เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เรื่องราวการตอกย้ำพันธสัญญาของปวงศาสดากับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในคืนมิอ์รอจ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


เรื่องราวการตอกย้ำพันธสัญญาของปวงศาสดากับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในคืนมิอ์รอจ


    คำสอนอันลึกซึ้งประการหนึ่งของศาสนาอิสลามคือประเด็นเรื่องคำมั่นสัญญาและพันธสัญญาของมนุษย์ที่มีต่อคุณค่าต่างๆ แห่งพระเจ้า ซึ่งถูกกล่าวถึงในนามว่า วันแห่งพันธสัญญา หรือ «أَ لَسْتُ» (อะลัสตุ)

    ในส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสวันเฉลิมฉลอง (อีด) การครบรอบปีของการแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ท่านอายะตุลลอฮ์อะลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดแห่งการปฏิวัติอิสลาม ได้ชี้ถึงประเด็นพันธสัญญาของปวงศาสดาเกี่ยวกับความช่วยเหลือต่อท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) โดยกล่าวว่า : “มับอัษ (การแต่งตั้ง) ท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) นั้น เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงเอาพันธสัญญาและคำมั่นจากศาสดาท่านอื่นๆ ที่ว่า จะต้องศรัทธาต่อท่านศาสดาแห่งอิสลามและให้การช่วยเหลือท่าน"

    คำสอนอันลึกซึ้งประการหนึ่งของศาสนาอิสลาม คือ ประเด็นเรื่องให้คำมั่นและพันธสัญญาของมนุษย์ที่มีต่อคุณค่าต่างๆ แห่งพระเจ้า ซึ่งถูกกล่าวถึงในนามว่า วันแห่งพันธสัญญา หรือ «أَ لَسْتُ» (อะลัสตุ)  ตามคำกล่าวของคำภีร์อัลกุรอานและบรรดาริวายะฮ์ มุตะวาติร พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงเอาพันธสัญญาจากลูกหลานทั้งหมดของอาดัม (อ.) จวบจนถึงวันกิยามะฮ์ (วันฟื้นคืนชีพ) และก่อนการสร้างร่างกายของพวกเขา (ในอาลัม ซัร) เกี่ยวกับ "รุบูบียะฮ์" (ความเป็นพระผู้อภิบาล) ของพระองค์และ "ริซาละฮ์" (ภารกิจความเป็นศาสนทูต) ของท่านศาสดาและ "วิลายะฮ์" (อำนาจการปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)

    ในท่ามกลางคนเหล่านี้ บรรดาผู้ที่รุดหน้าคนอื่นๆ ในการยอมรับพันธสัญญาแห่งพระเจ้านี้ เป็นที่รู้จักในนาม "อัซซาบิกูน" และบรรดาผู้ที่แสดงความมุ่งมั่นอันหนักแน่นในหมู่พวกเขา ถูกเรียกว่า «أُولُو الْعَزْمِ مِنَ الرُّسُلِ» "ศาสนทูต อุลุลอัซม์" (บรรดาศาสนทูตผู้มีความมุ่งมั่นและอดทนในการประกาศสาส์นของพระเจ้า) ดังนั้น มาตรวัดการพัฒนา (รุชด์) ของผู้คนทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาศาสดาแห่งพระเจ้า คือความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) เกี่ยวกับ "รุบูบียะฮ์" (ความเป็นพระผู้อภิบาล) ของพระผู้เป็นเจ้าและคอลีฟะฮ์ (ตัวแทน) ที่ชอบธรรมของพระองค์ ในเรื่องนี้ ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวกับอบูบะซีร ในริวายะฮ์บทหนึ่งว่า :

مَا مِنْ نَبِیٍّ نُبِّئَ وَ لَا مِنْ رَسُولِ أُرْسِلَ إِلَّا بِوَلَایَتِنَا وَ تَفْضِیلِنَا عَلَى مَنْ سِوَانا

“ไม่มีศาสดาคนใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสดา และไม่มีศาสนทูตคนใดถูกส่งมาเป็นศาสนทูต เว้นแต่ด้วย (การยอมรับ) วิลายะฮ์ของเรา และยอมรับในความประเสริฐของเราเหนือกว่าคนอื่นจากเรา" (1)

     ในบรรดาโองการที่บ่งชี้ว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเอาพันธสัญญาจากมวลมนุษย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาศาสดา (อ.) เกี่ยวกับวิลายะฮ์ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) คืออัลกุรอานบทอัลอะอ์รอฟ โองการที่ 172 ซึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า :

وَ إِذْ أَخَذَ رَبُّکَ مِنْ بَنی‏ آدَمَ مِنْ ظُهُورِهِمْ ذُرِّیَّتَهُمْ وَ أَشْهَدَهُمْ عَلى‏ أَنْفُسِهِمْ أَ لَسْتُ بِرَبِّکُمْ قالُوا بَلى‏ شَهِدْنا أَنْ تَقُولُوا یَوْمَ الْقِیامَةِ إِنَّا کُنَّا عَنْ هذا غافِلین‏

"และจงรำลึกขณะที่พระผู้อภิบาลของเจ้าได้เอาเผ่าพันธ์ของลูกหลานของอาดัม ออกมาจากหลังของพวกเขา และให้พวกเขาเป็นสักขีพยานแก่ตัวของเขาเอง (โดยตอบคำถามที่ว่า) ข้ามิใช่พระผู้อภิบาลของพวกเจ้าดอกหรือ พวกเขากล่าวว่า ใช่ขอรับ พวกข้าพระองค์ขอเป็นพยาน (มิฉันนั้น) พวกเจ้าจะกล่าวในวันกิยามะฮฺว่า แท้จริงพวกข้าพระองค์ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้"

    ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : “จากนั้นอัลลอฮ์ทรงเอาคำมั่นสัญญาจากบรรดาศาสดาและกล่าวว่า : “ฉันไม่ใช่พระผู้อภิบาลของพวกเจ้าหรอกหรือ?” แล้ว พระองค์ก็ทรงตรัสว่า : “นี่คือมุฮัมมัด ศาสนทูตของอัลลอฮ์ และนี่คืออะลี อมีรุลมุอ์มินีน (อ.) มิใช่หรือ?” [บรรดาศาสดา] ตอบว่า ใช่ หลังจากนั้น ความเป็นศาสดา (นุบูวะฮ์) ของพวกเขาก็ถูกสถาปนา” (2)

    นอกจากนี้ในริวายะฮ์อีกบทหนึ่ง ท่านอิมามซอดิก (อ.) ยังได้อ้างวจนะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งกล่าวว่า :

إِنَّ اللَّهَ تَعَالَى أَخَذَ مِیثَاقِی وَ مِیثَاقَ‏ اثْنَیْ‌عَشَرَ إِمَاماً بَعْدِی وَ هُمْ حُجَجُ اللَّهِ عَلَى خَلْقِهِ الثَّانِی‌عَشَرَ مِنْهُمْ الْقَائِمُ‏ الَّذِی یَمْلَأُ بِهِ الْأَرْضَ قِسْطاً وَ عَدْلًا کَمَا مُلِئَتْ ظُلْماً وَ جَوْرا

“แท้จริงอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง ทรงเอาพันธสัญญาแก่ฉันและเอาพันธสัญญาแก่อิมามทั้งสิบสองคนที่ตามมาภายหลังจากฉัน และพวกเขาเป็นข้อพิสูจน์ (ฮุจญะฮ์) ของอัลลอฮ์เหนือสิ่งถูกสร้างของพระองค์ คนที่สิบสองของพวกเขาคือกออิม ผู้ซึ่งอัลลอฮ์จะทรงเติมเต็มความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมแก่แผ่นดินด้วยสื่อเขา เหมือนดั่งที่มันได้ถูกทำให้เต็มไปด้วยความอธรรมและการกดขี่" (3)

    จากโองการต่างๆ ของอัลกุรอานและริวายะฮ์ที่คล้ายกันนี้ เราสามารถสรุปได้ว่า ก่อนการสร้างร่างกายของมนุษย์ พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมเวทีสำหรับการเอาพันธสัญญาและคำมั่นจากพวกเขาเกี่ยวกับ "รุบูบียะฮ์" (ความเป็นพระผู้อภิบาล) ของพระองค์และบรรดาผู้ที่ได้รับการอบรมขัดเกลาด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ คือ ท่านศาสดาและบรรดาอิมามมะอ์ซูม และการให้ความช่วยเหลือต่อท่านเหล่านั้น

    ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ที่เราจะอ่านในริวายะฮ์ต่างๆ ว่าปาฏิหาริย์ของปวงศาสดา (นบี) และศาสนทูต (ร่อซูล) จะถูกนำมาสู่การรับใช้ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) อย่างเช่น ไม้เท้าของศาสดามูซา (อ.) และพลอยแหวนของศาสดาสุไลมาน (อ.) ที่ท่านได้ใช้พิชิตหมู่ญิน สิ่งเหล่านี้เป็นที่รับรู้กันว่า เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือของปวงศาสดาที่มีต่อบรรดาอิมาม (อ.)

ช่วงเวลาที่ปวงศาสดาของพระเจ้าได้ตอกย้ำพันธสัญญาของตนกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

    สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการพบกันระหว่างศาสดาทุกท่านกับท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) ในช่วงเริ่มต้นการเดินทางขึ้นสู่ฟากฟ้า (มิอ์รอจ) ของท่านและในบัยตุลมักดิส ภายใต้โองการแรกของอัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ :

سُبْحانَ الَّذِی أَسْرى‏ بِعَبْدِهِ لَیْلًا مِنَ الْمَسْجِدِ الْحَرامِ إِلَى الْمَسْجِدِ الْأَقْصَى الَّذِی بارَکْنا حَوْلَهُ لِنُرِیَهُ مِنْ آیاتِنا

"มหาบริสุทธิ์ยิ่ง ผู้ซึ่งทรงนำบ่าวของพระองค์เดินทางในเวลากลางคืน จากมัสยิดอัลหะรอมไปยังมัสยิดอัลอักซอซึ่งเราได้ให้ความจำเริญแก่บริเวณรอบๆ ของมัน ทั้งนี้เพื่อเราจะให้เขาเห็นบางอย่างจากสัญญาณต่าง ๆ ของเรา"

    ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า : ส่วนหนึ่งจากบรรดาสัญญาณต่างๆ ที่พระองค์ทรงแสดงต่อมุฮัมมัด พระพระองค์ทรงนำท่านไปยังบัยตุลมักดิส ก็คือพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงรวมศาสดาและศาสนทูตทั้งหมดตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้าย และทรงบัญชาให้ญิบรีลกล่าวอะซานและอิกอมะฮ์ทีละคู่ และญิบรออีลได้กล่าวในการอะซานของตนว่า «حَیَّ عَلَى خَیْرِ الْعَمَلِ» “จงรีบรุดสู่การทำความดีเถิด” แล้วมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ออกมาข้างหน้าและนำนมาซกลุ่มชนเหล่านั้น และเมื่อท่านกลับออกมา (จากการนมาซ) อัลลอฮ์ก็ทรงตรัสแก่ท่านว่า :

وَ سْئَلْ مَنْ أَرْسَلْنا مِنْ قَبْلِکَ مِنْ رُسُلِنا أَ جَعَلْنا مِنْ دُونِ الرَّحْمنِ آلِهَةً یُعْبَدُون

 “และเจ้าจงถามผู้ที่เราได้ส่งมาก่อนหน้าเจ้าจากบรรดาศาสนทูตของเราเถิดว่า เราได้ตั้งพระเจ้าหลายองค์อื่นจากพระผู้ทรงเมตตา เพื่อเคารพบูชากระนั้นหรือ?” (4) :

فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ عَلَى مَنْ تَشْهَدُونَ وَ مَا کُنْتُمْ تَعْبُدُونَ قَالُوا نَشْهَدُ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَحْدَهُ لَا شَرِیکَ لَهُ- وَ أَنَّکَ رَسُولُ اللَّهِ أُخِذَتْ عَلَى ذَلِکَ عُهُودُنَا وَ مَوَاثِیقُنا

    ดังนั้นท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า : "พวกท่านจะเป็นสักขีพยานในเรื่องใด? และพวกท่านเคารพสักการะสิ่งใด?" พวกเขากล่าวว่า : "เราขอเป็นสักขีพยานว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว และไม่มีภาคีใดสำหรับพระองค์ และแท้จริงแล้วท่านคือศาสนทูตของอัลลอฮ์ คำมั่นสัญญาและพันธสัญญาของเราได้ถูกเอาในเรื่องนี้"

    นาฟีอ์กล่าวว่า : "ท่านพูดจริงแล้ว โอ้ อบูญะอ์ฟัร" (5)

การกลับมา (ร็อจอะฮ์) ของปวงศาสดาเพื่อช่วยท่านศาสดาและท่านอมีรุลลมุอ์มินีน

    การสนับสนุนและความช่วยเหลือทางจิตวิญญาณในลักษณะนี้ต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) และตัวอย่างของความช่วยเหลือนี้ได้ถูกกล่าวถึงในรูปต่างๆ ในริวายะฮ์อื่นๆ

    ภายใต้โองการที่ 81 ของอัลกุรอานบทอาลิอิมรอน ที่ถูกรู้จักในนาม "อายะฮ์ อะลัสตุ" หรือ "อัลมีษาก" (พันธะสัญญา) ที่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า :

وَ إِذْ أَخَذَ اللَّهُ میثاقَ النَّبِیِّینَ لَما آتَیْتُکُمْ مِنْ کِتابٍ وَ حِکْمَةٍ ثُمَّ جاءَکُمْ رَسُولٌ مُصَدِّقٌ لِما مَعَکُمْ لَتُؤْمِنُنَّ بِهِ وَ لَتَنْصُرُنَّه

"และจงลำลึกเมื่อครั้งที่อัลลอฮ์ทรงเอาพันธะสัญญาจากบรรดาศาสดา (โดยพระองค์ทรงตรัส) ว่า สิ่งที่ข้าได้ให้แก่พวกเจ้านั้นไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ และวิทยปัญญา แล้วต่อมาได้มีศาสนทูตคนหนึ่งมายังพวกเจ้าซึ่งเป็นผู้ยืนยันในสิ่งที่มีอยู่กับพวกเจ้า แน่นอนพวกเจ้าจะต้องศรัทธาต่อเขาและช่วยเหลือเขา"

    ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

مَا بَعَثَ اللَّهُ نَبِیّاً مِنْ لَدُنْ آدَمَ إِلَى عِیسَى ع إِلَّا أَنْ یَرْجِعَ إِلَى الدُّنْیَا فَیَنْصُرَ أَمِیرَ الْمُؤْمِنِینَ (ع) وَ هُوَ قَوْلُهُ لَتُؤْمِنُنَّ بِهِ‏» یَعْنِی رَسُولَ اللَّهِ‏ وَ لَتَنْصُرُنَّهُ‏ یَعْنِی أَمِیرَ الْمُؤْمِنِین

"อัลลอฮ์มิได้ทรงส่งศาสดาคนใดจากอาดัม จวบจนถึงอีซา (อ.) นอกจากว่าพวกเขาจะกลับมายังโลกนี้ แล้วจะช่วยเหลือท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.)  (ในเวลาที่กลับมา) และนั่นคือพระบัญชาของอัลลอฮ์ที่ทรงตรัสว่า  «لَتُؤْمِنُنَّ بِهِ» "พวกเจ้าจะต้องศรัทธามั่นต่อเขา" หมายถึง ศรัทธาต่อศาสนทูตของอัลลอฮ์ และที่พระองค์ทรงตรัสว่า «لَتَنْصُرُنَّه» "พวกเจ้าจะต้องช่วยเหลือเขา" หมายถึง ช่วยเหลือท่านอมีรุลมุอ์มินีน" (6)

เชิงอรรถ :

    บิฮารุลอันวาร, เล่ม 18, หน้า 299
    บะซออิรุดดะรอญาด, เล่ม 1, หน้า 70
    มะนากิบ อาลิ อบีฏอลิบ (อ.), อินุ ชะฮ์รอชูบ, เล่ม 1, หน้า 283
    อัลกุรอาน บทอัซซุครุฟ โองการที่ 45
    อัลอิห์ติญาจญ์, ฏอบัรซี, เล่ม 2, หน้า 325
    ตัฟซีร อัลกุมมี, เล่ม 1, หน้า 25

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม