สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ได้รับคุณประโยชน์จากเดือนรอมฎอนน้อยลง
สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ได้รับคุณประโยชน์จากเดือนรอมฎอนน้อยลง
ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวถึงความจำเป็นในการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเชิงลบในเดือนรอมฎอนอันจำเริญ
ท่านอิมามริฎอ (อ.) ในขณะที่ให้คำแนะนำต่างๆ แก่อบาซอลัต ฮะระวี ในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนชะอ์บาน ท่านได้กล่าวเกี่ยวกับการเตรียมตัวเข้าสู่เดือนรอมฎอนอันจำเริญว่า :
وَلاَ تَدَعَنَّ أَمَانَةً فِي عُنُقِكَ إِلاَّ أَدَّيْتَهَا وَ لاَ فِي قَلْبِكَ حِقْداً عَلَى مُؤْمِنٍ إِلاَّ نَزَعْتَهُ وَ لاَ ذَنْباً أَنْتَ مُرْتَكِبُهُ إِلاَّ قَلَعْتَ عَنْهُ
"และจงอย่าปล่อยให้มีความไว้วางใจ (อะมานะฮ์) ใดๆ ติดค้างอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้า เว้นแต่เจ้าจะปฏิบัติตามความไว้วางใจนั้น และอย่าปล่อยให้ความเกลียดชังใดๆ ที่มีต่อผู้ศรัทธาอยู่ในหัวใจของเจ้า เว้นเสียแต่ว่าเจ้าจะขจัดมันออกไป และอย่าปล่อยทิ้งความผิดบาปใดๆ ที่เจ้าได้กระทำไว้ เว้นแต่จะกำจัดมันออกไปจากหัวใจของเจ้า" (1)
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทนี้ ได้กล่าวถึงผลด้านลบของความเกลียดชังและความอาฆาตพยาบาทที่มีต่อคุณค่าที่ผู้ถือศีลอดจะได้รับในเดือนแห่งการเป็นแขกรับเชิญองพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากสถานที่แห่งความรักและความเกลียดชังและความอาฆาตพยาบาทนั้นอยู่ในหัวใจ (จิตวิญญาณ) ของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เอง ท่านอมีรุ้ลมุมินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) จึงกล่าวว่า :
مَنِ اطَّرَحَ الحِقدَ اسْتَراحَ قَلبُهُ و لُبُّهُ
“ผู้ใดละความเคียดแค้นได้ หัวใจและปัญญา (ความคิด) ของเขาย่อมสงบสุข” (2)
สำหรับความสำคัญของหัวใจนั้น ด้วยเหตุที่ว่าหัวใจถือเป็นศูนย์กลางของความศรัทธาและศูนย์กลางของการได้รับประโยชน์จากรัศมี (นูร) แห่งพระเจ้า ในโองการที่ 14 ของซูเราะฮ์อัลฮุญุรอต พระผู้เป็นเจ้า ทรงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญนี้ว่า :
قَالَتِ الْأَعْرَابُ آمَنَّا ۖ قُلْ لَمْ تُؤْمِنُوا وَلَٰکِنْ قُولُوا أَسْلَمْنَا وَلَمَّا یَدْخُلِ الْإِیمَانُ فِی قُلُوبِکُمْ
"ชาวอาหรับชนบทกล่าวว่าเราศรัทธาแล้ว จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัดว่า) พวกท่านยังมิได้ศรัทธา แต่จงกล่าวเถิดว่า เรายอมรับอิสลามแล้ว และความศรัทธานั้นยังมิได้เข้าสู่หัวใจของพวกท่าน"
นอกจากนี้ในหะดีษบทหนึ่ง ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :
القَلْبُ حَرَمُ اللهِ فَلا تُسْکِنْ فِی حَرَمِ اللهِ غیَرَ اللهِ
“หัวใจเป็นเขตหวงห้ามของอัลลอฮ์ ดังนั้นจงอย่าให้สิ่งอื่นจากอัลลอฮ์พำนักอยู่ในเขตหวงห้ามของอัลลอฮ์" (3)
ดังนั้นความเกลียดชังและความอาฆาตพยาบาทจึงส่งผลด้านลบและด้านมืดต่อหัวใจและจิตวิญญาณของมนุษย์ และทำให้การสัมผัสถึงการอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์แห่งพระผู้เป็นเจ้าสำหรับเขาในเดือนรอมฎอนจะลดน้อยลง หรือพูดอีกอย่างก็คือ อย่าให้มันกลายเป็นสาเหตุทำให้หัวใจของผู้ศรัทธาหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไม่ดีงามทั้งหลาย โดยที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า :
إنَّما اللَّبیبُ مَنِ اسْتَسَلَّ الأحْقاد
"แท้จริงคนฉลาดนั้นคือผู้ที่ขจัดความขุ่นเคืองออกไป (จากหัวใจ)" (4)
ท้ายที่สุดแล้ว ความขุ่นเคืองและความอาฆาตพยาบาทนั้นจะเป็นบ่อเกิดของปัญหาสำหรับผู้ที่มีคุณลักษณะอันชั่วร้ายนี้เอง กล่าวคือ ผลจากการที่ความคิดและจิตใจของมนุษย์หมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้ จะส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพและอุปนิสัยใจคอของเขา และจะทำให้เขาแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่รุนแรงกับคนรอบข้างและแม้แต่ครอบครัวของเขา ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) กล่าวไว้ในริวายะฮ์อีกบทหนึ่งว่า :
مَن زَرَعَ الإحَنَ حَصَدَ المِحَنَ
"ผู้ใดหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความแค้น เขาย่อมเก็บเกี่ยวผลแห่งความทุกข์" (5)
ดังนั้นท่านอิมามอะลี (อ.) จึงได้แนะนำไว้ในหะดีษบทหนึ่งว่า :
احْتَمِلْ أخاكَ على ما فیهِ و لا تُکْثِرِ العِتابَ؛ فإنّهُ یُورِثُ الضَّغینَةَ
"จงอดทนต่อพื่น้องของท่านกับทุกสิ่งที่มีอยู่ในตัวเขา และอย่าตำหนิเขามากเกินไป เพราะสิ่งนี้จะนำมาซึ่งความขุ่นแค้น" (6)
หรือในอีกหะดีษหนึ่งท่านกล่าวว่า :
أُحصُدِ الشَّرَّ مِن صَدرِ غَيرِكَ بِقَلعِهِ مِن صَدرِكَ
"จงขจัดความชั่วร้ายออกจากใจของผู้อื่น ด้วยการขจัดความเกลียดชังออกจากใจของท่านเอง" (7)
เชิงอรรถ :
1. อุยูน อัลอัคบาร อัรริฎอ, เล่ม 2, หน้า 51
2. มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่ม 1, หน้า 648
3. บิฮารุลอันวาร, เล่ม 67, หน้า 25
4. ฆุร่อรุลหิกัม, หะดีษที่ 3868
5. ฆุร่อรุลหิกัม, หะดีษที่ 9157
6. มีซานุลฮิกมะฮ์, เรย์ ชะฮ์รี, เล่ม 1, หน้า 45
7. นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 178
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ