คัมภีร์อัลกุรอาน ทางนำสำหรับมวลผู้ยำเกรง
คัมภีร์อัลกุรอาน ทางนำสำหรับมวลผู้ยำเกรง
คัมภีร์อัลกุรอานนั้น แม้จะถูกประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติทั้งมวล แต่ทว่าเฉพาะบรรดาผู้ยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากการชี้นำและคำสอนต่างๆ
เมื่อพิจารณาถึงกรณีที่ว่า คัมภีร์อัลกุรอานนั้นคือทางนำและสิ่งชี้นำสำหรับมนุษยชาติทั้งมวล เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :
شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ
“เดือนรอมฏอน คือเดือนที่คัมภีร์อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมา เพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษย์” (1)
แต่ทำไมในช่วงเริ่มต้นของอัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ จึงจำกัดการนำทางของมันไว้เฉพาะสำหรับบรรดาผู้ที่มีความยำเกรงในพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า :
ذَٰلِكَ الْكِتَابُ لَا رَيْبَ فِيهِ هُدًى لِّلْمُتَّقِينَ
“คัมภีร์นี้ ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ในนั้น เป็นทางนำสำหรับบรรดาผู้ยำเกรงเท่านั้น” (2)
คำตอบสำหรับคำถามข้อนี้ก็คือ :
ประการแรก : คัมภีร์อัลกุรอานนั้น แม้จะถูกประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติทั้งมวล แต่ทว่าเฉพาะบรรดาผู้ยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากการชี้นำและคำสอนต่างๆ ของมัน
أنه إنما خص المتقين ؛ لأنهم هم الذين انتفعوا به واهتدوا به
“อันที่จริงที่มันได้ถูกจำกัดเฉพาะบรรดาผู้ยำเกรงนั้น ก็เนื่องจากว่าพวกเขาคือผู้ที่จะได้รับประโยชน์และได้รับการชี้นำจากคัมภีร์นั้น”
เช่นเดียวกับที่คัมภีร์อัลกุรอานนั้น เป็นสิ่งที่ตักเตือนมนุษยชาติทั้งมวล
الَّذِي نَزَّلَ الْفُرْقَانَ عَلَىٰ عَبْدِهِ لِيَكُونَ لِلْعَالَمِينَ نَذِيرًا
“ผู้ซึ่งได้ทรงประทานอัลฟุรกอน (อัลกุรอาน) ลงมายังบ่าวของพระองค์ (มุฮัมมัด) เพื่อที่เขาจะได้เป็นผู้ตักเตือนแก่ปวงบ่าวทั้งมวล” (3)
แต่ผู้ที่จะได้รับผลจากการตักเตือนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น คือผู้ที่มีความเกรงกลัวเพียงเท่านั้น
إِنَّمَا أَنتَ مُنذِرُ مَن يَخْشَاهَا
“อันที่จริงเจ้าเป็นแค่เพียงผู้ตักเตือนแก่คนที่หวั่นกลัวต่อมัน (วันกิยามะฮ์) เท่านั้น” (4)
ประการที่สอง : ที่ว่าคัมภีร์อัลกุรอานคือทางนำสำหรับมนุษยชาตินั้น ประหนึ่งว่า บรรดาผู้ยำเกรงเพียงเท่านั้นที่ถูกนับว่าเป็นมนุษย์ ดังที่ท่านฟัครุร รอซีได้กล่าวว่า :
إنه هدى للمتقين ، فهذا يدل على أن المتقين هم كل الناس ، فمن لا يكون متقيا كأنه ليس بإنسان
“แท้จริงมัน (คัมภีร์อัลกุรอาน) คือทางนำสำหรับบรรดาผู้ยำเกรง ดังนั้นสิ่งนี้จะบ่งชี้ว่าบรรดาผู้ยำเกรงนั้น พวกเขาทั้งหมดเป็นมนุษย์ ดังนั้นผู้ใดที่ไม่ใช่ผู้ยำเกรง ประหนึ่งว่าเขาไม่ใช่มนุษย์”
ทำนองเดียวกับที่คัมภีร์อัลกุรอาน ไม่นับว่าคนที่ไม่ใช่ผู้ยำเกรงพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นมนุษย์ แต่จัดพวกเขาให้อยู่ในระดับเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน
أُولَٰئِكَ كَالْأَنْعَامِ بَلْ هُمْ أَضَلُّ أُولَٰئِكَ هُمُ الْغَافِلُونَ
“พวกเหล่านั้นประหนึ่งปศุสัตว์ ยิ่งกว่านั้นพวกเขาคือผู้หลงทางยิ่งกว่า พวกเหล่านั้น พวกเขาคือผู้ที่เผลอเรอ” (5)
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับคนที่ไร้ตักวา (ความยำเกรง) ต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า
فصورته صورة انسان و القلب قلب حیوان
“รูปพันธ์สัณฐานของเขาคือมนุษย์ ในขณะที่หัวใจคือหัวใจสัตว์” (6)
แหล่งอ้างอิง :
(1) อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 185
(2) อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 2
(3) อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 1
(4) อัลกุรอานบทอันนาซิอาต โองการที่ 45
(5) อัลกุรอานบทอัลอะอ์รอฟโองการที่ 179
(6) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 87 ; อัตติบยาน, เล่มที่ 1, หน้าที่ 53 ; มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่มที่ 1, หน้าที่ 36 ; ตัฟซีรอัลกะบีร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 21
ที่มา : หนังสือ “ฮะซอโร เยก นุกเต๊ะฮ์” หน้าที่ 375 (ปรับและเพิ่มเติมเนื้อหาเล็กน้อย)
บทความโดย เชคมูฮัมหมัดนาอีม ประดับญาติ