เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

จริยธรรมในวจนะของท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.)

1 ทัศนะต่างๆ 05.0 / 5


จริยธรรมในวจนะของท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.)


    ความงดงามของคำพูดต่างๆ ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) นั้น มีเสน่ห์และมีความสูงส่งยิ่งถึงขั้นที่จะดึงดูดให้ผู้ฟังทุกคนปฏิบัติตามคำพูดต่างๆ ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ได้ ใครก็ตามที่ความปรารถนาของเขาคือโลกนี้ (ดุนยา) คุณค่าของเขาก็จะเท่ากับสิ่งนั้น แต่ใครก็ตามที่ความปรารถนาของเขาคือปรโลก โลกนี้ก็จะเป็นสิ่งเล็กน้อยและต่ำต้อยในสายตาของเขา

    บทคัดย่อ : คุกทั้งสี่ อันได้แก่ โลกนี้ (ดุนยา) ท้อง ตัณหา และความไม่รู้ คือสาเหตุที่จะทำให้มนุษย์จำนวนมากมายพบกับความตกต่ำและความอัปยศอดสู ...

    ความงดงามของคำพูดต่างๆ ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) นั้นมีเสน่ห์และมีความสูงส่งยิ่งถึงขั้นที่จะดึงดูดให้ผู้ฟังทุกคนปฏิบัติตามคำพูดต่างๆ ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ได้ ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้กล่าวไว้ในหะดีษบทหนึ่งว่า :

لَوْ عَلِمُوا مَحَاسِنَ كَلَامِنَا لَاتَّبَعُونَا

 “หากประชาชนได้รู้ถึงความดีงามของคำพูดของเรา พวกเขาจะปฏิบัติตามเราอย่างแน่นอน” (1)

มัรฮูมกุลัยนี (ร.ฎ.) ได้รายงานหะดีษบทหนึ่งจากท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ไว้ในหนังสือ "อัลกาฟี" ของตน (2) และในที่นี้เราจะกล่าวถึงข้อความบางตอนของหะดีษบทนี้

ความสำคัญของการมองเห็นโลกเป็นสิ่งเล็กน้อย (ไร้ค่า)

    วันหนึ่งท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ได้กล่าวคุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) ในหมู่ประชาชน ท่านกล่าวว่า :

أَيُّهَا النَّاسُ أَنَا أُخْبِرُكُمْ عَنْ أَخٍ لِي كَانَ مِنْ أَعْظَمِ النَّاسِ فِي عَيْنِي وَ كَانَ رَأْسُ مَا عَظُمَ بِهِ فِي عَيْنِي صِغَرَ الدُّنْيَا فِي عَيْنِه

 “โอ้ ประชาชนเอ๋ย! ฉันจะเล่าให้พวกท่านฟังเกี่ยวกับพี่น้องคนหนึ่งของฉัน เขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่มนุษย์ในสายตาของฉัน และสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เขายิ่งใหญ่ในสายตาของฉันนั้นคือการที่โลกนี้ (ดุนยา) เป็นสิ่งเล็กน้อยในสายตาของเขา"

    การที่อิมามมะอ์ซูม (อ.) เรียกใครบางคนว่าเป็นพี่น้องของตนนั้นถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับเขาผู้นั้น และการที่ท่านถือว่าพี่น้องคนนี้เป็นหนึ่งในประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้น ยิ่งนับเป็นเกียรติสองเท่าทวีคูณ แต่การที่ท่านเรียกคนผู้หนึ่งว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ คำถามแรกที่ผุดขึ้นในใจ ก็คือว่า อะไรคือเหตุผลของความยิ่งใหญ่และความมีเกียรตินี้ของเขา และพี่น้องผู้นี้มีคุณลักษณะอะไรที่ทำให้เขายิ่งใหญ่และได้รับเกียรติถึงเพียงนี้?  ท่านอิมาม (อ.) ได้ตอบคำถามที่อาจกลายเป็นข้อสงสัยขึ้นในใจของผู้ฟังโดยทันที และได้อธิบายว่าการไม่ยึดติดและไม่ให้ความสำคัญต่อชีวิตทางโลกนี้ คือที่มาของความยิ่งใหญ่และความมีเกียรตินี้ ตามคำพูดของท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ท่านกล่าวว่า :

قِيمَةَ كُلِّ امْرِءٍ مَا یُحسِنْ

"คุณค่าของแต่ละคนนั้น อยู่ในสิ่งที่เขาถือว่าดี" (3)

    ใครก็ตามที่ความปรารถนาของเขาคือโลกนี้ (ดุนยา) คุณค่าของเขาก็จะเท่ากับสิ่งนั้น แต่ใครก็ตามที่ความปรารถนาของเขาคือปรโลก (อาคิเราะฮ์) แล้ว โลกนี้ (ดุนยา) ก็จะเป็นสิ่งเล็กน้อยและต่ำต้อยในสายตาของเขา และสิ่งนี้เองที่ทำให้บุคคลผู้นั้นยิ่งใหญ่ในสายตาของอิมามแห่งยุคสมัยของเขา บุคคลที่มองโลกนี้เป็นสิ่งเล็กน้อยและต่ำต้อยนั้นเป็นตัวอย่างของการปฏิบัติตนตามโองการอัลกุรอานอันทรงเกียรติที่กล่าวว่า :

لِكَيْلا تَأْسَوْا عَلى‏ ما فاتَكُمْ وَ لا تَفْرَحُوا بِما آتاكُم

“เพื่อพวกเจ้าจะได้ไม่ต้องเสียใจต่อสิ่งที่ได้สูญเสียไปจากพวกเจ้า และไม่ดีใจต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานแก่พวกเจ้า”

(อัลกุรอานบทอัลหะะดีด โองการที่ 23)

อิสรภาพจากคุกแห่งท้อง

    ท่านอิมามมุจญ์ตะบา (อ.) ได้กล่าวในส่วนถัดไปของคุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) นี้ว่า :

كَانَ خَارِجاً مِنْ سُلْطَانِ بَطْنِهِ فَلَا يَشْتَهِي مَا لَا يَجِدُ وَ لَا يُكْثِرُ إِذَا وَجَد

 “เขาจะอยู่เหนืออำนาจการครอบงำของท้องของเขา ดังนั้นเขาจะไม่อยากในสิ่งที่เขาไม่มี และเขาก็จะไม่กินมากเมื่อเขามี”

    บุคคลที่ปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำนั้นจะทำให้ตัวเองออกจากการควบคุมของสติปัญญาและจมปักอยู่กับตัณหาของตน การที่ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ได้กล่าวว่า : พี่น้องของฉันจะไม่มีความปรารถนาในสิ่งที่เขาไม่มี ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีความอยากอาหารและความปรารถนาในอาหารนั้น แต่ทว่าหากเขาไม่มี เขาก็จะไม่ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาและเขาก็พอใจกับสิ่งที่เขามี กล่าวอีกนัยหนึ่ง เขาจะไม่นำพาตัวเองลงในน้ำและเข้ากองไฟเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารที่เขาอยาก (4) และจะไม่รู้สึกโกรธ หากไม่ได้กินมัน (5)

อิสรภาพจากคุกแห่งตัณหา

    ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ได้กล่าวอีกว่า :

كَانَ خَارِجاً مِنْ سُلْطَانِ فَرْجِهِ- فَلَا يَسْتَخِفُّ لَهُ عَقْلَهُ وَ لَا رَأْيَه

“เขาจะอยู่เหนือการครอบงำของตัณหาราคะของตน ดังนั้นเพื่อที่จะสนองความต้องการทางเพศของเขา เขาจะไม่ดูถูกสติปัญญาและวิจารณญาณของเขา"

    คำอธิบายประโยคนี้ โดย "มุลลาซอและห์ มอซันดารอนี" ผู้อธิบายหนังสืออุซูลุลกาฟี ท่านกล่าวว่า : “ในกรณีที่การสนองตัณหาจะเกิดขึ้นได้โดยหนทางที่ไม่เป็นที่อนุมัติ (ฮะรอม) นั้น ในกรณีเช่นนี้ตัณหาของเขาจะไม่มีอำนาจครอบงำเหนือเขาได้ กล่าวคือ เขาจะปฏิบัติตามวิจารณญาณที่มั่นคงและสติปัญญาที่สมบูรณ์และเป็นไปตามบทบัญญัติของศาสนา (ชะรีอัต) และเพื่อสนองตอบความต้องการทางเพศของตนนั้น เขาจะไม่ละเมิดขอบเขตของพระผู้เป็นเจ้า" (6)

อิสรภาพจากคุกแห่งความไม่รู้ (ญะฮาละฮ์)

    ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้กล่าวต่อว่า :

كَانَ خَارِجاً مِنْ سُلْطَانِ الْجَهَالَةِ فَلَا يَمُدُّ يَدَهُ إِلَّا عَلَى ثِقَةٍ لِمَنْفَعَة

“เขาอยู่เหนืออำนาจการครอบงำของความไม่รู้ ดังนั้นเขาจะไม่ยื่นมือ (กระทำ) สิ่งใดเว้นแต่เขาจะแน่ใจในประโยชน์ของมัน”

    ความไม่รู้ (ญะฮาละฮ์) เป็นหนึ่งในความโชคร้ายที่ใหญ่หลวงที่สุดของมนุษยชาติ ตามคำพูดของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่มีต่อท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) “ไม่มีความยากจนใดที่ร้ายแรงยิ่งไปกว่าความไม่รู้” (7) ในเนื้อหาส่วนนี้ ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ได้ชี้ให้เห็นถึงหนทางที่จะหลุดพ้นออกจากคุกของความไม่รู้ว่า “เขาจะไม่กระทำสิ่งใด เว้นแต่เขาจะแน่ใจในประโยชน์ของมัน”

    ในที่นี้ท่านอิมามใช้คำว่า ความแน่ใจ (ซิเกาะฮ์) ไม่ใช่คำว่า ความเชื่อมั่น (ยะกีน) สิ่งนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าหากเราเชื่อว่าเปอร์เซ็นต์ของการได้รับประโยชน์มีอยู่ในระดับที่สูงพอ เราก็สามารถเข้าสู่การกระทำบางสิ่งบางอย่างได้ เนื่องจากมนุษย์ไม่อาจบรรลุถึงระดับความเชื่อมั่น (ยะกีน) ได้ในหลายๆ กรณี นอกจากนี้จุดประสงค์ของท่านอิมามจากคำว่า “ความมีประโยชน์” นั้น ยังหมายถึงความมีประโยชน์ทั้งในโลกนี้และปรโลกอย่างแน่นอน

    ไม่ใช่แค่เพียงความมีประโยชน์ในโลกนี้เท่านั้น ตามคำกล่าวของอัลลามะฮ์ มัจญ์ลิซี แม้แต่ในกรณีที่มีความขัดแย้งกันระหว่างประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า ประโยชน์ของโลกหน้าจะมีความสำคัญและมาก่อนประโยชน์ของโลกนี้ แม้ว่าจะนำไปสู่การสูญเสีย (ประโยชน์ที่พึงจะได้รับ) ในโลกนี้ก็ตาม (8)

เชิงอรรถ :

1.อุยูน อัคบาร อัรริฎอ (อ.), เล่ม 1, หน้า 307

2.อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 237

3.อัลบุรฮาน, เล่ม 5, หน้า 71

4.ชัรห์ อุซูล อัลกาฟี, เล่ม 9, หน้า 170

5.บิฮารุลอันวาร, เล่ม 66, หน้า 295

6.ชัรห์ อุซูล อัลกาฟี, เล่ม 9, หน้า 170

7.อัลมะฮาซิน, หน้า 17 :

يَا عَلِيُّ لا فَقْرَ أَشَدُّ مِنَ الْجَهْل‏

 “โอ้ อะลีเอ๋ย! ไม่มีความยากจนใดจะเลวร้ายไปกว่าความไม่รู้”

8.บิฮารุลอันวาร, เล่ม 66, หน้า 297

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ‎

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม