เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทเรียนหลักความศรัทธา เงื่อนไขการดำรงชีวิตของมนุษย์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทเรียนหลักความศรัทธา เงื่อนไขการดำรงชีวิตของมนุษย์


บุคคลที่ไม่คิดพิจารณาเกี่ยวกับศาสนาหรือไม่เชื่อเรื่องโลกทัศน์ที่ถูกต้องแล้ว เขาจะไปไม่ถึงจุดสมบูรณ์ของมนุษย์อย่างแน่นอน ทว่าโดยหลักการแล้วไม่สามารถยอมรับได้ว่าเขาคือมนุษย์ที่แท้จริง    

    ในบทความก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการแสวงหาศาสนา และความพยายามในการรู้จักศาสนาที่ถูกต้องมาแล้ว ซึ่งบนพื้นฐานความรู้สึกอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์นั่นเองที่ให้ประโยชน์ในการแสวงหาหรือหลีกเลี่ยงจากอันตรายที่จะเกิดกับมนุษย์

    เหตุผลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว คือ ถ้าสมมุติว่าการไปถึงยังผลประโยชน์หรือการหลีกเลี่ยงจากอันตรายคือบทสรุปที่ถูกต้องตามธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ดั้งนั้น การแสวงหาศาสนาซึ่งอ้างว่าจะนำเสนอหนทางที่ถูกต้องและความปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆ อันไม่มีขอบเขตจำกัดคือความจำเป็น (ความจำเป็นที่เกิดจากการซุ่มตัวอย่างคือ เหตุผลที่ไม่สมบูรณ์สำหรับการเกิดผล) แต่การไปถึงยังผลประโยชน์และความปลอดภัยจากอันตรายคือ ผลสรุปอันเป็นความปรารถนาทางธรรมชาติของมนุษย์ ฉะนั้น การแสวงหาศาสนาเช่นนี้ถือว่าเป็นความจำเป็น

    ด้วยเหตุนี้ ถ้าการไปถึงความสมบูรณ์ของมนุษย์ คือ ผลสรุปอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์แล้วละก็ การรู้จักรากหลักของโลกทัศน์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับความสมบูรณ์ของจิตวิญญาณก็ถือว่าเป็นความจำเป็นด้วยเช่นกัน และถ้าการไปถึงความสมบูรณ์เป็นผลสรุปอันเป็นธรรมชาติ ดังนั้น การรู้จักหลักการดังกล่าวก็จำเป็นด้วยตัวของมันเอง

    บุคคลที่ไม่คิดพิจารณาเกี่ยวกับศาสนาหรือไม่เชื่อเรื่องโลกทัศน์ที่ถูกต้องแล้ว เขาจะไปไม่ถึงจุดสมบูรณ์ของมนุษย์อย่างแน่นอน ทว่าโดยหลักการแล้วไม่สามารถยอมรับได้ว่าเขาคือมนุษย์ที่แท้จริง อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า เงื่อนไขการดำรงชีวิตของมนุษย์คือ การมีโลกทัศน์และอุดมคติอันถูกต้อง

เหตุผลดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานอันเป็นปฐมบท 3 ประการคือ

    1.มนุษย์ คือสิ่งมีอยู่ที่ถวิลหาความสมบูรณ์

    2.ความสมบูรณ์ของมนุษย์ เกิดจากความประพฤติปฏิบัติที่มาจากเจตนารมณ์เสรี อันเป็นหลักการที่เกิดมาจากสติปัญญา

   3.กฎเกณฑ์ในการปฏิบัติการของสติปัญญาอยู่ภายใต้ร่มเงาของการรู้จัก อันเป็นวิสัยทัศน์ที่เฉพาะเจาะจงพิเศษ ซึ่งสำคัญที่สุดของวิสัยทัศน์เหล่านั้นคือ หลักการ 3 ประการของโลกทัศน์อันได้แก่ การรู้จักแหล่งกำเนิดของการมีอยู่ (พระเจ้าผู้ทรงรังสรรค์) บั้นปลายสุดท้ายแห่งชีวิต (การฟื้นคืนชีพ) แนวทางอันเป็นหลักประกันที่จะทำให้เราพบกับความผาสุก (สภาวะการเป็นนบี) หรืออีกนัยหนึ่งคือ การรู้จักพระเจ้า การรู้จักมนุษย์ และแนวทางในการรู้จัก

อธิบายปฐมบทอันเป็นหลักการสำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

มนุษย์ คือ ผู้ถวิลหาความสมบูรณ์

    บุคคลใดก็ตามถ้าพิจารณาถึงแนวความคิดของจิตด้านในหรือความปรารถนาของจิตของตน เขาก็จะพบว่ารากที่มาส่วนใหญ่คือการไปสู่ความสมบูรณ์ แน่นอน ไม่มีมนุษย์คนใดปรารถนาให้ตนเองมีข้อบกพร่องหรือข้อตำหนิ เขาพยายามที่จะขจัดข้อตำหนิและความบกพร่องดังกล่าวให้หมดไปจากตนเอง เพื่อไปให้ถึงยังความสมบูรณ์อันเป็นเป้าหมายที่พึงปรารถนา แต่ก่อนที่จะขจัดความบกพร่องเหล่านั้นให้หมดไปจากตนอันดับแรกเขาจะปกปิดให้รอดพันจากสายตาของบุคคลอื่น

    ความปรารถนาดังกล่าวนี้ ถ้าตื่นตัวและดำเนินไปในหนทางอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์แล้วละก็ มันจะกลายเป็นตัวการสำคัญสำหรับความก้าวหน้าและความสมบูรณ์ทั้งด้านวัตถุปัจจัยและด้านศีลธรรมจรรยา แต่เมื่อใดที่มันตกอยู่ในเงื่อนไขที่นำไปสู่การหลงผิดก็จะกลายเป็นคุณสมบัติที่ชั่วร้าย เช่น การถืออัตตาตัวตน การโอ้อวด และความปรารถนาให้ผู้อื่นสรรเสริญเยินยอ และฯลฯ

    อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาในความสมบูรณ์เป็นปัจจัยทางธรรมชาติ อันเป็นพลังในการสร้างป้อมปราการที่แข็งแรงสำหรับจิตวิญญาณ ซึ่งโดยปกติการเจริญเติบโตและกิ่งก้านสาขาที่แตกออกไปเป็นที่สนใจของคนทั่วไป ดังนั้น ถ้าพิจารณาสักเล็กน้อยจะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า รากที่มาของทั้งหมดเหล่านั้นอยู่ที่การถวิลหาความสมบูรณ์

ความสมบูรณ์ของมนุษย์ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามสติปัญญา

    ความสมบูรณ์ของวัตถุธาตุต่างๆ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยและเงื่อนไขภายนอกที่สมบูรณ์ในเชิงของการบังคับให้เกิดขึ้น ดังนั้น ไม่มีต้นไม้ต้นใดเจริญเติบโตตามความต้องการของตนเองหรือออกดอกออกผลตามใจชอบได้ เนื่องจากต้นไม่มีสติปัญญานั่นเอง

    แต่มนุษย์นอกจากจะมีลักษณะอันเฉพาะเจาะจงของต้นไม้และวัตถุธาตุอยู่ในตัวแล้ว ยังมี 2 คุณลักษณะพิเศษแห่งจิตวิญญาณอีกต่างหากกล่าวคือ ด้านหนึ่งความปรารถนาอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่ในขอบข่ายของธรรมชาติที่ไม่มีขอบเขตจำกัด อีกด้านหนึ่งมนุษย์มีพลังสติปัญญา ซึ่งเขาสามารถขยายวงจรของความรู้และวิชาการให้กว้างออกไปชนิดที่ไมมีที่สิ้นสุด และบนพื้นฐานพิเศษดังกล่าวนี้ความปรารถนาของมนุษย์ได้ก้าวเลยขอบเขตธรรมชาติไปสู่ความไม่มีที่สิ้นสุด

    ดังเช่น ความสมบูรณ์พิเศษของวัตถุธาตุขึ้นอยู่กับพลังอันเฉพาะของวัตถุธาตุนั้น ความสมบูรณ์ของสรรพสัตว์ขึ้นอยู่กับความต้องการที่เกิดจากความรู้สึกในส่วนลึก ส่วนความสมบูรณ์ของมนุษย์ซึ่งพิเศษกว่าสิ่งอื่นในความเป็นจริง คือ ความสมบูรณ์ของจิตวิญญาณขึ้นอยู่กับความปรารถนาที่ชัดแจ้งภายใต้ร่มเงาของการชี้นำแห่งสติปัญญา สติปัญญาเท่านั้นที่รู้จักระดับชั้นของผลสรุปที่แตกต่างกัน ในกรณีที่เกิดความสับสนสติปัญญาจะถือเอาสิ่งที่ดีกว่าเป็นเกณฑ์ตัดสินเสมอ

    ด้วยเหตุนี้ ความเป็นมนุษย์ คือ ความประพฤติและการปฏิบัติภารกิจอันเป็นแรงปรารถนาที่เกิดจากอำนาจพิเศษของมนุษย์ภายใต้การชี้นำของสติปัญญา ส่วนความประพฤติที่กระทำโดยอำนาจของสัตว์ถือว่าเป็นความประพฤติของสัตว์เดรัจฉาน ดังเช่นการเคลื่อนไหวที่เกิดจากพลังในร่างกายถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสรีระ

กฎเกณฑ์การกระทำของสติปัญญาต้องการพื้นฐานทางความคิด

    ความประพฤติตามเจตนารมณ์เสรี คือ สื่อที่จะนำไปสู่ผลสรุปอ้นเป็นที่ยอมรับ ซึ่งคุณค่าของมันขึ้นอยู่กับระดับชั้นของเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ในความคิด และผลที่จะเกิดขึ้นอันเป็นความสมบูรณ์ของจิตวิญญาณ ดังนั้น ถ้าความประพฤติเป็นสาเหตุทำให้สูญเสียความสมบูรณ์ด้านจิตวิญญาณ ถือว่าความประพฤตินั้นก่อให้เกิดผลในทางลบ

    ดังนั้น สติปัญญาสามารถตัดสินความประพฤติตามเจตนารมณ์เสรีและคุณค่าของสิ่งนั้นได้ ต่อเมื่อความสมบูรณ์และระดับชั้นของสิ่งนั้นเป็นที่ชัดเจน และล่วงรู้ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีอยู่ประเภทใด วิถีชีวิตของมนุษย์จะดำเนินไปสู่ ณ จุดใด และไปถึงยังความสมบูรณ์ในระดับใด อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า ต้องรับรู้ว่ามนุษย์และแนวความคิดในการมีอยู่ของมนุษย์คืออะไร และเป้าหมายในการสร้างมนุษย์คืออะไร

    ด้วยเหตุนี้ การมีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องก็คือ การรู้จักกฎเกณฑ์แห่งคุณค่าที่อยู่เหนือความประพฤติตามเจตนารมณ์เสรีในส่วนของโลกทัศน์ที่ถูกต้องและการแก้ไขปัญหา ถ้ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ก็ไม่สามารถตัดสินความประพฤติที่มีคุณค่าได้ ทำนองเดียวกันถ้ายังไม่รู้จักเป้าหมายที่จะเดินทางไปสู ก็ไม่สามารถกำหนดเส้นทางและจุดสิ้นสุดลงได้ ดังนั้น การรู้จักความคิด ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญของโลกทัศน์ในความเป็นจริงก็คือ การรู้จักพื้นฐานของคุณค่าและกฎเกณฑ์ในการกระทำของสติปัญญา

บทสรุป

    ฉะนั้น จากปฐมบททั้ง 3 ประการตามที่กล่าวมา สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความจำเป็นในการแสวงหาศาสนาและความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งโลกทัศน์อันถูกต้อง

    โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ปรารถนาความสมบูรณ์ในความเป็นมนุษย์ของตน และต้องการไปถึงความสมบูรณ์ที่แท้จริงด้วยการกระทำภารกิจต่าง ๆ แต่เพื่อต้องการรู้ว่ามีภารกิจใดบ้างที่สามารถนำตัวเองไปสู่ความใกล้เคียงกับเป้าหมายดังกล่าวได้ ประการแรกเขาต้องรู้จักความสมบูรณ์ขั้นสูงสุดของตนเสียก่อน ซึ่งการรู้จักสิ่งนั้นขึ้นอยู่กับการรู้จักแก่นแท้ของการมีอยู่ของตน หลังจากนั้นต้องรู้จักแบ่งแยกระหว่างความสัมพันธ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบเกี่ยวกับการกระทำที่แตกต่าง และขั้นตอนอันหลากหลายของความสมบูรณ์ เพื่อจะได้รู้จักแนวทางที่ถูกต้องสำหรับความสมบูรณ์ในการเป็นมนุษย์ของตน ถ้ายังไม่รู้จักพื้นฐานทางความคิด (อันเป็นรากหลักของโลกทัศน์) เขาก็จะไม่สามารถยอมรับระบบของการกระทำ (อุดมคติ) อันถูกต้องได้

    ดังนั้น ความพยายามเพื่อรู้จักศาสนาแห่งสัจธรรม ซึ่งประกอบด้วยโลกทัศน์และอุดมคติอันถูกต้องถือเป็นความจำเป็น ถ้าไม่มีสิ่งนี้การไปถึงความสมบูรณ์ของมนุษย์เป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้ ดุจดังเช่นถ้าไม่มีความประพฤติที่เกิดจากอุดมการณ์ที่มีคุณค่าก็จะไม่ถือว่าเป็นการกระทำของมนุษย์ และบุคคลที่ไม่ขวนขวายเพื่อรู้จักศาสนาแห่งสัจธรรม หรือหลังจากรู้จักแล้วทำเป็นล้อเล่นกับศาสนาหรือตั้งใจปฏิเสธ โดยยึดถืออำนาจใฝ่ต่ำและความต้องการแห่งวัตถุปัจจัยเป็นใหญ่ ซึ่งในความเป็นจริงเขามิได้เป็นสิ่งใดอื่นนอกจากเป็นสัตว์เดรัจฉานเท่านั้น ดังที่อัลกุรอานกล่าวว่า

إِنَّ اللَّـهَ يُدْخِلُ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ جَنَّاتٍ تَجْرِي مِن تَحْتِهَا الْأَنْهَارُ ۖ وَالَّذِينَ كَفَرُوا يَتَمَتَّعُونَ وَيَأْكُلُونَ كَمَا تَأْكُلُ الْأَنْعَامُ وَالنَّارُ مَثْوًى لَّهُمْ  

 แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงให้บรรดาผู้ศรัทธาผู้กระทำ ความดีทั้งหลายเข้าสู่สรวงสวรรค์อันหลากหลาย ณ เบื้องล่างสรวงสวรรค์มีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธพวกเขาจะหลงระเริงและกินเยี่ยงปศุสัตว์ ซึ่งไฟนรกคือที่พำนักของพวกเขา

(อัลกุรอาน บทมุฮัมมัด โองการที่ 12)

    เนื่องจากพวกเขาได้ปล่อยให้ความเป็นมนุษย์หลุดลอยมือไป ดังนั้น พวกเขาจึงต้องถูกลงโทษอย่างแสนสาหัส อัลกุรอาน กล่าวว่า

ذَرْهُمْ يَأْكُلُوا وَيَتَمَتَّعُوا وَيُلْهِهِمُ الْأَمَلُ ۖ فَسَوْفَ يَعْلَمُونَ

 เจ้าจงปล่อยพวกเขาบริโภคและร่าเริงต่อไป ซึ่งความหวังจะทำให้พวกเขาลืมเลือนแล้วพวกเขาก็จะรู้

(อัลกุรอาน บทอัลฮิจร์ โองการที่ 3)

บทความ : อายะตุลลอฮ์ มิซบาฮ์ยัซดีย์

แปล :  เชค ดร.มุฮัมมัดชะรีฟ เกตุสมบูรณ์

ที่มา : หนังสือบทเรียนหลักความศรัทธา

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม