วิลายะตุลฟะกีฮ์ (ตอนที่ 2)
วิลายะตุลฟะกีฮ์ (ตอนที่ 2)
โดย ซัยยิดฮะซัน นัศรุลลอฮ์
จุดประสงค์ของ “วิลายะตุลฟะกีฮ์” นั้นไม่ใช่วิลายะฮ์ตักวีนี
ในการบทความตอนที่แล้วได้พูดถึงเกี่ยวกับ “วิลายะตุลฟะกีฮ์” และความหมายทางด้านภาษา (คำศัพท์) ไปแล้ว ซึ่งได้แก่เรื่องของอำนาจการปกครอง อำนาจอธิปไตย และการบริหารกิจการต่าง ๆ ฯลฯ และได้กล่าวไปแล้วเช่นกันเกี่ยวกับประเภทต่าง ๆ ของ “วิลายะฮ์” ซึ่งแบ่งออกเป็น “วิลายะฮ์ตักวีนี” และ “วิลายะฮ์ตัชรีอี”
ประเด็นที่เราจะพูดคุยกันต่อในบทความนี้ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ “ระดับความรับผิดชอบของ วะลียุลฟะกีฮ์” และดังที่ได้กล่าวไปในครั้งก่อนแล้วว่า เมื่อพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับวิลายะตุลฟะกีฮ์นั้น จุดประสงค์มิใช่วิลายะฮ์ตักวีนี และไม่มีนักวิชาการของชีอะฮ์คนใดกล่าวว่า จุดประสงค์ของวิลายะตุล ฟะกีฮ์นั้น คือวิลายะฮ์ตักวีนี และในทำนองเดียวกันนี้ เมื่อมีการกล่าวว่าวิลายะตุลฟะกีฮ์ คือตัวแทนของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และท่านอิมามมะอ์ซูม (อ.) ในยุคแห่งการเร้นกายครั้งยาวนาน (ฆ็อยบะฮ์กุบรอ) นั้น จุดประสงค์ไม่ได้หมายถึงการเป็นตัวแทน หรือสืบทอดตำแหน่งทางด้านจิตวิญญาณ และเช่นเดียวกันนี้ ตำแหน่ง “วะลียุลฟะกีฮ์” นั้น มิได้อยู่ในระดับเดียวกันกับตำแหน่งของท่านอิมามมะอ์ซูม (อ.) ทั้งนี้ เพราะเหตุว่าท่านอิมามมะอ์ซูม (อ.) นั้นเป็นผู้ที่มีฐานะตำแหน่งอันสูงส่ง ณ พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งสูงส่งกว่าตำแหน่งของวะลียุลฟะกีฮ์เป็นอย่างมาก และไม่มีนักคิดและนักวิชาการ (อุละมาอ์) ของชีอะฮ์ท่านใดกล่าวว่า ตำแหน่งวะลียุลฟะกีฮ์นั้นมีความใกล้เคียงกับตำแหน่งทางจิตวิญญาณแห่งอิมามะฮ์
ท่านฟะกีฮ์และนักวิชาการร่วมสมัยของชีอะฮ์ท่านหนึ่ง ซึ่งได้แก่ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) นั้น ท่านได้กล่าวเกี่ยวกับท่านอิมามซะมาน (อ.) ด้วยความนอบน้อมถ่อมตนว่า :
“ชีวิตและจิตวิญญาณของฉันขอพลีให้แก่ฝุ่นที่อยู่ใต้เท้าของอิมามซะมาน (อ.)”
และในเมื่อมหาบุรุษอย่างเช่นท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) เองยังกล่าวถึงท่านอิมาม ซะมาน (อ.) ด้วยถ้อยคำเช่นนี้ ดังนั้น จึงสามารถประจักษ์ถึงความแตกต่างเกี่ยวกับสถานะและตำแหน่ง ระหว่างอิมามะฮ์และวิลายะตุลฟะกีฮ์ได้เป็นอย่างดี
เมื่อกล่าวว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) มีตำแหน่ง “ตัชเรี๊ยะอ์” กล่าวคือ ท่านมีอำนาจในการประกาศแจ้ง (อิบลาฆ) บทบัญญัติและคำสั่งสอนต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า รวมทั้งการอนุมานและการออกคำวินิจฉัยข้อบัญญัติต่าง ๆ ของศาสนาได้ และภายหลังจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) แล้ว ท่านอิมามมะอ์ซูม (อ.) ก็มีสิทธิ์อำนาจดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่ทั้งหมดเหล่านี้มิได้หมายความว่า ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กำหนดบทบัญญัติเหล่านี้ขึ้นด้วยตัวของท่านเอง หากแต่ว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กำหนดบทบัญญัติเหล่านี้มาตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า และโดยผ่านวะฮ์ยู (วิวรณ์) และท่านได้แจกแจงมันให้ประชาชนได้รับรู้ กล่าวอีกสำนวนหนึ่งที่ชัดเจนกว่าก็คือว่า ความรู้ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) นั้น คือความรู้แห่งพระผู้เป็นเจ้า และจะไม่มีข้อผิดพลาดและแผกเพี้ยนใด ๆ ทั้งสิ้น
ประเด็นต่าง ๆ ที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้นำมาบอกกล่าวนั้น เป็นคำสอนและข้อบัญญัติที่ตรงกับความเป็นจริง (ฮุกมุลวากิอี) ของพระผู้เป็นเจ้า และไม่เป็นที่อนุญาตที่จะละเมิดในสิ่งนั้นได้ ข้อบัญญัติที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวออกมา ก็คือข้อบัญญัติที่ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง มีความแน่นอนตายตัว และปราศจากข้อผิดพลาด ที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง และไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ ในสิ่งนั้น บรรดาท่านอิมามมะอ์ซูม (อ.) ก็จะเป็นแบบนี้เช่นกัน แม้ว่าพวกท่านจะไม่ได้รับวะฮ์ยู (วิวรณ์) ก็ตาม แต่ทว่าท่านเหล่านั้นได้สืบทอดมรดกทางความรู้มาจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) หรือรับการถ่ายทอดโดยผ่านหนังสือ (ที่บันทึกไว้) หรือได้รับการดลใจ (อิลฮาม) โดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้า
ในยุคแห่งการเร้นหาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมาม (อ.) หน้าที่ในการอธิบายบทบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า จะอยู่ในความรับผิดชอบของวะลียุลฟะกีฮ์
ในกรณีที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงท่านอิมามมะอ์ซูม (อ.) ได้ ตัวอย่างเช่น ในยุคสมัยของท่านอิมาม ศอดิก (อ.) บรรดาตัวแทนของท่านอิมาม (อ.) จะมีอยู่ในทุก ๆ เมืองของอิสลาม ซึ่งบุคคลเหล่านั้นจะ รับผิดชอบทำหน้าที่ประกาศ (อิบลาฆ) บทบัญญัติและคำสอนต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า
หน้าที่หลักของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) คือการประกาศ (อิบลาฆ) บทบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้ารวมทั้งการอนุมานและออกคำวินิจฉัยข้อบัญญัติต่าง ๆ ของศาสนา เพื่อประโยชน์แก่มวลมุสลิมในโลก แต่ภายหลังจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ภาระหน้าที่ดังกล่าวได้ตกอยู่กับบรรดาท่านอิมาม (อ.) และในยุคปัจจุบันอันเป็นยุคแห่งการเร้นกายครั้งยาวนาน (ฆ็อยบะฮ์กุบรอ) ซึ่งท่านอิมาม (อ.) มิได้ปรากฏตัวอยู่ในสังคมนั้น การประกาศเผยแพร่บทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และการอนุมาน การออกคำวินิจฉัยข้อบัญญัติต่าง ๆ ของศาสนาจะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของใคร?
เราควรจะอยู่นิ่งเฉยและรอคอยการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามซะมาน (อ.) โดยไม่ต้องพยายามกระทำสิ่งใดเลยกระนั้นหรือ? และแม้เราจะมีความรู้ว่า พระผู้เป็นเจ้าจะทรงพิทักษ์ศาสนาอิสลามนับแต่ช่วงของการแต่งตั้งท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ไว้จวบจนถึงวันกิยามะฮ์ (วันสิ้นโลก) ก็ตาม แต่มนุษย์เองไม่ จำเป็นต้องใช้ความพยายามใด ๆ ในเรื่องนี้เลยกระนั้นหรือ? หรือว่าเนื่องจากสิ่งที่เป็นอนุมัติ (ฮะลาล) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เป็นสิ่งที่อนุมัติ (ฮะลาล) และสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) ของท่านก็เป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) จวบจนวันกิยามะฮ์ ดังนั้น ในยุคฆ็อยบะฮ์กุบรอ (การเร้นกายครั้งยาวนาน) นี้ก็จำเป็นจะต้องมีบุคคลผู้หนึ่ง ที่จะทำหน้าที่อธิบายบทบัญญัติต่าง ๆ ของอิสลาม และแนะนำสั่งสอนมันให้ประชาชนได้รับรู้ ในทัศนะของมัซฮับชีอะฮ์ ในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมามซะมาน (อ.) ภารกิจหน้าที่ทั้งมวลเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของ “วะลียุลฟะกีฮ์”
ในกรณีนี้ก็เช่นกัน ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ เลยว่า หน้าที่ในการประกาศ (อิบลาฆ) บทบัญญัติและคำสอนต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าในยุคแห่งการฆ็อยบะฮ์ (การเร้นหาย) ของท่านอิมาม (อ.) นั้น อยู่ในความรับผิดชอบของ “วะลียุลฟะกีฮ์” และเขาคือ “วะลียุอัมริลมุสลิมีน” (ผู้ปกครองกิจการงานของปวงชนมุสลิม) และเป็น “วาญิบกิฟาอี” ที่ว่า ในทุกยุคทุกสมัยที่มีความจำเป็น บรรดาเยาวชนมุสลิมจะต้องไปยังสถาบันการศึกษาศาสนา (เฮาซะฮ์อิลมียะฮ์) เพื่อศึกษาแสวงหาความรู้วิชาฟิกส์ (นิติศาสตร์อิสลาม) และทำหน้าที่ประกาศเผยแผ่ (อิบลาฆ) ข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า
ความแตกต่างระหว่าง “วาญิบกิฟาอี” และ “วาญิบอัยนี”
วาญิบกิฟาอี นั้นก็คือ หน้าที่บังคับซึ่งถ้าหากมีมุสลิมกลุ่มหนึ่งได้ปฏิบัติมันแล้ว ก็ไม่เป็นหน้าที่บังคับ (วาญิบ) ที่บรรดาชาวมุสลิมคนอื่น ๆ จะต้องปฏิบัติมันอีก ตัวอย่างเช่น การนมาซมัยยิด
วาญิบอัยนี หมายถึง เป็นหน้าที่บังคับ (วาญิบ) สำหรับมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติสิ่ง ๆ หนึ่ง โดยที่แม้ผู้อื่นจะปฏิบัติสิ่งนั้นแล้วก็ตาม ภาระหน้าที่ดังกล่าวก็จะยังไม่ตกไปจากเขา ตัวอย่างเช่น การนมาซ (ประจำวันห้าเวลา) และการถือศีลอด ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากในสังคมหนึ่งมีความต้องการ (หรือขาด) ฟุกอฮาอ์ (บรรดาผู้มีความเชี่ยวชาญในความรู้ทางด้านศาสนาและนิติศาสตร์อิสลาม) หรือมีอยู่เพียงจำนวนน้อย ในกรณีเช่นนี้เราทุกคนมีความผิดบาป และจำเป็นจะต้องยุติหน้าที่การงานอื่น ๆ และจะต้องไปแสวงหาความรู้วิชาฟิกส์
ด้วยกับการตอบคำถามแรกเกี่ยวกับกรณีที่ว่า เมื่ออยู่ในยุคแห่งการเร้นกาย(ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมาม ซะมาน (อ.) นั้น ไม่สามารถที่จะเข้าถึงท่านอิมาม (อ.) ได้ ดังนั้น จะทำอย่างไรจึงจะสามารถเรียนรู้บทบัญญัติต่าง ๆ ทางศาสนาได้?? ไม่ต้องสงสัยใด ๆ เลยว่า คำตอบของคำถามข้อนี้เป็นสิ่งที่ชัดเจนยิ่งนัก นั่นคือ จำเป็นจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจาก “วะลียุลฟะกีฮ์”
ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) บทหนึ่งจากท่านอิมามศอดิก (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า :
“ดังนั้น ผู้ใก็ตามจากบรรดาฟะกีฮ์ที่เป็นผู้ปกป้องตนเอง เป็นผู้พิทักษ์ศาสนาของตน เป็นผู้ขัดแย้งกับอารมณ์ฝ่ายต่ำของตน และเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น จำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องปฏิบัติตาม (ตักลีด) เขา และคุณลักษณะดังกล่าวนั้นจะไม่มี นอกจากเพียงบางคนจากบรรดาฟะกีฮ์ ชาวชีะอะฮ์เท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนจากพวกเรา” (วะซาอิลุชชีอะฮ์, ของท่านฮุรรุลอามิลี, เล่มที่ 27, หน้า 131)
หมายความว่า ถ้าหากการเข้าถึงท่านอิมามมะอ์ซูม (อ.) ไม่อาจเป็นไปได้ ดังนั้น จำเป็นต้องไปหาวะลียุล ฟะกีฮ์ และกรณีดังกล่าวนี้เป็นสิ่งจำเป็นทั้งในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) และในยุคที่อิมาม (อ.) ปรากฏตัวอยู่ในสังคม ทั้งนี้ เนื่องจากตัวอย่างเช่น ในยุคที่ท่านอิมามศอดิก (อ.) ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเองเคยกล่าวว่า : ในกรณีที่พวกท่านไม่สามารถมาพบฉันได้ พวกท่านก็จงไปหาบรรดาฟะกีฮ์ (ผู้มีความรู้ในเรื่องของศาสนาและข้อบัญญัติต่าง ๆ ของอิสลาม) และพวกเขามีอยู่ในทุกเมืองของอิสลาม และจงขอความช่วยเหลือจากพวกเขา ดังตัวอย่างเช่น ในเมืองบัศเราะฮ์นั้น มีฟะกีฮ์หลายคน และเป็นไปได้ว่าปัญหาที่ถูกถามจากฟะกีฮ์ฟะกีฮ์นั้น เป็นประเด็นที่เขาเคยได้รับฟังมาจากท่านอิมาม (อ.) บ้างแล้ว และหลักการและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของมันนั้น เขาก็เคยรับฟังมาจากท่านอิมาม (อ.) ซึ่งด้วยกับการใช้ความพยายามและการวินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) ของตนเอง เขาก็จะสามารถแก้ไขและตอบปัญหานี้ได้
ในยุคสมัยของวะลียุลฟะกีฮ์นั้น ประชาชนจำเป็นต้องตักลีด (ปฏิบัติตาม) ท่านในเรื่องของบทบัญญัติ และคำสั่งต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า
ในยุคฆ็อยบะฮ์กุบรอ (การเร้นกายครั้งยาวนาน) นั้น บรรดาท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า : เป็นหน้าที่จำเป็น (วาญิบ) สำหรับประชาชนที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ และเชื่อฟังคำสั่งต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และพวกเขาจงเรียนรู้บทบัญญัติและคำสั่งต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าจากฟะกีฮ์ที่มีตักวา (ความยำเกรงต่อ พระผู้เป็นเจ้า)
ดังนั้น ภาระหน้าที่ของบรรดาฟะกีฮ์เหล่านี้ คือการประกาศ (อิบลาฆ) ข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และพวกเขาจะต้องไม่ปฏิเสธภาระหน้าที่ดังกล่าว เพราะสิ่งนี้คือหน้าที่บังคับ (วาญิบ) ประการหนึ่งที่มีเหนือพวกเขา แต่ในที่นี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างภาระหน้าที่ของอิมาม มะอ์ซูม (อ.) และวะลียุลฟะกีฮ์ที่จะต้องปฏิบัติ นั่นคือ เมื่อท่านศาสดา (ศ็อลฯ) หรือท่านอิมาม (อ.) ทำการประกาศ (อิบลาฆ) และอธิบายบทบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้านั้น สิ่งดังกล่าวคือ “อะห์กามุลวากิอี” (บทบัญญัติที่สอดคล้องตรงกับความเป็นจริง) ซึ่งจะไม่มีความผิดพลาดใด ๆ ในสิ่งนั้น เพราะพวกท่านได้รับความรู้โดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้า แต่สำหรับฟะกีฮ์จะไม่เป็นเช่นนี้ ผู้เป็นฟะกีฮ์นั้นจะต้องเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ เกี่ยวกับภาษาอาหรับ จะต้องเรียนรู้ศาสตร์สาขาต่าง ๆ เกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอาน จะต้องศึกษาฮะดีษ (วจนะ) และริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่าง ๆ และจะต้องใช้ความอุตส่าห์พยายาม และการอิจญ์ติฮาด (วินิจฉัย) และอนุมาน (อิสตินบาฏ) บทบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าออกมา จากนั้นจึงจะประกาส (อิบลาฆ) หรือบอกกล่าวมันออกไป โดยที่ในบางกรณี บทบัญญัติที่เกิดจาการวินิจฉัยและการอนุมานนั้น อาจจะถูกต้องได้ หรืออาจจะผิดพลาดได้ แต่ในกรณีของบรรดาท่านอิมาม (อ.) และท่านศาสดา (ศ็อลฯ) นั้นจะไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น
ถ้าหากวะลียุลฟะกีฮ์ได้ใช้ความอุตส่าห์พยายาม พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบแทนรางวัลในความอุตส่าห์พยายามของเขา และถ้าหากเขาได้วินิจฉัยผิดพลาด พระผู้เป็นเจ้าก็จะทรงอภัยโทษในความผิดพลาดของเขา เนื่องจากเขาได้อนุมานและวินิจฉัยบทบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า โดยอาศัยการอ่านจากโองการต่าง ๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน บรรดาฮะดีษ (วจนะ) และริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหลาย เป็นไปได้ที่บางคนอาจจะเห็นว่า นักวิชาการบางส่วนมีทัศนะความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับปัญหาหนึ่ง สิ่งนี้เป็นไปได้หรือ? และสติปัญญาจะยอมรับได้หรือที่ว่า ข้อบัญญัติ (อะห์กาม) เหล่านี้ที่ถูกอธิบายออกมาโดยพวกเขาจะถูกต้องทั้งหมด? ฉะนั้น แน่นอนยิ่งว่าหนึ่งในสามคน (ที่ขัดแย้งกัน) ปัญหานี้จะต้องถูกต้องอยู่อย่างน้อยคนหนึ่ง แต่มุจญ์ตะฮิด (ผู้วินิจฉัยปัญหาศาสนา) ที่ออกคำวินิจฉัยข้อบัญญัติ (ฮุกม์) หนึ่ง ๆ ผิดพลาดนั้น เนื่องจากเขาทุ่มเทความอุตส่าห์พยายามในการวินิจฉัยปัญหานี้อย่างมาก พระผู้เป็นเจ้าย่อมจะทรงอภัยในความผิดบาปของเขา ดังนั้น บรรดาอิมาม (อ.) และท่านศาสดา (ศ็อลฯ) นั้น จะออกข้อบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่ตรงกับความเป็นจริง (ฮุกมุลวากิอี) แต่วะลียุลฟะกีฮ์นั้นภายหลังจากการอ่านและการค้นคว้าอย่างมากมายแล้ว จึงจะออก (ฟัตวา) ข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ข้อบัญญัติ (ฮุกม์) ที่ถูกกำหนดหรือวินิจฉัยโดยวะลียุลฟะกีฮ์ หรือโดยฟุกอฮาอ์ทั้งหลายนั้น ถูกเรียกว่า “ฮุกมุซซอฮิรี” (ข้อบัญญัติที่เป็นไปตามรูปการภายนอกที่ได้จากตัวบทหลักฐาน) ซึ่งอาจจะถูกต้องหรืออาจจะผิดพลาดก็ได้ เนื่องจากว่าบรรดาท่านอิมามมะอ์ซูม (อ.) ได้กล่าวว่า : ภายหลังการฆ็อยบะฮ์ [ การเร้นกายของท่านอิมามซะมาน (อ.) ] จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามวะลียุลฟะกีฮ์ในด้านของข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า เช่น วิธีการนมาซ การถือศีลอด การทำฮัจญ์ การจ่ายคุมซ์ การจ่ายซะกาต และการญิฮาด เป็นต้น และจากจุดนี้นี่เองที่ปัญหาเกี่ยวกับการตักลีด (การปฏิบัติตามมุจญ์ตะฮิด) จึงได้ปรากฏขึ้น
เมื่อผู้ใดต้องการที่จะตักลีด (ปฏิบัติศาสนกิจตามคำฟัตวา) ผู้รู้ท่านหนึ่ง ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องตั้งเจตนา (เหนียต) ในการตักลีดหรือกระทำการใด ๆ ในลักษณะเช่นนี้ แต่ให้ปฏิบัติตามคำฟัตวาของฟะกีฮ์ก็เพียงพอแล้ว คำว่า “ตักลีด” นั้น หมายถึงการปฏิบัติศาสนกิจตามคำสั่งและคำฟัตวาต่าง ๆ ของ “มัรเญี๊ยะอ์ตักลีด” ท่านหนึ่ง ฉะนั้น ประเด็นสำคัญคือการปฏิบัติตามคำฟัตวาและคำสั่งต่าง ๆ ของมัรเญี๊ยะอ์ทางศาสนา คือ ถ้ามัรเญี๊ยะอ์ท่านนั้นกล่าว (ต่อผม) ว่า : ผมจงนมาซแบบสมบูรณ์ ผมก็จะต้องกระทำเช่นนั้น หรือถ้าท่านบอกว่าผมต้องนมาซย่อ ผมก็จะต้องกระทำตามที่ท่านบอกเช่นนั้น หรือถ้าท่านบอกว่าผมจะต้องถือศีลอด ผมก็จะต้องถือศีลอด หรือถ้าท่านบอกว่า : ในกรณีเช่นนี้ท่านไม่ต้องถือศีลอด ผมก็จะต้องปฏิบัตตามท่าน และฟะกีฮ์ที่เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำฟัตวาต่าง ๆ ของท่านนั้น เรียกว่า “มัรเญี๊ยะอ์ตักลีด”
หน้าที่ของ “มัรเญี๊ยะอ์ตักลีด” คือ การอธิยายบทบัญญัติและคำสั่งต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า
ในหนังสือและในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ คำว่า “มัรเญี๊ยะอ์ตักลีด” นั้น ไม่ได้ถูกกล่าวไว้ แต่เมื่อเราปฏิบัติตามคำสั่งและข้อบัญญัติต่าง ๆ ของฟะกีฮ์ท่านหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้วเราได้ตักลีด ตามท่านแล้วนั่นเอง ดังนั้น หน้าที่ของมัรเญี๊ยะอ์ตักลีด คือ การออกคำฟัตวา การแจกแจงและการอธิบายบทบัญญัติ และคำสั่งต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และทำนองเดียวกันนี้การออกคำฟัตวานั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของบรรดาท่านอิมาม (อ.) แต่ในยุคฆ็อยบะฮ์ (การเร้นกายของท่านอิมาม) ได้ตกอยู่ในความ รับผิดชอบของ “วะลียุลฟะกีฮ์”
การตักลีดนั้น จำเป็นจะต้องดำเนินไปตามบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของบทบัญญัติของอิสลาม ประเด็นของการตักลีดนั้น เป็นประเด็นที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งประการหนึ่ง และไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะคิดว่ามันเป็นเรื่องง่าย ๆ ดังนั้น ประเด็นของการตักลีดนั้น คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอาคิเราะฮ์ (โลกหน้า) และจะต้องถูกสอบสวน ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง และเป็นประเด็นที่การกระทำ (อะมั้ล) ทั้งมวลในโลกนี้จะมีผลโดยตรงในโลกหน้า
อันดับแรกเราจำเป็นต้องตักลีดมุจญ์ตาฮิดท่านหนึ่ง และนักวิชาการ (อุละมาอ์) ชีอะฮ์ กล่าวว่า : แนวทางต่าง ๆ ในการรู้จักมุจญ์ตะฮิดนั้น ได้แก่
การทดสอบ (หรือประสบการณ์) โดยตรง กล่าวคือ โดยผ่านการยืนยันจากฟะกีฮ์อีกท่านหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เมื่อแพทย์คนหนึ่งเข้ามาบอกว่าผมเป็นแพทย์ เนื่องจากเราไม่มีความรู้ในเรื่องการแพทย์ จำเป็นที่แพทย์อีกคนหนึ่งจะต้องสอบถามคำถามต่าง ๆ จากเขา เพื่อให้ประจักษ์ชัดถึงความถูกต้องและความไม่ถูกต้องในคำกล่าวอ้างของเขา ดังนั้น บุคคลที่จะสามารถรับรองคำกล่าวอ้างในความเป็นมุจญ์ตะฮิดของบุคคลอื่น ๆ ได้นั้น ตัวเขาเองจะต้องเป็นมุจญ์ตะฮิดด้วย เช่นกัน
การให้การเป็นพยานของมุจญ์ตะฮิดที่มีความยุติธรรม (อาดิล) สองคน ดังนั้น จำเป็นที่มุจญ์ตะฮิดที่มีความยุติธรรมสองคนจะต้องให้การเป็นพยาน รับรองว่าบุคคลผู้นี้เป็นมุจญ์ตะฮิด ในกรณีนี้เท่านั้น ที่จะพิสูจน์ได้ว่า เขาผู้นั้นเป็นมุจญ์ตะฮิด
เป็นบุคคลที่ถูกรู้จักกันโดยทั่วไปว่าเขาเป็นมุจญ์ตะฮิด และท่านทั้งหลายอย่างได้คาดคิดใดๆ อีก ตัวอย่างเช่น ถ้าหากในเมืองหนึ่งเป็นที่เลื่องลือกันว่า บุคคลผู้หนึ่งเป็นมุจญ์ตะฮิด พวกท่านก็ไม่ต้องคาดคิดหรือสงสัยใด ๆ อีกแล้วว่า เขาผู้นั้นเป็นมุจญ์ตะฮิดจริง หรือไม่? แต่ทว่าเมื่อมีมุจญ์ตะฮิดหลายคนบอกว่า บุคคลผู้นั้นคือมุจญ์ตะฮิด ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไปที่จะไปสอบถามคนอื่น ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากว่าคำพูดของมุจญ์ตะฮิดเหล่านี้ก็เป็นหลักฐานพิสูจน์ที่เพียงพอแล้ว และจำเป็นต้องยอมรับทั้งสิ้น แต่ถ้าหากยังมีข้อสงสัยอยู่แม้เพียงน้อยนิดในความเป็นมุจญ์ตะฮิดของบุคคลผู้หนึ่งแล้ว คำพูดของบรรดามุจญ์ตะฮิดคนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถจะเป็นหลักฐานข้อพิสูจน์ได้
และถ้าหากตัวพวกท่านเองเป็นมุจญ์ตะฮิด พวกท่านเองก็สามารถทดสอบ (หรือพิสูจน์) ความเป็นมุจญ์ ตะฮิดของเขาผู้นั้นได้เอง และในกรณีที่รู้แล้วว่าเขาเป็นมุจญ์ตะฮิด สิ่งดังกล่าวนี้ก็จะเป็นที่พิสูจน์แล้วสำหรับตัวพวกท่าน และเมื่อมีบรรดามุจญ์ตะฮิดที่มีคุณสมบัติที่ครบถ้วนสมบูรณ์ (มุจญ์ตะฮิด ญามิอุชชะรออิฏ) อยู่หลายคน จำเป็นจะต้องเลือกตักลีดตามมุจญ์ตะฮิดที่มีความรอบรูสูงสุด (อะอ์ลัม) จากพวกเขา ส่วนบรรดามุจญ์ตะฮิดที่เหลือนั้น สามารถตักลีดตามได้ในคำฟัตวาต่าง ๆ ที่ตรงกับมุจญ์ตะฮิดที่มีความรู้สูงสุดในหมู่พวกเขาเท่านั้น แม้จะมีนักวิชาการ (อุละมาอ์) บางส่วนกล่าวว่า : ไม่จำเป็นต้องตักลีดมุจญ์ตะฮิดที่มีความรอบรู้สูงสุด (อะอ์ลัม) ก็ตาม แต่ถ้าหากมุจญ์ตะฮิดผู้นั้น (ที่เราต้องการจะตักลีดตามท่าน) กล่าวว่า เราจำเป็นต้องตักลีดตามมุจญ์ตะฮิดที่มีความรอบรู้สูงสุด (อะอ์ลัม) ก็เป็นหน้าที่บังคับ (วาญิบ) ที่เราจะต้องปฏิบัติตาม
เราจะสามารถรับรู้ได้อย่างไรว่าใครคือผู้ที่มมีความรู้สูงสุด (อะอ์ลัม) ?
บรรดานักวิชาการ (อุละมาอ์) กล่าวว่า : ถ้าหากท่านสามารถตรวจสอบได้ว่า มุจญ์ตะฮิดคนใดมีความรอบรู้มากกว่าคนอื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า และท่านจงตักลีดตามบุคคลนั้น แต่ถ้าหากท่านไม่สามารแยกแยะได้ก็เป็นที่อนุญาตที่จะเลือกตักลีดตามท่านใดก็ได้ แต่ถ้าหากท่านคาดคะเนได้ว่า มุจญ์ตะฮิดท่านหนึ่งมีระดับความรู้เท่าเทียมหรือสูงกว่าอีกคนหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้จำเป็นจะต้องเลือกตักลีดตามบุคคลที่ท่านคาดคะเนว่า เขาผู้นั้นมีความรู้สูงกว่าคนอื่น
สรุปคำพูดในส่วนนี้ ก็คือว่า ในยุคฆ็อยบะฮ์ [ การเร้นกายของท่านอิมามซะมาน (อ.) ] นี้ บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ด้วยกับการวางหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เราสามารถใช้หลักเกณฑ์และบรรทัดฐานเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้ตลอดไป และจะเป็นสื่อนำเราไปสู่ความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ในชีวิต และท่านเหล่านั้นได้แนะนำ “วะลียุลฟะกีฮ์” ไว้ในฐานะตัวแทนของพวกท่าน ที่พวกเราจะต้องปฏิบัตตาม.
ที่มา : เอกสารประกอบงานประชุมสัมมนา “การปกครองในมุมมองของอิสลาม” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2554