَوْ كُنتَ فَظًّا غَلِيظَ الْقَلْبِ لَانفَضُّوا مِنْ حَوْلِكَ ۖ فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ فِي الْأَمْرِ ۖ فَإِذَا عَزَمْتَ فَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ ۚ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُتَوَكِّلِينَ
“เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮ์นั่นเอง เจ้า(มุฮัมมัด) จึงได้สุภาพอ่อนโยนแก่พวกเขา และถ้าหากเจ้าเป็นผู้ประพฤติหยาบช้า และมีใจแข็งกระด้างแล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบ ๆ เจ้ากันแล้ว ดังนั้นจงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และจงขออภัยให้แก่พวกเขาด้วย และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว ก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักใคร่ผู้มอบหมายทั้งหลาย”
 จากโองการข้างต้นทำให้เข้าใจว่า จุดประสงค์ของเราะฮ์มัตคือ ความสุภาพ อ่อนโยน คุณลักษณะเหล่านี้ท่านมีให้แม้แต่ผู้ปฏิเสธยกเว้นกลุ่มคนที่ต้องทำสงครามกับพวกเขาจริงๆ
นี้คือความหมายของระฮ์มัตเฟะอ์ลี(ที่เกิดขึ้น)
 ดังนั้น ความเมตตาของท่านศาสดาครอบคลุมทุกคน ตอนที่ท่านศาสดาปรากฎที่มักกะฮ์ทุกคนคือผู้ปฏิเสธแต่เพราะความเมตตาของท่าน เพราะความสุภาพ อ่อนโยน มีจริยวัตรที่งดงามทำให้พวกเขายอมรับอิสลามแต่ก็มีกลุ่มบุคคลที่ทำสงครามกับท่าน ซึ่งแม้แต่กลุ่มนี้ท่านก็ยังมอบความเมตตาให้ เช่น ครั้งหนึ่งในสงครามศัตรูปาก้อนหินใส่ท่านจนฟันหัก เลือดไหลออกมากมีทหารฝ่ายท่านพูดกับท่านว่า “โอ้ รอซูลของอัลลอฮ์ สาปแช่งพวกมันเลย”
ท่านศาสดาพูดว่า “ฉันจะไม่สาปแช่ง ฉันจะดุอาให้เขา ขอให้พระเจ้านำทางเขา”
จะเห็นได้ว่าท่านจะเมตตากับทุกคนจริงๆ เว้นแต่บุคคลที่สมควรต้องแข็งกร้าวใส่เท่านั้น
บรรยายโดย ฮุจญะตุลอิสลาม ดร. นัศรุลลอฮ์ สิคอวะตี ลอดอนี
ขอขอบคุณ เพจสถาบันศึกษาศาสนา อัล-มะฮฺดียะห์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม