บทเรียนหลักความศรัทธา ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา
บทเรียนหลักความศรัทธา ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา
สิ่งที่ต้องการสร้างความเข้าใจกับท่านผู้อ่าน คือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของศาสนาประเภทเทวนิยม (หลักศรัทธาของอิสลาม) หรือที่เรียกว่าหลักอุซูลุดดีน แต่สิ่งจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจก่อนอันดับแรกคือ คำว่าศาสนา ในทัศนะของเทวนิยม เนื่องจากตามหลักตรรกศาสตร์แล้วจะเห็นว่ารากฐานสำคัญสำหรับการคิดคือ การอธิบายหรือการให้คำจำกัดความต่อสิ่งนั้นเป็นอันดับแรกก่อนอธิบายถึงเนื้อหาสาระ
คำว่า ศาสนา หรือ ดีน ในภาษาอาหรับหมายถึงการภักดีหรือผลรางวัล ส่วนความหมายในทัศนะของนักปราชญ์ หมายถึง ความศรัทธาต่อผู้รังสรรค์สำหรับโลกและมนุษย์ และคำสั่งให้ปฏิบัติอันมีความเหมาะสมกับหลักความเชื่อนั้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ไม่มีความศรัทธาต่อพระผู้ทรงรังสรรค์ ปรากฏการณ์ของโลกเป็นเพียงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น หรือเป็นเป็นเพียงผลของการกระทำที่เกิดจากเหตุปัจจัยทางธรรมชาติ ถือว่าเป็นผู้ไม่มีศาสนา ส่วนบุคคลที่เชื่อการรังสรรค์ของพระผู้สร้างสำหรับทุกสิ่งบนโลกนี้ แม้ว่าความศรัทธาและกิจกรรมด้านศาสนาของตนจะคู่กับการหลงทางออกไป ถือว่าเขาเป็นผู้มีศาสนา บนพื้นฐานดังกล่าวศาสนาที่มีอยู่ท่ามกลางประชาชาติในปัจจุบันจึงแบ่งเป็นความถูกต้องและไม่ถูกต้อง
ศาสนาที่ถูกต้องจึงหมายถึง ศาสนาที่มีความเชื่ออันถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ความประพฤติปฏิบัติได้รับการสนับสนุนและได้รับการย้ำเน้น ซึ่งเป็นหลักประกันอันเพียงพอต่อความถูกต้องและความสัมพันธ์
หลักศรัทธาและหลักปฏิบัติของศาสนา
จากคำอธิบายเกี่ยวกับความเข้าใจศาสนาข้างต้นเป็นที่ประจักษ์ว่า ทุกศาสนาย่อมประกอบด้วย 2 องค์ประกอบสำคัญ กล่าวคือ
1.หลักศรัทธา ซึ่งมีรากที่มาอันเป็นพื้นฐานสำคัญ
2.หลักปฏิบัติ ซึ่งมีความเหมาะสมกับหลักศรัทธา หรือเป็นหนึ่งในผลพวงที่มาจากหลักศรัทธานั้น
ด้วยเหตุนี้ ถือว่าถูกต้องที่กล่าวเรียกความศรัทธาของทุกศาสนาว่า รากหลักศรัทธาหรือรากของศาสนา และเรียกหลักปฏิบัติว่า สาขาของศาสนา ซึ่งนักวิชาการอิสลามส่วนใหญ่ใช้คำทั้งสองนี้เกี่ยวกับ หลักศรัทธาและหลักปฏิบัติในอิสลาม
โลกทัศน์และคตินิยม (Ideology)
คำว่า โลกทัศน์ เป็นคำประโยคหนึ่งที่มักคุ้นกันไม่มากก็น้อย เพราะอย่างน้อยความหมายของคำว่าโลกทัศน์ ได้บ่งบอกถึงความต่อเนื่อง หรือลูกโซ่แห่งความเชื่อและวิสัยทัศน์ทั้งหมดที่สัมพันธ์กันเกี่ยวกับโลกและมนุษย์ หรืออาจกล่าวโดยรวมว่า โลกทัศน์ นั้นหมายถึงการมีอยู่ทั้งหมด ส่วนความหมายของ วิสัยทัศน์ หมายถึง ความต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ด้านความคิด และความสัมพันธ์เกี่ยวกับการกระทำและมนุษย์
ความหมายทั้งสองตามที่กล่าวมาสามารถกล่าวได้ว่า ระบบความศรัทธาและรากของทุกศาสนาคือ โลกทัศน์ของศาสนานั้น ส่วนระบบของทุกการปฏิบัติเรียกว่าวิสัยทัศน์ของศาสนานั้น ซึ่งสามารถเปรียบได้กับหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติ แต่สิ่งจำเป็นต้องพิจารณาคือ คำว่าวิสัยทัศน์ ไม่ครอบคลุมถึงหลักปฏิบัติที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยของศาสนา เหมือนกับคำว่า โลกทัศน์ นั้นไม่ครอบคลุมหลักความศรัทธาที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยเช่นกัน
อีกประเด็นหนึ่งบางครั้งคำว่า วิสัยทัศน์ ก็ให้ความหมายทั่วไป ซึ่งในความหมายดังกล่าวนี้จะหมายรวมถึง โลกทัศน์เข้าไปด้วย
โลกทัศน์แห่งพระเจ้าและวัตถุ
ท่ามกลางหมู่ชนทั้งหลายจะสังเกตเห็นว่ามีโลกทัศน์มากมายปรากฏอยู่ ซึ่งโลกทัศน์ทั้งหมดเหล่านั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามการยอมรับและการปฏิเสธสิ่งที่อยู่เหนือญาณวิสัยของมนุษย์กล่าวคือ โลกทัศน์แห่งพระเจ้าและโลกทัศน์แห่งวัตถุ
บรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามโลกทัศน์แห่งวัตถุในอดีตได้ถูกเรียกด้วยนามต่าง ๆ เช่น ธรรมชาตินิยม หรือผู้ปฏิเสธพระเจ้า หรือบางครั้งเรียกว่า ซันดีก หรือผู้ปฏิเสธนั่นเอง ส่วนในสมัยปัจจุบันเรียกว่า พวกวัตถุนิยม (Materialism)
พวกวัตถุนิยม สามารถแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มแต่กลุ่มที่มีชื่อเสียงทีสุดในยุคสมัยนี้ได้แก่ พวกวัตถุนิยมปฏิพัฒนาการ (Materialism, Dialectical) ซึ่งส่วนหนึ่งได้ผสมผสานลัทธิมาร์กซิกต์เข้าไปด้วย
อย่างไรก็ตามเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าความเข้าใจเกี่ยวกับ โลกทัศน์ นั้นกว้างขวางกว่าหลักศรัทธาในศาสนา เนื่องจากคำว่าโลกทัศน์นั้น ครอบคลุมถึงความเชื่อของพวกที่ปฏิเสธพระเจ้าหรือศาสนาประเภทอเทวนิยม และพวกวัตถุนิยมเข้าไปด้วย ในทำนองเดียวกันคำว่าวิสัยทัศน์ก็มิได้มีขอบเขตจำกัดอยู่แค่พียงหลักการปฏิบัติเท่านั้น
ศาสนาสากลและรากของศาสนา
ประมวลความเกี่ยวกับการค้นพบศาสนาต่าง ๆ ในหมู่ของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ศาสนาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์นั้นมีความขัดแย้งกัน แต่อย่างไรก็ตามหลักฐานของอิสลามที่ใช้เป็นเหตุผลอ้างอิงกล่าวว่า ประวัติการค้นพบศาสนามาพร้อมกับการค้นพบมนุษย์ ซึ่งมนุษย์คนแรกของโลกคือ ศาสดาอาดัม (อ.) ผู้ซึ่งเป็นศาสดาองค์หนึ่งของพระเจ้า ซึ่งท่านมีพื้นฐานความศรัทธาอยู่ที่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว ส่วนศาสนาอื่นที่ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้านั้นเกิดจากการปรุงแต่งและเสริมสร้างในศาสนา และการประพฤติปฏิบัติตามรสนิยมและวัตถุประสงค์ของตนทั้งที่เป็นส่วนตัวและสังคมส่วนรวม
ซึ่งหนึ่งในการเสริมเติมแต่งในศาสนาของศาสนาแห่งฟากฟ้าบางศาสนา กระทำลงไปเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือความพึงพอใจของผู้ปกครองที่กดขี่ ซึ่งพวกเขาได้กำหนดขอบเขตของศาสนาอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า และกำหนดหลักการปฏิบัติให้เป็นเพียงพิธีกรรมอันเฉพาะเจาะจงของศาสนา เช่น กำหนดให้การปกครองและการเมืองออกนอกระบบของศาสนา และพยายามสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้คนทั้งหลายมีความคิดโน้มเอียงมาทางฝ่ายตน ขณะที่ศาสนาแห่งฟากฟ้าทั้งหลายมีหน้าที่ต้องอธิบายเรื่องราวทั้งหมดอันเป็นความต้องการของสังคม เพื่อให้สังคมพบกับความเจริญรุ่งเรืองทั้งโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งแน่นอนว่าสติปัญญาธรรมดาของมนุษย์ทั่วไปไม่อาจไปถึงสิ่งนั้นได้ ซึ่งจะอธิบายในบทต่อไป ในที่สุดศาสดาท่านสุดท้ายที่พระเจ้าทรงประทานลงมา เพื่อทำหน้าที่สาธยายหลักความเชื่อและหลักการปฏิบัติทั้งหมด อันเป็นความต้องการของมนุษย์จนถึงวันแห่งการอวสานของโลก และสิ่งนี้คือส่วนสำคัญที่สุดตามหลักการของอิสลาม ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ศาสนาประเภทเทวนิยม คือ ศาสนาแห่งฟากฟ้าที่แท้จริงซึ่งมี 3 องค์ประกอบสำคัญที่เหมือนกันกล่าวคือ
1.ความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าองค์เดียว
2.ความศรัทธาในชีวิตอมตะสำหรับมนุษย์ทุกคนในโลกหน้า หรือที่เรียกว่าศรัทธาต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพเพื่อรอรับการสอบสวนในสิ่งที่ตนกระทำไว้บนโลกนี้
3.มีความศรัทธาต่อบรรดาศาสดาที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า เพื่อทำหน้าที่สั่งสอนและชี้นำมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุดทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ความศรัทธาทั้ง 3 ประการนี้ ในความเป็นจริงแล้วคือคำตอบ สำหรับคำถามอันเป็นแก่นสำคัญสำหรับมนุษย์ผู้มีสติปัญญาทุกคนบนโลกนี้ที่ถูกถามว่า เจ้าเริ่มต้นมาจากไหน และกำลังจะไปสิ้นสุด ณ ที่ใด เลือกแนวทางใดอันเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตและการรู้จัก
ซึ่งเนื้อหาสาระของแนวทางอันสามารถเป็นหลักประกันแก่ชีวิต ได้รับมาจากเทวโองการ (วะฮ์ยูของพระเจ้า) หรือที่เรียกว่าอุดมคติแห่งศาสนา ซึ่งเป็นผลพวงมาจากโลกทัศน์แห่งพระเจ้านั่นเอง
ความศรัทธาที่แท้จริงย่อมมีที่มาที่ไป ความจำเป็นที่เกี่ยวข้อง ผลพวงที่ตามมา และรายละเอียด ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ถือว่าเป็นระบบที่ประกอบขึ้นเป็นความเชื่อทางศาสนา แน่นอน ความขัดแย้งและความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในความศรัทธา ย่อมก่อให้เกิดศาสนาและนิกายต่าง ๆ ขึ้นอีกมากมาย ดังเช่น ความขัดแย้งในเรื่องสภาวะการเป็นศาสดาของศาสดาบางท่านของพระเจ้า หรือการกำหนดคัมภีร์ของศาสนาที่เชื่อถือได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในศาสนายูดาย (ยิว) คริสต์ และอิสลาม
ส่วนความขัดแย้งประเภทอื่นในเรื่องหลักการศรัทธาและหลักการปฏิบัติจึงตามมาภายหลัง ซึ่งบางเรื่องไม่เข้ากันกับหลักการศรัทธาหลักของศาสนา เช่น ความเชื่อเรื่องพระเจ้า 3 องค์ ในศาสนาคริสต์ (พระบิดา พระบุตร และพระจิต) ซึ่งถือว่าขัดแย้งอย่างรุนแรงกับความเชื่อในเรื่องพระเจ้าองค์เดียว แม้ว่าชาวคริสต์ในยุคแรกจะพยายามอธิบายหรือตีความแล้วก็ตาม เช่นเดียวกันความขัดแย้งในเรื่องการกำหนดหรือแต่งตั้งตัวแทนของศาสดา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตัวแทนของศาสดาต้องได้รับการกำหนดจากพระเจ้า หรือได้รับการเลือกสรรโดยประชาชน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความขัดแย้งในศาสนาอิสลาม ระหว่างนิกายชีอะฮ์และซุนนี
สรุปประเด็นที่กล่าวมา จะเห็นว่าความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว ศรัทธาต่อสภาวะการเป็นศาสดา และศรัทธาต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพ เป็นหลักศรัทธาอันเป็นพื้นฐานหลักของศาสนาแห่งฟากฟ้า แต่อย่างไรก็ตามสามารถนำเอาหลักความเชื่ออื่น ๆ ที่เกิดจากการวิเคราะห์วิจัย หรือเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นมาตามนิยามอันเฉพาะเจาะจงของพวกเขาบรรจุเข้าไว้ในรากหลักศรัทธาด้วยก็ได้ เช่น ถือว่าความศรัทธาทีมีต่อพระเจ้าเป็นหลักการแรก ส่วนความศรัทธาในความเป็นเอกะของพระองค์เป็นหลักการที่สอง หรือความศรัทธาในสภาวะการเป็นศาสดาถือว่าเป็นรากศรัทธาของทุกศาสนาแห่งฟากฟ้า ส่วนความศรัทธาที่มีต่อศาสดามุฮัมมัดศาสดาท่านสุดท้ายเป็นความศรัทธาอีกลักษณะหนึ่งตามหลักการของอิสลาม
ดังเช่นที่นักวิชาการนิกายชีอะฮ์บางท่านถือว่า ความยุติธรรมของพระเจ้า (อัดล์) เป็นหนึ่งในหลักความเชื่อที่เป็นสาขาหนึ่งของความเป็นเอกะของพระเจ้า ซึงถือว่าเป็นหลักของความศรัทธาอันเป็นเอกเทศ ส่วนอิมามะฮ์ (Imam Logy) เป็นสาขาหนึ่งของหลักศรัทธาต่อสภาวะการเป็นศาสดา ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งในหลักศรัทธา
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วการใช้คำว่า รากหลัก หรือแก่นของศรัทธาในประเด็นของความศรัทธานั้น ถือว่าเป็นไปตามนิยามหรือข้อตกลงซึ่งไม่จำเป็นต้องวิพากกันในประเด็นนี้
ด้วยเหตุนี้ คำว่า หลักความศรัทธา สามารถนำไปใช้ในความหมายทั่วไปและความหมายอันเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งในความหมายทั่วไปหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สาขาของศาสนา ซึ่งประกอบไปด้วยหลักการปฏิบัติและครอบคลุมถึงความศรัทธาทั้งหลายที่เชื่อถือได้ ส่วนความหมายอันเฉพาะเจาะจงสำหรับคำนี้ จะถูกใช้ในความหมายของรากศรัทธาอันเป็นแก่นสำคัญที่สุดของความเชื่อ เช่นเดียวกัน สามารถนำไปใช้ในความหมายของหลักความศรัทธาร่วมระหว่างศาสนาแห่งฟากฟ้าอันได้แก่ การศรัทธาในพระเจ้า ศรัทธาต่อสภาวะการเป็นศาสดา และศรัทธาต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และเพิ่มเติมรากศรัทธาอีกหนึ่งหรือสองประการ (รากศรัทธาเฉพาะของศาสนา) หรือเพิ่มเติมอีกหนึ่งหรือสองประการในความเชื่อ อันเป็นคุณสมลักษณะพิเศษสำหรับบางนิกายซึ่งเรียกว่า หลักศรัทธาประจำนิกาย
บทความ : อายะตุลลอฮ์ มิซบาฮ์ยัซดีย์
แปล : เชค ดร.มุฮัมมัดชะรีฟ เกตุสมบูรณ์
ที่มา : หนังสือบทเรียนหลักความศรัทธา