เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อิมามัต (ความเป็นผู้นำ) ตอนที่ 4

3 ทัศนะต่างๆ 04.3 / 5

อิมามัต (ความเป็นผู้นำ) ตอนที่ 4


ความขัดแย้งหลักๆในเรื่องอิมามัตระหว่างซุนนีและชีอะหฺคือผู้นำต้องได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮฺ(ซบ)หรือการเลือกตั้งจากมนุษย์เอง ประเด็นที่สองคือผู้นำจะต้องได้รับการชี้นำความรู้โดยตรงจากอัลลอฮฺ(ซบ)เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการชี้นำ และในอัลกุรอานมีความรู้ประเภทนี้อยู่คือ “อิลมุลลาดุนี” ความรู้ที่อัลลอฮฺ(ซบ)ประทานให้โดยตรง “มินละดุนาอิลมา” บางครั้งความรู้นี้ผ่านการอิลฮาม(การดลใจ) บางครั้งผ่านการชูฮูด(การประจักษ์แจ้งเห็นจริง) บางครั้งผ่านวะฮฺยู(วิวรณ์) เช่นกรณีบรรดาศาสดาที่ได้จากพระองค์ ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนนั้นต้องมีความรู้แบบนี้ เป็นความรู้ที่ไม่ผ่านกระบวนการทางความคิด แต่พี่น้องซุนนีถือว่าไม่จำเป็น แต่เรื่องนี้ชีอะหฺถือว่าเป็นความจำเป็น ประเด็นที่สามคือผู้นำจะต้องเป็นผู้ที่มีความอิศมะฮฺความบริสุทธิ์จากมลทินและความผิดพลาดทุกประการ นี้คือความหมายในเบื้องต้น และที่ลงลึกไปคืออิสมะตุลอิลมี(ความบริสุทธิ์ทางด้านความรู้) บางครั้งเนื่องจากผู้นำ(อิมามหรือคอลิฟะฮฺ)ต้องวินิจฉัยหรือตัดสินปัญหาต่างๆก็ต้องออกมาจากความรู้ที่บริสุทธิ์ที่ไม่มีความผิดพลาดใดๆ เพราะได้รับความรู้มาจากอัลลอฮฺ(ซบ)ในทุกๆเรื่องจึงไม่มีความผิดพลาดใดๆในการนำเสนอ เหล่านี้คือเงื่อนไขหลักของผู้นำในทัศนะของชาวชีอะหฺซึ่งตรงกันข้ามกับพี่น้องชาวซุนนี อาจจะเข้าใจผิดว่ามะฮฺศูม(ผู้บริสุทธิ์)ทุกคนนั้นป็นอิมามผู้นำซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนี้ มีมะฮฺศูมจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นอิมามผู้นำ เช่นท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ซ) และบรรดาเอาลียาอฺอัลลอฮฺ
ความขัดแย้งระหว่างชีอะหฺกับซุนนีถ้าหากดูผิวเผินคือเรื่องคอลีฟะฮฺ ซึ่งชีอะหฺเชื่อว่าศาสดาแต่งตั้งไว้แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงคือความขัดแย้งหลักคือเป็นความขัดแย้งในเรื่องอูศูลลุดดีน เรื่องการแต่งตั้งหรือไม่ได้แต่งตั้งเป็นเรื่องฟูรุฮุดดีนเท่านั้น ขัดแย้งในอูศูลลุดดีนหมายความว่าขัดแย้งด้านความศรัทธา เป็นเรื่องของรากฐานของศาสนา ถ้าไม่มีสิ่งนี้ศาสนาก็ไม่สมบูรณ์ เป็นเรื่องของการเติมเต็มศาสนาเป็นเรื่องการคงอยู่ของศาสนาขาดสิ่งนี้ศาสนาไม่สมบูรณ์ หลังจากระบบนบูวะหฺ(ระบบศาสดา)สิ้นสุดลง การชี้นำของศาสดามูฮัมมัด(ศ็อล)สิ้นสุดลงเพราะท่านเป็นศาสดาองค์สุดท้าย คำถามคือว่าการชี้นำจากฟากฟ้ายังคงอยู่หรือไม่ หรือสิ้นสุดแล้ว ชีอะหฺเชื่อว่าระบบการชี้นำจากฝากฟ้ายังคงมีอยู่เพราะสังคมนั้นต้องการผู้นำต่อไป มนุษย์ยังคงต้องการการชี้นำจากฝากฟ้าการชี้นำจากพระผู้เป็นเจ้า แล้วมนุษย์จะได้รับการชี้นำจากฝากฟ้าได้อย่างไรในเมื่อระบบนบูวะหฺสิ้นสุดแล้ว คำตอบคือเมื่อระบบนบูวะหฺสิ้นสุดลงเกิดระบบอิมามัต(ระบบผู้นำ)ก็ถูกนำมาแทนที่ ดังนั้นการปฏิเสธระบบอิมามัตก็คือการปฏิเสธอูศูลลุดดีนคือการปฏิเสธการขี้นำจากพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมนุษย์ยังมีความจำเป็นต่อสิ่งนี้ เพราะท่านศาสดาเป็นศาสดาองค์สุดท้าย อิสลามเป็นศาสนาสุดท้าย เป็นศาสนาสำหรับมวลมนุษย์ที่ต้องดำรงอยู่จนถึงวันกียามัต อิสลามอันบริสุทธิ์จะต้องได้รับการปกป้องทุกๆคำสั่งสอนให้คงอยู่จนถึงวันสุดท้าย และภารกิจในการปกป้องบุคคลที่มาทำหน้าที่นี้คือวะศีคือตัวแทนของศาสดา ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่วะศีซึ่งที่มีภารกิจเหมือนกับศาสดาจะได้รับการเลือกขึ้นมาโดยมนุษย์ เพราะไม่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ที่วะศีตัวแทนของศาสดาที่มนุษย์เป็นผู้เลือก ตั้งแต่ศาสดาอาดัมถึงศาสดาอีซา(อ) ทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งจากศาสดา ดังนั้นพี่น้องชาวซุนนีจึงอธิบายอีกรูปแบบหนึ่งว่าท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)นั้นไม่มีวะศี คำว่าวะศีจึงถูกตัดไปจากอิสลาม เป็นคำพูดที่ไม่กินกับสติปัญญา เพราะทุกๆศาสดามีวะศีทั้งหมด ทั้งๆที่ศาสนาก่อนหน้าเล็กกว่าศาสนาอิสลาม แล้วอิสลามที่เป็นศาสนาที่สมบูรณ์กว่าจะไม่มีวะศีได้อย่างไร พวกเขาต้องการที่หลีกเลี่ยงเพื่อจะสร้างความชอบธรรมในการเลือกตั้งกันเองจึงพูดเรื่องนี้ ซึ่งอุลามาอฺชีอะหฺไม่ยอมรับเรื่องนี้ มีกวีบทหนึ่งว่า “เป็นไปได้หรือที่ศาสดาไม่มีวะศีทั้งที่ศาสดาทั้งหมดก่อนหน้ามีวะศี มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮฺ(ซบ)จากคำพูดที่บรรดาผู้โง่เขลาได้กล่าวกัน”
ไม่มีศาสดาองค์ใดที่ไม่มีวะศีเป็นไปได้อย่างไรที่ครั้งแรกจะเกิดขึ้นกับศาสดาแห่งอิสลา ซึ่งสาเหตุที่พวกเขาปฏิเสธสิ่งนี้เพราะต้องการสร้างความชอบธรรมในการเลือกตั้งที่มาจากมนุษย์เอง เพราะไม่มีวะศีใดที่แต่งตั้งโดยมนุษย์ อัลลอฮฺ(ซบ)แต่งตั้งเท่านั้น อิมามหรือคอลีฟะฮฺจริงๆก็คือตำแหน่งวะศี ซึ่งมีความจำเป็นมีความสำคัญต่อศาสนา ถ้าเราย้อนกลับไปดูการปฏิบัติของพี่น้องชาวซุนนีซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาก็ยอมรับว่าผู้นำอิสลามนั้นคือสิ่งที่จำเป็น จำเป็นเป็นอย่างมาก หลังจากที่ท่านศาสดาเสียชีวิตลงพวกเขารีบไปกันที่ซะกีฟะฮฺรีบถึงขนาดที่ว่ามัยยิต(พระศพ)ของท่านศาสดายังไม่ถูกฝังพวกเขาก็ไปเลือกผู้นำกันเองเสียแล้ว ท่านอบูบักรและศอฮาบะฮฺจำนวนหนึ่งไม่ได้ร่วมญานาซะฮฺของท่านศาสาดา เมื่อพวกเขาถูกถามว่าทำไมพวกเขาตอบว่าสังคมมุสลิมนั้นขาดผู้นำไม่ได้จะต้องแต่งตั้งให้รวดเร็วที่สุด ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นจากการปฏิบัติของพวกเขา เขาจึงไปเลือกกันที่ซะกีฟะฮฺอย่างเร่งด่วน กรณีที่สองการขึ้นเป็นคอลีฟะฮฺคนที่สองของท่านอุมัรทำไมไม่ปล่อยให้เลือกกันเองแบบที่เลือกกันที่ซะกีฟะฮฺเหมือนคอลีฟะฮฺคนแรก  อุลามาอฺซุนนีเองก็ออกมาตอบว่าทำแบบที่ซะกีฟะฮิไม่ได้เพราะที่ซะกีฟะฮฺเองก็เกิดความขัดแย้งเกือบจะไม่ได้เลือก และอบูบักรจึงได้แต่งตั้งอุมัรตั้งแต่ตอนที่เขายังมีชีวิต ดังนั้นการปฏิบัติเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีผู้นำ คอลีฟะฮฺคนที่หนึ่งเห็นความสำคัญอันนี้จึงรีบแต่งตั้งคอลีฟะฮฺคนที่สองทันที  ดังนั้นจึงเกิดคำถามสำคัญว่าต่ำแหน่งผู้นำมีความจำเป็นมีความสำคัญถึงขั้นต้องทิ้งมัยยิตท่านศาสดา หรือถึงขั้นที่คอลีฟะฮฺคนที่หนึ่งยังไม่เสียชีวิตก็ได้แต่งไว้แล้ว ถามว่าท่านศาสดาไม่เห็นเห็นความสำคัญของผู้นำหรือ ท่านศาสดาไม่ได้แต่งตั้งไว้หรือ ทำไมท่านศาสดาไม่ทำไว้หรือ ถ้าพวกเขายืนยันว่าศาสดาไม่ได้ทำก็เท่ากับว่าพวกเขาเห็นว่าท่านคอลีฟะฮฺคนที่หนึ่งและคนที่สองเห็นความสำคัญในการมีผู้นำมากกว่าท่านศาสดาหรือ ประเด็นต่อมาคือทั้งคอลีฟะฮฺคนที่หนึ่งและคนที่สองได้รับความชอบธรรมในการเลือกให้เป็นคอลีฟะฮฺจากที่ใด ใครเป็นผู้อนุญาตให้ไปเลือกกันที่ซะกีฟะฮฺ ประชาชาติอิสลามก็อยู่ที่มาดีนะฮฺ มีประชาชนแค่ยี่สิบกว่าคนที่ซะกีฟะฮฺ เอาสิทธิ์นี้มาอย่างไร มีอัลกุรอาน มีอัลฮาดิษมารับรองหรือไม่ ในเมื่อพวกเขากล่าวว่าจะไม่ทำอะไรเว้นแต่ตามซุนนะฮฺ(แบบฉบับ)ของท่านศาสดา ถึงขั้นที่บางคนไม่ยอมกินแตงโมเพราะไม่รู้ว่าท่านศาสาดาผ่าแบบไหน แต่เรื่องเลือกคอลีฟะฮฺ พวกเขากลับเลือกมาเองในขณะที่ยังไม่รู้เลยว่าท่านศาสดาเลือกไว้แล้ว ความชอบธรรมอยู่ที่ไหน การกระทำของพวกเขาเป็นการกระทำที่ได้แสดงว่าศาสดาได้บกพร่องในหน้าที่ของท่าน เมื่อพี่น้องชาวซุนนีไม่สามารถให้คำตอบได้ ชาวชีอะหฺก็ตอบว่า แท้จริงแล้วท่านศาสดาให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เป็นอย่างมาก มีหลักฐานยืนยันอย่างมากมายทุกๆครั้งท่านให้ความสำคัญกับตัวแทนผู้ดูแลภารกิจหน้าที่อันนี้ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ในบางเหตุการณ์ที่ท่านต้องออกไปทำสงครามที่ท่านต้องออกไปนำศึกเอง ต้องทิ้งเมืองมาดีนะฮฺเอาไว้ เมืองที่ได้สถาปนารัฐอิสลามแล้ว ท่านไม่เคยทิ้งเมืองไว้โดยไม่มีผู้รักษาราชการแทน ทุกครั้งท่านจะแต่งตั้งตำแทนไว้ให้อยู่ดูแลเมืองมะดีนะฮฺ และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งคือท่านอิมามอาลี(อ)อย่างสม่ำเสมอ ชี้ให้เห็นว่าเมื่อท่านออกไปนอกเมืองทั้งๆที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านก็ได้แต่งตั้งไว้ รัฐอิสลามอยู่โดยไม่มีผู้นำนั้นเป็นสิ่งเรื่องที่อันตรายเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และเหตุกรณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งเป็นที่มาของฮาดิษ “มันซิละฮฺ”  ท่านอิมามอาลีอยากจะออกไปด้วย ท่านศาสดาก็ได้บอกว่าเจ้าไม่ต้องออกหรอกซึ่งถูกบันทึกไว้ในศอฮีฮฺมุสลิม เล่มที่ 12 หน้า 128
‌أنتَ مِنّی بِمَنزلةِ هارونَ مِنْ مُوسی، اِلّاأنـّه لانَبیّ بَعدی
“โอ้อาลีเจ้ากับฉันมีสถานะตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งของมูซากับฮารูน เพียงแต่ว่าจะไม่มีศาสดาใดอีกหลังจากฉัน”
ถ้าย้อนกลับไปดูเรื่องราวของของท่าศาสดามูซากับศาสดาฮารูนนั้นเรื่องราวหนึ่งที่มีความสำคัญคือท่านฮารูนเป็นวะศี เป็นตัวแทนของศาสดามูซา หมายความว่าเมื่อท่านศาสดามูฮัมมัด(ศ็อล)ไม่อยู่ในเมืองมะดีนะฮฺอาลีต้องทำหน้าที่แทน จะต้องปกป้องดูแลเมืองจากเพศภัย แผนร้าย มุนาฟิก ดังนั้นเห็นได้ว่าแม้แต่การจากไปที่จะกลับมาท่านศาสดาก็ได้แต่งตั้งผู้นำหรือตัวแทนไว้ แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่ท่านศาสดาจากไปอย่างถาวรโดยที่ท่านไม่ได้แต่งตั้งผู้นำหรือตำแทนไว้

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม