อัดลฺอิลาฮี 4 (ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า)
อัดลฺอิลาฮี 4 (ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า)
อีกแนวคิดหนึ่ง คือ แนวคิดของกลุ่มชีอะห์ ซึ่งมีความเชื่อว่ามนุษย์สามารถรับรู้และจำแนกความดีความชั่วได้
หากถามว่า ด้วยอะไร?
คำตอบคือ ด้วยพลังแห่งฟิตรัต( มโนธรรมสำนึก) พระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์มาพร้อมความสามารถในการจำแนกแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตัวเอง
สิ่งที่ทำให้มนุษย์รับรู้ได้คือฟิตรัต(มโนธรรมสำนึก) แท้จริงแล้วฟิตรัตของมนุษย์ไม่มีขอบเขตจำกัด สามารถพัฒนา ให้เข้มข้นมากขึ้นได้ และยิ่งมากขึ้นเท่าใด การรับรู้และแยกแยะชั่วดี ก็สามารถลงลึกในรายละเอียดและสูงส่งมากขึ้นเท่านั้น
ในขณะที่แนวคิดหนึ่งนั้น ไม่ยอมรับว่าสติปัญญาของมนุษย์สามารถจำแนกแยกแยะและรับรู้ความดีและความชั่วได้ เท่ากับว่าปฏิเสธฟิตรัตของมนุษย์นั้นเอง เมื่อเชื่อว่าความดีความชั่วไม่มีอยู่จริงตามธรรมชาติแล้ว บทบาทของฟิตรัตก็จะไม่มีประโยชน์อันใด
เรื่องราวของอัดลฺ(ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า)จะนำความหมายข้อที่สามคือการให้สิทธิตามที่สิ่งนั้นควรจะได้รับ และข้อที่สี่มาใช้คือการวางทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในที่ที่เหมาะสมของมัน หรือการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดถูกต้องตามกาละเทศะ วางของได้ถูกต้องเหมาะสมตามที่ที่มันควรอยู่ ซึ่งนิยามนี้ตรงกับคำว่า (ฮิกมะฮ์=วิทยปัญญา) ฮิกมะฮ์คือความถูกต้อง ความเหมาะสม ความมีเหตุมีผล ความถูกต้องที่สุดที่ควรจะเป็นไปตามนั้น
สมมุติว่ามีคนสองคนกระทำผิดเหมือนกัน ตามสิทธิที่เขาทั้งสองควรจะได้รับคือการถูกลงโทษ นี้คือนิยามที่สาม แต่ถ้าหากไม่ลงโทษ เนื่องจากมีเหตุผลที่สำคัญและเหมาะสมกว่าการลงโทษ เพราะบางกรณีการลงโทษอาจจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ให้เกิดปัญหาอื่นๆมากมาย ฉะนั้นเมื่อเกรงว่าจะมีปัญหาตามมามากกว่า ก็ควรวางปัญหาของเขาให้ถูกต้องเหมาะสมด้วยการไม่ลงโทษเสีย ในที่นี้คือนิยามที่สี่ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมลึกซึ้งกว่านิยามที่สาม และความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้านั้นส่วนมากอยู่ในนิยามที่สี่ เพราะมีเรื่องฮิกมะฮ์ ความมีเหตุมีผลมีและความเหมาะสมเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ส่วนอีกสองข้อที่เหลือนั้นเป็นนิยามที่ไม่สมบรูณ์ ไม่สามารถนำมาอธิบายความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าได้ เพราะหากนิยาม ความยุติธรรมคือ ความเท่ากัน ความเหมือนกัน ความเสมอภาค อยู่ในความหมายเดียวกันหมด สังคมโดยรวมก็จะยุ่งเหยิง เราจะเห็นได้ว่าในสังคมตะวันตก ผู้หญิง ผู้ชาย สามารถทำทุกอย่างได้เหมือนกัน
สมมุติ หากผู้ชายทำงานนอกบ้านได้ ทำงานก่อสร้างได้ เป็นประธานาธิบดีได้ ผู้หญิงก็สามารถทำได้เหมือนกัน ด้วยการนิยามความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ให้เป็นอย่างเดียวกันกับความเหมือนกัน ซึ่งจากการปฏิบัติแบบนี้นำไปสู่ปัญหาต่างๆทั้งในครอบครัวและสังคมอย่างมากมาย เป็นความเสมอภาคและเท่าเทียมกันแบบไม่มีวิทยปัญญาใดๆ แต่สำหรับอิสลามไม่เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นความยุติธรรม
อีกตัวอย่างหนึ่ง ครูคนหนึ่งปฏิบัติกับนักเรียนทุกคนเหมือนกันหมดโดยไม่แยกแยะนักเรียนที่ดีและนักเรียนที่ไม่ดี ถามว่ายุติธรรมหรือไม่?
แน่นอนว่า มันไม่ยุติธรรม เพราะจะเกิดปัญหาตามมามากมาย นักเรียนที่ขี้เกียจก็จะไม่สำนึก จะไม่เปลี่ยนแปลง และจะไม่มีวันได้พัฒนา เช่นเดียวกับนักเรียนที่ดีก็จะท้อแท้หมดกำลังใจ เพราะสังคมไม่เห็นความแตกต่างระหว่างคนดีกับคนไม่ดี ระหว่างคนขี้เกียจกับคนขยัน ส่งผลให้สังคมไม่เกิดการพัฒนา ซึ่งตามความเหมาะสมที่เป็นจริงแล้ว คนที่ขี้เกียจจะต้องถูกตำหนิ จะต้องถูกตักเตือนลงโทษ คนที่ดีจะต้องได้รับการชื่นชม หรือสมควรได้รับรางวัล เพื่อกระตุ้นให้คนที่ขี้เกียจขยันขึ้นมาได้ ส่วนคนที่ขยันอยู่แล้วก็จะมีขวัญและกำลังใจให้ปฏิบัติต่อไป
ส่วนความผิดพลาดของนิยามที่สองในประเด็น “การไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น”นั้น แม้นิยามนี้จะดีกว่านิยามแรกแต่ก็ยังมีข้อบกพร่อง เพราะสังคมมนุษย์ไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยเพียงเรื่องของ ‘สิทธิ’ เท่านั้น เพราะถ้าหากเน้นย้ำกันเพียงเรื่อง “สิทธิ” ของแต่ละปัจเจกแล้ว สังคมโดยรวมก็จะเต็มไปด้วยปัญหาการละเมิดสิทธิกันและกัน เช่นในทัศนะอิสลาม สามีไม่มีสิทธิที่จะสั่งใช้ภรรยา ซักผ้า หุงข้าว ล้างจาน ทำงานบ้าน หากบังคับถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ เช่นเดียวกับฝ่ายสามีก็มีสิทธิมากมายเหมือนกันเช่นหากต้องการ จะมีภรรยาสี่คนก็ได้ ภรรยาไม่มีสิทธิห้าม หรือกรณีอื่นๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นภายในครอบครัว จากการอ้างสิทธิกันเต็มที่ ย่อมเกิดความวุ่นวาย ความผูกพันและความสงบสุขของครอบครัวจะไม่เกิดขึ้น
นี้คือ ส่วนหนึ่งของความบกพร่องในนิยามข้อที่สอง นิยามนี้จึงไม่ถูกนำมาใช้อธิบายความยุติธรรม
ส่วนในนิยามข้อที่สาม “การให้สิทธิตามที่ควรจะได้รับ”
ตัวอย่าง นักเรียนสองคน เด็กดีกับเด็กไม่ดี ทั้งสองคนจะได้รับสิทธิไม่เหมือนกัน คนดีจะได้รับสิทธิพิเศษอย่างมากมายและง่ายดาย ส่วนเด็กที่ไม่ดีอาจจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษ หรืออาจจะได้ยากกว่า เช่นนี้เราจะกล่าวได้ไหมว่าครูไม่ยุติธรรม?
แน่นอนว่าไม่ได้ เพราะมันมีประเด็นของความเหมาะสมเข้ามาพิจารณาด้วย หรือตัวอย่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล คู่กรณีขัดแย้งกันเรื่องสิทธิในที่ดิน ศาลจะตัดสินแบ่งให้ฝ่ายละครึ่งทันทีเพื่อความเท่าเทียมกันได้หรือไม่?
เช่นนี้จะถือว่า ศาลได้ตัดสินยุติธรรมแล้วได้หรือไม่?
คำตอบ คือ ไม่ได้ เพราะความเท่าเทียมกันไม่ใช่ความยุติธรรมเสมอไป ในที่นี้สิทธิในทรัพย์สินของแต่ละฝ่ายอาจไม่เท่ากันก็ได้
ดังนั้น การตัดสินจะต้องนำนิยามข้อที่สามมาพิจารณา เพื่อพิสูจน์ว่าสิทธิที่แท้จริงเป็นของฝ่ายใด หากพิสูจน์แล้วเห็นว่าเป็นของฝ่ายเดียวก็จะต้องยกให้ฝ่ายนั้นทั้งหมด ตามสิทธิของเขา ไม่ใช่นำมาแบ่งเท่าๆกัน
ต่อไปหากถามว่า ทำไมความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าจะต้องยึดนิยามข้อที่สี่เป็นหลัก ซึ่งหมายความถึง “การวางทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในที่ที่เหมาะของมัน” ทำไมไม่ใช้นิยามที่ข้อที่สามเป็นหลัก?
คำตอบ : เพราะนิยามข้อที่สาม พูดถึงเรื่องสิทธิเป็นหลัก แต่นิยามข้อที่สี่ไม่ได้พูดถึง เพียงคำว่า “สิทธิ”เท่านั้น ยังมีองค์ประกอบอื่นด้วย
กรอบคิด คือ แท้จริงแล้วมนุษย์ไม่มีสิทธิใดๆเหนือพระองค์
มนุษย์คือ บ่าวทาสของพระองค์ ไม่มีสิทธิจะอ้างอะไรกับพระองค์ แต่พระองค์ก็ให้สิทธิบางอย่างให้แก่มนุษย์ หากเขาทำความดี พระองค์ก็จะตอบแทนในสิ่งที่ดี ให้รางวัล หรือมอบสวรรค์แก่เขา
ดังนั้น นิยามที่สี่ จึงเป็นนิยามที่สมบรูณ์ที่สุดหากจะนำมากล่าวถึงความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า
สถาบันศึกษาศาสนา อัลมะฮ์ดี (อ.)